วันนี้ (13 มิถุนายน 2566) เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
กฎหมาย |
1. เรื่อง ขอขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562
2. เรื่อง ขอขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
เศรษฐกิจ-สังคม |
3. เรื่อง แนวทางส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากการเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและการผลิตสุรา ตามมติคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ครั้งที่ 2/2565
4. เรื่อง รายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2566
5. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการพลิกโฉมพืชสมุนไพรไทยด้วยการวิจัยและนวัตกรรมของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนว ทางการพลิกโฉมพืชสมุนไพรไทยด้วยการวิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา
6. เรื่อง สรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 24 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 - 31 มีนาคม 2566)
7. เรื่อง รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมีนาคม 2566
8. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การเพิ่มมูลค่าสมุนไพรด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง/เวชสำอาง ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา
ต่างประเทศ |
9. เรื่อง การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมประจำภูมิภาคระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และภูมิภาคเอเชียใต้ ครั้งที่ 35 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
10. เรื่อง สรุปผลการประชุมสมัชชาภาคอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ช่วงที่ 2
แต่งตั้ง |
11. เรื่อง การแต่งตั้งมนตรีฝ่ายไทยประจำมูลนิธิเอเชีย-ยุโรปคนใหม่
12. เรื่อง แต่งตั้งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
13. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงคมนาคม)
14. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร
______________________________
กฎหมาย |
1. เรื่อง ขอขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 รวม 4 ฉบับ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้
1. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ....
2. ร่างระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการอยู่อาศัยหรือทำกินตามโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติเพื่อการดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระ พ.ศ. ....
3. ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าด้วยโครงการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ....
4. ร่างระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บหาหรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ตามฤดูกาลในเขตพื้นที่โครงการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน พ.ศ. ....
ทั้งนี้ ทส. เสนอว่า
1. พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งบทบัญญัติกำหนดให้ดำเนินการออกกฎหมายลำดับรอง จำนวน 24 ฉบับ สรุปได้ ดังนี้
ขั้นตอน | จำนวน (ฉบับ) |
1. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จำนวน 17 ฉบับ | กฎกระทรวง 2 ฉบับ ประกาศ/ระเบียบ 15 ฉบับ |
2. ดำเนินการต่อเมื่อมีความจำเป็นและเหมาะสม จำนวน 3 ฉบับ | ร่างพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ ร่างประกาศ 1 ฉบับ |
3. ขอขยายระยะเวลาต่อคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ จำนวน 4 ฉบับ 3.1 อยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี 3.2 อยู่ระหว่างการดำเนินการของ ทส. | ร่างพระราชกฤษฎีกา 1 ฉบับ ร่างประกาศ/ระเบียบ 3 ฉบับ |
รวม | 24 ฉบับ |
2. กฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าวที่อยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีและที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 4 ฉบับ (ร่างพระราชกฤษฎีกา 1 ฉบับ ร่างประกาศ 1 ฉบับ และร่างระเบียบ 2 ฉบับ) ดังนี้
2.1 ร่างพระราชกฤษฎีกาที่อยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีคือ ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. .... เป็นการดำเนินโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีเขตอุทยานแห่งชาติ จำนวน 126 แห่งตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งบัญญัติให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการจัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดทำแผนที่แสดงแนวเขตโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. .... จำนวน 126 แห่ง ส่งให้กรมการปกครองตรวจสอบและรับรองแนวเขตตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 โดยปัจจุบันมีแผนที่ฯ ที่ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องแล้ว จำนวน 7 แห่ง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อยู่ระหว่างเตรียมเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวตามขั้นตอนการเสนอกฎหมายต่อไป
2.2 ร่างประกาศและร่างระเบียบที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของ ทส. จำนวน 3 ฉบับ
2.2.1 ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าด้วยโครงการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. .... เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับอนุญาตเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ เพื่อเก็บหาหรือใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ ในเขตพื้นที่โครงการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการประกาศรายชื่อชุมชน พื้นที่โครงการ และจัดทำบัญชีประเภท ชนิด จำนวน ปริมาณ ฤดูกาลช่วงระยะเวลาการเก็บหาหรือใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ และกำหนดแนวทางการแบ่งสรรทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้และการระงับข้อพิพาท ตามมาตรา 65 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งปัจจุบันร่างประกาศฉบับนี้อยู่ระหว่างจัดทำบัญชีประเภท ชนิด ทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดใหม่ทดแทนได้และจัดทำแผนที่ท้ายประกาศกระทรวงฯ
2.2.2 ร่างระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชว่าด้วยการอยู่อาศัยหรือทำกินตามโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ เพื่อการดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระ พ.ศ. .... ซึ่งจะต้องนำเสนอเพื่อประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายพร้อมกับร่างพระราชกฤษฎีกาตามข้อ 2.1 โดยร่างระเบียบเป็นการกำหนดให้บุคคลที่ได้อยู่อาศัยหรือทำกินได้ครอบครองที่ดินในอุทยานแห่งชาติจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ได้กำหนดไว้ เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในเขตพื้นที่โครงการตามมาตรา 64 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ยกร่างระเบียบฯ และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 แล้ว
2.2.3 ร่างระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บหาหรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ ทดแทนได้ตามฤดูกาลในเขตพื้นที่โครงการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน พ.ศ. .... ซึ่งจะต้องประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายพร้อมกับร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าด้วยโครงการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. .... ตามข้อ 2.2.1 โดยร่างระเบียบเป็นการกำหนดวิธีปฏิบัติในการเก็บหาหรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ตามฤดูกาลของบุคคลที่ได้รับอนุญาตในเขตพื้นที่โครงการตามประกาศข้อ 2.2.1 ตามมาตรา 65 วรรคสองและวรรคสามแห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ ในคราวประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 มีมติเห็นชอบร่างระเบียบดังกล่าว
2. โดยที่มาตรา 22 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ซึ่งบัญญัติให้กฎหมายที่กำหนดให้ต้องมีการออกกฎ หากมิได้มีการออกกฎดังกล่าวนั้นภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับและบทบัญญัติในเรื่องนั้นก่อภาระหรือเป็นผลร้ายต่อประชาชนให้บทบัญญัติดังกล่าวเป็นอันสิ้นผลบังคับ ทั้งนี้ ระยะเวลาสองปีดังกล่าวคณะรัฐมนตรีจะมีมติขยายออกไปอีกก็ได้ แต่ไม่เกินหนึ่งปี และต้องมีมติก่อนที่จะครบกำหนดเวลาสองปีดังกล่าวประกอบกับมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายฯ บัญญัติให้ในวาระเริ่มแรก ระยะเวลาสองปีตามมาตรา 22 วรรคสอง สำหรับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้นับแต่เมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ซึ่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ (ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562) จึงให้นับแต่เมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ ดังนั้น การออกกฎหมายลำดับรองดังกล่าวตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จำนวน 4 ฉบับ ทส. จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 แต่โดยที่เป็นร่างกฎหมายที่ต้องมีแผนที่ท้าย ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 เห็นชอบแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีการตราร่างกฎหมายหรือร่างอนุบัญญัติที่ต้องจัดให้มีแผนที่ท้ายต้องมีผลตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของท้องที่การปกครองและแนวเขตการปกครองจากกรมการปกครองเสนอคณะรัฐมนตรีมาพร้อมกับร่างกฎหมายหรือร่างอนุบัญญัตินั้นด้วย โดยในขณะนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ส่งแผนที่ท้ายให้กรมการปกครองตรวจสอบตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว จำนวน 126 แห่ง ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 จึงจำเป็นต้องขอขยายระยะเวลาออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป
2. เรื่อง ขอขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดังนี้
1. เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาในการออกกฎหมายลำดับรองซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 จำนวน 27 ฉบับตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
2. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย
ทั้งนี้ ทส. เสนอว่า
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (11 ตุลาคม 2566) รับทราบรายงานผลการตรากฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และให้ ทส. พิจารณาดำเนินการออกกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ให้เป็นไปตามข้อสังเกตของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวคือการออกกฎหมายลำดับรอง ทส. ควรพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 22 วรรคสอง ประกอบมาตรา 39 (1) แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566
2. กฎหมายลำดับรองที่จะต้องออกตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มีจำนวนทั้งหมด 57 ฉบับ ทส. ได้ดำเนินการออกกฎหมายลำดับรองมีผลใช้บังคับแล้วจำนวน 30 ฉบับ อยู่ระหว่างการดำเนินการ จำนวน 27 ฉบับ ดังนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2566)
ขั้นตอน | จำนวน (ฉบับ) |
1. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว รวม 30 ฉบับ | - ร่างระเบียบ 21 ฉบับ/ร่างประกาศ 9 ฉบับ |
2. ขอขยายระยะเวลาต่อคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ รวม 27 ฉบับ 2.1 อยู่ระหว่างการดำเนินการของ ทส. รวม 19 ฉบับ 2.2 อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี รวม 1 ฉบับ 2.3 อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของ สคก. รวม 3 ฉบับ 2.4 ดำเนินการเมื่อมีความจำเป็นและเหมาะสม รวม 4 ฉบับ | - ร่างกฎกระทรวง 5 ฉบับ/ร่างระเบียบ 9 ฉบับ/ร่างประกาศ 5 ฉบับ - ร่างพระราชกฤษฎีกา 1 ฉบับ - ร่างพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ/ร่างกฎกระทรวง 1 ฉบับ - ร่างประกาศ 4 ฉบับ |
รวม | 57 ฉบับ |
3. การขอขยายระยะเวลาในการออกกฎหมายลำดับรองตามข้อ 2. จำนวน 27 ฉบับ (ร่างพระราชกฤษฎีกา จำนวน 3 ฉบับ ร่างกฎกระทรวง จำนวน 6 ฉบับ ร่างระเบียบ จำนวน 9 ฉบับ และร่างประกาศ จำนวน 9 ฉบับ) ได้แก่
3.1 อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการของ ทส. จำนวน 19 ฉบับ ได้แก่
