วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2565

การสูบบุหรี่กับผลกระทบต่อการใช้ยา



 การสูบบุหรี่ส่งผลเสียต่อสุขภาพและเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดโรคต่าง ๆ การสูบบุหรี่ยังส่งผลกระทบต่อการใช้ยาบางชนิด จนอาจทำให้การใช้ยาในขนาดปกติมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอในการรักษาโรคหรือในทางตรงกันข้ามอาจได้รับผลของยามากเกินไปจนพบอาการข้างเคียงมากขึ้น ทำให้ยากต่อการจัดขนาดยาที่เหมาะสม นอกจากนี้หากหยุดสูบบุหรี่ฉับพลันอาจทำให้ระดับยาในเลือดเปลี่ยนแปลงจนส่งผลกระทบต่อการรักษาและความปลอดภัยของยา ในบทความนี้ให้ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับสารพิษที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ผลกระทบจากสารพิษต่อการใช้ยา ตัวอย่างยาที่ได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ และข้อพึงระวังสำหรับผู้ที่สูบบุหรี่เมื่อมีการใช้ยา




สารพิษที่เกิดจากการสูบบุหรี่

การเผาไหม้จากการสูบบุหรี่เกิดไม่สมบูรณ์ มีสารพิษเกิดขึ้นมากมาย ควันบุหรี่มีก๊าซ 95% และอนุภาค 5% ซึ่งก๊าชที่เกิดขึ้นมีมากกว่า 500 ชนิด ในจำนวนนี้รวมถึงไนโตรเจน คาร์บอนมอนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ แอมโมเนีย ไฮโดรเจนไซยาไนด์ และเบนซิน ส่วนพวกอนุภาคมีสารมากกว่า 3,500 ชนิด ในจำนวนนี้มีอัลคาลอยด์ (alkaloids) หลายชนิดรวมถึงนิโคติน (nicotine) และพวกโลหะหนัก เช่น ทองแดง ตะกั่ว แคดเมียม สังกะสี นิเกิล พวกอนุภาคที่เกิดขึ้นรวมตัวกันเป็นทาร์หรือสารน้ำมันดิน (tar) ซึ่งประกอบด้วยสารก่อโรคมะเร็งจำนวนมากมาย สารพิษที่มีบทบาทสำคัญต่อการใช้ยา ได้แก่ สารพวกโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (polycyclic aromatic hydrocarbons) และนิโคติน

การสูบบุหรี่ส่งผลกระทบต่อการใช้ยาได้อย่างไร?

เมื่อให้ยาเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าโดยวิธีใด ยาจะถูกดูดซึมจากตำแหน่งที่ให้ยาเข้าสู่กระแสเลือด (ยกเว้นการฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำโดยตรง) จากนั้นยาจะกระจายไปส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อไปออกฤทธิ์รักษาความเจ็บป่วย ในขณะเดียวกันร่างกายมีการกำจัดยาโดยการเปลี่ยนสภาพไปเป็นสารอื่นซึ่งเรียกโดยรวมว่าเมแทบอไลต์ (metabolite ซึ่งหมายถึงสารที่เกิดจากกระบวนการสร้างและสลาย) และขับถ่ายออกจากร่างกาย เมแทบอไลต์อาจมีชนิดเดียวหรือหลายชนิดและส่วนใหญ่ไม่มีฤทธิ์หรือมีฤทธิ์เพียงเล็กน้อย แต่เมแทบอไลต์ของยาบางชนิดมีฤทธิ์แรงขึ้นและเป็นสารสำคัญในการออกฤทธิ์รักษาโรค ในการเปลี่ยนสภาพยาไปเป็นเมแทบอไลต์นั้นส่วนใหญ่อาศัยการทำงานของเอนไซม์ในตับ เป็นเอนไซม์ในกลุ่มไซโตโครมพี 450 (cytochrome P450 หรือ CYP) และเอนไซม์ที่ใช้ในกระบวนการคอนจูเกชัน (conjugation) เพื่อให้เกิดเป็นสารที่ละลายน้ำได้และถูกขับออกทางปัสสาวะ ผลกระทบจากการสูบบุหรี่ต่อการดูดซึมยา การกระจายยา และการกำจัดยา (ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนสภาพยาหรือการขับถ่ายยา) ถือเป็นผลกระทบด้านเภสัชจลนศาสตร์ (pharmacokinetic interaction) ทำให้ระดับยาในเลือดเปลี่ยนแปลง แต่ถ้ารบกวนการออกฤทธิ์ของยาถือเป็นผลกระทบด้านเภสัชพลศาสตร์ (pharmacodynamic interaction)

สารพวกโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอนที่เกิดจากการสูบบุหรี่มีบทบาทสำคัญในการชักนำการสร้างเอนไซม์หลายชนิดที่ใช้ในการเปลี่ยนสภาพยา เช่น CYP1A2, CYP2B6, CYP3A4, CYP2C19, CYP2E1 โดยเฉพาะสองชนิดแรก ตลอดจนชักนำการสร้างเอนไซม์ที่ใช้ในกระบวนการคอนจูเกชัน (เช่น uridine diphosphate-glucuronosyltransferases หรือ UGTs ซึ่งใช้ในกระบวนการ glucuronidation) ทำให้เพิ่มการกำจัดยาชนิดที่ใช้เอนไซม์เหล่านี้ในการเปลี่ยนสภาพ จนอาจต้องใช้ยาในขนาดสูงขึ้น แต่ถ้ายาชนิดใดถูกเปลี่ยนเป็นเมแทบอไลต์ที่มีฤทธิ์มากขึ้น เช่น โคลพิโดเกรล (clopidogrel) ซึ่งเป็นยาต้านเกล็ดเลือดที่ใช้รักษาโรคหลอดเลือดอุดตันจากลิ่มเลือด ยาจะให้ผลการรักษาดีขึ้น (อย่างไรก็ตามการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองจึงควรเลิกสูบบุหรี่) สารอื่นที่เกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่ เช่น อะซิโตน ไพริดีน เบนซีน คาร์บอนมอนอกไซด์ พวกโลหะหนักบางชนิด หรือแม้แต่นิโคติน สามารถเกิดปฏิกิริยากับเอนไซม์ได้เช่นกันแต่มีบทบาทน้อยในการรบกวนการเปลี่ยนสภาพยา นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังลดการดูดซึมอินซูลินที่ให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้ล้วนเป็นผลกระทบด้านเภสัชจลนศาสตร์ของการสูบบุหรี่ที่มีต่อการใช้ยา

ส่วนผลกระทบด้านเภสัชพลศาสตร์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการออกฤทธิ์ของยานั้นส่วนใหญ่เกิดจากฤทธิ์ของนิโคติน นิโคตินเป็นอัลคาลอยด์ในใบยาสูบและเป็นสารที่ทำให้เกิดการติดบุหรี่ ขณะสูบบุหรี่สารนี้จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดที่ปอดอย่างรวดเร็วและกระจายสู่ส่วนอื่นของร่างกาย ไปสมองได้ภายใน 10-20 วินาที ระดับนิโคตินในสมองเกิดสูงสุดภายในไม่กี่นาที เมื่อนิโคตินจับกับตัวรับ (nicotinic cholinergic receptor) ที่สมองจะกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทหลายชนิด เช่น โดพามีน (dopamine), อะดรีนาลีน (adrenaline), อะเซทิลโคลีน (acetylcholine), กรดแกมมาอะมิโนบิวทีริก (gamma aminobutyric acid หรือ GABA), เบตาเอ็นดอร์ฟิน (beta endorphin) และกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมน ได้แก่ โกรทฮอร์โมน (growth hormone), โพรแลกติน (prolactin) และอะดรีโนคอร์ติโคโทรฟิกฮอร์โมน (adrenocorticotrophic hormone หรือ ACTH) ซึ่งสารสื่อประสาทและฮอร์โมนเหล่านี้แสดงฤทธิ์ได้แตกต่างกัน จึงอาจส่งผลรบกวนการออกฤทธิ์ของยาต่าง ๆ ที่ใช้รักษาโรค ภายหลังสิ้นสุดการสูบบุหรี่ระดับนิโคตินจะค่อย ๆ ลดลงแต่ยังอยู่ในร่างกายได้นาน 6-8 ชั่วโมง (ขึ้นกับปริมาณนิโคตินที่ได้รับ) การสูบบุหรี่เป็นเวลานานจะเกิดการทนต่อฤทธิ์นิโคตินและเกิดการติดบุหรี่

