วันศุกร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2566

สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 4 เมษายน 2566

 

 วันนี้ (4 เมษายน 2566)  เวลา 14.00 น. พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
 

กฎหมาย

                1.     เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. ....
                 

เศรษฐกิจ-สังคม

                2.     เรื่อง ภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่และภาพรวม ปี 2565
                3.     เรื่อง การยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษตามประกาศกระทรวงคมนาคมกำหนดอัตราค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2566
                4.     เรื่อง ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล พ.ศ. 2566 (ครบ 3 ปี 6 เดือน)
                5.     เรื่อง สรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 22 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 - 31 มกราคม 2566)
                6.     เรื่อง นโยบายและแนวทางในการพัฒนาการสหกรณ์ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570)
       

ต่างประเทศ

                7.     เรื่อง สรุปผลการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสมัยที่ 7 (CED 7) ระดับรัฐมนตรี
                 8.     เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและสำนักงานส่งเสริมการค้าและและการลงทุนแห่งสาธารณรัฐเกาหลีฉบับใหม่
                9.     เรื่อง ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนว่าด้วยเรื่องการเร่งรัดการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 2
                10.  เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ ค.ศ. 2023
               

แต่งตั้ง

                11.   เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์
       

****************************

 
 

กฎหมาย

1. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. ....
              คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                ทั้งนี้ ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอเป็นการกำหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ในท้องที่ตำบลร่อนทอง ตำบลกำเนิดนพคุณ ตำบลแม่รำพึง และตำบลพงศ์ประศาสน์ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา และการดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบทในด้านการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธาณะ และสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีนโยบายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาที่อยู่อาศัย การบริการด้านการคมนาคมและขนส่งให้เพียงพอ และได้มาตรฐานโดยดำรงรักษาวัฒนธรรมประเพณีซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชุมชน อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในพื้นที่เพื่อให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศ และรักษาดุลยภาพระหว่างเศรษฐกิจชุมชนเดิม ซึ่งเป็นชุมชนประมงชายฝั่ง กับการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมทั้งส่งเสริมให้ชุมชนบางสะพาน เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยได้มีการกำหนดแผนผังและการใช้ประโยชน์ที่ดินภายในเขตผังเมืองรวมจำแนกออกเป็น 13 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทจะกำหนดลักษณะกิจการที่ให้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภทนั้น ๆ รวมทั้งกำหนดประเภทหรือชนิดของโรงงานที่ให้ดำเนินการในที่ดินแต่ละประเภท ตลอดจนกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแผนผังโครงการคมนาคมและขนส่ง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 แล้ว และคณะกรรมการผังเมืองได้มีมติเห็นชอบแล้ว
                สาระสำคัญของร่างประกาศ
              กำหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ในท้องที่ตำบลร่อนทอง ตำบลกำเนิดนพคุณ ตำบลแม่รำพึง และตำบลพงศ์ประศาสน์ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและการดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบท ในด้านการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อม ให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
                1. กำหนดให้ผังเมืองรวมชุมชนบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีนโยบายและมาตรการเพื่อจัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน โครงข่ายคมนาคมขนส่งและบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับและสอดคล้องกับการขยายตัวของชุมชนในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาเศษฐกิจ โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
                        1.1 ส่งเสริมและพัฒนาชุมชนบางสะพานให้เป็นศูนย์กลางการบริหาร การพาณิชยกรรม การสื่อสารคมนาคมและบริการสาธารณะในระดับอำเภอ
                        1.2 ส่งเสริมและพัฒนาด้านที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม และเกษตรกรรม ให้สอดคล้องกับการขยายตัวของชุมชน ระบบเศรษฐกิจและสังคม และการกระจายตัวของประชากรที่เพิ่มขึ้น
                        1.3 กำหนดแนวทางพัฒนาและควบคุมการขยายตัวของชุมชนบางสะพานให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์
                        1.4 ส่งเสริมและพัฒนาบทบาทชุมชนบางสะพานด้านอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกชายฝั่งตะวันตก
                        1.5 ส่งเสริมและพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมขนส่งให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินในอนาคต
                        1.6 ส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบโดยรถไฟ
                        1.7 อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
                2. กำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินออกเป็น 13 ประเภท ดังนี้

