วันนี้ (30 พฤษภาคม 2566) เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
กฎหมาย |
1. เรื่อง รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามมาตรา 165 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565
2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อการอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ พ.ศ. ....
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดเรื่องที่อุทธรณ์ไม่ได้ พ.ศ. ....
เศรษฐกิจ-สังคม |
4. เรื่อง รายงานผลการประเมินองค์การมหาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
5. เรื่อง รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2565 และแนวโน้มไตรมาสที่ 1/2566 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมกราคม 2566
6. เรื่อง สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนเมษายน 2566
7. เรื่อง รายงานผลการดำเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง ปี 2565 (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2565)
8. เรื่อง ขอปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 เรื่อง แนวทางการเตรียมบุคลากรก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม : การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา
9. เรื่อง รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนมีนาคม 2566 และไตรมาสแรกของ ปี 2566
10. เรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคง และเศรษฐกิจของประเทศ
ต่างประเทศ |
11. เรื่อง สรุปผลการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 4 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
12. เรื่อง การรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุม High-Level Political Meeting (HLPM) ภายใต้กรอบความริเริ่มเพื่อความมั่นคงจากการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
แต่งตั้ง |
13. เรื่อง การแต่งตั้งโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ
14. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)
______________________________
กฎหมาย |
1. เรื่อง รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามมาตรา 165 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) เสนอรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามมาตรา 165 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 โดยสรุปผลการดำเนินการในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม 2565 - มีนาคม 2566 ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) มีสาระสำคัญสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2565 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หรือตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2565 โดยมาตรา 165 บัญญัติให้ภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (ภายในวันที่ 16 ตุลาคม 2567) ให้ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเชิญผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบปฏิบัติการตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันได้แก่ กฎหมายว่าด้วยป่าไม้ กฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กฎหมายว่าด้วยการประมง กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม กฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล กฎหมายว่าด้วยเลื่อยโซ่ยนต์ และกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอื่น มาร่วมกันพิจารณาเพื่อดำเนินการให้หน่วยงานดังกล่าวรับผิดชอบในการป้องกันและปราบปราม การสืบสวน และการสอบสวนการกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายนั้น ๆ ทั้งหมดหรือบางส่วนตามที่จะได้ตกลงกัน โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและการบูรณาการในการปฏิบัติหน้าที่ และการแบ่งเบาภารกิจของ ตช. และให้สำนักงาน ก.พ.ร. รายงานความคืบหน้าต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบทุกสามเดือน
2. สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ศึกษาข้อมูลของกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มาตรา 165 เพื่อพิจารณาถึงบทบาท ภารกิจ หน้าที่และอำนาจ ขอบเขตความรับผิดชอบของ ทส. และ ตช. ที่มีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายที่ซ้ำซ้อนหรือคาบเกี่ยวกัน เบื้องต้นพบว่า
2.1 กฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มาตรา 165 เกี่ยวข้องกับกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ จำนวนทั้งสิ้น 16 ฉบับ ดังนี้
รายชื่อกฎหมายตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มาตรา 165 | กฎหมาย | หน่วยงานเจ้าภาพตามกฎหมาย |
1. กฎหมายว่าด้วยป่าไม้ | 1. พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 2. พระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ. 2535 3. พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 | กรมป่าไม้ |
2. กฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ | 4. พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 | กรมป่าไม้ |
3. กฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ | 5. พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 | กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช |
4. กฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า | 6. พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 | กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช |
5. กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง | 7. พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 | กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง |
6. กฎหมายว่าด้วยการประมง | 8. พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 | กรมประมง |
7. กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม | 9. พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 | กรมควบคุมมลพิษ |
8. กฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล | 10. พระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 | กรมทรัพยากรน้ำบาดาล |
9. กฎหมายว่าด้วยเลื่อยโซ่ยนต์ | 11. พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ. 2545 | กรมป่าไม้ |
10. กฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอื่น | 12. พระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 | กรมทรัพยากรธรณี |
13. พระราชบัญญัติงาช้าง พ.ศ. 2558 | กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช | |
14. พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 | กรมทรัพยากรธรณี | |
15. พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 | สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ | |
16. ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 (กิจการประปาสัมปทาน) | กรมทรัพยากรน้ำ |
2.2 ทส. ดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายมีอำนาจตามกฎหมายในการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว โดยเป็นการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่จากส่วนราชการที่มีหน้าที่และอำนาจความรับผิดชอบตามกฎหมายและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 แต่งตั้งให้เจ้าหน้าที่สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเจ้าหน้าที่ในสังกัดหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมป่าไม้ สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองทัพเรือ กรมประมง กระทรวงมหาดไทย (มท.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตามกฎหมาย
2.3 ตช. ดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย
2.3.1 กำหนดให้ บก.ปทส. สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเป็นหน่วยงานหลักในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั่วราชอาณาจักร โดยอำนาจตามกฎหมายนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินการได้ครอบคลุมทั้งการตรวจสอบ ตรวจค้น ยึด อายัด จับกุม และเรียกบุคคลให้ถ้อยคำ รวมทั้งการสืบสวน และการสอบสวนการกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายนั้น ๆ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่สามารถดำเนินการสอบสวนได้ นอกจากนี้ บก.ปทส. ยังดำเนินการตามกฎหมายอื่นอันเกี่ยวเนื่องกับความผิดทางอาญาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นอกเหนือจากกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มาตรา 165) รวมจำนวนทั้งสิ้น 37 ฉบับ โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบหลัก จำนวน 11 กระทรวง 22 หน่วยงาน เช่น 1) พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 (กรมการปกครอง มท. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก) และ 2) พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 (กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก)
2.3.2 ตช. มีกลไกการทำงานโดยได้มีการจัดทำแผนป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจัดตั้งศูนย์ป้องกันปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใน 3 ระดับ ได้แก่ 1) ศูนย์ป้องกันปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตช. 2) ศูนย์ป้องกันปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระดับกองบัญชาการ/ตำรวจภูธรภาค และ 3) ศูนย์ป้องกันปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระดับกองบังคับการ/ตำรวจภูธรจังหวัด โดยมีหน้าที่บริหารอำนวยการ กำกับดูแลการปฏิบัติให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์และนโยบายของ ตช.
2.3.3 ตช. มีคำสั่ง ตร. ที่ 470/2565 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2565 แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินการตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 และ บก.ปทส. มีคำสั่ง บก.ปทส. ที่ 608/2565 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2565 แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินการตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 เพื่อขับเคลื่อนในการตัดโอนภารกิจเกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 165 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
3. การดำเนินการของสำนักงาน ก.พ.ร. กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำนักงาน ก.พ.ร. ได้หารือร่วมกับ ทส. และ บก.ปทส. ตช. เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการและความพร้อมในการถ่ายโอนภารกิจ จำนวน 2 ครั้ง ดังนี้
3.1 ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 ได้ประชุมหารือร่วมกับส่วนราชการในสังกัด ทส. เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการและความพร้อมของ ทส. ในการรับโอนงานป้องกันและปราบปราม การสืบสวน และการสอบสวนการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย ทส. พิจารณาแล้วเห็นว่า อาจรับโอนภารกิจในการป้องกันและปราบปรามได้ ทั้งนี้ เห็นควรให้มีการกำหนดขอบเขตภารกิจ การปรับเปลี่ยน การถ่ายโอนภารกิจให้มีความชัดเจน โดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่มุ่งเน้นให้การดำเนินการเปลี่ยนแปลงหรือถ่ายโอนภารกิจต้องเป็นไปเพื่อการแบ่งเบาภารกิจของ ตช. และประสิทธิภาพการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่
3.2 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 ได้ประชุมหารือร่วมกับ บก.ปทส. เกี่ยวกับแนวนโยบายของ บก.ปทส. ในการดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ตามมาตรา 165 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 และการดำเนินการเกี่ยวกับภารกิจและอำนาจหน้าที่ของ บก.ปทส. โดย บก.ปทส. พิจารณาแล้วเห็นว่า อาจพิจารณาถ่ายโอนงานป้องกันและปราบปรามให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยยังคงภารกิจด้านการสืบสวน และสอบสวนไว้
จากการประชุมหารือกับ ทส. และ บก.ปทส. ตช. ในเบื้องต้นมีความเป็นไปได้ในการถ่ายโอนภารกิจจาก ตช. ไปยัง ทส. เพื่อรับผิดชอบงานการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแบ่งเบาภารกิจของ ตช.