ตัวอย่างยาที่ได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่

มียาหลายอย่างที่ได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ (ดูตาราง) ผลกระทบต่อระดับยาในเลือดซึ่งเป็นผลกระทบด้านเภสัชจลนศาสตร์นั้นส่วนใหญ่เกิดจากสารพวกโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน และผลกระทบต่อการออกฤทธิ์ของยาซึ่งเป็นผลกระทบด้านเภสัชพลศาสตร์นั้นส่วนใหญ่เกิดจากฤทธิ์ของนิโคตินดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น ยาบางชนิดอาจได้รับผลกระทบทั้งสองด้าน

ผลกระทบต่อระดับยาในเลือด (ผลกระทบด้านเภสัชจลนศาสตร์)

พวกโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอนที่เกิดจากการสูบบุหรี่มีฤทธิ์ชักนำการสร้างเอนไซม์หลายชนิดที่ใช้ในการเปลี่ยนสภาพยา (เช่น CYP1A2, CYP2B6, CYP3A4, CYP2C19, CYP2E1, UGTs) ส่งผลให้ระดับยาในเลือดที่จะกล่าวถึงข้างล่างนี้ลดลง ซึ่งอาจทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาโรคลดลง เว้นแต่ว่าเมแทบอไลต์ที่เกิดขึ้นเป็นตัวออกฤทธิ์รักษาโรคและการเปลี่ยนสภาพขั้นตอนต่อไปไม่ได้อาศัยเอนไซม์เหล่านั้น
  1. ยารักษาโรคจิต (antipsychotics) เช่น โคลซาพีน (clozapine), โอแลนซาพีน (olanzapine), ริสเพอริโดน (risperidone), ฮาโลเพอริดอล (haloperidol), เพอร์เฟนาซีน (perphenazine), คลอร์โพรมาซีน (chlorpromazine) การสูบบุหรี่ทำให้ระดับยาในเลือดลดลง โดยเฉพาะยาสองชนิดแรกที่อาจได้รับผลกระทบมากกว่ายาอื่น ยาเหล่านี้ใช้รักษาโรคจิตเภท (schizophrenia) บางชนิดยังใช้รักษาอาการคลื่นไส้และอาเจียนที่เกิดรุนแรง
  2. ยาต้านซึมเศร้า (antidepressants) เช่น ฟลูวอกซามีน (fluvoxamine), เมอร์ทาซาพีน (mirtazapine), ทราโซโดน (trazodone), ดูล็อกซีทีน (duloxetine), อะมิทริปทีลีน (amitriptyline), นอร์ทริปทีลีน (nortriptyline), อิมิพรามีน (imipramine), เอสซิตาโลแพรม (escitalopram) การสูบบุหรี่ทำให้ระดับยาในเลือดลดลง ยาเหล่านี้นอกจากใช้รักษาโรคซึมเศร้า (depression) แล้ว บางชนิดยังใช้รักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ (obsessive- compulsive disorder) และอาการอื่น ๆ เช่น อาการปวดที่เกิดจากการมีกระแสประสาทที่ผิดปกติ (neuropathic pain)
  3. ยาระงับปวดโอปิออยด์ (opioid analgesics) เช่น เมทาโดน (methadone), เพนทาโซซีน (pentazocine) ยาเหล่านี้ใช้ลดอาการปวดที่เกิดรุนแรง การสูบบุหรี่ทำให้ระดับยาในเลือดลดลง
  4. ยารักษาโรคมะเร็ง (antineoplastics) เช่น เออร์โลทินิบ (erlotinib), อิริโนทีแคน (irinotecan) ระดับยาทั้งสองชนิดรวมทั้งเมแทบอไลต์ที่มีฤทธิ์ของยาเหล่านี้ลดลงในผู้ที่สูบบุหรี่
  5. ยากันเลือดเป็นลิ่มหรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulants) เช่น ยาวาร์ฟาริน (warfarin), เฮพาริน (heparin) ใช้ป้องกันและรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือด (เช่น ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ, ลิ่มเลือดอุดตันในปอด) การสูบบุหรี่เพิ่มการกำจัดยาวาร์ฟารินที่อยู่ในรูป R-enantiomer (แต่ S-enantiomer มีฤทธิ์แรงกว่า) ยังไม่ชัดเจนถึงผลกระทบต่อประสิทธิภาพยา
  6. ยาต้านเกล็ดเลือด (antiplatelets) เช่น โคลพิโดเกรล (clopidogrel) ใช้รักษาโรคหลอดเลือดอุดตันจากลิ่มเลือด (เช่นโรคหัวใจขาดเลือด, โรคสมองขาดเลือด) ในผู้ที่สูบบุหรี่แม้ว่าระดับยาโคลพิโดเกรลจะลดลงเร็วแต่เมแทบอไลต์ที่เกิดขึ้นเป็นสารที่ออกฤทธิ์ จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาแต่อาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงได้มากขึ้น
  7. ยารักษาโรคทางเดินหายใจ (respiratory drugs) เช่น ทีโอฟิลลีน (theophylline) ใช้รักษาโรคหืด ยานี้ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากระดับยาที่ให้ผลในการรักษาโรคได้อย่างปลอดภัยมีช่วงแคบ (narrow therapeutic window) ผู้ที่สูบบุหรี่อาจต้องใช้ขนาดยามากกว่าปกติ การหยุดสูบฉับพลันอาจได้รับอันตรายจากการได้รับยาเกินขนาด
  8. ยาอื่น ยังมียาอีกมากมายที่ได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ ทำให้ระดับยาในเลือดลดลง เช่น อัลพราโซแลม (alprazolam) ใช้รักษาโรควิตกกังวล, ฟลีเคไนด์ (flecainide) และเม็กซิเลทีน (mexiletine) ใช้รักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ, โรพินิโรล (ropinirole) ใช้รักษาโรคพาร์กินสัน, เพอร์เฟนิโดน (pirfenidone) ใช้รักษาโรคพังผืดที่ปอด, โพรพราโนลอล (propranolol) ใช้ยารักษาโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ, ทาครีน (tacrine) ยารักษาโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease), ทิซานิดีน (tizanidine) ใช้รักษาอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ
ผลกระทบต่อการออกฤทธิ์ของยา (ผลกระทบด้านเภสัชพลศาสตร์)