ประเภทวัตถุประสงค์
1. ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย       (สีเหลือง)- เป็นพื้นที่รอบนอกชุมชนเมืองต่อจากพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยที่เบาบาง ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย สถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการเป็นส่วนใหญ่ และห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อบริเวณที่พักอาศัยและชุมชน ได้แก่ โรงงานทุกจำพวกตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เว้นแต่โรงงานตามประเภท ชนิดและจำพวกที่กำหนดให้ดำเนินการได้ตามบัญชีท้ายประกาศ และโรงงานบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน คลังน้ำมันและสถานที่เก็บรักษาน้ำมันคลังก๊าซปิโตรเลียมเหลว เลี้ยงม้า โค กระบือ สุกร แพะ แกะ ห่าน เป็ด ไก่ งู จระเข้ หรือสัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เพื่อการค้า สุสานและฌาปนสถาน จัดสรรที่ดิน เพื่อประกอบอุตสาหกรรม การอยู่อาศัยหรือประกอบพาณิชยกรรมประเภทอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่ การอยู่อาศัยประเภทอาคารชุด หอพัก หรืออาคารอยู่อาศัยรวม โรงฆ่าสัตว์ และกำจัดมูลฝอย และโรงงานอุตสาหกรรมที่สามารถประกอบกิจการ ได้แก่ อุตสาหกรรมขนาดเล็กและอุตสาหกรรมบริการ เช่น การทำขนมปังหรือเค้ก การทำน้ำดื่ม การซ่อมรองเท้า หรือเครื่องหนัง เป็นต้น
2. ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม)- เป็นพื้นที่บริเวณต่อเนื่องหรือล้อมรอบพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย สถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการเป็นส่วนใหญ่ และห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินบางประเภท ได้แก่ โรงงานทุกจำพวกตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เว้นแต่โรงงานตามประเภท ชนิด และจำพวกที่กำหนดให้ดำเนินการได้ตามบัญชีท้ายประกาศ และโรงงานบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน คลังน้ำมัน และสถานที่เก็บรักษาน้ำมัน คลังก๊าซปิโตรเลียมเหลว เลี้ยงม้า โค กระบือ สุกร แพะ แกะ ห่าน เป็ด ไก่ งู จระเข้ หรือสัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เพื่อการค้า สุสานและฌาปนสถาน จัดสรรที่ดินเพื่อประกอบอุตสาหกรรม การอยู่อาศัยหรือประกอบพาณิชยกรรมประเภทอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ โรงฆ่าสัตว์ ไซโล เก็บผลิตผลทางการเกษตร กำจัดมูลฝอย และซื้อขายหรือเก็บเศษวัสดุ และโรงงานอุตสาหกรรมที่สามารถประกอบกิจการ ได้แก่ อุตสาหกรรมขนาดเล็กและอุตสาหกรรมบริการ เช่น การคั่ว บด หรือป่น กาแฟ หรือการทำกาแฟผง การซ่อมเครื่องมือไฟฟ้า หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า สำหรับใช้ในบ้านหรือใช้ประจำตัว เป็นต้น
3. ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง)- เป็นศูนย์กลางชุมชนเมืองมีวัตถุประสงค์ให้เป็นบริเวณที่ประกอบพาณิชย์ และการอยู่อาศัยหนาแน่นมากให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อพาณิชยกรรม การอยู่อาศัย สถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการเป็นส่วนใหญ่ และห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินบางประเภท ได้แก่ โรงงานทุกจำพวกตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เว้นแต่โรงงานตามประเภท ชนิด และจำพวกที่กำหนดให้ดำเนินการได้ตามบัญชีท้ายประกาศ และโรงงานบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน คลังน้ำมันและสถานที่เก็บรักษาน้ำมัน คลังก๊าซปิโตรเลียมเหลว เลี้ยงม้า โค กระบือ สุกร แพะ แกะ ห่าน เป็ด ไก่ งู จระเข้ หรือสัตว์ป่า ตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เพื่อการค้า สุสานและฌาปนสถาน จัดสรรที่ดินเพื่อประกอบอุตสาหกรรม โรงฆ่าสัตว์ ไซโลเก็บผลิตผลทางการเกษตร กำจัดมูลฝอย และซื้อขายหรือเก็บเศษวัสดุ และโรงงานอุตสาหกรรมที่สามารถประกอบกิจการ ได้แก่ อุตสาหกรรมขนาดเล็กและอุตสาหกรรมบริการ เช่น การซ่อมรองเท้าหรือเครื่องหนัง การซ่อมเครื่องมือไฟฟ้าหรือเครื่องใช้ไฟฟ้า สำหรับใช้ในบ้าน หรือใช้ประจำตัว เป็นต้น
4. ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า               (สีม่วง)- มีวัตถุประสงค์ให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่ออุตสาหกรรม คลังสินค้า สถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการเป็นส่วนใหญ่ และห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินบางประเภท ได้แก่ สุสานและฌาปนสถาน โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม โรงมหรสพตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร จัดสรรที่ดินเพื่อประกอบพาณิชยกรรม เว้นแต่เป็นการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมและคลังสินค้า จัดสรรที่ดิน เพื่อการอยู่อาศัย เว้นแต่เป็นการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมและคลังสินค้า การประกอบพาณิชยกรรมประเภทอาคารขนาดใหญ่ การอยู่อาศัยประเภทอาคารชุด หอพัก หรืออาคารอยู่อาศัยรวม เว้นแต่เป็นการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมและคลังสินค้า สถานสงเคราะห์หรือรับเลี้ยงเด็ก เว้นแต่สถานบริการรับเลี้ยงเด็ก ซึ่งเป็นสวัสดิการของพนักงาน สถานสงเคราะห์หรือรับเลี้ยงคนชรา และโรงพยาบาล
5. ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมเฉพาะกิจ              (สีม่วงอ่อน)- มีวัตถุประสงค์ให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเฉพาะที่ไม่เป็นพิษต่อชุมชนเกี่ยวกับการประมงเป็นหลักให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับธุรกิจการประมงที่ไม่เป็นมลพิษต่อชุมชนหรือสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมบริการที่เกี่ยวกับธุรกิจ การประมง คลังสินค้า สถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการเป็นส่วนใหญ่ และห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเฉพาะกิจ ได้แก่ โรงงานทุกจำพวกตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เว้นแต่โรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการประมงที่ไม่เป็นมลพิษต่อชุมชนหรือสิ่งแวดล้อม หรืออุตสาหกรรมบริการที่เกี่ยวกับการประมง และโรงงานบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน สุสานและฌาปนสถานตามกฎหมายว่าด้วยสุสานและฌาปนสถาน การอยู่อาศัยหรือประกอบพาณิชยกรรมประเภทอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่ การอยู่อาศัยประเภทอาคารชุด หอพัก หรืออาคารอยู่อาศัยรวม โรงฆ่าสัตว์ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อ            การจำหน่ายเนื้อสัตว์ โรงพยาบาล และกำจัดมูลฝอย
6. ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมทั่วไปที่ไม่เป็นมลพิษต่อชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมและคลังสินค้า (สีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีม่วง)- มีวัตถุประสงค์ให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเฉพาะที่ไม่เป็นพิษต่อชุมชนเกี่ยวกับคลังสินค้าเป็นหลัก ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่ออุตสาหกรรมที่ประกอบกิจการในลักษณะโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานตามประเภท ชนิด และจำพวกที่กำหนดให้ดำเนินการได้ตามบัญชีท้ายประกาศนี้ คลังสินค้าที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่ดำเนินการได้ในที่ดินประเภทนี้ สถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการเป็นส่วนใหญ่ และห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินบางประเภท ได้แก่ โรงงานตามประเภท ชนิด และจำพวกที่กำหนดให้ดำเนินการได้ตามบัญชีท้ายประกาศนี้ และโรงงานบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน เลี้ยงม้า โค กระบือ สุกร แพะ แกะ ห่าน เป็ด ไก่ งู จระเข้ หรือสัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เพื่อการค้า สุสานและฌาปนสถาน จัดสรรที่ดินเพื่อประกอบพาณิชยกรรม เว้นแต่เป็นส่วนหนึ่งของโรงงานตามประเภท ชนิด และจำพวกที่กำหนดให้ดำเนินการได้ตามบัญชีท้ายประกาศนี้ และคลังสินค้าที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่ดำเนินการได้ในที่ดินประเภทนี้ จัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย เว้นแต่เป็นส่วนหนึ่งของโรงงานตามประเภทชนิด และจำพวกที่กำหนดให้ดำเนินการได้ตามบัญชีท้ายประกาศนี้ และคลังสินค้าที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่ดำเนินการได้ในที่ดินประเภทนี้ และโรงงานอุตสาหกรรมที่สามารถประกอบกิจการได้ เช่น การทำอาหารจากสัตว์น้ำและบรรจุในภาชนะที่ผนึกและอากาศเข้าไม่ได้ การสี ฝัด หรือขัดข้าว การทำน้ำดื่ม เป็นต้น
7. ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม          (สีเขียว)- เป็นพื้นที่กันชนของชุมชนเมืองให้คงสภาพชนบทและประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีวัตถุประสงค์ให้เป็นพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม ควบคุมการขยายตัวของชุมชนและรักษาคุณค่าของพื้นที่เกษตรกรรม ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในพื้นที่บริเวณรอบชุมชนให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม สถาบันราชการ การสาธารณูปโภค และสาธารณูปการเป็นส่วนใหญ่ และห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อชนบทและเกษตรกรรม ได้แก่ จัดสรรที่ดินเพื่อประกอบอุตสาหกรรม จัดสรรที่ดินเพื่อประกอบพาณิชยกรรม จัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย
8. ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อนันทนาการและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สีเขียวอ่อน)- มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้ชุมชนมีสภาพแวดล้อมที่ดี มีอากาศบริสุทธิ์มีที่พักผ่อนหย่อนใจ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่สมบูรณ์ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อนันทนาการหรือเกี่ยวข้องกับนันทนาการ การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือสาธารณประโยชน์เท่านั้น
9. ที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ (สีเขียวอ่อนมีเส้นทแยงสีขาว)- มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดพื้นที่ซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการสงวนและคุ้มครอง ดูแลรักษาหรือบำรุงป่าไม้ สัตว์ป่า ต้นน้ำลำธาร และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ตามมติคณะรัฐมนตรี และกฎหมายที่เกี่ยวกับป่าไม้ การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และการส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ดินประเภทนี้ซึ่งเอกชนเป็นเจ้าของหรือครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อนันทนาการและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การอยู่อาศัย เกษตรกรรม การสาธารณูปโภคและสาธารณประโยชน์เท่านั้น และห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อการอนุรักษ์ป่าไม้ ได้แก่ จัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย การอยู่อาศัยประเภทอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ การอยู่อาศัยประเภทห้องแถว
10. ที่ดินประเภทสถาบันการศึกษา                  (สีเขียวมะกอก)- มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดพื้นที่ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษา ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการศึกษาหรือเกี่ยวข้องกับการศึกษา สถาบันราชการ หรือสาธารณประโยชน์เท่านั้น ที่ดินประเภทนี้ในเขตปฏิรูปที่ดิน ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เช่น โรงเรียนธนาคารออมสิน โรงเรียนดอนสง่า โรงเรียนบ้านนาผักขวง เป็นต้น
11. ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สีฟ้า)- เป็นพื้นที่บริเวณชายฝั่งอ่าวไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การประมงชายฝั่ง หรือสาธารณประโยชน์เท่านั้น
12. ที่ดินประเภทสถาบันศาสนา (สีเทาอ่อน)- มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่สถาบันศาสนาให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการศาสนาหรือเกี่ยวข้องกับการศาสนา การศึกษา สถาบันราชการ หรือสาธารณประโยชน์เท่านั้น เช่น วัดเกาะยายฉิม วัดดอนสำราญ สำนักสงฆ์ทุ่งไทรทอง เป็นต้น
13. ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ (สีน้ำเงิน)- มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่สถาบันราชการให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการของรัฐ กิจการ เกี่ยวกับการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ หรือสาธารณประโยชน์เท่านั้น เช่น โรงพยาบาล บางสะพาน ที่ว่าการอำเภอบางสะพาน ที่ทำการไปรษณีย์บางสะพาน เป็นต้น

 
                3. กำหนดประเภทหรือชนิดของโรงงานที่ให้ดำเนินการได้ในที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง) ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมทั่วไปที่ไม่เป็นมลพิษต่อชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมและคลังสินค้า (สีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีม่วง) และที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) ตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภท
                4. กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ตามแผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่งท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย ดังต่อไปนี้
                        4.1 ที่ดินในบริเวณแนวถนนสาย ก 1 ถนนสาย ก 2 ถนนสาย ก 3 ถนนสาย ก 4 ถนนสาย ข 3 ถนนสาย ข 4 ถนนสาย ข 5 ถนนสาย ข 6 ถนนสาย ข 7 ถนนสาย ข 8 ถนนสาย ข 9 ถนนสาย ข 10 ถนนสาย ข 11 ถนนสาย ข 12 ถนนสาย ข 13 ถนนสาย ข 14 ถนนสาย ข 15 และถนนสาย ข 16 ห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการอื่น นอกจากกิจการตามที่กำหนด ดังต่อไปนี้       
                                4.1.1 การสร้างถนนหรือเกี่ยวข้องกับถนน และการสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ
                                4.1.2 การสร้างรั้วหรือกำแพง
                                4.1.3 การเกษตรกรรมหรือเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมที่มีความสูงของอาคารไม่เกิน 9 เมตรหรือไม่ใช่อาคารขนาดใหญ่
                        4.2 ที่ดินในบริเวณแนวถนนสาย ข 1 ถนนสาย ข 2 ถนนสาย ค 1 ถนนสาย ค 2 ถนนสาย ค 3 ถนนสาย ค 4 และถนนสาย ค 5 ห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการอื่น นอกจากกิจการตามที่กำหนด ดังต่อไปนี้
                                4.2.1 การสร้างถนนหรือเกี่ยวข้องกับถนน และการสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ
                                4.2.2 การสร้างรั้วหรือกำแพง
                                4.2.3 การเกษตรกรรมหรือเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมที่มีความสูงของอาคารไม่เกิน 9 เมตรหรือไม่ใช่อาคารขนาดใหญ่
                                4.2.4 การอยู่อาศัยที่มีความสูงของอาคารไม่เกิน 9 เมตร หรือไม่ใช่อาคาร             ขนาดใหญ่
                                4.2.5 การอยู่อาศัยซึ่งมิใช่ห้องแถว ตึกแถว หรือบ้านแถว
                                4.2.6 การอยู่อาศัยซึ่งมิใช่เป็นส่วนหนึ่งของการจัดสรรที่ดิน