4. แนวทางในการดำเนินการต่อไป
สำนักงาน ก.พ.ร. จะหารือร่วมกับ ทส. ตช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาในรายละเอียดของการดำเนินการ ดังนี้
4.1 กำหนดบทบาทภารกิจ ขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ วิธีการปฏิบัติงานในภารกิจการป้องกันและปราบปราม เพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการตัดโอนภารกิจดังกล่าว รวมทั้งพิจารณาภารกิจอื่นที่อาจตัดโอนเพิ่มเติมด้วย เช่น ภารกิจการสืบสวน สอบสวนการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
4.2 แนวทางการปรับปรุงกระบวนงานตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยพิจารณาการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เช่น ระบบงานอนุญาตที่เชื่อมโยงกับข้อมูลด่านป่าไม้ และระบบงานรับรองไม้ ผลิตภัณฑ์ไม้และถ่านไม้ และระบบลงทะเบียนไม้มีค่าหรือระบบควบคุมมาตรฐานการลาดตระเวน การใช้โดรนในการลาดตระเวน
2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อการอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อการอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาโดยให้รับข้อสังเกตของกระทรวงคมนาคมไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับความเห็นของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ทส. เสนอว่า
1. พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2562 มาตรา 78 (2) บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อการอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ เพื่อกำหนดห้ามการกระทำใด ๆ ที่มีผลเป็นการเสื่อมสภาพแหล่งน้ำหรือเสื่อมประโยชน์ต่อการใช้น้ำ หรือทำให้เกิดภาวะมลพิษแก่แหล่งน้ำ หรือระบบนิเวศแหล่งน้ำ หรือทำให้น้ำมีสภาพเป็นพิษจนน่าจะเป็นอันตรายต่อแหล่งน้ำ หรือระบบนิเวศแหล่งน้ำหรือสุขภาพของบุคคล และมาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 78 (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประกอบกับพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 มาตรา 22 วรรคสอง บัญญัติให้กฎหมายที่กำหนดให้ต้องมีการออกกฎ หรือกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด หากมิได้มีการออกกฎดังกล่าวหรือยังมิได้ดำเนินการนั้นภายในระยะเวลา 2 ปีนับแต่วันที่กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับ และบทบัญญัติในเรื่องนั้นก่อภาระหรือเป็นผลร้ายต่อประชาชนให้บทบัญญัติดังกล่าวเป็นอันสิ้นผลบังคับ และมาตรา 39 (1) แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 บัญญัติให้ระยะเวลาสองปีตามมาตรา 22 วรรคสอง สำหรับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้นับแต่เมื่อพ้นกำหนด 2 ปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ดังนั้น การออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อการอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 จึงต้องเร่งดำเนินการออกกฎกระทรวงให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566
2. โดยที่ปัจจุบันพบว่ามีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของชุมชนเมืองที่มีการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ การอุตสาหกรรมและการทำการเกษตรที่มีผลกระทบต่อการเสื่อมสภาพแหล่งน้ำหรือเสื่อมประโยชน์ต่อการใช้น้ำในทรัพยากรน้ำสาธารณะ เกิดภาวะมลพิษแก่แหล่งน้ำหรือระบบนิเวศน้ำ จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะที่มีมาตรการห้ามการกระทำหรือละเว้นการกระทำเพื่อป้องกันไม่ให้คุณภาพน้ำเสื่อมสภาพหรือปนเปื้อนและเพื่อให้หลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ทส. โดยกรมทรัพยากรน้ำจึงได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อการอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ พ.ศ. .... เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ และเสนอต่อคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองกฎหมายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งในคราวประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองกฎหมายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว
3. ในคราวประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงตามข้อ 2. แล้ว
4. ทส. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าวทั้ง 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และได้จัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย พร้อมเปิดเผยเอกสารดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ของกรมทรัพยากรน้ำตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และกฎกระทรวงกำหนดร่างกฎที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ พ.ศ. 2565 ด้วยแล้ว
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อการอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังนี้
1. กำหนดให้เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ ให้กรมทรัพยากรน้ำประสานงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำสาธารณะ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจติดตามและตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
2. กำหนดห้ามดำเนินกิจกรรมหรือกระทำใด ๆ ที่มีผลเป็นการทำให้เสื่อมสภาพแหล่งน้ำหรือเสื่อมประโยชน์ต่อการใช้น้ำในทรัพยากรน้ำสาธารณะ ซึ่งรวมถึงการก่อสร้าง ถม ขุด ปรับหรือเปลี่ยนสภาพพื้นที่ หรือดำเนินการอื่นใดที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของตลิ่งหรือชายฝั่งหรือมีผลต่อความลึกหรือความลาดชันของแหล่งน้ำ ซึ่งทำให้แหล่งน้ำตามธรรมชาติท่วมท้น ตื้นเขิน เหือดแห้ง กระทบต่อระบบนิเวศ อันมีผลเป็นการปิดหรือกีดขวางทางน้ำหรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางน้ำตามปกติหรือตามธรรมชาติ หรือการก่อสร้างที่มีลักษณะเป็นการล่วงล้ำเข้าไปในพื้นที่ของทรัพยากรน้ำสาธารณะ และการก่อสร้างที่มีลักษณะเป็นการล่วงล้ำเข้าไปในพื้นที่ของทรัพยากรน้ำสาธารณะ
3. กำหนดห้ามดำเนินกิจกรรมหรือกระทำการใด ๆ ที่มีผลเป็นการทำให้เกิดภาวะมลพิษแก่แหล่งน้ำหรือระบบนิเวศของแหล่งน้ำในทรัพยากรน้ำสาธารณะ ซึ่งรวมถึงการเททิ้ง หรือระบายน้ำเสียหรือของเสีย หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล อินทรียวัตถุสารหรือวัตถุอื่นใดที่น่าจะเกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือเกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ลงในทรัพยากรน้ำสาธารณะ การใช้ยา เคมีภัณฑ์ หรือวัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในทรัพยากรน้ำสาธารณะ อันจะมีผลให้เกิดสภาพเป็นพิษจนน่าจะเป็นอันตรายต่อแหล่งน้ำ ระบบนิเวศแหล่งน้ำ สุขภาพหรือชีวิตของมนุษย์หรือสัตว์หรือกระทำการใด ๆ ที่ส่งผลเสียต่อคุณภาพน้ำตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลหรือมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน เว้นแต่เป็นการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดเรื่องที่อุทธรณ์ไม่ได้ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดเรื่องที่อุทธรณ์ไม่ได้ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดไปประกอบการพิจารณาด้วย และดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่กระทรวงการคลังเสนอ เป็นการยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานของรัฐที่ใช้สิทธิอุทธรณ์ไม่ได้ พ.ศ. 2560 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นที่ห้ามไม่ให้ผู้ที่ทำการจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานของรัฐซึ่งไม่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะอุทธรณ์เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ซึ่งในคราวประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 ได้เห็นชอบในหลักการร่างกฎกระทรวงฯ ด้วยแล้ว
ประเด็นที่ต้องห้ามอุทธรณ์เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ จากเดิมที่มี 2 กรณี ปรับเป็น 4 กรณี ดังนี้
1. คุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นที่เข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุในครั้งนั้น โดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป ด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (คงเดิม)
2. เพิ่มเติมกรณีที่หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการเชิญชวนและวิธีคัดเลือกและเปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นร่างขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุก่อนจะทำการจัดซื้อจัดจ้าง และให้มีการชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม ก่อนจะทำการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว แต่ปรากฏว่า ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอในการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนั้นมิได้วิจารณ์ หรือเสนอแนะร่างขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุ (เดิมไม่ได้กำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้างว่าเป็นรูปแบบใดจึงกำหนดวิธีการเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความชัดเจน)
3. เพิ่มเติมการจัดซื้อจัดจ้างที่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามมาตรา 56 (1) (ค) (เดิมไม่มี เพิ่มเติมเพื่อให้ผู้ประกอบการไม่มีสิทธิอุทธรณ์ เพราะอาจเกิดความเสียหายกับหน่วยงานของรัฐได้ หากมีการใช้สิทธิอุทธรณ์ภายหลังจากที่หน่วยงานของรัฐได้ลงนามในสัญญาไปแล้ว)
4. เพิ่มเติมกรณีที่หน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โดยได้มีการยกเลิกประกาศผลผู้ชนะการเสนอราคาเดิม และได้มีการประกาศผลผู้ชนะการเสนอราคาใหม่ ให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นที่สุด เว้นแต่มีข้อเท็จจริงใหม่ที่จะทำให้ผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เปลี่ยนแปลงไป (เดิมไม่มี เป็นการกำหนดรายละเอียดที่ให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นที่สุด เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ)
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานของรัฐที่ใช้สิทธิอุทธรณ์ไม่ได้ พ.ศ. 2560 และกำหนดให้ผู้ซึ่งได้ยื่นข้อเสนอ (ผู้ที่ไม่ได้รับการคัดเลือก) เพื่อทำการจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานของรัฐไม่มีสิทธิอุทธรณ์เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุในกรณี ดังนี้
กฎกระทรวงฯ เดิม | ร่างกฎกระทรวงฯ | หมายเหตุ |
1. กรณีคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นที่เข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุในครั้งนั้นโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (เนื่องจากการจัดซื้อจัดจ้างประเภทนี้กรมบัญชีกลางได้พิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นขอเสนอทุกรายแล้ว) | คงเดิม | กำหนดให้ผู้ซึ่งได้ยื่นข้อเสนอแต่ไม่ได้รับคัดเลือกด้วยวิธีนี้ไม่มีสิทธิอุทธรณ์เนื่องจากกรมบัญชีกลางจะกำหนดรายการสินค้า เช่น กระดาษ หมึกพิมพ์ และพัสดุสำนักงานต่าง ๆ และกำหนดรายชื่อผู้ประกอบการที่ขายสินค้าดังกล่าวโดยผ่านการพิจารณาคุณสมบัติจากกรมบัญชีกลางแล้ว ไว้ในระบบ e-catalog |
2. กรณีที่หน่วยงานของรัฐเปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นร่างขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุจากผู้ประกอบการก่อนจะทำการจัดซื้อจัดจ้างหากปรากฏว่า ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอในการจัดซื้อจัดจ้างในครั้งนี้มิได้วิจารณ์หรือเสนอแนะร่างขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุ ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอนั้นจะอุทธรณ์ในเรื่องขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุของหน่วยงานของรัฐนั้นมิได้ (ไม่ได้กำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้างว่าเป็นรูปแบบใด) | 2. กรณีที่หน่วยงานของรัฐเปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นร่างขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุก่อนจะทำการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปหรือเปิดโอกาสให้มีการชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม ก่อนจะทำการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีคัดเลือกจากผู้ประกอบการ หากปรากฏว่าผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอในการจัดซื้อจัดจ้างในครั้งนั้นมิได้วิจารณ์หรือเสนอแนะร่างขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุ ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอนั้นจะอุทธรณ์ในเรื่องขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุของหน่วยงานของรัฐนั้นมิได้ | เพิ่มเติมกรณีที่หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการเชิญชวนและวิธีคัดเลือกและเปิดโอกาสให้มีการชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม ก่อนจะทำการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว แต่ปรากฏว่าผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอในการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนั้นมิได้วิจารณ์หรือเสนอแนะร่างขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุ (กำหนดเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบการไม่มีสิทธิอุทธรณ์ได้ เพื่อมิให้เกิดปัญหาในการตีความ เนื่องจากในกฎกระทรวงฯ เดิม ไม่ได้กำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้างไว้ว่าเป็นรูปแบบใด) |