(1) ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ใบรับรองและหนังสืออนุญาตตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 พ.ศ. .... (มาตรา 5 วรรคหนึ่ง)
(2) ร่างกฎกระทรวงการขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เพาะพันธุ์สัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ สัตว์ป่าควบคุมที่ต้องขออนุญาตเพาะพันธุ์ ใบอนุญาตค้าสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าดังกล่าว และใบอนุญาตการได้มาซึ่งการครอบครองสัตว์ป่าและซากสัตว์ป่าดังกล่าว พ.ศ. .... (มาตรา 18 วรรคสอง มาตรา 28 วรรคสอง และมาตรา 30 วรรคสอง)
(3) ร่างกฎกระทรวงการขอรับใบอนุญาตหรือใบรับรองและการออกใบอนุญาตหรือใบรับรองการนำเข้าหรือส่งออก ซึ่งสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า พ.ศ. .... (มาตรา 22 วรรคสาม มาตรา 23 วรรคสี่ และมาตรา 24 วรรคสอง)
(4) ร่างกฎกระทรวงการขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตจัดตั้ง และประกอบกิจการสวนสัตว์ พ.ศ. .... (มาตรา 33 วรรคสี่)
(5) ร่างกฎกระทรวงการยื่นคำขอ การกำหนดค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่นในการปฏิบัติการนอกเวลาราชการหรือนอกสถานที่ทำการโดยปกติ พ.ศ. .... (มาตรา 75 วรรคสอง)
(6) ร่างระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการแจ้งจำนวนเพิ่มขึ้นหรือลดลงซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง และสัตว์ป่าควบคุมหรือซากสัตว์ป่าดังกล่าว หรือการเปลี่ยนแปลงหรือโอนกรรมสิทธิ์ซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง และสัตว์ป่าควบคุม หรือซากสัตว์ป่าดังกล่าวระหว่างสวนสัตว์ ที่มิใช่สัตว์น้ำ ของผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งและประกอบกิจการสวนสัตว์ พ.ศ. .... (มาตรา 35 วรรคสาม)
(7) ร่างระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชว่าด้วยการแจ้งเลิกประกอบกิจการสวนสัตว์ พ.ศ. .... (มาตรา 37)
(8) ร่างระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชว่าด้วยการแจ้งการจัดตั้งสวนสัตว์ที่หน่วยงานของรัฐจัดตั้งตามหน้าที่ และการจัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ป่าและซากสัตว์ป่าที่อยู่ในความครอบครองของสวนสัตว์ที่หน่วยงานของรัฐจัดตั้งตามหน้าที่ พ.ศ. .... (มาตรา 38 วรรคสอง)
(9) ร่างระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชว่าด้วยการจ่ายค่าเสียหายหรือค่าชดเชย ในพื้นที่ควบคุมเพื่อการจัดการสัตว์ป่า พ.ศ. .... (มาตรา 70 วรรคสี่)
(10) ร่างระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชว่าด้วยการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ค่าบริการ หรือค่าตอบแทน และราคาสัตว์ป่า ในกรณีพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการเพื่อประโยชน์แก่การส่งเสริมกิจการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าหรือกิจการสวนสัตว์ พ.ศ. .... (มาตรา 74)
(11) ร่างระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชว่าด้วยการขึ้นทะเบียนสถานที่สำหรับใช้เลี้ยงดู ดูแล รักษาสัตว์ป่า พ.ศ. .... (มาตรา 86 วรรคสี่)
(12) ร่างระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการคำนวณมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า พ.ศ. .... (มาตรา 87 วรรคสาม)
(13) ร่างระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชว่าด้วยการอยู่อาศัยหรือทำกินตามโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เพื่อการดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระ พ.ศ. .... (มาตรา 121 วรรคสี่)
(14) ร่างระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชว่าด้วยการขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งรังของสัตว์ป่าคุ้มครองที่มิใช่สัตว์น้ำ พ.ศ. .... (มาตรา 14 วรรคสี่)
(15) ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ตั้งด่านตรวจสัตว์ป่า ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 พ.ศ. .... (มาตรา 26)
(16) ร่างประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรื่อง การกำหนดมาตรฐานการจัดการสวนสัตว์ พ.ศ. .... (มาตรา 33 วรรคสอง)
(17) ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์ป่าควบคุมที่ต้องขอรับใบอนุญาตดำเนินกิจการเพาะพันธุ์สัตว์ป่า พ.ศ. .... (มาตรา 28 วรรคหนึ่ง)
(18) ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์ป่าควบคุมที่ต้องขอรับใบอนุญาตค้าสัตว์ป่าควบคุม ซากของสัตว์ป่าควบคุมหรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าควบคุมที่ต้องขอรับใบอนุญาตค้าสัตว์ป่า พ.ศ. .... (มาตรา 30 วรรคหนึ่ง)
(19) ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์ป่าคุ้มครองที่อนุญาตให้เก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งรังได้ พ.ศ. .... (มาตรา 14 วรรคสอง)
3.2 อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี จำนวน 1 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า พ.ศ. .... (มาตรา 121 วรรคสอง)
3.3 อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจำนวน 3 ฉบับ1 ได้แก่
(1) ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวน พ.ศ. .... (มาตรา 6) กำหนดให้นกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวน
(2) ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. .... (มาตรา 6) กำหนดให้วาฬสีน้ำเงินเป็นสัตว์ป่าสงวน
(3) ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. .... (มาตรา 7)
3.4 ดำเนินการเมื่อมีความจำเป็นและเหมาะสมซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรองระดับประกาศ จำนวน 4 ฉบับ โดยจะออกตามความในมาตรา 4 มาตรา 8 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง มาตรา 23 วรรคสาม มาตรา 32 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
4. โดยที่กฎหมายลำดับรองที่จะต้องออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าวตามข้อ 2 มีความซับซ้อนและมีจำนวนมาก ประกอบกับมีลักษณะเป็นระบบอนุญาตซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีมาตรการในการควบคุมและกำกับดูแลการทำกิจกรรมหรือการประกอบธุรกิจของประชาชนที่เกี่ยวกับสัตว์ป่า อันส่งผลกระทบต่อประชาชนจึงต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ไม่สามารถดำเนินการออกกฎหมายลำดับรองให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 จึงมีความจำเป็นต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอขยายระยะเวลาในการออกกฎหมายลำดับรองทั้ง 27 ฉบับดังกล่าว ออกไปอีก 1 ปี จนถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567
______________
1 อยู่ระหว่าง สคก. ตรวจพิจารณา ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 ได้แก่ ร่างพระราชกฤษฎีกาตามข้อ 3.3 (1) และตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ได้แก่ ร่างพระราชกฤษฎีกาตามข้อ 3.3 (2) และร่างกฎกระทรวงตามข้อ 3.3 (3)
เศรษฐกิจ-สังคม |
3. เรื่อง แนวทางส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากการเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและการผลิตสุรา ตามมติคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ครั้งที่ 2/2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอแนวทางส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากการเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและการผลิตสุรา ตามมติคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กค. สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. สถานการณ์ในภาพรวมเกี่ยวกับเอทานอลของประเทศไทย
1.1 ปริมาณการผลิตเอทานอลของไทยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565*
มีปริมาณการผลิตทั้งหมดประมาณ 1,573 ล้านลิตร มีการนำเข้าเอทานอลประมาณ 10 ล้านลิตรและแบ่งผู้ผลิตเอทานอลในประเทศได้ 3 กลุ่ม ดังนี้
ผู้ผลิตเอทานอล | กำลังการผลิต (ล้านลิตร/ปี) | ปริมาณการผลิต ปี 2565 (ล้านลิตร/ปี) |
(1) ผู้ผลิตภายในประเทศ | ||
1) องค์การสุรา | 22 | 15 |
2) ผู้ผลิตเอทานอลเพื่อส่งออก | 260 | 54 |
3) ผู้ผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง | 2,841 | 1,504 |
(2) ผู้นำเข้า | - | 10 |
รวม | 3,123 | 1,583 |
1.2 ความต้องการใช้เอทานอลของไทยในปี 2565
ผู้ใช้เอทานอล | ปริมาณเอทานอลที่ใช้ ปี 2565 (ล้านลิตร/ปี) |
(1) เพื่อใช้ในประเทศ | |
1) เอทานอลเพื่อใช้ในการอุตสาหกรรม | 30 |
2) เอทานอลเพื่อการแพทย์หรือเภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์ | 20 |
3) เอทานอลแปลงสภาพเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ | 46 |
4) เอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง | 1,483 |
(2) เพื่อส่งออก | 4 |
รวม | 1,583 |
1.3 นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องและแนวโน้มอุตสาหกรรม เนื่องจากปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยจึงได้มีการกำหนดเป้าหมายในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก เช่น การส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและการสนับสนุนให้ภาคยานยนต์ไฟฟ้าสามารถเข้าถึงได้ ทำให้ปริมาณการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นและแนวโน้มการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลดลง ประกอบกับกลุ่มผู้ผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงยังคงมีกำลังการผลิตคงเหลือเนื่องจากการผลิตในปัจจุบันยังไม่เต็มกำลังการผลิต โดยมีกำลังการผลิตส่วนเกินของเอทานอลประมาณ 1,337 ล้านลิตร ประกอบกับไทยได้มีการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model ซึ่งมียุทธศาสตร์ที่สำคัญ เช่น การสร้างความสามารถในการแข่งขัน การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่ และการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model ส่งผลให้เกิดการตระหนักถึงการปรับตัวและการพัฒนาอุตสาหกรรมเอทานอลที่ส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้เทคโนโลยีเพื่อนำเอทานอลเป็นวัตถุดิบในการผลิตเม็ดพลาสติก ซึ่งสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ในปริมาณมาก อีกทั้งจะช่วยส่งเสริมให้มีการใช้เอทานอลอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 450 ล้านลิตรต่อปี จึงเป็นโอกาสที่เหมาะสมในการสนับสนุนการลงทุนดังกล่าว
2. แนวทางการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากการเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและการผลิตสุราโดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนา BCG Model ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 สรุปได้ ดังนี้
2.1 การจัดทำมาตรฐานการผลิตเอทานอลเพื่อให้การอนุญาตนำเอทานอลแปลงสภาพหรือบริสุทธิ์ไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอื่นที่นอกเหนือจากการเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและการผลิตสุรา โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ) จะเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำมาตรฐานความยั่งยืนของการผลิตเอทานอลร่วมกับผู้เชี่ยวชาญภายในประเทศ ผู้ผลิตเอทานอล และผู้ใช้เอทานอล รวมถึงสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานทางเทคนิคและการพัฒนาบุคลากรให้สามารถเป็นผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐาน และให้มีการจัดตั้งหน่วยรับรองเพื่อกำหนดมาตรฐานความยั่งยืนของการผลิตเอทานอลด้วย
2.2 การจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้ผลิตเอทานอลและผู้ใช้เอทานอล โดยกำหนดรายละเอียดของปริมาณเอทานอลที่ต้องส่งมอบและระยะเวลาอย่างชัดเจน เพื่อเป็นกลไกการจัดซื้อและจัดหาเอทานอลล่วงหน้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ และผู้ใช้เอทานอลจะต้องซื้อเอทานอลที่ผลิตในประเทศ หากปริมาณการผลิตในประเทศไม่เพียงพอจึงจะสามารถนำเข้าเอทานอลได้
2.3 การแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดปริมาณการซื้อขายเอทานอลจากผู้ผลิตในประเทศล่วงหน้าในแต่ละปีให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับร่วมกันระหว่างผู้ผลิตเอทานอลและผู้ใช้เอทานอล และกำหนดปริมาณการนำเข้าเอทานอลที่จะได้รับสิทธิอากรขาเข้าอัตราพิเศษจากการนำเข้าเอทานอลเพื่อนำมาใช้ในการผลิตเอทิลีนชีวภาพสำหรับสินค้าพลาสติกชีวภาพ
2.4 การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและผู้ผลิตเอทานอลในประเทศให้สามารถผลิตเอทานอลที่มีคุณภาพและมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลเพื่อให้สามารถแข่งขันกับเอทานอลนำเข้าได้อย่างยั่งยืน
