วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2564

อาหารคลายเศร้า

    

    ในช่วงสถานการณ์ปัจจุบัน คนเกิดภาวะเครียดมากขึ้น หลายคนมีอาการซึมเศร้า ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้านอกเหนือจากการกินยา และพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอแล้ว ยังสามารถดูแลตนเองได้ด้วยการเลือกกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ช่วยลดอาการซึมเศร้าได้ อาหารที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าควรกินเพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพการกินยารักษาจากอาการป่วยซึมเศร้า ดังนี้

กลุ่มที่ 1 กลุ่มอาหารที่มีกรดไขมันที่ดีต่อสุขภาพ ช่วยลดอาการซึมเศร้า คือ โอเมก้า 3 ได้แก่ เนื้อปลาต่างๆ เช่น ปลาแซลมอล ปลาซาร์ดีน ทูน่า ปลาดุก เป็นต้น

กลุ่มที่ 2 ไข่ มีกรดอะมิโนที่สำคัญ โดยเฉพาะทริปโตเฟนช่วยสร้างซีโรโทนินและไทโรซีนจะช่วยสร้างโรโทนิน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระทำให้อารมณ์ดี และเปลี่ยนให้เป็นเมลาโทนิน ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น

กลุ่มที่ 3 กล้วยมีแร่ธาตุโพแทสเซีมและสารทริปโตเฟนในกล้วยบรรเทาความดันโลหิตให้กลับสู่ภาวะสงบ ลดการเกิดภาวะเครียด และวิตกกังวล

กลุ่มที่4 กลุ่มคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน  เช่น ข้าวกล้อง ลูกเดือย ข้าวโพด ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น ช่วยสร้างสารซีโรโทนินในสมอง ช่วยให้ผ่อนคลาย

กลุ่มที่ 5 กลุ่มเห็ดทุกชนิด จะมีธาตุเซเลเนียมสูง ช่วยกระตุ้นฮอร์โมนแห่งความสุข ลดอาการขุ่นมัวได้

          กลุ่มที่ กลุ่มนี้จะเป็นเครื่องดื่มที่เป็นผลดีต่ออารมณ์ คือ เครื่องดื่มสมุนไพร ได้แก่ น้ำอัญชัญ ซึ่งจะมีสารแอนโทไซยานิน มีฤทธิ์กระตุ้นความจำ ช่วยผ่อนคลาย ลดความกังวล ช่วยให้นอนหลับ ส่วนน้ำลำไย มีสาร 2 ชนิดคือกรดแกลลิก ช่วยให้อารมณ์ดี และสารกาบา ช่วยผ่อนคลายความเครียด ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น

          นอกจากอาหารที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าควรกินแล้ว ข้อควรระวังสำหรับอาหารที่ผู้ป่วยซึมเศร้าห้ามกินเนื่องจากจะขัดขวางการดูดซึมยาที่รักษาหรือซ้ำเติมอาการของผู้ป่วย ได้แก่

1. อาหารที่มีน้ำตาลสูง หวานจัด เพราะอาหารที่น้ำตาลสูง ร่างกายจะดูดซึมได้เร็ว ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างเร็ว ทำให้ร่างกายเกิดภาวะเครียด ถ้าร่างกายเจอน้ำตาลในเลือดสูงเป็นประจำอาจนำมาสู่อาการหดหู่ซึมเศร้าได้

2. อาหารประเภทไส้กรอก ถั่วปากอ้า เพราะมีสารไทรามีนสูง ทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคซึมเศร้าบางชนิด ได้

3. เครื่องดื่มที่ไม่ควรดื่ม ได้แก่

-ชากาแฟ เพราะคาเฟอีนสูง ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ  และหากดื่มมากกว่า 2 แก้วต่อวัน ร่างกายจะได้รับคาเฟอีนสูง ยิ่งทำให้วิตก ใจสั่น เกิดความเครียดเพิ่มมากขึ้น

-น้ำอัดลม รวมทั้งน้ำอัดลมประเภทไดเอต เพราะมีน้ำตาลและคาเฟอีนสูง

-น้ำผลไม้บางชนิด เช่น น้ำตระกูลส้ม เสาวรส น้ำองุ่น หรือเกรปฟรุต อาจทำปฏิกิริยากับยาที่ใช้รักษา ทำให้ยาไม่เกิดผลการรักษาดีเท่าที่ควร

          ดังนั้น ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ควรดูแลตัวเอง เลือกกินอาหารให้เหมาะสม ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส และพบแพทย์เป็นประจำ ก็จะช่วยให้ร่างกายและจิตใจดีขึ้นจากอาการซึมเศร้าได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.healthydee.moph.go.th/

วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2564

วันพุธที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2564

ต้อลม-ต้อเนื้อ

 ต้อลม (pinguecula) และต้อเนื้อ (pterygium) เป็นปัญหาทางตาที่พบบ่อย ไม่มีอันตรายร้ายแรงถึงขั้นทำให้ตาบอดได้โดยตรง แต่มักก่อให้เกิดความรำคาญ เนื่องจากการระคายเคือง หรืออักเสบบริเวณที่มีการเกิดต้อขึ้น และหากต้อเนื้อนั้นลามเข้าไปถึงบริเวณรูม่านตา จะสามารถบดบังการมองเห็นได้




ต้อลม เป็นก้อนขนาดเล็กสีเหลืองขาว ที่ปกคลุมบริเวณตาขาว สามารถเกิดได้ทั้งบริเวณหัวตาและหางตาในลักษณะแนวนอน และมักเกิดขึ้นในตาทั้งสองข้าง หากก้อนนี้ลุกลามเข้าไปถึงบริเวณกระจกตา (ตาดำ) จะเรียกว่า ต้อเนื้อ โดยมีสาเหตุมาจาก การเสื่อมของเส้นใยคอลลาเจน (degeneration of collagen fibers) บริเวณเยื่อตา ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ การสัมผัสแสงแดดที่มีรังสีอัลตราไวโอเลต (ultraviolet) เป็นระยะเวลานาน ซึ่งเรียกการเสื่อมของเส้นใยคอลลาเจนในลักษณะนี้ว่า "elastotic degeneration of collagen" รวมถึงการสัมผัสฝุ่นและควันเป็นระยะเวลานานเช่นกัน ส่วนปัจจัยเสริม ได้แก่ เพศชาย ตาแห้ง ยีนที่เกี่ยวข้องทำงานผิดปกติ เช่น ยีนของ p53 tumor suppressor เป็นต้น

จากผลการศึกษาของ Singh และคณะปี ค.ศ. 2017 พบว่า ความชุกของการเกิดต้อเนื้อมักเกิดมากในประเทศกลุ่ม "pterygium belt" คืออยู่ตั้งแต่บริเวณเหนือเส้นศูนย์สูตร 30 องศาถึง 30 องศาใต้เส้นศูนย์สูตร ดังนั้นประเทศไทยซึ่งอยู่ในบริเวณเส้นศูนย์สูตรจึงพบปัญหาต้อเนื้อได้บ่อยเช่นกัน