เดิมไม่มี | 3. การจัดซื้อจัดจ้างที่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามมาตรา 56 (1) (ค)1 | กำหนดเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้ประกอบการไม่มีสิทธิอุทธรณ์ภายหลังจากที่หน่วยงานของรัฐได้ทำสัญญาไปแล้ว กรณีที่มีการจัดซื้อจัดจ้างที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพราะอาจเกิดความเสียหายกับหน่วยงานของรัฐได้ |
เดิมไม่มี | 4. เมื่อหน่วยงานของรัฐดำเนินการตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน (คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์) ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 119 วรรค 2 กรณีที่พิจารณาแล้วเห็นว่า อุทธรณ์ฟังขึ้นและมีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีนัยสำคัญ แล้วสั่งให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการให้มีการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเริ่มจากขั้นตอนใดตามที่เห็นสมควรหรือกรณีพิจารณาแล้วเห็นว่าอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น หรือไม่มีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีนัยสำคัญ แล้วแจ้งให้หน่วยงานของรัฐทำการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป เนื่องจากคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวถือเป็นที่สุด ตามนัยมาตรา 119 วรรค 3 แห่งพระราชบัญญัติฯ เว้นแต่มีข้อเท็จจริงใหม่ที่จะทำให้ผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เปลี่ยนแปลงไป | กำหนดอธิบายรายละเอียดของบทบัญญัติ มาตรา 119 วรรค 3 ที่ให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นที่สุด เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ |
________________
1 มาตรา 56 (1) (ค) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 บัญญัติให้การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุให้หน่วยงานของรัฐเลือกใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปก่อน เว้นแต่ความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้พัสดุนั้นอันเนื่องมาจากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดหมายได้ซึ่งหากใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปจะทำให้ไม่ทันต่อความต้องการใช้พัสดุให้ใช้วิธีการคัดเลือก
เศรษฐกิจ-สังคม |
4. เรื่อง รายงานผลการประเมินองค์การมหาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (กพม.) เสนอรายงานผลการประเมินองค์การมหาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 [เป็นการดำเนินการตามมาตรา 5/8 (10) แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่บัญญัติให้ กพม. มีอำนาจหน้าที่จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับการบริหาร การพัฒนา และการประเมินผลขององค์การมหาชนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี] ซึ่ง กพม. ในการประชุมครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 มีมติเห็นชอบรายงานฯ และให้เสนอคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. กรอบการประเมินองค์การมหาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (กพม. ในการประชุมครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 มีมติเห็นชอบกรอบการประเมินองค์การมหาชนดังกล่าวไว้) ประกอบด้วย 3 ส่วน1 สรุปได้ดังนี้
1.1 ส่วนที่ 1 องค์ประกอบการประเมินผลการปฏิบัติงาน จำนวน 4 องค์ประกอบ
องค์ประกอบ | น้ำหนัก (ร้อยละ) | ตัวชี้วัด |
องค์ประกอบที่ 1 ประสิทธิผลการดำเนินงาน เป็นการประเมินการบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งที่แสดงให้เห็นการเชื่อมโยงจากยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายและแผนระดับชาติ รวมทั้งนโยบายสำคัญหรือแผนปฏิบัติการของกระทรวงที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายในกระทรวงเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน | 40 | - ตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับภารกิจ ตามวัตถุประสงค์การจัดตั้ง (ไม่จำกัดจำนวน) - ตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับนโยบายสำคัญที่บูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายในกระทรวง (ไม่จำกัดจำนวน) |
องค์ประกอบที่ 2 ประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการดำเนินงาน เป็นการประเมินประสิทธิภาพในการบริหารงานและความคุ้มค่าในการดำเนินงานการลดภาระค่าใช้จ่ายภาครัฐ ความคุ้มค่าในการบริหารและใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด | 30 | - ตัวชี้วัดที่แสดงถึงประสิทธิภาพในการบริหารงาน/ความคุ้มค่าในการ ดำเนินงาน (อย่างน้อย 2 ตัวชี้วัด) - ตัวชี้วัดบังคับ จำนวน 1 ตัวชี้วัด คือ ร้อยละค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ขององค์การมหาชน |
องค์ประกอบที่ 3 ศักยภาพขององค์การมหาชนเป็นการประเมิน การพัฒนาศักยภาพองค์การสู่การเป็นระบบราชการ 4.0 ในด้านการพัฒนาองค์การสู่ดิจิทัลและประเมินสถานะของหน่วยงานในการเป็นระบบราชการ 4.0 (PMQA 4.0) | 20 | ตัวชี้วัดบังคับ จำนวน 1 ตัวชี้วัด คือ ผลการพัฒนาศักยภาพองค์การ สู่การเป็นระบบราชการ 4.0 |
องค์ประกอบที่ 4 การควบคุมดูแลกิจการของคณะกรรมการองค์การมหาชนเป็นการประเมินบทบาทและการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการองค์การมหาชนเพื่อกำหนดทิศทางและนโยบายการปฏิบัติงานขององค์การมหาชนให้ตอบสนองต่อสภาพการณ์ปัจจุบันและความต้องการของผู้รับบริการ | 10 | ตัวชี้วัดบังคับ จำนวน 1 ตัวชี้วัด คือ ร้อยละความสำเร็จของการพัฒนา ด้านการควบคุมดูแลกิจการของคณะกรรมการองค์การมหาชน |
รวม | 100 |
1.2 ส่วนที่ 2 ตัวชี้วัดประกอบการประเมิน ได้แก่ การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน (Integrity and Transparency Assessment: ITA) สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นผู้รับผิดชอบการประเมิน โดยไม่นำผลคะแนนดังกล่าวมาคำนวณรวมในการประเมินองค์การมหาชน [คณะรัฐมนตรีมติ (24 มกราคม 2566) รับทราบผลการประเมิน ITA ของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 แล้ว]
1.3 ส่วนที่ 3 ตัวชี้วัดการติดตามผลกระทบเป็นรายปี (Monitoring KPIs) คือ ตัวชี้วัดที่แสดงผลกระทบ (Impact) จากการดำเนินงานขององค์การมหาชนเพื่อติดตามผลสำเร็จขององค์การมหาชนเป็นรายปี (Monitoring KPI) โดยให้องค์การมหาชนรายงานผลตามตัวชี้วัดมายังสำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อเป็นข้อมูลสะสมสำหรับการประเมินความคุ้มค่าในการจัดตั้งองค์การมหาชนทุก 5 ปี และไม่นำมาคำนวณคะแนน
2. สรุปผลการประเมินองค์การมหาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
2.1 ผลการประเมินองค์การมหาชนในภาพรวม
ระดับผลการประเมิน (คะแนนเฉลี่ยทุกองค์ประกอบ) | องค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญติองค์การมหาชนฯ | องค์การมหาชน ที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ | รวม |
ระดับดีมาก : ตั้งแต่ 90 คะแนนขึ้นไป | 31 (ร้อยละ 88.57) | 10 (ร้อยละ 90.91) | 41 (ร้อยละ 89.13) |
ระดับดี : ตั้งแต่ 75.00-89.99 คะแนน | 4 (ร้อยละ 11.43) | 1 (ร้อยละ 9.09) | 5 (ร้อยละ 10.87) |
ระดับพอใช้ : ตั้งแต่ 60.00-74.99 คะแนน | - | - | - |
ระดับต้องปรับปรุง : ต่ำกว่า 60 คะแนน | - | - | - |
รวม | 352 | 113 | 46 |
2.1.1 องค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชนฯ ที่มีผลคะแนนอยู่ในระดับดีมาก เช่น 1) สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สวอ.) (100 คะแนน) และ 2) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) (100 คะแนน) และที่มีผลคะแนนอยู่ในระดับดี เช่น 1) โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) (88.64 คะแนน) 2) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (83.79 คะแนน) และ 3) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (39.42 คะแนน)
2.1.2 องค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะที่มีผลคะแนนอยู่ในระดับดีมาก เช่น 1) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) (100 คะแนน) 2) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) (100 คะแนน) และ 3) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Promotion Agency: DEPA (100 คะแนน) และที่มีผลคะแนนอยู่ในระดับดี ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (86.19 คะแนน)
2.2 ข้อสังเกตของสำนักงาน ก.พ.ร.
ประเด็น | รายละเอียด |
ภาพรวม | - ผลการประเมินองค์การมหาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 อยู่ในระดับดีมาก (41 แห่ง จากทั้งหมด 46 แห่ง) โดยไม่มีองค์การมหาชนที่มีผลการประเมินอยู่ในระดับพอใช้หรือต้องปรับปรุง ซึ่งสะท้อนได้ว่า องค์การมหาชนมีศักยภาพในการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การจัดตั้ง เป้าหมายขององค์กรรวมทั้งบริหารจัดการองค์กรให้เป็นไปตามมาตรฐาน หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องและมีผลงานสำคัญที่สนับสนุนการพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ อย่างครบถ้วน - องค์การมหาชน จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ สวอ. อบก. สสวท. สพธอ. และ DEPA ได้คะแนนเต็ม 100 คะแนน อาจเนื่องจากการเลือกและกำหนดเป้าหมายในกิจกรรมที่สามารถดำเนินการได้ในปีนั้น ซึ่งยังคงต้องพัฒนาโดยการกำหนดตัวชี้วัดที่ท้าทายมากขึ้นต่อไป และเพื่อให้การประเมินองค์การมหาชนสามารถนำเสนอถึงความสำคัญขององค์การมหาชนในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้อย่างชัดเจน สำนักงาน ก.พ.ร. จะได้ปรับปรุงกรอบการประเมินผลองค์การมหาชนให้เหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง |
การประเมินองค์การมหาชน | โดยที่ยังมีบางหน่วยงานที่ได้คะแนนน้อยกว่าร้อยละ 75 ในบางองค์ประกอบ ซึ่งส่งผลต่อคะแนนในภาพรวม อาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การกำหนดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายที่มีความท้าทายสูง เช่น โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ที่ใช้อัตราการตายของผู้ป่วยเป็นตัวชี้วัด ในขณะที่บางหน่วยงานอาจกำหนดตัวชี้วัดเดิมและดำเนินการได้ตามเป้าหมายมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ข้อสังเกตนี้สามารถนำไปสู่การกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำหนดตัวชี้วัดสำหรับการประเมินผลองค์การมหาชน รวมไปถึงตัวชี้วัดในการประเมินความคุ้มค่าเพื่อการพัฒนาองค์การมหาชน โดยควรนำผลการประเมินที่ผ่านมาพิจารณาว่า ตัวชี้วัดตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งใดที่หน่วยงานได้กำหนดเป็นตัวชี้วัดอย่างต่อเนื่องมาอย่างน้อย 3 ปี และสามารถบรรลุตามเป้าหมายมาโดยตลอดไม่ควรนำมากำหนดเป็นตัวชี้วัดในการประเมินประจำปีอีก แต่ให้กำหนดเป็นตัวชี้วัดติดตามผลกระทบเป็นรายปีแทน ซึ่งจะทำให้การประเมินองค์การมหาชนไม่จำเป็นต้องมีตัวชี้วัดครบตามวัตถุประสงค์การจัดตั้ง |
2.3 ข้อสังเกตของ กพม. สรุปได้ ดังนี้
2.3.1 องค์การมหาชนที่มีผลการดำเนินงานเป็นที่ประจักษ์แต่กลับมีผลการประเมินภาพรวมอยู่ในระดับดี อาจเกิดจากการกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมายที่มีความท้าทาย รวมทั้งการมีปัจจัยอื่นเข้ามากระทบจนเป็นผลให้ผลการดำเนินการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จึงควรเปิดโอกาสให้องค์การมหาชนได้แจ้งเหตุที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายตัวชี้วัด ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ปรับกำหนดเวลาการส่งคำขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายขององค์การมหาชนตามกรอบการประเมิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 แล้ว โดยให้แจ้งเหตุภายในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนของทุกปี เพื่อให้สำนักงาน ก.พ.ร. ทราบ และรวบรวมคำขอดังกล่าวเสนอต่อคณะอนุกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชนเพื่อพิจารณาให้เสร็จสิ้นก่อนสิ้นปีงบประมาณต่อไป
2.3.2 ควรพิจารณาแนวทางในการส่งเสริมผลักดันให้องค์การมหาชนกำหนดตัวชี้วัดที่มีความท้าทาย
_____________
1 กรอบการประเมินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เหมือนกับปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