นิโคตินในบุหรี่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายอย่าง จึงอาจรบกวนการออกฤทธิ์ของยาต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ทำให้ยาแสดงฤทธิ์ในการรักษาโรคลดลง ดังตัวอย่างที่จะกล่าวต่อไปนี้
  1. ยากลุ่มเบนโซไดอะซีพีน (benzodiazepines) เช่น ไดอาซีแพม (diazepam), คลอร์ไดอาซีพอกไซด์ (chlordiazepoxide), ลอราซีแพม (lorazepam), อัลพราโซแลม (alprazolam) ยาเหล่านี้ใช้รักษาโรควิตกกังวล (anxiety disorders) การสูบบุหรี่จะลดประสิทธิภาพของยาเหล่านี้ในการออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง คาดว่าเกิดเนื่องจากนิโคตินทำให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทที่มีฤทธิ์กระตุ้นสมอง จึงอาจต้องใช้ยาในขนาดสูงขึ้น และหากหยุดสูบบุหรี่ฉับพลันอาจเกิดภาวะสงบประสาทมากและง่วงนอน
  2. ยาระงับปวดโอปิออยด์ (opioid analgesics) เช่น เมทาโดน, เพนทาโซซีน นิโคตินในบุหรี่ออกฤทธิ์รบกวนระบบโอปิออยด์และลดฤทธิ์กดสมองของยา คนสูบบุหรี่อาจต้องการใช้ยาเหล่านี้เพื่อระงับปวดในขนาดสูงขึ้น
  3. ยารักษาโรคทางเดินหายใจ (respiratory drugs) เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูด (inhaled corticosteroids) ใช้รักษาโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ยามีประสิทธิภาพลดลงในคนสูบบุหรี่จนอาจทำให้ควบคุมโรคไม่ได้ การสูบบุหรี่ยังทำให้โรคทางเดินหายใจมีอาการอักเสบรุนแรงขึ้น คาดว่าเนื่องจากสารพิษในบุหรี่กระตุ้นทางเดินหายใจให้หลั่งสารไซโตไคน์ (cytokines) ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ
  4. ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง (antihypertensives) เช่น กลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งตัวรับเบตา (beta-blockers) ตัวอย่างยาเช่น โพรพราโนลอล (propranolol) การสูบบุหรี่ลดประสิทธิภาพของยาในการลดความดันโลหิตและควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ อาจเนื่องจากนิโคตินมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ เพิ่มความดันโลหิตและเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ผู้ที่สูบบุหรี่อาจต้องใช้ยาในขนาดสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ นอกจากนี้นิโคตินอาจมีส่วนที่ทำให้ผนังหลอดเลือดแดงแข็งขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
  5. ยารักษาโรคมะเร็ง (antineoplastics) ทั้งนิโคตินและพวกโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอนมีผลซับซ้อนต่อการรักษาโรคมะเร็ง อาจมีผลต่อกระบวนการทำลายตัวเองของเซลล์ (apoptosis) การงอกของหลอดเลือดในก้อนเนื้องอก ตลอดจนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย จนส่งผลกระทบต่อการรักษาโรคมะเร็งเมื่อใช้ยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์เกี่ยวข้องกับสิ่งที่กล่าวมา
   

ผลกระทบทางอ้อมของการสูบบุหรี่ต่อการใช้ยา

การสูบบุหรี่นอกจากส่งผลกระทบต่อระดับยาในเลือดและการออกฤทธิ์ของยาบางชนิดดังกล่าวข้างต้นแล้ว การสูบบุหรี่ยังมีผลทางอ้อมโดยทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายจนเป็นข้อจำกัดในการใช้ยาบางอย่าง หรือการสูบบุหรี่อาจเป็นปัจจัยร่วมกับความผิดปกติอื่นจนเพิ่มความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายเมื่อใช้ยาบางชนิด ดังตัวอย่างที่กล่าวถึงข้างล่างนี้
  1. การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามอายุและปริมาณบุหรี่ที่สูบ (วันละ 15 มวนหรือมากกว่านี้) โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ด้วยเหตุนี้ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปีและสูบบุหรี่จึงไม่แนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนพวกเอสโตรเจนเป็นส่วนประกอบ หากจะใช้ยาคุมกำเนิดชนิดดังกล่าวมีข้อแนะนำให้เลิกสูบบุหรี่
  2. การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยร่วมกับความผิดปกติอื่น ทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายเมื่อใช้ยาบางชนิด เช่น ผู้ที่พบการแปรผันทางพันธุกรรม (genetic variation) ที่มียีนชนิด HLA-C*06:02 และมีการใช้ยายูสเตคินูแมบ (ustekinumab) เพื่อรักษาโรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) พบว่าการสูบบุหรี่ทำให้การรักษาด้วยยาดังกล่าวให้ผลไม่ดีและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้มากขึ้น ยังไม่ทราบถึงกลไกการเกิดผลเสียเช่นนี้ แต่การมียีนชนิดดังกล่าวโดยลำพังหรือการสูบบุหรี่โดยลำพังไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเมื่อรักษาด้วยยาข้างต้น การสูบบุหรี่อาจทำให้ผู้ที่มีการแปรผันทางพันธุกรรมชนิดอื่นอีกมากมายให้การตอบสนองไม่ดีต่อการใช้ยาได้เช่นกัน
  3. นิโคตินในบุหรี่ทำให้เกิดภาวะดื้อต่อฤทธิ์อินซูลิน (insulin resistance) ทำให้เซลล์ร่างกายนำกลูโคสไปใช้ไม่ได้ ซึ่งอาจทำให้การใช้ยารักษาโรคเบาหวานให้ผลควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี
  4. การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง อีกทั้งยังทำให้โรคหลายอย่างที่เป็นอยู่มีอาการแย่ลงหรือรักษายากขึ้น เช่น โรคเบาหวาน โรคไต ตลอดจนรบกวนระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการใช้ยาได้
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของการสูบบุหรี่ต่อการใช้ยา

ผลกระทบของการสูบบุหรี่ต่อการใช้ยาตามที่กล่าวข้างต้นนั้น จะเกิดมากหรือน้อยเพียงใดมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องดังนี้
  1. ปริมาณบุหรี่ที่สูบ ซึ่งจะสัมพันธ์กับปริมาณสารพิษไม่ว่าจะเป็นพวกโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอนที่มีผลรบกวนด้านเภสัชจลนศาสตร์ของยา (ส่งผลกระทบต่อระดับยาในเลือด) และนิโคตินที่มีผลรบกวนด้านเภสัชพลศาสตร์ของยา (ส่งผลกระทบต่อการออกฤทธิ์ของยา) อย่างไรก็ตามเป็นการยากที่จะระบุปริมาณที่ชัดเจนว่าเท่าใดจึงเกิดผลกระทบ เนื่องจากมีปัจจัยด้านอื่นร่วมด้วย (มีกล่าวในลำดับต่อไป) บางการศึกษาระบุไว้ที่ปริมาณมากกว่าวันละ 10 มวน ซึ่งการสูบบุหรี่มากกว่าวันละ 20 มวนพบว่าฤทธิ์เอนไซม์ CYP1A2 เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
  2. ความแปรปรวนในพันธุกรรมของเอนไซม์ ทำให้เอนไซม์ทำงานมากหรือน้อยกว่าปกติ ผลกระทบที่ได้รับจากการสูบบุหรี่จึงมีแตกต่างกัน ซึ่งเอนไซม์ CYP1A2 พบความแปรปรวนทางด้านพันธุกรรมสูง
  3. ชนิดของยา ยาบางชนิดแม้ระดับยาในเลือดจะเปลี่ยนแปลงไปมากแต่ไม่กระทบต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา (เป็นยาที่มี "therapeutic window" กว้าง) ในทางตรงกันข้ามยาบางชนิดแม้ระดับยาในเลือดเปลี่ยนแปลงไม่มากนักแต่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา (เป็นยาที่มี "therapeutic window" แคบ) นอกจากนี้ยังขึ้นกับว่ายานั้นต้องพึ่งพาเอนไซม์ชนิดที่ได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่เพื่อใช้การเปลี่ยนสภาพยาไปเป็นสารอื่นมากหรือน้อยเพียงใด เนื่องจากยาบางอย่างมีเอนไซม์ทางเลือกหลายชนิดที่ใช้เพื่อการเปลี่ยนสภาพ อีกทั้งยังขึ้นกับว่าเมแทบอไลต์เป็นสารออกฤทธิ์หรือไม่และเมแทบอไลต์ยังต้องพึ่งพาเอนไซม์ชนิดนั้น (ที่ได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่) เพื่อการเปลี่ยนสภาพในขั้นต่อไปอีกหรือไม่
หากหยุดสูบบุหรี่ฉับพลันจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อการใช้ยา