เศรษฐกิจ-สังคม

2. เรื่อง ภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่และภาพรวม ปี 2565
              คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่ (เดือนตุลาคม-ธันวาคม) และภาพรวม ปี 2565 [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 20 (5) ที่บัญญัติให้ สศช. รายงานภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                1. ความเคลื่อนไหวทางสังคมไตรมาสสี่และภาพรวม ปี 2565
                        1.1 สถานการณ์แรงงาน ในไตรมาสสี่มีการจ้างงานจำนวนทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการจ้างงานในสาขานอกภาคเกษตรกรรมที่เพิ่มขึ้น โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคารและสาขาการค้าส่งและค้าปลีกปรับตัวดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว ส่วนภาคเกษตรกรรม การจ้างงานหดตัวร้อยละ 3.4 จากปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้และการย้ายสาขาของแรงงาน ขณะที่การว่างงานปรับตัวดีขึ้นโดยมีผู้ว่างงานจำนวน 4.6 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.15 ลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนและไม่เคยทำงานมาก่อน ส่วนสถานการณ์ด้านแรงงาน ปี 2565 มีผู้มีงานทำจำนวน 39.2 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 1.0 โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม ขยายตัวร้อยละ 2.0 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นหลังจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวและการส่งออกที่ขยายตัวขึ้นจากปีก่อน ขณะที่ภาคเกษตรกรรมมีการจ้างงานหดตัวร้อยละ 1.2 จากผลกระทบของอุทกภัยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 และการเคลื่อนย้ายของแรงงานไปสู่สาขาที่ฟื้นตัวได้ดี ทั้งนี้                    มีประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ (1) การจ้างงานในอุตสาหกรรมส่งออกและโอกาสการหางานของเด็กจบใหม่                        (2) ภาระค่าครองชีพของแรงงานจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังสูง และ (3) ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการท่องเที่ยว
                        1.2  หนี้สินครัวเรือน ไตรมาสสาม1 (เดือนกรกฎาคม-กันยายน) ปี 2565 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.90 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.9 จากร้อยละ 3.5 ของไตรมาสก่อนเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) อยู่ที่ร้อยละ 86.8 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาที่อยู่ที่ร้อยละ 88.1 ส่วนคุณภาพสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังคงทรงตัว โดยหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Peforming Loan: NPL) ไตรมาสสี่ ปี 2565 มีสัดส่วนร้อยละ 2.62 ต่อสินเชื่อรวม อย่างไรก็ตาม พบว่าสินเชื่อค้างชำระน้อยกว่า 3 เดือน ในสินเชื่อรถยนต์มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 13.7 ของสินเชื่อรวม อีกทั้งลูกหนี้เสียจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ยังมีปริมาณมากแม้สถานการณ์จะคลี่คลาย โดยมีประเด็นที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญ คือ (1) การเร่งปรับโครงสร้างของลูกหนี้ที่เริ่มมีสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้และ (2) การกำหนดมาตรการเฉพาะเจาะจงเพื่อช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้เสียจากผลกระทบของโควิด-19
                        1.3 การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวัง ไตรมาสสี่ ปี 2565 การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นร้อยละ 308.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีจำนวนผู้ป่วยจากโรคเฝ้าระวังสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ โรคปอดอักเสบ โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้เลือดออก ส่วนภาพรวมปี 2565 พบผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 134.9 โดยเป็นผู้ป่วยโรคปอดอักเสบสูงสุดที่สุด ทั้งนี้ ปัญหาสุขภาพจิตยังเป็นประเด็นสำคัญ โดยปี 2564 มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มเป็น 358,267 คน จากปี 2563 ที่มีจำนวน 355,537 คน และมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ การส่งเสริมพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ และการหามาตรการป้องกันมลพิษทางอากาศที่ยั่งยืน
                        1.4 การศึกษา ในปี 25642 เด็กไทยมีการเข้าเรียนเพิ่มขึ้น โดยมีอัตราการเข้าเรียนในระบบการศึกษาประมาณร้อยละ 81.7 เพิ่มจากปี 2563 ที่อยู่ที่ร้อยละ 81.0 ขณะที่ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ปี 2564 มีคะแนนลดลงในทุกระดับชั้นและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษายังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลให้เกิดภาวะถดถอยทางการศึกษาอีกด้วย ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ (1) การแก้ไขปัญหาการหลุดออกนอกระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่องและ (2) การฟื้นฟูการเรียนรู้ที่หายไปในช่วงโควิด-19 ซึ่งข้อมูลจากกรมอนามัย พบว่า ร้อยละ 25 ของเด็กไทยยังมีพัฒนาการที่ไม่สมวัย
                        1.5 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ไตรมาสสี่ ปี 2565 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ส่วนภาพรวม ปี 2565 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น               ร้อยละ 1.9 ตามภาวะเศรษฐกิจและภาคท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัวและการกระตุ้นตลาดเพื่อดึงดูดผู้บริโภคมากขึ้นในหลายช่องทาง ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญ คือ การเร่งปราบปรามบุหรี่หนีภาษีในเครือข่ายออนไลน์
                        1.6 คดีอาญา ไตรมาสสี่ ปี 2565 มีการรับแจ้งคดีอาญารวม 112,842 คดี ลดลงร้อยละ 5.9 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2564 โดยเป็นคดียาเสพติด คดีชีวิต ร่างกาย และเพศ และคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ ส่วนภาพรวม ปี 2565 มีการรับแจ้งคดีอาญารวม 431,666 คดี ลดลงจากปี 2564 ร้อยละ 18.4 ซึ่งพบว่ามีคดีข่มขืนกระทำชำเราเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 จากปี 2564 ขณะที่คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ พบการกระทำผิดผ่านระบบคอมพิวเตอร์มากขึ้น โดยมีการรับแจ้งเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 106.8 ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ   (1) ภัยจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือภัยไซเบอร์ (2) การแพร่ระบาดของยาเสพติดชนิดใหม่ที่มีฤทธิ์แรงกว่าเดิม (3) การเล่นพนันออนไลน์ และ (4) การใช้ความรุนแรงที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
                        1.7 การรับแจ้งเหตุผู้ประสบภัยทางถนนและจำนวนผู้เสียชีวิต ไตรมาสสี่ ปี 2565             มีการรับแจ้งเหตุผู้ประสบภัยสะสมจากอุบัติเหตุรถยนต์ทั่วประเทศรวม 243,803 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2564 โดยเป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากรถจักรยานยนต์มากที่สุด ส่วนภาพรวม ปี 2565 มีการรับแจ้งผู้ประสบภัยรวม 941,084 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 จากปีก่อน โดยเป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากรถจักรยานยนต์มากที่สุด ขณะที่ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 จำนวนการเกิดอุบัติเหตุผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 9.9 4.8 และ 8.8 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ต้องให้ความสำคัญและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงออกแบบถนนที่คำนึงถึงความปลอดภัยเสริมสร้างวินัยจราจร และรณรงค์ให้ความรู้ด้านความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน
                        1.8 การรับเรื่องร้องเรียน ไตรมาสสี่ ปี 2565 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับการร้องเรียนสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.2 โดยเฉพาะด้านการขายตรงและตลาดแบบตรง ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติได้รับการร้องเรียนลดลงร้อยละ 74.0 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่มากที่สุด โดยเฉพาะในประเด็นการได้รับข้อความสั้น (SMS) ส่วนปี 2565 การร้องเรียนโดยรวมลดลงร้อยละ 9.6 จากปีก่อน โดยมีประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ (1) การหลอกลวงให้ประชาชนเปิดบัญชีม้า           (2) ปัญหาการหลอกลวงประชาชนโดยใช้แอปพลิเคชันเงินกู้เถื่อน (3) ปัญหาการให้บริการของรถโดยสารสาธารณะโดยเฉพาะรถแท็กซี่ (4) ปัญหารถรับส่งนักเรียนไม่ปลอดภัย และ (5) ปัญหาและความเสี่ยงการให้บริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์กับการคุ้มครองผู้บริโภค
                2. สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ
                        2.1 อินเทอร์เน็ต : โอกาสและข้อจำกัดในการยกระดับการศึกษาของเด็กไทยอินเทอร์เน็ตเป็นตัวกลางในการเข้าถึงองค์ความรู้เชื่อมโยงศาสตร์ต่าง ๆ มาสู่ผู้ใช้ได้อย่างไร้ขีดจำกัด ทำให้ทั่วโลกมีการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษามากขึ้น โดยพบว่าประเทศที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในโรงเรียนระดับสูงจะส่งผลให้เด็กมีคุณภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตามการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาต้องคำนึงถึงการเข้าถึงและความแรงของสัญญาณและอุปกรณ์ที่ใช้ในการเชื่อมต่อ ซึ่งประเทศไทยยังมีข้อจำกัด ดังนี้ (1) การให้บริการอินเทอร์เน็ตฟรียังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร (2) สถานศึกษาบางแห่งยังไม่มีอินเทอร์เน็ต (3) สัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษามีปัญหาด้านคุณภาพการเชื่อมต่อสัญญาณ และ (4) เด็กและเยาวชนส่วนหนึ่งยังไม่ตระหนักถึงประโยชน์ในการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาจึงควรเร่งดำเนินการ ดังนี้ (1) เร่งขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมโรงเรียนทั่วประเทศ (2) ส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะเด็กในครัวเรือนยากจน และ (3) สร้างความรู้ ความเข้าใจ และความเชี่ยวชาญพื้นฐานเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตให้กับเด็กและเยาวชน
                        2.2 เรียนรู้การกำหนดค่าจ้างจากต่างประเทศ การได้รับค่าจ้างแรงงานที่เหมาะสมส่งผลให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถช่วยแก้ปัญหาความยากจน และจูงใจให้แรงงานมีผลิตภาพเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันการกำหนดค่าจ้างของประเทศต่าง ๆ ประกอบด้วย (1) การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อคุ้มครองให้แรงงานได้รับค่าจ้างเพียงพอ (2) การกำหนดโครงสร้างค่าจ้างเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับแรงงานมากขึ้น และ (3) การกำหนดค่าจ้างโดยการตกลงกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างหรือการใช้กลไกตลาด ซึ่งจะไม่มีการแทรกแซงจากภาครัฐ โดยในส่วนของไทยมีการกำหนดค่าจ้างเป็นรูปแบบผสมผสาน ดังนี้ (1) การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งเป็นค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับแรงงานทั่วไปแรกเข้า (2) การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือเพื่อให้แรงงานกึ่งฝีมือและแรงงานฝีมือได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม และ (3) การกำหนดค่าจ้างโดยกลไกตลาด ซึ่งจะเป็นกลุ่มแรงงานที่มีทักษะระดับกลางขึ้นไป ทั้งนี้ ในระยะต่อไปไทยควรกำหนดให้ค่าจ้างเป็นกลไกสนับสนุนการพัฒนาทักษะของแรงงานและช่วยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น การสนับสนุนให้แรงงานได้รับการฝึกอบรมและทดสอบเพื่อเพิ่มระดับทักษะโดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือ
                        2.3 การพัฒนาทักษะแรงงานไทย ทันหรือไม่ต่อการเปลี่ยนแปลงผลกระทบของเทคโนโลยีทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญกับการยกระดับทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการของโลกอนาคต รวมถึงไทยที่มีนโยบายปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมแต่ยังมีประเด็นปัญหาในการยกระดับทักษะแรงงาน เช่น (1) การขาดการกำหนดชุดทักษะที่จำเป็นและสอดคล้องกับตลาดแรงงาน             (2) หลักสูตรการอบรมของภาครัฐยังขาดความทันสมัยและไม่ครอบคลุมความต้องการของตลาด และ (3) แรงงานไทยส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาต่ำและไม่ต้องการพัฒนาทักษะ ทั้งนี้ มีแนวทางการพัฒนาทักษะในระยะต่อไป เช่น            (1) จัดทำชุดทักษะที่จำเป็นที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการและทิศทางการพัฒนาของประเทศ  (2) ปรับบทบาทการฝึกอบรมของภาครัฐให้เป็นผู้สนับสนุนและกำกับดูแลภาคเอกชนในการดำเนินการฝึกอบรมให้ได้มาตรฐาน และ (3) สนับสนุนและสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ
                3. บทความเรื่อง “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา : แหล่งรายได้รัฐและเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ” ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นรายได้และเครื่องมือสำคัญที่ช่วยจัดสรรทรัพยากรของคนในสังคมให้มีความเท่าเทียมกันและนำไปสู่การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยพบว่าในช่วงปี 2556-2564 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อรายได้จากภาษีทั้งหมดที่รัฐจัดเก็บมีสัดส่วนอยู่ระหว่างร้อยละ 12.2-13.7 หรือประมาณร้อยละ 2.09 ของ GDP ซึ่งค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) ที่มีสัดส่วนเฉลี่ยร้อยละ 24.1 ทั้งนี้ ที่ผ่านมาภาษีเงินได้ของไทยยังไม่ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้ให้แก่รัฐและจัดสรรทรัพยากรเพื่อนำมากระจายใหม่ได้มากนัก โดยมีสาเหตุจาก    (1) แรงงานไทยประมาณ 3 ใน 4 อยู่นอกระบบภาษี (2) ประเภทของเงินได้ที่ไม่ต้องเสียภาษีทำให้รัฐจัดเก็บภาษีได้ไม่เต็มที่ และ (3) การหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนทำให้รัฐสูญเสียรายได้ ดังนั้น จึงควรมีการดำเนินการ ดังนี้ (1) นำคนทุกกลุ่มเข้ามาอยู่ในระบบภาษีโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ (2) ทบทวนการยกเว้นภาษีให้แก่รายได้บางประเภท (3) ทบทวนสิทธิประโยชน์การหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน และ (4) สื่อสารให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการจ่ายภาษี
____________________
1 ข้อมูลหนี้สินครัวเรือนจะเป็นตัวเลขของไตรมาสก่อนหน้าเนื่องจาก สศช. จะประกาศรายงานหนี้สินครัวเรือนช้ากว่าข้อมูลประเภทอื่น ๆ 1 ไตรมาส
2 จากการประสานข้อมูลเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 สศช. แจ้งว่า สถิติการศึกษาปี 2564 คือข้อมูลล่าสุดที่สามารถรวบรวมได้
 