2 เป็นการประเมินองค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชนฯ จำนวน 35 แห่ง จาก 36 แห่ง เนื่องจากไม่ประเมินองค์การมหาชนที่จัดตั้งใหม่ ได้แก่ สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) (จัดตั้งปี 2564)
3เป็นการประเมินองค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ จำนวน 11 แห่ง จาก 24 แห่ง เนื่องจากไม่ประเมินองค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 จำนวน 12 แห่ง โดยให้ได้รับการประเมินตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการนโยบายทุนหมุนเวียนเพียงระบบเดียว และไม่ประเมินองค์การมหาชนที่จัดตั้งใหม่ตามพระราชบัญญัติเฉพาะ จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (จัดตั้งปี 2562 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการภายในเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรในการปฏิบัติงาน ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ)
5. เรื่อง รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2565 และแนวโน้มไตรมาสที่ 1/2566 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมกราคม 2566
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2565 และแนวโน้มไตรมาสที่ 1/2566 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมกราคม 2566 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4/2565 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 5.8 จากไตรมาสที่ 3/2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 8.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการผลิตเพื่อส่งออกในหลายอุตสาหกรรมหดตัว จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัวในอัตราที่เร็วและแรงกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศรวมถึงที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหลายอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดี ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัวในไตรมาสที่ 4/2565 อาทิ Hard Disk Drive จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่ผู้ผลิตทยอยยกเลิกการผลิตสินค้าที่มีความต้องการใช้ในตลาดโลกลดลง อีกทั้งความต้องการในสินค้าคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์การจัดเก็บลดลงต่อเนื่อง การกลั่นปิโตรเลียม เนื่องจากมีการหยุดซ่อมบำรุงโรงงานของโรงกลั่นบางรายในช่วงเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายน 2565 เม็ดพลาสติก จากการหยุดซ่อมบำรุงของโรงงานผลิตปิโตรเคมีขั้นต้น และการชะลอการผลิตเพื่อการระบายสินค้าคงคลังซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวดีในไตรมาสที่ 4/2565 อาทิ รถยนต์ เป็นการเพิ่มขึ้นในตลาดส่งออก โดยการส่งออกเพิ่มขึ้นในรถยนต์ทุกประเภท น้ำมันปาล์ม เนื่องจากความต้องการใช้ที่มากขึ้นในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมไบโอดีเซล อุตสาหกรรมอาหาร ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงการที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันในปีนี้มีจำนวนมาก
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2566 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากภาคการส่งออกที่หดตัวจากผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศรวมถึงที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหลายอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดี อาทิ การกลั่นน้ำมัน รถยนต์ จักรยานยนต์ รองเท้า กระเป๋า และเครื่องดื่ม
อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนมกราคม 2566 หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คือ
1. Hard Disk Drive (HDD) หดตัวร้อยละ 48.83 ตามการพัฒนาเทคโนโลยีความจุทำให้ปริมาณการผลิตน้อยลง แต่ราคาต่อหน่วยสูงขึ้นตามปริมาณความจุ รวมถึงความต้องการใช้ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ Solid State Drive (SSD) มีสัดส่วนการใช้ในอุปกรณ์ต่าง ๆ ทดแทน HDD เพิ่มมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีฐานการผลิต SSD ในประเทศ
2. เม็ดพลาสติก หดตัวร้อยละ 23.34 ส่วนหนึ่งจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมามีความต้องการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์สูง ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ทำให้ความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ลดลง ส่งผลให้การผลิตเม็ดพลาสติกซึ่งเป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์การแพทย์ลดลงตามไปด้วย ประกอบกับผู้ผลิตชะลอการผลิตลงเพื่อดูทิศทางตลาด รวมถึงยังคงมีการปิดซ่อมบำรุงโรงงานบางโรงอยู่
3. เฟอร์นิเจอร์ หดตัวร้อยละ 48.58 จากเครื่องเรือนทำด้วยไม้และโลหะเป็นหลักโดยการผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ลดลง จากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศของผู้ผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ยางพารารายใหญ่ที่ปรับลดลง ซึ่งเป็นการปรับลดลงเข้าสู่สภาวะปกติก่อนการระบาดของโควิด -19 ในประเทศจีนซึ่งในช่วงดังกล่าวจีนไม่สามารถผลิตและส่งสินค้าไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ โดยจีนเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนไม้อันดับที่ 1 ของโลก ส่วนเครื่องเรือนทำด้วยโลหะ การผลิตกลับเข้าสู่ระดับปกติหลังจากปีก่อนได้รับคำสั่งซื้อพิเศษ
อุตสาหกรรมสำคัญที่ยังขยายตัวในเดือนมกราคม 2566 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
1. การกลั่นน้ำมัน ขยายตัวร้อยละ 8.96 ตามการเดินทางเข้าประเทศมากขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงเทศกาลปีใหม่
2. รถยนต์ ขยายตัวร้อยละ 6.79 เนื่องจากได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้นในรถยนต์หลาย ๆ รุ่น ทำให้สามารถทำการผลิตได้เพิ่มขึ้น
แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ ไตรมาสที่ 1/2566
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า คาดการณ์ว่าจะหดตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้แนวโน้มราคาเหล็กในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น และอาจทำให้ความต้องการใช้เหล็กชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม หากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมของภาครัฐมีความต่อเนื่อง คาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าดัชนีผลผลิตจะหดตัวร้อยละ 3.0 เนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการในตลาดโลกได้
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิต คาดว่าจะขยายตัวจากอุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ รวมถึงการประกาศเปิดประเทศของจีนจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อการส่งออก อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังเปราะบาง ปัญหาค่าครองชีพสูง และความผันผวนของราคาวัตถุดิบและพลังงาน
อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าดัชนีผลผลิตในภาพรวมและมูลค่าการส่งออกจะหดตัวเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการบริโภคสินค้าลดลง ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานและเงินบาทที่มีทิศทางผันผวน อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย อย่างไรก็ตามอุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว
6. เรื่อง สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนเมษายน 2566
คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนเมษายน 2566 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
1. สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าเดือนเมษายน 2566 ดังนี้
ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนเมษายน 2566 เท่ากับ 107.96 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 105.15 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้นร้อยละ 2.67 (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 16 เดือน สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าในหมวดอาหารที่ราคาชะลอตัว ประกอบกับฐานราคาในเดือนเมษายน 2565 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้ออยู่ระดับสูง
อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนมีนาคม 2566) พบว่า เงินเฟ้อไทยต่ำเป็นอันดับที่ 14 จาก 133 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายเขตเศรษฐกิจ อาทิ สหรัฐอเมริกา อิตาลี สหราชอาณาจักร เม็กซิโก อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และอยู่ระดับต่ำที่สุดในอาเซียน จาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ทั้ง สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม
อัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายน 2566 ที่สูงขึ้นร้อยละ 2.67 (YoY) มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 4.53 (YoY) ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ อาทิ ผักและผลไม้ (ถั่วฝักยาว มะนาว กระเทียม แตงโม เงาะ มะม่วง) ตามสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย และต้นทุนที่สูงขึ้น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ตามปริมาณข้าวที่ลดลงจากการส่งออกที่มีมากขึ้น ไข่ไก่ ราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต และปริมาณในตลาดที่มีไม่มากนัก เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม กาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น)) อาหารบริโภคในบ้าน (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกง/ข้าวกล่อง ก๋วยเตี๋ยว) ตามต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ เครื่องประกอบอาหาร (ซีอิ๊ว น้ำพริกแกง ซอสหอยนางรม) ราคาสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร ขึ้นฉ่าย ผักกาดขาว ผักบุ้ง กล้วยน้ำว้า น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) และมะขามเปียก
หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.39 (YoY) ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ อาทิ ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารสาธารณะ (แท็กซี่ เรือ รถเมล์เล็ก/สองแถว เครื่องบิน) น้ำมันเชื้อเพลิงบางประเภท (น้ำมันกลุ่มดีเซล ก๊าซยานพาหนะ (LPG) แก๊สโซฮอล์ E85) ค่าการศึกษา ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลและสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (สบู่ถูตัว ยาสีฟัน แป้งทาผิวกาย น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ซักผ้า) ค่าบริการส่วนบุคคล (ค่าแต่งผมชาย/สตรี ค่าทำเล็บ) ทั้งนี้ มีสินค้าสำคัญหลายรายการราคาลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มในภาพรวมอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มแก๊สโซฮอล์และเบนซิน เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เสื้อผ้าบุรุษ น้ำยาระงับกลิ่นกาย แป้งผัดหน้า ที่เขียนคิ้ว ค่าสมาชิกเคเบิลทีวี และเครื่องรับโทรศัพท์มือถือ
เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้นร้อยละ 1.66 (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนมีนาคม 2566 ที่สูงขึ้นร้อยละ 1.75 (YoY)
ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สูงขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.19 (MoM) ตามราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.34 อาทิ ผักสด (ผักชี ต้นหอม ผักคะน้า) ผลไม้สด (เงาะ มังคุด ส้มเขียวหวาน) และไข่ไก่ ขณะที่ เนื้อสุกร ปลาช่อน ผักบุ้ง มะเขือเทศ น้ำมันพืช และครีมเทียม ราคาปรับลดลงจากเดือนที่ผ่านมา และสินค้าในหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.08 ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันในกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ค่าของใช้และค่าบริการส่วนบุคคลที่ปรับสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย อาทิ แป้งทาผิวกาย ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว ค่าแต่งผมชาย/สตรี ขณะที่สินค้าหลายรายการราคาลดลง อาทิ น้ำมันกลุ่มดีเซล ค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า หม้อหุงข้าว และตู้เย็น รวมถึงสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด และของใช้ส่วนบุคคลบางประเภท (ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน แป้งผัดหน้า น้ำยาระงับกลิ่นกาย กระดาษชำระ)
2. แนวโน้มเงินเฟ้อ
