วันพุธที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 5 กรกฎาคม 2566

 


วันนี้ 5 กรกฎาคม  2566 เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
 

กฎหมาย

1.        เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ....
2.        เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงกำหนดกรณีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
3.        เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสี โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....
4.        เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566
5.        เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงสำมะโนหรือสำรวจตัวอย่างการเกษตร พ.ศ. ....
6.        เรื่อง     การปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการของหน่วยงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 

เศรษฐกิจ-สังคม

7.        เรื่อง     รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว                   
8.        เรื่อง     ขออนุมัติงบประมาณ งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นสำหรับเบิกจ่ายโครงการติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำมันปาล์ม เพื่อบริหารจัดการและควบคุมสต๊อกน้ำมันปาล์ม งวดที่ 3 และงวดสุดท้าย                    
9.        เรื่อง     การนำที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะมาใช้ในโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกบริเวณหนองตาเหี่ยม ตำบลอรัญญิก อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก
10.      เรื่อง     การจำแนกประเภทหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร กรณีสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
11.      เรื่อง     ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐของสำนักงาน กสม.
12.      เรื่อง     ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการควบคุมและจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป (เพิ่มเติม)
13.      เรื่อง     แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
 
         

ต่างประเทศ

14.      เรื่อง     ผลการประชุม The 1st Asia Zero Emission Community (AZEC) Ministerial Meeting
15.      เรื่อง     ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนว่าด้วยเรื่องการเร่งรัดการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 2
16.      เรื่อง     ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการไทย-ตุรกี ครั้งที่ 4 และกิจกรรมคู่ขนาน
17.      เรื่อง     ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for    Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) หรือบิมสเทค ครั้งที่ 19
18.      เรื่อง     ร่างแถลงการณ์ปักกิ่งสำหรับการประชุมระดับสูงว่าด้วยการปฏิบัติการระดับโลกเพื่อการพัฒนาร่วมกัน ครั้งที่ 1
19.      เรื่อง     ขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารสุดท้าย (Draft Final Document) และร่างปฏิญญากรุงบากูของการประชุมคณะกรรมการประสานงานในระดับรัฐมนตรีของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Ministerial Meeting of the Coordinating Bureau of the Non-Aligned Movement: CoB-NAM)

แต่งตั้ง

 
 20.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
21.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ  (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ)
22.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับ ทรงคุณวุฒิ  (สำนักนายกรัฐมนตรี)
23.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง  (กระทรวงแรงงาน)
24.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)
 25.      เรื่อง     แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สาขาการเงิน ในคณะกรรมการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ
 
 

กฎหมาย

1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ....
                     คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้
                     1. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้
                     2. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่                   13 มกราคม 2547 เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งข้าราชการระดับ 10 หรือระดับ 11 กรณีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
                     ทั้งนี้ ทส. เสนอว่า
                     1. สืบเนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญและรับมือกับปัญหาที่ตามมาทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของฤดูกาล การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ทำให้เกิดความจำเป็นในการพัฒนาศักยภาพของประเทศเพื่อเตรียมรับกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ประกอบกับประเทศไทยต้องดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พิธีสารเกียวโต และความตกลงปารีส เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ และความร่วมมือกับประชาคมโลกในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ได้แก่ เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG emission) ในปี ค.ศ. 2065
                     2. ทส. จึงได้ทบทวนและปรับปรุงบทบาท ภารกิจ และโครงสร้างหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้สอดคล้องกับบริบททางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป และสอดรับกับทิศทางและข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยนำภารกิจของ “กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ มารวมกับภารกิจของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม และการศึกษา วิจัย พัฒนาสารสนเทศ องค์ความรู้และนวัตกรรมในการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการสื่อสารและเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงองค์ความรู้และสารสนเทศสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่ออัตรากำลังของหน่วยงาน แล้วปรับปรุงหน้าที่และอำนาจ และเปลี่ยนชื่อ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็น “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” (Department of Climate Change and Environment) และได้รายงานว่าคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (20 ธันวาคม 2565) รับทราบแล้ว แต่โดยที่มาตรา 8 ตรี วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2543 บัญญัติให้การเปลี่ยนชื่อส่วนราชการให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ทส. จึงได้จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ....
                     3. ในคราวประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการ ทส. ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่  23 พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบคำชี้แจงประกอบการขอปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมและเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. .... โดยให้นำเสนอต่อสำนักงาน ก.พ.ร. ต่อไป และในคราวประชุมคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 4/2565 วันที่ 7 ธันวาคม 2565 ที่ประชุมรับทราบการจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการ
                     4. ในคราวประชุมคณะกรรมการ ก.พ.ร. ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ประชุมมีมติ ดังนี้
                         4.1 เห็นชอบการเปลี่ยนชื่อ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็น “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” (Department of ClimateChange and Environment) และเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม  พ.ศ. ....
                         4.2 เห็นชอบการปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการหน่วยงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ทส. และการกำหนดตัวชี้วัดสำคัญ เพื่อวัดความสำเร็จการปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการใหม่ และเห็นชอบร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ทั้งนี้  การปรับปรุงโครงสร้างฯ และร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการฯ ให้มีผลเมื่อร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. .... มีผลใช้บังคับ
                     5. ทส. ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นการตัดโอนกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปสังกัดกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยตัดโอนทั้งภารกิจ อัตรากำลังและงบประมาณในคราวเดียวกัน เป็นการปรับปรุงโครงสร้างโดยไม่เพิ่มจำนวนกองและอัตรากำลังในภาพรวมของ ทส. และมีการดำเนินการร่วมกันระหว่างส่วนราชการและหน่วยงานกลางที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงาน ก.พ. และสำนักงบประมาณ (สงป.) ซึ่งการดำเนินการเรื่องดังกล่าวเป็นไปโดยสอดคล้องกับมาตรา 169 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ข้อกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
                     สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
                     เปลี่ยนชื่อ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็น กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยตัดโอนกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาสังกัดด้วย โดยโอนทั้งภารกิจอัตรากำลัง และงบประมาณ
 
2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดกรณีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดกรณีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงสาธารณสุขไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของกระทรวงคมนาคมไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                     ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่กระทรวงการคลังเสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดกรณีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง พ.ศ. 2561 เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง กรณีสัดส่วนการถือหุ้นของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจในรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทที่เป็นนิติบุคคลในเครือของหน่วยงานของรัฐเดียวกัน จากเดิม “ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของทุนทั้งหมด” เป็น “ไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมด” เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ จากรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทที่เป็นนิติบุคคลในเครือของหน่วยงานเดียวกันมีความโปร่งใสมากขึ้น โดยเมื่อเพิ่มอัตราร้อยละการถือหุ้นแล้วจะช่วยลดการใช้ช่องว่างทางกฎหมายเพื่อจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงกับรัฐวิสาหกิจที่ถือหุ้นอยู่หรือกับนิติบุคคลที่เป็นบริษัทในเครือ (จากเดิมถือหุ้นร้อยละยี่สิบห้าของทุนทั้งหมดก็สามารถจ้างรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทในเครือด้วยวิธีการเฉพาะเจาะจงได้ ซึ่งเมื่อแก้ไขกฎหมายแล้วจะไม่สามารถจ้างรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทเดิมด้วยวิธีการเฉพาะเจาะจงได้อีก ต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปหรือวิธีคัดเลือกอันจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการภายนอกเข้าแข่งขันได้ด้วย) ประกอบกับคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐเห็นชอบด้วยแล้ว รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบด้วยในหลักการ ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าเรื่องนี้มิได้เป็นกรณีที่คณะรัฐมนตรีกระทำการอันเป็นอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกผันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไปตามมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 เรื่อง แนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร
                     สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                     กำหนดให้เพิ่มอัตราร้อยละในการถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในรัฐวิสาหกิจหรือนิติบุคคล ตามข้อ 2 (4) (ก) จากเดิม “ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของทุนทั้งหมด” เป็น “ไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมด”

เงื่อนไขเดิมเงื่อนไขใหม่
(ก) รัฐวิสาหกิจหรือนิติบุคคลที่มีหน่วยงานของรัฐถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนรวมอยู่ด้วยในรัฐวิสาหกิจหรือนิติบุคคลนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของทุนทั้งหมดหรือไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุนทั้งหมดและเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด(ก) รัฐวิสาหกิจหรือนิติบุคคลที่มีหน่วยงานของรัฐถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนรวมอยู่ด้วยในรัฐวิสาหกิจหรือนิติบุคคลนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมดหรือไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมดและเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด

 
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสี โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสี โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้
                     ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เป็นการยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อน แผ่นม้วน แผ่นแถบ แผ่นตัด และแผ่นลูกฟูกต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2563 (ตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 50 - 2561) และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อนขึ้นใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมการทำเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นแผ่นม้วนความกว้างน้อยกว่า 600 มิลลิเมตร สำหรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสีประเภทอื่นที่เคยอยู่ใน มาตรฐานเลขที่ มอก.    50 - 2561 เช่น เหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นแผ่นลูกฟูกที่มีความหนาไม่น้อยกว่า 0.11 มิลลิเมตร ชนิดแผ่นลูกฟูกลอนใหญ่ที่มีระยะระหว่างลอน 76 มิลลิเมตร ความสูงของลอน 18 มิลลิเมตร และชนิดแผ่นลูกฟูกลอนเล็กที่มีระยะระหว่างลอน 32 มิลลิเมตร ความสูงของลอน 9 มิลลิเมตร ยังคงเหมือนเดิม ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดตามมาตรฐานอ้างอิงที่มีการปรับปรุงใหม่ รวมทั้งเป็นการรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีการทำและการใช้งานภายในประเทศอย่างทั่วถึง ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าการเสนอร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นไปตามเงื่อนไข ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยเป็นการกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายแม่บทให้อำนาจไว้ ซึ่งสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 (เรื่อง แนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร)
                     สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                    1. กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อน ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 50 - 2565 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 6867 (พ.ศ. 2565) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง ยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อน แผ่นม้วน แผ่นแถบ แผ่นตัด และแผ่นลูกฟูก และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อน ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565
                     2. กำหนดให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสองร้อยเจ็บสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้
                     1. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
                     2. ให้ กค. แจ้งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Cooperation and Development : OECD) เพื่อให้ความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ (Multilateral Competent Authority Agreement on Automatic Exchange of Financial Account Information : MCAA CRS) มีผลผูกพัน เมื่อร่างกฎกระทรวงฯ และกฎหมายลำดับรองฉบับอื่น ๆ ของพระราชกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566 มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว
                     สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                     เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับหน้าที่ของผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลบัญชีทางการเงินที่เป็นสถาบันการเงินในประเทศไทย ซึ่งต้องดำเนินการตามพระราชกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566 แบ่งเป็น 6 ลักษณะ ได้แก่ 1) ผู้มีหน้าที่รายงาน  2) การตรวจสอบบัญชีกรณีทั่วไป 3) การตรวจสอบบัญชีของบุคคลธรรมดา 4) การตรวจสอบบัญชีของนิติบุคคล 5) หลักเกณฑ์พิเศษสำหรับการตรวจสอบข้อมูลลูกค้า และ 6) เบ็ดเตล็ด สรุปสาระสำคัญดังนี้