อาการโดยทั่วไปของต้อลักษณะนี้จะทำให้ระคายเคืองตา อาจมีตาแดงบริเวณต้อหากมีอาการอักเสบเกิดขึ้น อาจทำให้การมองเห็นลดลงหากต้อเนื้อมีขนาดใหญ่จนบดบังบริเวณรูม่านตา และหากขนาดต้อเนื้อใหญ่มากอาจจะทำให้เกิดสายตาเอียงได้

การผ่าตัด หรือ "ลอก... ไม่ลอก" เป็นคำถามที่พบได้บ่อยในผู้ป่วย เนื่องจากต้อเนื้อทำให้เกิดการระคายเคืองมาก และทำให้ไม่สวยงาม ทั้งนี้การผ่าตัดต้อเนื้อหรือลอกจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของจักษุแพทย์ โดยมีข้อบ่งชี้ที่คนไข้จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด ดังนี้
  1. เกิดภาวะสายตาเอียงจากต้อเนื้อโดยตรง
  2. ต้อเนื้อทำให้บดบังการมองเห็น (เกิดการบดบังรูม่านตา)
  3. ต้อเนื้อทำให้เกิดการดึงรั้งจนไม่ผู้ป่วยสามารถกรอกตาได้ ส่วนเหตุผลอื่นจะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป เช่น ด้านความสวยงาม การเกิดการอักเสบซ้ำ ๆ เป็นต้น
หากไม่ผ่าตัดหรือลอกต้อเนื้อ ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ ดังนี้
  1. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดการลุกลามของต้อเนื้อ เช่น หลีกเลี่ยงบริเวณที่แดดจัด หรือกลางแจ้ง ซึ่งผู้ป่วยอาจสวมแว่นกันแดดในการป้องกันได้ รวมทั้งหลีกเลี่ยงฝุ่นและควัน
  2. สังเกตต้อลมหรือต้อเนื้อของตนเอง หากมีอาการแดง อักเสบ ควรพบแพทย์เพื่อรับยาหยอดตา โดยส่วนใหญ่มักใช้กลุ่มยาที่ลดอาการแพ้และเพิ่มการหดตัวของหลอดเลือด เช่น ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของ antazoline และ tetrahydrozoline เป็นต้น อย่างไรก็ตามการใช้ยาหยอดตาควรอยู่ในการดูแลของแพทย์และเภสัชกร
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.healthydee.moph.go.th/

วันจันทร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2564

Digital Citizen

 


ก่อนจะทราบถึงทักษะด้านดิจิทัล ขอให้คำนิยามความหมายของประโยคที่ว่า "ความเป็นพลเมืองดิจิทัล" ที่ทุกประเทศทั่วโลกคาดหวังให้เกิดขึ้นในประชากรของตน คือ "พลเมืองผู้ใช้งานสื่อดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์อย่างเข้าใจบรรทัดฐาน ของการปฏิบัติตัวให้เหมาะสม และมีความรับผิดชอบในการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารในยุคดิจิทัลเป็นการสื่อสารที่ไร้พรมแดนจำเป็นต้องมีความฉลาดทางดิจิทัล (DQ: Digital Intelligence) "

ความฉลาดทางดิจิทัล (Digital Intelligence Quotient : DQ) คือ กลุ่มของความสามารถทางสังคม อารมณ์ และการรับรู้ ที่จะทำให้คนคนหนึ่งสามารถเผชิญกับความท้าทายบนเส้นทางของชีวิตในยุคดิจิทัล และสามารถปรับตัวให้เข้ากับชีวิตดิจิทัลได้ ความฉลาดทางดิจิทัลครอบคลุมทั้งความรู้ ทักษะ ทัศนคติและค่านิยมที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในฐานะสมาชิกของโลกออนไลน์ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ทักษะการใช้สื่อและการเข้าสังคมในโลกออนไลน์

1565066433984

ดังนั้น พลเมืองดิจิทัล จึงหมายถึง สมาชิกบนโลกออนไลน์ ที่ใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ อายุ ภาษา และวัฒนธรรม ดังนั้น พลเมืองดิจิทัลทุกคนจึงต้องมี ‘ความเป็นพลเมืองดิจิทัล’ ที่มีความฉลาดทางดิจิทัลบนพื้นฐานของความรับผิดชอบ การมีจริยธรรม การมีส่วนร่วม ความเห็นอกเห็นใจและเคารพผู้อื่น โดยมุ่งเน้นความเป็นธรรมในสังคม ปฏิบัติและรักษาไว้ซึ่งกฎเกณฑ์ เพื่อสร้างความสมดุลของการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

การเป็นพลเมืองดิจิทัลนั้น มีทักษะสำคัญ 8 ประการ ที่ควรบ่มเพาะให้เกิดขึ้นกับพลเมืองดิจิทัลทุกคนในศตวรรษที่ 21 ดังนี้

