วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 7 กุมภาพันธ์ 2566

 

 วันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2566)  เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ สันติไมตรี (หลังนอก)  ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
 

กฎหมาย

                   1.       เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง พ.ศ. ....
                   2.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงกำหนดด่านศุลกากรและด่านพรมแดน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลกและสำนักงานศุลกากรมาบตาพุด)
                   3.       เรื่อง     การลดหย่อนค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม [ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน สำหรับกรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม]
                   4.       เรื่อง     ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนทาสบเส้า จังหวัดลำพูน พ.ศ. ....
                   5.       เรื่อง     ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

เศรษฐกิจ-สังคม

                   6.       เรื่อง     รายงานผลการดำเนินการตามมาตรการสำคัญในการแก้ไขปัญหาอาวุธปืนและยาเสพติด
                   7.       เรื่อง     การขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีในส่วนที่ได้มอบหมายให้คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติพิจารณา
                   8.       เรื่อง     ขออนุมัติเพิ่มวงเงินงบประมาณและขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน –สระบุรี – นครราชสีมา จำนวน 12 ตอน
                   9.       เรื่อง     การขออนุมัติเพิ่มจำนวนการรับนิสิตโครงการเพชรในตม
                   10.      เรื่อง     ขออนุมัติหลักการโครงการส่งเสริมการสร้างคนดีตามหลักการทางศาสนาที่ถูกต้องเพื่อสืบสานและรักษาสังคมพหุวัฒนธรรมที่ดีงามของจังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2566 – 2570
                   11.      เรื่อง     (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 – 2570)
                   12.      เรื่อง     การปรับปรุงโครงสร้างอัตราเงินเดือนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
                   13.      เรื่อง     (ร่าง) นโยบายด้านการบินพลเรือนของประเทศ พ.ศ. 2565 – 2580
                   14.      เรื่อง     ขออนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายโครงการซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลประทานที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากอุทกภัยปี 2565
                   15.      เรื่อง     รายงานสรุปการดำเนินการของงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ “มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน”
                   16.      เรื่อง     แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570)
                   17.      เรื่อง     การกำหนดระยะเวลาการให้อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนสำหรับโครงการ “บ้านคนไทยประชารัฐ” บนที่ดินราชพัสดุ
                   18.      เรื่อง     ทบทวนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย
                   19.      เรื่อง     แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวภายหลังวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566
         

ต่างประเทศ

                   20.      เรื่อง     สรุปผลการประชุมระดับรัฐมนตรีท่องเที่ยวกรอบ ACMECS ครั้งที่ 5
                   21.      เรื่อง     ร่างจดหมายสนับสนุนการดำเนินงานของธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย
                   22.      เรื่อง     รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทย – เบลเยียม
                   23.      เรื่อง     ร่างแถลงข่าวร่วมสำหรับการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย
                   24.      เรื่อง     ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 25 (The 25th GMS Ministerial Conference)
                  

แต่งตั้ง

                   25.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)    
                   26.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)      
                   27.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงวัฒนธรรม)
                   28.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)         
                   29.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงมหาดไทย)                   
                   30.      เรื่อง     การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการรักษาผลประโยชน์ ของชาติทางทะเล
                    
 

กฎหมาย

1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง พ.ศ. .... (ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2566) ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
                   ทั้งนี้ สลค. เสนอว่า
                   1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 121 บัญญัติให้ในปีหนึ่งมีสมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสองสมัย ๆ หนึ่งให้มีกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวัน โดยให้ถือวันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก เป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ส่วนวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สองให้เป็นไปตามที่สภาผู้แทนราษฎรกำหนด และเนื่องจากได้มีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2562 กำหนดให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก โดยให้ถือเป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 และสภาผู้แทนราษฎรได้กำหนดให้วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบแล้ว (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 กรกฎาคม 2562) ดังนั้น ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรจึงมีวันเปิดและวันปิดสมัยประชุม ดังนี้

ปีที่สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่งสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง
122 พฤษภาคม 2562 - 18 กันยายน 25621 พฤศจิกายน 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563
222 พฤษภาคม 2563 - 18 กันยายน 25631 พฤศจิกายน 2563 - 28 กุมภาพันธ์ 2564
322 พฤษภาคม 2564 - 18 กันยายน 25641 พฤศจิกายน 2564 - 28 กุมภาพันธ์ 2565
422 พฤษภาคม 2565 - 18 กันยายน 25651 พฤศจิกายน 2565 - 28 กุมภาพันธ์ 2566

                   2. โดยที่ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง      พ.ศ. 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 บัดนี้ จะสิ้นกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวันตามสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สองในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 สมควรที่จะกำหนดให้ปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2566
 