2.5 การออกกฎหมายและแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยมอบหมายให้ กค. (กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร) พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
2.5.1 ให้กรมสรรพสามิตแก้ไขกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565เพื่ออนุญาตให้ผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุรากลั่นชนิดเอทานอลสามารถนำเอทานอลไปจำหน่ายให้กับอุตสาหกรรมอื่นได้
2.5.2 ให้กรมสรรพสามิตออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เพื่อเพิ่มพิกัดอัตราภาษีสำหรับสินค้าเอทิลีนชีวภาพซึ่งจะเป็นการกำกับดูแลและควบคุมการใช้เอทานอลในการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมอื่นและกำหนดให้อัตราภาษีศูนย์ เพื่อเป็นการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG Model ในการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถทดแทนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากปิโตรเลียมได้
2.5.3 ให้กรมศุลกากรออกประกาศกระทรวงการคลังเพื่อกำหนดอัตราอากรขาเข้าในอัตราพิเศษสำหรับเอทานอลที่นำเข้ามาเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ทั้งนี้ เห็นควรให้กรมสรรพสามิตเป็นผู้รับรองผู้ได้รับสิทธิและปริมาณเอทานอลที่ได้รับสิทธิที่ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการที่จะแต่งตั้งขึ้นด้วย เพื่อให้มีปริมาณเอทานอลเพียงพอต่อความต้องการในอุตสาหกรรมการผลิตเอทิลีนชีวภาพ
2.5.4 ให้กรมสรรพสามิตออกประกาศกรมสรรพสามิตเพื่อกำกับการใช้เอทานอลในอุตสาหกรรมอื่น รวมถึงการให้สิทธิทางภาษี
___________________
*เอทานอลเป็นสินค้าควบคุมของกรมสรรพสามิต ดังนั้น ปริมาณการผลิตเอทานอลจึงมาจากปริมาณความต้องการของผู้ประกอบการที่จดทะเบียนกับกรมสรรพสามิต
4. เรื่อง รายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2566
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (5 พฤษภาคม 2563) ที่ให้ กนง. ประเมินภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มของประเทศและรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเป็นรายไตรมาส] สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. การประเมินภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศไทยประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2566
1.1 เศรษฐกิจโลก
1.1.1 เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราร้อยละ 2.5 และร้อยละ 2.9 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ จากแรงส่งของภาคบริการของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและกลุ่มยุโรป ประกอบกับเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ขยายตัวหลังการยกเลิกมาตรการควบคุมโรคซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวทั้งในภาคการผลิตและบริการ โดยแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวขึ้นและการเปิดประเทศของจีนจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศเอเชียในระยะต่อไป
1.1.2 อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ของประเทศเศรษฐกิจหลักยังสูงกว่ากรอบเป้าหมาย ส่งผลให้นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางส่วนใหญ่ยังคงเข้มงวดเพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง
1.2 เศรษฐกิจไทย
1.2.1 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยขยายตัวร้อยละ 3.6 และ 3.8 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวโดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 28 และ 35 ล้านคน ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ ประกอบกับการบริโภคของภาคเอกชนที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง รวมถึงการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ปรับดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น และการส่งออกสินค้าที่มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566
1.2.2 การบริโภคของภาคเอกชนในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 โดยเฉพาะภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและในปี 2567 คาดว่าจะมีการขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.1 สอดคล้องกับรายได้แรงงานที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องและอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง
1.2.3 มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2566 มีแนวโน้มหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.7 จากปัจจัยด้านปริมาณซึ่งเป็นไปตามการชะลอตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีตามอุปสงค์โลก ซึ่งคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าของไทย ปี 2567 จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 โดยเฉพาะหมวดยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงหมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศเอเชีย
1.2.4 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.9 และร้อยละ 2.4 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อจะเริ่มมีแนวโน้มกลับสู่เป้าหมายได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2566
2. ภาวะการเงิน
2.1 ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลาย โดยตึงตัวขึ้นบ้างตามอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นซึ่งปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน โดยคาดว่าปัญหาสถาบันการเงินจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ตาม ต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนของภาคเอกชนเนื่องจากปริมาณสินเชื่อและการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง
2.2 ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 33.93 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยไตรมาสก่อนเนื่องจากการประกาศเปิดประเทศของจีนและการคาดการณ์การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทย ก่อนจะผันผวนตามนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักที่ไม่แน่นอน
3. การดำเนินนโยบายการเงิน
3.1 กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 25 มกราคม และ 29 มีนาคม 2566 ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 1.50 ต่อปี และจากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี ตามลำดับ โดย กนง. เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้าคาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี
3.2 ระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพแต่ต้องติดตามพัฒนาการตลาดการเงินโลกและปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก ทั้งนี้ กนง. เห็นควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันการเงินเฉพาะกิจยังคงมีมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้เปราะบางอย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนของมาตรการแก้หนี้ระยะยาวและมาตรการปรับโครงสร้างหนี้
3.3 กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องแต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้อจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้น จึงเห็นควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
5. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการพลิกโฉมพืชสมุนไพรไทยด้วยการวิจัยและนวัตกรรมของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการพลิกโฉมพืชสมุนไพรไทยด้วยการวิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการพลิกโฉมพืชสมุนไพรไทยด้วยการวิจัยและนวัตกรรมของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการพลิกโฉมพืชสมุนไพรไทยด้วยการวิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
สาระสำคัญ
กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการพลิกโฉมพืชสมุนไพรไทยด้วยการวิจัยและนวัตกรรมของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการพลิกโฉมพืชสมุนไพรไทยด้วยการวิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ ซึ่งได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมติเห็นชอบในหลักการของรายงานการพิจารณาศึกษาฯ และได้มีการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สรุปได้ดังนี้
1. ข้อเสนอเชิงนโยบาย อาทิ (1) ควรประกาศกำหนดให้การพัฒนาสมุนไพรไทยเป็นวาระแห่งชาติ (2) ควรส่งเสริมให้พัฒนาความรู้ สมรรถนะและทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงด้านภูมิปัญญาไทย (3) ควรกำหนดนโยบายแห่งรัฐในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น เป็นต้น กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบด้วย
2. ข้อเสนอเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเชิงบูรณาการ อาทิ (1) ด้านการจัดการวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ควรพัฒนาสายพันธุ์พืชสมุนไพรและปัจจัยที่เกี่ยวกับการปลูกการเก็บเกี่ยว การเตรียมวัตถุดิบก่อนส่งเข้ากระบวนการแปรรูป ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการเพื่อส่งเสริมให้วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีคุณภาพ (2) ด้านการวิจัยและจัดการข้อมูลการใช้สมุนไพรในคน ควรแต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการและวิจัยสมุนไพรและสนับสนุนงบประมาณให้เพียงพอ (3) ระเบียบวิธีวิจัยในคนที่เกี่ยวข้องกับการใช้สมุนไพร 3.1) ควรแต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการและวิจัยสมุนไพรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการบูรณาการและความเข้าใจระหว่างการแพทย์แผนตะวันออกและตะวันตกโดยให้เข้าใจหลักการการวิจัย การจัดการข้อมูล และการตัดสินใจนำมาใช้อย่างเหมาะสมในสถานการณ์ที่ต่างกัน 3.2) ควรจัดข้อมูลให้เป็นระบบและนำไปสู่หลักสูตรการเรียนรู้ของแพทย์และบุคลากรด้านสุขภาพ (4) ด้านกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ มาตรฐานอาหารและยาสิทธิบัตร/สิทธิประโยชน์ การคุ้มครองผู้บริโภค การตลาดและการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบด้วย
3. กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้ (1) ควรมีขั้นตอนในการพิจารณา จัดลำดับ และคัดเลือกปัญหาที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนการผลิตพืชสมุนไพรวิจัยและนวัตกรรม และการนำไปใช้ประโยชน์มากที่สุด (2) ควรให้ความสำคัญในการพัฒนาแนวทางการส่งเสริมเพื่อลดอุปสรรคและสร้างโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยผ่านกลไกการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐเอกชนและสถาบันการศึกษา เพื่อขยายผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ ส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรให้มีความรู้และเทคนิคเฉพาะด้านการปลูก การเก็บเกี่ยวพืชสมุนไพรเพื่อให้ได้ปริมาณสารสำคัญสูงสุด (3) ควรให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ในการพัฒนาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร เช่น การพัฒนาระบบถ่ายถอดปริวรรตตำรับและตำรายาแผนไทยดั้งเดิมด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อให้เกิดการนำองค์ความรู้จากภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยไปใช้ประโยชน์ได้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรด้วยฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เป็นต้น
6. เรื่อง สรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 24 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 - 31 มีนาคม 2566)
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (กตน.) เสนอสรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 24 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 - 31 มีนาคม 2566) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. นโยบายหลัก 8 ด้าน ประกอบด้วย
นโยบายหลัก | มาตรการ/ผลการดำเนินงานที่สำคัญ |
1) การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ | 1.1) ขับเคลื่อนโครงการแรงงานพันธุ์ดี ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้นายจ้าง สถานประกอบกิจการ และลูกจ้าง น้อมนำแนวพระราชดำริมาใช้เป็นแนวทางหลักในการดำเนินชีวิต ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ และนำผลผลิตมาใช้สำหรับบริโภคเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย และจำหน่ายในชุมชนเพื่อเพิ่มรายได้ โดยในปี 2566 มีสถานประกอบกิจการเข้าร่วมโครงการแล้ว 245 แห่ง ลูกจ้างที่ได้รับประโยชน์ 24,039 คน คิดเป็นมูลค่า 14.46 ล้านบาท 1.2) พิธีเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนา และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ถวายพระราชกุศลถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณี สิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ให้ทรงหายจากพระอาการประชวรและทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง โดยมีหัวหน้าส่วนราชการและประชาชนทั่วประเทศเข้าร่วมพิธีฯ จัดขึ้นในสถานที่ต่าง ๆ เช่น จังหวัดสุพรรณบุรี ณ วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดหนองคาย ณ วัดโพธิ์ชัย และจังหวัดยะลา ณ วัดนิโรธสังฆาราม 1.3) พิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดทุกจังหวัดเพื่อมอบให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่มทุกเทคนิคนำไปเพิ่มคุณค่าและมูลค่า ยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้ก้าวสู่ระดับสากล 1.4) จัดกิจกรรมแนวทางตามพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า สิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เช่น จังหวัดกำแพงเพชร จัดกิจกรรม “รักษ์ผ้าไทย ผ้าถิ่นกำแพงเพชร” จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดกิจกรรม “สวมใส่ชุดไทยพื้นถิ่น” และจังหวัดนครราชสีมา จัดกิจกรรม “พัฒนาศักยภาพสตรีด้านการใช้ชีวิตวิถีเศรษฐกิจพอเพียงและพัฒนาอาชีพสตรีการประยุกต์ใช้ผ้าทอ” |
2) การสร้างความมั่นคง ความปลอดภัยของประเทศ และความสงบสุขของประเทศ | 2.1) มหกรรม “ดืองันฮาตี” สานพลัง สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และวันคนพิการสากล จังหวัดปัตตานี เปิดพื้นที่บูรณาการเครือข่ายสร้างงานสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างความสุขเสริมพลังกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ให้เข้าถึงสวัสดิการทางสังคม ประชาชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เข้าร่วมกว่า 1,500 คน 2.2) การกวาดล้างต่างชาติแย่งอาชีพคนไทย ผลการดำเนินการปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (วันที่ 1 ตุลาคม 2565 - 12 มีนาคม 2566) มีการตรวจสอบสถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างชาติทั่วประเทศแล้ว จำนวน 18,966 แห่ง ซึ่งพบต่างชาติแย่งอาชีพคนไทยรวม 883 คน โดยอาชีพที่พบคนต่างชาติแย่งอาชีพมากที่สุด เช่น งานเร่ขายสินค้า งานตัดผม งานขับขี่ยานพาหนะ และงานนวด |
3) การทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม | 3.1) จัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรเนื่องในวันมาฆบูชา ประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2566 โดยทุกจังหวัดและประชาชนในพื้นที่ได้จัดกิจกรรมเพื่อละ ลด เลิกการทำบาป ทั้งปวง และให้ทำความดี เพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิต 3.2) จัดกิจกรรมมหกรรมหน้ากากนานาชาติ “ส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ยกระดับการท่องเที่ยวลุ่มน้ำโขง ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ งานสีสันเมืองเลย และเทศกาลศิลปะร่วมสมัยลุ่มแม่น้ำโขง ปี 2566: Mask Festival” ระหว่างวันที่ 17 - 19 มีนาคม 2566 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวตามแนวคิดยกระดับ Soft power ของไทยสู่เวทีโลก |
4) การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย | 4.1) พัฒนาภาคการท่องเที่ยว เช่น จัดแข่งขันเจ็ตสกีนอกชายฝั่งชิงแชมป์โลก หรือ WGP#1 Water Jet offshore World Championship 2023 เพื่อผลักดันให้จังหวัดภูเก็ตเป็นหมุดหมายสำคัญของกีฬาทางน้ำระดับโลก ซึ่งมีนักกีฬาและทีมงานเข้าร่วมงาน จำนวน 729 คน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 320 ล้านบาท โดยถ่ายทอดการแข่งขันผ่านช่อง EUROSPORT บนเครือข่ายกว่า 155 ล้านครัวเรือนทั่วโลก และจัดกิจกรรม Amazing Thailand Mega FAM Trip to Phangnga 2023 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการ “Visit Thailand Year 2023: Amazing New Chapters” เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว และรายได้ให้กับท้องถิ่นผ่านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยฟื้นคืนอย่างรวดเร็ว 4.2) พัฒนาการค้าการลงทุนเพื่อมุ่งสู่การเป็นชาติการค้า การบริการ และการลงทุนในภูมิภาค โดยจัดกิจกรรมเพื่อชักจูงนักลงทุนเป้าหมายให้มาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมีอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจในกลุ่มเป้าหมาย 9 ประเทศ (โปรตุเกส อิตาลี ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐอเมริกา จีน สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ และเดนมาร์ก) เช่น ประเภทอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว และการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา 4.3) พัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน (ด้านคมนาคม) โดยมีความคืบหน้า เช่น (1) โครงการก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดมหาสารคามแห่งที่ 2 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างฐานรากของอาคารสถานี คิดเป็นร้อยละ 45 (2) โครงการรถไฟทางคู่หัวหิน - ประจวบคีรีขันธ์ มีผลการเบิกจ่ายร้อยละ 98.150 อยู่ระหว่างปรับแผนงานใหม่ คิดเป็นร้อยละ 99.99 (ช้ากว่าแผนร้อยละ 0.01) และ (3) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบเดินรถเสมือนจริง คาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายในปี 2566 (4.4) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและการพัฒนาและนวัตกรรม เช่น ความสำเร็จในการใช้แสงซินโครตรอน ย่านอินฟาเรดเพิ่มสารออกฤทธิ์ทางยาในสมุนไพรฟ้าทะลายโจร เป็น 2 เท่า ซึ่งมีสารสำคัญทางยาที่มีสรรพคุณช่วยลดการอักเสบ ลดไข้ ลดอาการหวัด ไอ เจ็บคอ ดีขึ้นกว่าเดิม และอนุมัติหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์หลักสูตรใหม่เพิ่มเติมอีก 2 หลักสูตร ได้แก่ (1) หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเป้าหมายที่จะผลิตกำลังคนในกลุ่มวิศวกรคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล 1,200 คน และ (2) หลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ การจัดการบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการบินนานาชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เพื่อเพิ่มการผลิตกำลังคนในกลุ่มพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินให้ได้รับการจ้างงาน ร้อยละ 100 |
5) การพัฒนาสร้างความเข้มแข็งของฐานราก | จัดกิจกรรม “เติมเต็มทุกความสุข” โดยจังหวัดสกลนครร่วมกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ระหว่างวันที่ 2 - 4 มีนาคม 2566 ที่ตลาดเติมสุข ณ พีทีที สเตชั่น สาขามหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เพื่อช่วยส่งเสริมช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าชุมชนและสร้างรายได้ให้กับชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรม |
6) การพัฒนาระบบสาธารณสุข และหลักประกันสังคม | 6.1) โรงพยาบาลตรัง รักษาโรคหลอดเลือดสมองด้วยวิธีใส่สายสวนหลอดเลือดสมองร่วมกับเครื่องเอกซเรย์ (Mechanical Thrombectomy) ไม่ต้องผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติ โดยในปี 2563 - 2565 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 204 ราย โดยตั้งเป้าหมายให้โรงพยาบาลตรังเป็นโรงพยาบาลศูนย์ชั้นนำด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง ในปี 2570 6.2) กิจกรรม “ปกป้องกลุ่มเปราะบาง เสริมสร้างภูมิคุ้นกัน” เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รับ “ปีแห่งสุขภาพสูงวัยไทย” โดยให้ทุกจังหวัดประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรณรงค์บริการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปในผู้สูงอายุทั้งในสถานดูแลผู้สูงอายุและโรงพยาบาล 6.3) นำรูปแบบ “Screening Ageing Health Club Long term care End of Life Care: SALE Model” มาใช้ในการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุแบบไร้รอยต่อ และครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชุมพร โดยดำเนินงานใน 4 ด้าน ได้แก่ (1) สนับสนุนการคัดกรองและประเมินสุขภาพผู้สูงอายุให้ครอบคลุมทุกมิติ (2) สนับสนุนให้ทุกพื้นที่มีชมรมผู้สูงอายุ จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและพัฒนาเป็นโรงเรียนผู้สูงอายุ (3) สนับสนุนการจัดบริการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง และ (4) สนับสนุนให้เกิดระบบการดูแลระยะสุดท้ายของชีวิต 6.4) กิจกรรมทันตกรรมจิตอาสาเพื่อกลุ่มเปราะบาง โครงการ Smiles for Everyone Thailand (SFET) เพื่อให้บริการทันตกรรม บริการฉีดวัคซีนโรคโควิด-19 และตรวจอัลตราซาวด์มะเร็ง โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบางทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ |
7) การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน | จัดกิจกรรม “รวมพลังฟื้นฟูเขาขยาย จากเขาทะเลทราย สู่เขาสวรรค์” เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ณ จังหวัดชัยนาท และพลิกฟื้นพื้นที่เสื่อมโทรม และขับเคลื่อน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน1 (United Nations Sustainable Development Goals: UN SDGs) |
8) การปฏิรูปการบริหารจัดการภาครัฐ | พัฒนาระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (e-GP) เฟส 5 กรมบัญชีกลาง เชื่อมโยงข้อมูลผ่าน Blockchain 2 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูลราคาวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ทำให้ไม่มีผู้ใดสามารถเข้าถึงข้อมูลราคาได้ โดยเริ่มใช้กับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2566 |
2. นโยบายเร่งด่วน 6 เรื่อง ประกอบด้วย
นโยบายเร่งด่วน | มาตรการ/ผลการดำเนินงานที่สำคัญ |
1) การปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน | 1.1) กิจกรรมสานพลังเครือข่ายร่วมขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ Gender Fair 2023 ภายใต้แนวคิด “Innovation for Gender Equality: ส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียมระหว่างเพศ” และมอบประกาศเกียรติคุณแก่ 17 องค์กร ที่มีความมุ่งมั่นในการนำแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศไปใช้ในการบริหารจัดการองค์กรและการประกอบกิจการมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 300 คน 1.2) ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม (Emergency Social Services: ESS Thailand) เพื่อเป็นช่องทางในการรับแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคมในทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยทำงานผ่าน LINE Official Account ชื่อว่า ESS Help Me สามารถแชร์พิกัดจุดเกิดเหตุได้อย่างแม่นยำ สามารถติดตามสถานการณ์การช่วยเหลือได้แบบ Real Time โดยจะเริ่มเปิดใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 1.3) ขับเคลื่อนการจัดสวัสดิการแม่เลี้ยงเดี่ยวและครอบครัว โดยจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตและอาชีพผ่านกลไกศูนย์บริการแม่เลี้ยงเดี่ยวและครอบครัวในส่วนภูมิภาค ณ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว 8 แห่ง และสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ 4 แห่ง โดยมีการให้บริการแบบครบวงจร เช่น ให้บริการฝึกอาชีพการให้คำปรึกษา และมอบเงินสงเคราะห์ครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว โดยมีกลุ่มเป้าหมายเข้ารับบริการ จำนวน 1,371 ราย |
2) การให้ความช่วยเหลือ เกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม | 2.1) เปิดโครงการจับคู่ธุรกิจผลไม้สด แปรรูป และผลิตภัณฑ์เกษตรอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรเพิ่มโอกาสทางการค้า โดยมีการจัดกิจกรรม เช่น (1) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ซื้อขายล่วงหน้า 6 คู่ มูลค่า 1,600 ล้านบาท และ (2) จับคู่เจรจาธุรกิจ มีบริษัทส่งออก 84 แห่ง บริษัทนำเข้า 57 แห่ง จาก 17 ประเทศ คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ไม่น้อยกว่า 385 คู่ ยอดไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท 2.2) เปิดโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ (ประกันภัยสวนยางพารา) โดยดำเนินการประกันภัยยางพาราในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และมีการขยายผลในพื้นที่จังหวัดชุมพร เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางมีความรู้ความเข้าใจและใช้ระบบประกันภัยในการบริหารความเสี่ยง ส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนยางพารามีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นต่อไป |
