วันศุกร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2564

3 เทรนด์ดูแลสุขภาพประจำปี 2021 หลังยุค "โควิด-19"

 


สถานการณ์ของการเกิดโรคระบาดอย่างโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อทุกมิติของชีวิต และเป็นที่มาของเทรนด์ในการใช้ชีวิตแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะไลฟ์สไตล์ด้านการดูแลสุุขภาพกายและใจให้แข็งแรง สิ่งที่น่าสนใจที่เราได้พบเห็นคือบทบาทของเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้เพื่อตอบโจทย์ด้านการดูแลสุุขภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายผ่านคลาสออนไลน์ ไปจนถึงการใช้งานแอพพลิเคชั่นเพื่อช่วยฝึกสมาธิและการนอนหลับ

เราจึงรวบรวมเคล็ดลับการรักษาสุขภาพกายให้แข็งแรง และดูแลจิตใจให้สดใสได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคและสมาชิกในครอบครัวพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์

3 เทรนด์ดูแลสุขภาพประจำปี 2021 หลังยุค "โควิด-19"

1. บ้านกลายเป็นสถานที่ออกกำลังกาย

จากการที่คนส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เทรนด์การออกกำลังกายที่บ้านเติบโตอย่างรวดเร็วและยังคงเป็นเทรนด์ที่มาแรงจนถึงปัจจุบัน ข้อมูลจากรายงานคำค้นหายอดนิยมประจำปี 2563 A Year in Search 2020 Thailand โดย Think with Google พบว่ามีการค้นหาคลิปโยคะบน YouTube มากกว่าปี 2562 ถึง 70% ในขณะที่เวลาในการรับชมวิดีโอออกกำลังกายบน YouTube เพิ่มขึ้นถึง 80% 


    2. รับประทานอาหารเพื่อเสริมภูมิต้านทานโรค

ในปัจจุบัน ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายผ่านการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น โดยรายงานคำค้นหายอดนิยมประจำปี 2563 ระบุว่าในประเทศไทยมีการค้นหาด้วยคำว่า “plant-based diet” หรือ “อาหารที่ทำจากพืช” เพิ่มขึ้นถึง 137% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

    3. ดูแลสุขภาพจิตให้ผ่อนคลายและห่างไกลความเครียด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการดูแลสุขภาพจิตให้ผ่อนคลายและบรรเทาความเครียดเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการรับมือกับผลกระทบจากเหตุการณ์วิกฤต โดยรายงานคำค้นหายอดนิยมประจำปี 2563 เปิดเผยว่าคนไทยค้นหาและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งจำนวนการค้นหา “โรคซึมเศร้ายังเพิ่มขึ้น 37% เมื่อเทียบกับปีก่อน 

ในปัจจุบัน เราจึงเห็นความนิยมที่เพิ่มขึ้นต่อแอพพลิเคชั่นเพื่อช่วยดูแลสุขภาพจิตให้คงที่ โดยเฉพาะแอพพลิเคชั่นเพื่อการฝึกสมาธิและช่วยให้นอนหลับเต็มอิ่มมากขึ้น เช่น แอพพลิเคชั่น Calm, Headspace และ Simple Habit เป็นต้น

นอกจากนี้ ขอแนะนำเคล็ดลับเพิ่มเติมด้วยการใช้โซเชียลมีเดียรวมถึงเสพสื่ออย่างมีสติ เพื่อลดความวิตกกังวลและผลกระทบต่อสุขภาพจิต และใช้เวลาแบบออฟไลน์ร่วมกับคนภายในครอบครัวและเพื่อนฝูงอย่างมีคุณภาพ เนื่องจากความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างนั้นสำคัญและส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสุขภาพจิตของคนได้โดยตรง

                                                         ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.sanook.com/

วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2564

อาหารกับสิว

 

  