2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดด่านศุลกากรและด่านพรมแดน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลกและสำนักงานศุลกากรมาบตาพุด)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดด่านศุลกากรและด่านพรมแดน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา                             แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   ทั้งนี้ร่างกฎกระทรวงฯ ที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอเป็นแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดด่านศุลกากรและด่านพรมแดน พ.ศ. 2560 โดยยุบด่านศุลกากรบูเก๊ะตาและกำหนดให้ไปรวมเป็นเขตศุลกากรของด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก (แต่ด่านพรมแดนบูเก๊ะตายังคงอยู่) และแก้ไขถ้อยคำจาก “ด่านศุลกากรมาบตาพุด” เป็น “สำนักงานศุลกากรมาบตาพุด” ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมศุลกากรฯ และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดและแบ่งส่วนราชการตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมศุลกากรฯ และเพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติพิธีการศุลกากรและการตรวจของที่ขนส่งเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรในบริเวณเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และการขยายตัวของระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้
                    สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดด่านศุลกากรและด่านพรมแดน พ.ศ. 2560 ดังต่อไปนี้
                   1. ลำดับที่ 14 ยกเลิกด่านศุลกากรบูเก๊ะตา เพื่อยุบรวมกับด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก โดยกำหนดให้บริเวณด่านพรมแดนบูเก๊ะตา ตำบลโละจูด อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ไปรวมเป็นเขตศุลกากรซึ่งอยู่ภายใต้หน้าที่และอำนาจของด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก
                   2. ลำดับที่ 24 แก้ไขถ้อยคำจาก “ด่านศุลกากรมาบตาพุด” เป็น “สำนักงานศุลกากรมาบตาพุด”
 
3. เรื่อง การลดหย่อนค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม [ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน สำหรับกรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม]
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดังนี้
                   1. เห็นชอบการขยายระยะเวลาการลดหย่อนค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามอัตราการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ให้เหลือในอัตราร้อยละ 0.01 ตามราคาประเมินทุนทรัพย์ ออกไปจนถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2569 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
                   2. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษ ตามประมวลกฎหมายที่ดินสำหรับกรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
                   3. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                   ทั้งนี้ เรื่องที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ สืบเนื่องจากได้มีการขยายระยะเวลาการลดหย่อนค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษตามประมวลกฎหมายที่ดิน สำหรับกรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แจ้งว่า มาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษตามประมวลกฎหมายที่ดิน สำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมยังมีความจำเป็นต่าภารกิจในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและลดภาระให้แก่เกษตรกรเพื่อให้เกษตรกรและผู้ประสงค์ขายที่ดินแก่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ไดรับประโยชน์จากมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมฯ อย่างต่อเนื่องและเท่าเทียมกัน โดยเกษตรกรยังได้รับสิทธิจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในรูปแบบของโฉนดที่ดิน ซึ่งถือเป็นหลักประกันความมั่นคงของเกษตรกรที่จะมีที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองและครอบครัว รวมทั้งเป็นการเพิ่มมูลค่าที่ดินแปลงดังกล่าวให้ทัดเทียมกับที่ดินทั่วไปภายใต้กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และลดความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดิน เกษตรกรมีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดิน เกิดความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและเป็นประโยชน์ต่อสังคม
                   ดังนั้น จึงขอขยายระยะเวลาการลดหย่อนค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามอัตราการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้เหลือในอัตราร้อยละ 0.01 ตามราคาประเมินทุนทรัพย์ ซึ่งปกติจะเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 1 ตามราคาประเมินทุนทรัพย์ ออกไปอีกจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 เพื่อเป็นการลดภาระในการชำระค่าธรรมเนียมฯ ให้แก่เกษตรกรและสนับสนุนการดำเนินงานของ ส.ป.ก. ให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปที่ดิน ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497       ข้อ 2 (7) ฎ ซึ่งกำหนดให้เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีในการมีมติให้ลดหย่อนค่าธรรมเนียมเป็นพิเศษเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ร้อยละ 0.01 และดำเนินการออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป                 
                   โดยที่ผ่านมามีมติคณะรัฐมนตรีและประกาศกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับการลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม มาแล้ว 5 ครั้ง การเสนอขอลดหย่อนค่าธรรมเนียมฯ ครั้งนี้เป็นการดำเนินการครั้งที่ 6 และมีกำหนดเวลา 4 ปี แต่อย่างไรก็ตาม ส.ป.ก. ได้กำหนดมาตรการถาวรให้สามารถดำเนินการลดหย่อนค่าธรรมเนียมฯ ในระยะยาว โดยอยู่ระหว่างดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินและคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม พ.ศ. .... ทั้งฉบับโดยกำหนดให้ ส.ป.ก. และคู่สัญญาได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมจดทะเบียน คาดว่ากระบวนการปรับปรุงกฎหมายจะแล้วเสร็จประมาณ 3 – 5 ปี และระยะเวลาการลดหย่อนค่าธรรมเนียมฯ ในการเสนอมาครั้งนี้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับระยะเวลาปรับปรุงกฎหมายปฏิรูปที่ดินแล้ว ซึ่งสำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเห็นชอบด้วย
                   สาระสำคัญของร่างประกาศ
                   ลดหย่อนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 สำหรับการบริหารจัดการที่ดินของ ส.ป.ก. เกี่ยวกับค่าจดทะเบียนการโอนและนิติกรรมการโอนอสังหาริมทรัพย์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จากร้อยละ 1 เหลืออัตราร้อยละ 0.01 ตามราคาประเมินทุนทรัพย์ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 ในกรณีดังนี้
                   1. การโอนอสังหาริมทรัพย์ที่เจ้าของที่ดินโอนให้แก่ ส.ป.ก. เพื่อนำไปใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ในส่วนที่เจ้าของที่ดินมีหน้าที่ต้องชำระ
                   2. การโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ ส.ป.ก. โอนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่เกษตรกรหรือผู้เช่าซื้อที่ดิน ในส่วนของเกษตรกรผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องชำระ
 
4. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนทาสบเส้า จังหวัดลำพูน พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนทาสบเส้า จังหวัดลำพูน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                   ทั้งนี้ ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เป็นการกำหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ในท้องที่ตำบลทาสบเส้า อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา และการดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบทในด้านการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีนโยบายและมาตรการในการส่งเสริมและพัฒนาชุมชนทาสบเส้าให้เป็นศูนย์กลางการบริหาร การค้า และการบริการในระดับอำเภอ ส่งเสริมและพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม รวมทั้งสงวนและรักษาพื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่โล่งของชุมชนให้มีความอุดมสมบูรณ์ตามแนวทางการพัฒนาแบบยั่งยืน โดยได้มีการกำหนดแผนผังและการใช้ประโยชน์ที่ดินภายในเขตผังเมืองรวมจำแนกออกเป็น 9 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทจะกำหนดลักษณะกิจการที่ให้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภทนั้น ๆ รวมทั้งกำหนดประเภทหรือชนิดของโรงงานที่ให้ดำเนินการในที่ดินแต่ละประเภท ตลอดจนกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแผนผังโครงการคมนาคมและขนส่ง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 แล้ว และคณะกรรมการผังเมืองได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว
                   สาระสำคัญของร่างประกาศ
                   กำหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ในท้องที่ตำบลทาสบเส้า อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา และการดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบท ในด้านการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อม     ให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ    ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
                   1. กำหนดให้ผังเมืองรวมชุมชนทาสบเส้า จังหวัดลำพูน มีนโยบายและมาตรการเพื่อจัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน โครงข่ายคมนาคมขนส่งและบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับและสอดคล้องกับการขยายตัวของชุมชนในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
                             1.1 ส่งเสริมและพัฒนาชุมชนทาสบเส้าให้เป็นศูนย์กลางการบริหาร การค้า และการบริการ ในระดับอำเภอ
                             1.2 ส่งเสริมและพัฒนาการบริการทางสังคม การศึกษา การสาธารณสุข การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ให้เพียงพอและได้มาตรฐาน
                             1.3 ส่งเสริมและพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม
                             1.4 พัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมขนส่งให้สอดคล้องกับการใช้ประโชยน์ที่ดินในอนาคต
                             1.5 สงวนและรักษาพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่โล่งของชุมชนให้มีความอุดมสมบูรณ์ตามแนวทางการพัฒนาแบบยั่งยืน
                             1.6 อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
                   2. กำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินออกเป็น 9 ประเภท ดังนี้