3. เรื่อง การยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษตามประกาศกระทรวงคมนาคมกำหนดอัตราค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2566
              คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษตามประกาศกระทรวงคมนาคม กำหนดอัตราค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2566 ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
  
                สาระสำคัญของเรื่อง
              คค. รายงานว่า
                1. เนื่องจาก คค. มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดของทางพิเศษบูรพาวิถีและทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) เพื่ออำนวยความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2566 ดังนั้น คณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (คณะกรรมการ กทพ.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 เห็นชอบในหลักการการกำหนดอัตราค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษบูรพาวิถีและทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) ในช่วงเทศบาลสงกรานต์ พ.ศ. 2566 โดยไม่มีการจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2566 เวลา 00.01 นาฬิกา ถึงวันที่ 18 เมษายน 2566 เวลา 24.00 นาฬิกา
                2. การดำเนินการยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษดังกล่าวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2566 รวม 7 วันข้างต้น คาดว่าจะมีปริมาณจราจรที่ใช้ทางพิเศษ รายได้ที่ กทพ. ไม่ได้เรียกเก็บและผลประโยชน์ที่ได้รับ ดังนี้
                        2.1 ทางพิเศษบูรพาวิถี

ผลการวิเคราะห์เฉลี่ยต่อวันกรณี กทพ. ยกเว้นค่าผ่านทาง รวม 7 วัน
ปริมาณจราจร153,107 คัน/วัน1,071,749 คัน
รายได้ที่ไม่ได้เรียกเก็บ5,983,422 บาท/วัน41,883,954 บาท
ผลประโยชน์ที่ได้รับ
- มูลค่าจากการประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้รถ
- มูลค่าจากการประหยัดเวลาในการเดินทาง
 
2,450,138 บาท/วัน
 
4,862,349 บาท/วัน
 
17,150,966 บาท
 
34,036,443 บาท
รวมผลประโยชน์ที่ได้รับ7,312,487 บาท/วัน51,187,409 บาท

                        2.2 ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์)

ผลการวิเคราะห์เฉลี่ยต่อวันกรณี กทพ. ยกเว้นค่าผ่านทาง รวม 7 วัน
ปริมาณจราจร215,235 คัน/วัน1,506,645 คัน
รายได้ที่ไม่ได้เรียกเก็บ9,048,479 บาท/วัน63,339,353 บาท
ผลประโยชน์ที่ได้รับ
- มูลค่าจากการประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้รถ
- มูลค่าจากการประหยัดเวลาในการเดินทาง
 
4,193,543 บาท/วัน
 
6,205,680 บาท/วัน
 
29,354,801 บาท
 
43,439,760 บาท
รวมผลประโยชน์ที่ได้รับ10,399,223 บาท/วัน72,794,561 บาท

                3. ได้จัดทำร่างประกาศ คค. เรื่อง กำหนดให้ทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางพิเศษสายบางนา-ชลบุรี) ทางยกระดับด้านทิศใต้สนามบินสุวรรณภูมิเชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถีและทางเชื่อมต่อทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) กับทางพิเศษบูรพาวิถีเป็นทางต้องเสียค่าผ่านทางพิเศษประเภทของรถที่ต้องเสียหรือยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษ และอัตราค่าผ่านทางพิเศษ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2566 และร่างประกาศ คค. เรื่อง กำหนดให้ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษสายเชื่อมระหว่างถนนวงแหวนอุตสาหกรรมกับทางพิเศษกาญจนาภิเษก     (บางพลี-สุขสวัสดิ์) เป็นทางต้องเสียค่าผ่านทางพิเศษ ประเภทของรถที่ต้องเสียหรือยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษ และอัตราค่าผ่านทางพิเศษ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2566 ซึ่งคณะกรรมการ กทพ. ได้เห็นชอบแล้ว และได้เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามขั้นตอนต่อไป
 
4. เรื่อง ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล พ.ศ. 2566 (ครบ 3 ปี 6 เดือน)
                คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล พ.ศ. 2566 (ครบ 3 ปี 6เดือน) [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (17 มิถุนายน 2545) ที่ให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) จัดเก็บข้อมูลและสถิติตัวเลข รวมทั้งสำรวจและสอบถามประชาชนเกี่ยวกับนโยบายหลัก ๆ ของรัฐบาล แล้วรายงานคณะรัฐมนตรีทราบ] โดย สสช. ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ทุกจังหวัดทั่วประเทศจำนวน 6,970 คน ระหว่างวันที่ 25 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ 2566 สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                1. สรุปผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน

ประเด็นสรุปผลสำรวจ
(1) การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลหรือผลงานของรัฐบาลประชาชนร้อยละ 87.6 มีการติดตาม/รับรู้ข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล (โดยร้อยละ 75.2 ติดตามผ่านทางโทรทัศน์มากที่สุด รองลงมาคือติดตามผ่านสื่อสังคมออนไลน์ร้อยละ 60.6) ขณะที่ร้อยละ 12.4 ไม่ติดตาม/ไม่รับรู้ โดยระบุว่าไม่สนใจและไม่มีเวลาว่าง ทั้งนี้ ประชาชนในกลุ่มอายุ 18-39 ปี ติดตาม/รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุด ขณะที่กลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป ติดตาม/รับรู้จากโทรทัศน์มากที่สุดเช่นเดียวกับผู้ที่มีการศึกษาสูงติดตาม/รับรู้ข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์มากกว่าผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่า
(2) ความพึงพอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาลประชาชนร้อยละ 41.1 มีความพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุด ร้อยละ 41.3 มีความพึงพอใจพอใจในระดับปานกลาง และร้อยละ 15.6 มีความพึงพอใจในระดับน้อย-น้อยที่สุด ส่วนร้อยละ 2.0 ไม่พึงพอใจเลย ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายภาคพบว่า ประชาชนในภาคใต้และชายแดนภาคใต้มีความพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 60.7 และ 69.4 ตามลำดับ) ขณะที่ประชาชนในกรุงเทพมหานครมีความพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่ต่ำกว่าภาคอื่น ผู้ที่มีอายุมากมีความพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีอายุน้อยกว่า และกลุ่มอาชีพเกษตรกรมีความพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่น
(3) ความพึงพอใจต่อโครงการ/มาตรการของรัฐบาลประชาชนมีความพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) โครงการคนละครึ่ง (ร้อยละ 63.1) 2) โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ร้อยละ 62.3) 3) มาตรการลดค่าน้ำค่าไฟ (ร้อยละ 40.7) 4) มาตรการลดค่าครองชีพ (ร้อยละ 37.8) และ           5) มาตรการช่วยเหลือด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (ร้อยละ 28.5)
(4) ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศประชาชนร้อยละ 32.9 มีความเชื่อมั่นในระดับมาก-มากที่สุด ร้อยละ 42.1 มีความเชื่อมั่นในระดับปานกลาง ขณะที่ร้อยละ 20.9 มีความเชื่อมั่นในระดับน้อย-น้อยที่สุด และร้อยละ 4.1 ไม่เชื่อมั่นเลย ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายภาคพบว่าประชาชนในภาคใต้และชายแดนภาคใต้มีความเชื่อมั่นในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 52-56) ขณะที่ประชาชนในกรุงเทพมหานครมีความเชื่อมั่นในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่ต่ำกว่าภาคอื่น
(5) เรื่องที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค (ร้อยละ 87.3) 2) ลดค่าไฟฟ้า/ค่าน้ำประปา (ร้อยละ 57.1) 3) ลดราคาน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ (ร้อยละ 49.9) 4) แก้ปัญหาด้านการเกษตร เช่น ราคาพืชผลตกต่ำ จัดหาตลาดรองรับผลผลิตและราคาปุ๋ยแพง (ร้อยละ 36.5) และ 5) เพิ่มมาตรการ/สวัสดิการ/เงินช่วยเหลือเยียวยา เช่น โครงการคนละครึ่ง เพิ่มเงินผู้มีรายได้น้อย และเพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา/ผู้พิการ (ร้อยละ 34.7)
(6) เรื่องที่ประชาชน   ประสบปัญหาจากการ                ถูกหลอกลวงจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในปี 2565 มีประชาชนร้อยละ 20.3 ประสบปัญหาการถูกหลอกลวงจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยพบว่า เรื่องที่ประสบปัญหา 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลหรือความเป็นส่วนตัว 2) สูญเสียเงินจากข้อความ/อีเมลหลอกลวง/การเข้าถึงเว็บไซต์ปลอม และ 3) สูญเสียเงินจากการถูกโจรกรรมข้อมูลบัตรเครดิต/เดบิต และแอปพลิเคชันทางการเงิน
(7) เรื่องที่ต้องการ     ให้รัฐบาลดำเนินการสนับสนุนให้ประชาชนปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัล5 อันดับแรก ได้แก่ 1) จัดหา WIFI ฟรี ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ (ร้อยละ 69.3) 2) จัดหาอินเทอร์เน็ตให้ประชาชนในราคาถูก (ร้อยละ 67.0) 3) สร้างความเชื่อมั่นหรือไว้วางใจเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีไปใช้ในการทำธุรกรรมต่าง ๆ (ร้อยละ 39.2) 4) เพิ่มความรู้และทักษะทางดิจิทัลให้กับประชาชน (ร้อยละ 39.1) และ 5) จัดหาอุปกรณ์ให้ประชาชนในราคาถูก เช่น คอมพิวเตอร์ และโน้ตบุ๊ค ในราคาย่อมเยา (ร้อยละ 35.9)

