วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2567

Google Calendar เพื่อสร้างการนัดหมายและการประชุมอย่างมืออาชีพ

           Google Calendar คือ ปฏิทินออนไลน์ที่ได้รับความนิยมจาก Google ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้สามารถจัดการกิจกรรม, วางแผนงาน, และติดตามเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น. บริการนี้มีความสามารถที่ให้ผู้ใช้สร้างปฏิทินส่วนตัว, เพิ่มเหตุการณ์, ตั้งค่าการแจ้งเตือน, แชร์ปฏิทินกับผู้อื่น, และมีการซิงค์ข้อมูลกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อกับบัญชี Google

          Google Calendar มีประโยชน์อะไรบ้าง ?
           (1) วางแผนกิจกรรมและงานล่วงหน้า
           (2) ได้รับการแจ้งเตือนก่อนเหตุการณ์
           (3) ค้นหาและแสดงตารางเวลาได้อย่างสะดวก
           (4) สร้างปฏิทินหลายช่อง
           (5) ซิงค์กับอุปกรณ์ต่าง ๆ
           (6) แชร์ปฏิทินกับผู้อื่น

          ทั้งนี้สามารถเข้าใช้งาน Google Calendar ได้ที่นี่



ที่มา : สำนักงาน ก.พ. 

ทักษะดิจิทัลกับการทำงานยุค 4.0

ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล 9 ด้าน
       
  (1) การใช้งานคอมพิวเตอร์
          (2) การใช้งานอินเทอร์เน็ต
          (3) การใช้งานเพื่อความมั่นคงปลอดภัย
          (4) การใช้ดิจิทัลเพื่อความมั่นคงปลอดภัย
          (5) การทำงานร่วมกันแบบออนไลน์
          (6) การใช้โปรแกรมสร้างสื่อดิจิทัล
          (7) การใช้โปรแกรมนำเสนอผลงาน
          (8) การใช้โปรแกรมตารางคำนวณ
          (9) การใช้โปรแกรมประมวลผลคำ


ที่มา : สำนักงาน ก.พ.

วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2567

วิธีพัฒนาตนเองในการทำงาน

          (1) พัฒนาตนเองในงานอาชีพ เพื่อเพิ่มโอกาสในการก้าวไปสู่ความสำเร็จ และยังเป็นการพัฒนาตนเองให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
          (2) เรียนรู้ในสิ่งที่ตนไม่ถนัด โดยควรพยายามมองหาข้อดึในงานนั้น ๆ ก่อน อาทิ เป็นการฝึกทักษะความอดทนหรือช่วยให้เราได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ 
          (3) โฟกัสจุดที่ควรพัฒนาในการทำงาน โดยพัฒนาในสิ่งที่เราชอบและถนัด ซึ่งเป็นทางลัดที่ดีที่สุดในการพัฒนาตนเอง
          (4) รู้จักบริหารเวลาให้เป็น สาเหตุที่ต่อให้งานน้อยแค่ไหน เวลาก็ไม่เคยพอ นั่นมาจากการบริหารเวลาไม่เป็นจนทำให้ชีวิตวุ่นวาย และนำไปสู่การทำงานไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
          (5) กำหนดเป้าหมายในการทำงาน หากเรากำหนดเป้าหมายในการทำงานไว้อย่างชัดเจนทำใหเราสามารถกำหนดระยะเวลาในการทำงานแต่ละขั้นตอน




ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.)

แนวคิดพื้นฐานในการพัฒนาตนเองและการมีส่วนร่วมในองค์กร

          (1) มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่มีคุณค่าอยู่ในตัวเอง ทำให้สามารถฝึกหัดและพัฒนาตนได้เกือบทุกเรื่อง
          (2) ไม่มีบุคคลใดที่มีความสมบูรณ์พร้อมกันทุกด้าน จนไม่จำเป็นต้องพัฒนาในเรื่องใดๆ อีก
          (3) แม้บุคคลจะเป็นผู้ที่รู้จักตนเองได้ดีที่สุด แต่ก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนตนเองได้ ในบางเรื่องยังต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่นในการพัฒนาตน การควบคุมความคิด ความรู้สึก และการกระทำของตนเอง มีความสำคัญเท่ากับการควบคุมสิ่งแวดล้อมภายนอก
          (4) อุปสรรคสำคัญของการปรับปรุงและพัฒนาตนเอง คือ การที่บุคคลมีความคิดยึดติด ไม่ยอมปรับเปลี่ยนวิธีคิด และการกระทำจึงไม่ยอมสร้างนิสัยใหม่ หรือฝึกทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อตนเอง
          (5) การปรับปรุงและพัฒนาตนเองสามารถดำเนินการได้ทุกเวลาและต่อเนื่อง เมื่อพบปัญหาหรือข้อบกพร่องเกี่ยวกับตนเอง




ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.)

วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2567

รัฐบาลดิจิทัล ประเทศไทยดีขึ้น คว้าอันดับ 3 ของอาเซียนและอันดับที่ 55 จาก 193 ประเทศทั่วโลก

          

          องค์การสหประชาชาติได้เผยแพร่ ผลการสำรวจรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ประจำปี 2022 (The UN E-Government Survey 2022) โดย ดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government Development Index: EGDI) ประเทศไทยคว้าอันดับที่ 55 ของโลกเพิ่มขึ้น 2 อันดับ ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่มีการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลในระดับสูงมาก พร้อมก้าวเป็นรัฐบาลดิจิทัลเต็มรูปแบบ


ที่มา : สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.)

ความหมายของคำว่า “ขออนุญาต” กับ “อนุญาต” ในพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565

           “ขออนุญาต” หมายความรวมถึง ขอรับใบอนุญาต ขออนุมัติ ขอจดทะเบียน ขอขึ้นทะเบียน ขอแจ้ง ขอจดแจ้ง ขออาชญาบัตร ขอการรับรอง ขอความเห็นชอบ ขอความเห็น ขอให้พิจารณา ขออุทธรณ์ ร้องทุกข์ หรือร้องเรียน ขอให้ดำเนินการ ขอรับเงิน ขอรับสวัสดิการ และขอรับบริการอื่นใด จากหน่วยงานของรัฐ

          “อนุญาต” หมายความรวมถึง ออกใบอนุญาต อนุมัติ จดทะเบียน ขึ้นทะเบียน รับแจ้ง รับจดแจ้ง ออกอาชญาบัตร รับรอง เห็นชอบ ให้ความเห็น แจ้งผลการพิจารณา แจ้งผลการดำเนินการ จ่ายเงิน ให้ได้รับสวัสดิการ และให้บริการอื่นใดแก่ประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐ

           ทั้งนี้ สามารถอ่านรายละเอียดของพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ได้ที่นี่

วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2567

การจัดทำผลงานวิชาการ เพื่อประเมินบุคคลแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น