ประเภทวัตถุประสงค์
1. ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง)- เป็นพื้นที่ชุมชนเดิมและพื้นที่ต่อเนื่องโดยรอบที่ดิน ประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง และที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยเบาบางและเป็นศูนย์กลางการอยู่อาศัยของชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี รวมทั้งรองรับการขยายตัวด้านการอยู่อาศัยในอนาคต ซึ่งมีการสร้างอาคารอยู่อาศัยได้ทุกประเภท เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว หอพัก อาคารชุด อาคารอยู่อาศัยรวม โดยมีข้อจำกัดเรื่องขนาดพื้นที่อาคารซึ่งต้องไม่ใช่อาคารขนาดใหญ่และต้องไม่ใช่อาคารสูง สำหรับที่ดินในบริเวณระยะ 50 เมตร จากแนวเขตที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ กำหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างจำกัด คือ การอยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว เกษตรกรรม การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการเท่านั้น เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ซึ่งเป็นบริเวณต่อเนื่องกับเขตป่าไม้ การประกอบกิจการโรงงานที่สามารถดำเนินการได้ เช่น การทำขนมปังหรือขนมเค้ก การทำน้ำเชื่อม การทำใบชาแห้งหรือใบชาผง การทำผลิตภัณฑ์จากสิ่งทอเป็นเครื่องใช้ในบ้าน เป็นต้น กรณีที่ดินอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
2. ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม)- เป็นพื้นที่บริเวณใกล้ตลาดบ้านหล่ายสายซึ่งเป็นตลาดสดที่เชื่อมกิจกรรมร่วมกันระหว่าง 2 ชุมชน คือ เทศบาลตำบลทาสบเส้าและเทศบาลตำบลทาสบชัย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางในการรองรับการขยายตัวของพาณิชยกรรม ซึ่งมีการสร้างที่อยู่อาศัยได้ทุกประเภท เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว หอพัก อาคารชุด อาคารอยู่อาศัยรวม โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องขนาดพื้นที่และความสูงของอาคาร         การประกอบกิจการโรงงานที่สามารถดำเนินการได้ เช่น การคั่ว บด หรือป่นกาแฟ หรือการทำกาแฟผง ซ่อมรองเท้าหรือเครื่องหนัง ซ่อมนาฬิกา เครื่องวัดเวลา หรือเครื่องประดับที่ทำด้วยเพชร พลอย ทองคำ ทองขาว เงิน นาก หรืออัญมณี เป็นต้น
3. ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก  (สีแดง)- เป็นพื้นที่ศูนย์กลางด้านพาณิชยกรรมของชุมชนซึ่งเป็นพื้นที่บริเวณ    พาณิชยกรรมเดิม มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางพาณิชยกรรมหลัก เพื่อส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการบริการชุมชน ประกอบด้วย ตลาด ร้านค้า โรงแรม รวมทั้งกำหนดให้เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากเพื่อรองรับการประกอบกิจการดังกล่าว โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องขนาดพื้นที่และความสูงของอาคาร สำหรับที่ดินในบริเวณระยะ 50 เมตร จากแนวเขตที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ กำหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างจำกัด คือ การอยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว เกษตรกรรม การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการเท่านั้น เพื่อให้เหมาะสมสภาพพื้นที่ซึ่งเป็นบริเวณต่อเนื่องกับเขตป่าไม้ การประกอบกิจการโรงงานที่สามารถดำเนินการได้ เช่น การฟักไข่โดยใช้ตู้อบ การทำนมสดให้ไร้เชื้อหรือฆ่าเชื้อ โดยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง เช่น การพลาสเจอร์ไรส์หรือสเตอริไลส์ การลงรักหรือการประดับตกแต่งด้วยแก้ว กระจก มุก ทอง หรือ อัญมณี เป็นต้น
4. ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว)- เป็นพื้นที่กันชนโดยรอบพื้นที่ชุมชนให้คงสภาพชนบทและประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เช่น การทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ และการสงวนรักษาพื้นที่ที่เหมาะสมทางด้านเกษตรกรรมของชุมชน การประกอบกิจการโรงงานที่สามารถดำเนินการได้ เช่น       การกะเทาะเมล็ดหรือเปลือกเมล็ดพืช การฆ่าสัตว์ การสี ผัด หรือขัดข้าว การทำวงกบ ขอบประตู ขอบหน้าต่าง บานหน้าต่าง บานประตู หรือส่วนประกอบที่ทำด้วยไม้ของอาคารเป็นต้น กรณีที่ดินอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
5. ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อนันทนาการและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สีเขียวอ่อน)- เป็นที่ดินในบริเวณเส้นขนานระยะ 15 เมตร กับริมฝั่งแม่น้ำทา ฝั่งเหนือและฝั่งใต้ ประกอบด้วยที่ดินซึ่งเป็นของรัฐ และที่ดินของเอกชนซึ่งเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยที่ดินของรัฐมีวัตถุประสงค์เพื่อดำรงรักษาที่โล่งไว้เพื่อนันทนาการ การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือสาธารณประโยชน์ ส่วนที่ดินของเอกชนกำหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างจำกัด คือ เพื่อนันทนาการ การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม สาธารณประโยชน์เกษตรกรรม การอยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวและบ้านแฝดที่มิใช่การจัดสรร และต้องไม่ใช่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ด้วย
6. ที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้        (สีเขียวอ่อนมีเส้นทแยงสีขาว)- เป็นพื้นที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ คือ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ทา และพื้นที่ของเอกชนซึ่งเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว กรณีที่ดินของป่าไม้มีวัตถุประสงค์ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการสงวนและคุ้มครองดูแลรักษาหรือบำรุงป่าไม้ สัตว์ป่า ต้นน้ำ       ลำธาร และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีและกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สำหรับที่ดินของเอกชนได้กำหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อให้สอดคล้องกับป่าไม้โดยมีการผ่อนปรนให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการดำรงอยู่ได้ คือ การอยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวและบ้านแฝดที่มิใช่การจัดสรร และต้องไม่ใช่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ และกำหนดให้ใช้ประโยชน์เพื่อเกษตรกรรมหรือสาธารณประโยชน์ด้วย กรณีที่ดินอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
7. ที่ดินประเภทสถาบันการศึกษา (สีเขียวมะกอก)- มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดพื้นที่ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาตามการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน เช่น โรงเรียนบ้านจำตาเหิน โรงเรียนบ้านผาตั้ง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลทาสบเส้า
8. ที่ดินประเภทสถาบันศาสนา      (สีเทาอ่อน)- มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่สถาบันศาสนาหรือเกี่ยวข้องกับการศาสนาตามการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน เช่น วัดจำตาเหิน สำนักสงฆ์ดวงตะวัน สุสานจำตาเหิน ป่าช้าศาลาแม่ทา สถานปฏิบัติธรรมพระพุทธบาทจำลองเขากู่แก้ว
9. ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ (สีน้ำเงิน)- เป็นพื้นที่ที่กำหนดไว้ในบริเวณที่มีหลักฐานตามกรรมสิทธิ์ที่ดินที่เป็นที่สาธารณะ ที่ราชพัสดุและบริเวณพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์เป็นสถานที่ราชการในปัจจุบัน มีวัตถุประสงค์เพื่อการใช้ประโยชน์ที่ดินเกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐบาล เพื่อการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ และที่ตั้งของหน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงานเทศบาลตำบลทาสบเส้า โรงพยาบาลแม่ทา สำนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน สาขาแม่ทา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ สาขาแม่ทา สำนักงานไปรษณีย์แม่ทา

