วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2565

ภาครัฐ เตรียมงบกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท ช่วยลดผลกระทบวิกฤตพลังงานให้ประชาชนต่อไปอีก 3 เดือน

 


ภาครัฐ เตรียมงบกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท ช่วยลดผลกระทบวิกฤตพลังงานให้ประชาชนต่อไปอีก 3 เดือน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำทีมเศรษฐกิจ การคลัง พลังงาน และแรงงาน แถลงมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน – รัสเซีย นอกจากความรุนแรงของผลกระทบโควิด-19 แล้ว วิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ยังเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง

ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันวิกฤตโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ในเวลาเดียวกันได้เกิดวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนขึ้น ส่งผลกระทบกับราคาพลังงาน ถือเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต แต่รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ออกมาตรการทั้งด้านการเงินการคลัง ช่วยเหลือประชาชน ผ่านการดูแลของ 3 หน่วยงานที่ดูแลเศรษฐกิจมหภาค ทั้งธนาคารแห่งประเทศ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงฐานะการคลังของรัฐบาลในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 ว่า รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้นจำนวน 901,414 ล้านบาท ขณะที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 1,429,194 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 394,465 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 418,588 ล้านบาท

ส่วนความกังวลต่อการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าจะได้ความชัดเจนภายในสัปดาห์หน้า โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ธนาคารแห่งประเทศไทย จะมีการประชุมอีกครั้งปลายเดือนมีนาคมนี้

สำหรับสภาพคล่องด้านเสถียรภาพทางการเงินของภาคเอกชน และธนาคารพาณิชย์ ปัจจุบันยังคงมีสภาพคล่อง แม้งบประมาณปี 2565 ประเทศไทยขาดดุลประมาณ 700,000 ล้านบาท

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงมาตรการของกระทรวงแรงงานที่ได้ลดเงินสมทบทั้งในส่วนนายจ้างและผู้ประกันตนทุกมาตรา เป็นเวลา 3 เดือน เกิดประโยชน์กับประชาชน 24.2 ล้านคน เม็ดเงินมูลค่า 34,540 ล้านบาท ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ 103,620 ล้านบาท

สำหรับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อยู่ในขั้นตอนดำเนินการสำรวจและประมวลผลค่าใช้จ่าย ซึ่งจะพิจารณาในเดือนสิงหาคม -กันยายน 2565

นอกจากนี้ เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และดูแลผู้ใช้แรงงาน ได้จัดทำโครงการ factory sandbox และจัดหา hospitel ดูแลรักษาผู้ป่วย

ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือประชาชนว่ากระทรวงพลังงาน ได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง รวมระยะเวลา 2 ปี ใช้งบประมาณที่ภาครัฐช่วยเหลือด้านพลังงานไปแล้ว 164,228 ล้านบาท ทั้งการคืนเงินประกันผู้ใช้ไฟฟ้า การตรึงราคา ก๊าซ LPG และ NGV การบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าเอฟที

สำหรับมาตรการที่ประชาชนจะได้รับการช่วยเหลือหลังจากนี้ เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน 2565 ประกอบด้วย

-มาตรการช่วยเหลือผู้ใช้น้ำมันดีเซล

-มาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ก๊าซหุ้งต้ม

-กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 บาทต่อหน่วยต่อเดือน จะได้รับส่วนลดค่าเอฟที เท่ากับค่าไฟฟ้างวดเดือนมกราคม –เมษายน 2565 ที่เรียกเก็บ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย รวม 3.78 บาทต่อหน่วย จากที่ปรับขึ้นเป็น 4 บาทต่อหน่วย รวมงบประมาณที่ภาครัฐช่วยเหลือ 43,000 - 45,000 ล้านบาท รวมตลอดระยะเวลา 3 ปีกว่า 200,000 ล้านบาท และจะมีการพิจารณามาตรการช่วยเหลือหลังสิ้นสุดมาตรการระยะเวลา 3 เดือน จึงขอความร่วมมือประชาชนรวมพลังรวมแรงใจลดการใช้พลังงาน


 ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.facebook.com/ayutthayanews/