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม ปี 2566 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงค่อนข้างมาก โดยสาเหตุสำคัญมาจากฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อค่อนข้างสูงและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่ราคาสินค้าและบริการบางรายการชะลอตัว และบางรายการเริ่มทรงตัวแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มชะลอตัว และคาดว่าจะอยู่ในกรอบเป้าหมายที่กำหนด แต่ยังมีปัจจัยที่อาจทำให้เงินเฟ้อขยายตัวมากกว่าที่คาดไว้ อาทิ ราคาก๊าซหุงต้ม ที่ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตสำคัญ ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณและราคาสินค้าเกษตร อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 อยู่ที่ระหว่างร้อยละ 1.7 – 2.7 (ค่ากลาง 2.2) และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนเมษายน 2566 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.5 จากระดับ 52.3 ในเดือนก่อนหน้า โดยอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 (นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565) และสูงสุดในรอบ 52 เดือน (นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2562) เป็นการปรับเพิ่มขึ้นทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) โดยมีสาเหตุจาก (1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ที่ได้รับแรงสนับสนุนจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ ที่จัดงานเป็นจำนวนมาก (2) ใกล้เข้าสู่วันเลือกตั้ง (14 พฤษภาคม 2566) ทำให้ประชาชนคาดหวังว่าจะมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการเมืองของประเทศ และ (3) ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทดีเซลปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ค่าไฟฟ้าที่ประชาชนจ่ายมากขึ้นตามจำนวนหน่วยที่ใช้ในช่วงฤดูร้อน ทำให้ประชาชนเกิดความกังวลกับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น มีส่วนทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป
7. เรื่อง รายงานผลการดำเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง ปี 2565 (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2565)
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอรายงานผลการดำเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ปี 2565 (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2565) [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (31 มกราคม 2560) ที่กำหนดให้ มท. รายงานผลการดำเนินการตามแผนงานฯ ให้คณะรัฐมนตรีรับทราบเป็นระยะ ๆ] สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. สาระสำคัญและผลการดำเนินการของแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าฯ (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2565)
กฟน. มีแผนดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่ที่ กฟน. ดูแลและรับผิดชอบระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) จังหวัดนนทบุรี และสมุทรปราการ ระยะทางรวม 236.1 กิโลเมตร มีกรอบระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2527-2570 รวม 8 แผน โดยมีผลการดำเนินการ ดังนี้
1.1 แผนงาน/โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 62.0 กิโลเมตร ประกอบด้วย
รายงาน | ระยะทาง (กิโลเมตร) |
1. แผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ฉบับที่ 5 (ระยะที่ 2) ฉบับที่ 7 (ฉบับปรับปรุง) และฉบับที่ 8 (ฉบับปรับปรุง) (โครงการถนนสีลม ปทุมวัน และจิตรลดา) | 16.2 |
2. แผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายไฟฟ้า ฉบับที่ 9 (ระยะที่ 2) (พ.ศ. 2547-2550) (โครงการพหลโยธิน พญาไท และสุขุมวิท) | 24.4 |
3. แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง) ในโครงการปทุมวัน จิตรลดา พญาไท (เพิ่มเติม) และโครงการนนทรี | 14.3 |
4. แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ในโครงการรอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน | 7.1 |
1.2 แผนงาน/โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 174.1 กิโลเมตร ดังนี้
1.2.1 แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง) ระยะทางรวม 25.2 กิโลเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 10.9 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จปี 2567 ประกอบด้วย
แผนงาน/โครงการ | เป้าหมายระยะทาง (กิโลเมตร) | สถานะ/ผลการดำเนินการ |
โครงการพระราม 3 | 10.9 | อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 80.68 (จากแผนงานที่กำหนดร้อยละ 82.70) (ช้ากว่าแผนร้อยละ 2.02) |
1.2.2 แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินรัชดาภิเษก ระยะทางรวม 22.5 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จ ปี 2568 ประกอบด้วย
แผนงาน/โครงการ | เป้าหมายระยะทาง (กิโลเมตร) | สถานะ/ผลการดำเนินการ |
1. โครงการรัชดาภิเษก-อโศก | 8.2 | อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 34.26 (จากแผนงานที่กำหนดร้อยละ 44.00) (ช้ากว่าแผนร้อยละ 9.74) |
2. โครงการรัชดาภิเษก-พระราม 9 | 14.3 |
1.2.3 แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ระยะทางรวม 127.3 กิโลเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 120.2 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จ ปี 2568 อยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้าง และการก่อสร้างคิดเป็นร้อยละ 43.24 (จากแผนงานที่กำหนดร้อยละ 45.49) (ช้ากว่าแผนร้อยละ 2.25) ประกอบด้วย
แผนงาน/โครงการ | เป้าหมายระยะทาง (กิโลเมตร) | สถานะ/ผลการดำเนินการ |
1. โครงการพื้นที่เมืองชั้นใน | 12.6 | อยู่ระหว่างการก่อสร้าง : ถนนวิทยุ (2.1 กิโลเมตร) ถนนพระราม 4 (2.3 กิโลเมตร) ถนนอังรีดูนังต์ (1.8 กิโลเมตร) ถนนชิดลม (0.7 กิโลเมตร) ถนนสาทร (3.6 กิโลเมตร) ถนนหลังสวน (1.3 กิโลเมตร) และถนนสารสิน (0.8 กิโลเมตร) |
2. โครงการในพื้นที่เชื่อมโยงระบบส่งระหว่างสถานีไฟฟ้าต้นทาง | 7.4 | อยู่ระหว่างการก่อสร้าง : ถนนเจริญราษฎร์ (3.8 กิโลเมตร) ถนนเพชรบุรี (1.0 กิโลเมตร) และถนนดินแดง (2.6 กิโลเมตร) |
3. โครงการในพื้นที่ก่อสร้างร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภคอื่น | 100.2 | โครงการในพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้า (87.1 กิโลเมตร) อยู่ระหว่างการก่อสร้าง : สายสีชมพู (17.6 กิโลเมตร) สายสีเหลือง (15.8 กิโลเมตร) สายสีน้ำเงิน (11.4 กิโลเมตร) สายสีเขียวเหนือ (5.5 กิโลเมตร) สายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-บางปิ้ง) (12.5 กิโลเมตร) สายสีส้ม (สัญญา 3) (0.7 กิโลเมตร) สายสีเขียวส่วนต่อขยาย (6.6 กิโลเมตร) และประชาราษฎร์สาย 2 (1.4 กิโลเมตร) อยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้าง : สายสีส้ม (สัญญา 1-2) (4.4 กิโลเมตร) สายสีส้ม (ถนนเพชรบุรี) (2.0 กิโลเมตร) สายสีส้ม (ตะวันตก) (3.0 กิโลเมตร) และสายสีม่วง (6.2 กิโลเมตร) โครงการในพื้นที่ร่วม กทม. (13.1 กิโลเมตร) อยู่ระหว่างก่อสร้าง : ถนนอรุณอัมรินทร์ (5.7 กิโลเมตร) ถนนพรานนก (1.7 กิโลเมตร) และถนนบรมราชชนนี (0.8 กิโลเมตร) อยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้าง : ถนนประชาราษฎร์สาย 1 (1.1 กิโลเมตร) ถนนทหาร (2.0 กิโลเมตร) และถนนสามเสน (1.8 กิโลเมตร) |
1.2.4 แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินฉบับปฏิบัติการเร่งรัด ระยะทางรวม 20.5 กิโลเมตร มีกำหนดการแล้วเสร็จ ปี 2570 ประกอบด้วย
แผนงาน/โครงการ | เป้าหมายระยะทาง (กิโลเมตร) | สถานะ/ผลการดำเนินการ |
1. โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถนนรัตนาธิเบศร์ (ถนนราชพฤกษ์-ถนนกาญจนาภิเษก) | 4.4 | อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 21.88 (จากแผนงานที่กำหนดร้อยละ 24.73) (ช้ากว่าแผนร้อยละ 2.85) |
2. โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ถึงถนนติวานนท์ | 10.6 | |
3. โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถนนสุขุมวิท (ซอยสุขุมวิท 81-ซอยสุขุมวิท 107) | 5.5 |
2. การเบิกจ่ายงบประมาณ กฟน. ได้วางแผนการเบิกจ่ายเงินในปี 2565 จำนวนเงิน 4,576.39 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2565 ได้มีการเบิกจ่ายเงินรวม 3,228.44 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 70.55 ของแผนการเบิกจ่ายฯ และจะเร่งดำเนินการเบิกจ่ายในส่วนที่เหลือโดยเร็วที่สุด ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท
แผนงาน | งบประมาณลงทุน | การเบิกจ่ายเงิน ปี 2565 | |
แผนการจ่าย | ผลการจ่าย | ||
1. แผนงานฯ ปี 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง) | 9,088.80 | 1,011.42 | 867.81 |
2. แผนงานฯ รัชดาภิเษก | 8,899.58 | 588.33 | 232.35 |
3. แผนงานฯ รองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน | 48,717.20 | 2,820.74 | 2,105.51 |
4. แผนงานฯ ฉบับปฏิบัติการเร่งรัด | 3,673.40 | 155.90 | 22.76 |
รวม | 70,378.98 | 4,576.39 (ร้อยละ 100) | 3,228.44 (ร้อยละ 70.55) |
3. ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินโครงการ พร้อมแนวทางแก้ไขของการดำเนินโครงการทั้ง 4 แผนงาน (ตามข้อ 2) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
3.1 การก่อสร้างไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด เนื่องจากโครงการก่อสร้างของ กฟน. มีขนาดใหญ่ และพื้นที่ก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในเมือง ซึ่งมีโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคเดิมเป็นจำนวนมาก จึงเกิดปัญหาและอุปสรรคระหว่างก่อสร้าง ทำให้ไม่สามารถก่อสร้างได้ตามแบบ จำเป็นต้องแก้ไขและเปลี่ยนแปลงแบบใหม่ จึงทำให้เกิดความล่าช้า โดยในปัจจุบัน กฟน. ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ และหน่วยงานสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
3.2 ในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง กฟน. พบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้ามีปริมาณมากขึ้น เป็นผลให้ต้องมีการปรับแบบการก่อสร้างเพื่อรองรับการจ่ายไฟฟ้าใหม่ที่เพิ่มขึ้น
3.3 ปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างในการดำเนินโครงการร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภค เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และ กทม. ไม่เป็นไปตามแผนงานเนื่องจากแผนงาน/โครงการของหน่วยงานหลักยังไม่ได้ข้อสรุปในการดำเนินโครงการปัจจุบันหน่วยงานสาธารณูปโภคหลักอยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแผนงาน/โครงการ และแผนการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้ กฟน. สามารถบูรณาการแผนการดำเนินโครงการไปพร้อมกันได้
4. แผนการดำเนินงานในระยะต่อไป
กฟน. ได้พิจารณาร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับแผนดำเนินการโดยเร่งรัดระยะเวลาในการก่อสร้างให้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามแผนงานที่กำหนด
8. เรื่อง ขอปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 เรื่อง แนวทางการเตรียมบุคลากรก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม : การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 เรื่อง แนวทางการเตรียมบุคลากรก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและการพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมตามที่คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) เสนอ
เรื่องเดิม
คณะรัฐมนตรีมีมติ (4 มกราคม 2560) ดังนี้
1. เห็นชอบแนวทางการเตรียมบุคลากรก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและการพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ตามมติ กพยช. ครั้งที่ 4/2559 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2559 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ในฐานะประธาน กพยช. เสนอ โดยมีแนวทางการเตรียมบุคลากรก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา ดังนี้
1.1 ให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กำหนดนโยบายให้แก่สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีการเรียนการสอนสาขาวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ โดยบรรจุหัวข้อวิชาที่เป็นองค์ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมไว้ในหมวดวิชาบังคับ พร้อมทั้งติดตามผลการดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนและให้สอบถามความก้าวหน้า ปัญหาอุปสรรคของการดำเนินการด้วย โดยมีหัวข้อวิชา ได้แก่ หัวข้อวิชาที่ 1 กระบวนการยุติธรรมและกฎหมายในชีวิตประจำวัน1 และหัวข้อวิชาที่ 2 หลักสิทธิมนุษยชน คุณธรรม จริยธรรม และหลักธรรมาภิบาล2
1.2 ให้สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีการเรียนการสอนสาขาวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนโดยการบรรจุหัวข้อวิชาที่เป็นองค์ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมไว้ในหมวดวิชาบังคับ (ตามข้อ 1.1) พร้อมทั้งรายงานความก้าวหน้า และปัญหาอุปสรรคของการดำเนินการพัฒนาหลักสูตรให้สำนักงานกิจการยุติธรรม (สกธ.) ทราบ ภายในระยะเวลา 1 ปี หลังจากที่มีมติคณะรัฐมนตรี
2. ให้กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินโครงการหรือจัดทำหลักสูตรการศึกษาเพื่อเผยแพร่ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับงานด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้แก่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กพยช. รายงานว่า
1. ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติวันที่ 4 มกราคม 2560 ยธ. โดย สกธ. ในฐานะเลขานุการ กพยช. ได้ดำเนินการติดตามผลการดำเนินการของสถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีการเรียนการสอนสาขาวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ พบว่าในภาพรวมตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 - 2564 สรุปได้ ดังนี้
1.1) สถาบันอุดมศึกษาที่ดำเนินการตามข้อ 1.2 มีจำนวน 10 แห่ง จาก 117 แห่ง (คิดเป็นร้อยละ 8.55 ของสถาบันอุดมศึกษาทั้งหมด)
1.2) สถาบันอุดมศึกษาที่ดำเนินการด้วยวิธีอื่น อาทิ ปรับหัวข้อวิชาให้ตรง หรือสอดคล้องในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป หรือหมวดวิชาเลือกเสรี หรือหมวดวิชาเฉพาะ หรือสอดแทรกองค์ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมไว้ในรายวิชาที่มีการเรียนการสอนอยู่แล้ว มีจำนวน 88 แห่ง จาก 117 แห่ง (คิดเป็นร้อยละ 75.21 ของสถาบันอุดมศึกษาทั้งหมด)
1.3) สถาบันอุดมศึกษาที่ไม่มีการรายงานผลการดำเนินการ มีจำนวน 19 แห่ง จาก 117 แห่ง (คิดเป็นร้อยละ 16.24 ของสถาบันอุดมศึกษาทั้งหมด) ซึ่งจะเห็นได้ว่า สถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่มีความตั้งใจที่จะดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีแต่ยังไม่สามารถบรรจุหัวข้อวิชาที่เป็นองค์ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมไว้ในหมวดวิชาบังคับ (ตามข้อ 1.2) จึงเลือกดำเนินการในรูปแบบอื่น ๆ ไว้ก่อน ทั้งนี้ จากการประชุมหารือร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนมติคณะรัฐมนตรีพบปัญหาอุปสรรคที่ทำให้สถาบันอุดมศึกษาไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนี้
(1) สถาบันอุดมศึกษามีการปรับหลักสูตรทุก 5 ปี ตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรของ สกอ. ซึ่งการบรรจุหัวข้อวิชาดังกล่าวตามแนวทางที่ สกอ. ได้จัดทำ (ตามข้อ 1.1) อาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างหลักสูตร จำนวนหน่วยกิตทางการศึกษา
(2) สถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่มีการเรียนการสอนในหัวข้อวิชาที่เป็นองค์ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้ว แต่มีชื่อหัวข้อวิชาไม่ตรงตามที่กำหนดไว้หรือมีเนื้อหาสาระบางส่วนของรายวิชาใกล้เคียงกับหัวข้อวิชาที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ หรือมีชื่อหัวข้อวิชาตรงแต่ยังมีเนื้อหาวิชาไม่ครอบคลุมตามที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ทั้งหมด
(3) การเพิ่มหัวข้อวิชาในหลักสูตรการเรียนการสอนอาจส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการศึกษาและระยะเวลาการเรียนในหลักสูตร
(4) ทั้งหน่วยงานราชการและองค์กรอิสระต่างก็ประสงค์ให้นำเนื้อหาภารกิจของหน่วยงานตนเองบรรจุเป็นหัวข้อวิชาในหลักสูตรการเรียนการสอนของสถาบันอุดมศึกษาเช่นกัน
(5) สถาบันอุดมศึกษาขาดการสนับสนุนปัจจัยและทรัพยากรในการดำเนินการจัดการเรียนการสอน
นอกจากนี้ สถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมร่วมกันแล้วมีความเห็นตรงกันว่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและบรรลุเจตนารมณ์ตามมติคณะรัฐมนตรีจึงเห็นควรให้สถาบันอุดมศึกษาได้มีอิสระในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาตามความพร้อมและศักยภาพของสถาบันอุดมศึกษา
2. กพยช. [รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครื่องาม) เป็นประธาน] ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 ได้พิจารณาแนวทางการปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 เรื่อง แนวทางการเตรียมบุคลากรก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและการพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม และมีมติเห็นชอบแนวทางการปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว สรุปได้ ดังนี้
เดิม | ปรับเป็น |
ให้สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีการเรียนการสอนสาขาวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนโดยการบรรจุหัวข้อวิชาที่เป็นองค์ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมไว้ในหมวดวิชาบังคับ (ข้อ 1.2) | ให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถเลือกดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรได้ตามความพร้อมของสถาบันฯ โดยให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีสาขาวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ สามารถเลือกพิจารณาดำเนินการปรับปรุงหลักสูตร โดยบรรจุหัวข้อวิชาที่เป็นองค์ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 ไว้ใน
|
ให้ สกอ. ติดตามผลการดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนและให้สอบถามความก้าวหน้า ปัญหา อุปสรรคของการดำเนินการ (ข้อ 1.1) | ให้สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ประกาศเป็นนโยบายให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีสาขาวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งติดตามผลการดำเนินงาน การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน และให้สอบถามความก้าวหน้า ปัญหา อุปสรรคการดำเนินงาน |
ให้สถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนสาขาวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ รายงานความก้าวหน้า และปัญหาอุปสรรคของการดำเนินการพัฒนาหลักสูตร ให้ สกอ. ทราบภายในระยะเวลา 1 ปี หลังจากที่มีมติคณะรัฐมนตรี (ข้อ 1.2) | ให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีสาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ รายงานความคืบหน้าและปัญหาอุปสรรคของการดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ สป.อว. ได้รับทราบทุกปีงบประมาณ โดยให้ สป.อว. หารือวิธีการรายงานผลการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีร่วมกับ สกธ. |
3. สกธ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กพยช. แจ้งว่า เรื่องนี้มีความสำคัญต่อการเตรียมบุคลากรก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่มีเป้าหมายต้องการให้นิสิต นักศึกษาในสาขาวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม จึงเสนอให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีสาขาวิชาดังกล่าวมีอิสระในการบรรจุหัวข้อวิชาที่เป็นองค์ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมได้อย่างหลากหลายตามความพร้อมของสถาบันฯ เพื่อเป็นการลดปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการบรรจุหัวข้อวิชาดังกล่าว ทั้งนี้ เป็นไปโดยสอดคล้องกับมาตรา 169 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไปเว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี
________________
1 หัวข้อวิชาที่ 1 กระบวนการยุติธรรมและกฎหมายในชีวิตประจำวัน มีคำอธิบายรายวิชาประกอบด้วย แนวคิด หลักการ ความหมายของการบริหรงานยุติธรรมทางแพ่ง อาญา และปกครอง ประวัติและพัฒนาการของกระบวนการยุติธรรมสากล ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป กฎหมายสำคัญในการดำเนินชีวิต กฎหมายที่เป็นข้อบังคับของสังคมและประเทศชาติ หลักนิติธรรม กระบวนการยุติธรรมทางเลือก ปัญหา และอุปสรรคที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม
2 หัวข้อวิชาที่ 2 หลักสิทธิมนุษยชน คุณธรรม จริยธรรม และหลักธรรมาภิบาล มีคำอธิบายรายวิชาประกอบด้วย หลักสิทธิมนุษยชน บทบาทและการพัฒนาของสิทธิมนุษยชนระดับสากลและสังคมไทย มโนทัศน์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน นโยบายการพัฒนาของรัฐที่ส่งผลต่อสิทธิมนุษยชน แนวคิดทางด้านคุณธรรม จริยธรรม และความรับผิดชอบทางสังคมของบุคลากรภาครัฐ การปฏิบัติตนตามหลักธรรมาภิบาล ประเด็นปัญหาทางจริยธรรมในยุคโลกาภิวัฒน์ ผลกระทบทางสังคมและแนวทางการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม
9. เรื่อง รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนมีนาคม 2566 และไตรมาสแรกของ ปี 2566
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนมีนาคม 2566 และไตรมาสแรกของปี 2566 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนมีนาคม 2566
การส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 2566 มีมูลค่า 27,654.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (942,939 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 4.2 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 0.01 โดยการส่งออกเดือนนี้ หดตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ ทำมูลค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี (23,904.9 ล้านเหรียญสหรัฐ) และมีมูลค่าสูงสุดในรอบ 12 เดือน การส่งออกในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงถือได้ว่าทำได้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญหลายรายการมีสัญญาณที่ดีจากการกลับมาเป็นบวกในตลาดที่มีสัดส่วนสำคัญต่อการส่งออกของไทย อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย อีกทั้งยังกลับมาเกินดุลการค้าในรอบ 12 เดือน อย่างไรก็ตามภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนจากภาวะเงินเฟ้อที่แม้จะผ่อนคลายลงแต่ยังคงทรงตัวในระดับสูง นอกจากนี้ การเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมายังคงส่งผลกระทบต่อภาคธนาคาร ภาคธุรกิจ และกำลังซื้อของประชาชน ขณะที่การย่อตัวลงของราคาน้ำมันตามอุปสงค์ตลาดโลกที่ชะลอตัว ได้ส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันหดตัวลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ การส่งออกไทย ไตรมาสแรก หดตัวร้อยละ 4.5 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวร้อยละ 0.9
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปเงินเหรียญสหรัฐ เดือนมีนาคม 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 52,589.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 5.6 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกมีมูลค่า 27,654.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 4.2 การนำเข้า มีมูลค่า 24,935.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 7.1 ดุลการค้า เกินดุล 2,718.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวม ไตรมาสแรกของปี 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 143,604.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 2.5 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกมีมูลค่า 70,280.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 4.5 การนำเข้า มีมูลค่า 73,324.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 0.5 ดุลการค้า ไตรมาสแรกของปี 2566 ขาดดุล 3,044.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนมีนาคม 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 1,803,474 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.7 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 942,939 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.2 การนำเข้า มีมูลค่า 860,535 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 1.0 ดุลการค้า เกินดุล 82,403 ล้านบาท ภาพรวมไตรมาสแรกของปี 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 4,881,579 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.9 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 2,373,189 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 1.1 การนำเข้า มีมูลค่า 2,508,390 ล้านบาท ขยายตัว ร้อยละ 2.9 ดุลการค้า ไตรมาสแรกของปี 2566 ขาดดุล 135,201 ล้านบาท
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 4.2 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 73.9 (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเชีย ฟิสิปปินส์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย และลิเบีย) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 5.7 (ขยายตัวในตลาดจีน ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้และสหรัฐฯ) ข้าว ขยายตัวร้อยละ 7.2 (ขยายตัวในตลาดอิรัก แอฟริกาใต้ แองโกลา เซเนกัล และแทนซาเนีย) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 94.5 (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ อินโดนีเซีย ฮ่องกง และสหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 6.2 (ขยายตัวในตลาดอินเดีย เมียนมา เกาหลีใต้ กัมพูชา และจีน) เครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 13.2 (ขยายตัวในตลาดเวียดนาม จีน ลาว มาเลเซีย และอินโดนีเชีย) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ขยายตัวร้อยละ 47.9 (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ และสิงคโปร์) ขณะที่สินค้าสำคัญที่ หดตัว อาทิ ยางพารา หดตัวร้อยละ 41.1 (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ) อาหารสัตว์เลี้ยง หดตัวร้อยละ 25.0 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ออสเตรเลียและอิตาลี) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 17.8 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และมาเลเซีย) ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวร้อยละ 1.9