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่าการสูบบุหรี่ชักนำการสร้างเอนไซม์หลายชนิดที่ใช้ในการเปลี่ยนสภาพยา หากหยุดสูบบุหรี่ฤทธิ์ของเอนไซม์ลดลงมาอยู่ที่ระดับใหม่ภายในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์หลังหยุดสูบบุหรี่ ดังนั้นหากช่วงที่สูบบุหรี่มีการใช้ยาในขนาดสูงกว่าปกติ เมื่อหยุดสูบบุหรี่ฉับพลันระดับยาในเลือดอาจสูงขึ้นจนเกิดผลข้างเคียงมากหรือเป็นอันตรายได้ หากเป็นกรณีที่ยาถูกเปลี่ยนเป็นเมแทบอไลต์ที่มีฤทธิ์ (เช่น โคลพิโดเกรล) ซึ่งช่วงที่สูบบุหรี่อาจใช้ในขนาดน้อยกว่าปกติ เมื่อหยุดสูบบุหรี่ฉับพลันประสิทธิภาพในการรักษาโรคอาจไม่เพียงพอจนโรคกำเริบ ทั้งนี้ผลกระทบจากการหยุดสูบบุหรี่ฉับพลันอาจมีมากหรือน้อยขึ้นหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง (ดูหัวข้อ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของการสูบบุหรี่ต่อการใช้ยา)

ข้อพึงระวังสำหรับผู้ที่สูบบุหรี่เมื่อมีการใช้ยา

การสูบบุหรี่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพและมีผลกระทบต่อการใช้ยาบางชนิด จึงควรเลิกสูบบุหรี่ ผู้ที่ยังไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่หากต้องมีการใช้ยาเพื่อรักษาความเจ็บป่วยมีข้อพึงระวังดังนี้
  1. เมื่อเข้ารับการรักษาความเจ็บป่วย ควรแจ้งแพทย์และเภสัชกรด้วยว่าเป็นผู้ที่สูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่อาจส่งผลรบกวนประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาที่ได้รับ
  2. ระหว่างการใช้ยา ควรติดตามผลการรักษาโรคและเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ของยา เนื่องจากขนาดยาที่เหมาะสมอาจแตกต่างจากผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่
  3. การเปลี่ยนแปลงปริมาณบุหรี่ที่สูบหรือการหยุดสูบบุหรี่ฉับพลัน อาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา จนโรคกำเริบหรือได้รับอันตรายจากยา (ขึ้นกับชนิดของยาที่ใช้อยู่)
 ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://healthydee.moph.go.th

 

'อนุทิน' นำทีม Kick Off ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ฝาส้มให้เด็กอายุ 5 - 11 ปีวันแรก เผย เตรียมร่นเวลาส่งวัคซีนให้เร็วขึ้นเพื่อขยายการครอบคลุมแก่เด็กให้เร็วยิ่งขึ้น

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สธ. เดินทางเข้าเยี่ยมและให้กำลังใจการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็ก 5-11 ปีที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค วันแรก ณ ชั้น 12 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก)

นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้เป็นวันดีที่จะได้ฉีดวัคซีนให้กับลูกหลานอายุ 5 - 11 ปี วัควีนที่นำมาฉีดได้รับการอนุญาติจาก อย. ตรวจสอบว่าปลอดภัย เป็นล็อตแรกที่มาถึงไทย 3 แสนโดสผ่านการตรวจอีกชั้นจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และจากนี้จะทยอยส่งมาเพิ่มสัปดาห์ละ 3 แสนโดส จนครบจำนวนการสั่งซื้อทั้งหมด 10 ล้านโดส ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 เดือนก็จะครอบคลุมทั้งหมด และจากการหารือผู้บริหารไฟเซอร์ประเทศไทยในการประชุมหอการค้าไทย ระบุว่าจะเพิ่มจำนวนการจัดส่งในแต่ละสัปดาห์ให้มากกว่า 3 แสนโดส จากนี้จะมีการแก้ไขสัญญาต่อไป ซึ่งจะทำให้การส่งเร็วขึ้นมาอีก 1 เดือน ขณะเดียวกันขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนสำหรับเด็กเร็วที่สุด

สธ. ขอให้ความมั่นใจแก่ผู้ปกครอง วัคซีนที่จัดมาให้ลูกหลานเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยมีมาตรฐาน วิธีการฉีดผ่านคณะกรรมการวิชาการหลายท่านซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอาจารย์แพทย์ที่มีความรู้ในเรื่องของการฉีดวัคซีน อาการข้างเคียงอาจจะเกิดขึ้นได้ อาจจะมีบ้างแต่ไม่ใช่สิ่งที่อันตราย ช่วงแรกขอให้กรมการแพทย์ทำความเข้าใจกับบรรดาผู้ปกครองให้ทราบถึงอาการข้างเคียง และการดูแล

บรรยากาศสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ตั้งแต่เช้ามีผู้ปกครองที่สมัครใจพาบุตรหลานที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายมารับวัคซีนวัคซีนต่อเนื่อง ซึ่งทางสถาบันฯ ได้พยายามสร้างบรรยากาศให้ผ่อนคลายสำหรับเด็ก โดยเจ้าหน้าที่แต่งชุดมาสคอตตัวการ์ตูนต่างๆ เปิดการ์ตูนให้เด็กชมระหว่างรอฉีดและสังเกตอาการหลังฉีด รพ.จะเป็นฐานฉีดสำหรับเด็กมีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง และเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า ซึ่งเป็นกลุ่ม
เสี่ยงมีโอกาสติดเชื้อและเสียชีวิตสูง ส่วนเด็กอายุ
5-11 ปีที่ไม่มีโรคประจำตัวจะมีการจัดฉีดโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานต่อไป


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.facebook.com/ayutthayanews/

 


พล.อ.อนุพงษ์ สั่งการผู้ว่าฯ เตรียมรับมือภัยแล้ง ย้ำ กำหนดแผนให้ประชาชนมีน้ำอุปโภค บริโภคให้เพียงพอ

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการได้ติดตามสภาพอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงระหว่างเดือนมกราคม - มีนาคม 2565 ปริมาณฝนรวมประเทศไทยจะต่ำกว่าค่าปกติและคาดว่าจะเข้าสู่ฤดูร้อน ตั้งแต่ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลให้อุณหภูมิเริ่มสูงขึ้น และตั้งแต่เดือนมีนาคมจะมีอากาศร้อนอบอ้าวและแห้ง ความชื้นในอากาศมีน้อย และมีอากาศร้อนจัดเป็นบางวัน โดยเฉพาะบริเวณประเทศไทยตอนบน

เพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2565 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/65 จึงสั่งการไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ทุกจังหวัด เฝ้าระวัง ติดตามข้อมูลสภาพอากาศ ปริมาณฝนที่ตก และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง วางแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยใช้กลไกของคณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการของจังหวัด กำหนดแนวทางการใช้น้ำในลักษณะต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ และให้ทบทวนและจัดทำแผนเผชิญเหตุภัยแล้งของจังหวัดให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่

พร้อมสั่งการให้สำรวจพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชนที่เคยเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นประจำ รวมไปถึงพื้นที่อื่น ๆ ที่มีปริมาณฝนตกน้อยจนไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ ประสานโครงการชลประทาน การประปาส่วนภูมิภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ และสำหรับการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร ให้ดำเนินการตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2564/65 ของกระทรวงเกษตรฯ กำหนดมาตรการรองรับในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะพืชสวนที่เป็นไม้ยืนต้นและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ประสานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดทำฝนหลวงในพื้นที่เกษตรและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อกักเก็บน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ เพิ่มเติมให้ได้มากที่สุด .

หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้ง ติดต่อขอรับความช่วยเหลือ สายด่วนนิรภัย โทร. 1784 ตลอด 24 ชั่งโมง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.facebook.com/ayutthayanews/

“นายกฯ” สั่งจับตา สถานบันเทิง ดื่มไม่เกินเวลา 23.00 น. ร้านไหนแอบเปิดหลังร้าน จับกุม ยึดใบอนุญาต หากพบ จนท.รัฐ เอี่ยว ให้เอาผิดทางวินัย

นายกฯ” สั่งจับตา สถานบันเทิง ดื่มไม่เกินเวลา 23.00 น. ร้านไหนแอบเปิดหลังร้าน จับกุม ยึดใบอนุญาต หากพบ จนท.รัฐ เอี่ยว ให้เอาผิดทางวินัย

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสัปดาห์แรกที่ประชุม ศบค. อนุมัติให้ร้านอาหารที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใน 8 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยวและพื้นที่สีส้ม 25 จังหวัด ที่เปิดให้บริการได้ถึงเวลา 23.00 น.

รวมทั้ง ต้องตรวจสอบต่อไม่ให้มีการเปิดดื่มในร้านหลัง 5 ทุ่ม และต้องเข้ม COVID Free Setting โดยผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด พร้อมกำชับตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง ให้ดูแลสถานประกอบการที่ทำผิด

หากเจ้าหน้าที่พบผู้กระทำผิดกฎหมาย หรือเจ้าหน้าที่ทำผิดกฎหมาย ต้องลงโทษทางวินัย ร้านไหนขายเหล้า ร้านไหนลักลอบปิดเกินเวลาที่กำหนด ปิดหน้าร้านแต่แอบเปิดหลังร้าน ขอให้เจ้าหน้าที่สอบสวน จับกุม ยึดใบอนุญาต และหากพบ จนท.รัฐ เกี่ยวข้องให้เอาผิดทางวินัย 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.facebook.com/ayutthayanews/

แบบไหน ? ที่เรียกว่า “ทิ้งงาน”

 แบบไหน ? ที่เรียกว่า “ทิ้งงาน” ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 109

 1. ผู้ยื่นข้อเสนอที่ได้รับคัดเลือก ไม่ทำสัญญา/ข้อตกลงเป็นหนังสือภายในกำหนด

 2. คู่สัญญา/ผู้รับจ้าง ไม่ปฏิบัติตามสัญญา/ข้อตกลง

3. ผู้ยื่นข้อเสนอ/คู่สัญญา ขัดขวางการแข่งขันราคา/กระทำการโดยไม่สุจริต

 4. ที่ปรึกษา/ผู้ให้บริการงานออกแบบ,งานควบคุมงานก่อสร้าง ผลการปฎิบัติตามสัญญา มีข้อบกพร่อง ผิดพลาด หรือเกิดความเสียหายร้ายแรง

5. ผู้ให้บริการงานออกแบบ/งานควบคุมงานก่อสร้าง มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้ประกอบการงานก่อสร้างในงานนั้นๆ


 ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.facebook.com/sharedsaradd/



ศบค. ขอให้แยกขยะจากการตรวจ ATK หน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย ใส่ถุงขยะติดเชื้อ เพื่อรักษาสุขอนามัยที่ดี

 


วันนี้ (31 มกราคม 2565) เวลา 12.30 น. ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยได้ตอบคำถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับขยะที่เกิดจากชุดตรวจ ATK โดยโฆษก ศบค. แนะนำว่า ชุดตรวจ ATK ภายหลังการตรวจ กลายเป็นขยะจำนวนมาก กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใย โดย โฆษก ศบค. นำชุดข้อมูลมาสื่อสาร คือ ATK ถือเป็นขยะติดเชื้อ เพราะตรวจจากสารคัดหลั่งในร่างกาย มีเชื้อโรคจากร่างกาย หรือเชื้ออ่อนจากโควิด -19 ต้องทิ้งให้ปลอดภัย วิธีทิ้งคือ ก่อนทิ้งให้ใช้แอลกอฮอล์ที่เราใช้ฉีดมือ และนำมาใส่ถุงสีแดงสัญลักษณ์ของขยะติดเชื้อ หรือถ้าไม่มี ให้ใส่ในถุงพลาสติก 2 ชั้น ปิดปากถุงให้แน่น และเขียนว่าเป็นขยะติดเชื้อ ขอให้ห่วงใยเจ้าหน้าที่ผู้เก็บขยะไม่ให้เกิดความเสี่ยงร่วม


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.thaigov.go.th

วันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2565

สารพิษจากเชื้อรา อันตรายที่มองไม่เห็น

 สารพิษจากเชื้อรา (Mycotoxins) คือสารพิษจากธรรมชาติที่ผลิตโดยเชื้อรา เป็นพิษต่อสุขภาพทั้งคนและสัตว์ สารพิษมักปะปนมาในอาหารหลายชนิด รวมถึงผลิตผลทางการเกษตร เช่น เครื่องเทศ ผลไม้อบแห้ง กาแฟ โกโก้ เมล็ดธัญพืชต่าง ๆ เป็นต้น หากคนหรือสัตว์รับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารพิษในปริมาณสูงอาจทำให้เกิดความเป็นพิษแบบเฉียบพลัน หรือหากได้รับในปริมาณน้อยแต่ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจเกิดการสะสมและเกิดโรคในภายหลังได้เช่นกัน ผลต่อสุขภาพที่เกิดจากสารพิษจากเชื้อรา เช่น ทำให้เกิดโรคมะเร็ง พิษต่อระบบสืบพันธุ์ ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ พิษต่อทารกในครรภ์ พิษต่อตับ พิษต่อไต พิษต่อระบบประสาท กดภูมิคุ้มกันของร่างกาย เป็นต้น


เชื้อราเป็นสิ่งมีชีวิตที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่มีความชื้น ประเทศไทยมีภูมิอากาศแบบร้อนชื้นจึงเหมาะสำหรับการเจริญของเชื้อรา พบเชื้อราได้โดยทั่วไปในสิ่งแวดล้อมทั้งใน ดิน น้ำ และอากาศ สปอร์ของเชื้อรามีขนาดเล็กสามารถล่องลอยไปในอากาศได้ และด้วยคุณสมบัติที่ทนต่อสิ่งแวดล้อมได้ดี หากอยู่ในสภาวะที่เหมาะสมสปอร์สามารถเจริญเติบโตและสร้างสารพิษได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บในที่มีความชื้นหรือเก็บไว้เป็นระยะเวลานาน อาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อราและทำให้เกิดการสร้างสารพิษสะสมในอาหารได้