              2. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
                  2.1 ควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลผ่านช่องทางที่หลากหลาย เพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึง เหมาะสมและตรงตามกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของประชาชนทุกกลุ่ม
                    2.2 ควรสร้างความรู้ ความเข้าใจ ส่งเสริม และสนับสนุนให้ประชาชนรู้เท่าทันและสามารถป้องกันการถูกหลอกลวงจากสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ช่องทางการร้องเรียน/ร้องทุกข์ เมื่อประชาชนประสบปัญหาเรื่องการถูกหลอกลวง/ล่อลวง/ฉ้อโกงบนสื่อสังคมออนไลน์ เช่น สายด่วน 1212 และสายด่วน 1441 ตำรวจไซเบอร์
                    2.3 ควรจัดหาอินเทอร์เน็ตฟรีให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ในการสร้างงาน สร้างอาชีพ เช่น การขายของออนไลน์ และยูทูบเบอร์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นโดยเพิ่มความรู้และทักษะให้ประชาชนสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้
                    2.4 ควรให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาตามความต้องการของประชาชนในแต่ละกลุ่มและพื้นที่ ผ่านนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เช่น การขยายระยะเวลามาตรการลดค่าน้ำ-ค่าไฟ ขยายระยะเวลาโครงการคนละครึ่ง และจัดหาตลาดรองรับพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพให้กับประชาชน เช่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศและจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ
 
5. เรื่อง สรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 22 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 - 31 มกราคม 2566)
              คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (กตน.) เสนอสรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี    ครั้งที่ 22 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 - 31 มกราคม 2566) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
 
                1. นโยบายหลัก 7 ด้าน ประกอบด้วย

นโยบายหลักมาตรการ/ผลการดำเนินงานที่สำคัญ
1) การปกป้องและ    เชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์1.1) ดำเนินโครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน กิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ ณ จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้วยการสืบสานพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
1.2) น้อมนำพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า                    สิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผ่านกิจกรรม “การแสดงแบบผ้าไทยใส่สนุก” ใน      20 จังหวัดภาคอีสาน ส่งเสริมการเรียนรู้และส่งเสริมอาชีพ “วิชชาลัยผ้าทอหนอง              ลำภู” และกิจกรรมถ่ายทอดอัตลักษณ์ความหลากหลายผ้าพื้นถิ่นเมืองใต้ในพื้นที่             14 จังหวัดภาคใต้
2) การสร้างความมั่นคง ความปลอดภัยของประเทศ และความสงบสุขของประเทศ2.1) วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน โดยจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เช่น ฝึกอบรมเยาวชนขับขี่ปลอดภัยเสริมสร้างวินัยจราจรและการป้องกันอุบัติภัยในโรงเรียนและประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนนผ่านช่องทางต่าง ๆ
2.2) บูรณาการมาตรการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเชิงรุก โดยกระทรวงมหาดไทยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการจับกุมผู้ต้องหาพร้อมยาบ้า เช่น จังหวัดขอนแก่น จับกุมผู้ต้องหาพร้อมยาบ้า 998,000 เม็ด และจังหวัดนนทบุรี จับกุมผู้ต้องหาพร้อมยาบ้า 200,000 เม็ด
3) การทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม3.1) จัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ “วิถีถิ่น วิถีไทย” “อารยธรรมแห่งสายน้ำ วัฒนธรรมจีนไทยสานสายใยชาติพันธุ์” ณ จังหวัดนครสวรรค์ โดยเป็นการดำเนินการตามเป้าหมายส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจฐานรากในระดับชุมชนและท้องถิ่น สนับสนุนนโยบายโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว [Bio-Circular-Green (BCG) Economy] ของรัฐบาล และผลักดัน “Soft Power” ทั้งนี้ มีผู้รับชมและเข้าร่วมการจัดงาน             ณ สถานที่จัดงาน และผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ จำนวนไม่น้อยกว่า 298,858 คน และมีรายได้หมุนเวียนช่วงการจัดงานไม่น้อยกว่า 1.94 ล้านบาท
3.2) จัดงานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 8 เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวิดีทัศน์ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านภาพยนตร์ของอาเซียน กระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน และขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของภูมิภาคก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไปในเวทีโลก
3.3) จัดโครงการเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ “ครอบครัวหิ้วตะกร้า ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและลดปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกลดโลกร้อน เสริมสร้างความอบอุ่นและเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว และนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต
4) การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย4.1) พัฒนาภาคอุตสาหกรรม เช่น (1) ดำเนินโครงการจิตอาสารักษ์แม่น้ำ โดยกำกับดูแลโรงงานบริเวณลุ่มน้ำ สร้างนวัตกรรมร่วมกับผู้ประกอบการจิตอาสา เช่น ระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนแบบติดกับที่ (Onsite) และ (2) พัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจ BCG เช่น ดำเนินโครงการส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน เพื่อเป้าหมายการฟื้นฟูและยกระดับเศรษฐกิจและสังคม (CSR-DIW to covid-19 Relief) และพัฒนาฐานระบบเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 39 จังหวัด 53 พื้นที่
4.2) พัฒนาภาคเกษตร โดยขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมให้บรรลุตามเป้าหมาย : การลด การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2613 ซึ่งได้จัดงาน “ไถกลบแทนเผา บรรเทามลพิษ พิชิตหมอกควัน” ประจำปี 2566 ณ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรตระหนักรู้ถึงการทำเกษตรกรรมที่ไม่เผาฟางและตอซังพืช ลดปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละออง และลดผลกระทบต่อการเกิดภาวะโลกร้อน
4.3) พัฒนาภาคการท่องเที่ยว โดยเตรียมความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวภายใต้กิจกรรมสร้างเครือข่ายและเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรด้านการท่องเที่ยวภายใต้แนวคิด “การเป็นเจ้าบ้านที่ดี” ซึ่งมีแนวทางการทำงาน เช่น ยกระดับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว จัดทำมาตรฐานภาคบังคับกิจกรรมท่องเที่ยวแคมปิง และยกระดับอาสาสมัครท่องเที่ยวและกีฬา
4.4) พัฒนาการค้าการลงทุนเพื่อมุ่งสู่การเป็นชาติการค้าการบริการและการลงทุนในภูมิภาค โดยเปิดตัวแพลตฟอร์ม “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ผ่านแอปพลิเคชัน “MOC Agri Mart” ทำให้เกษตรกรมีช่องทางการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรได้โดยตรง และเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า
4.5) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและการพัฒนาและนวัตกรรม โดยสร้างสรรค์เมนูอาหาร “ขนมชั้นแห่งอนาคต รางวัลชนะเลิศ Future for Sustainability” เป็นสูตรลดน้ำตาล เป็นหนึ่งในอาหารในงานเลี้ยงรับรองของการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022
5) การปฏิรูปกระบวน
การเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย
จัดทำโครงการ “หนึ่งโรงเรียนหนึ่งครูอนามัย สร้างเด็กไทยรอบรู้สุขภาพ” เป็นโครงการที่ให้ความสำคัญกับพัฒนาการของเด็กไทยอย่างรอบด้าน โดยมีเป้าหมาย “4H” ได้แก่ Head ด้านปัญญา Heart ด้านทัศนคติ Hands ด้านเรียนรู้และปฏิบัติจริง และ Health ด้านสุขภาพ
6) การพัฒนาระบบสาธารณสุขและหลักประกันทางสังคมยกระดับโรงพยาบาลปลวกแดง 2 จังหวัดระยอง ในรูปแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) มูลค่าลงทุน 2,647 ล้านบาท เพื่อรองรับประชาชนและผู้ประกันตน 200,000 คน ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ให้เข้าถึงบริการที่มีมาตรฐาน รวดเร็ว และปลอดภัย ซึ่งเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566
7) การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” โดยจัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ภายใต้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ เน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ภาพถ่ายดาวเทียมและระบบแอปพลิเคชัน               ต่าง ๆ