หัวข้อรายละเอียด
Ÿ คำนิยาม (ร่างข้อ 1)Ÿ กำหนดคำนิยาม เช่น
          - “นิติบุคคล” หมายความว่า นิติบุคคลตามกฎหมายหรือหน่วยที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วน กองทรัสต์ หรือมูลนิธิ
          - “สถาบันการเงิน” หมายความว่า สถาบันผู้รับฝากสินทรัพย์ สถาบันรับฝากเงิน นิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการลงทุน หรือบริษัทประกันที่กำหนด
          - “สถาบันรับฝากเงิน” หมายความว่า นิติบุคคลใด ๆ ที่รับฝากเงินเป็นปกติธุระในลักษณะของธุรกิจธนาคารหรือธุรกิจอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน
          - “บัญชีทางการเงิน” หมายความว่า บัญชีที่อยู่ภายใต้การดูแล เก็บรักษาของสถาบันการเงิน
          - “บัญชีเงินฝาก” หมายความว่า บัญชีทางพาณิชย์ บัญชีกระแสรายวัน บัญชีออมทรัพย์ บัญชีฝากประจำ บัตรเงินฝาก เอกสารรับรองการลงทุน ตราสารหนี้ หรือตราสารอื่นที่มีลักษณะเดียวกันที่เก็บรักษาโดยสถาบันการเงินตามธุรกรรมทั่วไปที่ธนาคารหรือธุรกิจที่มีลักษณะเดียวกันดำเนินการ
          - “บัญชีทางการเงินที่ต้องถูกรายงาน” หมายถึงบัญชีทางการเงินที่อยู่ภายใต้การดูแล เก็บรักษาของผู้มีหน้าที่รายงานที่เป็นสถาบันการเงิน ซึ่งถูกถือโดยผู้ที่ต้องถูกรายงานรายเดียวหรือหลายราย ซึ่งมีผู้มีอำนาจควบคุมรายเดียวหรือหลายรายเป็นผู้ที่ต้องถูกรายงาน ทั้งนี้ ตามที่ได้ถูกบ่งชี้ว่าเป็นบัญชีทางการเงินที่ต้องถูกรายงานภายใต้กระบวนการตรวจสอบบัญชีทางการเงินตามกฎกระทรวงนี้
          - “เลขประจำตัวผู้เสียภาษี” หมายถึง เลขประจำตัวของผู้เสียภาษี หรือสิ่งที่ใช้แทนในกรณีที่ไม่มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษี

 

1) ผู้มีหน้าที่รายงาน
หัวข้อรายละเอียด
Ÿ ผู้มีหน้าที่รายงานที่เป็นสถาบันการเงินในประเทศไทยและสถาบันการเงินที่ไม่มีหน้าที่รายงาน (ร่างข้อ 2 - ข้อ 3)Ÿ กำหนดสถาบันการเงินที่มีหน้าที่รายงาน ดังนี้
   1) สถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กฎหมายไทยแต่ไม่รวมถึงสาขาของสถาบันการเงินดังกล่าวที่ตั้งอยู่นอกดินแดนของประเทศไทย เช่น ธนาคารพาณิชย์ของไทย (ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย)
   2) สาขาของสถาบันการเงินที่มิได้อยู่ภายใต้กฎหมายไทย แต่สาขาของสถาบันการเงินนั้นตั้งอยู่ในประเทศไทย เช่น ธนาคาร Citibank ธนาคารฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด (HSBC) เป็นผู้มีหน้าที่รายงานที่เป็นสถาบันการเงินในประเทศไทยมีหน้าที่ต้องตรวจสอบบัญชีซึ่งเป็นบัญชีทางการเงินที่ต้องถูกรายงานตามกระบวนการตรวจสอบที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้
Ÿ กำหนดสถาบันการเงินที่ไม่มีหน้าที่รายงาน เช่น
   1) หน่วยงานของรัฐบาล องค์การระหว่างประเทศหรือธนาคารกลางในกรณีที่นอกเหนือจากการจ่ายเงินตามหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเงินเพื่อทางค้าหรือหากำไรประเภทที่ดำเนินการโดยบริษัทประกันภัยที่กำหนด สถาบันรับฝากสินทรัพย์ หรือสถาบันรับฝากเงิน
   2) กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพที่มีผู้เข้าร่วมในวงกว้างและวงแคบซึ่งเป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ผลประโยชน์จากการเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต หรือหลายอย่างประกอบกันแก่ผู้รับผลประโยชน์ที่เป็นลูกจ้างในปัจจุบันหรือในอดีต หรือบุคคลที่ลูกจ้างดังกล่าวระบุให้ได้รับผลประโยชน์ของนายจ้างอย่างน้อยหนึ่งรายเพื่อตอบแทนการทำงาน
   3) กองทุนบำเหน็จบำนาญของข้าราชการขององค์การระหว่างประเทศ หรือของธนาคารกลางหรือผู้ออกบัตรเครดิตที่มีคุณสมบัติซึ่งเป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นโดยหน่วยงานของรัฐบาล องค์การระหว่างประเทศ หรือธนาคารกลาง
2) การตรวจสอบบัญชีกรณีทั่วไป
หัวข้อรายละเอียด
Ÿ หลักเกณฑ์การตรวจสอบบัญชีกรณีทั่วไป (ร่างข้อ 4 - ข้อ 9)Ÿ กำหนดคำนิยามคำว่า
          - “บัญชีที่มีอยู่” หมายความว่า บัญชีทางการเงินที่ผู้มีหน้าที่รายงานที่เป็นสถาบันการเงินในประเทศไทยดูแล เก็บรักษา ซึ่งถูกเปิดก่อนวันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับ
          - “บัญชีใหม่” หมายความว่า บัญชีทางการเงินที่ผู้มีหน้าที่รายงานที่เป็นสถาบันการเงินในประเทศไทยดูแล เก็บรักษา ซึ่งถูกเปิดในหรือหลังวันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับ
Ÿ กำหนดให้ผู้มีหน้าที่รายงานที่เป็นสถาบันการเงินต้องจัดทำ เก็บรักษา และบันทึกเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบบัญชีทางการเงินที่ต้องถูกรายงานซึ่งถูกเก็บรักษาโดยผู้มีหน้าที่รายงานที่เป็นสถาบันการเงิน
Ÿ กำหนดให้ผู้มีหน้าที่รายงานที่เป็นสถาบันการเงินให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบัญชีทางการเงินที่ต้องถูกรายงานตามพระราชกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566
Ÿ กำหนดให้ผู้มีหน้าที่รายงานที่เป็นสถาบันการเงินพิจารณายอดคงเหลือหรือมูลค่าในบัญชี ณ วันสุดท้ายของปีปฏิทิน

 

3) การตรวจสอบบัญชีของบุคคลธรรมดา
หัวข้อรายละเอียด
Ÿ หลักเกณฑ์การตรวจสอบบัญชีของบุคคลธรรมดา (ร่างข้อ 10 - ข้อ 35)Ÿ กำหนดคำนิยามคำว่า
          - “บัญชีที่มีอยู่ของบุคคลธรรมดา” และ “บัญชีใหม่ของบุคคลธรรมดา” หมายความว่า บัญชีที่มีอยู่/บัญชีใหม่ ซึ่งถือโดยบุคคลธรรมดารายเดียวหรือหลายราย
          - “บัญชีที่มีมูลค่าต่ำ” หมายความว่า บัญชีที่มีอยู่ของบุคคลธรรมดาซึ่งมียอดรวมหรือมูลค่ารวมไม่เกิน                  30 ล้านบาท 1) ณ วันที่ 31 ธ.ค. 65 2) ณ วันก่อนวันที่กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้
          - “บัญชีที่มีมูลค่าสูง” หมายความว่า บัญชีที่มีอยู่ของบุคคลธรรมดาซึ่งมียอดรวมหรือมูลค่ารวม เกิน                  30 ล้านบาท 1) ณ วันที่ 31 ธ.ค. 65 2) ณ วันก่อนวันที่กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ 3) ณ วันที่ 31 ธ.ค. ของปีถัดมา
Ÿ กำหนดให้บัญชีที่มีอยู่ของบุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นบัญชีทางการเงินที่ต้องถูกรายงานตามที่กำหนด เป็นบัญชีทางการเงินที่ต้องถูกรายงานในปีต่อ ๆ ไป เว้นแต่ผู้ถือบัญชีดังกล่าวจะสิ้นสุดการเป็นผู้ต้องถูกรายงาน
Ÿ กำหนดให้ผู้มีหน้าที่รายงานที่เป็นสถาบันการเงินต้องดำเนินกระบวนการตรวจสอบบัญชีที่มีมูลค่าต่ำและบัญชีที่มีมูลค่าสูงตามที่กำหนด เช่น ตรวจสอบข้อมูลจากการสืบค้นข้อมูลในระบบฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ตนเก็บรักษาไว้
Ÿ กำหนดให้ผู้มีหน้าที่รายงานที่เป็นสถาบันการเงินต้องดำเนินกระบวนการตวรจสอบบัญชีใหม่ของบุคคลธรรมดาตามที่กำหนด เช่น เมื่อมีการเปิดบัญชีใหม่ ให้ผู้มีหน้าที่รายงานที่เป็นสถาบันการเงินจัดให้ได้มาซึ่งเอกสาร                   การรับรองตนเองซึ่งอาจกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของเอกสารประกอบการเปิดบัญชี เพื่อทำให้ผู้มีหน้าที่รายงานสามารถพิจารณาถิ่นที่อยู่ทางภาษีอากรของผู้ถือบัญชีได้

 

4) การตรวจสอบบัญชีของนิติบุคคล
หัวข้อรายละเอียด
Ÿ หลักเกณฑ์การตรวจสอบบัญชีของนิติบุคคล (ร่างข้อ 36 - ข้อ 39)Ÿ กำหนดคำนิยามคำว่า
          - “บัญชีที่มีอยู่ของนิติบุคคล” หมายความว่าบัญชีที่มีอยู่ซึ่งถือโดยนิติบุคคลรายเดียวหรือหลายรอบ
          - “บัญชีใหม่ของนิติบุคคล” หมายความว่าบัญชีใหม่ที่ถือโดยนิติบุคคลรายเดียวหรือหลายราย
Ÿ กำหนดให้ผู้มีหน้าที่รายงานที่เป็นสถาบันการเงินต้องดำเนินกระบวนการตรวจสอบบัญชีที่มีอยู่ของนิติบุคคล ตามที่กำหนด เช่น
   1) บัญชีที่มีอยู่ของนิติบุคคลที่มียอดเงินรวมหรือมูลค่ารวมในบัญชีไม่เกิน 7 ล้าน 5 แสนบาท ณ วันที่ 31 ธ.ค. 65 หรือ ณ วันที่ก่อนกฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ ให้ผู้มีหน้าที่รายงานสามารถเลือกที่จะไม่ตรวจสอบ หรือรายงานบัญชีที่ต้องถูกรายงานก็ได้ จนกว่าบัญชีดังกล่าวจะมียอดเงินรวมหรือมูลค่ารวมในบัญชีเกินกว่า 7 ล้าน 5 แสนบาท  ณ วันสุดท้ายของปีปฏิทินถัดไปใด ๆ
    2) บัญชีที่มีอยู่ของนิติบุคคลซึ่งมียอดเงินรวมหรือมีมูลค่ารวมในบัญชีเกินกว่า 7 ล้าน 5 แสนบาท ณ วันที่ 31 ธ.ค. 65 หรือ ณ วันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ /บัญชีตาม 1) และ ต่อมามียอดเงินรวมหรือมูลค่ารวมในบัญชี เกินกว่า 7 ล้าน 5 แสนบาท ณ วันสุดท้ายของปีปฏิทินถัดไปเป็นบัญชีที่ต้องถูกตรวจสอบ

 
 
 
 

5) หลักเกณฑ์พิเศษสำหรับการตรวจสอบข้อมูลลูกค้า
หัวข้อรายละเอียด
Ÿ กระบวนการตรวจสอบเพิ่มเติม นอกเหนือจากกระบวนการตรวจสอบที่กำหนด (ร่างข้อ 52)Ÿ การคำนวณหายอดเงินรวมหรือมูลค่ารวมในบัญชีทางการเงินของนิติบุคคล ให้ผู้มีหน้าที่รายงานที่เป็นสถาบันการเงินต้องพิจารณาบัญชีทางการเงินทั้งหมดที่อยู่ในการดูแล เก็บรักษาของตน หรือที่อยู่ในการดูแลเก็บรักษาของนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันกับตนเฉพาะเท่าที่ระบบคอมพิวเตอร์ของผู้มีหน้าที่รายงานสามารถเชื่อมโยงไปถึงบัญชีทางการเงิน เช่น เลขประจำตัวของลูกค้า หรือเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ถือบัญชี และให้รวมยอดเงินรวมหรือมูลค่ารวมดังกล่าวเข้าด้วยกัน

 