  1. ทักษะในการรักษาอัตลักษณ์ที่ดีของตนเอง (Digital Citizen Identity) 
    ต้องมีความสามารถในการสร้างสมดุล บริหารจัดการ รักษาอัตลักษณ์ที่ดีของตนเองไว้ให้ได้ ทั้งในส่วนของโลกออนไลน์และโลกความจริง โดยตอนนี้ประเด็นเรื่องการสร้างอัตลักษณ์ออนไลน์ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ที่ทำให้บุคคลสามารถแสดงออกถึงความเป็นตัวตนต่อสังคมภายนอก โดยอาศัยช่องทางการสื่อสารผ่านเว็บไซต์เครือข่ายสังคมในการอธิบายรูปแบบใหม่ของการสื่อสารแบบมีปฏิสัมพันธ์ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นการแสดงออกเกี่ยวกับตัวตนผ่านเว็บไซต์เครือข่ายสังคมต่างๆ
  2. ทักษะในการรักษาข้อมูลส่วนตัว (Privacy Management) 
    ดุลพินิจในการบริหารจัดการข้อมูลส่วนตัว โดยเฉพาะการแชร์ข้อมูลออนไลน์เพื่อป้องกันความเป็นส่วนตัวทั้งของตนเองและผู้อื่นเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องประกอบอยู่ในพลเมืองดิจิทัลทุกคน และพวกเขาจะต้องมีความตระหนักในความเท่าเทียมกันทางดิจิทัล เคารพในสิทธิของคนทุกคน รวมถึงต้องมีวิจารณญาณในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลตนเองในสังคมดิจิทัล รู้ว่าข้อมูลใดควรเผยแพร่ ข้อมูลใดไม่ควรเผยแพร่ และต้องจัดการความเสี่ยงของข้อมูลของตนในสื่อสังคมดิจิทัลได้ด้วย
  3. ทักษะในการคิดวิเคราะห์มีวิจารณญาณที่ดี (Critical Thinking) 
    ความสามารถในการวิเคราะห์แยกแยะระหว่างข้อมูลที่ถูกต้องและข้อมูลที่ผิด ข้อมูลที่มีเนื้อหาดีและข้อมูลที่เข้าข่ายอันตราย รู้ว่าข้อมูลลักษณะใดที่ถูกส่งผ่านมาทางออนไลน์แล้วควรตั้งข้อสงสัย หาคำตอบให้ชัดเจนก่อนเชื่อและนำไปแชร์ ด้วยเหตุนี้ พลเมืองดิจิทัล จึงต้องมีความรู้ความสามารถในการเข้าถึง ใช้ สร้างสรรค์ ประเมิน สังเคราะห์ และสื่อสารข้อมูลข่าวสารผ่านเครื่องมือดิจิทัล ซึ่งจำเป็นต้องมีความรู้ด้านเทคนิคเพื่อใช้เครื่องมือดิจิทัล เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต ได้อย่างเชี่ยวชาญ รวมถึงมีทักษะในการรู้คิดขั้นสูง เช่น ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ที่จำเป็นต่อการเลือก จัดประเภท วิเคราะห์ ตีความ และเข้าใจข้อมูลข่าวสาร มีความรู้และทักษะในสภาพแวดล้อมดิจิทัล การรู้ดิจิทัลโดยมุ่งให้เป็นผู้ใช้ที่ดี เป็นผู้เข้าใจบริบทที่ดี และเป็นผู้สร้างเนื้อหาทางดิจิทัลที่ดี ในสภาพแวดล้อมสังคมดิจิทัล
  4. ทักษะในการจัดสรรเวลาหน้าจอ (Screen Time Management) 
    ทักษะในการบริหารเวลากับการใช้อุปกรณ์ยุคดิจิทัล รวมไปถึงการควบคุมเพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างโลกออนไลน์และโลกภายนอก นับเป็นอีกหนึ่งความสามารถที่บ่งบอกถึง ความเป็นพลเมืองดิจิทัล ได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ขาดความเหมาะสมย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวม ทั้งความเครียดต่อสุขภาพจิตและเป็นสาเหตุก่อให้เกิดความเจ็บป่วยทางกาย ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียทรัพย์สินเพื่อใช้รักษา และเสียสุขภาพในระยะยาวโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
  5. ทักษะในการรับมือกับการคุกคามทางโลกออนไลน์ (Cyberbullying Management) 
    จากข้อมูลทางสถิติล่าสุด สถานการณ์ในเรื่อง Cyber bullying ในไทย มีค่าเฉลี่ยการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 47% และเกิดในรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ การด่าทอกันด้วยข้อความหยาบคาย การตัดต่อภาพ สร้างข้อมูลเท็จ รวมไปถึงการตั้งกลุ่มออนไลน์กีดกันเพื่อนออกจากกลุ่ม ฯลฯ ดังนั้น ว่าที่พลเมืองดิจิทัลทุกคน จึงควรมีความสามารถในการรับรู้และรับมือการคุกคามข่มขู่บนโลกออนไลน์ได้อย่างชาญฉลาด เพื่อป้องกันตนเองและคนรอบข้างจากการคุกคามทางโลกออนไลน์ให้ได้
  6. ทักษะในการบริหารจัดการข้อมูลที่ผู้ใช้งานทิ้งไว้บนโลกออนไลน์ (Digital Footprints) 
    มีรายงานการศึกษาวิจัยยืนยันว่า คนรุ่น Baby Boomer คือ กลุ่ม Aging ที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2487 – 2505 มักจะใช้งานอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้อื่น และเปิดใช้งาน WiFi สาธารณะ เสร็จแล้วมักจะละเลย ไม่ลบรหัสผ่านหรือประวัติการใช้งานถึง 47% ซึ่งเสี่ยงมากที่จะถูกผู้อื่นสวมสิทธิ ขโมยตัวตนบนโลกออนไลน์ และเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างง่ายดาย ดังนั้น ความเป็นพลเมืองดิจิทัล จึงต้องมีทักษะความสามารถที่จะเข้าใจธรรมชาติของการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัล ว่าจะหลงเหลือร่องรอยข้อมูลทิ้งไว้เสมอ รวมไปถึงต้องเข้าใจผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อการดูแลสิ่งเหล่านี้อย่างมีความรับผิดชอบ
  7. ทักษะในการรักษาความปลอดภัยของตนเองในโลกออนไลน์ (Cybersecurity Management) 
    ความสามารถในการป้องกันข้อมูลด้วยการสร้างระบบความปลอดภัยที่เข้มแข็งและป้องกันการโจรกรรมข้อมูลไม่ให้เกิดขึ้นได้ ถ้าต้องทำธุรกรรมกับธนาคารหรือซื้อสินค้าออนไลน์ เช่น ซื้อเสื้อผ้า ชุดเดรส เป็นต้น ควรเปลี่ยนรหัสบ่อยๆ และควรหลีกเลี่ยงการใช้คอมพิวเตอร์สาธารณะ และหากสงสัยว่าข้อมูลถูกนำไปใช้หรือสูญหาย ควรรีบแจ้งความและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที
  8. ทักษะในการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม (Digital Empathy) 
    ความสามารถในการเห็นอกเห็นใจและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นบนโลกออนไลน์ พลเมืองดิจิทัลที่ดีจะต้องรู้ถึงคุณค่าและจริยธรรมจากการใช้เทคโนโลยี ต้องตระหนักถึงผลพวงทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ที่เกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ต การกดไลก์ กดแชร์ ข้อมูล ข่าวสาร ออนไลน์ รวมถึงรู้จักสิทธิและความรับผิดชอบออนไลน์ อาทิ เสรีภาพในการพูด การเคารพทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น และการปกป้องตนเองและชุมชนจากความเสี่ยงออนไลน์ เช่น การกลั่นแกล้งออนไลน์ ภาพลามกอนาจารเด็ก สแปม เป็นต้น

วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2564

วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2564

ตะคริว (Muscle cramp)

     


    หมายถึง อาการเกร็งตัวหรือหดเกร็งที่ทำให้มีอาการปวดและเป็นก้อนแข็งของกล้ามเนื้อเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ร่วมกับมีอาการปวดหรือเจ็บกล้ามเนื้อมัดที่เกิดการหดเกร็ง โดยมักเกิดขึ้นในขณะออกกำลังกาย เดิน หรือในขณะนั่งพักหรือนอนพักเป็นเวลานาน ๆ

สาเหตุของการเกิดตะคริวเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่
          
1. การขาดน้ำ
          2. ภาวะเกลือแร่ไม่สมดุลโดยเฉพาะ sodium และ potassium
          3. กล้ามเนื้ออ่อนร้าหรือได้รับบาดเจ็บ
          4. กล้ามเนื้อขาดการยืดหยุ่น กล้ามเนื้อที่ตึงจะเกิดตะคริวได้บ่อย
          5. กล้ามเนื้อที่อ่อนแรงหากต้องทำงานหนักจะเกิดตะคริวได้บ่อย
          6. กล้ามเนื้อขาดเลือด หากท่านออกกำลังกายอย่างหนักโดยที่ไม่ได้ warm up

          จะเห็นได้ว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เป็นตะคริว คือ อาการกล้ามเนื้ออ่อนล้า กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่นน้อย กล้ามเนื้อขาดเลือดไปเลี้ยงในขณะที่มีการออกกำลังกายมาก ๆ มาจากการที่กล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรง หรือมีความแข็งแรงน้อย และจะพบว่าการเป็นตะคริวจะเกิดขึ้นบ่อยที่ "กล้ามเนื้อน่อง"

ดังนั้นเรามาบริหารกล้ามเนื้อน่องให้มีความแข็งแรงไปพร้อมกันตามนี้เลยครับ

1.Bodyweight Calf Raise

          ยืนตรงกางเท้าออกประมาณความกว้างของหัวไหล่ หันหน้าเข้าหากำแพงและเอามือยันไว้ เขย่งปลายเท้าให้ส้นเท้าค่อย ๆ ยกขึ้นจากพื้น สูงขึ้นมากที่สุดจนรู้สึกตึงที่กล้ามเนื้อน่อง หลังจากนั้นค่อย ๆ ลดส้นเท้าลงโดยที่ส้นเท้าไม่แตะโดนพื้น ทำจำนวน 12 ครั้ง 3 รอบ

2. Dumbbell Calf Raise

         ยืนตรง เท้าทั้งสองข้างวางห่างกันด้วยความกว้างประมาณหัวไหล่ นำไม้กระดานหนาประมาณ 2-3 นิ้วมารองไว้ที่ปลายเท้า มือทั้งสองข้างถือดัมเบลไว้

         เริ่มจากออกแรงเกร็งกล้ามเนื้อน่องเขย่งปลายเท้าเพื่อยกส้นเท้าขึ้นจนสุดและตึงที่กล้ามเนื้อน่อง หลังจากนั้นค่อย ๆ ลดส้นเท้าลงจนแตะพื้น เพื่อกลับสู่ท่าเริ่มต้น ทำจำนวน 12 ครั้ง 3 รอบ

         หลังจากฝึกความแข็งแรงไปแล้วอย่าลืมยืดเหยียดกล้ามเนื้อน่องกันด้วยนะครับจะได้ลดความตึงและการเกร็งของกล้ามเนื้อมาลุยกันเลยครับ

3. ท่ายืดกล้ามเนื้อน่องด้วยการดันกำแพง

         -  ยืนใกล้กำแพงเหยียดแขนทั้งสองข้างดันกำแพงไว้ โดยให้เท้าข้างหนึ่งอยู่ข้างหน้าอีกข้างหนึ่ง เข่าด้านหน้างอเล็กน้อย

         - ยืดขาด้านหลังให้หัวเข่าตรงกับส้นเท้าติดพื้น แล้วเอนตัวไปด้านหน้าเข้าหากำแพงเล็กน้อยให้น่องด้านหลังรู้สึกตึง

         - ทำค้างไว้ประมาณ 20-30 วินาที จากนั้นสลับขา และทำซ้ำทั้งหมด 3 ครั้ง

4. ท่ายืดกล้ามเนื้อน่องด้วยการยืนบนขั้นบันได

         - ยืนบนขั้นบันได  โดยยืนให้เท้าวางอยู่บนขอบบันได วางส้นเท้าข้างหนึ่งลงบนพื้นบันได จากนั้นงอข้อเท้าขาอีกข้างโดยทิ้งส้นเท้าลงด้านล่างให้มากที่สุดจนรู้สึกตึงที่น่อง

         - ทำค้างไว้เป็นเวลา 20-30 วินาที แล้วจึงทำซ้ำอีกข้างหนึ่ง ทำสลับกันทั้งหมด 3 ครั้ง

        ลองไปทำตามคำแนะนำดูนะครับ และหากอาการยังไม่บรรเทาเบาบางลง ควรไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเองเพราะอาจเกิดอันตรายได้ครับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.healthydee.moph.go.th/

วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2564

พยาธิขึ้นสมอง...กับอาหารสุกๆดิบๆ

 ในประเทศไทยนั้น พยาธิจากอาหารที่เป็นสาเหตุสำคัญของ "โรคพยาธิขึ้นสมองในคน" ทำให้เกิดโรคสมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จนถึงขั้นเสียชีวิต ที่พบบ่อย ๆ มี 2 ชนิด ได้แก่

1. พยาธิหอยโข่ง (Angiostrongylus cantonensis)

            พยาธิหอยโข่ง หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า "พยาธิปอดหนู" เป็นพยาธิตัวกลมที่เป็นสาเหตุของโรคสมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบในคน ซึ่งพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีประวัติการกินเนื้อหอยโข่ง หอยเชอรี่ หรือเนื้อสัตว์จำพวก กุ้ง ปู กบ และตะกวด ปรุงแบบดิบๆหรือดิบ ๆ สุกๆ เช่น นำมาทำก้อย ยำ ลาบ พล่า หรือการกินพืช ผักสด หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนด้วยตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิหอยโข่ง   

            พยาธิหอยโข่งนั้น  โดยธรรมชาติเป็นพยาธิของหนู  เช่น หนูนา หนูท่อ หนูป่า พยาธิตัวเต็มวัยเพศผู้และเพศเมียจะอาศัยอยู่ในหลอดเลือดแดงของปอดหนู  เมื่อหนูถ่ายอุจจาระจะมีพยาธิตัวอ่อนปะปนมา เมื่อหอย (ทั้งหอยบก หอยน้ำจืด และตัวทาก) กินตัวอ่อนของพยาธิหรือตัวอ่อนของพยาธิไชเข้าตัวหอยจะเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อขดตัวอยู่ในกล้ามเนื้อหรืออวัยวะของหอย และเมื่อคนนำหอยมารับประทานโดยไม่ทำให้สุกก่อน ตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิจะเข้าสู่ร่างกาย ไปตามกระแสเลือด แล้วเคลื่อนที่เข้าสู่สมอง