       
                2. นโยบายเร่งด่วน 8 เรื่อง ประกอบด้วย

นโยบายเร่งด่วนมาตรการ/ผลการดำเนินงานที่สำคัญ
1) การแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน1.1) ขยายเวลาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชนและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ลิตรละ 5 บาท ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม - 20 พฤษภาคม 2566
1.2) จัดทำโครงการช่วยเหลือด้านหนี้สินสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร โดยลดภาระดอกเบี้ยสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่มีหนี้เงินกู้เพื่อการเกษตร 680 แห่ง จำนวน 182,869 ราย
2) การปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 - 31 มกราคม 2566 ได้โอนเงินให้แก่ผู้มีสิทธิในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 118,983.99 ล้านบาท และจ่ายเงินสวัสดิการสังคมและเงินอื่นผ่านระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-Social Welfare) จำนวน 47,109.27 ล้านบาท
3) มาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกจัดทำโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 วงเงิน 2,016 ล้านบาท และโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย วงเงิน 1,930 ล้านบาท เพื่อช่วยผลักดันและสนับสนุนการสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามเป้าหมาย
4) การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม4.1) ดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการขั้นพื้นฐาน 1.91 ล้านราย เบี้ยประกันรวม 2,889.85 ล้านบาท และจ่ายสินไหมทดแทนแล้ว 1,593.02 ล้านบาท
4.2) ดำเนินโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการขั้นพื้นฐาน 75,707 ราย เบี้ยประกันภัยรวม 229.04 ล้านบาท และจ่ายสินไหมทดแทนแล้ว 24.16 ล้านบาท
5) การยกระดับศักยภาพของแรงงานดำเนินโครงการมหกรรมรวมพลัง สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ภายใต้นโยบาย “สืบสาน รักษา ต่อยอด ฟื้นฟู พลิกโฉมตลาดแรงงานไทย” เช่น กิจกรรมนัดพบแรงงาน และกิจกรรมจัดคลินิกส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน
6) การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคตในเดือนมกราคม 2566 ได้ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC โดยจัดให้มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในเขตพื้นที่ EEC จำนวน 38 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 57,854 ล้านบาท
7) การแก้ไขปัญหายาเสพติดและสร้างความสงบสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้7.1) ตั้งแต่วันที่ 1-31 มกราคม 2566 ได้จับกุมคดียาเสพติด 7,324 คดี ผู้ต้องหา 1,802 คน ยึดยาบ้า 9.75 ล้านเม็ด ไอซ์ 255.47 กิโลกรัม เฮโรอีน 1.54 กิโลกรัม      เคตามีน 6.81 กิโลกรัม ยาอี 8,480 เม็ด และฝิ่น 12.44 กรัม
7.2) เดือนตุลาคม 2565 - มกราคม 2566 ได้รับเรื่องร้องเรียนผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียนยาเสพติด 1386 จำนวน 4,787 เรื่อง และผ่านสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 1111 จำนวน 7 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 2,142 เรื่อง
8) การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชนอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) แก่บุคลากรทักษะสูง/ผู้เชี่ยวชาญ (Talents) นักลงทุน (Investors) ผู้บริหาร (Executives) และผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานหรือลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ผ่านวีซ่าประเภทพิเศษ (SMART Visa) ซึ่งในเดือนมกราคม 2566 มีผู้ขอรับรองคุณสมบัติ 44 คำขอ และมีผู้ผ่านการรับรองคุณสมบัติทั้งสิ้น 39 คำขอ

6. เรื่อง นโยบายและแนวทางในการพัฒนาการสหกรณ์ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570)
                คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอนโยบายและแนวทางในการพัฒนาการสหกรณ์ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) ตามมติคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.) ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565* [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 (1) บัญญัติให้ คพช. มีอำนาจหน้าที่เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีในเรื่องนโยบายและแนวทางในการพัฒนาการสหกรณ์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                1. สถานการณ์ทั่วไปของสหกรณ์ของประเทศไทย
                  สหกรณ์ในไทยมีจำนวน 7,520 แห่ง และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องซึ่งในภาพรวมของการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ พบว่า มีปริมาณธุรกิจด้านการให้เงินกู้มากที่สุด รองลงมาเป็นการรับฝากเงิน และการรวบรวมผลผลิต ส่วนชุมนุมสหกรณ์มีจำนวน 135 แห่ง และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยมีสัดส่วนปริมาณธุรกิจในการให้บริการรับฝากสูงที่สุด รองลงมาเป็นการให้สินเชื่อ ส่วนการดำเนินงานในด้านอื่น ๆ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 1 ของปริมาณธุรกิจของชุมนุมสหกรณ์ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการเติบโตของปริมาณธุรกิจของชุมนุมสหกรณ์ พบว่า ปริมาณธุรกิจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปีแต่ชุมนุมสหกรณ์ที่มีกำไรมีสัดส่วนลดลง
                    จากสถานการณ์ทั่วไปของสหกรณ์และสภาพเศรษฐกิจในประเทศหลังการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พบว่า มีความท้าทายที่สหกรณ์ต้องเผชิญ ได้แก่ (1) สภาวะเศรษฐกิจหดตัว (2) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร (3) การฟื้นตัวจากภาวะวิกฤตโรคระบาด และ (4) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการส่งเสริมและพัฒนาในมิติต่าง ๆ ได้แก่ (1) การนำองค์กรสมัยใหม่ (ผู้นำแบบสมัยใหม่) (2) การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ (3) การพัฒนาองค์กรสู่รูปแบบการบริหารองค์กรที่มีความคล่องตัว (4) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า และ (5) การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนของการสหกรณ์
                2. นโยบายและแนวทางในการพัฒนาการสหกรณ์ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) มีเป้าหมายเพื่อให้สหกรณ์เข้มแข็งและเป็นองค์กรสมรรถนะสูงด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ประกอบด้วย 6 นโยบายย่อย สรุปได้ ดังนี้

นโยบายแนวทางการพัฒนา
(1) พัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการในสหกรณ์สู่การเป็นองค์กรสมรรถนะสูงด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม1) พัฒนารูปแบบการบริหารสหกรณ์ในด้านการบริหารจัดการองค์ความรู้ในองค์กรและปรับโครงสร้างให้มีความคล่องตัวและยืดหยุ่น
2) กำหนดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของกรรมการสหกรณ์ ผู้ตรวจสอบกิจการและพัฒนาศักยภาพกรรมการสหกรณ์ในด้านการบริหารจัดการและผู้ตรวจสอบกิจการให้เป็นไปตามลักษณะที่พึงประสงค์
3) พัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านเทคโนโลยีและมีความเป็นมืออาชีพในการดำเนินธุรกิจ
4) สร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ในสหกรณ์ โดยสร้างกระบวนการจัดการเรียนรู้หรือแหล่งเรียนรู้ และใช้องค์ความรู้จากบุคลากร
5) สนับสนุนให้สหกรณ์พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการดำเนินธุรกิจและการให้บริการสมาชิก
(2) ส่งเสริมการขับเคลื่อนองค์กรและดำเนินธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและข้อมูลสารสนเทศ1) วางระบบการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานของสหกรณ์ รวมทั้งจัดหาและสนับสนุนระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านงานเทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเภทสหกรณ์
2) พัฒนาและปรับเปลี่ยนกรอบความคิดและทัศนคติเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่บุคลากรสหกรณ์
3) พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการและสนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์และเครือข่ายการสหกรณ์
4) พัฒนาหลักสูตรการวิเคราะห์ข้อมูลและการใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจสำหรับบุคลากรสหกรณ์
(3) ยกระดับศักยภาพและสมรรถนะการดำเนินธุรกิจตามลักษณะธุรกิจและประเภทของสหกรณ์1) ยกระดับขบวนการสหกรณ์ให้เป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูง
2) สร้างมูลค่าและเพิ่มมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์และบริการของสหกรณ์ รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการด้วยการปรับปรุงกระบวนการสำคัญและการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ดังนี้
    2.1) ธุรกิจด้านการเกษตร สนับสนุนทรัพยากรและองค์ความรู้เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่า และความหลากหลายของสินค้าเกษตร รวมถึงการปรับตัวเพื่อเป็นผู้ให้บริการด้านการเกษตรสมัยใหม่เพื่อให้สหกรณ์มีบทบาทในการช่วยเหลือเกษตรกรในการทำการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยใช้การตลาดนำการผลิต
    2.2) ธุรกิจด้านการเงิน พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงิน โดยสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันการเงิน สหกรณ์ประเภทออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน รวมถึงพัฒนานวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการและบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป และวางรูปแบบและสนับสนุนให้มีระบบเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ต่างประเภท
    2.3) ธุรกิจด้านการบริการ พัฒนาแพลตฟอร์มและช่องทางการบริการสำหรับการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสมกับการให้บริการสมาชิกภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงไป
3) พัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้และทักษะความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพของสมาชิกทั้งภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตร โดยพัฒนากระบวนการผลิต การให้บริการ และการทำธุรกิจให้เหมาะสมกับบริบทและสภาพแวดล้อมความท้าทายที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก รวมถึงการจัดสวัสดิการแก่สมาชิกที่เหมาะสมกับช่วงวัยและอาชีพ
4) ส่งเสริมการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับสังคมสูงวัยในชุมชนที่สอดคล้องกับธุรกิจและบริบทของสหกรณ์เพื่อให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้
5) พัฒนาความรู้เรื่องการดำเนินธุรกิจ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่บุคลากรสหกรณ์และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ
6) ฝึกทักษะการวางแผนธุรกิจโดยคำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงของบุคลากรสหกรณ์
(4) สร้างการเชื่อมโยงและร่วมมือกันทางธุรกิจและสังคม เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน1) สร้างกลไกการเป็นห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเภทสหกรณ์ โดยออกแบบโครงสร้างขบวนการสหกรณ์ให้มีความเชื่อมโยงทั้งทางด้านธุรกิจและการร่วมมือในการพัฒนาสหกรณ์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม
2) สร้างระบบนิเวศทางธุรกิจโดยการรวมตัวของธุรกิจ บุคลากร องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมให้ทุกฝ่ายสามารถพัฒนาไปข้างหน้าได้รวมทั้งการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การยกระดับความสัมพันธ์และการสร้างความร่วมมือและการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกับทุกภาคส่วน
3) พัฒนาให้ชุมนุมสหกรณ์ในแต่ละระดับวางแผนการเชื่อมโยงธุรกิจของสหกรณ์เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันทางธุรกิจและสังคม
4) ควบรวมสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่ดีและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการสมาชิก
(5) สร้างธรรมาภิบาลในขบวนการสหกรณ์1) กำหนดจรรยาบรรณของบุคลากรสหกรณ์ในข้อบังคับของสหกรณ์และแต่งตั้งคณะกรรมการด้านจรรยาบรรณที่มีความเป็นอิสระ
2) กำหนดคุณสมบัติและองค์ประกอบของคณะกรรมการที่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการบริหาร รวมถึงกำหนดวิธีการสรรหาก่อนการเลือกตั้งคณะกรรมการให้มีความเป็นธรรมและมีส่วนร่วมจากสมาชิกสหกรณ์
3) สนับสนุนการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นเรื่องการบริหารจัดการที่ดีและธรรมาภิบาลในสหกรณ์
4) สร้างกลไกในการเฝ้าระวัง กำกับ ติดตาม และการบริหารจัดการของสหกรณ์ รวมทั้งมีระบบควบคุมภายในเพื่อป้องกันการทุจริตในสหกรณ์
5) สร้างนวัตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเชิงรุกในสหกรณ์โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
6) ทบทวนและปรับปรุงข้อกฎหมายให้เอื้อต่อการแก้ปัญหาให้ทันท่วงที
(6) ปรับโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ขบวนการสหกรณ์และภาครัฐ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง1) ศึกษา วิจัย และพัฒนาเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน รวมถึงการวิเคราะห์สถานการณ์ในอนาคตของสหกรณ์แต่ละประเภทในด้านการบริหารจัดการ การดำเนินธุรกิจ และการลงทุนเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงข้อเสนอและการทบทวนโครงสร้างการสหกรณ์ในไทยที่เหมาะสม
2) สร้างความเข้มแข็งของชุมนุมสหกรณ์ทุกระดับและสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย โดยการปรับปรุงและทบทวนโครงสร้างและบทบาทหน้าที่
3) เสริมสร้างศักยภาพในการกำกับดูแลสหกรณ์ โดยการปรับปรุงโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐให้มีโครงสร้างที่เหมาะสมและทำหน้าที่ในการส่งเสริมและกำกับดูแลสหกรณ์ให้มีประสิทธิภาพ
4) ปรับปรุงแนวทางการส่งเสริม พัฒนา และกำกับสหกรณ์ รวมทั้งกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของสหกรณ์แต่ละประเภท