6) เบ็ดเตล็ด
หัวข้อรายละเอียด
Ÿ วันใช้บังคับ (ร่างข้อ 59)Ÿ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                     ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องแล้วซึ่งผู้แสดงความเห็นไม่ได้คัดค้านในหลักการของร่างกฎกระทรวงดังกล่าว และกระทรวงการคลังรายงานว่า  ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐ เนื่องจากไม่มีงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในการดำเนินการตามร่างกฎกระทรวงฯ และสามารถใช้บุคลากรเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่เพื่อรองรับการปฏิบัติหน้าที่ตามร่างกฎกระทรวงฯ ในขั้นต้นได้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยสามารถดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศตามความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ (MCAA CAS) ได้ และช่วยให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติให้แก่ผู้มีหน้าที่รายงานที่เป็นสถาบันการเงินในประเทศไทย อันจะช่วยลดเวลาและต้นทุนทางธุรกิจ และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีอากร และลดปัญหาการหลบหลีกหรือหลีกเลี่ยงภาษีอากร ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบภาษีมากขึ้น
 
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงสำมะโนหรือสำรวจตัวอย่างการเกษตร พ.ศ. ....
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงสำมะโนหรือสำรวจตัวอย่างการเกษตร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดส.) เสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                     ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอเนื่องมาจากสำนักงานสถิติแห่งชาติได้จัดทำการจัดทำสำมะโนการเกษตรของประเทศไทยมาแล้ว 6 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2493 ครั้งต่อมาจัดทำเมื่อ พ.ศ. 2506 พ.ศ. 2521 พ.ศ. 2536 พ.ศ. 2546 และ พ.ศ. 2556 ปัจจุบันครบกำหนดเวลาการจัดทำสำมะโนการเกษตรครั้งต่อไปใน พ.ศ. 2566 จึงต้องดำเนินการออกกฎกระทรวงตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. 2550 ซึ่งบัญญัติให้เมื่อหน่วยงานจะมีการจัดทำสำมะโนหรือการสำรวจตัวอย่างที่ประสงค์จะกำหนดให้เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องให้ข้อมูล ให้กำหนดโดยกฎกระทรวงเพื่อกำหนดให้มีการทำสำมะโนหรือสำรวจตัวอย่างการเกษตรทั่วราชอาณาจักรในปี พ.ศ. 2566 (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2567 - 2576) เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการทำการเกษตรจากผู้ถือครองทำการเกษตรทุกรายในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งที่มีอยู่ในทะเบียนเกษตรกรและนอกทะเบียนเกษตรกร โดยให้สำนักงานสถิติแห่งชาติทำการสำรวจตัวอย่างการเกษตรเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการทำการเกษตรจากผู้ถือครองทำการเกษตรทุกรายในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งที่มีอยู่ในทะเบียนเกษตรกรและนอกทะเบียนเกษตรกร ให้มีชุดข้อมูลพื้นฐานด้านการเกษตรเพื่อใช้ประโยชน์อย่างเพียงพอ สำหรับการวางแผนเฝ้าระวัง ติดตาม และประเมินผล การพัฒนาประเทศด้านการเกษตร พัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรในภาคการเกษตร ใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการกำหนดนโยบาย มาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกร ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องต่อไป เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินำไปใช้วิเคราะห์และประมวลผลผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมนำไปใช้วิเคราะห์สถานการณ์ SMEs ในธุรกิจด้านการเกษตร รวมทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ได้ เช่น ใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการกำหนดนโยบายด้านการเกษตร ใช้ข้อมูลประกอบการพิจารณาการทำเกษตรกรรม เพื่อส่งเสริมโครงการพัฒนาและฝึกอบรมเกษตรกรใช้ประกอบการพิจารณาสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่เพื่อเพิ่มศักยภาพพ ประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรใช้ในการรับรองลักษณะมาตรฐานการผลิตพืช (GAP) และเกษตรอินทรีย์ และใช้ประกอบการวิเคราะห์ระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร
                     กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นว่า ควรปรับปรุงนิยาม “การเกษตร” ให้หมายความว่า การปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำการประมงและการทำนาเกลือสมุทร และปรับถ้อยคำในสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฯ บางประการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเห็นว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมควรประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการพิจารณารายละเอียดของข้อมูลทะเบียนเกษตรกรเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สะท้อนถึงสถานการณ์และข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ให้สามารถเชื่อมโยงและสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของแผนระดับชาติและกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้มิได้เป็นกรณีที่คณะรัฐมนตรีกระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป จึงไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทยและแนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่  21 มีนาคม 2566 ที่กำหนดให้การเสนอร่างกฎกระทรวงซึ่งเป็นการกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายแม่บทให้อำนาจไว้ ย่อมดำเนินการได้ตามปกติ
                     สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                     กำหนดให้มีการทำสำมะโนหรือสำรวจตัวอย่างการเกษตรทั่วราชอาณาจักร เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการทำการเกษตรจากผู้ถือครองทำการเกษตรทุกรายในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งที่มีอยู่ในทะเบียนเกษตรกรและนอกทะเบียนเกษตรกร ดังนี้
                     1. กฎกระทรวงนี้ มีอายุ 10 ปี
                     2. กำหนดบทนิยาม ดังนี้
                         2.1 “การเกษตร” หมายความว่า การปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ การเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด การทำนาเกลือสมุทร การทำประมงน้ำจืด การทำประมงทะเล และการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง
                         2.2 “ผู้ถือครองทำการเกษตร” หมายความว่า บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งควบคุม จัดการ และมีอำนาจตัดสินใจ เกี่ยวกับการทำการเกษตรในที่ดินที่ตนถือครองไม่ว่าจะโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งเป็นผู้รับผิดชอบทั้งด้านเทคนิคและด้านการเงินในการทำการเกษตร ทั้งนี้ ต้องเป็นผู้ถือครองทำการเกษตร   ณ วันสำมะโน
                         2.3 “หัวหน้าครัวเรือน” หมายความว่า สมาชิกในครัวเรือนคนใดคนหนึ่งซึ่งได้รับการยอมรับนับถือหรือยกย่องจากสมาชิกในครัวเรือนคนอื่นให้เป็นหัวหน้าครัวเรือน
                     3. กำหนดให้สำนักงานสถิติแห่งชาติทำสำมะโนหรือสำรวจตัวอย่างการเกษตรเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการทำการเกษตร เพื่อใช้สำหรับการวางแผน กำหนดนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจด้านการเกษตรในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น และใช้ในการติดตามประเมินผลการพัฒนาประเทศ และเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบจัดทำสำมะโนหรือสำรวจตัวอย่างการเกษตรตามกฎกระทรวงนี้
                     4. กำหนดเขตท้องที่ที่จัดทำสำมะโนหรือสำรวจตัวอย่างการเกษตร ได้แก่ ทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
                     5. กำหนดให้ผู้ถือครองทำการเกษตรหรือหัวหน้าครัวเรือนที่อยู่ในเขตท้องที่ตามข้อ 4 เป็นผู้ให้ข้อมูลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ โดยการให้สัมภาษณ์หรือด้วยวิธีการอื่นตามที่ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติประกาศกำหนด
                     6. กำหนดให้นำข้อมูลผู้ถือครองทำการเกษตรจากทะเบียนเกษตรกรจากหน่วยงานของรัฐและจากสำมะโนการเกษตรในครั้งก่อน มาใช้เป็นฐานข้อมูลตั้งต้นในการจัดทำแทนการนับจดรูปแบบเดิม และนับจดเพิ่มเติม สำหรับผู้ถือครองทำการเกษตรที่ไม่มีข้อมูลในฐานข้อมูลดังกล่าว
                    
6. เรื่อง การปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการของหน่วยงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
                     คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อ  (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….  รวม 2 ฉบับ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พศ. .... มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว
                     สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                     1. ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. .... เป็นการปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการปรับปรุงหน้าที่และอำนาจ และเปลี่ยนชื่อ “กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม” เป็น “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” ดังนี้

การแบ่งส่วนราชการ
ปัจจุบันใหม่หมายเหตุ
(2 กลุ่ม 2 ศูนย์ 1 สำนัก และ 3 กอง)
Ÿ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
(สส.)
          - กลุ่มตรวจสอบภายใน
          - กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร
          - สำนักงานเลขานุการกรม
(2 กลุ่ม 2 ศูนย์ 1 สำนัก และ 4 กอง)
Ÿ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
- กลุ่มตรวจสอบภายใน
- กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร
- สำนักงานเลขานุการกรม
 
 
 
คงเดิม
          - ศูนย์สารสนเทศสิ่งแวดล้อม
          - กองส่งเสริมและเผยแพร่
          - ศูนย์วิจัยและฝึกอบรม
ด้านสิ่งแวดล้อม
          - กองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของ
ประชาชน
Ÿ สำนักงานนโยบายและแผน
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
          - กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศเปลี่ยนชื่อศูนย์สารสนเทศสิ่งแวดล้อมเป็น “กองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ” และปรับปรุงหน้าที่และอำนาจ โดยนำภารกิจด้านการศึกษา วิเคราะห์ ประมวลผลข้อมูล การติดตาม และรายงาน
สถานการณ์ของศูนย์สารสนเทศสิ่งแวดล้อม รวมกับกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (สผ.)
 กองขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก
 
ปรับปรุงหน้าที่และอำนาจ และการกิจของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมกับกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภู มิ อากาศ (สผ.) เป็น “กองขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก” เพื่อรับผิดชอบภารกิจในการจัดทำเป้าหมายแผนด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการประเมินการปลดปล่อยและกักเก็บก๊าซเรือนกระจกรายจังหวัด
 กองขับเคลื่อนการปรับตัว
ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
 
เปลี่ยนชื่อกองส่งเสริมและเผยแพร่เป็น “กองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” และปรับปรุงหน้าที่และอำนาจ โดยนำภารกิจด้านการส่งเสริม  สร้างจิตสำนึก เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ของกองส่งเสริมและเผยแพร่รวมกับกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (สผ.)
   
   
 ศูนย์วิจัยด้านการเปลี่ยนแปลง
สภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
เปลี่ยนชื่อศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม เป็น “ศูนย์วิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” และปรับปรุงหน้าที่และอำนาจโดยเพิ่มหน้าที่ในการจัดทำกรอบและแผนงานวิจัยในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาพรวมของประเทศ งานศึกษา วิจัย พัฒนา ถ่ายทอดข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรวมกับกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (สผ.)
 กองส่งเสริมการมีส่วนร่วม
ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
เปลี่ยนชื่อกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็น “กองส่งเสริมการมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” และปรับปรุงหน้าที่และอำนาจ โดยนำภารกิจด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินงาน
  ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ           รวมกับกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (สผ.)

 
                     2. ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ  พ.ศ. 2565 โดยตัดโอนทั้งภารกิจที่เป็นหน้าที่และอำนาจของกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ออกจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทส.
 