          การจัดทำผลงานวิชาการ

          ส่วนที่ 1 ผลงานที่เป็นผลการดำเนินการที่ผ่านมา

  • ชื่อผลงาน
  • ระยะเวลาดำเนินการ
  • ความรู้ทางวิชาการหรือแนวคิดที่ใช้ในการดำเนินการ
  • สรุปสาระสำคัญของเรื่องและขั้นตอนการดำเนินการ
  • ผู้ร่วมดำเนินการ
  • ส่วนของงานที่ผู้เสนอเป็นผู้ปฏิบัติ
  • ผลสำเร็จของงาน 
  • ความยุ่งยาก ปัญหา อุปสรรคในการดำเนินการ
  • ข้อเสนอแนะ 

          ส่วนที่ 2 ข้อเสนอ แนวคิด วิธีการ เพื่อพัฒนางานหรือปรับปรุงงานให้มีประสิทธิภาพ

  • ชื่อข้อเสนอ
  • หลักการและเหตุผล
  • วัตถุประสงค์หรือเป้าหมาย
  • กรอบการวิเคราะห์ แนวคิด ข้อเสนอ
  • ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
  • ตัวชี้วัดความสำเร็จ




ที่มา : FB Page ดอกบัวใต้เสาชิงช้า (https://www.facebook.com/sharedsaradd)


การเสนอหนังสือต่อผู้บังคับบัญชา

*กรณีเรื่องที่จะต้องมีการพิจารณาวินิจฉัยสั่งการเพื่อ

          (1) ต้นเรื่อง
                - กรณีเป็นเรื่องใหม่ "เขียนความประสงค์หรือความมุ่งหมาย"
                - กรณีเป็นเรื่องต่อเนื่อง "สรุปใจความสำคัญของเรื่องที่เคยติดต่อกันโดยย่อ"

          (2) ข้อกฎหมาย
                หากมีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ จะต้องใช้ประกอบการพิจารณา จะเพิ่มหัวข้อ "ข้อกฎหมาย" อีกหัวข้อหนึ่งก็ได้ เพื่อความสะดวกในการวินิจฉัยสั่งการ

         (3) ข้อเท็จจริง 
               เป็นการอธิบายเรื่องที่เกี่ยวข้อง

         (4) ข้อพิจารณาและเสนอแนะ
               สรุปเรื่องที่จะต้องให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาประกอบการตัดสินใจ

         (5) จึงเรียนมาเพื่อ
               ชี้ประเด็นผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการ เช่น เพื่อทราบ เพื่ออนุมัติ เพื่ออนุญาต เพื่อลงนาม



ที่มา : FB Page ดอกบัวใต้เสาชิงช้า (https://www.facebook.com/sharedsaradd)

วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2567

คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือ

          มาตรา 36 คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสืออย่างน้อยต้องระบุวัน เดือน และปี ที่ทำคำสั่ง ชื่อและตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่ง พร้อมทั้งมีลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งนั้น

          มาตรา 37 คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือและการยืนยันคำสั่งทางปกครอง เป็นหนังสือต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วย และเหตุผลนั้นอย่างน้อยต้องประกอบด้วย
         (1) ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ
         (2) ข้อกฎหมายที่อ้างอิง
         (3) ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ
         นายกรัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายอาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้คำสั่งทางปกครองกรณีหนึ่งกรณีใดต้องระบุเหตุผลไว้ในคำสั่งนั้นเองหรือในเอกสารแนบท้าย คำสั่งนั้นก็ได้

          ทั้งนี้ สามารถอ่านกฎหมายฉบับเต็มได้ที่นี่ พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 



ที่มา : FB Page ดอกบัวใต้เสาชิงช้า (https://www.facebook.com/sharedsaradd)


ประโยชน์ของบริการ e-Office

          e-Office เป็นบริการภายใต้นโยบายการขับเคลื่อนด้านดิจิทัลสำหรับองค์กรภาครัฐ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกระบวนการทำงานภายในองค์กร สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES)

          ประโยชน์ของบริการ e-Office
          (1) ลดเวลาการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดระยะเวลาจัดการเอกสาร ลดขั้นตอนการดำเนินการที่ซับซ้อน 

          (2) ลดการใช้กระดาษ จัดเก็บและส่งเอกสาร ผ่านระบบดิจิทัล ลดการใช้กระดาษ รักษ์สิ่งแวดล้อม 

          (3) ง่ายต่อการติดตาม ติดตามสถานะเอกสารได้ ตรวจสอบผู้แก้ไขเอกสาร ให้ความเห็นในขั้นตอนร่าง ตรวจสอบ อนุมัติเอกสารได้ 

          (4) ทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา ทำงานผ่านระบบออนไลน์ ทำงานผ่านเว็บเบราว์เซอร์ ใช้งานได้หลากหลายอุปกรณ์ / Platform 

          (5) ลงชื่อ Digital Signature มีมาตรฐานความปลอดภัย ด้วยใบรับรองที่ออกโดย CA โปร่งใส ปลอดภัย ตรวจสอบได้ 

          (6) เป็นระบบและปลอดภัย เก็บข้อมูลบนระบบ Cloud ลดความเสี่ยงข้อมูลสูญหาย มีความปลอดภัยในการใช้งานสูง




ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2567

4 คุณลักษณะของข้าราชการที่ดี

         4 คุณลักษณะของข้าราชการที่ดี

        (1) เป็นผู้มีบุคลิกลักษณะที่มีศักยภาพสูง
        (2) เป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ดี
        (3) เป็นคนดี ซื่อสัตย์ มีคุณธรรม จริยธรรม
        (4) มีความรู้ ความสามารถรอบด้าน เท่าทันเทคโนโลยี




ที่มา : True ปลูกปัญญา


สิทธิประโยชน์ว่าด้วยการลาของข้าราชการ

          สิทธิประโยชน์ว่าด้วยการลาของข้าราชการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. 2555 และพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบ หลักเกณฑ์ แนวทางปฏิบัติการลาที่เกี่ยวข้อง

          การลากับการจ่ายเงินเดือน

  • ลาป่วย ได้รับเงินเดือนระหว่างลา 60 - 120 วันทำการ
  • ลาพักผ่อน ได้รับเงินเดือนระหว่างลา (ลาได้ตามสิทธิที่มี)
  • ลากิจส่วนตัว ได้รับเงินเดือนระหว่างลา ลาได้ไม่เกิน 45 วันทำการ
  • ลาคลอดบุตร ได้รับเงินเดือนระหว่างลา 90 วัน
  • ลากิจส่วนตัวเพื่่อเลี้ยงดูบุตร ไม่ได้รับเงินเดือน (ลาต่อเนื่องจากการลาคลอดบุตร ลาได้ไม่เกิน 150 วันทำการ)
  • ลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร ลาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่่ภริยาคลอดบุตรให้ได้รับเงินเดือน โดยลาติดต่อกันได้ไม่เกิน 15 วันทำการ
  • ลาอุปสมบท/ประกอบพิธีฮัจย์ ได้รับเงินเดือนระหว่างลา ลาได้ไม่เกิน 120 วัน
  • ลาติดตามคู่สมรส ไม่ได้รับเงินเดือน (ลาได้ไม่เกิน 2 ปี) 
  • ลาไปฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ ได้รับเงินเดือนระหว่างลา ลาได้ไม่เกิน 12 เดือน




ที่มา : FB Page ดอกบัวใต้เสาชิงช้า (https://www.facebook.com/sharedsaradd)

วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2567

ประโยชน์ของ ITA หรือการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ทำแล้วดีอย่างไร?

          การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) เป็นการประเมินที่มีจุดมุ่งหมายที่จะก่อให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาด้านคุณธรรมและความโปร่งใสในหน่วยงานภาครัฐ โดยถือเป็นการประเมินที่ครอบคลุมหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 มีมติเห็นชอบให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือและเข้าร่วมการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 – 2564 โดยใช้แนวทางและเครื่องมือการประเมินตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนด 



ที่มา : สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.)



กพ.7 คืออะไร?

กพ.7 คืออะไร?
          เป็นเอกสารบันทึกย่อประวัติข้าราชการ โดยจัดทำเพียง 1 ฉบับ แล้วส่งเก็บรักษาไว้ที่สำนักงาน ก.พ. แบบ ก.พ.7 แบบเดิม เป็นแบบที่กำหนดขึ้นและใช้กันมาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2477 ต่อมาได้มีการปรับปรุงครั้งที่ 1 และใช้เฉพาะสำหรับข้าราชการพลเรือนผู้ได้รับราชการตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2505 เป็นต้นไป (หนังสือสำนักงาน ก.พ. ด่วนมาก ที่ นว 8/2505 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2505)

การขอดูทะเบียนประวัติข้าราชการ ก.พ. 7 ของตนเอง ต้องทำอย่างไร?

          เข้าระบบทะเบียนประวัติข้าราชการอิเล็กทรอนิกส์ (SEIS) ด้วยตนเองที่ เว็บไซต์สำนักงาน กพ. เพื่อดูประวัติของตนเองเท่านั้น 





ที่มา : สำนักงาน กพ.



วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2567

การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล

          เพื่อให้การบริหารงานภาครัฐและการจัดทำบริการสาธารณะเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และตอบสนองต่อการให้บริการและการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีการบริหารงานและการจัดทำบริการสาธารณะในรูปแบบและช่องทางดิจิทัล โดยมีการบริหารจัดการและการบูรณาการข้อมูลภาครัฐและการทำงานให้มีความสอดคล้องกันและ เชื่อมโยงเข้าด้วยกันอย่างมั่นคงปลอดภัยและมีธรรมาภิบาล โดยมุ่งหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพและ อำนวยความสะดวกในการให้บริการและการเข้าถึงของประชาชน และในการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐต่อ สาธารณะและสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้

          (1) การนำระบบดิจิทัลที่เหมาะสมมาใช้ในการบริหารและการให้บริการของหน่วยงานของรัฐ ทุกแห่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและให้มีการใช้ระบบดิจิทัลอย่างคุ้มค่าและเต็มศักยภาพ
          (2) การพัฒนามาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับระบบดิจิทัล และพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานด้านดิจิทัลที่จำเป็น ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างและพัฒนากระบวนการทำงานของหน่วยงานของรัฐให้มีความสอดคล้องและมีการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน รวมทั้ง มีความมั่นคงปลอดภัยและน่าเชื่อถือ โดยมีการบูรณาการและสามารถทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ เกิดการพัฒนาการบริการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพและนำไปสู่การบริหารราชการและการบริการประชาชน แบบบูรณาการ รวมทั้งให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวก
          (3) การสร้างและพัฒนาระบบความมั่นคงปลอดภัยในการใช้ระบบดิจิทัลและมาตรการปกป้อง คุ้มครองข้อมูลที่อาจกระทบถึงความมั่นคงหรือความเป็นส่วนตัวของประชาชนที่มีความพร้อมใช้และน่าเชื่อถือ
          (4) การเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะที่หน่วยงานของรัฐจัดทำและครอบครองในรูปแบบและช่องทางดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวก มีส่วนร่วมและตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐ และสามารถนำข้อมูลไปพัฒนาบริการและนวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในด้านต่าง ๆ
          (5) การรักษาวินัยการเงินการคลังภาครัฐและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณ ให้เกิดความคุ้มค่าและเป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินความคุ้มค่าใน การดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามการบริหารงานภาครัฐและการจัดทำบริการสาธารณะผ่านระบบดิจิทัล รวมทั้งพัฒนาให้มีกลไกการใช้ข้อมูลเพื่อลดความซ้ำซ้อนและเกิดความสอดคล้องกับแผนงานและ โครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานของรัฐ




ที่มา : FB Page ดอกบัวใต้เสาชิงช้า (https://www.facebook.com/sharedsaradd)


ยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

          เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลของประเทศไทยตามวิสัยทัศน์และแนวทางการพัฒนาตามภูมิทัศน์ดิจิทัลของประเทศไทย 4 ระยะ จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาไว้ 6 ยุทธศาสตร์ ที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน มีการกำหนดเป้าหมาย เพื่อให้สามารถติดตามและประเมินความก้าวหน้าได้อย่างชัดเจน และมีแผนงานเพื่อดำเนินการตามยุทธศาสตร์ ดังนี้ 
         
         1. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูง ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ : เข้าถึง พร้อมใช้ จ่ายได้
         2. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล : ขับเคลื่อน New S-Curve เพิ่มศักยภาพสร้างธุรกิจเพิ่มมูลค่า
         3. สร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล : สร้างการมีส่วนร่วม การใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
         4. ปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล : โปร่งใส อำนวยความสะดวก รวดเร็ว เชื่อมโยง เป็นหนึ่งเดียว
         5. พัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล : สร้างคน สร้างงาน สร้างความเข้มแข็งจากภายใน 
         6. สร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล : กฎระเบียบทันสมัย เชื่อมั่นในการลงทุน มีความมั่นคงปลอดภัย




ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ



วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2567

ชั้นความเร็วของหนังสือราชการ

           หนังสือที่ต้องปฏิบัติให้เร็วกว่าปกติ เป็นหนังสือที่ต้องจัดส่งและดําเนินการทางสารบรรณด้วยความรวดเร็ว เป็นพิเศษ แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
           1. ด่วนที่สุด ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติในทันทีที่ได้รับหนังสือนั้น
           2. ด่วนมาก ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติโดยเร็ว
           3. ด่วน ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติเร็วกว่าปกติเท่าที่จะทําได้
           
          ให้ระบุชั้นความเร็วด้วย ตัวอักษรสีแดง ขนาดไม่เล็กกว่าตัวพิมพ์โป้ง 32 พอยท์ ให้เห็นได้ชัดบนหนังสือและบนซอง
          ในกรณีที่ต้องการให้หนังสือส่งถึงผู้รับภายในเวลาที่กําหนด ให้ระบุคําว่า ด่วนภายใน และลงวันที่ เดือน ปี และกําหนดเวลาที่ต้องการให้หนังสือนั้นไปถึงผู้รับกับเจ้าหน้าที่ส่งถึงผู้รับซึ่ง ระบุบนหน้าซองภายในเวลาที่กําหนด ในกรณีที่ต้องการให้หนังสือส่งถึงผู้รับภายในเวลาที่กําหนด ให้ระบุคําว่า ด่วนภายใน และลงวัน เดือน ปี โดยกําหนดเวลาที่ต้องการให้หนังสือนั้นไปถึงผู้รับบนหน้าซอง