3) การยกระดับศักยภาพของแรงงาน | 3.1) จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ โดยในปี 2566 มีโควตาจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรในรัฐอิสราเอล ภายใต้โครงการ “ความร่วมมือไทย - อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน” จำนวน 6,500 คน ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม - 20 มีนาคม 2566 จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานแล้ว 1,513 คน และในปี 2566 มีโควตาจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี จำนวน 4,400 คน ดำเนินการจัดส่งแล้ว 1,697 คน แบ่งเป็น ประเภทงานภาคอุตสาหกรรม 1,061 คน ภาคการเกษตรและปศุสัตว์ 163 คน ภาคการก่อสร้าง 176 คน และเป็นแรงงานที่ได้รับการจ้างงานซ้ำ 297 คน 3.2) บูรณาการส่งเสริมการศึกษาและการมีงานทำให้แก่นักเรียน นักศึกษาและแรงงานทุกระดับ โดยบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบ Big Data ทั้งนี้ ได้นำร่องแล้วในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา และกรุงเทพมหานคร รวมทั้งเชื่อมโยงข้อมูลนักเรียน นักศึกษา จำนวน 658,455 คน 3.3) ยกระดับผู้ประกอบการสู่ธุรกิจด้านบริการสุขภาพแบบองค์รวม เพื่อให้เรียนรู้ถึงศาสตร์ของการดูแลสุขภาพ การดำเนินการในด้านธุรกิจ Wellness แบบครบวงจร โดยจัดอบรมรุ่นแรกที่สถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สำหรับอุตสาหกรรม (DSD Wellness Academy) อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรม 30 คน |
4) การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 | จัดงาน “CODING ERA Next Wave of Thailand’s Education” ยุคโค้ดดิ้ง : คลื่นลูกใหม่แห่งการศึกษาไทย เมื่อวันที่ 17 - 18 มีนาคม 2566 เพื่อการเรียนรู้แบบ Coding Edutainment3 จากแพลตฟอร์มเว็บเบส โค้ดดิ้งเกม “CodeComba” ส่งเสริมเยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้ Coding พร้อมผลักดันและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทักษะ Coding สร้างบุคลากรตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานแห่งอนาคต |
5) การแก้ไขปัญหายาเสพติดและสร้างความสงบสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ | ให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จำนวน 4,767 ราย รวมทั้งสิ้น 10.39 ล้านบาท ได้แก่ (1) มอบเงินฟื้นฟูสมรรถภาพผู้บาดเจ็บสาหัส/พิการ 1 ราย จำนวน 200,000 บาท (2) มอบเงินยังชีพรายเดือนแก่บุตรผู้เสียชีวิต บาดเจ็บสาหัส/พิการ ตามระดับการศึกษา 3,941 ราย จำนวน 8.06 ล้าน (3) มอบเงินยังชีพรายเดือนแก่ผู้ที่พิการจากเหตุความไม่สงบตามลักษณะความพิการ 789 ราย จำนวน 2.04 ล้านบาท และ (4) มอบเงินอุดหนุนแก่ครอบครัวที่อุปการะเด็กที่ทั้งบิดามารดาเสียชีวิตจากเหตุความไม่สงบแบบครอบครัวอุปถัมภ์ 36 ราย ๆ ละ 2,000 บาท/เดือน จำนวน 82,000 บาท |
6) การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน | 6.1) โครงการระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) ผ่านแอปพลิเคชัน “ThaID” หรือ “ไทยดี” โดยพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับใช้งานบนสมาร์ทโฟนชื่อว่า “D.DOPA” ใช้งานได้ทั้งระบบปฏิบัติการ Android หรือ iOS สำหรับการให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน D.DOPA ได้แก่ (1) ตรวจสอบข้อมูลตนเองผ่านระบบ Linkage Center (2) ขอรับบริการล่วงหน้า Q - Online (3) ย้ายที่อยู่ตนเอง (4) มอบหมายปลูกสร้างบ้านใหม่ (ขอเลขที่บ้าน) (5) บริการงานทะเบียนด้วยตนเอง และ (6) ตรวจสอบสิทธิเลือกตั้ง การแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้ มีหน่วยงานที่นำแอปพลิเคชัน D.DOPA ไปใช้งานแล้ว จำนวน 26 หน่วยงาน 6.2) อำนวยความสะดวกการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) แก่บุคลากรทักษะสูง/ผู้เชี่ยวชาญ นักลงทุน ผู้บริหาร และผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานหรือลงทุนในอตุสาหกรรมเป้าหมายของประเทศผ่านวีซ่าประเภทพิเศษ SMART Visa ทั้งนี้ ระหว่างเดือนมกราคม - มีนาคม 2566 มีผู้ขอรับรองคุณสมบัติทั้งสิ้น 1,182 คำขอ และมีผู้ผ่านการรับรองคุณสมบัติ ทั้งสิ้น 465 คำขอ 6.3) การดำเนินงานตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการดึงดูดคนต่างชาติที่มีศักยภาพสูง (Long - Term Resident Program: LTR) ผลการดำเนินการ LTR Visa ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565 - 31 มีนาคม 2566 มีจำนวนคำขอ 3,277 คำขอ โดยมีผู้ขอรับรองคุณสมบัติประเภท Wealthy Pensioners4 มากที่สุด จำนวน 1,102 คำขอ รองลงมาคือ Work-from-Thailand Professionals จำนวน 852 คำขอ 6.4) เปิดตัวบัตรเหมาจ่าย TRANSIT PASS LINE BKK X BMTA โดยบูรณาการการจัดทำบัตรเหมาจ่ายที่สามารถใช้เดินทางร่วมรถไฟชานเมืองสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ - รังสิต และบางซื่อ - ตลิ่งชัน) จำนวน 50 เที่ยว และรถประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศไม่จำกัดเที่ยว โดยต้องใช้บัตรภายใน 30 วัน นับจากวันที่ผู้โดยสารใช้บัตรครั้งแรก มีค่าออกบัตร 100 บาท และราคาบัตร 2,000 บาท ซึ่งสามารถซื้อบัตรครั้งแรกได้ที่ห้องจำหน่ายบัตรโดยสารรถไฟชานเมืองสายสีแดง และเขตการเดินรถตามที่ ขสมก. กำหนด |
_____________________
1 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติเพื่อทำให้โลกดีขึ้นภายในปี 2030 ด้วยการพัฒนาที่คำนึงถึงความเป็นองค์รวมของทุก ๆ ด้าน อย่างสมดุลบนพื้นฐานของทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ประกอบด้วยเป้าหมาย 17 ข้อ ได้แก่ (1) ขจัดความยากจนทุกรูปแบบทุกสถานที่ (2) ขจัดความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน (3) สร้างหลักประกันการมีสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนทุกช่วงอายุ (4) สร้างหลักประกันการศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน (5) บรรลุความเท่าเทียมทางเพศ พัฒนาบทบาทสตรีและเด็กผู้หญิง (6) สร้างหลักประกันการมีน้ำใช้ การจัดการน้ำและสุขาภิบาลที่ยั่งยืน (7) สร้างหลักประกันการมีพลังงานที่ทุกคนเข้าถึงได้ เชื่อถือได้ยั่งยืน ทันสมัย (8) ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุมและยั่งยืน การจ้างงานที่มีคุณค่า (9) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการปรับตัวให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนทั่วถึง และสนับสนุนนวัตกรรม (10) ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ (11) ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัยทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (12) สร้างหลักประกันการบริโภค และการผลิตที่ยั่งยืน (13) ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ (14) อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (15) ปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบกอย่างยั่งยืน (16) ส่งเสริมสังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ (17) สร้างพลังแห่งการเป็นหุ้นส่วน ความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
2 Blockchain คือ เทคโนโลยีการประมวลและจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ หรือที่เรียกว่า Distributed Ledger Technology (DLT) ซึ่งเป็นรูปแบบการบันทึกข้อมูลที่ใช้หลักการ Cyptography ร่วมกับกลไก Consensus โดยข้อมูลที่ถูกบันทึกในระบบ Blockchain นั้นจะสามารถทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ยาก ช่วยเพิ่มความถูกต้อง และความน่าเชื่อถือของข้อมูล
3 Coding คือ การเขียนชุดคำสั่งหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในรูปโค้ด (Code) เพื่อให้คอมพิวเตอร์เข้าใจและทำในสิ่งที่ผู้เขียนโค้ดต้องการเป็นการเขียนคำสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานด้วยภาษาหรือรหัส (Code) ที่คอมพิวเตอร์เข้าใจ เช่น ภาษา Python, JavaScript และ C
4 ผู้เกษียณที่มีอายุ 50 ปี หรือมากกว่า โดยมีเงินบำนาญรายปี หรือ passive income ที่มั่นคง
7. เรื่อง รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมีนาคม 2566
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมีนาคม 2566 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2566 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 4.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากภาคการส่งออกที่หดตัวจากผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในประเทศทยอยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติและมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศของภาครัฐ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องเพิ่มขึ้น อาทิ การกลั่นน้ำมัน รองเท้า กระเป๋า เภสัชภัณฑ์ และสินค้าในกลุ่มอาหารแปรรูป
อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนมีนาคม 2566 หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คือ
1. Hard Disk Drive (HDD) หดตัวร้อยละ 30.83 ตามการพัฒนาเทคโนโลยีความจุ ทำให้ปริมาณการผลิตน้อยลง แต่ราคาต่อหน่วยสูงขึ้นตามปริมาณความจุ รวมถึงความต้องการใช้ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ Solid State Drive (SSD) มีสัดส่วนการใช้ในอุปกรณ์ต่าง ๆ ทดแทน HDD เพิ่มมากขึ้น ซึ่งประเทศไทย ยังไม่มีฐานการผลิต SSD ในประเทศ
2. เฟอร์นิเจอร์ หดตัวร้อยละ 39.11 จากเครื่องเรือนทำด้วยไม้และโลหะเป็นหลัก ทั้งนี้เครื่องเรือนทำด้วยโลหะ การผลิตกลับเข้าสู่ระดับปกติหลังจากปีก่อนได้รับคำสั่งซื้อพิเศษ
3. เม็ดพลาสติก หดตัวร้อยละ 11.72 เนื่องจากการส่งออกลดลง ประกอบกับผู้ผลิตชะลอการผลิตลงเพื่อดูทิศทางตลาด รวมถึงยังคงมีการปิดซ่อมบำรุงในโรงงานบางโรงอยู่
อุตสาหกรรมสำคัญที่ยังขยายตัวในเดือนมีนาคม 2566 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกัน ของปีก่อน
1. รถยนต์ ขยายตัวร้อยละ 8.18 จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากตลาดส่งออก ในตลาดเอเชีย แอฟริกา ยุโรป และอเมริกา ในขณะที่ตลาดในประเทศยังคงชะลอตัว
2. การกลั่นน้ำมัน ขยายตัวร้อยละ 6.15 ตามการเดินทางเพิ่มขึ้นทั้งทางอากาศและทางบก หลังการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเต็มรูปแบบ รวมถึงมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ
8. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การเพิ่มมูลค่าสมุนไพรด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง/เวชสำอาง ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การเพิ่มมูลค่าสมุนไพรด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง/เวชสำอาง ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การเพิ่มมูลค่าสมุนไพรด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง/เวชสำอาง ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่า ปัจจุบันสมุนไพรได้รับความสนใจในการนำมาใช้ประโยชน์ทางสุขภาพและสุขภาวะเป็นอย่างมาก หน่วยงานภาครัฐและหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีความพยายามในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์สมุนไพรและผลักดันให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเครื่องสำอาง/เวชสำอางของประเทศไทย ให้มีโอกาสและความสามารถในการแข่งขันกับตลาดต่างประเทศ จึงมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1.1 ข้อเสนอเชิงนโยบาย (1) การกำหนดยุทธศาสตร์และเป้าหมาย (Plan) ควรมีการกำหนดนโยบายการส่งเสริมผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง/เวชสำอางขึ้น โดยกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบหลัก หน่วยงานรับผิดชอบรอง (2) การจัดสรรงบประมาณโดยดูผลลัพธ์เป็นที่ตั้ง (Performance Budget) ควรมีการขับเคลื่อนนโยบายโดยจัดสรรงบประมาณให้มีความสอดคล้องกัน (3) เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร (People) ควรให้ความรู้ที่ถูกต้อง ทันสมัย และจำเป็นแก่เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรและบุลคลที่เกี่ยวข้อง (4) กระบวนการผลิต (Process) ควรมีการส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในกระบวนการเตรียมสารสกัดเพื่อลดต้นทุน (5) การควบคุมมาตรฐานและการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ (Proof) ควรเร่งพัฒนาสถาบันวิจัยต่าง ๆ หรือห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบทั้งของหน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษาให้มีมาตรฐาน (6) ผลิตภัณฑ์ (Product) ควรให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ (7) การส่งเสริมผู้ประกอบการ (Promotion) ควรมีการผลักดันให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ พัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ให้สามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศได้ (8) สถานที่จำหน่าย (Place) ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีช่องทางที่หลากหลาย เข้าถึงง่าย และ (9) ราคาของผลิตภัณฑ์ (Price) ควรมีการกำหนดราคาของสมุนไพร และผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ให้มีความเหมาะสม