                คพช. ได้นำนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติโดยจัดทำเป็นแผนพัฒนาสหกรณ์ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 - 2570) และได้กำหนดแนวทางขับเคลื่อนแผนฯ โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนพัฒนาการสหกรณ์ฯ และคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลแผนพัฒนาการสหกรณ์ฯ เพื่อขับเคลื่อนแผนและติดตามความก้าวหน้าจากทุกภาคส่วนต่อไป
_____________________
* เป็นข้อมูลที่ได้รับจากการประสานเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566
 

ต่างประเทศ

7. เรื่อง สรุปผลการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสมัยที่ 7 (CED 7) ระดับรัฐมนตรี
                คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ สรุปผลการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสมัยที่ 7 (The Seventh Session of the Committee on Environment and Development: CED 7)1 ระดับรัฐมนตรี ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติกรุงเทพมหานคร และผ่านระบบการประชุมทางไกล ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน-1 ธันวาคม 2565  โดยมีรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ)  เป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมฯ [คณะรัฐมนตรีมีมติ (22 พฤศจิกายน 2565) เห็นชอบต่อกรอบท่าทีไทยสำหรับการประชุมฯ และหลักการต่อร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการปกป้องโลกของเราผ่านความร่วมมือระดับภูมิภาคและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกและแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยมลพิษทางอากาศ ภาคผนวกของปฏิญญาระดับรัฐมนตรีฯ และอนุมัติให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทย หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้การรับรองปฏิญญาระดับรัฐมนตรีฯ และภาคผนวกของปฏิญญาระดับรัฐมนตรีฯ] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                1. การประชุม CED 7 ระดับรัฐมนตรี ภายใต้หัวข้อหลัก “Protecting our planet through regional cooperation and solidarity in Asia and the Pacific” สรุปได้ ดังนี้
                        1.1 การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ที่ประชุมได้เน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาวิกฤติสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลพิษ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ ผ่านการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงปัญหามลพิษข้ามแดนที่สำคัญโดยเฉพาะมลพิษทางอากาศที่จำเป็นต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยอาศัยการกำหนดนโยบายและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ได้เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกร่วมกันทบทวนการดำเนินงานตามปฏิญญาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่รับรองเมื่อปี พ.ศ. 2560 พร้อมทั้งหารือการดำเนินงานเพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคร่วมกัน
                        1.2 การประชุมระดับรัฐมนตรี
                                1.2.1 ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อแก้ไขความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงเพื่อมุ่งสู่คาร์บอนต่ำ และการดำเนินงานเพื่อบรรลุการประกาศเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ รวมถึงปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจากการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศที่มากเกินไป           การทำลายถิ่นที่อยู่ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และชนิดพันธุ์รุกราน2 ทำให้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ และปัญหาทางมลพิษ เช่น มลพิษจากขยะมูลฝอยและพลาสติกที่ส่งผลกระทบขยายไปถึงระบบนิเวศทางทะเล ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคในด้านนโยบายและแนวปฏิบัติสำหรับการแก้ปัญหาที่อิงจากธรรมชาติ (Nature based Solutions) เพื่อช่วยให้ประเทศต่าง ๆ เพิ่มความพยายามในการดำเนินการด้านสภาพอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องเสริมสร้างความสอดคล้องของนโยบาย การทำงานร่วมกัน และกรอบกฎหมายเพื่อการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ
                                1.2.2 การเสวนาโต๊ะกลม (Roundtable) 2 หัวข้อ ได้แก่
                                        (1) “Strengthening regional collaboration to protect our            planet” เป็นการนำเสนอนโยบายหรือข้อริเริ่ม รวมถึงประเด็นสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยประเทศไทยนำเสนอการดำเนินงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้ผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมผ่านการขับเคลื่อนด้วยโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย ตลอดจนการดำเนินการที่เกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญต่าง ๆ ที่ไทยมีส่วนร่วมในภูมิภาค ได้แก่ การประกาศเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2025 ผ่านการพัฒนากลไกคาร์บอนเครดิต รวมทั้งการร่วมมือกับภูมิภาคในการแก้ไขมลพิษทางอากาศที่สำคัญ เช่น การประยุกต์ใช้ดาวเทียมเพื่อติดตามและคาดการณ์ PM2.5 ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และการมีบทบาทนำในการแก้ไขปัญหามลพิษจากพลาสติกซึ่งเป็นปัญหาข้ามพรมแดน สำหรับการดำเนินงานภายในประเทศได้ยกระดับความพยายามในการจัดการกับพลาสติก โดยได้จัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก3 ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน การเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และการห้ามนำเข้าเศษพลาสติก ภายในปี พ.ศ. 2568 นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำว่าไทยพร้อมร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อการส่งเสริมการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกต่อไป
                                        (2) “The Future of our Ocean” เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีในประเด็นด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปกป้องมหาสมุทร โดยที่ประชุมได้เน้นย้ำให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายร้อยละ 30 ของพื้นที่คุ้มครองทางทะเล4ภายในปี ค.ศ. 2030 พร้อมการดำเนินงานท่าเรือที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยการพัฒนากรอบการกำกับดูแลด้วยการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกการกำหนดราคาคาร์บอนและส่งเสริมความหลากหลายทางเพศในภาคการเดินเรือ การสนับสนุนระบบ Ocean accounting ซึ่งเป็นเครื่องมือเพื่อการวางแผนการพัฒนามหาสมุทรอย่างยั่งยืน การจัดหาเงินทุนเพื่อการปกป้องระบบนิเวศที่ใกลัสูญพันธุ์ และ               การจัดทำมาตรฐานการสนับสนุนจากภาคเอกชนเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy)5
                2. การร่วมกันรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 ได้แก่                    (1) ปฏิญญาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการปกป้องโลกของเราฯ เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของการเสริมสร้างการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การฟื้นฟูระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ การลดมลพิษทางอากาศ การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน การยกระดับเข้าถึงข้อมูลและกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของสาธารณชน รวมถึงการเสริมสร้างความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และเน้นย้ำบทบาทของ ESCAP ในการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ประเทศสมาชิกเสริมสร้างขีดความสามารถการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ เพื่อต่อสู้กับปัญหาและความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม และ (2) แผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคฯ (เป็นภาคผนวกของปฏิญญาระดับรัฐนตรีฯ) เพื่อตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์  รวมทั้งร่วมกันหาแนวทางในการตอบสนองต่อความท้าทายด้านมลพิษทางอากาศระดับภูมิภาค ทั้งนี้ เอกสารทั้ง 2 ฉบับ มีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐนตรีให้ความเห็นชอบไว้แล้ว เช่น การเพิ่มประเด็นการแบ่งปันข้อมูลแบบเปิดที่เกี่ยวกับการจัดการคุณภาพอากาศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0  การปรับถ้อยคำในเรื่องของกลไกทางการเงินโดยเป็นการเน้นย้ำการดำเนินงานผ่านกลไกความร่วมมือและแพลตฟอร์มต่าง ๆ รวมทั้งการเพิ่มบทบาทของ ESCAP ให้ชัดเจนเพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ประเทศสมาชิกในการเสริมสร้างขีดความสามารถ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ เพื่อต่อสู้กับปัญหาและความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งการปรับเปลี่ยนดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกรวมถึงไทยในการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเด็นท้าทาย     ต่าง ๆ ให้เป็นไปตามบริบทและขีดความสามารถของแต่ละประเทศสมาชิกบนพื้นฐานของความสมัครใจ
                       