ที่มา : FB Page ดอกบัวใต้เสาชิงช้า (https://www.facebook.com/sharedsaradd)


การรู้ดิจิทัลและทักษะอนาคตในที่ทำงาน (Digital Literacy and Future Skills in Workplace)

          ในอดีตประเทศไทยเน้นการใช้แรงงานในการทำธุรกิจอุตสาหกรรม (Labour Intersive) แต่ในปัจจุบัน เป็นยุคที่ประเทศขับเคลื่อนด้วยการใช้ข้อมูลสารสนเทศ (Data Driven) เช่น การขับเคลื่อนในเรื่องของการใช้ AI/เทคโนโลยี/Smart Device/Automation Tool และฝึกฝึนให้คนมีความคิดสร้างสรรค์

          เริ่มต้นด้วยการปูพื้นฐาน เรื่อง Future Skill Set ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการทำงานยุคดิจิทัล ประกอบด้วย 4 มิติ

          1. ทักษะการแก้ปัญหา
             1.1 ทักษะการคิดวิเคราะห์และทักษะด้านนวัตกรรม
             1.2 ทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน
             1.3 ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์
             1.4 ทักษะความคิดสร้างสรรค์ และการริเริ่มสิ่งใหม่
             1.5 ทักษะการใช้เหตุผล การตัดสินใจ และทักษะการระดมความคิด

          2. ทักษะการบริหารจัดการตนเอง 
              2.1 ทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง
              2.2 ทักษะการรับมือกับปัญหา อดทนต่อความกดดัน ทักษะการปรับตัว

          3. ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น
              3.1 ทักษะการเป็นผู้นำและอิทธิพลทางสังคม

          4. ทักษะด้านเทคโนโลยี
              4.1 ทักษะการใช้ดูแลและจัดการเทคโนโลยี
              4.2 ทักษะการออกแบบและการเขียนโปรแกรม




ที่มา : สถาบันพัฒนาบุคลากรภาครัฐด้านดิจิทัล Thailand Digital Government Academy



วันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2567

6 ชนิดของหนังสือราชการ

     หนังสือราชการ หมายถึง เอกสารหลักฐานที่ใช้ในราชการ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 6 ชนิด ได้แก่
          1. หนังสือภายนอก คือ หนังสือติดต่อราชการที่เป็นแบบพิธีการ ใช้กระดาษตราครุฑ เป็นหนังสือติดต่อระหว่างส่วนราชการ หรือส่วนราชการมีถึงหน่วยงานอื่นซึ่งมิใช่ส่วนราชการ หรือมีถึงบุคคลภายนอก 
          2. หนังสือภายใน คือ หนังสือติดต่อราชการที่เป็นแบบพิธีน้อยกว่าหนังสือภายนอก เป็นหนังสือติดต่อภายในกระทรวง ทบวง กรม หรือจังหวัดเดียวกัน ใช้กระดาษบันทึกข้อความ
          3. หนังสือประทับตรา คือ หนังสือที่ใช้ประทับตราแทนการลงชื่อของหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมขึ้นไป โดยให้หัวหน้าส่วนราชการ ระดับกองหรือผู้ได้รับมอบหมาย เป็นผูู้รับผิดชอบลงชื่อย่อกำกับใช้ในกรณีที่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ได้แก่  การขอรายละเอียดเพิ่มเติม การสำเนาหนังสือ สิ่งของ เอกสาร การตอบรับทราบที่ไม่เกี่ยวกับราชการสำคัญ หรือการเงิน การแจ้งผลที่ดำเนินการไปแล้ว การเตือนเรื่องค้าง เป็นต้น
          4. หนังสือสั่งการ ได้แก่ คำสั่ง ระเบียบ ข้อบังคับ
              4.1 คำสั่ง คือ บรรดาข้อความที่ผู้บังคับบัญชาสั่งการให้ปฏิบัติโดยชอบด้วยกฎหมาย
              4.2 ระเบียบ คือ บรรดาข้อความที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ได้วางไว้เพื่อเป็นหลักปฏิบัติงานเป็นประจำ
              4.3 ข้อบังคับ คือ บรรดาข้อความที่ผู้มีอำนาจหน้าที่กำหนดให้ใช้
          5. หนังสือประชาสัมพันธ์ มี 3 ชนิด ได้แก่
              5.1 ประกาศ เพื่อประกาศหรือชี้แจงให้ทราบ
              5.2 แถลงการณ์ เพื่อทำความเข้าใจ
              5.3 ข่าว เพื่อเผยแพร่ให้ทราบ
          6. หนังสือที่เจ้าหน้าที่ทำขึ้นหรือรับไว้ในราชการ มี 4 ชนิด ได้แก่
              6.1 หนังสือรับรอง ได้แก่ หนังสือที่ส่วนราชการออกให้เพื่อรับรองแก่บุคคล นิติบุคคล หรือหน่วยงาน เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง
              6.2 รายงานการประชุม คือ บันทึกความคิดเห็นของผู้ที่มาประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมและมติที่ประชุมไว้เป็นหลักฐาน
              6.3 บันทึก ใช้กระดาษบันทึกข้อความ มีลักษณะ ดังนี้
                    6.3.1 ข้อความที่ผู้ใต้บังคับบัญชาเสนอต่อผู้บังคับบัญชา
                    6.3.2 ผู้บังคับบัญชาสั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชา
                    6.3.3 เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานระดับต่ำกว่ากรมติดต่อกันในการปฏิบัติราชการ
             6.4 หนังสืออื่น เช่น ภาพถ่าย ฟิล์ม แถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพ สัญญา คำร้อง เป็นต้น


ที่มา : FB Page ดอกบัวใต้เสาชิงช้า (https://www.facebook.com/sharedsaradd)



โทษทุจริตของการจัดซื้อจัดจ้าง ตามมาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560

          มาตรา 120 ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่หรือเป็นผู้มีอํานาจหน้าที่ในการดําเนินการเกี่ยวกับการจัดซื้อ จัดจ้างหรือการบริหารพัสดุ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุ ตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดซื้อจัดจ้าง หรือการบริหารพัสดุตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ โดยทุจริต ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ผู้ใดเป็นผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนในการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง ผู้นั้นต้องระวางโทษตามที่ กําหนดไว้สําหรับความผิดตามวรรคหนึ่ง

ที่มา : FB Page ดอกบัวใต้เสาชิงช้า (https://www.facebook.com/sharedsaradd)



หลักในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติ การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

          