 
                   3. กำหนดประเภทหรือชนิดของโรงงานที่ให้ดำเนินการได้ในที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง) และที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) ตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภท
                   4. กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณแนวถนนสาย ก 1 ถนนสาย ก 2 ถนนสาย ก 3 ถนนสาย ก 4 ถนนสาย ก 5 ถนนสาย ก 6 ถนนสาย ก 7 ถนนสาย ก 8 และ ถนนสาย ข ตามแผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่งท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยให้ใช้ประโยชน์เพื่อกิจการตามที่กำหนด ดังต่อไปนี้
                             4.1 การสร้างถนนหรือเกี่ยวข้องกับถนน และการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ
                             4.2 การสร้างรั้วหรือกำแพง
                             4.3 เกษตรกรรมหรือเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมที่มีความสูงของอาคารไม่เกิน 9 เมตร          หรือไม่ใช่อาคารขนาดใหญ่
 
5. เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ        (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ดังนี้
                   1. เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   2. ให้กระทรวงวัฒนธรรมรับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                   สาระสำคัญของร่างระเบียบ
                   เป็นการปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ และแก้ไขลักษณะและคุณสมบัติต้องห้ามและเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการดังกล่าว ดังนี้
                   1. กำหนดนิยามคำว่า “สื่อ” หมายความว่า สิ่งที่ทำให้ปรากฏด้วยตัวอักษร เครื่องหมาย ภาพ หรือเสียง ไม่ว่าจะปรากฏอยู่ในรูปของเอกสาร ภาพเขียน ภาพพิมพ์ ภาพระบายสี สิ่งพิมพ์ รูปภาพ ภาพโฆษณา เครื่องหมาย รูปถ่าย ภาพยนตร์ วีดิทัศน์ แถบบันทึกเสียงหรือแถบบันทึกภาพ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ในระบบคอมพิวเตอร์ หรือโดยวิธีการอื่นใด “การพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” หมายความว่า กระบวนการใดๆ        อันนำไปสู่การพัฒนาสื่อให้มีคุณภาพ ไม่เป็นภัยต่อสังคมและสร้างสรรค์ รวมถึง การป้องกัน ดูแลสื่อที่เป็นภัยและเป็นอันตราย และการส่งเสริมพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนให้รู้เท่าทันในเรื่องสื่อ และสามารถใช้ชีวิตในสังคมที่มีความหลากหลายได้อย่างเป็นสุข และ “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ
                   2. กำหนดให้คณะกรรมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม      เป็นรองประธานกรรมการ และให้มีคณะกรรมการโดยตำแหน่งโดยเพิ่มปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงการอุดมการศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปรับเปลี่ยนจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการ เพิ่มกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรม และด้านคุ้มครองผู้บริโภค และให้ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นกรรมการและเลขานุการ ปรับเปลี่ยนกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการจากให้ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมแต่งตั้งข้าราชการในสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม จำนวน 2 คน เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ เป็น รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรมที่ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมมอบหมาย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
                   3. กำหนดให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจเพิ่มเติมโดยจัดทำแผนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และนอกจากนี้ให้มีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้ (1) เสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์         และมาตรการในการดำเนินงานด้านพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ต่อคณะรัฐมนตรี (2) ให้ความเห็นแก่คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและอนุมัติเกี่ยวกับแผนงานหรือโครงการ เพื่อดำเนินงานตามนโยบาย และมาตรการ      (3) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีให้มีหรือแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (4) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในการดำเนินงานของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง (5) ประสานงานด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์กับส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง        (6) ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ และให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (7) ติดตามและประเมินผลแผนงานโครงการที่เสนอคณะรัฐมนตรีและรายงานคณะรัฐมนตรี (8) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติงานอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย (9) ดำเนินการอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
                   4. กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยเพิ่มเติม (1) ไม่เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต (2) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (3) ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท (4) ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือจากหน่วยงานของเอกชน เพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
                   5. นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ (1) ตาย      (2) ลาออก (3) นายกรัฐมนตรีให้ออก เพราะบกพร่องหรือทุจริตต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ (4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม
 