เศรษฐกิจ-สังคม

7. เรื่อง รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
                     คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้กระทรวงมหาดไทย (กรุงเทพมหานคร) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงคมนาคมและสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย            
                     เรื่องเดิม
คณะรัฐมนตรีมีมติ (8 กุมภาพันธ์ 2565) (เรื่อง ขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว) ให้ มท. (กรุงเทพมหานคร) รับความเห็นของกระทรวงคมนาคม (คค.) (ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครเนื่องจากข้อมูลที่กรุงเทพมหานครจัดทำเพิ่มเติมไม่มีการเปลี่ยนแปลงในข้อเท็จจริงที่ทำให้การวิเคราะห์ของ คค. แตกต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะในประเด็นของการคำนวณอัตราค่าโดยสารการรองรับระบบตั๋วร่วม และความชัดเจนของประเด็นข้อกฎหมาย รวมทั้งความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการติดตั้งสะพานเหล็ก 2 แห่ง และรายละเอียดค่าใช้จ่ายโครงการช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ด้วย) ไปพิจารณาจัดทำข้อมูลข้อเท็จจริงในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนครบถ้วน แล้วนำเรื่องนี้พร้อมข้อมูลดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งโดยด่วน
สาระสำคัญของเรื่อง
มท. รายงานว่า
                     1. เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 มท. (กรุงเทพมหานคร) ได้สรุปข้อมูลเพิ่มเติมตามความเห็นของ คค. เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลค.) ได้แจ้งว่า คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเรื่อง ขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวของ มท. และมีมติเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 แล้ว ถือเป็นการเสร็จสิ้นกระบวนการเสนอเรื่องนี้ต่อคณะรัฐมนตรี ประกอบกับระยะเวลาได้ล่วงเลยมาพอสมควร ส่งผลให้รายละเอียดและข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงและไม่เป็นปัจจุบัน โดย สลค. มีข้อสังเกตว่า หาก มท. จะเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง มท. ควรจัดทำรายละเอียดข้อมูลและข้อเท็จจริงในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน และดำเนินการตามขั้นตอนการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร (พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในขณะนั้น) ยืนยันว่าได้ดำเนินการครบถ้วนและถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี และหลักธรรมมาภิบาลที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นไปตามเจตนารมณ์ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เมษายน 2562 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
                     2. กรุงเทพมหานคร (นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) มีแนวทางการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ดังนี้
                               2.1 กรุงเทพมหานครเห็นพ้องด้วยกับนโยบายการลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางของประชาชนและทำให้การบริการสาธารณะเป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) จึงเห็นควรขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลสำหรับโครงสร้างพื้นฐานและงานติดตั้งระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ของโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ในกำกับดูแลของกรุงเทพมหานครเช่นเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นที่รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้ค่าโดยสารอยู่ในระดับที่ประชาชนสามารถรับภาระค่าใช้จ่ายได้ โดยเฉพาะส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) ที่เป็นส่วนต่อขยายพื้นที่ให้บริการนอกเขตกรุงเทพมหานคร และยังมีผู้โดยสารจำนวนไม่มาก
                               2.2 กรุงเทพมหานครเห็นควรที่จะดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพื่อให้การพิจารณาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนมีความรอบคอบ มีการพิจารณาข้อมูลรอบด้านและตรวจสอบได้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในการได้รับการบริการของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ
                               2.3 จากกรณีที่คณะกรรมการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ลงวันที่ 11 เมษายน 2562 ได้เจรจากับบริษัทเอกชนไว้ว่า บริษัทฯ จะเป็นผู้รับภาระส่วนต่างค่าเดินรถที่ค้างจ่ายอยู่ทั้งหมด กรุงเทพมหานครจึงได้หยุดชำระค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 นับถึงปัจจุบันเป็นเวลานาน 4 ปี ก่อให้เกิดภาระต่อเอกชนผู้ให้บริการ รวมถึงมีภาระดอกเบี้ยที่อาจจะเกิดขึ้นกับกรุงเทพมหานครในอนาคต การหาข้อยุติตามการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวของคณะรัฐมนตรีจะช่วยทำให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการต่อของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์สูงสุดของทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนซึ่งเป็นผู้ใช้บริการสาธารณะ
                     3. กรุงเทพมหานครเห็นควรให้มีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณสำหรับการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณสำหรับค่าก่อสร้างและดอกเบี้ยในอนาคตทั้งหมด โดยปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีภาระหนี้จากงานโครงสร้างพื้นฐานและงานซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบการเดินรถ รวมทั้งสิ้น 78,830,860,930.74 บาท ดังนี้    
 

รายการจำนวนเงิน (บาท)
  1. ค่างานโครงสร้างพื้นฐาน และค่าจัดกรรมสิทธิ์
55,034,705,168.61
  1. ค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม สำหรับเงินกู้โครงสร้างพื้นฐานที่กรุงเทพมหานครได้จ่ายให้กระทรวงการคลัง (กค.) ตั้งแต่ปี 2562-2565
1,508,924,369.32
  1. ค่าจ้างงานซื้อขาย พร้อมติดตั้งระบบการเดินรถ
22,287,230,392.81

                     อนึ่ง เนื่องจากพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 มีผลใช้บังคับแล้ว การขอรับการสนับสนุนงบประมาณสำหรับการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ตามข้อ 3) จึงไม่สามารถเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาได้เพราะจะมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไปเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร
                     ทั้งนี้ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมีความเห็นให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กรุงเทพมหานคร (มท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้เกิดความชัดเจนในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
                     1. ความชัดเจนของการดำเนินโครงการ ให้กรุงเทพมหานครหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคมในประเด็นของระบบตั๋วร่วมการกำหนดอัตราค่าโดยสารการเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางและรายละเอียดอื่น ๆ ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งความพร้อมของกรุงเทพมหานครในการรับมอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ - คูคต ตามมติคณะรัฐมนตรี (26 พฤศจิกายน 2561) และความชัดเจนในประเด็นข้อกฎหมาย โดยให้ กทม. ประสานงานกับ สงป. ในรายละเอียด รวมทั้งสถานะ หรือแนวทางการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทและภาระหนี้ และการเปลี่ยนแปลง การปฏิบัติจากการปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562
                     2. สำนักงบประมาณ เห็นว่า กระทรวงมหาดไทย (กทม.) ควรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำข้อมูลประมาณการวงเงินภาระหนี้สินที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งหมดจนจบสัญญาสัมปทาน (ปี 2572) เปรียบเทียบกับประมาณการ รายได้/สถานะทางการเงินของ กทม. และจัดทำข้อเสนอแผนการชำระหนี้ดังกล่าวเป็นรายปี  เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในโอกาสแรก
 
 
8. เรื่อง ขออนุมัติงบประมาณ งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับเบิกจ่ายโครงการติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำมันปาล์ม เพื่อบริหารจัดการและควบคุมสต๊อกน้ำมันปาล์ม งวดที่ 3 และงวดสุดท้าย
                     คณะรัฐมนตรีมติอนุมัติงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับเบิกจ่ายงวดที่ 3 ตามพื้นที่จำนวน 13 พื้นที่ และงวดสุดท้ายโครงการติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำมันปาล์ม เพื่อบริหารจัดการและควบคุมสต๊อกน้ำมันปาล์ม (โครงการฯ) เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 107.24 ล้านบาท ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และให้มีผลดำเนินการได้เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ความเห็นชอบตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (3) แล้ว
                     สาระสำคัญ
                     กระทรวงพาณิชย์ได้ขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์ (กรมการค้าภายใน) ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 107.24 ล้านบาท เพื่อเบิกจ่ายให้แก่ผู้รับจ้างได้ส่งมอบงานงวดที่ 3 และงวดสุดท้าย (ซึ่งได้ดำเนินการตรวจรับงานเรียบร้อยแล้ว) ในโครงการติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำมันปาล์มเพื่อบริหารจัดการและควบคุมสต๊อกน้ำมันปาล์ม [ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 และวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 ซึ่งอนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์ (กรมการค้าภายใน) ดำเนินโครงการดังกล่าวภายใต้วงเงิน 372.52 ล้านบาท เพื่อให้สามารถนำข้อมูลปริมาณน้ำมันปาล์มดิบไปใช้ในการกำกับดูแลและบริหารจัดการสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบได้รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์และเพื่อรักษาสมดุลและพยุงราคาผลปาล์มน้ำมันภายในประเทศให้มีเสถียรภาพขึ้น] แต่โดยที่กระทรวงพาณิชย์ (กรมการค้าภายใน) ไม่สามารถเบิกจ่ายจากงบประมาณดังกล่าวได้ทันจึงทำให้วงเงินที่ได้รับการอนุมัติไว้แต่ถูกพับไปโดยผลของกฎหมาย ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์มีความจำเป็นต้องขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยงบประมาณดังกล่าว ทั้งนี้ สำนักงบประมาณแจ้งว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบวงเงินดังกล่าวด้วยแล้ว
                     พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (3) บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต้องไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566  (เรื่อง แนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร) กำหนดแนวทางปฏิบัติและขั้นตอนการดำเนินการตามมาตรา 169 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งไว้ว่า การอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จะต้องกระทำเท่าที่จำเป็น และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน โดยการดำเนินการดังกล่าวจะกระทำได้เฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติภารกิจของส่วนราชการที่มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณนอกเหนือจากที่ได้รับการจัดสรร หรือที่ได้รับการจัดสรรไปแล้วแต่ไม่เพียงพอ และมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องขอใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน แล้วจึงเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาให้ความเห็นชอบตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์แจ้งว่   หากไม่มีเงินรองรับการเบิกจ่ายงวดงานตามสัญญาจ้างฯ อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการได้
 
9. เรื่อง การนำที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะมาใช้ในโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกบริเวณหนองตาเหี่ยม ตำบลอรัญญิก อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก
                     คณะรัฐมนตรีมีติเห็นชอบการนำที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะบริเวณที่ราชพัสดุ แปลงหมายเลขที่ พล 385 พื้นที่จำนวน 104-3-64 ไร่ เพื่อนำมาใช้ในโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่1 บริเวณหนองตาเหี่ยม ตำบลอรัญญิก อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก  (โครงการจัดรูปที่ดินฯ) ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ
                     สาระสำคัญของเรื่อง
                     กระทรวงมหาดไทยเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการนำที่ราชพัสดุ แปลงหมายเลขที่ พล 385 พื้นที่จำนวน 104-3-64 ไร่ มาใช้ในโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองตาเหี่ยม ตำบลอรัญญิก อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก เพื่อให้ที่ดินบริเวณดังกล่าวทุกแปลง (ซึ่งรวมถึงทางสาธารณประโยชน์ ที่สาธารณประโยชน์ และที่ดินของเอกชน) มีรูปแปลงเหมาะสมและสามารถเข้าถึงได้ รวมถึงเพื่อเป็นการพัฒนาโครงข่ายถนนตามผังเมืองรวมเมืองพิษณุโลก และเป็นเส้นทางระบายการจราจรตามที่ผังเมืองรวมกำหนดไว้ในกระบวนการจัดรูปแปลงที่ดิน ซึ่งคณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ส่วนจังหวัดพิษณุโลกและคณะกรรมการจัดหารูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ได้เห็นชอบโครงการจัดรูปที่ดินดังกล่าวแล้ว รวมทั้งได้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วยแล้ว โดยประชาชนร้อยละ 88.30 เห็นด้วย ประกอบกับภายหลังจากมีการดำเนินการจัดรูปที่ดินใหม่แล้วจะทำให้จำนวนที่ดินของรัฐรวมกันทั้งหมดมีขนาดเพิ่มขึ้นอีก จำนวน 115-2-27 ไร่ (เพิ่มขึ้นจาก  301-3-97 ไร่ เป็น 417-2-24 ไร่) และมีพื้นที่จัดหาประโยชน์เพิ่มขึ้น 48-1-34.5 ไร่ แต่มีขนาดพื้นที่รวมของโครงการเท่าเดิม จำนวน 1,451-2-24 ไร่ เท่ากับก่อนจัดรูปที่ดิน (ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดิน เพื่อพัฒนาพื้นที่ พ.ศ. 2547)
                     กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นควรให้ความเห็นชอบ/เห็นชอบในหลักการ/ไม่ขัดข้องตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ทั้งนี้ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพิษณุโลกและเทศบาลอรัญญิกจะต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองพิษณุโลก พ.ศ. 2553 กฎหมายอื่น ๆ และความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดต่อไป และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่า เรื่องดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะพิจารณามีความเห็นได้ตามมาตรา 169   (1) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
                     ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีนี้กระทรวงมหาดไทยได้รับการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินการสำหรับโครงการดังกล่าวไว้แล้ว การให้ความเห็นชอบในครั้งนี้จึงไม่มีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป อันเป็นข้อห้ามตามมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
_________________
1 โครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ คือ การนำแปลงที่ดินหลาย ๆ แปลงมารวมกันเพื่อจัดรูปแปลงที่ดินใหม่ให้เป็นระเบียบและสวยงาม พร้อมทั้งจัดระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะต่าง ๆ ที่ได้มาตรฐานอย่างครบถ้วนและเพียงพอ
 