1.2 ข้อเสนอเชิงนิติบัญญัติ ควรมีการแก้ไขพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ สธ. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
สธ. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณารายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา ตามข้อ 2 แล้ว เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ โดยสรุปได้ดังนี้
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ | การดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
ข้อเสนอเชิงนโยบาย 1. การกำหนดยุทธศาสตร์และเป้าหมาย (Plan) ควรมีการกำหนดนโยบายการส่งเสริมผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง/เวชสำอางขึ้น โดยกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบหลัก หน่วยงานรับผิดชอบรอง เน้นการดำเนินงานและบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จร่วมกัน 2. การจัดสรรงบประมาณโดยดูผลลัพธ์เป็นที่ตั้ง (Performance Budget) ควรมีการขับเคลื่อนนโยบายโดยจัดสรรงบประมาณให้มีความสอดคล้องกัน การจัดสรรงบประมาณควรพิจารณาการดำเนินการระยะยาว โดยมุ่งเน้นการพัฒนาสมุนไพรแต่ละชนิดที่ชัดเจน 3. เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร (People) ควรให้ความรู้ที่ถูกต้อง ทันสมัย และจำเป็นแก่เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรและบุลคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรให้มีความรู้และทักษะด้านการปลูกและการจัดการสมุนไพรที่สูงขึ้นเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลง 4. กระบวนการผลิต (Process) ควรมีการส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในกระบวนการเตรียมสารสกัดเพื่อลดต้นทุนการสกัดและเพิ่มนวัตกรรมการสกัดส่งผลให้การสกัดสมุนไพรไทยมีศักยภาพการแข่งขันที่สูงขึ้นและมีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ อีกทั้งควรเร่งพัฒนากระบวนการนำสารสกัดสมุนไพรบรรจุลงในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง/เวชสำอางรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งต้องอาศัยสถานที่ผลิตที่ได้มาตรฐานทั้งในระดับชาติและสากล 5. การควบคุมมาตรฐานและการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ (Proof) ควรเร่งพัฒนาสถาบันวิจัยต่าง ๆ หรือห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบทั้งของหน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษาให้มีมาตรฐานและความเพียงพอกับความจำเป็นและความต้องการของผู้ผลิต และผู้ประกอบการ 6. ผลิตภัณฑ์ (Product) ควรให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ทั้งในเรื่องเกี่ยวกับระเบียบ กฎหมาย คำสั่งและประกาศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสนับสนุนด้านการวิจัย เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน และยกระดับเครื่องสำอาง/เวชสำอาง 7. การส่งเสริมผู้ประกอบการ (Promotion) ควรมีการผลักดันให้ผู้รับจ้างผลิตหรือ (Original equipment manufacturing : OEM) พัฒนาเป็นผู้รับจ้างผลิตพร้อมบริการออกแบบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือ (Original design manufacturing : ODM) หรือผู้รับจ้างผลิตและมีตราสินค้าหรือแบรนด์เป็นของตนเองหรือ(Original brand manufacturing : OBM) โดยผลักดันให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการเหล่านี้ เร่งคิดค้น พัฒนา สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับผลิตภัณฑ์จะทำให้เครื่องสำอาง/เวชสำอางไทยมีศักยภาพสูง สามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศได้ 8. สถานที่จำหน่าย (Place) ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีช่องทางที่หลากหลาย เข้าถึงง่ายสำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในตลาดรูปแบบใหม่ อีกทั้งควรช่วยส่งเสริม สนับสนุนและทำการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสมุนไพร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง/เวชสำอางของไทยที่มีคุณภาพและมาตรฐานให้ผู้บริโภคได้ทราบเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ 9. ราคาของผลิตภัณฑ์ (Price) ควรมีการกำหนดกลยุทธ์ของการวางตำแหน่งราคาของสมุนไพร และผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ให้มีความเหมาะสม | - อว. โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (ศลช.) อยู่ระหว่างจัดทำแผนกลยุทธ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเวชสำอางในประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ 5 “การพัฒนาระบบนิเวศที่สนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาสมุนไพรไทยอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน” มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีการดำเนินงานด้านสมุนไพรตามนโยบายส่งเสริมผลิตภัณฑ์สมุนไพรเครื่องสำอาง/เวชสำอาง เช่น ส่งเสริมการปลูกฟ้าทะลายโจร ว่านสาวหลง ขมิ้น พร้อมทั้งสามารถสกัดและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง/เวชสำอาง เช่น ครีม เซรั่ม แชมพู เป็นต้น - ศลช. เป็นหน่วยงานบริหารจัดการทุนด้านการแพทย์และสุขภาพ ได้มีการจัดสรรทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมสารสกัดสมุนไพรและเวชสำอางสมุนไพร เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็น Hub และ Herbal Extracts สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรเครื่องสำอาง/เวชสำอางแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมและมีโครงการที่ดำเนินการวิจัยการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรเครื่องสำอาง/เวชสำอางที่พร้อมถ่ายทอดแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้มีการดำเนินการพัฒนาระบบปลูกในระดับห้องปฏิบัติการและทดลองปลูกในแปลงร่วมกับกลุ่มเกษตรกรรายย่อยหรือรัฐวิสาหกิจชุมชน และกรมพัฒนาชุมชนมีการจัดสรรงบประมาณโดยพิจารณาการพัฒนาเฉพาะกลุ่ม เช่น พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีคุณภาพมาตรฐานประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร - สธ. โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีการส่งเสริมผลิตผลของสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรได้มาตรฐาน 67,010 ไร่ พืชสมุนไพร 88 ชนิดพืชได้รับรองแปลงอินทรีย์จำนวน 15,037 ไร่ เป็นต้น กรมวิชาการเกษตร มีการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ในการผลิตพืชสมุนไพรเพื่อเข้าสู่ระบบการผลิตตามมาตรฐาน GAP/GACP และอินทรีย์ที่มีความจำเป็นที่จะช่วยแก้ปัญหาการผลิตไม่ได้มาตรฐานและ สวทช. มีการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรในด้านการปลูก ได้แก่ คุณสมบัติของดินที่ดีในการปลูกพืชและสมุนไพร - หน่วยงานในสังกัด อว. เช่น สวทช. วว. ที่มีการสร้าง platform องค์ความรู้ และเทคโนโลยีในการเตรียมสารสกัดมาตรฐาน เทคโนโลยีการสกัดที่เหมาะสม และจัดตั้ง Scale-up plant ของการสกัดสมุนไพรที่สามารถสกัดได้หลายวิธี และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีการให้บริการสกัดสารในรูปแบบ 1) การสกัดด้วยไอน้ำ สำหรับกลุ่มสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหย 2) การสกัดด้วยตัวทำละลายสำหรับสมุนไพรทุกชนิด 3) วิเคราะห์สารสำคัญในสารสกัดสมุนไพร 4) แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม เวชสำอาง และยาแผนไทย - กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ให้การสนับสนุนที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาห้องปฏิบัติการในหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาให้ได้รับการรับรองระบบมาตรฐาน ISO/IEC 17025 และได้ดำเนินโครงการการพัฒนาหน่วยตรวจสอบในประเทศให้มีมาตรฐานเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยมีกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่าย MHESI one stop service รวมถึงเป็นหน่วยงานที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นองค์กรกำหนดมาตรฐาน (Standards Developing Organizations ,SDOs) ประเภทขั้นสูงในสาขาผลิตภัณฑ์สมุนไพร จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สวทช. มีหน่วยงานให้การวิเคราะห์ทดสอบประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สมุนไพร ได้แก่ ศูนย์ทดสอบทางพิษวิทยาและชีววิทยา (TBES) และศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ (NCTC) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีศูนย์วิจัยสมุนไพรให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบระดับห้องปฏิบัติการ - วศ. มีการวิจัยและพัฒนาสูตรตำรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพรจากสมุนไพรชนิดต่าง ๆ โดยผ่านการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ และถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้ด้านการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพรให้แก่ผู้ประกอบการด้านสมุนไพรเพื่อยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานกำหนดและสวทช. มีการดำเนินงานวิจัย พัฒนาโดยคำนึงถึงระเบียบ กฎหมาย และประกาศต่าง ๆ เพื่อควบคุมมาตรฐานคุณภาพต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาและได้ให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ - อก. โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีการส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่มีอัตลักษณ์เพื่อเพิ่มมูลค่าในเชิงพาณิชย์การยกระดับมาตรฐานการผลิต (International Standard)ด้วยการจัดทำระบบมาตรฐานการผลิตระดับสากล และมีหน่วยบริการครบวงจร (DIPROM CENTER : DC) ที่ให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรมแบบบูรณาการผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต จำนวน 13 แห่ง ทั่วประเทศ สธ. โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมผู้ประกอบการสมุนไพรและได้จัดทำทะเบียนข้อมูลผู้ผลิตสมุนไพร และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรไว้ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ตลอดจนดำเนินการให้คำปรึกษาและการส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านคุณภาพการผลิต ในการจัดการ และการตลาด ความร่วมมือกันของผู้ประกอบการ กับภาคธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการด้านสมุนไพร OEMกับบริษัทผู้รับจ้างผลิต อาทิ ยาแผนไทย ครีม เซรั่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจาก ขมิ้น กระชาย ฟ้าทะลายโจร เป็นต้น และ พณ. โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญามีการขับเคลื่อนมีการพัฒนาอุตสาหกรรมและการตลาดสมุนไพรให้มีคุณภาพระดับสากล โดยดำเนินการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านทรัพย์สินทางปัญญากว่า 7,900 รายและปรับการให้บริการจดทะเบียนให้มีความทันสมัยและสะดวกมากขึ้น - มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีช่องทางจำหน่ายที่อุทยานบัวเฉลิมพระเกียรติ และเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย กรมพัฒนาชุมชนมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย อาทิ ตลาดนัดคนไทยยิ้มได้, ชุมชนท่องเที่ยว OTOP รวมถึงขยายช่องทางการตลาดออนไลน์ ได้แก่ WWW.OTOPTODAY.COM และแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น และ Shopee และ Lazada พณ.ดำเนินการโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า นำผู้ประกอบการ 704 ราย เข้าร่วมงานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรมูลค่าการซื้อขายกว่า 140 ล้านบาท เช่น งาน SMART Local Fair by DBD งาน OTOP Midyear 2022 สำหรับตลาดสมุนไพรในต่างประเทศ ดำเนินการโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศนำผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรม 587 ราย สร้างมูลค่าการค้าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมสมุนไพรกว่า 1,100 ล้านบาท โดยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง ดูไบ และกวางโจว - สธ. ขอรับข้อเสนอไปพิจารณาดำเนินการต่อไป |