เศรษฐกิจ-สังคม

6. เรื่อง รายงานผลการดำเนินการตามมาตรการสำคัญในการแก้ไขปัญหาอาวุธปืนและยาเสพติด
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอรายงานผลการดำเนินการตามมาตรการสำคัญในการแก้ไขปัญหาอาวุธปืนและยาเสพติด [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (18 ตุลาคม 2565) ที่ให้ ยธ. รวบรวมข้อมูลผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาอาวุธปืนและยาเสพติดในภาพรวมเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายใน 90 วัน] โดย ยธ. ได้มีคำสั่ง ยธ. ที่ 253/2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามผลการดำเนินการตามมาตรการสำคัญในการแก้ปัญหาอาวุธปืนและยาเสพติด ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 โดยมีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานกรรมการ ซึ่งเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 ได้มีการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อรับทราบมติคณะรัฐมนตรี อำนาจหน้าที่ พร้อมทั้งติดตามและรายงานผลการดำเนินการตามมาตรการฯ รวม 4 ประการ สรุปได้ ดังนี้
 

ประเด็น/
หน่วยงานรับผิดชอบ
การดำเนินการที่สำคัญ
1. มาตรการเกี่ยวกับอาวุธปืน [กระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.)]
(1) การอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (มท.)(1.1) เพิ่มเติมเอกสารใบรับรองแพทย์ ปัจจุบัน มท. อยู่ระหว่างการหารือกับกรมสุขภาพจิตและโรงพยาบาลสมเด็จพระยาในเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการในการตรวจสุขภาพจิตและหาสารเสพติดของผู้ยื่นคำขอใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน รวมทั้งศึกษาแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 เนื่องจากพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ไม่ได้ให้อำนาจนายทะเบียนท้องที่ออกคำสั่งให้ผู้ขออนุญาตดำเนินการตรวจสุขภาพจิตและหาสารเสพติด
(1.2) ออกหนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัดหรือนายจ้าง โดยกำชับนายทะเบียนท้องที่ให้ตรวจสอบประวัติอาชญากรและการรับรองความประพฤติของผู้ยื่นคำขออนุญาตทุกราย ทั้งนี้ การขออนุญาตให้ซื้ออาวุธหรือเครื่องกระสุนส่วนบุคคล      ให้มีอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนสำหรับการค้าให้มีอาวุธปืน (แบบ ป.3) และการขอใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ให้มีอาวุธปืนไว้เพื่อเก็บ ให้มีและใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนชั่วคราว (แบบ ป.4) โดยในกรณีที่เป็นข้าราชการจะต้องผ่านการรับรองจากผู้บังคับบัญชา หรือหากเป็นบุคคลทั่วไปจะต้องได้รับการรับรองจากเจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานฝ่ายปกครอง เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งการออกใบรับรองให้ผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งหากปรากฏภายหลังพบว่ามีพฤติกรรมชวนสงสัยหรือถูกดำเนินคดีอาญา ต้องแจ้งให้ มท. ทราบเพื่อดำเนินการแจ้งนายทะเบียนท้องที่ดำเนินการตามอำนาจต่อไป ปัจจุบัน มท. อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ในประเด็นการกำหนดอายุใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน
(1.3) ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นคำขออนุญาต กำชับนายทะเบียนท้องที่ให้ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ยื่นคำขออนุญาต ทั้งก่อนและหลังการออกใบอนุญาตและซักซ้อมแนวทางปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น ซักซ้อมแนวทางปฏิบัติให้ผู้ที่จะยื่นคำขอต่อนายทะเบียน ตามแบบ ป.3 หากเป็นการซื้ออาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนในราชอาณาจักรให้ขออนุมัติผ่อนผันและรายงานให้ มท. ทราบทุกครั้ง ทั้งนี้ กรณีสนามยิงปืนจะอนุญาตให้ซื้อกระสุนปืนได้เฉพาะสนามยิงปืนที่จัดตั้งเป็นสมาคมกีฬาโดยถูกต้องตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 และต้องแก้ไขชนิดและขนาดปืนที่ได้รับอนุญาตตามแบบ ป.4 เท่านั้น กรณีมีผู้ยื่นคำขออนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนชนิดหรือขนาดเดียวกันจำนวนมากผิดปกติให้เรียกอาวุธปืนและใบอนุญาตมาตรวจสอบเป็นราย ๆ ไป หากพบว่ามีการแสดงข้อมูลเป็นเท็จโดยใช้ชื่อตนเองเพื่อซื้ออาวุธปืนให้บุคคลอื่นให้เพิกถอนใบอนุญาตทันที