เชื้อราหลายชนิดสามารถสร้างสารพิษได้ เช่น Aspergillus, Penicillium, Fusarium, Clavicep, Alternaria และ Stachybotyrs เป็นต้น โดยเชื้อราแต่ละชนิดอาจสร้างสารพิษชนิดเดียวกันหรือแตกต่างกัน ชนิดของเชื้อราและสารพิษที่เชื้อราสร้างแสดงดังตารางที่ 1 ทั้งนี้ชนิดและปริมาณของสารพิษอาจแตกต่างกันขึ้นกับสภาวะแวดล้อมในการเจริญของเชื้อรา



จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 414) พ.ศ. 2563 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน ได้กำหนดปริมาณสูงสุดของสารพิษจากเชื้อรา ได้แก่ แอฟลาทอกซิน เอ็ม 1 (Aflatoxin M1) แอฟลาทอกซินทั้งหมด (Aflatoxin B1 B2 G1 และ G2) โอคราทอกซินเอ (Ochratoxin A) ดีออกซีนิวาลีนอล (Deoxynivalenol: DON) ฟูโมนิซินบี 1 และบี 2 (Fumonisins B1 และ B2) และพาทูลิน (Patulin) สารในอาหารที่ใช้เป็นวัตถุดิบ อาหารแปรรูป หรืออาหารพร้อมรับประทานแต่ละชนิดไว้ (ตัวอย่างข้อกำหนดปริมาณสูงสุดของสารพิษจากเชื้อราตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข แสดงดังตารางที่ 2) บทความนี้จึงขอกล่าวถึงผลกระทบต่อสุขภาพของสารพิษแต่ละชนิดดังนี้

 

แอฟลาทอกซิน (Aflatoxins) เป็นหนึ่งในสารพิษจากเชื้อราที่มีพิษมากที่สุด ผลิตโดยเชื้อราบางชนิด ได้แก่ Aspergillus flavus Aspergillus parasiticus Aspergillus nominus เป็นต้น เชื้อรากลุ่มนี้มักพบในดิน พืชผักที่เน่าเปื่อย หญ้าแห้ง และธัญพืช พืชที่มักได้รับผลกระทบจากเชื้อรา Aspergillus spp. ประกอบด้วยธัญพืช (ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวสาลีและข้าว) เมล็ดพืชน้ำมัน (ถั่วเหลือง ถั่วลิสง เมล็ดทานตะวันและเมล็ดฝ้าย) เครื่องเทศ (พริก พริกไทยดำ ผักชี ขมิ้นและขิง) และถั่วที่เติบโตบนดิน (พิสตาชิโอ อัลมอนด์ วอลนัท มะพร้าว และ ถั่วบราซิล) สารพิษที่พบได้แก่ Aflatoxin B1 B2 G1 และ G2 สารพิษยังสามารถพบได้ในน้ำนมของสัตว์ที่เลี้ยงด้วยอาหารปนเปื้อน โดยจะพบในรูปของสาร Aflatoxin M1 หากบริโภคในปริมาณมากอาจนำไปสู่พิษเฉียบพลันและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต สารพิษกลุ่มนี้มักเกิดพิษต่อตับ มีความเป็นพิษต่อสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของสารก่อมะเร็งในมนุษย์ จากการศึกษาพบว่าแอฟลาทอกซินทำให้เกิดมะเร็งทั้งในสัตว์ และทำให้เกิดมะเร็งตับในมนุษย์ได้

โอคราทอกซินเอ (Ochratoxin A) ผลิตโดยเชื้อรากลุ่ม Aspergillus และ Penicillium หลายสายพันธุ์ เป็นสารพิษที่มักพบการปนเปื้อนในอาหารหลายชนิด เช่น ธัญพืชและผลิตภัณฑ์จากธัญพืช เมล็ดกาแฟ เมล็ดโกโก้ องุ่นอบแห้ง ไวน์และน้ำองุ่น และกลุ่มเครื่องเทศ เป็นต้น การปนเปื้อน Ochratoxin A มักเกิดขึ้นระหว่างการเก็บรักษาพืชผลทางการเกษตร ก่อให้เกิดพิษมากมายทั้งในคนและในสัตว์ หากได้รับอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน มีความเป็นพิษต่อไตและตับ สารพิษอาจส่งผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์และต่อระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ยังเป็นสารที่อยู่ในกลุ่มที่อาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์

ดีออกซีนิวาลีนอล (Deoxynivalenol: DON) สร้างโดยเชื้อรากลุ่ม Fusarium ที่มักพบการปนเปื้อนใน ข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ ข้าว และธัญพืช ทั้งในแปลงปลูกและระหว่างการเก็บรักษา นอกจากนี้ยังพบในอาหารที่แปรรูปมาจากวัตถุดิบดังกล่าวที่มีการปนเปื้อน เช่น แป้ง ขนมปัง ธัญพืชอาหารเช้า เบียร์เป็นต้น อาการเฉียบพลันที่พบหลังการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อน ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง ปวดศีรษะ และเป็นไข้ พบว่ามีความเป็นพิษต่อตับ กดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และเป็นพิษต่อไต

ฟูโมนิซินบี 1 และบี 2 (Fumonisins B1 และ B2) สร้างโดยเชื้อรากลุ่ม Fusarium มักพบการปนเปื้อนในข้าวโพด พบว่ามีผลต่อเซลล์ตับและเซลล์ไต ก่อให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลอง พบว่ามีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กที่ได้รับสารพิษ นอกจากนี้ยังพบว่าแม่ที่ได้รับสารพิษชนิดนี้อาจให้เกิดความผิดปกติของท่อประสาทของทารก

พาทูลิน (Patulin) เป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อราหลายชนิด โดยเฉพาะเชื้อรากลุ่ม Aspergillus, Penicillium และ Byssochlamys มักพบในแอปเปิลที่เน่าเปื่อยและผลิตภัณฑ์จากแอปเปิล พาทูลินสามารถเกิดขึ้นได้ในผลไม้ขึ้นรา ธัญพืช และอาหารอื่น ๆ โดยส่วนใหญ่มักพบการปนเปื้อนของพาทูลินในแอปเปิลและน้ำแอปเปิลที่ทำจากผลไม้ที่มีเชื้อราดังกล่าว อาการเฉียบพลันในสัตว์ ได้แก่ ความเสียหายต่อตับ ม้าม และไต เป็นพิษต่อระบบภูมิคุ้มกัน ในคนพบมีรายงานเรื่อง อาการคลื่นไส้ ผลต่อระบบทางเดินอาหาร อาการอาเจียน พาทูลินถือเป็นสารที่อาจก่อมะเร็ง

นอกจากสารดังกล่าวที่อยู่ในประกาศกระทรวงสาธารณสุขแล้วยังมีสารพิษจากเชื้อราหลายชนิดที่พบว่ามีผลต่อสุขภาพได้แก่ ไตรโคทีซีน (Trichothecenes) ซีราลีโนน (Zearalenone) ที่สร้างจากเชื้อรากลุ่ม Fusarium ไตรโคทีซีนอาจเป็นพิษร้ายแรงต่อมนุษย์ ทำให้เกิดการระคายเคืองอย่างรวดเร็วต่อผิวหนังหรือเยื่อบุลำไส้และนำไปสู่อาการท้องร่วง พบผลกระทบเรื้อรังในสัตว์รวมถึงการกดระบบภูมิคุ้มกัน ซีราลีโนนมีผลต่อฮอร์โมนเอสโตรเจนอาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากหากได้รับในปริมาณมากโดยเฉพาะในสุกร เป็นต้น ผลของสารพิษจากเชื้อราต่อสุขภาพแสดงดังตารางที่ 3



