วันนี้ (18 เมษายน 2566) เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
เศรษฐกิจ-สังคม |
1. เรื่อง มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2565
ต่างประเทศ |
2. เรื่อง ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการ ธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 9
__________________________
เศรษฐกิจ-สังคม |
1. เรื่อง มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2565
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 6/2565 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 (จำนวน 3 เรื่อง) [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (27 มิถุนายน 2538) ที่ให้ถือว่าการประชุม กก.วล. เป็นการประชุมคณะรัฐมนตรีเรื่องสิ่งแวดล้อม และมติคณะรัฐมนตรี (1 พฤศจิกายน 2548) ที่ให้นำมติ กก.วล. เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายที่สำคัญ และเรื่องที่ กก.วล. พิจารณาได้ข้อยุติแล้วเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ] มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
เรื่อง | มติ กก.วล. |
1. รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) (จำนวน 8 โครงการ) | |
1.1 โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าให้พื้นที่เกาะต่าง ๆ [เกาะกระเต็น (แตน) จังหวัดสุราษฎร์ธานี] ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นโครงการก่อสร้างระบบจำหน่ายไฟฟ้า 33 เควี (KV) จากเกาะสมุยไปยังเกาะกระเต็น โดยจุดลงของสายเคเบิลจากอ่าวท้องกรูด (เกาะสมุย) ถึงจุดขึ้นสายเคเบิลบริเวณอ่าวออก (เกาะกระเต็น) จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระยะทาง 6 กิโลเมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10-12 เซนติเมตร ติดตั้งสายเคเบิล โดยวิธี Water Jets ใช้การเป่าลมเพื่อเปิดช่องทรายความกว้างประมาณ 30 เซนติเมตร และความลึกประมาณ 1-1.5 เมตร แนววางสายเคเบิลใต้น้ำไม่ผ่านปะการังและหญ้าทะเล | |
คณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย (ระดับอำเภอ) คณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมระดับจังหวัดในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดสุราษฎร์ธานี (ระดับจังหวัด) และคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีมติเห็นชอบต่อโครงการฯ และให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ โครงการฯ ได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น การวางสายจะดำเนินการในช่วงที่มีกระแสน้ำไหลช้าหรือช่วงเวลาน้ำนิ่งเพื่อลดการฟุ้งกระจายของตะกอน และจะติดตั้งม่าน กันตะกอน (silt curtain) และตรวจวัดคุณภาพน้ำทะเลอย่างต่อเนื่อง การวางสายเคเบิลในช่วงที่เป็นพื้นหินจะใช้วิธีการวางไว้บนพื้นหินโดยใช้ซีเมนต์แข็งหุ้มทับสายให้ตรึงอยู่กับพื้นหินซึ่งสามารถกำหนดแนววางสายเคเบิลไม่ให้ผ่านแนวปะการังได้ และสนับสนุนการฟื้นฟูแนวปะการัง และทรัพยากรสัตว์น้ำ รวมทั้งได้กำหนดมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น การติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเล อัตราการตกตะกอน ระบบนิเวศแนวปะการัง ระบบนิเวศแหล่งหญ้าทะเล สภาพชุมชนสัตว์ทะเลหน้าดิน สภาพแนวปะการัง สภาพหญ้าทะเล และสถานภาพของสัตว์ทะเลหายาก | เห็นชอบโครงการฯ ตามมาตราการข้อ 3 (1) (ช)1 ของประกาศ ทส. เรื่อง ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศ ทส. เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณท้องที่ตำบลตลิ่งงาม ตำบลบ่อผุด ตำบลมะเร็ต ตำบลแม่น้ำ ตำบลหน้าเมือง ตำบลอ่างทอง ตำบลลิปะน้อย อำเภอเกาะสมุย และตำบลเกาะพะงัน ตำบลบ้านใต้ ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 25572 โดยมอบให้กระทรวงมหาดไทย โดย กฟภ. รับความเห็นของ กก.วล. ไปพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติมในประเด็นเพิ่มเติมมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ไว้ในมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านเศรษฐกิจและสังคมหลังจากการดำเนินการโครงการ และการสนับสนุนงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างยั่งยืนและนำความเห็นของ กก.วล. เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณาตามมาตรการข้อ 3 (1) (ค)3 ของประกาศดังกล่าวตามขั้นตอนต่อไป |