(1.4) เพิกถอนใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว มีการกำชับแนวทางการอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวภายในเขตจังหวัด และแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพิกถอนใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว (แบบ ป.12) ได้ทันที หากพบว่าเป็นผู้ที่ไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ หรือถูกเพิกถอนแบบ ป.4
(1.5) เชื่อมโยงฐานข้อมูล มท. ได้อนุมัติสิทธิให้ ตช. (ส่วนกลาง) สามารถเข้าระบบเพื่อตรวจดูข้อมูลทะเบียนอาวุธปืนได้ และอยู่ระหว่างการหารือด้านเทคนิคการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน
(2) การจัดการอาวุธปืนที่ได้ไม่ได้รับอนุญาตหรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาต (มท.)มท. ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ปัจจุบันอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นในระบบกฎหมายกลาง โดยมีหลักการสำคัญ ได้แก่ (1) หากบุคคลที่มีการครอบครองอาวุธปืนที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายและอยู่ในความควบคุมของรัฐโดยได้รับการยกเว้นโทษ (2) กรณีอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ให้ผู้ครอบครองส่งมอบให้อยู่ในการควบคุมของรัฐโดยได้รับการยกเว้นโทษ และ (3) กำหนดให้มีการจัดเก็บอัตลักษณ์หัวกระสุนและปลอกกระสุนของอาวุธปืนทุกกระบอกโดยให้มีกำหนดโทษทางอาญาสำหรับผู้ฝ่าฝืนไว้ด้วย ทั้งนี้ อัตราการออกใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคล (แบบ ป.3) ระหว่างเดือนกรกฎาคม-15 ธันวาคม 2565 มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
(3) การป้องกันและปราบปรามในเชิงรุก (ตช.)(3.1) การป้องกัน ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลประวัติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืน โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ (1) วัยรุ่น กลุ่มเสี่ยง นักเลง อันธพาล (2) บุคคลที่มีคดีความ ผู้มีอิทธิพล ผู้กว้างขวาง (3) บุคคลผู้ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนแต่มีความประพฤติไม่เรียบร้อย (4) กลุ่มบุคคลที่ปล่อยเงินกู้นอกระบบ (5) บุคคลพ้นโทษ (6) กลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมลักลอบผลิตจำหน่ายอาวุธปืนทางออนไลน์ และ (7) กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
(3.2) การปราบปราม ได้ดำเนินการ ดังนี้ (1) สืบสวน ปราบปราม ตรวจค้นแหล่งค้า/ผลิตอาวุธปืนผิดกฎหมาย (2) กำหนดจุดตรวจ จุดสกัด (3) สกัดกั้นการลักลอบขนส่งอาวุธปืนทั้งทางบกและทางน้ำ (4) ตรวจสอบการขนส่งทางไปรษณีย์ (5) ปราบปรามการค้าอาวุธปืนข้ามชาติ และ (6) ติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดทางสื่อออนไลน์
ทั้งนี้ ผลการดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนระหว่างวันที่          1 ตุลาคม-15 ธันวาคม 2565 สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนและวัตถุระเบิด รวม 29,464 คดี ผู้ต้องหา 27,637 ราย โดยข้อหาที่คนร้ายใช้อาวุธปืนในการก่อเหตุ จำแนกตามฐานความผิด ได้ดังนี้ (1) ฐานความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย และเพศ รวม 46 กระบอก (2) ฐานความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ รวม 7 กระบอก (3) ฐานความผิดพิเศษ รวม 10 กระบอก และ (4) คดีความผิดที่รัฐเป็นผู้เสียหาย รวม 5,246 กระบอก