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 5.9 แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 1.4 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสหรัฐฯ) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 16.7 (ขยายตัวในสหรัฐฯ อิตาลี ฝรั่งเศส อินเดีย และอินโดนีเซีย) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัวร้อยละ 66.4 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม อินเดีย แคนาดา และจีน) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 27.4 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เม็กซิโก ฮ่องกง และแคนาดา) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 5.0 (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และฟิลิปินส์) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 55.9 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เยอรมนี และมาเลเซีย) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวร้อยละ 14.2 (หดตัวในตลาดจีน เวียดนาม กัมพูชา อินเดีย และญี่ปุ่น) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 6.0 (หดตัวในตลาดฮ่องกง จีน เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และไต้หวัน) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบหดตัวร้อยละ 13.7 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) หดตัวร้อยละ 3.5 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ อินเดีย เยอรมนี สหราชอาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์) ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 5.8
ตลาดส่งออกสำคัญ
การส่งออกไปยังตลาดสำคัญส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้น โดยหดตัวน้อยลงในหลายตลาด อาทิ จีน อาเซียน (5) และ CLMV และบางตลาดสำคัญเริ่มกลับมาขยายตัว อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น รัสเซียและกลุ่ม CIS สะท้อนว่า อุปสงค์จากประเทศคู่ค้าที่เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น แม้ว่าจะยังอยู่ในทิศทางชะลอตัว ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก หดตัวร้อยละ 0.8 หดตัวในตลาดจีน ร้อยละ 3.9 CLMV ร้อยละ 3.5 อาเซียน (5) ร้อยละ 2.1 และสหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 7.3 ขณะที่ สหรัฐฯและญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 1.7 และ 10.2 ตามลำดับ (2) ตลาดรอง หดตัวร้อยละ 3.4 โดยหดตัวในตลาดเอเชียใต้ร้อยละ 6.9 ทวีปออสตรเลีย ร้อยละ 23.3 แต่ขยายตัวในตลาดรัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 228.0 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 3.0 แอฟริกา ร้อยละ 2.1 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 5.9 และสหราชอาณาจักร ร้อยละ 5.8 (3) ตลาดอื่น ๆ หดตัวร้อยละ 39.5 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ หดตัวร้อยละ 43.5
มาตรการส่งเสริมการส่งออกและแนวโน้มการส่งออกระยะต่อไป
การส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการเชิงรุกและลึก เพื่อผลักดันและอำนวยความสะดวกการส่งออก โดยการดำเนินงานที่สำคัญในรอบเดือนที่ผ่านมา อาทิ (1) การดำเนินงานตามมาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก ปี 2566 เพื่อรับมือกับผลไม้ที่จะออกสู่ตลาด 6.78 ล้านตัน โดยแบ่งแผนงานออกเป็น 4 ด้าน คือ แผนการผลิต แผนการตลาดในประเทศ แผนการตลาดต่างประเทศ และแผนดูแลด้านกฎหมาย ผ่าน 22 มาตรการเชิงรุก เช่น การดูแลมาตรฐานสินค้าเพื่อการส่งออก การช่วยเหลือดอกเบี้ยและเงินช่วยเหลือแก่ผู้ส่งออกผลไม้ การเจรจาและจับคู่ซื้อขายทั้งแบบออนไสน์และออนไลน์ รวมไปถึง การจัดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ เป็นต้น โดยตั้งเป้าส่งออกผลไม้ปีนี้ไว้ที่ 4.4 ล้านตัน (2) การอำนวยความสะดวกส่งสินค้าผ่านแดนไปยังจีน โดยคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ได้เดินทางไปสำรวจด่านรถไฟโม่ฮาน และได้หารือกับผู้บริหารด่านศุลกากรเพื่อขอให้ช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งออกผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาดจีน รองรับฤดูกาลผลิตผลไม้ไทยปี 2566 ที่กำลังจะออกสู่ตลาด พร้อมตรวจสอบพื้นที่ลานตรวจสอบจำเพาะของสินค้าผลไม้ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการขนส่งผลไม้ของไทยผ่านด่านสำคัญของจีน และ (3) โครงการพัฒนาผู้ส่งออกรุ่นใหม่ : Young Exporter from Local to Global (YELG) ประจำปี 2566 ให้ความสำคัญกับการสร้างความพร้อมและพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ในภูมิภาคให้สามารถก้าวสู่ตลาดโลกอย่างมั่นคง โดยอบรมความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการส่งออกให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยของไทย
แนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัวเนื่องจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ ทั้งจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในแต่ละภูมิภาคของโลกยังคงอยู่ในระดับสูง ภาวะวิกฤตของสถาบันการเงินยังเป็นปัจจัยบั่นทอนต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ รวมไปถึงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อความผันผวนของราคาพลังงาน อย่างไรก็ตามจากการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ในใตรมาสแรกของปี 2566 ทั้งการรื้อฟื้นความสัมพันธ์และการเปิดตลาดใหม่ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และการทำความตกลงทางการค้าในระดับท้องถิ่นกับตลาดศักยภาพในจีน เกาหลีใต้ และอินเดีย ช่วยสนับสนุนการนำรายได้เข้าสู่ประเทศ และคาดว่าจะช่วยประคับประคองการส่งออกของไทยให้ผ่านพ้นภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกได้
10. เรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคง และเศรษฐกิจของประเทศ
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคง และเศรษฐกิจของประเทศ ดังนี้
1. เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ซึ่งเข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) ภายใต้บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน (Agreement) ซึ่งวาระการจ้างงานครบ 4 ปี
1.1 กลุ่มเป้าหมาย
1.1.1 คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ที่เข้ามาทำงานตาม MOU ที่วาระการจ้างงานครบกำหนด 4 ปี ระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 - 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565
1.1.2 คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ที่เข้ามาทำงานตาม MOU ที่วาระการจ้างงานครบกำหนด 4 ปี ระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566 - 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2566
1.2 แนวทางการดำเนินการ
1.2.1 การผ่อนผันให้คนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมายอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและทำงานเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 โดยใช้หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ใบอนุญาตทำงาน หรือเอกสารตามที่กรมการจัดหางานกำหนดเป็นหลักฐานแสดงการผ่อนผัน
1.2.2 ในระหว่างการผ่อนผัน ให้นายจ้างรายเดิมหรือรายใหม่ที่ประสงค์จะจ้างคนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมาย ให้ดำเนินการขออนุญาตนำคนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมายซึ่งได้รับการผ่อนผันเข้ามาทำงานตาม MOU ควบคู่ไปด้วย
1.2.3 ในระหว่างการผ่อนผัน ให้คนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมายที่หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางหมดอายุ หรือการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดสามารถเดินทางกลับประเทศได้ หรือเมื่อครบกำหนดการผ่อนผันแล้วให้คนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมายเดินทางกลับประเทศต้นทางโดยไม่มีความผิด
ทั้งนี้ เมื่อมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เรียบร้อยแล้วให้กระทรวงแรงงานเสนอเรื่องเพื่อพิจารณายกเลิกมติคณะรัฐมนตรีหรือปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีต่อไป
1.3 การดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
1.3.1 กระทรวงมหาดไทย ออกประกาศกระทรวงมหาดไทยโดยใช้อำนาจมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีผ่อนผันให้คนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมายอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศ ตามแนวทางที่กระทรวงแรงงานกำหนด รวมทั้ง การยกเว้นการอยู่ในราชอาณาจักรเกินระยะเวลาที่กำหนด และการยกเว้นการแจ้งตามมาตรา 37 และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และมาตราอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในระหว่างยังไม่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือหนังสือเดินทางฯ หมดอายุ และยกเว้นให้คนต่างด้าวที่หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางหมดอายุ หรือการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดสามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้โดยไม่มีความผิด
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย... การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อการทำงานสำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่....
1.3.2 กระทรวงแรงงาน ออกประกาศกระทรวงแรงงาน โดยใช้อำนาจตามมาตรา 14 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เพื่อผ่อนผันให้คนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมายทำงาน และให้นายจ้างรายเดิมหรือรายใหม่ที่ประสงค์จะจ้างคนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมายดำเนินการขออนุญาตนำคนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมายซึ่งได้รับการผ่อนผันเข้ามาทำงานตาม MOU ควบคู่ไปด้วย โดยให้เป็นไปตามแนวทางที่กรมการจัดหางานกำหนด
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ยกร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่...
2. การขยายระยะเวลาจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางและการตรวจลงตรา ของคนต่างด้าว 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งไม่สามารถจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง และการตรวจลงตรา ได้ทันภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566
2.1 กลุ่มเป้าหมาย
คนต่างด้าว 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งไม่สามารถจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือไม่สามารถประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ทันภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566
2.2 แนวทางการดำเนินการ
2.2.1 การผ่อนผันให้คนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมายอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและทำงานเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 โดยให้ใช้ใบรับคำขออนุญาตทำงานฉบับเดิมเป็นหลักฐานการผ่อนผัน
2.2.2 เมื่อคนต่างด้าวได้รับหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางแล้ว ให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตรวจลงตรา และตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 หรือได้ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 และตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566
ทั้งนี้ เมื่อมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เรียบร้อยแล้วให้กระทรวงแรงงานเสนอเรื่องพิจารณายกเลิกมติคณะรัฐมนตรีหรือปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีต่อไป
2.3 การดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2.3.1 กระทรวงมหาดไทย ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยใช้อำนาจมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี ผ่อนผันให้คนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมายอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศ ตามแนวทางที่กระทรวงแรงงานกำหนด รวมทั้งการยกเว้นการอยู่ในราชอาณาจักรเกินระยะเวลาที่กำหนด และการยกเว้นการแจ้งตามมาตรา 37 และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย...การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 (ฉบับที่ ..)