สารพิษจากเชื้อราสามารถทนต่อความร้อนที่ใช้ประกอบอาหาร การศึกษาผลของความร้อนต่อสารพิษจากเชื้อราพบว่า แอฟลาทอกซิน อาจทนต่ออุณหภูมิตั้งแต่ 237-306 oC อุณหภูมิที่ใช้ประกอบอาหารเช่นการหุงข้าวสามารถลดการปนเปื้อนของแอฟลาทอกซินได้ประมาณ 34% หากใช้ความดันร่วมด้วยสามารถลดปริมาณแอฟลาทอกซินได้ 78-88% การคั่วที่อุณหภูมิสูงและใช้ระยะเวลานานเพียงพอ อาจช่วยลดปริมาณแอฟลาทอกซินได้เช่นเดียวกัน เช่น การคั่วถั่ว ที่อุณหภูมิ 150oC เวลา 30 นาที สามารถลดปริมาณแอฟลาทอกซินได้ 30-45% โอคราทอกซินเอเป็นสารพิษที่ได้รับความสนใจในอุตสาหกรรมเมล็ดกาแฟ สารนี้ทนต่ออุณหภูมิ 169oC พบว่าการคั่วเมล็ดกาแฟสามารถลดปริมาณโอคราทอกซินเอได้ประมาณ 66.5-90% อย่างไรก็ตามพบว่าการคั่วที่อุณหภูมิ 200oC เวลา 10-20 นาที ช่วยลดปริมาณโอคราทอกซินเอเพียง 10-20% การหุงข้าวสามารถลดปริมาณโอคราทอกซินเอได้ประมาณ 83% ถึงแม้ว่าการศึกษาดังกล่าวจะชี้ให้เห็นว่าการใช้ความร้อนสามารถลดปริมาณสารพิษจากเชื้อราได้บางส่วน แต่ยังมีปัจจัยหลายประการที่เกี่ยวข้อง เช่น ชนิดของสารพิษ ปริมาณสารพิษจากเชื้อราตั้งต้น ชนิดของอาหาร อุณหภูมิ ระยะเวลา ปริมาณน้ำ ค่าความเป็นกรดด่าง เป็นต้น การให้ความสำคัญเรื่องการปนเปื้อนสารพิษจากเชื้อราจึงมีความสำคัญ

แนวทางการป้องกันสารพิษจากเชื้อรา

สารพิษจากเชื้อรามักปนเปื้อนมาจากกับอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อรา เชื้อราเหล่านี้ไม่เพียงแต่อยู่ที่ผิวของอาหารแต่ยังสามารถเจริญเติบโตแทรกลงไปในเนื้ออาหารด้วย การใช้แนวทางควบคุมร่วมกับหลักปฏิบัติด้านอาหารปลอดภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยลดการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อราไปยังผู้บริโภค สำหรับเกษตรกรควรให้ความสำคัญเรื่องการคัดเลือกสายพันธุ์พืชที่ทนต่อเชื้อรา ทนต่อแมลง การหาวิธีป้องกันการทำลายพืชผลจากแมลง ขั้นตอนการเก็บผลผลิตควรให้ความสำคัญเรื่องการควบคุมความชื้นระหว่างการเก็บรักษา เช่น การตากแห้งและการรักษาความชื้นของธัญพืชให้อยู่ในระดับต่ำตลอดการเก็บรักษา ร่วมกับการใช้กรรมวิธีการเก็บรักษาที่เหมาะสม เช่น การควบคุมอุณหภูมิ การระบายอากาศ การป้องกันแมลง การใช้สารกำจัดเชื้อราที่อนุญาตให้ใช้กับอาหารในพื้นที่จัดเก็บ เป็นต้น ร่วมกับใช้แนวปฏิบัติการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) สำหรับผู้ประกอบอาหารควรพิจารณาลักษณะของธัญพืชหรืออาหารว่ามีมีการปนเปื้อนของเชื้อราหรือไม่ เช่น การมีเชื้อราเจริญเติบโตอยู่บริเวณผิว การเปลี่ยนสี เป็นต้น เมล็ดธัญพืชที่เสียหาย เช่น เปลือกมีรูเจาะ เปลือกมีรอยแตก อาจเพิ่มโอกาสการปนเปื้อนของเชื้อราได้ ซื้อเมล็ดธัญพืชจากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ เก็บรักษาอาหารอย่างเหมาะสม เช่น เก็บในพื้นที่ที่ไม่มีแมลง พื้นที่ที่แห้งสนิท และมีอุณหภูมิไม่สูงจนเกินไป เป็นต้น ร่วมกับใช้แนวปฏิบัติด้านอาหารปลอดภัย ได้แก่ มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) และ HACCP (Hazard Analysis and Critical Control Point)

 ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://healthydee.moph.go.th

 


1 ก.พ. 65 กรมบัญชีกลาง พร้อมใช้ ระบบ Digital Pension บูรณาการฐานข้อมูลภาครัฐ บำเหน็จบำนาญยุคใหม่ ใส่ใจวัยเกษียณ

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป กรมบัญชีกลางจะเริ่มใช้ระบบบำเหน็จบำนาญและสวัสดิการรักษาพยาบาล (Digital Pension) บูรณาการฐานข้อมูลภาครัฐของกรมบัญชีกลาง โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากระบบจ่ายตรงเงินเดือนและค่าจ้างประจำ (e-Payroll) ฐานข้อมูลบุคลากรภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มีสิทธิรับเงินและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตลอดจนลดกระบวนงานอนุมัติสั่งจ่าย การขอหนังสือรับรองสิทธิในบำเหน็จตกทอด เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ประกันการกู้เงิน

กรมบัญชีกลาง ได้แจ้งให้ส่วนราชการมอบหมายให้ผู้ปฏิบัติงานเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน เข้ารับการฝึกอบรมและลงทะเบียนกำหนดสิทธิเข้าใช้งานในระบบเรียบร้อย อีกทั้งได้พัฒนา Mobile Application ชื่อว่า “Digital Pension” เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้ผู้มีสิทธิสามารถยื่นขอรับบำเหน็จบำนาญ ติดตามสถานการณ์ยื่นคำขอ ตรวจสอบหนังสือสั่งจ่าย ประมาณการเบี้ยหวัด/บำเหน็จ/บำนาญ ขอหนังสือรับรองเงินบำนาญ/บำเหน็จรายเดือน ขอหนังสือรับรองสิทธิบำเหน็จตกทอด ยื่นขอรับเงิน ช.ค.บ. ขอย้ายส่วนราชการผู้เบิก ดาวน์โหลดหนังสือรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่าย และสามารถตรวจสอบสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล เป็นต้น

สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ทาง Play Store หรือ App store พิมพ์ค้นหาคำว่า Digital Pension โดยจะเริ่มเปิดให้ดาวน์โหลดตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Call Center กรมบัญชีกลาง หมายเลข 02 270 6400 ในวัน เวลาราชการ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.facebook.com/ayutthayanews/