1.2 โครงการถนนตามผังเมืองสาย จ ผังเมืองรวมเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชรของกรมทางหลวงชนบท เป็นส่วนต่อขยายกับถนนเลี่ยงเมืองกำแพงเพชร เพื่อให้โครงข่ายของถนนเลี่ยงเมืองมีความสมบูรณ์ เป็นรูปแบบระบบถนนวงแหวนรองรับการเดินทางที่ต้องผ่านพื้นที่เขตเมืองกำแพงเพชรซึ่งปัจจุบันมีปริมาณการจราจรคับคั่ง โดยมีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ในเขตตำบลทรงธรรม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร และไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 101 และทางหลวงหมายเลข 112 (ถนนเลี่ยงเมืองกำแพงเพชร) ในเขตตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร รวมระยะทาง 3.510 กิโลเมตร โดยถนนโครงการเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 4 ช่องจราจร มีสะพานข้ามแม่น้ำปิง จุดกลับรถ 4 แห่ง และมีทางแยก 2 แห่ง | |
คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการโครงสร้างพื้นฐานทางบกและทางอากาศ มีมติให้นำรายงาน EIA โครงการถนนตามผังเมืองสาย จฯ ที่ได้ปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดข้อมูลตามความเห็นคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ แล้ว เสนอต่อ กก.วล. เพื่อให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยรายงานฯ ได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น ก่อสร้างกำแพงกันดินแบบเสาเข็มปลายยื่นบริเวณริมตลิ่งแม่น้ำปิงทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของมวลดินลงสู่แม่น้ำปิง และติดตั้งกำแพงกันเสียงชั่วคราวบริเวณพื้นที่ชุมชน 6 แห่ง และหน่วยงานราชการ 3 แห่ง และกำแพงกั้นเสียงถาวรบริเวณเขตทางที่ติดกับโรงเรียนชุมชนบ้านหนองปลิง (นาคอุปถัมภ์) รวมทั้งได้กำหนดมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น เก็บตัวอย่างและวิเคราะห์คุณภาพน้ำผิวดินบริเวณที่แนวเส้นทางตัดผ่าน 4 สถานี โดยตรวจวัดปีละ 2 ครั้ง ตลอดการก่อสร้าง และตรวจวัดคุณภาพอากาศและระดับเสียง 4 สถานี ปีละ 2 ครั้ง ใน 3 ปีแรกที่เปิดดำเนินการ | เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ โดยให้กรมทางหลวงชนบทดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่กำหนดไว้ในรายงานฯ อย่างเคร่งครัด และตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ รวมทั้งให้รับความเห็นของ กก.วล. ไปพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติมในประเด็นการเพิ่มเติมมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาตรการลดผลกระทบต่อศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดกำแพงเพชรและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะก่อสร้าง ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและด้านเกษตรกรรม รวมทั้งการติดตามสถิติและการบริหารจัดการเรื่องร้องเรียน |
1.3 โครงการปรับปรุงขยายท่าอากาศยานบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ของกรมท่าอากาศยาน มีการขยายทางวิ่ง (runway) จากเดิม 2,100 เมตร เป็น 2,990 เมตร ปรับขนาดพื้นที่ปลอดภัยปลายทางวิ่งทั้ง 2 ฝั่ง ขยายลานจอดเครื่องบิน ก่อสร้างอาคารคลังสินค้าเพิ่มเติม และขยายผิวถนนทางเข้า-ออกท่าอากาศยานฯ เพื่อรองรับการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวทางกีฬาของจังหวัดบุรีรีมย์ | |
คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ โครงการโครงสร้างพื้นฐานทางบกและทางอากาศ มีมติให้นำรายงาน EIA โครงการปรับปรุงขยายท่าอากาศยานบุรีรัมย์ฯ ที่ได้ปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดข้อมูลตามความเห็นคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ แล้ว เสนอต่อ กก.วล. เพื่อให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยรายงานฯ ได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น จัดเตรียมพื้นที่เก็บกองเป็นพื้นที่ราบ ออกแบบบ่อหน่วงน้ำให้มีความจุเพียงพอรองรับปริมาณน้ำหลากและตกต่อเนื่องกับ 3 ชั่วโมง รวมทั้งได้กำหนดมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น ตรวจวัดคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำผิวดิน และสภาพเศรษฐกิจ สังคม สำรวจความคิดเห็นด้านผลกระทบจากการก่อสร้าง และข้อเสนอแนะด้านการบรรเทาผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ | เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ โดยให้กรมท่าอากาศยานดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดไว้ในรายงานฯ อย่างเคร่งครัดและตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ รวมทั้งให้รับความเห็นของ กก.