10. เรื่อง การจำแนกประเภทหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร กรณีสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
                     คณะรัฐมนตรีมีติเห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) เป็นองค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะตามที่คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (กพม.) เสนอ
                     สาระสำคัญของเรื่อง
                     กพม. รายงานว่า
                     1. พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 4 บัญญัติให้ “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ ที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย ซึ่งต่อมาพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 (ฉบับที่ 31) พ.ศ. 2564 มาตรา 3/1 (3) บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะที่เป็นองค์การมหาชนตามมติคณะรัฐมนตรีตามข้อเสนอของ กพม. เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดฯ (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564)
                     2. โดยที่ สกมช. จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 มาตรา 20 ได้บัญญัติให้ สกมช. เป็นหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น (คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการจัดตั้ง สกมช. เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561) ต่อมา กพม. ในการประชุม   ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562 ได้พิจารณาสถานะองค์กรและขั้นตอนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง1 และมีมติเห็นชอบให้ สกมช. เป็นองค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ และให้ สกมช. ส่งคำขอจัดกลุ่มองค์การมหาชนไปยังสำนักงาน ก.พ.ร. โดยเมื่อได้รับแจ้งผลการพิจารณาการจัดกลุ่ม2 จาก  กพม. แล้ว ให้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป (เช่น จัดทำหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเบี้ยประชุม) โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก ในขณะนั้นจึงยังไม่ได้มีข้อเสนอของ กพม. ไปยังคณะรัฐมนตรี ประกอบกับยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดฯ พ.ศ. 2564 มาตรา 3/1 (3) ที่บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะที่เป็นองค์การมหาชนตามมติคณะรัฐมนตรีตามข้อเสนอของ กพม. เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดชอบทางละเมิดฯ ดังนั้น สกมช. จึงมิได้มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดฯ สกมช. จึงได้ขอให้ กพม. พิจารณาความจำเป็นที่จะต้องเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบให้ สกมช. เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดฯ และมาตรา 3/1 (3) แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดฯ พ.ศ. 2564
                     3. ในส่วนของ สคส. จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มาตรา 43 (4) บัญญัติให้ สคส. เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ (คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการจัดตั้ง สคส. เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561) และ กพม. ในการประชุม ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562 ได้พิจารณาสถานะองค์กรและขั้นตอนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และมีมติเห็นชอบให้ สคส. เป็นองค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ โดยในขณะนั้นไม่ได้มีข้อเสนอของ กพม. ไปยังคณะรัฐมนตรี สคส. จึงไม่เข้าข่ายเป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดฯ พ.ศ. 2564 มาตรา 3/1 (3) เช่นเดียวกับ สกมช.
                     4. กพม. ในการประชุม ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้ สกมช. และ สคส. ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดฯ รวมทั้งเพื่อให้การจัดตั้งหน่วยงานทั้ง 2 แห่งดังกล่าว เป็นไปตามขั้นตอนการจัดตั้งองค์การมหาชน จึงมีมติเห็นชอบให้ยืนยันมติ กพม. ในการประชุม ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562 ที่เห็นชอบให้ สกมช. และ สคส. เป็นองค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะตามมติคณะรัฐมนตรี (20 ตุลาคม 2552) เรื่อง การปรับปรุงหลักการจำแนกประเภทหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร และให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ สกมช. และ สคส. เป็นองค์การมหาชนตามข้อเสนอของ กพม.
                     5. สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีหลังยุบสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งหลังจากมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไปเว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี กพม. แจ้งว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการดำเนินการในลักษณะงานปกติตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่ได้เป็นการกำหนดนโยบายขึ้นใหม่  จึงไม่เป็นการกระทำการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป
___________________
1 ขั้นตอนในการเสนอขอจัดตั้งหน่วยงานของรัฐ/องค์การมหาชนขึ้นใหม่ [ตามมติคณะรัฐมนตรี (18 กรกฎาคม 2549 และ 9 สิงหาคม 2559)] สำนักงาน ก.พ.ร. จะเป็นผู้วิเคราะห์การจัดตั้งหน่วยงานและจัดประเภทของหน่วยงานของรัฐนั้น ๆ ก่อนเสนอ กพม. ตามขั้นตอน หลังจาก กพม. มีมติแล้ว ให้ส่วนราชการเสนอขอจัดตั้งต่อคณะรัฐมนตรีพร้อมคำชี้แจงและมติ กพม. ทั้งนี้ กรณีที่ กพม. เห็นควรให้ดำเนินการใดเพิ่มเติม ให้ส่วนราชการดำเนินการตามมติ กพม. แล้วให้เสนอคำขอจัดตั้งหน่วยงานมาเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนใหม่อีกครั้ง
2 การจัดกลุ่มองค์การมหาชน [ตามมติคณะรัฐมนตรี (7 กันยายน 2547)] จำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มพัฒนาและดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐเฉพาะด้าน (2) กลุ่มบริการที่ใช้เทคนิควิชาการเฉพาะด้านหรือสหวิทยากร และ (3) กลุ่มบริการสาธารณะทั่วไป
 
11. เรื่อง ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐของสำนักงาน กสม.
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวน 17,381,600 บาท ตามที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) เสนอ
                     สาระสำคัญ
                     สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เช่น เงินเดือนและเงินอื่น ๆ ที่จ่ายให้แก่ข้าราชการและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และค่าตอบแทนพนักงานราชการ และค่าจ้างลูกจ้างสำนักงาน จำนวน 17,381,600 บาท เนื่องจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่ได้รับจัดสรร จำนวน 151,747,900 บาท ไม่เพียงพอจนถึงสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งสำนักงบประมาณได้พิจารณาแล้วเห็นสมควรที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาอนุมัติหลักการการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 17,381,333 บาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการแล้ว ส่วนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ใช้จ่ายงบกลางตามที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเสนอได้ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนที่จะดำเนินการเบิกจ่ายต่อไป
 
12. เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการควบคุมและจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป (เพิ่มเติม)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการควบคุมและจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป (เพิ่มเติม) รวมทั้งสิ้น 19,962,092.10 บาท ของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจที่ร่วมดำเนินการ จำนวน 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 10,504,330.00 บาท และบริษัท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จำนวน 9,457,762.10 บาท ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงาน กกต.) เสนอ
                     สาระสำคัญของเรื่อง
                     สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการควบคุมและจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเลือกตั้งทั่วไป (เพิ่มเติม) ของหน่วยงานที่ร่วมดำเนินการ 2 หน่วยงาน จำนวน 19,962,092.10 บาท [สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 10,504,330.00 บาท และบริษัท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จำนวน 9,457,762.10 บาท] ซึ่งสำนักงบประมาณได้พิจารณาแล้วเห็นสมควรที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาอนุมัติหลักการการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในกรอบวงเงินทั้งสิ้น 19,962,092.10 บาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการแล้ว ส่วนกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นสมควรที่คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติหลักการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอ โดยจะต้องดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎรรวมทั้งให้ความสำคัญกับการควบคุมและกำกับดูแลการใช้จ่ายเงินดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ใช้จ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอได้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนที่จะดำเนินการเบิกจ่ายต่อไป
 
13. เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ดังนี้
                     1. เห็นชอบการบริหารจัดการคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปี ที่ประสงค์จะทำงาน สามารถอยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกินวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 โดยต้องดำเนินการตามประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคนต่างด้าวดังกล่าวประกอบด้วย
                               1.1 คนต่างด้าว 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ที่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ซึ่งมีอายุหรือหมดอายุ และมีรอยตราประทับ ซึ่งการอนุญาตทำงานหรือการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมาย เช่น กรณีคนต่างด้าวออกจากนายจ้างรายเดิมแล้วไม่สามารถหานายจ้างรายใหม่ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือกรณีไม่สามารถทำงานต่อไปได้เนื่องจากดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมาไม่ครบทุกขั้นตอน
                               1.2 คนต่างด้าว 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ที่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางและมีรอยตราประทับ โดยระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดลงแต่ไม่ได้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร (Over Stay)
                               1.3 คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ที่เข้าเมืองผิดกฎหมายหรือการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุด และทำงานอยู่กับนายจ้างก่อนที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบ
                     2. เห็นชอบการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
                               2.1 กระทรวงมหาดไทย ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี ดังนี้
                                         1) ให้คนต่างด้าวตามข้อ 1. อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 เพื่อดำเนินการตามประกาศกระทรวงแรงงาน
                                         2) ให้ผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของต่างด้าวตามข้อ 1. ที่มีอายุไม่เกินสิบแปดปีบริบูรณ์ มีสิทธิอยู่ในราชอาณาจักรได้ตามระยะเวลาที่บิดาหรือมารดาของผู้นั้นได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร โดยให้ผู้ติดตามคนต่างด้าวนั้นดำเนินการหรือบิดาหรือมารดาของผู้นั้นดำเนินการตามแนวทางที่กระทรวงแรงงานกำหนด
                                         3) มิให้นำมาตรา 12 (10) และมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ 1/2558 เรื่อง การไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาในราชอาณาจักร ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 มาใช้บังคับแก่คนต่างด้าวดังกล่าว รวมถึงกำหนดการสิ้นผลของการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ
                                         ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม    ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ...
                               2.2 กระทรวงแรงงาน ออกประกาศกระทรวงแรงงาน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 14 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดการดำเนินการ ดังนี้
                                         1) นายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อพร้อมรูปถ่ายเพื่อแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว (Name list) ต่อกรมการจัดหางาน
                                         2) กรมการจัดหางานตรวจ/อนุมัติบัญชีรายชื่อแจ้งความต้องการจ้าง  (Name list) แรงงานต่างด้าว และให้คนต่างด้าวใช้บัญชีรายชื่อ (Name list) เป็นเอกสารหลักฐาน เพื่อแสดงว่าคนต่างด้าวได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและทำงานถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566
                     ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ยกร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ...
 

                                                                  ต่างประเทศ

14. เรื่อง ผลการประชุม The 1st Asia Zero Emission Community (AZEC) Ministerial Meeting
                     คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอผลการประชุม The 1st Asia Zero Emission Community (AZEC) Ministerial Meeting (การประชุมฯ) เมื่อวันที่ 3-5 มีนาคม 2566 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (28 กุมภาพันธ์ 2566)  ที่เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมฯ และร่างบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนด้านเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage : CCUS) ระหว่าง พน. แห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น (บันทึกความร่วมมือฯ)] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                     1. ภาพรวมของการประชุมฯ มีรัฐมนตรีและผู้แทนจาก 10 ประเทศ เข้าร่วมการประชุมฯ ได้แก่ เครือรัฐออสเตรเลีย เนการาบรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รวมถึงผู้แทนจากทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency : IEA) และสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia : ERIA) โดยที่ประชุมได้ร่วมรับรองแถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมฯ ซึ่งประเทศพันธมิตรจะร่วมผลักดันความร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานของภูมิภาค เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน พลังงานหมุนเวียน ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซธรรมชาติเหลว รวมถึงเทคโนโลยี CCUS ทั้งนี้ ญี่ปุ่นและประเทศพันธมิตรจะมีการหารือเพื่อหาแนวทางการลดการปล่อยคาร์บอนที่หลากหลายและสามารถปฏิบัติได้จริง
                     2. การกล่าวปาฐกถาของรัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูงขององค์กรที่เข้าร่วมการประชุมฯ สรุปได้ ดังนี้