 เมื่อหน่วยงานของรัฐได้รับความเห็นชอบวงเงินงบประมาณที่จะใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือผู้มีอํานาจในการพิจารณางบประมาณแล้ว ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายในการปฏิบัติงานนั้นจัดทําแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจําปีเสนอหัวหน้าหน่วยงานของรัฐเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อหัวหน้าหน่วยงานของรัฐให้ความเห็นชอบแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจําปีตามวรรคหนึ่งแล้วให้หัวหน้าเจ้าหน้าที่ประกาศเผยแพร่แผนดังกล่าวในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลางและของหน่วยงานของรัฐตามวิธีการที่กรมบัญชีกลางกําหนด และให้ปิดประกาศโดยเปิดเผย ณ สถานที่ปิดประกาศของหน่วยงานของรัฐ และดําเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นไปตามแผนและขั้นตอน


 ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.facebook.com/sharedsaradd/



ประชุมนัดแรก กรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล​ ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้



 เมื่อวันที่ 28 ม.ค.65 พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กห./ประธานกรรมการผู้แทนพิเศษ ของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปธ.คผบ.จชต.) และกรรมการผู้แทนพิเศษ ของรัฐบาลฯ ทั้ง 6 ท่าน ที่รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง, ด้านเศรษฐกิจ, ด้านต่างประเทศ, ด้าน สังคมพหุวัฒนธรรม, ด้านการศึกษา และด้านประสานการมีส่วนร่วม ได้เดินทางไปประชุม คณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2565 ภายหลังมีการแต่งตั้งตามมติ ครม. ณ สานักงานเลขานุการ คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดภาคใต้ ส่วนหน้า อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมประชุม เพื่อประสานการทางานร่วมกันในการขับเคลื่อนงานการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตามแผนงาน/ โครงการ ที่หน่วยงานได้รับงบประมาณ รวมทั้งการรับฟังปัญหา ข้อขัดข้อง และให้ข้อเสนอแนะ ที่เป็นประโยชน์ในการปรับปรุงการดาเนินการและการบริหารจัดการให้เกิดเอกภาพ มีความคล่องตัว และตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ในอันที่จะมุ่งไปสู่การดาเนินงานตามเป้าหมายที่หน่วยงานได้กาหนดไว้ ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชน ในพื้นที่มีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สามารถดารงชีวิตอยู่ด้วยความสงบสุข อย่างยั่งยืน ตลอดไป

---------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.thaigov.go.th

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ย้ำ วันลงทะเบียน Test & Go เริ่ม 1 ก.พ. นี้ ผู้เดินทางต้องผ่านการประเมิน ตรวจสอบหลักฐานอย่างเข้มงวด พร้อมปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

 


วันนี้ (28 มกราคม 2565) เวลา 12.30 น. ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีสังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ย้ำกรณีการลงทะเบียน Test & Go วันที่ 1 ก.พ. 65 เป็นวันเริ่มต้นในการอนุญาตให้ลงทะเบียน โดยเน้นย้ำนักท่องเที่ยว หรือคนไทยที่เดินทางกลับบ้าน เริ่มลงทะเบียนได้ในวันดังกล่าว ซึ่งจะมีกระบวนการประเมินตรวจสอบคุณสมบัติ ใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน ในการประเมินสำเร็จ และจะอนุญาตให้เดินทางได้ โดยที่การประเมินจะมีความเข้มงวดในการตรวจสอบหลักฐาน ทั้งการได้รับวัคซีน และในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะร่วมมือกับโรงแรม ที่พัก สถานที่ประกอบการ ตรวจสอบการชำระค่าที่พักของผู้เดินทางว่าถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งนักท่องเที่ยวจะถูกกำหนดการเดินทางอย่างเข้มงวด และปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขที่กำหนด คือการตรวจ RT-PCR ซ้ำ ครั้งที่ 2 อย่างเคร่งครัดด้วย ถ้าพบการติดเชื้อ นักท่องเที่ยวจะมีประกันคุ้มครอง ครอบคลุมการรักษาอย่างเบ็ดเสร็จ พร้อมฝากไปยังสถานประกอบการที่เป็น SHA+ บุคลากรต้องเป็นผู้ได้รับวัคซีน 100% รวมทั้งมีโรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการในการรับตรวจ RT-PCR  ให้กับนักท่องเที่ยว เมื่อพบผลตรวจเป็นบวกจะช่วยดูแลในกระบวนการรักษาสำหรับนักท่องเที่ยวต่อไปด้วย


“การที่เราจะอยู่กับโควิด - 19 ได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งเศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนได้ ขอฝากไปยังพี่น้องประชาชนร่วมกันเป็นหูเป็นตา นอกจากจะดูแลสุขภาพตนเอง คนใกล้ชิด คนในครอบครัว ประชาชนสามารถเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญ หากพบเห็นนักท่องเที่ยวไม่ปฏิบัติตามมาตรการ ไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือแม้แต่สถานบริการหละหลวมมาตรการ ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ Covid Free Setting อย่างถูกต้อง เพื่อให้ทุกคน รวมทั้งตนเองและครอบครัวปลอดภัย” ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าว 
…………………

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.thaigov.go.th

วันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2565

6สิ่ง...ตัวช่วยป้องกันฝุ่น PM 2.5



  PM 2.5 ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ปัญหามลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ในช่วงฤดูหนาวที่สภาพอากาศแห้งและมีลมนิ่งทำให้ฝุ่นละอองแขวนลอยอยู่ในบรรยากาศได้นาน หลายพื้นที่มีฝุ่นมากปกคลุมทั่วท้องฟ้าสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนมีค่าฝุ่นอยู่ในระดับเกินมาตรฐาน ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพ ก่อให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินหายใจ ตา และผิวหนังได้ เช่น เกิดอาการระคายเคืองตา ตาแดง คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ มีอาการภูมิแพ้และหอบหืดกำเริบ ผิวหนังอักเสบมีผื่นคัน ในระยะยาวอาจเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจด้วย 

การป้องกันภัยสุขภาพจากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 นอกเหนือจากการลดการเผาขยะ ลดการเผาซากพืชทางการเกษตร การทำความสะอาดที่อยู่อาศัย หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้านหรืองดกิจกรรมกลางแจ้งแล้วสิ่งที่เราควรมีสำหรับป้องกันฝุ่นPM 2.5 ก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยสิ่งดี ๆ ที่ควรมีไว้ มีดังนี้
1. หน้ากากอนามัยN95สำหรับป้องกันฝุ่นละออง 
2. แว่นตา กันลม กันฝุ่นป้องกันอาการระคายเคืองตา
3. กางเกงขายาว เสื้อแขนยาว ป้องกันอาการระคายเคืองผิวหนัง
4. น้ำดื่ม ดื่มน้ำมาก ๆ บรรเทาอาการระคายเคืองคอ
5. ต้นไม้ ปลูกต้นไม้ช่วยลดมลพิษทางอากาศ ดูดซับฝุ่นละออง และเพิ่มบรรยากาศที่ดี เช่น ต้นลิ้นมังกร พลูด่าง มะม่วง ชงโค ราชพฤกษ์ ไทรใบสัก เคราฤาษีพวงครามเป็นต้น 
6. แอปพลิเคชัน "Air4Thai" และเว็บไซต์ www.air4thai.comติดตามสถานการณ์ค่าฝุ่นเพื่อดูแลตนเองและหลีกเลี่ยงการไปแหล่งที่มีฝุ่น PM 2.5 สูง
ส่วนผู้ที่ต้องดูแลตนเองเป็นพิเศษ ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งหากได้รับฝุ่นเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงได้ เช่น ผู้ป่วยภูมิแพ้ ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยโรคตาอักเสบ เป็นต้น นอกจากนี้หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อตรวจรักษาต่อไป

 ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://healthydee.moph.go.th