วล. ไปพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติม ในประเด็นการเพิ่มเติมมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาตรการความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) ด้านสังคมและวัฒนธรรม ด้านสุขภาพอนามัยแก่ประชาชนในพื้นที่และพื้นที่โดยรอบโครงการและมาตรการด้านการจัดหาที่ดินและการชดเชยทรัพย์สินไว้ในมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม |
1.4 โครงการอ่างเก็บน้ำแม่บอม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลำปาง ของกรมชลประทาน มีลักษณะเป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว ความกว้างสันเขื่อน 10 เมตร ยาว 798 เมตร สูง 51 เมตร โดยมีความจุระดับน้ำเก็บกักปกติ 12.48 ล้านลูกบาศก์เมตร โครงการตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน 235 ไร่ ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ตุ๋ยฝั่งขวา 327 ไร่ และป่าไม้ถาวร 52 ไร่ (ในพื้นที่ดังกล่าวมีพื้นที่ซ้อนทับอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 จำนวน 250 ไร่) มีพื้นที่รับประโยชน์ของโครงการ 11,615 ไร่ (พื้นที่ชลประทาน 9,200 ไร่) | |
คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ มีมติให้นำรายงาน EIA โครงการอ่างเก็บน้ำแม่บอมฯ ที่ได้ปรับแก้ไขรายละเอียดข้อมูลตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ แล้วเสนอต่อ กก.วล. เพื่อให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยรายงานฯ ได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น ปลูกป่าทดแทนพื้นที่ 1,416 ไร่ ออกแบบโครงสร้างอ่างเก็บน้ำให้รองรับค่าความเร่งพื้นดินสูงสุด (Peak Ground Acceleration: PGA)4 0.52 g ศึกษา Dam Break (การพังทลายของเขื่อน) พร้อมจัดทำแผนป้องกันภัยฉุกเฉินสำหรับชุมชนก่อสร้างทางผ่านปลา (Baffle fishways) ร่วมกับการปรับปรุงฝายในลำน้ำแม่บอมและแม่ตุ๋ยและการชดเชยทรัพย์สิน รวมทั้งได้กำหนดมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น ติดตามตรวจสอบพื้นที่ป่าไม้ ระบบนิเวศของป่าและสภาพการฟื้นตัวของป่าตามแผนการปลูกป่าทดแทน ตรวจวัดการเกิดแผ่นดินไหวและการสั่นสะเทือนที่ตัวเขื่อนแบบต่อเนื่อง และเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในน้ำ | เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ โดยให้กรมชลประทานดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดไว้ในรายงานฯ อย่างเคร่งครัดและตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ รวมทั้งให้รับความเห็นของ กก.วล. ไปพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติม ในประเด็นการเพิ่มเติมการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการเกิดการแพร่พันธุ์และการจับตัวกันเป็นแพของกลุ่มสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่มีพิษและการปรับแก้ไขเนื้อหาในแผนการลดผลกระทบด้านสัตว์ป่า |
1.5 โครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกจากบางปะกงไปโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 36 นิ้ว มีสถานีควบคุมก๊าซฯ 7 สถานี รวมระยะทางประมาณ 57 กิโลเมตร เริ่มต้นที่สถานีควบคุมก๊าซ ตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ไปยังสถานีควบคุมความดันและวัดปริมาณก๊าซโรงไฟฟ้าพระนครใต้ส่วนเพิ่ม (SBAPMR) และเชื่อมต่อด้วยท่อขนาด 16 นิ้ว 3 ท่อ สิ้นสุดที่บริเวณจุดเชื่อมต่อท่อส่งก๊าซฯ ภายในพื้นที่โรงไฟฟ้าพระนครใต้ส่วนเพิ่ม แนวท่อส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ของหน่วยงานที่มีการใช้ประโยชน์อยู่เดิม | |
คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ โครงการพลังงานมีมติให้บริษัท ปตท.ฯ รวบรวมข้อมูลรายงาน EIA โครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกฯ ทุกฉบับ และข้อมูลที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมตามประเด็นที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ กำหนด แล้วจัดทำเป็นรายงานฯ ฉบับสมบูรณ์ เสนอต่อ กก.วล. เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยรายงานฯ ได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น ติดตั้งกำแพงกั้นเสียงชั่วคราว จัดการของเสียกรณีที่มีโคลนโซเดียมเบนทอไนต์5 เหลือทิ้ง และจัดตั้งคณะกรรมการกำกับและติดตามการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้แล้วเสร็จก่อนเริ่มงานก่อสร้างโครงการ รวมถึงได้กำหนดมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น ตรวจวัดคุณภาพอากาศ ระดับเสียง คุณภาพน้ำผิวดิน และสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ ในปีแรกและทุก 5 ปี ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ | เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ โดยให้บริษัท ปตท.ฯ ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่กำหนดไว้ในรายงานฯ อย่างเคร่งครัด และตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ |
1.6 โครงการทำเหมืองแร่ชนิดแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่อทำปูนขาว) ของบริษัทจิระภัทรสโตน 2010 จำกัด คำขอประทานบัตรที่ 6/2557 ร่วมแผนผังโครงการทำเหมืองเดียวกันกับ บริษัท ส.ศิลาทอง สระบุรี จำกัด คำขอต่ออายุประทานบัตรที่ 1/2561 (ประทานบัตรที่ 33284/15327) และคำขอต่ออายุประทานบัตรที่ 1/2562 (ประทานบัตรที่ 33350/16100) ตั้งอยู่ที่ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี เป็นไปตามแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ โดยคำขอประทานบัตรที่ 6/2557 มีพื้นที่ 128.05 ไร่ เว้นพื้นที่ไม่ทำเหมืองของคำขอประทานบัตร ด้านทิศเหนือ 30 เมตร และด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ 10 เมตร เพื่อเป็นพื้นที่กันชน เนื่องจากอยู่ติดพื้นป่าไม้ คงเหลือพื้นที่ทำเหมือง 107.85 ไร่ ทำเหมืองโดยวิธีเหมืองเปิด (Surface Mining) ในลักษณะขั้นบันได โดยวางแผนผลิตร่วมกันปีละ 900,000 เมตริกตัน เป็นเวลา 30 ปี พื้นที่โครงการอยู่ในเขตกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำภาคตะวันตก ภาคกลาง และลุ่มน้ำป่าสัก และการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนอื่น ๆ (ลุ่มน้ำชายแดน) พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ประมาณ 107 ไร่ และลุ่มน้ำชั้นที่ 3 ประมาณ 21.05 ไร่ | |
คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ โครงการเหมืองแร่ มีมติให้นำรายงาน EIA โครงการทำเหมืองแร่ชนิดแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนฯ ที่ได้ปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดข้อมูลตามความเห็นคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ แล้ว เสนอ กก.วล. พิจารณาเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีกรณีการขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อการอนุญาตประทานบัตรเป็นแต่ละกรณีไป โดยรายงานฯ ได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษ ตำบลหน้าพระลาน ให้ร่วมพัฒนาสภาพสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกโครงการ หลีกเลี่ยงการตัดไม้เปิดพื้นที่ป่าโดยไม่จำเป็น จัดตั้งกองทุนเฝ้าระวังสุขภาพและกองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูพื้นที่จากการทำเหมืองตามแผนงานที่ได้เสนอไว้ในรายงาน EIA รวมทั้งได้กำหนดมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น ตรวจวัดค่าฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 100 ไมครอน ค่า PM10 ระดับเสียงและตรวจวัดแรงสั่งสะเทือน 4 สถานี ปีละ 2 ครั้ง คุณภาพน้ำผิวดิน 1 สถานี คุณภาพน้ำใต้ดิน 2 สถานี ปีละ 2 ครั้ง ตรวจสอบสมรรถภาพร่างกายพนักงานของโครงการ และศึกษาสภาพเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนบริเวณใกล้เคียงพื้นที่โครงการในรัศมี 3 กิโลเมตร | 1) เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ โดยให้บริษัท จิระภัทรสโตนฯ ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดไว้ในรายงานฯ อย่างเคร่งครัดและตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ 2) ให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ นำความเห็นของ กก.