    เรื่องธรรมดาที่ซ่อนความไม่ธรรมดาไว้ เพราะอาหารนอกจากจะให้ประโยชน์แก่ร่างกายแล้ว อาหารยังมีส่วนทำให้เกิดโรคและช่วยป้องกันรักษาโรคได้เช่นกัน ดังนั้นการกินอาหารจึงต้องพิถีพิถันเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้มาซึ่งอาหารที่มีคุณค่าครบถ้วนตามหลักโภชนาการ เพื่อสุขภาพที่ดี และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ยกตัวอย่างใกล้ตัว อย่าง “สิว” ที่มีคนไข้จำนวนไม่น้อยทีเดียวที่มีต้นเหตุหรือปัจจัยเสริมของสิวก็มาจากอาหารที่รับประทานนั่นเอง ซึ่งอาหารที่กระตุ้นและก่อให้เกิดสิวมี 3 ประเภทหลัก คือ

1.       นม ผลิตภัณฑ์จากนม Daily Product เช่น นมข้นหวาน ชีส โยเกิร์ต ไอศกรีม เค้ก เบเกอรี่ และอาหารที่มีส่วนผสมของนม เนื่องจากนมเป็นอาหารย่อยยาก เมื่อรับประทานเข้าไปจะเกิดหมักหมมในกระเพาะอาหาร และเกิดการเจริญเติบโตของ Yeast ซึ่งเมื่อเพิ่มมากขึ้นก็จะเกิดการกระตุ้นให้เกิดสิวได้ แต่ถ้าหากเกรงว่าจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่คอยได้รับจากนม เราสามารถเลือกทานจากอาหารกลุ่มอื่นได้ เช่น ไข่ เต้าหู้ ถั่วต่างๆ ปลาตัวเล็ก และเนื้อสัตว์ เพื่อทดแทนโปรตีนและแคลเซียมจากนมได้

2.       อาหารที่หวานจัด ก็จะเป็นอาหารของ Yeast ในกระเพาะอาหารเช่นเดียวกัน ทำให้ Yeast เจริญเติบโตได้ และยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ Hormone ทำให้ Hormone ไม่คงที่ ขึ้นๆ ลงๆ ตลอดเวลา เป็นสาเหตุของการเกิดสิวเพิ่มมากขึ้น

3.       คาเฟอีน จากชา กาแฟ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง น้ำอัดลม เป็นตัวกระตุ้นให้ Yeast เติบโตและเกิด toxin เป็นของเสียในร่างกาย และกระตุ้นให้เกิดสิวได้ง่าย

4.       ของทอด ของมัน อาจมีผลต่อการกระตุ้นการทำงานของต่อมไขมัน ทำให้ผิวมัน กระตุ้นการเกิดสิวได้

           คนที่มีอาการสิวอักเสบมาก เป็นๆ หายๆ ตลอดเวลา หากทำการรักษามาหลายวิธี แต่สิวก็ยังไม่หายขาด อาจทดลองได้โดยการงดอาหารทั้ง 3 กลุ่ม ดังกล่าวข้างต้น สัก 1-2 เดือน หากผลที่ออกมาทำให้เกิดสิวลดลงหรือไม่เกิดสิวใหม่ ก็เป็นไปได้ว่าคุณอยู่ในกลุ่มที่ถูกกระตุ้นให้เกิดสิวจากอาหารเหล่านี้ และสามารถแก้ไขปัญหาสิวได้ไม่ยากอีกต่อไป


                         ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.chaophya.com/

 

วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2564

เช็กอาการ “Nomophobia” โรคติดมือถือ โรคยอดฮิตของยุคดิจิทัล

 


    ในโลกยุคดิจิทัล ที่อะไร ๆ ก็สะดวกสบาย จะคุยกับเพื่อน อ่านบทความ ติดตามความเคลื่อนไหวของสังคม หรือแม้แต่สั่งอาหาร ก็มักจะทำผ่านมือถือ หรือ “สมาร์ตโฟน” ทั้งนั้น ทำให้โทรศัพท์มือถือเหมือนอวัยวะที่ 33 ของใครหลาย ๆ คนเลย เป็นทั้งเครื่องมือที่ใช้ดำรงชีวิต หาข้อมูลความรู้ และฆ่าเวลายามว่าง แม้ว่าสมาร์ตโฟนจะเป็นเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์ชีวิตยุคดิจิทัลได้เกือบทุกอย่าง แต่ของทุกอย่างมีทั้งประโยชน์ และโทษถ้าเราใช้เกินพอดี ไม่เว้นแม้แต่สมาร์ทโฟน ที่ถ้าเกิดอาการ “ติด” ขึ้นมาแล้ว ก็จะนำไปสู่การเป็นโรค “โนโมโฟเบีย” (Nomophobia) ได้

