หนังสือราชการ หมายถึง เอกสารหลักฐานที่ใช้ในราชการ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 6 ชนิด ได้แก่
1. หนังสือภายนอก คือ หนังสือติดต่อราชการที่เป็นแบบพิธีการ ใช้กระดาษตราครุฑ เป็นหนังสือติดต่อระหว่างส่วนราชการ หรือส่วนราชการมีถึงหน่วยงานอื่นซึ่งมิใช่ส่วนราชการ หรือมีถึงบุคคลภายนอก
2. หนังสือภายใน คือ หนังสือติดต่อราชการที่เป็นแบบพิธีน้อยกว่าหนังสือภายนอก เป็นหนังสือติดต่อภายในกระทรวง ทบวง กรม หรือจังหวัดเดียวกัน ใช้กระดาษบันทึกข้อความ
3. หนังสือประทับตรา คือ หนังสือที่ใช้ประทับตราแทนการลงชื่อของหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมขึ้นไป โดยให้หัวหน้าส่วนราชการ ระดับกองหรือผู้ได้รับมอบหมาย เป็นผูู้รับผิดชอบลงชื่อย่อกำกับใช้ในกรณีที่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ได้แก่ การขอรายละเอียดเพิ่มเติม การสำเนาหนังสือ สิ่งของ เอกสาร การตอบรับทราบที่ไม่เกี่ยวกับราชการสำคัญ หรือการเงิน การแจ้งผลที่ดำเนินการไปแล้ว การเตือนเรื่องค้าง เป็นต้น
4. หนังสือสั่งการ ได้แก่ คำสั่ง ระเบียบ ข้อบังคับ
4.1 คำสั่ง คือ บรรดาข้อความที่ผู้บังคับบัญชาสั่งการให้ปฏิบัติโดยชอบด้วยกฎหมาย
4.2 ระเบียบ คือ บรรดาข้อความที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ได้วางไว้เพื่อเป็นหลักปฏิบัติงานเป็นประจำ
4.3 ข้อบังคับ คือ บรรดาข้อความที่ผู้มีอำนาจหน้าที่กำหนดให้ใช้
5. หนังสือประชาสัมพันธ์ มี 3 ชนิด ได้แก่
5.1 ประกาศ เพื่อประกาศหรือชี้แจงให้ทราบ
5.2 แถลงการณ์ เพื่อทำความเข้าใจ
5.3 ข่าว เพื่อเผยแพร่ให้ทราบ
6. หนังสือที่เจ้าหน้าที่ทำขึ้นหรือรับไว้ในราชการ มี 4 ชนิด ได้แก่
6.1 หนังสือรับรอง ได้แก่ หนังสือที่ส่วนราชการออกให้เพื่อรับรองแก่บุคคล นิติบุคคล หรือหน่วยงาน เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง
6.2 รายงานการประชุม คือ บันทึกความคิดเห็นของผู้ที่มาประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมและมติที่ประชุมไว้เป็นหลักฐาน
6.3 บันทึก ใช้กระดาษบันทึกข้อความ มีลักษณะ ดังนี้
6.3.1 ข้อความที่ผู้ใต้บังคับบัญชาเสนอต่อผู้บังคับบัญชา
6.3.2 ผู้บังคับบัญชาสั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชา
6.3.3 เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานระดับต่ำกว่ากรมติดต่อกันในการปฏิบัติราชการ
6.4 หนังสืออื่น เช่น ภาพถ่าย ฟิล์ม แถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพ สัญญา คำร้อง เป็นต้น
วันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2567
6 ชนิดของหนังสือราชการ
ที่มา : FB Page ดอกบัวใต้เสาชิงช้า (https://www.facebook.com/sharedsaradd)
ป้ายกำกับ:
ความรู้ทั่วไป