ข้อเสนอเชิงนิติบัญญัติ 1. ควรมีการแก้ไขพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 โดยเพิ่มสาระบัญญัติเกี่ยวกับการส่งเสริมผู้ผลิตให้สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือ เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร มาตรฐานการปลูกพืชสมุนไพรให้มีคุณภาพมาตรฐานและมีความโดดเด่นเชิงพาณิชย์และมาตรฐานวัตถุดิบโดยคำนึงปริมาณสาระสำคัญในสมุนไพร 2. ควรแก้ไขพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 โดยกำหนดหลักการเรื่องการอนุญาตให้ใช้สถานที่ผลิตร่วมกันได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการ 3. ควรแก้ไขพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 เพื่อลดอัตราค่าตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ | - สธ. ขอรับข้อเสนอไปพิจารณาดำเนินการต่อไป - สธ. ได้ออกกฎกระทรวง เรื่อง การขออนุญาตและการออกใบอนุญาตผลิต นำเข้า หรือขาย ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2563 เพื่อกำหนดให้ผู้มีความประสงค์จะใช้สถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรร่วมกับสถานที่เครื่องสำอาง สามารถดำเนินการขอใบอนุญาตโดยการใช้สถานที่ผลิตร่วมได้ - สธ. โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อลดอัตราค่าตรวจวิเคราะห์คุณภาพวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้แก่ผู้ประกอบการผลิตสมุนไพรในอัตราร้อยละ 20 ทุกรายการ |
ต่างประเทศ |
9. เรื่อง การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมประจำภูมิภาคระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และภูมิภาคเอเชียใต้ ครั้งที่ 35 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาพนมเปญว่าด้วยประมวลกฎหมายระหว่างประเทศสำหรับการคุ้มครองนักท่องเที่ยวขององค์การการท่องเที่ยวโลก ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่างเอกสารดังกล่าว ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญเพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์และนโยบายของฝ่ายไทย ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งอนุมัติให้นางสาวดารณี ลิขิตวรศักดิ์ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้เข้าร่วมการประชุม CAP-CSA ครั้งที่ 35 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและร่วมรับรองปฏิญญาฯ ดังกล่าว โดยไม่มีการลงนามตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ
สาระสำคัญ
ร่างปฏิญญาพนมเปญว่าด้วยประมวลกฎหมายระหว่างประเทศสำหรับการคุ้มครองนักท่องเที่ยวขององค์การการท่องเที่ยวโลก มีเนื้อหาสะท้อนเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีท่องเที่ยวของรัฐสมาชิกUNWTO ในการส่งเสริมความร่วมมือ และความเป็นหุ้นส่วน เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นในการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) คลี่คลายลงผ่านการส่งเสริมการบูรณาการระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านการท่องเที่ยว ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการคุ้มครองนักท่องเที่ยว การเผยแพร่ข้อมูล การประสานงานในการคุ้มครองนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน และการดำเนินการตามประมวลกฎหมายระหว่างประเทศสำหรับการคุ้มครองนักท่องเที่ยวขององค์การการท่องเที่ยวโลก
10. เรื่อง สรุปผลการประชุมสมัชชาภาคอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ช่วงที่ 2
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอสรุปผลการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ1 (อนุสัญญาฯ) สมัยที่ 15 และการประชุม ที่เกี่ยวข้อง ช่วงที่ 2 และกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (กรอบงาน คุนหมิง-มอนทรีออลฯ)2 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-19 ธันวาคม 2565 ณ นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา โดยมีเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม นอกจากนี้ ยังมีรัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูงจากประเทศภาคีอนุสัญญาฯ จำนวน 139 ประเทศเข้าร่วมประชุม โดยผลการประชุมต่าง ๆ (ซึ่งคณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 มีมติรับทราบและมอบหมายให้ ทส. นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ) มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. การประชุมระดับสูง เมื่อวันที่ 15-17 ธันวาคม 2565 |
(1) ที่ประชุมแสดงถึงความกังวลต่อความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่ผ่านมา (2) เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กล่าวถ้อยแถลงเพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกับประชาคมโลกในการดำเนินงานให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯ ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยเน้นย้ำการส่งเสริม BCG Model3 โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งในรูปแบบพหุภาคีและทวิภาคี การสนับสนุนกลไกทางการเงิน การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและการเสริมสร้างสมรรถนะเพื่อดำเนินการหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งส่งผลให้ประชาคมโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กับการมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ภายในปี ค.ศ. 2050 |
2. การประชุมระดับเจ้าหน้าที่ เมื่อวันที่ 7-19 ธันวาคม 2565 |
ด้านนโยบาย |
(1) ที่ประชุมให้การรับรอง (ร่าง) กรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลก หลังปี ค.ศ. 2020 (แบบไม่ลงนาม) [คณะรัฐมนตรีมีมติ (6 ธันวาคม 2565) เห็นชอบต่อกรอบท่าทีเจรจาของประเทศไทยสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ช่วงที่ 2 ซึ่งได้มีการกล่าวถึง (ร่าง) กรอบงานฯ ไว้ด้วย] โดยเปลี่ยนชื่อเป็นกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ที่กำหนดให้ประชาคมโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กับการมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ภายในปี ค.ศ. 2050 และเพื่อหยุดยั้งการสูญเสียและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ภายในปี ค.ศ. 2030 (2) ที่ประชุมเห็นชอบตัวชี้วัดหลักและตัวชี้วัดรอง รวมทั้งองค์ประกอบตัวชี้วัดสำหรับใช้ในการประเมินผลการดำเนินงานตามกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลฯ ระดับโลก ภูมิภาค และประเทศ (3) ที่ประชุมขอให้ภาคีดำเนินการตามข้อตัดสินใจต่าง ๆ ดังนี้ (3.1) ขอให้ภาคีเลือกหรือจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายและเป้าประสงค์ของกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลฯ เพื่อนำไปจัดทำเป้าหมายชาติและแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ4 และนำเสนอมายังสำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ ก่อนการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 16 เพื่อรวบรวม วิเคราะห์และประเมินความเป็นไปได้ในการบรรลุเป้าหมายตามกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลฯ (ทส. แจ้งว่า อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพและเป้าหมายชาติโดยใช้กรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลฯ และนโยบายที่เกี่ยวข้องของประเทศเป็นข้อมูลในการดำเนินงาน) (3.2) ขอให้ภาคีเตรียมจัดทำรายงานแห่งชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ5 (รายงานฉบับที่ 7 และฉบับที่ 8)6 โดยเลือกใช้ตัวชี้วัดที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมในครั้งนี้ ตามความเหมาะสมกับบริบทของประเทศ และจัดส่งรายงานดังกล่าวให้สำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2569 และวันที่ 30 มิถุนายน 2572 เพื่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ จะประเมินผลการดำเนินงานตามกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลฯ ต่อไป |
ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของอนุสัญญาฯ |
(1) การระดมทรัพยากรและกลไกทางการเงิน (1.1) สำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ จะจัดทำยุทธศาสตร์การระดมทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลฯ เพื่อให้กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก(Global Environmental Facility: GEF)7 ใช้เป็นแนวทางการพิจารณาสนับสนุนงบประมาณ การดำเนินงานของภาคี และนำเสนอยุทธศาสตร์ฯ ในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 16 (1.2) ที่ประชุมพิจารณาแนวทางการจัดตั้งกองทุนความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนใหม่และขอให้ภาคีจัดทำแผนการเงินระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อกระตุ้นรัฐบาล สถาบันการเงิน ธนาคาร และภาคธุรกิจให้การสนับสนุนการดำเนินงานมากขึ้น (2) การเสริมสร้างสมรรถนะ ความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการ และ การจัดการองค์ความรู้และการสื่อสาร (2.1) ที่ประชุมเห็นชอบยุทธศาสตร์การสื่อสารระยะยาวเพื่อสร้างความเข้าใจและสนับสนุนการดำเนินงานตามกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลฯ โดยขอให้ภาคีนำยุทธศาสตร์ฯ ไปปรับใช้ดำเนินงานได้จนถึงปี 2593 (2.2) ที่ประชุมเห็นชอบขอบเขตการดำเนินงานของคณะที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการด้านความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการเพื่อพิจารณาความร่วมมือที่จะนำไปสู่การจัดทำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถนำไปใช้ในการกำหนดนโยบาย การถ่ายทอดเทคโนโลยี การเสริมสร้างสมรรถนะ การจัดการองค์ความรู้ และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร |
ด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการ |
(1) ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง โดยที่การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ที่ประชุมจึงสนับสนุนให้ภาคีจัดทำแผนบริหารจัดการโดยใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และวิชาการในด้านต่าง ๆ เช่น 1) ลดกิจกรรมการจับสัตว์น้ำที่มากเกินกว่าธรรมชาติจะทดแทน และ 2) แก้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล (2) ความหลากหลายทางชีวภาพและสุขภาพ โดยที่ประชุมสนับสนุนการดำเนินงานตามแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว8 เพื่อเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ โดยขอให้สำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ ประสานความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกและองค์การที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินงานเกี่ยวกับโรคระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีทิศทางเดียวกัน (3) ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (Invasive Alien Species: IAS)9 เป็นภัยคุกคามสำคัญที่ทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดยที่ประชุมได้พิจารณาช่องทางที่เป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดของ IAS ที่เห็นว่าการนำเข้าชนิดพันธุ์ต่างถิ่นผ่านการค้าขายสินค้าและบริการทางช่องทางออนไลน์ยังไม่มีมาตรการหรือเครื่องมือติดตามตรวจสอบ รวมทั้งการประเมินที่ชัดเจนและขอให้คณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกิจด้านชนิดพันธุ์ต่างถิ่นหาวิธีการ เครื่องมือ และการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว (4) สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (Living Modified Organisms: LMOs)10 ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า LMOs แบบใดที่เป็นภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ โดยที่ประชุมเห็นชอบให้คณะที่ปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ วิชาการ และเทคโนโลยี (Subsidiary Body on Scientific, Technical and Technological Advice: SBSTTA) ทบทวนแนวทางการประเมินความเสี่ยง LMOs