          พยาธิ เมื่อเข้าไปในสมองแล้ว จะเจริญเติบโตและเคลื่อนย้ายอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการอักเสบของสมองและเยื่อหุ้มสมอง ผู้ป่วยจะมีจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอสิโนฟิล (eosinophil) ขึ้นสูงในน้ำไขสันหลัง ผู้ป่วยบางรายอาจหมดสติได้ บ่อยครั้งที่พยาธิเคลื่อนที่เข้าไปอยู่ในลูกตา ทำให้เยื่อบุภายในตาฉีกขาดและมีเลือดออก อาจจะทำให้ตาบอดได้   การรับประทานเนื้อสัตว์ชนิดอื่นที่ปรุงไม่สุก อาทิ กุ้งฝอย ปู กบ ตะกวด ซึ่งกินหอยที่มีพยาธิ   ก็มีโอกาสได้รับพยาธิเข้าสู่ร่างกายได้เช่นกัน

สัญญาณอันตราย
         
โดยทั่วไป ผู้ติดโรคพยาธิหอยโข่งมีตั้งแต่ไม่แสดงอาการ มีอาการเพียงเล็กน้อย หรือมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนพยาธิที่กินเข้าไป รวมทั้งภาวะภูมิคุ้มกันและสุขภาพพลานามัยของผู้ได้รับพยาธิ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง คอแข็งและหลังแข็ง บางรายอาจพบอาการอัมพาตบางส่วนของแขน ขา หรือใบหน้าได้

รักษาอย่างไร

          การรักษาโรคสมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากโรคพยาธิหอยโข่งนั้น เป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เพราะปัจจุบันไม่มียาชนิดใดที่เฉพาะเจาะจงในการรักษาโรคพยาธิหอยโข่ง ถ้าผู้ป่วยได้รับตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิเข้าไปไม่มากอาการของโรคจะหายได้เอง  การให้ยาแก้ปวด และการเจาะหลังเพื่อเอาน้ำไขสันหลังออกเป็นการลดความดันในสมองจะช่วยลดอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงในผู้ป่วยได้ การใช้ยาจำพวกสตีรอยด์ (steroid) จะช่วยลดการอักเสบของสมองในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง

 

เราสามารถป้องกันไม่ให้ติดโรคจากพยาธิหอยโข่งได้โดย....

-          งดกินเนื้อหอยทั้งหอยน้ำจืดและหอยบกดิบๆ หรือดิบๆ สุกๆ

-          กินแต่เนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกแล้ว

-          ผักสดที่รับประทานต้องล้างให้สะอาด

-          หากต้องดื่มน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ต้องดื่มน้ำที่ต้มเดือดแล้ว

     2. พยาธิตัวจี๊ด  (Gnathostoma spinigerum)   

พยาธิตัวจี๊ดเป็นพยาธิตัวกลมของสัตว์จำพวก สุนัข แมว สิงโต และเสือ  ผู้ป่วยส่วนใหญ่ติดโรคพยาธิตัวจี๊ดจากการรับประทานเนื้อสัตว์ เช่น ปลาน้ำจืด กบ งู เป็ด ไก่ นก ที่ปิ้งหรือย่างไม่สุก หรือปรุงแบบสุกๆ ดิบๆ  ผู้ป่วยที่ติดโรคพยาธิตัวจี๊ดมักจะมีการบวมเคลื่อนที่โดยเฉพาะที่ผิวหนัง เนื่องจากพยาธิตัวอ่อนที่เข้าไปอยู่ใต้ผิวหนังมีการเคลื่อนไหว  บ่อยครั้งที่พบพยาธิเคลื่อนที่เข้าไปในสมอง ทำให้เกิดอาการอักเสบ มีเลือดออก และเกิดอาการทางประสาท เป็นอัมพาต ชักและหมดสติ บางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิต

 พยาธิตัวจี๊ดระยะตัวเต็มวัยนั้นตามปกติจะพบในผนังกระเพาะอาหารของสุนัข แมว สิงโต เสือ  ไข่พยาธิตัวจี๊ดจะปะปนออกมากับอุจจาระของสัตว์เหล่านี้ ออกสู่สิ่งแวดล้อม  เมื่อไข่ถูกชะพาลงในน้ำ ตัวอ่อนของพยาธิจะฟักออกจากไข่ เมื่อถูกกินโดยกุ้งไร ตัวอ่อนของพยาธิจะเจริญในกุ้งไร เมื่อกุ้งไรถูกกินโดยปลาน้ำจืด เช่น ปลาดุก ปลาช่อน และปลาไหล พยาธิจะเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อฝังตัวเป็นซีสต์อยู่ในอวัยวะหรือเนื้อเยื่อของของสัตว์เหล่านี้   

หากคนกินเนื้อปลาที่มีตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิตัวจี๊ดซึ่งปรุงไม่สุก หรือกินเนื้อกบ งู เป็ด ไก่ นก ที่เผอิญไปกินตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิตัวจี๊ด ตัวอ่อนที่ฝังตัวเป็นซีสต์อยู่ในอวัยวะหรือเนื้อเยื่อของสัตว์เหล่านี้จะไชทะลุผนังกระเพาะอาหาร เคลื่อนที่ไปตามอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย 

ในรายที่ตัวพยาธิไชเข้าใต้ผิวหนังจะเกิดอาการบวมแดงเจ็บจี๊ด ๆ  พยาธิบางตัวเคลื่อนย้ายที่อยู่ใต้ผิวหนังทำให้เกิดการบวมเคลื่อนที่ ซึ่งพบได้บ่อยบริเวณแขน ขา ใบหน้า เปลือกตา หน้าท้อง  และเท้า ในรายที่พยาธิเคลื่อนที่เข้าสู่สมอง จะทำให้เกิดการอักเสบของระบบประสาทส่วนกลาง พบเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอสิโนฟิลสูงขึ้นในน้ำไขสันหลัง  จะมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง  โคมาและอาจเสียชีวิต  บางรายเมื่อพยาธิตัวจี๊ดไชเข้าไปในลูกตาก็จะทำให้ตาบอดได้  ยังไม่มียาใดที่ใช้รักษาโรคพยาธิตัวจี๊ดโดยเฉพาะ การรักษาให้รับประทานยาอัลเบนดาโซล (Albendazole) ขนาด 400 มิลลิกรัม นาน 21 วัน ให้ผลการรักษาประมาณร้อยละ 94

      การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การหลีกเหลี่ยงการรับประทานเนื้อปลาและเนื้อสัตว์ทุกชนิดแบบสุกๆ ดิบๆ

โรคพยาธิที่เกิดจากการกินอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ  แม้เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยเหมือนโรคติดเชื้อชนิดอื่นๆ แต่ก็เป็นโรคที่บั่นทอนสุขภาพ และทำให้เกิดโรครุนแรงและเสียชี


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.healthydee.moph.go.th/

วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2564

ความรู้ด้านการพยากรณ์อากาศ,การพยากรณ์อากาศ

 