          “การจัดซื้อจัดจ้าง” หมายความว่า การดําเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุโดยการซื้อ จ้าง เช่า แลกเปลี่ยน หรือโดยนิติกรรมอื่นตามที่กําหนดในกฎกระทรวง
          “พัสดุ” หมายความว่า สินค้า งานบริการ งานก่อสร้าง งานจ้างที่ปรึกษาและงานจ้างออกแบบ หรือควบคุมงานก่อสร้าง รวมทั้งการดําเนินการอื่นตามที่กําหนดในกฎกระทรวง

หลักในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติ การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
          
การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุของหน่วยงานของรัฐต้องก่อให้เกิด ประโยชน์สูงสุดแก่หน่วยงานของรัฐ และต้องสอดคล้องกับหลักการ ดังต่อไปนี้
         (1) คุ้มค่า โดยพัสดุที่จัดซื้อจัดจ้างต้องมีคุณภาพหรือคุณลักษณะที่ตอบสนองวัตถุประสงค์ ในการใช้งานของหน่วยงานของรัฐ มีราคาที่เหมาะสม และมีแผนการบริหารพัสดุที่เหมาะสมและชัดเจน
         (2) โปร่งใส โดยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุต้องกระทําโดยเปิดเผย เปิดโอกาสให้มี การแข่งขันอย่างเป็นธรรม มีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมกัน มีระยะเวลาที่เหมาะสม และเพียงพอต่อการยื่นข้อเสนอ มีหลักฐานการดําเนินงานชัดเจน และมีการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุในทุกขั้นตอน
         (3) มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยต้องมีการวางแผนการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ ล่วงหน้าเพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีกําหนดเวลาที่เหมาะสม โดยมีการประเมินและเปิดเผยผลสัมฤทธิ์ของการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ
         (4) ตรวจสอบได้ โดยมีการเก็บข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุอย่างเป็นระบบ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ


ที่มา : FB Page ดอกบัวใต้เสาชิงช้า (https://www.facebook.com/sharedsaradd)



วันอังคารที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2567

วิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560


มาตรา 55 การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุอาจกระทําได้โดยวิธี ดังต่อไปนี้
          (1) วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป ได้แก่ การที่หน่วยงานของรัฐเชิญชวนผู้ประกอบการทั่วไปที่มี คุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่หน่วยงานของรัฐกําหนดให้เข้ายื่นข้อเสนอ
          (2) วิธีคัดเลือก ได้แก่ การที่หน่วยงานของรัฐเชิญชวนเฉพาะผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติ ตรงตามเงื่อนไขที่หน่วยงานของรัฐกําหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสามรายให้เข้ายื่นข้อเสนอ เว้นแต่ในงานนั้น มีผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กําหนดน้อยกว่าสามราย
          (3) วิธีเฉพาะเจาะจง ได้แก่ การที่หน่วยงานของรัฐเชิญชวนผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติ ตรงตามเงื่อนไขที่หน่วยงานของรัฐกําหนดรายใดรายหนึ่งให้เข้ายื่นข้อเสนอ หรือให้เข้ามาเจรจาต่อรองราคา รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุกับผู้ประกอบการโดยตรงในวงเงินเล็กน้อยตามที่กําหนดในกฎกระทรวง ที่ออกตามความในมาตรา 96 วรรคสอง


ที่มา : FB Page ดอกบัวใต้เสาชิงช้า (https://www.facebook.com/sharedsaradd)

ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ใช่เรื่องไกลตัว!!!

การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบและนโยบาย งดให้ – งดรับของขวัญ หรือประโยชน์อื่นใด (No Gift Policy) 

        แผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ฉบับปรับปรุง) มีจุดมุ่งหมายโดยรวมให้ประเทศไทยมีระดับคะแนนดัชนีการรับรูปการทุจริต (Corruption Perception Index : CPI) อยู่ใน 20 อันดับแรกของโลก ในปี 2579 มีมาตรการควบคุม กำกับ ติดตาม การบริหารจัดการของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารภาครัฐให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้ ยกระดับการบังคับใช้มาตรการทางวินัย มาตรการทางปกครอง ปรับปรุงประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายในกระบวนการยุติธรรม และให้มีกลไกที่เหมาะสมในการประสานงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบในระดับนโยบายยุทธศาสตร์ และการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ เพื่อให้ประเทศไทยปลอดทุจริต โดยกำหนดกิจกรรมปฏิรูปที่สำคัญ คือ “พัฒนาระบบราชการไทยให้โปร่งใส ไร้ผลประโยชน์” ซึ่งมีเป้าหมาย คือ หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยประกาศเป็นหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy)                                    

วัตถุประสงค์ของ No Gift Policy                   
        1. เพื่อป้องกัน หรือลดโอกาสในการรับสินบน ผลประโยชน์ทับซ้อนในรูปแบบต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ 
        2. เพื่อส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ มีจิตสำนึกในการปฏิเสธการรับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่่ 
        3. เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรคุณธรรมและโปร่งใส (Organization of Integrity) ของระบบราชการให้เข้มแข็งและยั่งยืน
        4. เพื่อสนับสนุนและยกระดับการดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทฯ และแผนปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในหน่วยงานภาครัฐ (ITA)   


 
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ


กรอบมาตรฐานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity Framework)

กรอบมาตรฐานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity Framework)


          เป็นข้อกำหนดขั้นต่ำด้านไซเบอร์ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศนำไปปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้หน่วยงานสามารถยกระดับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วย 5 กรอบมาตรฐาน โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 

          1. การระบุความเสี่ยง (Identify) ที่อาจจะเกิดขึ้นแก่คอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์ ทรัพย์สินและชีวิตร่างกายของบุคคล
          2. มาตรการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น (Protect)
          3. มาตรการตรวจสอบและเฝ้าระวังภับคุกคามทางไซเบอร์ (Detect)
          4. มาตรการเผชิญเหตุเมื่อมีการตรวจพบภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Respond)
          5. มาตรการรักษาและฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Recovery)



ที่มา : สํานักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.)


วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2567

ทำความรู้จัก ChatGPT (AI) สุดอัจฉริยะที่ตอบได้สารพัดคำถาม


          ChatGPT สามารถทำอะไรได้บ้าง 
          ChatGPT เป็นอีกหนึ่ง AI ที่มีความสามารถรอบด้าน ได้แก่
          1. ความสามารถในการตอบคำถาม เป็นความสามารถขั้นพื้นฐานที่สุดของ ChatGPT โดยเพียงแค่พิมพ์สิ่งที่สงสัยลงไปจะได้คำตอบ ออกมาในเวลาไม่นาน แต่ความน่าสนใจไม่ได้อยู่เพียงการตอบคำถามเท่านั้น ยังสามารถสร้างคำถามหรือตั้ง เงื่อนไขที่มีความซับซ้อนขึ้น เพื่อให้ ChatGPT แสดงคำตอบออกมาได้หลากหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น เป็นตารางข้อมูลหรือแสดงข้อมูลออกมาเป็นหัวข้อก็สามารถแสดงออกมาได้
          2. การแปลจากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่ง การแปลภาษาเป็นอีกหนึ่งความสามารถที่ ChatGPT ทำได้ ผ่านการเรียนรู้จาก Machine Learning ฝึกฝนด้วยข้อมูลด้านภาษาจำนวนมหาศาลจากแหล่งข้อมูลในระบบอินเตอร์เน็ตทั่วโลก ในด้านประสิทธิภาพ ทำได้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ สามารถใช้ ChatGPT ภาษาไทยได้ แต่การแปลอาจยังไม่สมบูรณ์มากนัก
          3. สามารถสร้างสรรค์งานเขียนในรูปแบบต่าง ๆ หนึ่งในความสามารถที่ทำให้ผู้ทำงานด้านงานเขียนมีความกังวลกับ ChatGPT เพราะสามารถทำได้ ตั้งแต่การแต่งเรื่องสั้น แต่งนิยาย ช่วยเขียนบทความ ไปจนถึงการแต่งเพลง การใช้งานในภาษาไทยในฟังก์ชันนี้ ChatGPT ยังทำได้ไม่ดีนัก แต่สามารถนำผลลัพธ์มาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนางานต่อได้
          4. คิดหัวข้อ Cover Letter รวมถึงออกแบบ Resume สำหรับผู้เริ่มต้นสมัครงานหรือต้องการหางานใหม่ ChatGPT สามารถออกแบบ Cover Letter รวมถึง ออกแบบตัวอย่าง Resume อย่างง่ายเพื่อเป็นแนวทางให้นำไปปรับใช้
          5. แก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ChatGPT มีความสามารถทางด้านการคำนวณกับการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ได้ตั้งแต่คำถามแบบ ง่าย ไปจนถึงโจทย์คณิตศาสตร์ที่มีความซับซ้อน ChatGPT ไม่เพียงหาคำตอบมาให้ แต่พร้อมให้คำอธิบาย อย่างละเอียดแบบบรรทัดต่อบรรทัด
         6. ความสามารถด้านโปรแกรมขั้นพื้นฐานเขียน Code หรือ Debug Code ChatGPT สามารถเขียน Code แบบพื้นฐานได้ ยังสามารถ Debug Code ของโปรแกรมเพื่อช่วยลด ข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ จึงทำให้ ChatGPT เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่เข้ามาช่วยลดการทำงานปลีกย่อยของ เหล่า Programmer ลงได้


       👉สามารถลองเข้าใช้งาน ChatGPT ได้ที่นี่





ที่มา : สํานักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.)



ความหมายและลักษณะของหนังสือประทับตรา


หนังสือประทับตรา คืออะไร ?

          หนังสือประทับตรา คือ หนังสือติดต่อราชการที่ใช้ประทับตราแทนการลงชื่อของหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมขึ้นไป โดยให้หัวหน้าส่วนราชการระดับกรมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมขึ้นไป เป็นผู้รับผิดชอบลงชื่อย่อกำกับตราใช้กระดาษตราครุฑเขียน

หนังสือประทับตรา ใช้ในกรณีใด ?

          หนังสือประทับตราใช้ได้ทั้งระหว่างส่วนราชการกับส่วนราชการ ระหว่างส่วนราชการกับหน่วยงานที่มิใช่ส่วนราชการ และระหว่างส่วนราชการกับบุคคลทั่วไป แต่ใช้ได้เฉพาะกรณีที่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ได้แก่ 

          1. การขอรายละเอียดเพิ่มเติม
          2. การส่งสำเนาหนังสือ ส่งสิ่งของหรือเอกสาร
          3. การตอบรับทราบที่ไม่เกี่ยวกับราชการสำคัญหรือการเงิน
          4. การแจ้งผลงานที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทราบ
          5. การเตือนเรื่องค้าง
          6. เรื่องซึ่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมขึ้นไป กำหนดโดยทำเป็นคำสั่งให้ใช้หนังสือประทับตรา 




ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.)


วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2567

แนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2566 – 2570

เป้าหมายของการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2566 – 2570
    1. ประชาชนและผู้รับบริการ มีความพึงพอใจต่อการปฏิบัติราชการ
    2. หน่วยงานภาครัฐ มีการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร และการสร้างสมดุลคุณภาพชีวิตที่ดี
    3. บุคลากรภาครัฐ มีการพัฒนาตนเอง และสามารถขับเคลื่อนภารกิจ พัฒนาองค์กร และตอบสนองความต้องการประชาชน


ประเด็นการพัฒนา
     ประเด็นการพัฒนาที่ 1 การพัฒนาองค์กรเพื่อเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้และพัฒนา เพื่อให้หน่วยงานของรัฐสามารถสร้างและพัฒนาองค์กรสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ มีการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม มีการทุ่มเททรัพยากรเพื่อลงทุนให้บุคลากรทุกระดับเกิดการเรียนรู้ ตลอดจนสร้างค่านิยมเกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรม และทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ จนกลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กร
     ประเด็นการพัฒนาที่ 2 การพัฒนากรอบแนวคิดและทักษะให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงานเพื่อขับเคลื่อนภารกิจภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้บุคลากรทุกระดับได้รับการพัฒนากรอบแนวคิดและทักษะให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงานที่ท้าทาย เพื่อขับเคลื่อนภารกิจภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ
     ประเด็นการพัฒนาที่ 3 การพัฒนากรอบความคิดและทักษะด้านดิจิทัล
เพื่อขับเคลื่อนการเป็นรัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้บุคลากรทุกระดับได้รับการพัฒนาด้านดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนภารกิจ พัฒนาองค์กรสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล และตอบสนองความต้องการของประชาชน

ผลลัพธ์ที่คาดหวัง

การดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากร ภายใต้แนวคิด

“การเรียนรู้ได้เร็ว เข้าถึงแหล่งความรู้ได้ง่าย นำไปใช้งานได้จริง สร้างประโยชน์ และติดตามผลได้เร็วอย่างเป็นระบบ”


บทบาทหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินการ 

     1. บุคลากรภาครัฐ มีหน้าที่เรียนรู้และพัฒนาตนเองทั้งในด้านกรอบความคิดและทักษะให้สามารถทำงานตามบทบาทหน้าที่ และระดับตำแหน่งของตนเอง 

     2. ผู้บังคับบัญชาทุกระดับ มีหน้าที่สร้างสภาพแวดล้อมและระบบการทำงานที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ ให้ทรัพยากรที่จำเป็น รวมทั้ง ดูแลและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำงาน และการเรียนรู้และพัฒนาแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเหมาะสม 

     3. ผู้บริหารส่วนราชการ/หน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่กำหนดทิศทางขององค์กรและทิศทางด้านบุคลากรให้มีความชัดเจน ทำงาน ร่วมกับผู้รับผิดชอบด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลของส่วนราชการ/หน่วยงานภาครัฐ 

     4. ผู้รับผิดชอบด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลของส่วนราชการ/หน่วยงานภาครัฐ มีหน้าที่ทำงานร่วมกับผู้บริหารในการกำหนดทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ด้านการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลของหน่วยงาน รวมทั้ง ให้การสนับสนุนผู้บังคับบัญชาทุกระดับในการทำหน้าที่และรับผิดชอบการเรียนรู้และพัฒนาผู้ใต้บังคับบัญชา 

     5. สำนักงาน ก.พ. มีหน้าที่ออกแบบนโยบายการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนา ตลอดจนพัฒนาระบบการบริหารและพัฒนาบุคลากรภาครัฐ




                                                      
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.)