 โนโมโฟเบีย (Nomophobia) คือคำย่อของอาการ “no mobile phone phobia” แปลตรงตัวก็คือโรคขาดมือถือไม่ได้ ซึ่งศัพท์คำนี้ถูกบัญญัติขึ้นเมื่อปี 2008 โดย YouGov หรือองค์การวิจัยของสหราชอาณาจักร เพื่อใช้เรียกอาการที่เกิดจากความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นเมื่อขาดโทรศัพท์มือถือ หรือสมาร์ตโฟนเพื่อใช้ติดต่อสื่อสาร โดยที่อาการ “โนโมโฟเบีย” จัดเป็นโรคจิตเวชประเภทหนึ่ง ที่อยู่ในกลุ่มของอาการวิตกกังวล และด้วยชีวิตยุคดิจิทัลที่ต้องพึ่งพาสมาร์ตโฟนในการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้คนส่วนใหญ่เป็นโรคนี้โดยไม่รู้ตัว มาสำรวจตัวเองกันดีกว่าว่า ติดมือถือแค่ไหน ถึงเรียกว่าเป็นโนโมโฟเบีย ?

- ต้องมีโทรศัพท์อยู่ติดตัวตลอดเวลา ถ้าไม่มีจะรู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวาย

- หมกมุ่นอยู่กับการอัปเดตข้อมูลในสมาร์ตโฟน ถึงไม่มีเรื่องด่วน ก็อดไม่ได้ที่จะหยิบมือถือขึ้นมาดูแทบตลอดเวลา

- ถ้ามีเสียงเตือนหรือสัญญาณเตือนจากโทรศัพท์มือถือ คุณจะหยุดทุกอย่างเพื่อหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดู ถ้าตอนนั้นคุณทำอะไรค้างไว้อยู่และไม่สามารถดูโทรศัพท์ได้ทันที จะทำให้คุณขาดสมาธิจากกิจกรรมที่คุณทำค้างไว้ทันที

- หยิบโทรศัพท์เป็นอย่างแรก ทันทีหลังตื่นนอน และก่อนนอนก็ต้องไถ่มือถือดูก่อนถึงจะนอนได้

- เล่นโทรศัพท์ระหว่างทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นตอนรับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำ ขับรถ นั่งรถเมล์ ขึ้นบีทีเอส รอคิวสั่งอาหาร

- กลัวโทรศัพท์ตัวเองหายมาก ถึงมากที่สุด แม้ว่าจะเก็บไว้ในที่ปลอดภัยแล้วก็ตาม

- ไม่เคยปิดมือถือเลย

- พูดคุยกับเพื่อนออนไลน์มากกว่าคุยกับเพื่อนที่อยู่ตรงหน้าเวลานัดเจอกัน

- ตั้งใจลองงดเล่นมือถือ 1 ชั่วโมง แต่ทำไม่ได้ 

ทีนี้มาดูกันว่าโรคโนโมโฟเบียที่เป็นโรคทางจิต จะสามารถทำให้เกิดโรคทางกายอะไรได้บ้าง

           นิ้วล็อก

           อาการปวดชาตามนิ้ว และข้อมือ เส้นเอ็นข้อมืออักเสบ ซึ่งเกิดจากการเล่นมือถือ ที่ใช้มือกด จิ้ม สไลด์ และถือสมาร์ตโฟนต่อเนื่องเป็นเวลานาน ถ้าเริ่มรู้สึกว่านิ้วมือเริ่มแข็ง ลองกำมือแล้วเหยียดขึ้นไม่ค่อยได้ แนะนำให้ไปพบแพทย์โดยด่วน 