การพยากรณ์อากาศ
    หมายถึง การคาดหมายสภาพลมฟ้าอากาศในอนาคต การที่จะพยากรณ์อากาศได้ต้องมีองค์ประกอบ 3 ประการ ประการแรกคือความรู้ความเข้าใจในปรากฏการณ์และกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในบรรยากาศ ประการที่ สองคือสภาวะอากาศปัจจุบัน และประการสุดท้ายคือความสามารถที่จะผสมผสานองค์ประกอบทั้งสองข้างต้น เข้าด้วยกันเพื่อคาดหมายการ เปลี่ยนแปลงของบรรยากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
 ความรู้ความเข้าใจในปรากฏการณ์และกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในบรรยากาศ ได้มาจากเฝ้าสังเกตและบันทึกไว้ มนุษย์ได้มีการสังเกตลมฟ้าอากาศมานานแล้ว เพราะมนุษย์อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมฟ้าอากาศโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องทราบลักษณะลมฟ้าอากาศที่เป็นประโยชน์และลักษณะอากาศที่เป็นภัย การสังเกตทำให้สามารถอธิบายถึงสาเหตุของการเกิดลักษณะอากาศแบบต่าง ๆ ได้ อย่างไรก็ตามความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับลมฟ้าอากาศนั้นยังมีอยู่น้อยมาก เมื่อเทียบกับปรากฎการณ์ของบรรยากาศที่มนุษย์ยังไม่มีความเข้าใจอย่างเพียงพอ ทั้งนี้เพราะอุตุนิยมวิทยาซึ่งเป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับบรรยากาศและปรากฎการณ์ที่เกี่ยวข้องนั้น มีการพัฒนาด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาได้ไม่นานนัก โดยก่อนหน้านี้มนุษย์เชื่อว่าลมฟ้าอากาศอยู่มากมาย สภาวะอากาศปัจจุบันที่ต้องใช้เป็นข้อมูลเริ่มต้นสำหรับการพยากรณ์อากาศนั้น ได้มาจากการตรวจอากาศ ซึ่งมีทั้งการตรวจอากาศผิวพื้น การตรวจอากาศชั้นบนในระดับความสูงต่าง ๆ สิ่งสำคัญที่ต้องทำการตรวจเพื่อพยากรณ์อากาศได้แก่ อุณหภูมิ ความกดอากาศ ความชื้น ลม เมฆ และฝน การที่จะพยากรณ์อากาศในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง ต้องใช้ข้อมูลผลการตรวจอากาศในบริเวณนั้นร่วมกับผลการตรวจอากาศจากบริเวณที่อยู่โดยรอบด้วย เพราะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในบรรยากาศมีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เกิดขึ้นนอกจากพื้นที่การพยากรณ์อาจเคลื่อนตัวมามีผลต่อสภาพอากาศในบริเวณที่จะพยากรณ์ได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลผลการตรวจอากาศระหว่างประเทศ เพื่อให้ได้ข้อมูลเพียงพอสำหรับการพยากรณ์อากาศ นอกเหนือจากกการตรวจอากาศผิวพื้นทั้งบนพื้นดิน พื้นน้ำ และการตรวจอากาศชั้นบนแล้ว ปัจจุบันการตรวจอากาศที่ช่วยให้การพยากรณ์แม่นยำยิ่งขึ้นคือ การตรวจอากาศด้วยเรดาร์และดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา เมื่อมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวของลมฟ้าอากาศ และมีข้อมูลผลการตรวจอากาศแล้ว สิ่งที่ต้องทำเพื่อให้สามารถพยากรณ์อากาศได้ คือการวิเคราะห์ข้อมูลผลการตรวจอากาศเพื่อให้ทราบลักษณะอากาศปัจจุบัน และการคาดหมายการเปลี่ยนแปลงของลักษณะอากาศที่กำลังเกิดขั้นนั้นว่า
จะมีทิศทางและความเร็วในการเคลื่อนที่อย่างไร และความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงเพียงใด นั่นคือคาดหมายว่าบริเวณที่จะพยากรณ์นั้นจะอยู่ภายใต้อิทธิพลของปรากฏการณ์แบบใด แล้วจึงจัดทำคำพยากรณ์อากาศโดยพิจารณาจากลักษณะลมฟ้าอากาศที่สัมพันธ์กับปรากฏการณ์นั้น ๆ ต่อไป  
ขั้นตอนในการพยากรณ์อากาศ
 ขั้นตอนที่สำคัญสามขั้นตอนในการพยากรณ์อากาศได้แก่ การตรวจอากาศเพื่อให้ทราบสภาวะอากาศปัจจุบัน การสื่อสารเพื่อรวบรวมข้อมูลผลการตรวจอากาศ และการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการคาดหมาย ในส่วนของการวิเคราะห์ข้อมูลนั้น สามารถแบ่งขั้นตอนออกไปได้อีกคือ ขั้นตอนแรกเป็นการบันทึกผลการตรวจอากาศที่ได้รับทั้งหมด ทั้งจากในประเทศและจากต่างประเทศ ลงบนแผนที่หรือแผนภูมิทางอุตุนิยมวิทยาชนิดต่าง ๆ เช่น แผนที่อากาศผิวพื้น แผนที่อากาศชั้นบน แผนภูมิการหยั่งอากาศ ด้วยสัญลักษณ์มาตรฐานทางอุตุนิยมวิทยา ขั้นตอนที่สองคือการวิเคราะห์ผลการตรวจอากาศที่ได้จากขั้นตอนแรก โดยการลากเส้นแสดงค่าองค์ประกอบทางอุตุนิยามวิทยา เช่น เส้นความกดอากาศเท่าที่ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยเพื่อแสดงตำแหน่ง และความรุนแรงของระบบลมฟ้าอากาศเส้นทิศทางและความเร็วลมในระดับความสูงต่าง ๆ เพื่อแสดงลักษณะอากาศในระดับบน และเส้นแสดงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิตามความสูงเพื่อแสดงเสถียรภาพของบรรยากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเกิดเมฆและฝน ขั้นตอนที่สามคือการคาดหมายการเปลี่ยนแปลงและการเคลื่อนที่ของตัวระบบลมฟ้าอากาศที่วิเคราะห์ได้ในขั้นตอนที่สอง โดยใช้วิธีการพยากรณ์อากาศแบบต่าง ๆ ขั้นตอนที่สี่คือการออกคำพยากรณ์ ณ ช่วงเวลาและบริเวณที่ต้องการ โดยพิจารณาจากตำแหน่งและความรุนแรงของระบบลมฟ้าอากาศที่ได้ดำเนินการไว้แล้วในขั้นตอนที่สาม ส่วนขั้นตอนสุดท้ายคือการส่งคำพยากรณ์อากาศไปยังสื่อมวลชนเพื่อเผยแพร่ต่อไปสู่ประชาชน และส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป ตามความเหมาะสม เช่นการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ

ระยะเวลาของการพยากรณ์อากาศ

 การพยากรณ์อากาศอาจเป็นการคาดหมายสำหรับช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า จนถึงการคาดหมายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีกหลายปีจากปัจจุบัน สามารถแบ่งชนิดของการพยากรณ์อากาศตามระยะเวลาที่คาดหมายได้ดังนี้
1
การพยากรณ์ปัจจุบัน (nowcast) หมายถึงการรายงานสภาวะอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
และการคาดหมายสภาพลมฟ้าอากาศสำหรับช่วงเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง
2
การพยากรณ์ระยะสั้นมาก คือการพยากรณ์สำหรับช่วงเวลาไม่เกิน 12 ชั่วโมง
3
การพยากรณ์ระยะสั้น หมายถึง การพยากรณ์สำหรับระยะเวลาเกินกว่า 12 ชั่วโมงขึ้นไปจนถึง 3 วัน
4
การพยากรณ์อากาศระยะปานกลาง คือ การพยากรณ์สำหรับช่วงเวลาที่เกินกว่า 3 วันขึ้น
ไปจนถึง 10 วัน
5
การพยากรณ์ระยะยาว คือการพยากรณ์สำหรับช่วงเวลาระหว่าง 10 ถึง 30 วัน
โดยปกติมักเป็นการพยากรณ์ว่าค่าเฉลี่ยของตัวแปรทางอุตุนิยมวิทยาในช่วงเวลานั้น
จะแตกต่างไปจากค่าเฉลี่ยทางภูมิอากาศอย่างไร
6
การพยากรณ์ระยะนาน คือการพยากรณ์ตั้งแต่ 30 วัน จนถึง 2 ปี ซึ่งยังแบ่งย่อยออกเป็น 3 ชนิด คือ
6.1
การคาดหมายรายเดือน คือการคาดหมายว่าค่าเฉลี่ยของตัวแปรทางอุตุนิยมวิทยา
  ในช่วงนั้น จะเบี่ยงเบนไปจากค่าเฉลี่ยทางภูมิกาศอย่างไร
6.2
การคาดหมายรายสามเดือน คือการคาดหมายค่าว่าเฉลี่ยของตัวแปรทางอุตุนิยม
 วิทยาในช่วงนั้น จะเบี่ยงเบนไปจากค่าเฉลี่ยทางภูมิอากาศอย่างไร
6.3
การคาดหมายรายฤดู คือการพยากรณ์ค่าเฉลี่ยของฤดูนั้นว่าจะแตกต่างไปจากค่า
  เฉลี่ยทางภูมิอากาศอย่างไร
7
การพยากรณ์ภูมิอากาศ คือการพยากรณ์สำหรับช่วงเวลามากกว่า 2 ปีขึ้นไป โดยแบ่งเป็น
7.1
การพยากรณ์การผันแปรของภูมิอากาศ คือการพยากรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการผันแปร
 ไปจากค่าปกติเป็นรายปีจนถึงหลายสิบปี
7.2
การพยากรณ์ภูมิอากาศคือการพยากรณ์สภาพภูมิอากาศในอนาคต
โดยพิจารณาทั้ง สาเหตุจากธรรมชาติและจากการกระทำของมนุษย์

วิธีการพยากรณ์อากาศ

 วิธีแนวโน้ม เป็นการพยากรณ์อากาศโดยใช้ทิศทางและความเร็วในการเคลื่อนที่ของระบบลมฟ้าอากาศที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อคาดหมายว่าในอนาคตระบบดังกล่าวจะเคลื่อนที่ไปอยู่ ณ ตำแหน่งใด วิธีใช้ได้ดีกับระบบลมฟ้าอากาศที่ไม่มีการเปลี่ยนความเร็ว ทิศทาง และความรุนแรง มักใช้วิธีนี้สำหรับการพยากรณ์ฝนในระยะเวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง การพยากรณ์ด้วยวิธีภูมิอากาศคือการคาดหมายโดยใช้ค่าเฉลี่ยจากสถิตภูมิอากาศหลายๆ ปี วิธีนี้ใช้ได้ดีเมื่อลักษณะของลมฟ้าอากาศมีสภาพใกล้เคียงกับสภาวะปกติของช่วงฤดูกาลนั้น ๆ มักใช้สำหรับการพยากรณ์ระยะนาน การพยากรณ์อากาศด้วยคอมพิวเตอร์เป็นการใช้คอมพิวเตอร์คำนวณการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรที่เกี่ยวข้อง กับสภาวะของลมฟ้าอากาศ โดยใช้แบบจำลองเชิงตัวเลข (numerical model) ซึ่งเป็นการจำลองบรรยากาศและพื้นโลก ด้วยสมการทางคณิตศาสตร์ที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อนข้อจำกัดของวิธีนี้คือแบบจำลอง ไม่มีรายละเอียดครบถ้วนเหมือนธรรมชาติจริง ในทางปฏิบัติ นักพยากรณ์อากาศมักใช้วิธีการพยากรณ์อากาศหลายวิธีร่วมกันตามความเหมาะสม เพื่อให้ได้ผลการพยากรณ์ที่ถูกต้องแม่นยำที่สุดเท่าที่จะทำได้

ความผิดพลาดในการพยากรณ์อากาศ
 แม้ว่าในปัจจุบันการพยากรณ์อากาศจะก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว แต่การพยากรณ์อากาศ ให้ถูกต้องสมบูรณ์โดยไม่มีความผิดพลาดนั้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจกระทำได้ สาเหตุสำคัญสามประการของความผิดพลาดในการพยากรณ์อากาศได้แก่ ประการแรก ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทางอุตุนิยมวิทยายังไม่สมบูรณ์ ประการที่สอง บรรยากาศเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่สถานีตรวจอากาศมีจำนวนน้อยและอยู่ห่างกันมาก รวมทั้งทำการตรวจเพียงบางเวลาเท่านั้น เช่น ทุก 3 ชั่วโมง ทำให้ไม่อาจทราบสภาวะที่แท้จริงของบรรยากาศได้ เมื่อไม่ทราบสภาวะอากาศที่กำลังเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะพยากรณ์อากาศให้มีรายละเอียดครบถ้วนถูกต้อง ประการสุดท้าย ธรรมชาติของกระบวนการที่เกิดขึ้นในบรรยากาศ มีความละเอียดอ่อนซับซ้อนอย่างยิ่ง ปรากฏการณ์ซึ่งมีขนาดเล็กหรือเกิดขึ้นในระยะสั้น ๆ และไม่อาจตรวจพบได้จาการตรวจอากาศ อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพลมฟ้าอากาศเป็นอย่างมากในระยะเวลาต่อมา ซึ่งจะทำให้ผลการพยากรณ์อากาศผิดพลาดไปได้อย่างมาก สาเหตุประการสุดท้ายนี้เป็นข้อจำกัดอย่างยิ่งในการพยากรณ์อากาศ เพราะเป็นเหตุให้การพยากรณ์อากาศจะมีความถูกต้องลดลงตามระ เวลานั่นคือการพยากรณ์สำหรับช่วงเวลาที่สั้นจะมีความถูกต้องมากกว่าการพยากรณ์สำหรับช่วงเวลาที่นานกว่า การพยากรณ์อากาศบริเวณเขตร้อนของโลกเช่นประเทศไทย จะยากกว่าการพยากรณ์ในเขตอบอุ่นและเขตหนาวเนื่องจากจากเหตุผลหลัก 3 ประการ
ประการแรกความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอุตุนิยมวิทยาเขตร้อนยังไม่ก้าวหน้าทัดเทียมกับอุตุนิยมวิทยาในเขตละติจูดสูง
เพราะการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอุตุนิยมวิทยาในเขตร้อนมีน้อยกว่ามาก
ประการที่สองสถานีตรวจอากาศในเขตร้อนมีจำนวนน้อยกว่าในเขตอบอุ่นและเขตหนาว
 ทำให้ผลการตรวจอากาศมีน้อยกว่า
ประการที่สามลมฟ้าอากาศในบริเวณละติจูดสูงส่วนมากเป็นระบบขนาดใหญ่
 ซึ่งเกิดจากมวลอากาศที่แตกต่างกันมาพบกัน ทำให้ตรวจพบได้โดยง่าย
 เช่นฝนที่เกิดจากแนวปะทะอากาศมีความยาวมากกว่า 1,000 กิโลเมตร
 ในขณะทีระบบลมฟ้าอากาศในเขตร้อนส่วนมากมีขนาดเล็ก เพราะไม่ได้เกิดจากความ
 แตกต่างของมวลอากาศ เช่นฝนที่ตกเป็นบริเวณแคบ ๆ
        ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.tmd.go.th/

วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2564

ปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกงูกัด

 

 วิกฤตน้ำท่วมในขณะนี้ นอกจากเรื่องน้ำแล้ว ยังมีสัตว์เลื้อยคลานที่ใครเห็นแล้วอดขนหัวลุกไม่ได้ นั่นคือ "งู"   

             หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่า เมื่อถูกงูกัด จะรู้ว่างูนั้นมีพิษหรือไม่ ให้สังเกตที่รอยเขี้ยว  ถ้างูไม่มีพิษ รอยฟันบนผิวหนังจะเรียงเป็นแถว  แต่ถ้าเป็นงูพิษ จะมีรอยเขี้ยว 2 จุดชัดเจน  หรือมีเลือดซึมออกจากแผล และบริเวณรอบๆ รอยเขี้ยวมีสีคล้ำ หรืออาจพองเป็นถุงน้ำ   ซึ่งพิษของงูจะส่งผลต่อร่างกาย   แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ  ดังนี้  

             1. พิษต่อระบบประสาท (Neurotoxin)  ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลา อาการ เริ่มจากแขนไม่มีแรง กระวนกระวาย ลิ้นเกร็ง พูดจาอ้อแอ้ ตามัว น้ำลายฟูมปาก เนื่องจากกล้ามเนื้อการกลืนเป็นอัมพาต หยุดหายใจ และเสียชีวิตในที่สุด

              2. พิษต่อระบบการแข็งตัวของเลือด (Hematotoxin) ได้แก่ งูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา และงูกะปะ อาการ เริ่มจากปวดแผลมาก มีเลือดซึมออกจากแผล เลือดออกจากอวัยวะต่างๆ เช่น เลือดกำเดา เหงือก ไอ อาเจียน ปัสสาวะและอุจจาระเป็นเลือด เกิดจากภาวะระบบไหลเวียนล้มเหลว และตายในที่สุด

              3. พิษต่อกล้ามเนื้อ (Mytotoxin)  ซึ่งมักจะไม่พบในภาวะน้ำท่วม เนื่องจากเป็นงูทะเล   แต่ไม่ว่าจะถูกงูมีพิษประเภทใดกัด  สิ่งแรกคือ ตั้งสติให้ดี อย่าตกใจ พยายามเคลื่อนไหวร่างกายให้  น้อยที่สุด เพราะจะส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ พลอยให้พิษงูถูกสูบฉีดแล่นเข้าสู่หัวใจได้เร็วขึ้น ซึ่งอาการของพิษงูจะเริ่มแผ่ซ่านตั้งแต่ 15 - 30 นาที  หรืออาจนานถึง  9  ชั่วโมง  จึงต้องเฝ้าสังเกตอาการอย่างต่อเนื่อง  จากนั้นจึงทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดย

                 1. ล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ ไม่ควรใช้เหล้า ยาสีฟัน ขี้เถ้าทาแผล หรือสมุนไพรใดๆ

                 2. บีบเลือดออกจากแผลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ควรใช้ปากดูดหรือเปิดปากแผลด้วยของมีคม

              3. การรัด ควรรัดเหนือและใต้บาดแผลประมาณ 3 นิ้วมือ ไม่ควรรัดเหนือบาดแผลให้แน่นมาก เพราะจะทำให้อวัยวะส่วนปลายขาดเลือดและเน่าตาย ควรคลายความแน่นพอสอดนิ้วมือได้ 1 นิ้ว จุดประสงค์เพื่อให้อวัยวะนั้นอยู่นิ่ง ไม่ใช่เป็นการห้ามพิษเข้าสู่หัวใจตามที่คนส่วนใหญ่เข้าใจไม่ถูกต้อง

              4. ใช้ผ้าสะอาดห้ามเลือดด้วยการกดแผลโดยตรง  ถ้าสามารถใช้แอลกอฮอล์หรือเบต้าดีนทาแผลได้ก็จะเป็นผลดีต่อการทำลายเชื้อโรคต่างๆ

              5. พยายามเคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยที่สุด เพราะหากเคลื่อนไหวมาก จะทำให้พิษของงูเข้าสู่กระแสเลือดเร็วขึ้น

                 6. วางอวัยวะส่วนนั้นให้ต่ำกว่าหรือระดับเดียวกับหัวใจ

              7. รับประทานยาแก้ปวดหากรู้สึกปวด แต่ห้ามใช้ยาที่มีฤทธิ์แอลกอฮอล์ ยาระงับประสาท ยานอนหลับ  ยาดองเหล้า  เป็นต้น

              8. รีบนำผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลใกล้บ้าน ไม่จำเป็นต้องนำซากงูมาให้แพทย์ตรวจดูว่าเป็นงูประเภทใด เนื่องจากอาจจับได้ในบริเวณใกล้เคียงซึ่งไม่ใช่เป็นตัวที่กัด ปัจจุบันใช้การดูรอยกัดและลักษณะแผลเพื่อกำหนดการใช้เซรุ่มต้านพิษงูฉีดให้เหมาะสม

                 9. ให้ระลึกเสมอว่างูที่กัดทุกตัวเป็นงูมีพิษ  

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.healthydee.moph.go.th/