ประเทศสาระสำคัญ
ญี่ปุ่นเน้นย้ำเป้าหมายร่วมกันที่จะมุ่งไปสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โดยให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ (1) การลดการปล่อยคาร์บอนต้องดำเนินควบคู่กับการเสริมสร้างความมั่งคงทางพลังงาน (2) เลือกใช้เทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า โดยคำนึงถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กันไปด้วย และ (3) ทุกประเทศมีแนวทางการบรรลุเป้าหมายที่มีความหลากหลายและมีวิธีการที่เหมาะสมแตกต่างกันตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาค ดังนั้น ความร่วมมือภายใต้ AZEC จะช่วยสนับสนุนแนวทางที่หลากหลายของแต่ละประเทศเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายเดียวกันได้ในอนาคต
อินโดนีเซียมีเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนจากภาคพลังงาน โดยมุ่งเน้นการยุติการใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินให้เร็วขึ้น ผลักดันกลไกตลาดของเทคโนโลยี CCUS และยานยนต์ไฟฟ้า
มาเลเซียมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 45 ภายใน ค.ศ. 2030 โดยการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการจัดหาพลังงานให้เป็นพลังงานสะอาดมากขึ้น ทั้งนี้ การผลักดันเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานในช่วงวิกฤตพลังงานต้องคำนึงถึงความมั่งคงทางพลังงาน การเข้าถึงพลังงานอย่างเท่าเทียม และการจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินการในการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน ซึ่งต้องอาศัยการประสานงานระหว่างภาครัฐของแต่ละประเทศ
ฟิลิปปินส์ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนร้อยละ 35 ภายใน ค.ศ. 2030 และร้อยละ 50 ภายใน ค.ศ. 2040 โดยเฉพาะการพัฒนาพลังงานลมนอกชายฝั่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ ให้ความสำคัญกับการลดความเข้มของการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ การเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและขยายความร่วมมือระหว่างประเทศ
สิงคโปร์แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวโดยใช้กลยุทธ์ 3 ประการ ได้แก่ (1) การเพิ่มการใช้พลังงานสีเขียวโดยการซื้อขายพลังงานสีเขียวข้ามพรมแดน (2) ความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดให้สามารถใช้งานได้จริง และ (3) ทุกประเทศควรร่วมมือกันผลักดันการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานและไม่ควรละทิ้งบทบาทของก๊าซธรรมชาติ
ไทยมุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานไปพร้อมกับการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และพร้อมที่จะร่วมมือกับนานาประเทศในการขยายการเชื่อมโยงด้านพลังงานในภูมิภาค และสนับสนุนประเทศพันธมิตรในการบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานร่วมกัน
เวียดนามความร่วมมือ AZEC จะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยให้ประเทศต่าง ๆ บรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ ดังนี้ (1) สามารถช่วยส่งเสริมความเชื่อมโยงและความร่วมมือระหว่างภาครัฐของประเทศพันธมิตร รวมถึงระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยดึงดูดแหล่งเงินทุนภาครัฐได้ (2) ควรใช้ประโยชน์สูงสุดจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคพลังงานสะอาด และ (3) ควรจัดตั้งกองทุนหรือมูลนิธิเพื่อส่งเสริมกิจกรรมการวิจัยและพัฒนาโครงการด้านพลังงานในภูมิภาค รวมถึงการสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรบุคคล
ออสเตรเลียการผลักดันมาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานจะต้องมีความร่วมมือจากนานาประเทศในระดับโลก โดยออสเตรเลียมีศักยภาพในด้านทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน มีแรงงานทักษะสูง และมีภาคการลงทุนที่เข้มแข็ง ดังนั้น จึงต้องการร่วมสร้างอุตสาหกรรมพลังงานแบบใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและพร้อมที่จะสนับสนุนการค้าการลงทุนสีเขียวภายใต้กรอบ AZEC ต่อไป
ลาวมีเป้าหมายการพัฒนาพลังงานสะอาดของประเทศที่มีความท้าทายมากขึ้น เช่น การเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดให้ได้ร้อยละ 30 ในช่วง ค.ศ. 2020-2025 การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำให้ได้ร้อยละ 25 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด และการผลักดันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 20 ภายใน ค.ศ. 2030
กัมพูชาจะร่วมกันผลักดันการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานโดยคำนึงถึงสถานการณ์ที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ โดยในส่วนของมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ ต้องอาศัยความพยายามและความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่จะผลักดันการผลิตและการใช้พลังงานสะอาด การผลักดันกลไกการซื้อขายคาร์บอน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากนานาประเทศ
ERIAผลการศึกษาเกี่ยวกับนโยบายการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน ได้แก่ (1) ทุกประเทศต้องจัดทำแผนการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคพลังงาน โดยระบุเทคโนโลยีที่จะใช้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว (2) การปรับเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงสะอาด (3) ทวีปเอเชียต้องปรับใช้เทคโนโลยีการลดการปล่อยคาร์บอนอย่างกว้างขวาง (4) ควรมีการสนับสนุนทางการเงินที่เหมาะสมสำหรับเทคโนโลยีการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน และ (5) ควรมีการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการปรับใช้และการผสมผสานเทคโนโลยีการลดการปล่อยคาร์บอน
IEAทวีปเอเชียต้องการการสนับสนุนเงินทุนและการลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดอย่างมากเพื่อเพิ่มสัดส่วนของพลังงานสะอาด นอกจากนี้ จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดอย่างเหมาะสม และควรมีการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศให้กว้างขวางขึ้น

                     3. การหารือทวิภาคีระหว่างรองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกับผู้บริหารระดับสูงของประเทศ/องค์กรที่เข้าร่วมการประชุมฯ
สรุปได้ ดังนี้

การหารือสาระสำคัญ
ไทย-ญี่ปุ่นเห็นพ้องที่จะมีการร่วมสร้างสรรค์ (Co-Creation) เพื่อนำไปสู่การลงทุนในอนาคต โดยจะร่วมกันจัดงาน “ASEAN-Japan Fast Track Pitch Event” ณ กรุงเทพมหานครในเดือนกรกฎาคม 2566 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม start-up นอกจากนี้เห็นพ้องที่จะผลักดันความร่วมมือด้านการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนและแอมโมเนียและผลักดันความร่วมมือในการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวร่วมกัน อีกทั้งไทยได้ขอให้ญี่ปุ่นสนับสนุนการจัดงาน Expo 2028 ณ  จังหวัดภูเก็ต และไทยจะสนับสนุนการจัดงาน Osaka Expo 2025 ณ ญี่ปุ่น ต่อไป
ไทย-ออสเตรเลียออสเตรเลียเสนอความร่วมมือในการถ่ายทอดองค์ความรู้การเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกลและการสร้างตลาดซื้อขายพลังงาน โดยไทยพร้อมจะผลักดันความร่วมมือภายใต้แผนที่นำทาง (Roadmap) ความร่วมมือระหว่างไทยและออสเตรเลียให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป
ไทย-IEAมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลแนวทาง/มาตรการการรับมือกับวิกฤตพลังงานโลก รวมถึงการแลกเปลี่ยนแนวทางการผลักดันการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน โดย IEA เห็นด้วยที่อาเซียนจะมีการผลักดัน LNG Joint Procurement ซึ่งเป็นแนวทางการรับมือกับวิกฤตราคาก๊าซธรรมชาติเหลวที่เพิ่มสูงขึ้นที่สอดคล้องกับแนวทางของกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ทั้งนี้ ฝ่ายไทยยินดีที่จะร่วมมือกับ IEA เพิ่มเติมในด้านการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ยานยนต์ไฟฟ้า CCUS และประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่อไป เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่นในการพัฒนาการกักเก็บคาร์บอนในอนาคต

                     4. การลงนามในบันทึกความร่วมมือและความตกลงระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น
                               รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ญี่ปุ่น ได้ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือฯ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่นในการพัฒนาการกักเก็บคาร์บอนในอนาคต นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามเอกสารความร่วมมือของบริษัทด้านพลังงานของไทย ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัทเอกชนของญี่ปุ่น ในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสมัยใหม่หลายประเภท เช่น การพัฒนาไฮโดรเจนและแอมโมเนีย เชื้อเพลิงชีวภาพ เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน ระบบกักเก็บพลังงาน และความร่วมมือในการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวร่วมกัน
 
 
 
15. เรื่อง ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนว่าด้วยเรื่องการเร่งรัดการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 2
                     คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอผลการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนว่าด้วยเรื่องการเร่งรัดการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ครั้งที่ 2 (การประชุมฯ) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 ณ กรุงเทพมหานคร โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายอนุชา นาคาศัย) เข้าร่วมการประชุมในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทยและปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานร่วมในการประชุมฯ ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการสำนักงานด้านการพัฒนาและเศรษฐกิจแห่งชาติแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (4 เมษายน 2566) ที่เห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ* ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนร่างเอกสารผลลัพธ์ดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้ดำเนินการได้ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง] ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ให้การรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมฯ โดยไม่มีการลงนาม และได้เห็นชอบการดำเนินการต่าง ๆ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                     1. รายงานของที่ประชุมอาเซียนว่าด้วยเรื่อง SDGs โดยหน่วยงานด้านการวางแผนพัฒนาระดับประเทศ ครั้งที่ 3 สรุปได้ ดังนี้
                               1.1 เน้นย้ำความเพียงพอของข้อมูลและการรายงานข้อมูลเพื่อใช้ตรวจสอบความก้าวหน้าในการขับเคลื่อน SDGs
                               1.2 ส่งเสริมความสอดคล้องระหว่างนโยบาย/โครงการและความร่วมมือ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก พร้อมทั้งตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานระดับชาติที่เกี่ยวข้อง
                               1.3 ส่งเสริมความยืดหยุ่นของการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน โดยสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากข้อมูล เทคโนโลยีสารสนเทศ และนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ส่งเสริมการบรรลุ SDGs
                               1.4 เสนอให้มีความร่วมมือระดับภูมิภาคที่เข้มแข็งเพื่อส่งเสริมการตระหนักถึงความสำคัญของ SDGs
                     2. ร่างขอบเขตการดำเนินงานฯ มีการปรับปรุงรายละเอียดเพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ยังคงไว้ซึ่งสาระสำคัญตามร่างขอบเขตการดำเนินงานฯ ที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 ดังนี้
                               2.1 ปรับถ้อยคำและเนื้อหาของร่างขอบเขตการดำเนินงานฯ ให้กระชับและครอบคลุมมากขึ้น โดยเพิ่มประเด็นหุ้นส่วนความร่วมมือ และการกำหนดระยะเวลาการประชุมฯ ให้ชัดเจน โดยกำหนดไว้ทุก 3 ปี จากเดิมที่ระบุว่า มีการจัดประชุมอย่างสม่ำเสมอตามที่ตกลงกัน
                               2.2 การเพิ่มถ้อยคำโดยเน้นย้ำหลักการการตัดสินใจบนหลักฉันทามติ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนไว้ในกลไกการประชุมระดับรัฐมนตรีดังกล่าว
                     3 ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ มีการปรับปรุงรายละเอียดให้มีความสมบูรณ์มากขึ้นแต่ยังคงไว้ซึ่งสาระสำคัญตามร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
                               3.1 เพิ่มเนื้อหาให้มีความชัดเจนขึ้น โดยเน้นการสร้างความเข้มแข็งในความร่วมมือระดับภูมิภาค ได้แก่ การแลกเปลี่ยนหลักปฏิบัติที่ดีและการพัฒนาศักยภาพของสถาบันภาครัฐ
                               3.2 ปรับเนื้อหาการดำเนินงานเพื่อบรรลุ SDGs โดยมุ่งเน้นการลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการบรรลุ SDGs
                               3.3 มุ่งดำเนินงานให้ครอบคลุมชุมชนท้องถิ่นและชุมชนในชนบทเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างทั่วถึง ตลอดจนคำนึงถึงคนทุกกลุ่มมากขึ้น โดยเพิ่มเติมกลุ่มคนเปราะบาง ชุมชนท้องถิ่น และเด็กและเยาวชน
                               3.4 เพิ่มเรื่องการทบทวนและปรับปรุงยุทธศาสตร์การฟื้นฟูจากโควิด-19 ให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศและกรอบการเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
                     นอกจากนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายอนุชา นาคาศัย) ได้นำเสนอประเด็นสำคัญที่ควรเร่งดำเนินการร่วมกัน ได้แก่ ปัญหาความยากจน การมีส่วนร่วมของเยาวชนในการผลักดันและกำหนดทิศทางของ SDGs การสร้างบรรยากาศแห่งการแบ่งปันและการเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีระหว่างหน่วยงานด้านการวางแผนพัฒนาประเทศ และการส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนและเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ โดยได้ยกตัวอย่างโครงการสำคัญของไทย เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การแก้ปัญหาความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนโดยใช้ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงบทบาทของไทยในการขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
________________________
*เอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ ประกอบด้วย (1) ร่างขอบเขตการดำเนินงานของการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนว่าด้วยเรื่องการเร่งรัดการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (ร่างขอบเขตการดำเนินงานฯ) และ  (2) ร่างแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีอาเซียนว่าด้วยเรื่องการเร่งรัดการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 2 (ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ)
  
16. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการไทย-ตุรกี ครั้งที่ 4 และกิจกรรมคู่ขนาน
                     คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอผลการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการไทย-ตุรกี ครั้งที่ 4 และกิจกรรมคู่ขนาน และพิจารณามอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปในโอกาสแรก และให้กระทรวงการต่างประเทศรับความเห็นของกระทรวงอุตสาหกรรมไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
                     สาระสำคัญของเรื่อง
                     กต. รายงานว่า
                     1. เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2532 รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐตุรกีได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการไทย-ตุรกี เพื่อเป็นกรอบการดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกันในทางเศรษฐกิจและวิชาการและทั้งสองฝ่ายได้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการไทย-ตุรกี โดยมีการประชุมคณะกรรมการร่วมฯ 3 ครั้ง (ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2533    ณ กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2542 ณ กรุงอังการา สาธารณรัฐตุรกี และครั้งที่ 3 เมื่อปี 2547  ณ กรุงเทพมหานคร)
                     2. เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2566 กระทรวงการค้าสาธารณรัฐตุรกีเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมฯ ครั้งที่ 4 ณ กรุงอังการา ตุรกี โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีตุรกี (นายมุสตาฟา วารังก์) เป็นประธานร่วมและรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) ได้เข้าเยี่ยมคารวะรองประธานาธิบดีตุรกี (นายฟวต อ็อกไต) และพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตุรกี (นายเมฟเลิต ชาวูโชลู) รวมทั้งได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
และเทคโนโลยีตุรกี (นายมุสตาฟา วารังก์) ด้วย สรุปได้ ดังนี้
                     3. ผลการประชุมฯ สรุปได้ ดังนี้

ประเด็นสาระสำคัญ/ผลการประชุมฯ
(1) การค้าทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องขยายเป้าหมายทางการค้าให้ได้ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐผ่านการเร่งสรุปความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ไทย-ตุรกี และให้จัดประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ไทย-ตุรกี ครั้งที่ 1 เพื่อหารือประเด็นที่เป็นอุปสรรคด้านการค้าระหว่างกันในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ตลอดจนการใช้ตุรกีเป็นประตูการค้าเชื่อมโยงตลาดยุโรป เอเชียกลาง แอฟริกา บอลข่าน และคอเคซัส และการส่งเสริมให้ฝ่ายตุรกีใช้ไทยเป็นประตูการค้าเชื่อมไปยังตลาดอาเซียนและตลาดในประเทศสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP)
(2) การลงทุนทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการลงทุนในประเทศของกันและกันให้มากขึ้น โดยฝ่ายไทยได้เชิญชวนฝ่ายตุรกีมาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) โดยเฉพาะสาขาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ยานยนต์ไฟฟ้า และพลังงานหมุนเวียน
(3) พลังงานและการท่องเที่ยวทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้ขับเคลื่อนความร่วมมือด้านพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดและการส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเป็นสาขาที่ไทยและตุรกีต่างมีศักยภาพที่จะเกื้อหนุนซึ่งกันและกันได้
(4) การลงนามความตกลงทวิภาคีภายหลังการประชุมฯ ได้มีการลงนามความตกลงทวิภาคี จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่                      (1) เอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมการร่วมฯ ครั้งที่ 4 และ (2) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศและกรมความร่วมมือและประสานงานตุรกี (Turkish Cooperation and Coordination Agency-TiKA)

 
                     4. ผลการเข้าเยี่ยมคารวะรองประธานาธิบดีตุรกี (นายฟวต อ็อกไต) เช่น (1) ฝ่ายตุรกีเสนอให้ทั้งสองฝ่ายพิจารณาความร่วมมือด้านพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานไฮโดรคาร์บอนและพลังงานรูปแบบอื่น ๆ (2) ฝ่ายไทยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเร่งรัดการเจรจาจัดทำ FTA ไทย-ตุรกีให้คืบหน้า โดยฝ่ายตุรกีเห็นว่า อุตสาหกรรมป้องกันประเทศเป็นสาขาความร่วมมือที่น่าสนใจและตุรกีมีศักยภาพสูง (3) ฝ่ายตุรกีเชิญชวนให้ฝ่ายไทยมีความร่วมมือด้านสาธารณสุข และ (4) ฝ่ายตุรกีหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะจัดการประชุมหารือด้านความมั่นคง  (Security Dialogue) ได้โดยเร็ว และขอความร่วมมือสนับสนุนการติดตามเครือข่ายขบวนการ GüLEN  ในประเทศไทยซึ่งฝ่ายตุรกีถือเป็นกลุ่มก่อการร้าย
                     5. กต. พิจารณาแล้วเห็นว่า การประชุมฯ มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับส่วนราชการต่าง ๆ เช่น

ประเด็นการดำเนินการที่สำคัญหน่วยงานที่รับผิดชอบ
(1) การค้า- เพิ่มพูนและกระจายความหลากหลายในสาขาของการค้าทวิภาคี และส่งเสริมให้การค้าดำเนินไปอย่างสมดุลและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
- เพิ่มมูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างไทยกับตุรกีตามเป้าหมายร่วมกันที่ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ส่งเสริมการใช้ตุรกีเป็นประตูการค้าเชื่อมโยงตลาดยุโรป เอเชียกลาง แอฟริกา บอลข่าน และคอเคซัส และส่งเสริมให้ตุรกีใช้ไทยเป็นประตูการค้าเชื่อมตลาดอาเซียนและตลาดประเทศสมาชิก RCEP
- เร่งรัดการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี ระหว่างไทยและตุรกี ตามแผนการทำงานสำหรับการเจรจา FTA ไทย-ตุรกีที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไว้
กระทรวงเภษตรและสหกรณ์ (กษ) กระทรวงพาณิชย์ (พณ) หอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาธุรกิจไทย-ตุรกี
 
(2) การลงทุน- ส่งเสริมการลงทุนในสาขาปิโตรเคมีของฝ่ายไทยในตุรกีซึ่งเป็นสาขาที่ฝ่ายตุรกีพร้อมให้การต้อนรับ
- ส่งเสริมการลงทุนในสองประเทศในสาขาที่มีศักยภาพ ได้แก่ ธุรกิจสตาร์ทอัพ และอุตสาหกรรมชีวเคมี
- ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยและอุตสาหกรรมที่ตุรกีมีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ยานยนต์ไฟฟ้า และพลังงานหมุนเวียน
เช่น กระทรวงพลังงาน (พน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)
(3) วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย- ส่งเสริมความร่วมมือกับองค์กรพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งตุรกี (KOSGEB) เช่น แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์เกี่ยวกับมาตรการจูงใจ และศูนย์บ่มเพาะธุรกิจและเทคโนโลยี
- พัฒนาวัฒนธรรมการเป็นผู้ประกอบการ และการฝึกอบรม ผู้ประกอบการ เพื่อการพัฒนาองค์กรที่เกี่ยวข้อง
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
(4) พลังงาน- สำรวจความร่วมมือในสาขาพลังงานหมุนเวียน ก๊าซธรรมชาติ การผลิตไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์
และชีวมวล รวมถึงห่วงโซ่มูลค่าของยานยนต์ไฟฟ้า และการลดคาร์บอนในภาคพลังงาน
- กระตุ้นการลงทุนในภาคพลังงานหมุนเวียน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และภาคการผลิตไฟฟ้าของไทยและตุรกี
เช่น พน. และ สกท.

 
                     6. สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีหลังยุบสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งหลังจากมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี กต. ได้ยินยันแล้วว่า ผลการประชุมฯ ไม่ได้เป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี และเห็นว่าสามารถเสนอผลการประชุมฯ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามมาตรา 4 (7) แห่งพระราขกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 ได้ต่อไป และสามารถดำเนินการได้ตามมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
 
17. เรื่อง ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) หรือบิมสเทค ครั้งที่ 19
                     คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอผลการประชุมระดับรัฐมนตรีความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) หรือบิมสเทค ครั้งที่ 19 และพิจารณามอบหมายส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามผลการประชุมฯ ต่อไป และให้กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
                     สาระสำคัญของเรื่อง
                     กต. รายงานว่า
                     1. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีบิมสเทค ครั้งที่ 19 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) เป็นประธาน สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                               1.1 ที่ประชุมฯ รับรองถ้อยแถลงร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีบิมสเทค ครั้งที่ 19 ซึ่งมีสาระสำคัญไม่แตกต่างจากฉบับที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบไว้ โดยมีการเก้ไขรายละเอียดบางประการได้แก่  (1) ปรับถ้อยคำเดิม จาก การให้ที่ประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 รับรองร่างสุดท้ายของขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะผู้ทรงคุณวุฒิว่าด้วยทิศทางในอนาคตของบิมสเทค เป็น ให้ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีบิมสเทค ครั้งที่ 19 รับรองเอกสารฉบับนี้ และ (2) เพิ่มถ้อยคำที่กำหนดให้ที่ประชุมฯ รับรองการแก้ไขกฎและระเบียบทางการเงินของสำนักเลขาธิการบิมสเทคตามผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสบิมสเทค ครั้งที่ 23
                               1.2 ที่ประชุมฯ เน้นย้ำการฟื้นฟูเศรษฐกิจและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่บิมสเทคท่ามกลางวิกฤตทางเศรษฐกิจและการเมืองในปัจจุบัน โดยให้ความสำคัญต่อ (1) การเร่งสรุปผลการเจรจาเขตการค้าเสรี (2) การยกระดับความเชื่อมโยงภายในภูมิภาค และ (3) การเร่งรัดการดำเนินงานในสาขาความร่วมมือต่าง ๆ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) ได้กล่าวถ้อยแถลงเพื่อเน้นย้ำถึง (1) ความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับรัฐสมาชิกอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ภูมิภาคอ่าวเบงกอลมีความมั่งคั่ง ยั่งยืน ฟื้นคืน และเปิดกว้าง (Prosperous, Resilient and Open BIMSTEC หรือ PRO BIMSTEC) ตามร่างวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 (Bangkok Vision 2030) (2) การพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมผ่านการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานชีวมวล ตามแนวคิดนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว    (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG Model) และ (3) การเสริมสร้างความเข้มแข็งเชิงสถาบันให้แก่ บิมสเทค
                               1.3 ที่ประชุมฯ ให้ความเห็นชอบเอกสารจำนวน 8 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 (จะเสนอแนะต่อที่ประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 เพื่อให้การรับรองต่อไป) (2) ร่างกฎระเบียบสำหรับกลไกการดำเนินงานภายใต้กรอบบิมสเทค (3) ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะผู้ทรงคุณวุฒิว่าด้วยทิศทางในอนาคตของบิมสเทค (4) กฎการบริหารและการดำเนินการทางวินัยของสำนักเลขาธิการบิมสเทค (5) รูปแบบการรายงานผลสำหรับกลไกภายใต้สาขาความมั่นคงของความร่วมมือบิสเทค (6) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล  (7) ความตกลงเจ้าบ้านระหว่างรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอินเดียกับสำนักเลขาธิการบิมสเทคว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์สภาพอากาศและภูมิอากาศของบิมสเทคที่ประเทศอินเดีย และ (8) การแก้ไขรายละเอียดในส่วนที่ 2 (การประมาณการและการจัดทำแผนงบประมาณประจำปี) ของกฎและระเบียบทางการเงินของสำนักเลขาธิการบิมสเทค รวมทั้งได้รับรองรายงานความคืบหน้าของการดำเนินกิจกรรมใน 7 สาขาความร่วมมือและสาขาย่อยของบิมสเทค นับตั้งแต่การประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบการผนวกรวมประเด็นเศรษฐกิจภาคทะเล เศรษฐกิจภาคภูเขาและการบรรเทาความยากจนให้อยู่ภายใต้การดูแลของสาขาหลักและสาขาย่อยของความร่วมมือบิมสเทคด้วย
                     2. กต. พิจารณาแล้วเห็นว่า การประชุมฯ มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับส่วนราชการต่าง ๆ เช่น