ระบบการสื่อสารแบบรวมศูนย์ (workD Platform)



          ระบบการสื่อสารแบบรวมศูนย์ (workD Platform) ระบบที่ใช้ติดต่อสื่อสารภายในหน่วยงานภาครัฐแบบรวมศูนย์บนแพลตฟอร์มเดียวกัน หรือ workD Platform ที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และสนับสนุนการทำงานแบบ Hybrid Working แม้อยู่ต่างสถานที่กันก็สามารถเชื่อมต่อและทำงานร่วมกันได้ ซึ่งประกอบไปด้วย
         1. workD Mail - ระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์
         2. workD Chat - การส่งข้อความเพื่อสนทนากับบุคคลหรือการจัดการสนทนากลุ่มบุคคล
         3. workD Meet - ระบบประชุมอิเล็กทรอนิกส์ และนัดหมาย
         4. workD Meet+ - ระบบประชุมอิเล็กทรอนิกส์และนัดหมาย สำหรับวาระลับ


ที่มา : สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.)

บทเรียนออนไลน์เพื่อการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลสำหรับบุคลากรภาครัฐ ผ่านระบบ e-Learning ของ สพร.

บทเรียนออนไลน์ Upskill & Reskill เพื่อยกระดับการพัฒนาทักษะให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

⏩ สามารถเข้าเรียนฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย และได้ใบประกาศนียบัตรออนไลน์
⏩ มีบทเรียนทั้งหมด 7 หมวด ประกอบด้วย
1. หมวด Digital Literacy
2. หมวด Digital Governance, Standard, and Compliance
3. หมวด Digital Technology
4. หมวด Digital Process and Service Design
5. หมวด Digital Leadership
6. หมวด Digital Transformation
7. หมวด Strategic and Project Management

👉 สามารถเข้าเรียนได้ที่เว็บไซต์ สถาบันพัฒนาบุคลากรภาครัฐด้านดิจิทัล (TDGA)
👉 คู่มือการสมัครสมาชิก คลิกดาวน์โหลด
👉 คู่มือการเรียนออนไลน์และพิมพ์ใบประกาศนียบัตร คลิกดาวน์โหลด



ที่มา : สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.)



การใช้ e-Signature เพื่อการปฏิบัติราชการ

     
    e-Signature หรือ ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทำหน้าที่เหมือนลายเซ็นบนกระดาษ

     e-Signature เป็นรูปแบบใดได้บ้าง
     1. การพิมพ์ชื่อไว้ในตอนท้ายของอีเมล
     2. รูปลายเซ็นของเราที่ตัดแปะไว้บนเอกสารต่างๆ ที่อยู่ในคอมพิวเตอร์
     3. การกดยอมรับ หรือทำเครื่องหมายในช่องแสดงการยอมรับ “ข้อตกลงและเงื่อนไข” (Terms and Conditions) ของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันต่างๆ ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาว่ายอมรับเงื่อนไขหรือข้อกำหนดตามที่ข้อความแจ้งไว้ทั้งหมด
     4. 
การกระทำใดๆ ภายใต้การล็อกอินผ่าน Username และ Password ของตน ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ข้อความ การแชท การสั่งซื้อของออนไลน์ ล้วนถือเป็นการกระทำภายใต้การเซ็นชื่อยินยอมมีพันธะสัญญาทางกฎหมายกับการกระทำและเอกสารเหล่านั้น
     5. 
ลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature)

     หัวใจสำคัญของ e-Signature
     1. ต้องระบุตัวตนเจ้าของ e-Signature ได้ เพื่อเป็นหลักฐานที่สามารถระบุตัวเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้นได้ 
     2. ทำให้เกิดหลักฐานการแสดงเจตนาของเจ้าของลายเซ็นเกี่ยวกับเอกสารที่ได้เซ็นไว้ในการทำธุรกรรมออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การอนุมัติ เห็นชอบ หรือยอมรับข้อความ การรับรองหรือยืนยันความถูกต้อง การตอบแจ้งการเข้าถึงหรือการรับข้อความ และการเป็นพยานให้กับการลงลายชื่อของผู้อื่น

     e-Signature ที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย 
     เพื่อเป็นการรองรับหลักความเป็นกลางทางเทคโนโลยี (Technology Neutrality) ที่สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีใดก็ได้ในการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผู้ใช้งานมีความยืดหยุ่น สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีตามความเหมาะสมกับความเสี่ยงของธุรกรรมนั้น ๆ แต่เพื่อให้เป็น e-Signature ที่สมบูรณ์และได้รับการรับรองด้วยกฎหมายแล้วนั้น e-Signature จะต้องมีองค์ประกอบครบทั้ง 3 ข้อ ดังต่อไปนี้
     1. สามารถระบุตัวตนของเจ้าของลายเซ็นได้ ว่าผู้เซ็นคือใคร
     2. สามารถระบุเจตนาตามข้อความที่เซ็นได้ ว่าเซ็นเพื่ออะไร
     3. มีการรักษาความครบถ้วนของข้อมูล มีหลักฐานแสดงได้ว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงความหมายของข้อความที่ลงลายมือชื่อ หรือใช้วิธีการที่เชื่อถือได้ในการเซ็น เช่น ทำผ่านระบบที่มีความปลอดภัย มีหลักฐาน พยาน หรือบุคคลที่ 3 ที่รับรองการเซ็น เป็นต้น


ที่มา : สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.)