2.3.2 กระทรวงแรงงาน ออกประกาศกระทรวงแรงงาน โดยใช้อำนาจตามมาตรา 14 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เพื่อผ่อนผันให้คนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมายทำงาน ตามแนวทางที่กรมการจัดหางานกำหนด
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน ได้ยกร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 (ฉบับที่ ..)
2.3.3 กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ประสานประเทศต้นทางเพื่อออกหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ด้วยวิธีการตามที่ประเทศต้นทางร้องขอที่เห็นว่าเหมาะสม ทั้งนี้ วัน เวลา สถานที่ดำเนินการให้เป็นไปตามที่กรมการจัดหางานกำหนด
ทั้งนี้ การดำเนินการออกเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางให้ประเทศต้นทางเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย สำหรับหน่วยงานที่ร่วมดำเนินการให้เป็นไปตามที่กรมการจัดหางานร้องขอโดยใช้งบประมาณจากต้นสังกัด
2.3.4 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ดำเนินการตรวจลงตรา ตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร และย้ายรอยตราประทับ ตามแนวทางที่กระทรวงแรงงานกำหนด รวมทั้งการยกเว้นการอยู่ในราชอาณาจักรเกินระยะเวลาที่กำหนด และการยกเว้นการแจ้งตามมาตรา 37 และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และมาตราอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
3. เห็นชอบให้กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้นายจ้าง ผู้ประกอบการ แรงงานต่างด้าว และผู้ที่เกี่ยวข้องให้รับทราบข้อมูลการดำเนินการดังกล่าวอย่างทั่วถึง และขั้นตอนการดำเนินการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานตามระบบ MOU รวมทั้งการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายคนเข้าเมืองและกฎหมายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว
ต่างประเทศ |
11. เรื่อง สรุปผลการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 4 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ สรุปผลการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 4 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 เมษายน 2566 ณ เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยมีเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย นอกจากนี้ ยังมีผู้นำประเทศรวมถึงผู้แทนองค์กรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย 1) นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนจากประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง1 ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สปป.ลาว ประเทศไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม 2) ผู้แทนประเทศคู่เจรจา ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรน้ำแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และ 3) องค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้แทนรัฐบาลหุ้นส่วนการพัฒนาและองค์การระหว่างประเทศ โดยผลการประชุมต่าง ๆ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. การประชุมรัฐมนตรีร่วมกับประเทศคู่เจรจา หุ้นส่วนการพัฒนา และพันธมิตรอื่น ๆ เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 | ||||||||||||||
- ที่ประชุมฯ รับทราบความสำเร็จของการดำเนินงานที่สืบเนื่องจากการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 32 (การประชุมฯ ครั้งที่ 3) - ไทยได้มีถ้อยแถลงถึงการยกระดับความร่วมมือและการสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมในทุกมิติโดยการพัฒนาความร่วมมือที่มีอยู่ในหลายประการ เช่น 1) การพัฒนาการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่องโดยให้มีการทบทวนระเบียบวิธีปฏิบัติอยู่เสมอและปรับปรุงแก้ไขเมื่อจำเป็นให้สอดรับกับสถานการณ์ และ 2) การเพิ่มความเชื่อมั่นในการสร้างความร่วมมือด้วยข้อมูลที่เป็นพื้นฐานจากข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ให้มีความชัดเจนและแม่นยำในการคาดหมายการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง | ||||||||||||||
2. การหารือทวิภาคีระหว่างเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หัวหน้าคณะผู้แทนไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หัวหน้าคณะผู้แทน สปป.ลาว เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 | ||||||||||||||
หารือเรื่องแผนปฏิบัติการร่วมโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง3 เพื่อติดตามความก้าวหน้าและแนวทางการบรรเทาผลกระทบของโครงการ ซึ่ง สปป.ลาว ยินดีที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลและเชิญชวนให้ผู้แทนจากไทยเดินทางไปเยี่ยมชมโครงการดังกล่าวเพื่อรับทราบความก้าวหน้า นอกจากนี้ สปป.ลาว ได้สอบถามความก้าวหน้าของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม4 ซึ่งไทยได้ยืนยันความต้องการในการขอรับข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อการประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับไทยต่อไป | ||||||||||||||
3. การประชุมของนายกรัฐมนตรีประเทศสมาชิกอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 | ||||||||||||||
ไทยได้เสนอทัศนะในประเด็นต่าง ๆ เช่น การเน้นย้ำการพัฒนาลุ่มน้ำโขงบนหลักการของความยั่งยืนของทั้งลุ่มน้ำ โดยการเสริมสร้างและประสานความร่วมมือภายใต้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงกับกรอบความร่วมมืออื่น ๆ ในอนุภูมิภาค รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง โดยใช้จุดเด่นจากความร่วมมือในกรอบต่าง ๆ เพื่อเติมเต็มซึ่งกันและกัน เพื่อขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน | ||||||||||||||
4. การประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 4 (แบบเต็มคณะ) เมื่อวันที่ 5 เมยายน 2566 | ||||||||||||||
ที่ประชุมฯ ได้ร่วมกันทบทวนผลการดำเนินงานที่ผ่านมาตั้งแต่การประชุม ครั้งที่ 3 พบว่าการดำเนินงานประสบผลสำเร็จหลายประการ ขณะเดียวกันก็มีโอกาสและความท้าทายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคและเห็นพ้องในการรับรองปฏิญญาฉบับใหม่ คือ ปฏิญญาเวียงจันทน์ ค.ศ. 2023 (ไม่มีการลงนาม) ซึ่งเป็นผลลัพธ์สำคัญของการประชุมสุดยอดผู้นำลุมน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 4 ซึ่งได้มีการปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอของฝ่ายไทยที่ต้องการเน้นย้ำความสำคัญของการแบ่งปันข้อมูลการดำเนินโครงการใช้น้ำอย่างสม่ำเสมอและทันเวลา เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบข้ามพรมแดนที่อาจจะเกิดจากการดำเนินโครงการดังกล่าว รวมถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมของลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน (สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566) โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
|
__________________________________
1 คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ประกอบด้วย 4 ประเทศ จากลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ได้แก่ ไทย กัมพูขา สปป.ลาว และเวียดนาม จัดตั้งขึ้นตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 [คณะรัฐมนตรีมีมติ (28 กุมภาพันธ์ 2538) เห็นชอบร่างความตกลงฯ และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลงนามในความตกลง] โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือในการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุก ๆ ด้าน และได้มีหลักเกณฑ์ในการใช้น้ำโดยตกลงที่จะใช้น้ำอย่างสมเหตุสมผลและเป็นธรรมโดยได้กำหนดกฎและระเบียบปฏิบัติของการใช้น้ำร่วมกัน ทำให้การดำเนินโครงการใด ๆ ต้องน้ำเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกได้แลกเปลี่ยนความเห็น รวมทั้งแสดงความกังวลจากประชาชนเพื่อแจ้งแก่ประเทศเจ้าของโครงการนำไปพิจารณาปรับปรุงโครงการเพื่อลดผลกระทบข้ามแดนที่อาจจะเกิดขึ้น
2 คณะรัฐมนตรีมีมติ (28 สิงหาคม 2561) รับทราบสรุปผลการประชุมฯ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
3 โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาในลำน้ำโขงลำดับที่ 5 ต่อจากพลังน้ำเขื่อนไซยะบุรี ดอนสะโอง ปากแบง และปกลาย ตามลำดับ
4 โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม เป็นโครงการลำดับที่ 6 ในแม่น้ำโขงตอนล่าง
12. เรื่อง การรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุม High-Level Political Meeting (HLPM) ภายใต้กรอบความริเริ่มเพื่อความมั่นคงจากการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ไทยรับรองแถลงการณ์ร่วมเรื่อง Proliferation Security Initiative (PSI) 20th Anniversary: Joint Statement of the 2023 High-Level Political Meeting (HLPM) สำหรับการประชุม High-Level Political Meeting (HLPM) ภายใต้กรอบความริเริ่มเพื่อความมั่นคงจากการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (PSI) ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2566 ณ เกาะเจจู สาธารณรัฐเกาหลี ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่กระทบต่อสาระสำคัญของร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าวให้ผู้แทนสำนักงานฯ ในฐานะผู้แทนไทยในการประชุมฯ สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งเห็นชอบให้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือผู้แทนร่วมรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าวตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ
สาระสำคัญ
ร่างแถลงการณ์ร่วม Proliferation Security Initiative (PSI) 20th Anniversary: Joint Statement of the 2023 High-Level Political Meeting (HLPM) เป็นถ้อยแถลงที่แสดงความมุ่งหมายและเจตนารมณ์ทางการเมืองของรัฐสมาชิกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง โดยประกอบด้วยเนื้อสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 Reviewing Twenty Years of PSI Activities and Achievements เป็นส่วนที่ทบทวนกิจกรรมและความสำเร็จในการดำเนินการตาม PSI ในระยะที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำเร็จในการสกัดกั้นการโอนถ่ายอาวุธทำลายล้างสูงและเทคโนโลยี ส่วนที่ 2 Addressing the Changing International Security Environment and New Nonproliferation Challenges เป็นส่วนที่เน้นถึงสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน รวมถึงความท้าทายของการไม่แพร่ขยายอาวุธทำลายล้างสูงใหม่ และส่วนที่ 3 Exploring the Ways Forward เป็นส่วนที่เสนอแนะการดำเนินในอนาคตว่าควรจะมีแนวทางดำเนินการใดที่จะส่งเสริมให้ PSI เกิดความเข้มแข็งโดยการยึดมั่นดำเนินการในหลักการสกัดกั้นของ PSI ซึ่งเป็นกรอบสำคัญของรัฐสมาชิก
แต่งตั้ง |
13. เรื่อง การแต่งตั้งโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ การแต่งตั้งโฆษก ศธ. [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (5 มกราคม 2559) ที่ให้รัฐมนตรีว่าการทุกกระทรวงแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่โฆษกกระทรวงอย่างเป็นทางการ แล้วแจ้งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีรวบรวมรายชื่อเสนอคณะรัฐมนตรีทราบ] เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารของ ศธ. (เดิมมีนายวีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นโฆษก ศธ.) ดังนั้น เพื่อให้งานด้านการสื่อสารองค์กร การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร บทบาท ภารกิจ ผลการดำเนินงานของ ศธ. ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถูกต้องและสร้างความเข้าใจให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ศธ. ได้แต่งตั้ง นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นโฆษกประจำ ศธ. (คำสั่ง ศธ. ที่ 225/2566 เรื่อง แต่งตั้งโฆษก ศธ. ลงวันที่ 28 เมษายน 2566)
14. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแต่งตั้ง นางศิริเนตร กล้าหาญ ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ (นักพัฒนาระบบราชการทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน ก.พ.ร. ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการ ก.พ.ร. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (2) แล้ว