           เสี่ยงวุ้นในตาเสื่อม

           การเพ่งจอเล็ก ๆ เป็นต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ หรือการเล่นโทรศัพท์ในที่มืด จะทำให้สายตาล้าได้ ซึ่งอาการเริ่มแรกอาจมีอาการตาแห้ง ถ้าปล่อยไว้นาน ๆ โดยไม่ยอมปรับพฤติกรรมอาจจะทำให้เกิดโรคจอประสาทตาและวุ้นในตาเสื่อมได้ ซึ่งอาจนำไปสู่อาการตาบอดได้เลย 

           ปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่
           ท่าเวลาเล่นมือถือจะทำให้เราก้มหน้า ค่อมตัวลงโดยไม่ตั้งใจ เพราะมัวแต่จดจ่ออยู่ที่หน้าจอ เป็นสาเหตุให้คอ บ่า ไหล่ เกิดอาการเกร็งอย่างต่อเนื่อง เลือดไหลเวียนไม่สะดวก และหากเล่นนาน ๆ ก็อาจจะมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย ควรเปลี่ยนพฤติกรรม หมั่นเปลี่ยนท่านั่ง หรือวางมือถือลงบ้าง แล้วหันมายืดเส้นยืดสายก่อนที่อาการจะลุกลามไปมากกว่านี้ 

           หมอนรองกระดูกเสื่อมก่อนวัยอันควร
           เนื่องจากการนั่งผิดท่า และนั่งเกร็งเป็นเวลานาน เวลาที่นั่งเล่นมือถือ ซึ่งอาการหมอนรองกระดูกเสื่อมเป็นอาการที่ต่อเนื่องมาจากการปวดเมื่อย คอ บ่า ไหล่ หากปล่อยไว้จนมาถึงขั้นนี้แล้ว อาจจะต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเลยทีเดียว 

           โรคอ้วน
           โรคนี้ถึงจะไม่ได้เป็นผลกระทบโดยตรงจากการติดเล่นมือถือ แต่ก็เป็นโรคทางอ้อมที่หลาย ๆ อาจคาดไม่ถึง เพราะการเอาแต่เล่นโทรศัพท์โดยที่ไม่ลุกไปทำกิจกรรมอย่างอื่นเลย ทำให้เราขยับร่างกายน้อยลงมาก และยิ่งถ้ากินเยอะขึ้นแต่ขยับร่างการน้อยลง ทำให้การเผาผลาญพลังงานก็น้อยลง ก็อาจทำให้เกิดการสะสมของไขมันจะกลายเป็นโรคอ้วนได้ง่าย ๆ 

           แม้ว่าอาการโนโมโฟเบีย (Nomophobia) จะจัดเป็นโรคจิตเวชแบบอ่อน ๆ ที่ไม่ได้รุนแรงจนต้องไปพบแพทย์เพื่อการรักษา แต่ก็เป็นสาเหตุของโรคทางการที่อันตรายหลายโรคเลยทีเดียว ถ้าสำรวจตัวเองแล้วว่า เราก็เข้าข่ายมีอาการโนโมโฟเบีย (Nomophobia) แล้วล่ะก็ ทางที่ดีแนะนำให้เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ลองหากิจกรรมให้ตัวเองทำที่ไม่ใช่การเล่นมือถือ หรือดูหนังผ่านมือถือดู อาจจะลองเปลี่ยนเป็นการไปวิ่งออกกำลังการในสวน หรือหากิจกรรมทำกับเพื่อนที่ต้องอาศัยการพูดคุย และร่วมทำกิจกรรมกันต่อหน้า เพื่อลดอาการ “ติดมือถือ” ที่เป็นอยู่ให้เบาบางลงบ้าง

                                 

                                                     ขอขอบคุณข้อมูลจาก :  https://th.jobsdb.com/

วันศุกร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2564

6 เทคนิค สร้างสมาธิ สติไม่หลุด จดจ่อได้นาน ทำงานมีประสิทธิภาพ

 



เทคนิค สร้างสมาธิ ให้ทำงานมีประสิทธิภาพ

หลายคนประสบปัญหา ไม่สามารถโฟกัสกับงานได้นานๆ หรือบางทีรู้สึกไม่มีสมาธิ ทำให้งานที่ทำอยู่ไม่ประสบผลสำเร็จเสียที วันนี้เราจึงมีเทคนิคง่ายๆ ที่จะช่วย สร้างสมาธิ ให้จดจ่อได้นานและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ

เมื่อมนุษย์จดจ่อได้ลดลง

บริษัท Microsoft เผยแพร่ผลสำรวจว่า คนยุคปัจจุบันมีสมาธิจดจ่อสั้นลงจาก 12 วินาทีเหลือเพียง 8 วินาที จนหลายครั้งไม่สามารถทำงานให้สำเร็จลุล่วงได้ ชีวจิตจึงขอเสนอวิธีสร้างสมาธิมาฝาก ดังนี้

หยุดเช็กโทรศัพท์ก่อนเข้านอน – หลังตื่นนอน

โปรดสงวนเวลานั้นไว้ให้สมองและจิตใจของคุณค่อยๆ ผ่อนคลายลงจนเข้าสู่ห้วงนิทราหรือตื่นรับวันใหม่ด้วยความสงบ

เพิ่มเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง

การออกไปเดินเล่นในสวนใช้เวลาท่ามกลางธรรมชาติ เปิดโอกาสให้ประสาทสัมผัสทุกระบบของคุณได้ทำงานตามธรรมชาติ ควรฝึกอย่างน้อยวันละ 20 – 30 นาที

กำมือ – คลายมือ

วิธีง่ายๆ อย่างกำมือเข้าแล้วคลายฝ่ามือออกช้าๆ โดยกำหนดลมหายใจไปด้วย การขยับมือต่อเนื่องอย่างน้อยครั้งละ 2 – 3 นาที จะทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลาย

เปิดแท็บทำงานบนคอมพิวเตอร์เพียง 2 – 3 แท็บ

การเปิดหน้าจอมากกว่านั้นไม่ได้ช่วยให้คุณทำงานเสร็จเร็วขึ้นแต่จะส่งผลในทางตรงข้าม นอกจากนนี้ควรงดใช้โซเชียลมีเดียขณะทำงานด้วย

เลือกงานอดิเรกที่ใช้ตา มือ สมองร่วมกัน

เช่น วาดภาพ เล่นดนตรี หรือ ทำงานฝีมือเพียงสัปดาห์ละ 1 – 2 ชั่วโมง วิธีนี้ช่วยกระตุ้นให้ระบบประสาททำงานสัมพันธ์กันและฝึกความอดทนได้ดี

ใช้เวลาคุณภาพกับสิ่งมีชีวิตรอบตัว

เช่น เล่นกับลูกๆ พาสุนัขไปเดินเล่น และทำสวน นอกจากจะช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย ยังทำให้คุณมีทักษะทางสังคม มีจิตใจอ่อนโยน รับมือกับปัญหาได้อย่างใจเย็น

ลองแทรกกิจกรรมเหล่านี้เข้าไปในชีวิตประจำวันทีละน้อยทำต่อเนื่องเพียง 2 สัปดาห์ คุณจะสามารถรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตนเองค่ะ

        

                                                                

                                                            ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://goodlifeupdate.com/

วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2564

7 วิธีง่าย ๆ ที่จะช่วยทำให้ความจำของคุณดีขึ้น

 

 


อาการขี้หลงขี้ลืมอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ถ้าการหลงลืมมีบ่อยจนส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวัน และเราไม่รีบแก้ไข อาการที่เราคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนก็เป็นอาจส่งผลเสียกับเราทั้งในเรื่องของการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันได้ในอนาคต จึงมีคำแนะนำง่าย ๆ ที่จะช่วยเปลี่ยนนิสัยขี้ลืมให้ความจำของคุณกลับมาดีขึ้น 

1. การออกกำลังกายช่วยเรื่องการทำงานของสมอง

การออกกำลังกายไม่เพียงแต่ทำให้ร่างกายแข็งแรง แต่ยังช่วยเรื่องการทำงานของสมองด้วย เพราะการไม่ออกกำลังกายจะทำให้เกิดคราบไขมันและหินปูน (Plaque) ในเส้นเลือดและหลอดเลือด ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการสูบฉีดเลือดลดลง นอกจากจะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการหัวใจวายแล้ว ยังทำให้ปริมาณออกซิเจนและสารอาหารที่เลือดนำไปเลี้ยงสมองลดลงอีกด้วย เมื่อสารอาหารไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ก็จะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของสมองลดลง ดังนั้นการออกกำลังกายเป็นประจำจึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ

 2. อย่าเครียด เพราะมันส่งผลเสียต่อการจดจำ

ความโกรธหรือความกังวลเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความเครียด ส่งผลเสียต่อสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจดจำ ในบรรดาสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดความเครียดทั้งหมด อาการซึมเศร้าเป็นสิ่งที่ทำร้ายสมองได้มากที่สุด เมื่อเรามีอาการซึมเศร้าจะทำให้สาร Cortisol หลั่งออกมามากขึ้น ซึ่งหากมีสารนี้อยู่บริเวณสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำระยะสั้นเป็นจำนวนมาก ก็อาจทำลายความสามารถในการจดจำสิ่งใหม่ ๆ ได้ ดังนั้นหากรู้สึกว่ามีอารมณ์ซึมเศร้า หรือเครียดก็ควรจะรีบปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญโดยเร็วที่สุด 

3. นอนหลับให้ได้ 7 – 8 ชั่วโมง

การนอนหลับ 7 – 8 ชั่วโมงจะช่วยให้ความจำดีขึ้น เพราะระหว่างที่เราหลับ สมองจะซึมซับเอาเหตุการณ์หรือข้อมูลใหม่ ๆ ที่เพิ่งได้รับมา แล้วเก็บบันทึกไว้เป็นความจำระยะสั้น และพัฒนาต่อไปเป็นความจำระยะยาว ดังนั้นหากเราพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือนอนหลับไม่สนิท ก็จะทำให้สมองทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ และการงีบระหว่างวัน โดยเฉพาะหลังจากได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ก็เป็นการช่วยเรื่องการจดจำได้เช่นกัน

 4. จดบันทึก และบอกเล่าเรื่องราวหรือสิ่งที่เรียนรู้มาเป็นประจำ

การจดบันทึกที่เจอเป็นประจำ หรืออ่านหนังสือแบบออกเสียงจะช่วยให้คุณพัฒนาความสามารถในการจดจำ รวมไปถึงการอธิบายหรือเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้คนอื่นฟังก็ช่วยได้ เพราะจากการศึกษาพบว่าเมื่อมีการให้นักเรียนสอนหรืออธิบายความรู้ต่าง ๆ ให้กับนักเรียนคนอื่นฟัง จะเป็นการดึงเอาความทรงจำในเรื่องนั้น ๆ ที่มีอยู่กลับมาใช้อีกรอบ ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น และสามารถจดจำได้ดีขึ้น

5. กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสมอง

น้ำหนักของสมองกว่า 50 - 60 % คือไขมัน ซึ่งสำคัญเป็นอย่างมากต่อเซลล์สมอง การกินอาหารที่มีไขมันเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการพัฒนาความทรงจำระยะยาว อย่างไรก็ตามเราควรหลีกเลี่ยงของทอดต่าง ๆ เพราะถึงแม้จะมีไขมันแต่เป็นไขมันชนิดที่ไม่มีประโยชน์ต่อทั้งร่างกายและสมอง เราจึงควรเลือกไขมันที่ได้จากผักใบเขียว หรือปลาต่าง ๆ เช่น แซลมอน แอนโชวี่ และแม็กเคอเรลแทน

 6. จดจำเป็นรูปภาพ

ในการจดจำสิ่งต่าง ๆ หลายคนมีวิธีจดจำข้อมูลด้วยการจำแบบเป็นภาพ ซึ่งการให้ความสนใจและจดจำรูปภาพ หรือกราฟ ที่ประกอบอยู่ในหนังสือ หรือการจินตนาการสิ่งที่เรากำลังจดจำให้ออกมาในรูปแบบของภาพ รวมไปถึงการใช้ปากกาสีต่าง ๆ ไฮไลท์ส่วนที่สำคัญเอาไว้ ก็จะช่วยให้เราจดจำข้อความเหล่านั้นได้ง่ายขึ้นเช่นกัน  