ที่ใช้ gene drive11 ในกระบวนการดัดแปลงพันธุกรรม และทบทวนเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ที่เกี่ยวกับชีววิทยาสังเคราะห์ให้มีความรอบด้านยิ่งขึ้น (5) ข้อมูลดิจิทัลของลำดับพันธุกรรม12 (Digital Sequence Information on Genetic Resources DSI) โดยที่ประชุมพิจารณาทางเลือกในการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ DSI เพื่อเสนอต่อการประชุมสมัชชาภาคีนุสัญญาฯ สมัยที่ 16 โดยหลายประเทศเห็นว่า การแบ่งปันผลประโยชน์แบบพหุภาคีมีความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้กับ DSI มากที่สุด และที่ประชุมเห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ DSI เพื่อศึกษาและจัดทำกลไกพหุภาคี ซึ่งควรมีรูปแบบเป็นกองทุนระดับโลก (6) ความหลากหลายทางชีวภาพกับการเกษตร โดยที่ประชุมเห็นพ้องว่าพื้นที่เกษตรเป็นระบบนิเวศรูปแบบหนึ่งที่เกษตรกรสามารถใช้ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ให้เป็นประโยชน์อย่างยั่งยืนเพื่อความมั่นคงทางอาหารและลดความยากจน และขอให้ภาคีส่งเสริมการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (7) ความหลากหลายทางชีวภาพกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยที่ประชุมรับทราบว่าการจำกัดค่าเฉลี่ยอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิโลกก่อนยุคอุตสาหกรรมไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพโดยขอให้ภาคีเสนอข้อมูลการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ตามความสมัครใจ) ต่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ เพื่อวิเคราะห์การดำเนินงานต่อไป (8) ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น เนื่องจากคณะทำงานว่าด้วยข้อบท 8 (เจ) ของอนุสัญญาฯ13 ได้เสนอให้ยกระดับการดำเนินงานตามข้อบทดังกล่าวเพื่อให้ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินงานในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้น ที่ประชุมขอให้คณะทำงานฯ พิจารณาวัตถุประสงค์ หลักการ องค์ประกอบในการดำเนินงานที่เป็นไปได้และประเด็นที่จะดำเนินงานภายใต้อนุสัญญาฯ เพื่อเสนอสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ พิจารณาต่อไป |
อื่น ๆ |
(1) สาธารณรัฐทูร์เคียรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 16 ในช่วงปลายปี 2567 นอกจากนี้ สำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ ได้เชิญชวนประเทศในภูมิภาคยุโรปกลางและตะวันออกเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 17 รวมทั้งเชิญชวนประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 18 (2) ให้คณะที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ วิชาการ และเทคโนโลยี (SBSTTA Bureau) และคณะที่ปรึกษาด้านการดำเนินงาน (SBI Bureau) (เป็นตัวแทนจาก 5 ภูมิภาคทั่วโลก) ชุดปัจจุบัน14 ที่ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 14 ยังไม่หมดวาระและให้ดำเนินงานต่อไป |
3. กิจกรรมคู่ขนานและการดำเนินงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในระหว่างการประชุมฯ เช่น |
(1) การหารือทวิภาคีระหว่างเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับประเทศอื่น ๆ ได้แก่ การหารือกับ State secretary แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (เยอรมัน) และผู้แทนกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภคแห่งเยอรมันเกี่ยวกับโอกาสในการขยายการสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนานโยบายด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพให้เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต รวมทั้งประเด็นความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมความริเริ่มในการจัดทำแผนจัดการความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยฉบับต่อไป และการหารือกับผู้จัดการโครงการริเริ่มการลงทุนเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ (The Biodiversity Finance Initiative: BIOFIN)15 ซึ่งเป็นโครงการระดับโลกที่ริเริ่มดำเนินโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับการเพิ่มการสนับสนุนด้านงบประมาณและวิชาการ โดยการทบทวนแผนการเงินด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศและความเป็นไปได้ในการขยายการดำเนินงานโครงการ BIOFIN ในประเทศไทยออกไปจนถึงปี 2570 (2) การเข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนานที่จัดโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เรื่อง Biodiversity Perspective for Urbanization: Case Study on EGAT Headquarter เพื่อเผยแพร่ความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์ที่ถูกคุกคามและพันธุ์พืชที่ใกลัสูญพันธุ์ |
___________________
1 ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ประโยชน์องค์ประกอบของความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม [คณะรัฐมนตรีมีมติ (8 กรกฎาคม 2546) อนุมัติการจัดทำหนังสือการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เสนอต่อรัฐสภาตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2546 ตามที่ ทส. เสนอ]
2 กรอบงานคุนหมิง-มอนหรีออลฯ เป็นกลยุทธ์การดำเนินงานของอนุสัญญาฯ ประกอบด้วย 4 เป้าประสงค์ ได้แก่ 1) การอนุรักษ์ คุ้มครอง ฟื้นฟูระบบนิเวศ และเชื่อมโยงระบบนิเวศที่สมบูรณ์ตามธรรมชาติ 2) สนับสนุนการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน 3) ส่งเสริมให้เกิดการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม และ 4) ลดช่องว่างทางการเงินและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานต่างๆ ที่สนับสนุนอนุสัญญาฯ
3 BCG Model เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ประกอบด้วย 3 มิติ ได้แก่ 1) เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม 2) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยคำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และ 3) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน
4 คณะรัฐมนตรีมีมติ (10 มีนาคม 2558) เห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทบูรณาการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2558-2564 เป็นแผนหลักด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ และ (ร่าง) เป้าหมายระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (กำหนดแนวทางดำเนินงานปี 2559-2564) และคณะรัฐมนตรีมีมติ (28 มีนาคม 2560) เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2560-2564 ตามที่ ทส. เสนอ
5 อนุสัญญาฯ กำหนดให้รัฐภาคีอนุสัญญาฯ ต้องเสนอรายงานต่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ ตามระยะเวลาที่กำหนด (ทุก ๆ 4 ปี) เพื่อสะท้อนความก้าวหน้าการดำเนินงานของประเทศ
6 รายงานฉบับที่ 6 (ปี 2561) เป็นฉบับล่าสุด โดยเน้นการประเมินความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนแม่บทฯ
7 GEF ก่อตั้งในปี 2534 เป็นกลไกความร่วมมือบนหลักการของความเป็นหุ้นส่วนทางด้านการเงินระหว่างประเทศเพื่อให้การสนับสนุนการเงินกับประเทศที่ขอรับการสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อมภายใต้อนุสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
8 แนวทางสุขภาพหนึ่งเดียวเป็นแนวคิดในการทำงานร่วมกันของสหวิชาชีพทั้งระดับ ท้องถิ่น ระดับชาติและระดับโลกเพื่อให้เกิดภาวะสุขภาพที่ดีแบบองค์รวมทั้งในคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม
9 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน หมายถึง ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานและแพร่กระจายได้ในธรรมชาติเป็นชนิดพันธุ์เด่นในสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้ชนิดพันธุ์ท้องถิ่นหรือพันธุ์พื้นเมืองสูญพันธุ์ รวมถึงคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพและก่อให้เกิดความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขอนามัย [ประเทศไทยมีพืชต่างถิ่น เช่น วงศ์พืช (เช่น วงศ์ถั่ว วงศ์ดาวเรือง และวงศ์บานไม่รู้โรย) ที่มีถิ่นกำเนิดมาจากทวีปอเมริกา และวงศ์หญ้าที่เป็นวัชพืช (เช่น หญ้าคา)] ซึ่งมีพฤติกรรมรุกรานและเจริญเติบโตรวดเร็ว
10 สิ่งมีชีวิตตัดแปลงพันธุกรรม (LMOs) หมายถึง สิ่งมีชีวิต (พืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์) ที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมโดยใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม (เทคนิคการตัดต่อยีน) เพื่อให้มีคุณสมบัติหรือคุณลักษณะตามที่ต้องการอย่างจำเพาะ เช่น ต้านทานแมลงศัตรูพืช ต้านทานโรค และคงทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม
11 เป็นวิธีการนำยีนแปลกปลอมเข้าไปสู่เซลล์และการแพร่กระจายเพื่อควบคุม ลด หรือกำจัดจำนวนประชากรนั้น ๆ เช่น ยุง
12 เป็นข้อมูลเกี่ยวกับรหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่มีการวิเคราะห์และจัดทำข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล
13 กำหนดให้การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพตามธรรมชาติจะต้องเคารพ สงวนรักษาภูมิปัญญาและวิธีปฏิบัติของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
14 ทส. ชี้แจงว่า SBSTTA Bureau และ SBI Bureau จะได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ ในแต่ละสมัย ซึ่งคณะที่ปรึกษาชุดปัจจุบันได้รับคัดเลือกและดำเนินงานตั้งแต่การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 14 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และที่ประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ ครั้งที่ 15 เห็นควรให้คณะที่ปรึกษาชุดเดิมทั้ง 2 คณะ ดำเนินงานต่อไปจนถึงการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ ถัดไป
15 โครงการ BIOFIN เป็นโครงการระดับโลกภายใต้โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนทางด้านวิชาการเพื่อให้ประเทศสมาชิกเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการการเงิน บุคลากร และทรัพยากรด้านอื่น ๆ เพื่อดูแลรักษาความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพ โดยดำเนินการนำร่องนวัตกรรมทางการเงินใน 41 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ซึ่งประเทศไทยเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2557 โดยมีกิจกรรมการดำเนินงาน เช่น การประเมินค่าใช้จ่ายและช่องว่างการดำเนินงานตามแผนแม่บทบูรณาการฯ การจัดทำแผนการเงินด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืนในพื้นที่เกาะเต่าขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการในระยะที่ 2 ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2568
แต่งตั้ง |
11. เรื่อง การแต่งตั้งมนตรีฝ่ายไทยประจำมูลนิธิเอเชีย-ยุโรปคนใหม่
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการแต่งตั้งนางจุฬามณี ชาติสุวรรณ ดำรงตำแหน่งมนตรีฝ่ายไทยประจำมูลนิธิเอเชีย - ยุโรป (Asia – Europe Foundation: ASEF) สืบแทนนายดามพ์ สุคนธทรัพย์ โดยให้เริ่มปฏิบัติหน้าที่ภายในเดือนมิถุนายน 2566 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอและให้ กต. รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป (มนตรีฝ่ายไทยคนใหม่จะเข้าร่วมการประชุมประจำปีของคณะมนตรี ASEF ครั้งที่ 44 ระหว่างวันที่ 6 - 7 กรกฎาคม 2566 ณ นครบาร์เซโลนา ราชอาณาจักรสเปน)
12. เรื่อง แต่งตั้งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแต่งตั้ง นายศุภกิจ ศิริลักษณ์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เนื่องจากผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขเดิมจะครบวาระการดำรงตำแหน่งตามสัญญาจ้างในวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างเป็นต้นไป แต่ไม่ก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (2) แล้ว
13. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงคมนาคม)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้ง นายตติรัฐ รัตนเศรษฐ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป
14. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ดังนี้
1. นายภาณุ สุขวัลลิ กรรมการ (ผู้แทนสถาบันเกษตรกร)
2. นายณฐกร สุวรรณธาดา กรรมการ (ผู้แทนสถาบันเกษตรกร)
3. นายสำเริง แสงภู่วงค์ กรรมการ
4. นายวีรวัฒน์ ยมจินดา กรรมการ
5. นายสมิทธิ ดารากร ณ อยุธยา กรรมการ
6. นายกวีฉัฏฐ ศีลปพิพัฒน์ กรรมการ
7. นายณัฐชา ลิขิตกิจวรกุล กรรมการ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.thaigov.go.th