1คณะกรรมการว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (Committee on Environment and Development: CED) เป็นหนึ่งในคณะกรรมการย่อยของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: ESCAP) แห่งสหประชาชาติ ปัจจุบันมีสมาชิก 53 ประเทศ
2ชนิดพันธุ์รุกราน หมายถึง สิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้มีต้นกำเนิดในพื้นที่หรือสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ แต่แพร่กระจายมาจากที่อื่น คุกคามระบบนิเวศแหล่งที่อยู่อาศัย หรือชนิดพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและส่งผลเสียต่อระบบนิเวศดั้งเดิมได้
3คณะรัฐมนตรีมีมติ (17 เมษายน 2562) รับทราบ (ร่าง) Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 ตามที่ ทส. เสนอ
4พื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Marine Protected Area) คือ พื้นที่บริเวณน้ำขึ้นน้ำลง หรือบริเวณพื้นที่ท้องทะเลรวมทั้งมวลน้ำสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ ลักษณะสำคัญทางประวัติศาสตร์และสังคม ซึ่งต้องสงวนไว้ด้วยระเบียบกฎหมายหรือด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพอื่นใด เพื่อคุ้มครองส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของสภาพบริเวณนั้น ทั้งนี้ พื้นที่คุ้มครองทางทะเลในแต่ละประเทศอาจมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับกฎหมายหรือข้อบังคับของแต่ละประเทศที่กำหนด เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศนั้น โดยพื้นที่คุ้มครองทางทะเลในไทยมี 12 รูปแบ เช่น อุทยานแห่งชาติทางทะเลพื้ นที่ป่าชายเลน และพื้นที่แนวปะการัง
5เศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) คือ แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับท้องถิ่นและชุมชน เพื่อให้มีการดำรงชีพและดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งและทะเล
 
8.  เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและสำนักงานส่งเสริมการค้าและและการลงทุนแห่งสาธารณรัฐเกาหลีฉบับใหม่
              คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และสำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุน             แห่งสาธารณรัฐเกาหลี (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับใหม่) ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่างบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับใหม่ที่มิใช่สาระสำคัญหรือขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ สกพอ. สามารถพิจารณาดำเนินการภายใต้หลักการดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งอนุมัติให้เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับใหม่ของฝ่ายไทยตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอ
              สาระสำคัญของเรื่อง
                1. คณะรัฐมนตรีมีมติ (19 พฤศจิกายน 2562) เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่าง สกพอ. และสำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับเดิม) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกรอบความร่วมมือของ สกพอ. และสำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนแห่งสาธารณรัฐเกาหลีในการส่งเสริมความสัมพันธ์ในด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมระหว่างไทยและสาธารณรัฐเกาหลี
                2. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับเดิมได้ครบระยะเวลาการมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 อย่างไรก็ดี สำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนแห่งสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทยได้หารือกับ               สกพอ. และได้เสนอขอขยายระยะเวลาของบันทึกความเข้าใจดังกล่าวออกไปอีก 3 ปี ผ่านการจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับใหม่ ซึ่งมีสาระสำคัญและเงื่อนไขต่าง ๆ เช่นเดียวกับบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับเดิม ทั้งนี้ ในระหว่าง                ปี 2562 - 2565 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่บันทึกความเข้าใจฯ ฉบับเดิมมีผลบังคับใช้ สกพอ. และสำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนแห่งสาธารณรัฐเกาหลีได้มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดและดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับเดิม โดยเฉพาะความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ และปิโตรเคมี  เป็นต้น
                3. กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) (กรมเอเชียตะวันออก) พิจารณาแล้วไม่ขัดข้องต่อการขยายระยะเวลาของบันทึกความเข้าใจฯ เนื่องจากจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและสาธารณรัฐเกาหลีให้ก้าวหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรมและไม่ขัดข้องต่อสารัตถะและถ้อยคำโดยรวมของร่างบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับใหม่ ทั้งนี้ เห็นควรให้เพิ่มเติมถ้อยคำที่เกี่ยวข้องกับการแทนที่บันทึกความเข้าใจฯ ฉบับเดิมเพื่อความชัดเจนสอดคล้องกับข้อเท็จจริง (สกพอ. ได้ดำเนินการแล้ว) และเห็นว่าร่างบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับใหม่ไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร
 
9. เรื่อง ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนว่าด้วยเรื่องการเร่งรัดการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 2
                คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนว่าด้วยเรื่องการเร่งรัดการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 2 (ร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ) ซึ่งประกอบด้วย               (1) ร่างขอบเขตการดำเนินงานของการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนว่าด้วยเรื่องการเร่งรัดการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (ร่างขอบเขตการดำเนินงานฯ) และ (2) ร่างแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยเรื่องการเร่งรัดการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 2 (ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ) ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมดังกล่าวในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย                ให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สามารถดำเนินการได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งเห็นชอบให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายอนุชา นาคาศัย) หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีในการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนว่าด้วยเรื่องการเร่งรัดการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (การประชุมฯ) ครั้งที่ 2 และเข้าร่วมการประชุมในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย             ในการประชุมระดับรัฐมนตรีดังกล่าว พร้อมทั้งร่วมกับรัฐมนตรีของประทศสมาชิกอาเซียนให้การรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ โดยไม่มีการลงนามตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ
 
                สาระสำคัญของเรื่อง
                1. การประชุมฯ ครั้งที่ 2 มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 31 มีนาคม 2566 ณ กรุงเทพมหานคร และ              ผ่านระบบการประชุมทางไกล ภายใต้หัวข้อหลัก “ยุทธศาสตร์ที่มาจากหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อขับเคลื่อน SDGs ในภูมิภาคอาเซียนให้ประสบผลสำเร็จ” โดยมีประเทศไทยและประเทศฟิลิปฟินส์เป็นประธานการประชุมร่วม ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการอาเซียนได้จัดทำร่างขอบเขตการดำเนินงานฯ และร่างแถลงการณ์ร่วมฯ โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ (1) ร่างขอบเขตการดำเนินงานฯ เป็นเอกสารที่ระบุถึงกรอบการดำเนินงาน ประกอบด้วย พันธกิจ ขอบเขต และอำนาจหน้าที่ของกลไกที่ประชุมฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตาม เร่งรัด แลกเปลี่ยน และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงานเรื่อง SDGs ในระดับภูมิภาคอาเซียน และ (2) ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ เป็นเอกสารที่ระบุถึงเจตนารมณ์ร่วมกันของรัฐมนตรีด้านการวางแผนแห่งชาติของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ต้องการส่งเสริมและเน้นย้ำเรื่องความร่วมมือเกี่ยวกับ SDGs ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งที่ประชุม มีความมุ่งมั่นที่จะเร่งรัดการขับเคลื่อนทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคอาเซียนให้นำไปสู่การแก้ไขผลกระทบเชิงลบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา - 2019 ต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
 
10.  เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ ค.ศ. 2023
              คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอดังนี้
                1. เห็นชอบในหลักการต่อร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ ค.ศ. 2023 โดยหากมีความจำเป็นต้องปรับ            แก้ถ้อยคำในร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ ค.ศ. 2023 ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ขอให้ สทนช. สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
                2. อนุมัติให้รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมรัฐมนตรีเสนอการปรับแก้ถ้อยคำในร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ ค.ศ. 2023               ตามข้อคิดเห็นของกรมสนธิสัญญาและกฎหมายในการประชุมรัฐมนตรีในกรณีที่มีความจำเป็น
                3. อนุมัติให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุม               สุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 4 เป็นผู้รับรองปฏิญญาเวียงจันทน์ ค.ศ. 2023
                สาระสำคัญของเรื่อง
                สทนช. รายงานว่า
                1. ราชอาณาจักรไทย ราชอาณาจักรกัมพูชา สปป.ลาว และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามได้ร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 (1995 Mekong Agreement) เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2538 โดยมีจุดประสงค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การใช้ การอนุรักษ์ การจัดการทรัพยากรน้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องของลุ่มแม่น้ำโขงในลักษณะที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก โดยมีสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเป็นประเทศคู่เจรจา พร้อมทั้งจัดตั้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission : MRC) ให้มีสถานภาพเป็นองค์การระหว่างประเทศ (International Body)
                2. การดำเนินการของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงที่ผ่านมาได้มีการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง จำนวน 3 ครั้ง ดังนี้

การประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงผลลัพธ์ของการดำเนินการ
ครั้งที่ 1 (5 เมษายน 2553) ณ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ผู้นำประเทศสมาชิกได้ร่วมกันรับรองปฏิญญาหัวหิน ค.ศ. 2010 โดยมีแนวคิดหลัก คือ การบรรลุความต้องการและรักษาสมดุลในการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน
ครั้งที่ 2 (5 เมษายน 2557) ณ นครโฮจิมินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามผู้นำประเทศสมาชิกได้ร่วมกันรับรองปฏิญญานครโฮจิมินห์ ค.ศ. 2014 โดยมีแนวคิดหลัก คือ ความร่วมมือในการบริหารจัดการลุ่มน้ำข้ามพรมแดนเพื่อความมั่นคงด้านน้ำ พลังงานและอาหารของลุ่มน้ำโขงภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ครั้งที่ 3 (5 เมษายน 2561) ณ เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชาผู้นำประเทศสมาชิกได้ร่วมกันรับรองปฏิญญาเสียมราฐ ค.ศ. 2018 โดยมีแนวคิดหลัก คือ การเพิ่มพูนความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนของประเทศสมาชิก ในการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และทรัพยากรที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของลุ่มแม่น้ำโขง

                3. การประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 4 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 - 5 เมษายน 2566 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยรัฐบาล สปป.ลาว เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม และได้เรียนเชิญนายกรัฐมนตรีจากประเทศสมาชิกและประเทศคู่เจรจา (จีนและเมียนมา) เข้าร่วมการประชุมฯ และจะร่วมกันรับรองร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ ค.ศ. 2023 ในวันที่ 5 เมษายน 2566 โดยร่างปฏิญญาฯ เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์เชิงนโยบายของประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงในการมุ่งเน้นการดำเนินงานตามพันธกรณีของความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 มีแนวคิดหลัก คือ นวัตกรรมและความร่วมมือเพื่อความมั่นคงด้านน้ำและความยั่งยืนของลุ่มน้ำโขง
                ทั้งนี้ สทนช. แจ้งว่า คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยในการประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) มีมติเห็นชอบร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ ค.ศ. 2023 และกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) (กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย) พิจารณษแล้วเห็นว่า ร่างปฏิญญาฯ ไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตร 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
 

แต่งตั้ง

11. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์
                คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ แต่งตั้ง                 รองศาสตราจารย์พันธุ์ทิพย์ สายสุนทร เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน) ในคณะกรรมการการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ แทน ศาสตราจารย์อุดม  รัฐอมฤต กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2566 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2566 เป็นต้นไป  และ              ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
 

****************************

 ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.thaigov.go.th/