วล. ต่อรายงานฯ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณาขออนุมัติผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อการอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่เป็นแต่ละกรณีไป 3) กรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ แล้ว ให้หน่วยงานดำเนินการดังนี้ (1) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ ในฐานะหน่วยงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยแร่นำมาตรการที่เสนอไว้ในรายงานฯ ไปกำหนดเป็นเงื่อนไขในการสั่งอนุญาตหรือต่ออายุใบอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่โดยให้ถือว่าเป็นเงื่อนไขที่กำหนดตามกฎหมายนั้น ๆ และ (2) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ในฐานะหน่วยงานอนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อการขอออกประทานบัตรในเขตนิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรีนำมาตรการที่เสนอไว้ในรายงานฯ ไปกำหนดเป็นเงื่อนไขในการสั่งอนุญาตให้ใช้ที่ดิน โดยให้ถือว่าเป็นเงื่อนไขที่กำหนดตามกฎหมายนั้น ๆ 4) ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ และกรมพัฒนาสังคมฯ กำกับดูแลให้บริษัท จิระภัทรสโตนฯ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในรายงานฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน |
1.7 โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภาของกรมทางหลวง สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต้านคมนาคมขนส่งภายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) กลุ่มที่ 1 การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองกรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุด เพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 5 ปี (พ.ศ. 2560-2565) มีจุดเริ่มต้นโครงการบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 บริเวณ (กรุงเทพฯ-พัทยา) เป็นการขยายช่องจราจรระดับดินเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร และก่อสร้างทางแนวใหม่เป็นทางยกระดับพาดผ่านพื้นที่หมู่ 3 บ้านสระแก้ว ตำบลสำนักท้อน อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง มีทิศทางมุ่งหน้าทิศใต้ผ่านทางรถไฟสายตะวันออก และเขตพื้นที่ของกรมต่อสู้อากาศยานที่ 1 ไปเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) โดยเชื่อมต่อกับสนามบินอู่ตะเภาด้วยทางแยกต่างระดับ รวมระยะทาง 2.486 กิโลเมตร | |
คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ โครงการโครงสร้างพื้นฐานทางบกและทางอากาศ มีมติให้นำรายงาน EIA โครงการทางหลวงพิเศษฯ ที่ได้ปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดข้อมูลตามความเห็นคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ แล้ว เสนอต่อ กก.วล. เพื่อให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยรายงานฯ ได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น กรณีที่ต้องกำจัดสารละลายโพลิเมอร์ต้องกำจัดด้วยการผสมกับวัสดุธรรมชาติ และนำไปถมบริเวณแนวเขตทางโครงการการจ่ายค่าชดเชยเวนคืนที่ดินต้องจ่ายงวดเดียวและให้เสร็จสิ้นก่อนการก่อสร้างโครงการการจัดให้มีบุคคลที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบด้านความปลอดภัยในงานก่อสร้างโครงการ รวมทั้งได้กำหนดมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น ตรวจวัดคุณภาพอากาศ ความเร็วและทิศทางลม เสียง ความสั่นสะเทือน สำรวจสภาพเศรษฐกิจสังคมและสังคม ปีละ 1 ครั้ง ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี และดำเนินการทุก 5 ปี จนถึงปีที่ 30 และการจัดการเรื่องร้องเรียนการป้องกันแก้ไขผลกระทบของปัญหาที่เกิดขึ้นจากโครงการ ความถี่ปีละ 1 ครั้ง ตลอดอายุโครงการฯ | เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ โดยให้กรมทางหลวงดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดไว้ในรายงานฯ อย่างเคร่งครัด และตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ |
1.8 โครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง-ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ของกรมทางหลวงชนบท เพื่อให้โครงข่ายคมนาคมในพื้นที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โครงการฯ เชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 4206 บริเวณบ้านหัวหิน อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เชื่อมต่อกับทางหลวงชนบท บริเวณบ้านทุ่งโต๊ะหยุม ในพื้นที่ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่รวมระยะทาง 2.527 กิโลเมตร ประกอบด้วย โครงสร้างสะพานคานขึงและโครงสร้างสะพานคานยื่นจุดกลับรถ 3 จุด จุดชมวิวบนสะพาน 2 จุด ซึ่งในการศึกษาเส้นทางโครงการฯ ได้ออกแบบเพื่อเลี่ยงแนวปะการังรอบเกาะปลิง | |
คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ โครงการโครงสร้างพื้นฐานทางบกและทางอากาศ มีมติให้นำรายงาน EIA โครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตาฯ ที่ได้ปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดข้อมูลตามความเห็นคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ แล้วเสนอต่อ กก.วล. เพื่อให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไปโดยรายงานฯ ได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น ให้ทำการล้อมม่านดักตะกอน โดยรอบพื้นที่ก่อสร้าง ติดตั้งกำแพงกันเสียงชั่วคราว ตั้งงบประมาณให้กรมป่าไม้และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพื่อปลูกป่าทดแทน ประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการให้ประชาชนทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน และจัดให้มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียน รวมทั้งได้กำหนดมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น ตรวจวัดคุณภาพน้ำทะเล ระดับเสียง จำนวนและสภาพการเจริญเติบโตของต้นไม้ที่ปลูกทดแทน 1 ครั้งต่อปี ตรวจวัดความหลากหลายของสัตว์ในระบบนิเวศ การแพร่กระจายของสัตว์ในพื้นที่ศึกษาระยะ 500 เมตร จากแนวเส้นทางโครงการ 2 ครั้งต่อปี และสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ 1 ครั้งต่อปี ตลอดระยะเวลาก่อสร้าง และในระยะดำเนินการ 1 ครั้งต่อปี | เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ โดยให้กรมทางหลวงชนบทดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดไว้ในรายงานฯ อย่างเคร่งครัด และตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการตามมาตรที่กำหนดไว้ |
2. ร่างแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ภายใต้แผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 25666 กำหนดขึ้นภายใต้หลักการ 3 พื้นที่ (พื้นที่เมือง พื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตรกรรม) 7 มาตรการ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและจังหวัดนำไปใช้ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง ปี 2566 | |
ทส. เห็นว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนเฉพาะกิจฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลเป็นรูปธรรมควรกำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดของแผนปฏิบัติการฯ เช่น (1) พื้นที่เมือง เพิ่มจุดตรวจวัดควันดำริมถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็น 20 จุด (2) พื้นที่ป่าจำนวนจุดความร้อนในพื้นที่ป่าลดลงร้อยละ 20 เทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี และ (3) พื้นที่เกษตรกรรม กำหนดให้ปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบในฤดูกาลผลิต 2565/2566 ไม่เกินร้อยละ 5 และกำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดของแต่ละแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม เช่น พื้นที่เมือง มุ่งเน้นการควบคุมแหล่งกำเนิดจากยานพาหนะและภาคอุตสาหกรรม พื้นที่ป่า มุ่งเน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและพื้นที่เกษตรกรรม มุ่งเน้นการควบคุมการเผาในพื้นที่การเกษตร | เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการฯ และเป้าหมายตัวชี้วัดตามที่ ทส. เสนอ และมอบหมายให้ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเร่งรัดติดตามการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดต่อไป |
3. แผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วบริเวณห้อยคลีตี้ ระยะที่ 3 ปี พ.ศ. 2565-2568 ที่ผ่านมา ทส. ได้จัดทำแผนการดำเนินงานฯ ตามคำพิพากษาคำสั่งศาลปกครองสูงสุดมาแล้ว 2 ฉบับ (แผนการดำเนินงานฯ ระยะที่ 1 และ 2) แต่เนื่องจากยังคงพบปัญหาทางสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ทส. โดยกรมควบคุมมลพิษจึงได้จัดทำแผนการดำเนินงานฯ ระยะที่ 3 โดยมีเป้าหมายให้ประชากรที่อาศัยในพื้นที่หมู่บ้านคลิตี้ไม่มีความเสี่ยงทางสุขภาพจากการสัมผัสตะกั่วในสิ่งแวดล้อม และเพื่อฟื้นฟูพื้นที่คลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว ติดตามตรวจสอบปริมาณตะกั่วในสิ่งแวดล้อม เช่น ตะกอนดินในลำห้วยคลิตี้ พืชผัก สัตว์น้ำ และน้ำใต้ดิน เฝ้าระวังระดับตะกั่วในเลือดและส่งเสริมสุขภาพอนามัยของประชาชนพื้นที่และสื่อสารข้อมูลคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบ โดยมีแผนงาน ประกอบด้วย แผนฟื้นฟูสภาพพื้นที่ลำห้วยคลิตี้ แผนติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม แผนด้านสุขภาพ แผนด้านสังคมและเศรษฐกิจ และแผนติดตามประเมินการดำเนินการ | |
คณะกรรมการควบคุมมลพิษ มีมติเห็นชอบกับแผนการดำเนินงานฯ โดยให้กรมควบคุมมลพิษรับข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการเพิ่มเติมให้ครอบคลุม และนำเสนอ กก.วล. พิจารณาต่อไป | เห็นชอบแผนการดำเนินงานฯ ระยะที่ 3 ตามที่ ทส. เสนอ โดยให้กรมควบคุมมลพิษรับความเห็นของ กก.วล. ในประเด็นการปรับกิจกรรมการปลูกพืชสมุนไพรท้องถิ่นโดยรอบหลุมฝังกลบแบบปลอดภัยออกจากแผนการดำเนินงานฯ และเพิ่มเติมแผนการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมปลอดภัยในแผนด้านสังคมและเศรษฐกิจ |
__________________
1 (ช) การกระทำ หรือการประกอบกิจการใด ๆ ในแนวปะการังที่อาจเป็นอันตรายหรือมีผลกระทบต่อเต่าทะเล ปลาสวยงามหรือทำให้หอยมือเสือ กัลปังหา ปะการัง ซากปะการังหรือหินปะการังถูกทำลายหรือเสียหาย เว้นแต่เป็นกิจการสาธารณูปโภคของรัฐที่มีความจำเป็นตามที่ กก.วล. เห็นชอบ หรือเป็นการกระทำเพื่อการศึกษาวิจัยทางวิชาการของทางราชการที่มีหน้าที่
2 คณะรัฐมนตรีมีมติ (24 มกราคม 2566) เห็นชอบในหลักการประกาศ ทส. เรื่อง ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศ ทส. เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณท้องที่ตำบลตลิ่งงาม ตำบลบ่อผุด ตำบลมะเร็ต ตำบลแม่น้ำ ตำบลหน้าเมือง ตำบลอ่างทอง ตำบลลิปะน้อย อำเภอเกาะสมุย และตำบลเกาะพะงัน ตำบลบ้านใต้ ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงันจังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2557 ตามที่ ทส. เสนอ
3 (ค) การขุด การถมทะเล เว้นแต่การดำเนินการโดยส่วนราชการ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมระดับจังหวัดและคณะรัฐมนตรี
4 ค่าที่บอกว่าระดับแรงสั่นสะเทือนที่ทำให้วัตถุตัวกลางการเคลื่อนที่นั้นมีการเปลี่ยนแปลงความเร็วเท่าใด
5 โซเดียมเบนทอไนต์ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เนื่องจากมีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำที่ดี มีอัตราการขยายตัวสูงเมื่อถูกน้ำ เช่น การทำโคลนเจาะ โดยใช้ผสมกับน้ำเพื่อช่วยหล่อเลี้ยงหัวเจาะในการเจาะบาดาลหรือในการเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
6 คณะรัฐมนตรีมีมติ (3 มกราคม 2566) รับทราบแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 ซึ่งประกอบด้วย 7 มาตรการ ได้แก่ (1) เร่งรัดการประชาสัมพันธ์เชิงรุกและแจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วันทุกพื้นที่ (2) ยกระดับมาตรการการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไข ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง (3) ยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร (ชิงเก็บ ลดเผา และระบบ Burn Check) (4) กำกับดูแลการดำเนินการในทุกระดับอย่างเข้มงวด ติดตามผลการดำเนินการและประเมินสถานการณ์เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง (5) ลดจุดความร้อน ป้องกันและควบคุมการเกิดไฟในทุกพื้นที่ และพัฒนาระบบพยากรณ์ความรุนแรงและอันตรายของไฟ (6) ผลักดันกลไกระหว่างประเทศ เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนมีประสิทธิภาพสูงสุด และ (7) ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่าและฝุ่นละออง