วันอังคารที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2567

ประโยชน์ที่หน่วยงานภาครัฐจะได้รับจากการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน

        

        AI ย่อมาจาก “Artificial Intelligence” โดยภาษาไทยใช้คำว่า “ปัญญาประดิษฐ์” หมายถึง ระบบประมวลผลของคอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ เครื่องจักร หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่มีการวิเคราะห์เชิงลึกคล้ายความฉลาดของมนุษย์ และสามารถก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นการกระทำได้ ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ของ AI นี้ ไม่ต่างจากการเรียนรู้ของมนุษย์ กล่าวคือ เป็นกระบวนการจดจำ ทำความเข้าใจ ตอบสนองต่อภาษา ตัดสินใจ และแก้ไขปัญหา โดยอาศัยข้อมูลจำนวนมากที่มี ลักษณะซ้ำ ๆ เหมือนกัน ทั้งนี้แล้วการใช้ AI ที่ถูกต้อง เหมาะสม และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น จำเป็นต้องมี การวิเคราะห์ และเลือกสรรให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ของการใช้งาน คำนึงถึงข้อมูลที่ใช้เป็นฐานในการทำนาย และมี การบำรุงรักษา AI โดยการติดตาม และตรวจสอบกลไกการทำงานของ AI ให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ รวมถึงจำเป็นต้องมี ข้อมูลใหม่ ๆ ที่รวบรวมเข้าสู่ฐานข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับการวิเคราะห์ และประมวลผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะพัฒนาให้ AI ฉลาดขึ้น และสามารถทำนายพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่จะนำไปใช้ในกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายได้อย่างแม่นำ

        ประโยชน์ที่หน่วยงานภาครัฐจะได้รับจาการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน มีดังนี้
        1. เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ เพิ่มคุณภาพการให้บริการ ลดความซ้ำซ้อนและลดทรัพยากรในการทำงาน สามารถสร้างมาตรฐานและวัดผลได้ รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาการทำงานของหน่วยงานภาครัฐและปัญหาการทุจริตได้
        2. ลดการใช้ทรัพยากรด้านกำลังคน งบประมาณ และเวลาการทำงานให้ลดลง
        3. เพิ่มผลิตภาพ ยกระดับการทำงานโดยรวมให้ดียิ่งขึ้น
        4. เพิ่มคุณภาพชีวิต ทั้งบุคลากรภาครัฐและภาคประชาชน

        สามารถดาวน์โหลด PDF ความรู้เกี่ยวกับ AI เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ได้ที่เว็บไซต์ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)




ที่มา : สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)


แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการประชุมลับผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการประชุมลับผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ต้องมีการดำเนินการ ดังต่อไปนี้

            1. จัดเตรียมมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเพื่อป้องกันมิให้บุคคลที่ไม่มีสิทธิร่วมประชุมรู้หรือล่วงรู้ถึงข้อมูลการประชุม เอกสารประกอบการประชุม ข้อมูลที่นำเสนอในระหว่างการประชุม หรือข้อมูล ที่เกี่ยวข้อง และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กำหนด
            ข้อควรระวัง กรณีเรื่องที่หน่วยงานของรัฐได้กำหนดชั้นความลับไว้ให้ใช้ระบบควบคุม การประชุมที่ติดตั้งและให้บริการในราชอาณาจักร โดยต้องไม่จัดเก็บข้อมูลหรือหลักฐานส่วนหนึ่งส่วนใดไว้ นอกราชอาณาจักร ทั้งนี้ ผู้ให้บริการต้องรับรองต่อผู้มีหน้าที่จัดการประชุมว่าได้ดำเนินการตามข้อกำหนดนี้ 
            2. ให้ผู้ร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์รับรองต่อที่ประชุมว่าไม่มีบุคคลที่ไม่มีสิทธิร่วม ประชุมสามารถรู้หรือล่วงรู้ถึงข้อมูลการประชุมในเรื่องลับดังกล่าว โดยควรประชุม ณ พื้นที่ปิดที่ไม่มีบุคคลอื่น เข้าออก ทั้งนี้ ผู้มีหน้าที่จัดการประชุมควรแจ้งเตือนผู้ร่วมประชุมว่าเป็นการประชุมลับ ให้ปฏิบัติตามมาตรการ รักษาความมั่นคงปลอดภัย
            ข้อควรระวัง ห้ามมิให้มีการบันทึกเสียงหรือทั้งเสียงและภาพของผู้ร่วมประชุมทุกคนตลอด ระยะเวลาที่มีการประชุมลับ 

            ทั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จัดทำโดย สำนักงาน ก.พ.


ที่มา : สำนักงาน ก.พ. 


วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2567

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

               มาตรฐานทางจริยธรรม คือ หลักเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งจะต้องประกอบด้วย
              1) ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
              2) ซื่อสัตย์สุจริตมีจิตสำนึกที่ดี และรับผิดชอบต่อหน้าที่
              3) กล้าตัดสินใจและกระทำในสิ่งที่ถูกต่องชอบธรรม
              4) คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว และมีจิตสาธารณะ
              5) มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน
              6) ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ
              7) ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ
             มาตรฐานทางจริยธรรมให้ใช้เป็นหลักในการจัดทำประมวลจริยธรรมของหน่วยงานของรัฐ
ที่จะกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติตนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เกี่ยวกับสภาพคุณงามความดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องยึดถือสำหรับการปฏิบัติงาน การตัดสินความถูกผิด การปฏิบัติที่ควรกระทำหรือไม่ควรกระทำ ตลอดจนการดำรงตน ในการกระทำความดีและละเว้นความชั่ว


ที่มา : ศูนย์ส่งเสริมจริยธรรม สำนักงาน ก.พ.


หลักการสำคัญของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562



            พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 
             
              ข้อมูลส่วนบุคคล คือ ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ เช่น ชื่อ-สกุล ที่อยู่ เลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล เป็นต้น
              บุคคลที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล 
              1) เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล (Data Subject) หมายถึง บุคคลที่ข้อมูลสามารถระบุไปถึงได้
              2) ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล (Data Controller) 
                  2.1) บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูล ส่วนบุคคล เช่น หน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนโดยทั่วไป ที่เก็บรวบรวม ใช้หรือเปิดเผยข้อมูล ส่วนบุคคลของประชาชนหรือลูกค้าที่มาใช้บริการ 
                  2.2) ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลมีหน้าที่สำคัญที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น จัดให้มีมาตรการรักษา ความมั่นคงปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล , ดำเนินการเพื่อป้องกันมิให้ผู้อื่นใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยมิชอบ , แจ้งเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลให้สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทราบภายใน 72 ชั่วโมงนับแต่ทราบเหตุ , แต่งตั้งเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Protection Officer : DPO) เพื่อตรวจสอบการทำงานของตน เป็นต้น
              3) ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล (Data Processor)
                  3.1) บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ตามคำสั่งหรือในนามของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล เช่น บริการ cloud service เป็นต้น
                  3.2) ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลมีหน้าที่หลัก คือ ดำเนินการตามคำสั่งที่ได้รับจากผู้ควบคุมข้อมูล ส่วนบุคคลเท่านั้น เว้นแต่คำสั่งนั้นขัดต่อกฎหมายหรือบทบัญญัติในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
              สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล (Data Subject Right)
              1) สิทธิขอเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล (Right of access) หมายถึง เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิขอเข้าถึงและขอรับสำเนาข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล
              2) สิทธิขอให้ลบหรือทำลาย หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคล (Right to erasure (also known as right to be forgotten)) หมายถึง เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิขอให้ลบหรือทำลาย หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถ ระบุตัวบุคคลได้ หากข้อมูลส่วนบุคคลที่หมดความจำเป็น หรือข้อมูลส่วนบุคคลที่ขอถอนความยินยอมแล้ว 

ที่มา :  สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล



ที่มา : TDGA สถาบันพัฒนาบุคลากรภาครัฐด้านดิจิทัล