 7. ทำกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาสมองและความจำ

การทำกิจกรรมที่ช่วยให้เราได้ฝึกสมองอยู่เป็นประจำ เช่น การอ่านหนังสือ หรือเล่นเกมฝึกสมองต่าง ๆ นอกจากจะช่วยให้สมองได้ทำงานอยู่ตลอดเวลาแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะมีปัญหาเรื่องความจำหรือโรคสมองเสื่อมอีกด้วย

รวมไปถึงการฟังเพลงก็ช่วยได้เช่นกัน เพราะดนตรีสามารถดึงเอาความทรงจำต่าง ๆ กลับมา จากงานวิจัยพบว่าดนตรีเป็นตัวช่วยอย่างดีในการเรียกความทรงจำ ข้อมูลต่าง ๆ ที่เราได้เรียนรู้ขณะฟังเพลง มักจะถูกเรียกกลับคืนมาเมื่อเราได้ฟัง หรือนึกถึงเพลงนั้นในครั้งต่อ ๆ ไป

                         

                                                                   ขอขอบคุณข้อมูลจาก :  https://www.jobthai.com

วันจันทร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2564

วัคซีนโควิด 19 ความหวังของคนทั่วโลก!

 


วัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาในปัจจุบันต่างก็มุ่งหวังให้ร่างกายสร้าง แอนติบอดี้ ต่อเชื้อโควิด-19 โดยไม่ต้องติดเชื้อหรือป่วยเป็นโรคโควิด-19 ซึ่งทุก Platforms การพัฒนาและการผลิตวัคซีน เน้นนำ ชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของไวรัส เช่น โปรตีน หรือสารพันธุกรรม (mRNA) มาผลิต เพื่อให้ร่างกายเรารู้จักส่วนหนึ่งหรือหน้าตาของไวรัสตัวนี้ และสามารถสร้าง แอนติบอดี้ ต่อเชื้อโควิด-19 เพื่อเอาไว้ใช้ได้ แต่ไม่ได้นำไวรัสทั้งตัวมาผลิต ดังนั้นวัคซีนที่พัฒนาในปัจจุบันจึงไม่สามารถทำให้เกิดโรคโควิด-19 จากวัคซีนได้

จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2019 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนทั่วโลก จนถึงขณะนี้มีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 70 ล้านคน และเสียชีวิตมากกว่า 1.6 ล้านคนทั่วโลก วัคซีนป้องกันโควิดจึงเป็นความหวังสำคัญที่จะสามารถยับยั้งและควบคุมการแพร่ระบาดนี้ได้

วันนี้หมอจึงขอเล่าเรื่องง่าย ๆ ให้ฟังค่ะ ว่าวัคซีนทำอะไรกับร่างกายเรา และเพราะเหตุใดวัคซีนจึงจะหยุดการระบาดได้

โดยปกติเมื่อ เชื้อโรค เล็ดลอดผ่านเข้าร่างกายเราทางใดทางหนึ่ง เชื้อโรคจะเพิ่มจำนวนพวกพ้องของตนเองเป็นทวีคูณ (สร้างสำเนาด้วย RNA หรือ DNA ของตนเองอย่างรวดเร็ว) และพอพวกมันมีจำนวนมากพอ ก็จะโจมตีร่างกายเรา ทำให้เกิดการเจ็บป่วย ซึ่งร่างกายของเราก็มีกลไกป้องกันตนเอง จากการโจมตีของเชื้อโรคเหล่านี้อยู่ เรียกว่า ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบนี้โดยธรรมชาติเป็นระบบที่ซับซ้อน แข็งแกร่ง และมักจะจดจำรายละเอียดของ เชื้อโรคต่าง ๆ ที่เคยรบกันมาแล้วได้ดี กลไกที่มีชื่อเสียง และถูกนำมาใช้บ่อย คือ การสร้าง แอนติบอดี้ (Antibody) ร่างกายจะผลิตโปรตีนแอนติบอดี้ขึ้น เมื่อสำรวจพบว่ามีเชื้อโรคเข้ามาในร่างกาย โดยแอนติบอดี้ที่จำเพาะจะมาจับกับเชื้อโรคเป้าหมาย เพื่อชี้เป้า ให้เม็ดเลือดขาวหรือทหารของร่างกาย มาทำลายเชื้อโรคให้หมดไปก่อนที่เชื้อโรคจะสร้างความเสียหายแก่ร่างกายเรา ร่างกายเราจะผลิตแอนติบอดี้ ได้เร็วและมาก หากร่างกายเราเคยรู้จักเชื้อโรคตัวนั้นมาก่อน ซึ่งการรู้จักกันมาก่อน สามารถเกิดได้จาก 2 วิธี คือ