ประเด็นการดำเนินการที่สำคัญ เช่นหน่วยงานที่รับผิดชอบ
(1) การค้า                    การลงทุนและ                    การพัฒนา- การผลักดันการเร่งสรุปผลการเจรจา                    เขตการค้าเสรีบิมสเทคเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาคและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาค
- การดำเนินการตามข้อริเริ่มจากการผนวกรวมเศรษฐกิจภาคทะเล (Blue Economy) ให้อยู่ภายใต้สาขาความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และการพัฒนา และผลักดันการจัดตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระหว่างรัฐบาลเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการสำหรับเศรษฐกิจภาคทะเล
 
กระทรวงการคลัง (กรมศุลกากร) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง) กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
 
(2) สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนากรอบปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยความร่วมมือและการประสานงานด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างรัฐสมาชิกบิมสเทค ตลอดจนการดำเนินการตามความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดศ. และ ทส. (กรมอุตุนิยมวิทยา)
(3) ความมั่นคง
- การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ
- การจัดการภัยพิบัติ
- การจัดการประชุมรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยบิมสเทคและการดำเนินการตามรูปแบบของการรายงานผลสำหรับกลไกการหารือต่าง ๆ ที่ดำเนินการภายใต้สาขาความมั่นคงของความร่วมมือบิมสเทค
- การดำเนินการตามอนุสัญญาบิมสเทคว่าด้วยความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และการลักลอบค้ายาเสพติด
- การผลักดันการดำเนินการการค้าพลังงานและการปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งเครื่อข่ายความเชื่อมโยงโครงข่ายระบบไฟฟ้าบิมสเทค
เช่น กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) [สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.)] สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.)
(4) การเกษตรและความมั่นคงทางอาหารการจัดทำความร่วมมือกับองค์กรระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่เหมาะสมเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในรูปแบบโครงการภายใต้สาขาการเกษตรและความมั่นคงทางอาหารกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)
(5) การปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน- การจัดทำแผนปฏิบัติด้านความร่วมมือทางวัฒนธรรมและการส่งเสริมการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการอุตสาหกรรมวัฒนธรรมบิมสเทค
- การจัดทำร่างสุดท้ายของเผนปฏิบัติงานความร่วมมือด้านการพัฒนาและการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการดำเนินงานของศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยวบิมสเทค รวมถึงการใช้ประโยชน์จากกองทุนการท่องเที่ยวบิมสเทค
เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) และกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)
(6) วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม- การสนับสนุนให้คณะผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยเทคโนโลยีจัดทำแผนปฏิบัติการสำหรับสาขาความร่วมมือย่อยเทคโนโลยี
- การส่งเสริมให้คณะผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขจัดทำแผนปฏิบัติการสำหรับสาขาความร่วมมือย่อยสาธารณสุข
เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อว. และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
(7) ความเชื่อมโยง- การดำเนินกระบวนการภายในเพื่อเรียมการลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเลในการประชุมผู้นำ ครั้งที่ 6 และการเริ่มกระบวนการจัดทำร่างระเบียบปฏิบัติของความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล เพื่อให้คณะกรรมการร่วมด้านการขนส่งหารือต่อไป
- การเร่งรัดการปฏิบัติตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงด้านคมนาคม โดยให้คณะทำงานว่าด้วยความเชื่อมโยงด้านคมนาคมดำเนินงานตามกิจกรรมตามที่ตกลงไว้ในแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงด้านคมนาคมของบิมสเทค
กระทรวงคมนาคม (คค.)  (เช่น กรมเจ้าท่า กรมการขนส่งทางบก และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่ง
และจราจร)

                     3. เรื่องดังกล่าวไม่เข้าข่ายมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเนื่องจากไม่มีกรณีที่ต้องดำเนินการโดยใช้งบประมาณ และมีการตั้งงบประมาณในการดำเนินการไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี รวมทั้งมิได้เป็นหนังสือสัญญาที่มีผลผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
 
18. เรื่อง  ร่างแถลงการณ์ปักกิ่งสำหรับการประชุมระดับสูงว่าด้วยการปฏิบัติการระดับโลกเพื่อการพัฒนาร่วมกัน ครั้งที่ 1
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ปักกิ่งสำหรับการประชุมระดับสูงว่าด้วยการปฏิบัติการระดับโลกเพื่อการพัฒนาร่วมกัน ครั้งที่ 1 (Beijing Statement for the First High-level Meeting of Forum on Global Action for Shared Development) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างแถลงการณ์ฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ และ / หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสม โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง รวมทั้งเห็นชอบให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างแถลงการณ์ฯ ดังกล่าวในห้วงการประชุมระดับสูงว่าด้วยการปฏิบัติการระดับโลกเพื่อการพัฒนาร่วมกัน ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 9-10 กรกฎาคม 2566 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
                     สาระสำคัญ
                     1. ร่างแถลงการณ์ฯ มีเนื้อหาเป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการจัดการกับความท้าทายด้านการพัฒนาเพื่อเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้กล่าวถึงสถานการณ์และความท้าทายของโลกในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้การดำเนินการเพื่อบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ค.ศ. 2030 มีความคืบหน้าช้าลง และเห็นว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศต่าง ๆ บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
                     2. ร่างแถลงการณ์ฯ ได้เสนอแนวทางในการดำเนินการ อาทิ (1) การจัดการกับความท้าทายระดับโลกที่เร่งด่วนที่สุด อาทิ การลดความยากจน ความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงด้านสาธารณสุข ซึ่งรวมถึงการรักษาห่วงโซ่อุปทานอาหารและสินค้าในอุตสาหกรรมเกษตรให้มีเสถียรภาพ (2) การเพิ่มการเนินงานในด้านต่าง ๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาสีเขียว และการเชื่อมโยงในยุคดิจิทัล ให้มากขึ้นเพื่อให้มีแรงผลักที่ยั่งยืนสำหรับการพัฒนาระดับโลก (3) การมุ่งเน้นการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาดิจิทัล การส่งเสริมขีดความสามารถของบุคลากร รวมถึงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ สวนอุตสาหกรรม และอุทยานวิทยาศาสตร์ และ (4) การสร้างความร่วมมือใต้-เหนือ เพื่อการพัฒนาในรูปแบบใหม่และยกระดับความร่วมมือใต้-ใต้และความร่วมมือไตรภาคี
 
19. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารสุดท้าย (Draft Final Document) และร่างปฏิญญากรุงบากูของการประชุมคณะกรรมการประสานงานในระดับรัฐมนตรีของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Ministerial Meeting of the Coordinating Bureau of the Non-Aligned Movement: CoB-NAM)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
                     1. เห็นชอบร่างเอกสารสุดท้าย (Draft Final Document) ของการประชุมคณะกรรมการประสานงานในระดับรัฐมนตรีของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Ministerial Meeting of the Coordinating Bureau of the Non-Aligned Movement: CoB-NAM)  และร่างปฏิญญากรุงบากู ทั้งนี้ หากมี การแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของร่างเอกสารฯ ในส่วนที่ไมใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทยก่อนการรับรอง ให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถใช้ดุลยพินิจดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งในการเจรจาและดำเนินการแก้ไข
                     2. ให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา ซึ่งได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และผู้แทนพิเศษ (Special Envoy) ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมรับรองเอกสารดังกล่าว
                     3. หากถ้อยคำเรื่องทะเลจีนใต้ในเอกสารสุดท้ายฯ ไม่สอดคล้องกับท่าทีร่วมของอาเซียนในเรื่องนี้ ขออนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมลงนามในหนังสือแจ้งข้อสงวน (reservation) หรือหนังสืออื่น ๆ ที่เป็นการแจ้งท่าทีของอาเซียนต่อถ้อยคำในเอกสารสุดท้ายเช่นเดียวกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอื่น ๆ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของรัฐมนตรีอาเซียนต่อเอกสารสุดท้ายของการประชุม CoB-NAM ที่ผ่านมา
                     4. หากปรากฏว่า เนื้อหาหรือถ้อยคำของเอกสารสุดท้ายฯ และร่างปฏิญญากรุงบากูที่ได้รับรองในที่ประชุม CoB-NAM ไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์และท่าทีไทยในสาระสำคัญ แสดงท่าทีเชิงลบ หรือมีถ้อยคำรุนแรงประณามประเทศอื่นใด อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศมีหนังสือแจ้งข้อสงวน (reservation) หรือแสดงท่าทีที่อธิบายอย่างระมัดระวังถึงเหตุผลของไทยซึ่งทำให้ไม่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาหรือถ้อยคำดังกล่าวได้ ทั้งนี้ การแจ้งข้อสงวนเป็นแนวทางที่ไทยปฏิบัติมาโดยตลอด
                     สาระสำคัญ
                     ร่างเอกสารสุดท้าย (Final Document) มีสาระสำคัญเกี่ยวกับท่าที พัฒนาการ และการดำเนินการของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในเรื่องต่าง ๆ ในระดับโลกและภูมิภาค อาทิ ปัญหาการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สิทธิมนุษยชนและการพัฒนาที่ยั่งยืน และการปฏิรูปสหประชาชาติ
                     ร่างปฏิญญากรุงบา มีสาระสำคัญย้ำหลักการต่าง ๆ ที่กลุ่ม NAM ให้ความสำคัญ เช่น การเคารพในอำนาจอธิปไตย การระงับกรณีพิพาทโดยสันติ การงดเว้นจากการคุกคามและใช้กำลังการร่วมกันตอบสนองต่อข้อท้าทายของโลกในปัจจุบัน และการธำรงไว้ซึ่งคุณค่าของระบอบพหุภาคีและความร่วมมือระหว่างประเทศ
 

                       แต่งตั้ง

 
20. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (นักบริหารระดับต้น) ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ (เศรษฐกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง (กค.) ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ และให้ดำเนินการต่อไปได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (2) แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
21. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ  (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักงาน กปร. ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิจำนวน 3 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
                     1. นายศุภรัชต์ อินทราวุธ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ) ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2566
                     2. นายวิกรม คัยนันทน์ ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ) ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2566
                     3. นางกมลินี สุขศรีวงศ์ ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ) ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2566
                     และให้ดำเนินการต่อไปได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (2) แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ    (สำนักนายกรัฐมนตรี)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักงาน ก.พ. สำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
                     1. นางสาวกมลลักษณ์ อ้นอารี ผู้อำนวยการสำนักพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ผู้อำนวยการระดับสูง) ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาระบบราชการ (นักทรัพยากรบุคคลทรงคุณวุฒิ) ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2566
                     2. นางอรวรรณ คงธนขันติธร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน (ผู้อำนวยการระดับสูง) ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาระบบราชการ (นักทรัพยากรบุคคลทรงคุณวุฒิ) ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2566
                     และให้ดำเนินการต่อไปได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (2) แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
23. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงแรงงาน)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเสนอแต่งตั้ง นายเดชา  พฤกษ์พัฒนรักษ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง และให้ดำเนินการต่อไปได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (2) แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
24. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 5 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้
                     1. นายสมใจ วิเศษทักษิณ  ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                     2. นางสาววันเพ็ญ บุรีสูงเนิน  รองศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 6  สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 8 สำนักงานปลัดกระทรวง
                     3. นายสุภชัย จันปุ่ม  รองศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 7 สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 13 สำนักงานปลัดกระทรวง
                     4. นายประพัทธ์ รัตนอรุณ  รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน  สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
                     5. นายวิทวัต ปัญจมะวัต  ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
                     และให้ดำเนินการต่อไปได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (2) แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
25. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สาขาการเงิน ในคณะกรรมการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอแต่งตั้ง นายสมหมาย ลักขณานุรักษ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สาขาการเงิน ในคณะกรรมการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป

 
**********************

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.thaigov.go.th