วันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

Digital Footprint คืออะไร

          Digital Footprint คือ ร่องรอยบนโลก Digital เปรียบได้กับประวัติทางพฤติกรรมที่ผู้ใช้งานทำบนโลกอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์ การคลิก การกดไลค์เพจ หรือการแชร์ข้อความบนโซเชียลมีเดีย การกระทำเหล่านี้จะปรากฏเป็นร่องรอยประวัติที่ผู้อื่นสามารถติดตาม หรือนำไปใช้งานต่อได้ และนี่คือความเสี่ยงเบื้องต้นที่ข้อมูลของคุณไปล่อตาแฮกเกอร์ หากไม่ระมัดระวังอาจทำให้เกิดช่องโหว่จนนำไปสู่การโจรกรรมข้อมูลได้

          ตัวอย่างการขโมยข้อมูลตัวตน Digital 
          1) ขโมยเลขบัตรประชาชน
          เลขบัตรประชาชนอาจเป็นข้อมูลทั่วไป แต่จริง ๆ แล้วถูกนำไปเป็นข้อมูลเพื่อใช้ยืนยันตัวตนควบคู่กับวันเดือนปีเกิดได้
          2) การปลอมแปลงบัญชีของผู้ใช้งาน
          ที่พบบ่อยที่สุด คือ การขโมยข้อมูลส่วนตัวจากโปรไฟล์ของผู้ใช้งานแล้วสร้างบัญชีใหม่โดยใช้ข้อมูลที่ขโมยมาเพื่อนำไปหลอกลวงผู้อื่น

         6 วิธีปกป้องตัวตน Digital บนโลกออนไลน์
         1) รหัสต้องจำยาก และหมั่นเปลี่ยนบ่อย ๆ ตั้งรหัสที่คาดเดายาก ไม่ใช้รหัสซ้ำกันหลายบัญชี รวมถึงคอยตรวจสอบคำขอรีเซ็ตรหัสผ่านในบัญชี และเปลี่ยนรหัสผ่านทุก 3 - 6 เดือน
         2) หมั่นอัปเดตระบบปฏิบัติการ ตรวจสอบการอัปเดตอยู่เสมอ เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ เพราะการอัปเดตจะช่วยให้ระบบมีความปลอดภัยมากขึ้น
         3) ไม่ใช้ Wi-Fi สาธารณะ ควรใช้อินเทอร์เน็ตของตัวเอง เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่า Wi-Fi สาธารณะนั้นปลอดภัยหรือไม่ ควรใช้ VPN เพื่อให้แน่ใจว่ากิจกรรมออนไลน์ทั้งหมดจะปลอดภัย
         4) คิดก่อนแชร์เสมอ โดยบนโลกโซเชียลไม่มีคำว่า "ส่วนตัว" อันตรายแอบแฝงอยู่ทุกที่ เช่น แชร์ข้อมูลส่วนตัวแบบสาธารณะ แชร์ Location ที่อยู่ของตัวเอง เป็นต้น นี่อาจเป็นการแบ่งปันข้อมูลให้กับแฮกเกอร์ หรือคนแปลกหน้าก็ได้
         5) เช็กบันทึกประวัติการใช้งานทางการเงิน หมั่นตรวจเช็กบันทึกการใช้งานบัตรเครดิตอยู่เสมอ และไม่ควรผูกเลขบัตรเครดิตลงในเว็บไซต์ชอปปิงออนไลน์หรือเว็บไซต์ โซเชียลต่าง ๆ 
         6) ตรวจสอบประวัติการเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ต ตรวจสอบการใช้ซอฟต์แวร์เพื่อป้องกันการติดตามต่าง ๆ และป้องกันข้อมูลเพื่อรักษาตัวเองให้ปลอดภัยจากการถูกติดตามออนไลน์

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์