  1. การติดเชื้อทางธรรมชาติแล้วร่างกายเรียนรู้จดจำด้วยตนเอง เพื่อไม่ให้ป่วยซ้ำ
  2. จากการ รับวัคซีน วัคซีนจะทำหน้าที่ กระตุ้น หรือ เตือน ระบบภูมิคุ้มกัน ว่ากำลังมีเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ให้ร่างกายเริ่มผลิตแอนติบอดี้ ไว้รอ เมื่อเจอกับเชื้อโรคตัวจริงร่างกายจะได้สามารถสร้างแอนติบอดี้ได้อย่างรวดเร็ว และกำจัดเชื้อให้หมดไปก่อนที่เชื้อจะแบ่งตัวเป็นทวีคูณและก่อโรคแก่ร่างกายเรา

วัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาในปัจจุบัน

ต่างก็มุ่งหวังให้ร่างกายสร้าง แอนติบอดี้ ต่อเชื้อโควิด-19 โดยไม่ต้องติดเชื้อหรือป่วยเป็นโรคโควิด-19 ซึ่งทุก Platforms การพัฒนาและการผลิตวัคซีน เน้นนำ ชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของไวรัส เช่น โปรตีน หรือสารพันธุกรรม (mRNA) มาผลิต เพื่อให้ร่างกายเรารู้จักส่วนหนึ่งหรือหน้าตาของไวรัสตัวนี้ และสามารถสร้าง แอนติบอดี้ ต่อเชื้อโควิด-19 เพื่อเอาไว้ใช้ได้ แต่ไม่ได้นำไวรัสทั้งตัวมาผลิต ดังนั้นวัคซีนที่พัฒนาในปัจจุบันจึงไม่สามารถทำให้เกิดโรคโควิด-19 จากวัคซีนได้

วัคซีนป้องกันโควิด-19 จะสามารถหยุดการระบาดของโรคได้ ก็ต่อเมื่อ วัคซีนสามารถสร้างเสริมให้ประชากรส่วนใหญ่มี ภูมิคุ้มกัน ที่สามารถยับยั้งการก่อโรคโควิด-19 ได้ นั่นคือ วัคซีนต้องมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ทั่วถึง และ ทันเวลา ทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ติดเชื้อ ไม่เป็นพาหะ และ ไม่สามารถแพร่เชื้อได้ เมื่อคนส่วนใหญ่ไม่ติดเชื้อ โอกาสที่เชื้อโควิดจะแพร่สู่คนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งก็ลดลง ทำให้ไม่เกิดการระบาดเป็นวงกว้างเหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ค่ะ

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เรายังอยู่ระหว่างการรอคอยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เหมาะสม คือ ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และเพียงพอ แต่สถานการณ์การระบาดในประเทศไทย ไม่ได้หยุดรอ พวกเราเลยค่ะ การป้องกันตนเองที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ การสร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยตัวเองก่อนค่ะ โดยรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง, รักษาสุขอนามัย ด้วยการล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ ก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หรือ ใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือเสมอ เมื่อสัมผัสสิ่งแวดล้อม สิ่งของต่าง ๆ , ไม่นำมือมา จับ หรือแคะ แกะ เกา ใบหน้า, สวมหน้ากากอนามัยเสมอ เมื่ออยู่ในที่ชุมชน เมื่อพบปะผู้คน และรักษาระยะห่างระหว่างกันค่ะ

    
                                             

                                                             ขอขอบคุณข้อมูลจาก :https://www.synphaet.co.th/