ต่างประเทศ |
2. เรื่อง ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 9
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการต่อร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 9 (ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงการคลัง (กค.) ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังร่วมรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงการคลัง (กค.) แจ้งว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ Meeting: AFMM) ครั้งที่ 27 และการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM) ครั้งที่ 9 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 28 - 31 มีนาคม 2566 ณ เกาะบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยการประชุม AFMGM ครั้งที่ 9 จัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 31 มีนาคม 2566 และจะมีการพิจารณารับรอง (Endorse) ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ (ไม่ลงนาม) เพื่อเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม AFMGM ครั้งที่ 9 ซึ่งร่างแถลงการณ์ร่วมฯ มีเนื้อหาแสดงถึงเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนในการร่วมกันขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน ตลอดจนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยมุ่งให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 3 ด้านของอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน ปี 2566 ได้แก่ (1) ด้านการฟื้นฟูและการสร้างใหม่ (2) ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และ (3) ด้านความยั่งยืน มีสาระสำคัญ เช่น ชื่นชมต่อความสำเร็จและความคืบหน้าในการดำเนินงานของคณะทำงานรายสาขาภายใต้กรอบการประชุม AFMM และกรอบการประชุม AFMGM ในด้านต่าง ๆ เช่น (1) ด้านการรวมตัวและการเปิดเสรีทางการเงิน [มีความคืบหน้าที่สำคัญ เช่น (1) การลงนามร่างพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน ฉบับที่ 9 เป็นต้น] (2) ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน (เช่น ยินดีต่อความคืบหน้ของระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียนเพื่อสนับสนุนการดำเนินการของหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบ) (3) ด้านความเชื่อมโยงด้านบริการทางการเงินและการชำระเงิน [ซึ่งมีความคืบหน้า เช่น การชำระเงินผ่านรหัสคิวอาร์ (QR Code) ข้ามพรมแดนทวิภาคี] (4) ด้านการระดมทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานที่มีการสนับสนุนกองทุนการเงินสีเขียวของอาเซียนแบบถาวร การรับรองข้อเสนอในการจัดการประชุม AFMGM ปีละ 2 ครั้ง เป็นประจำทุกปี และรับทราบความสำคัญของสินทรัพย์ดิจิทัลและสนับสนุนข้อริเริ่มในการส่งเสริมความครอบคลุมและการจัดประเภทสินทรัพย์ของอาเซียน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ (กรมอาเซียน) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาแล้วไม่มีข้อขัดข้องต่อสารัตถะและถ้อยคำโดยรวมของร่างแถลงการณ์ฯ โดยมีความเห็นเพิ่มเติมบางประการ เช่น เห็นควรให้ปรับปรุงถ้อยคำประเด็นการเปิดเสรีบัญชีทุนเคลื่อนย้ายเกี่ยวกับนโยบายด้านการพัฒนาการเงินที่ยั่งยืน เพื่อสะท้อนให้เห็นว่ากิจกรรมเพื่อการเงินที่ยั่งยืนจะมีส่วนสนับสนุนเงินทุนเคลื่อนย้ายภายในภูมิภาคอาเซียนอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่ง กค. แจ้งว่า ได้ดำเนินการปรับปรุงถ้อยคำในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ตามความเห็นข้างต้น และส่งให้สำนักเลขาธิการอาเซียนเพื่อพิจารณาปรับแก้แล้ว
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นชอบและอนุมัติตามที่ กค. เสนอ และกระทรวงการต่างประเทศ (กรมอาเซียน) พิจารณาแล้วไม่มีข้อขัดข้องต่อสารัตถะและถ้อยคำโดยรวมของร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าร่างแถลงการณ์ฯ ไม่เข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนั้น การให้ความเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมฯ จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไปตามนัยมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คณะรัฐมนตรีจึงพิจารณาให้ความเห็นชอบได้