(4) มาตรการทางดิจิทัล (ดศ.)การป้องกันการค้าอาวุธปืนบนแพลตฟอร์มดิจิทัลและเครือข่ายสังคมออนไลน์และการป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไม่เหมาะสม ในการปิดกั้นแพลตฟอร์มหากมีข้อมูลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอันเกี่ยวกับอาวุธปืนและยาเสพติด และได้ตรวจสอบแล้วเป็นความผิดตามกฎหมายนั้น ๆ สามารถประสานไปยัง ดศ. เพื่อดำเนินการพิจารณาตามกฎหมาย หากศาลมีคำสั่งให้ระงับการเผยแพร่ก็จะดำเนินส่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อดำเนินการระงับการทำให้แพร่หลายต่อไป
2. มาตรการด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด [ยธ. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด: สำนักงาน ป.ป.ส.)]
(1) การควบคุมสารเคมีที่นำไปใช้ผลิตยาเสพติด(1.1) ระงับการส่งออกและชะลอการนำเข้าวัตถุอันตรายบางรายการชั่วคราว กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ออกประกาศ เพื่อดำเนินการกำหนดแนวทางการควบคุมมิให้มีการนำวัตถุอันตรายไปใช้ในกระบวนการผลิตยาเสพติด (ประกาศ ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565) โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่ (1) ระงับการอนุญาตให้ส่งออกและชะลอการอนุญาตให้นำเข้าสารโซเดียมไซยาไนด์และสารเบนซิลไซยาไนด์ไว้จนกว่าจะได้ปรับปรุงวิธีพิจารณาอนุญาตการนำเข้าและการส่งออก และจัดทำหลักเกณฑ์การควบคุมแล้วเสร็จ ทั้งนี้ การอนุญาตให้นำเข้าและส่งออกสารเคมีทั้ง 2 ชนิด จะอนุญาตตามปริมาณการใช้จริงเป็นราย ๆ ไปเท่านั้น และ (2) การขออนุญาตส่งออกและขออนุญาตนำเข้าสารโซเดียมไซยาไนด์และสารเบนซิลไซยาไนด์ และสารเบนซิลคลอไรด์จะดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และผู้ซื้อ ต้องยืนยันตนโดยการลงทะเบียนเพื่อควบคุมปริมาณและการติดตามการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด
(1.2) ยึดและอายัดวัตถุอันตรายที่ใช้ในกระบวนการผลิตยาเสพติด โดยเอายัดสารโซเดียมไซยาไนด์ 220 ตัน หากนำไปใช้ในกระบวนการผลิตสารตั้งต้นจะสามารถนำไปใช้ในการผลิตยาบ้า 4,840 ล้านเม็ดหรือไอซ์ 96.8 ตัน และยึดกาเฟอีน 1,908.5 กิโลกรัม กาเฟอีนที่ตรวจยึดได้สามารถนำไปผลิตยาบ้าในขั้นตอนอัดเม็ดได้ประมาณ 28 ล้านเม็ด
(2) การทำลายเครือข่ายนักค้ายาเสพติดและยึดอายัดทรัพย์สิน(2.1) ดำเนินการสืบสวน ขยายผล เพื่อทำลายเครือข่ายการค้ายาเสพติด โดยในห้วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 มีการกำหนดเครือข่ายเป้าหมายในการดำเนินการ 242 เครือข่าย และได้จัดทำรายงานข่าวสารยาเสพติดของเครือข่าย 739 ฉบับ รวมทั้งจัดทำรายงานเป้าหมายบุคคลในเครือข่าย 1,098 คน
(2.2) กำหนดเป้าหมายยึด อายัดทรัพย์สินคดียาเสพติด ใบปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มูลค่า 100,000 ล้านบาท ผลการดำเนินงานยึด อายัดทรัพย์สิน รวมมูลค่าทั้งสิ้น 11,280 ล้านบาท (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2565)
(3) การติดตามจับกุมผู้มีหมายจับคดียาเสพติด(3.1) สำนักงาน ป.ป.ส. กำหนดเป้าหมาย 8,402 หมายจับ สามารถดำเนินการเร่งรัดติดตามจับกุมผู้มีหมายจับคดียาเสพติดได้ 88 หมายจับ (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-        15 ธันวาคม 2565)
(3.2) กระทรวงกลาโหม ได้เพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าและส่งออกยาเสพติดตามบริเวณแนวชายแดน โดยบูรณาการ ดังนี้
      (3.2.1) สกัดกั้นยาเสพติด ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-26 ธันวาคม 2565 สามารถจับกุมและสกัดกั้นยาเสพติด ได้แก่ 1) ยาบ้า จำนวน 12.29 ล้านเม็ด 2) เฮโรอีน จำนวน 11 กิโลกรัม 3) ยาไอซ์ จำนวน 586,956.75 กรัม และ 4) ยาอี จำนวน 15,000 เม็ด
      (3.2.2) ปราบปรามยาเสพติด โดยมีมาตรการหลัก ได้แก่ การปฏิบัติการข่าวเชิงลึกด้วยการจัดตั้งตัวแทนในพื้นที่พิเศษพื้นที่ชายแดน การรวบรวมข่าวสาร ติดตาม ตรวจสอบความเคลื่อนไหวของกลุ่ม/ขบวนการค้ายาเสพติด การบูรณาการกำลังในการลาดตระเวนและเฝ้าตรวจพื้นที่เพ่งเล็ง และการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2565 สามารถดำเนินการจับกุม/ตรวจยึดยาเสพติดได้ ดังนี้ 1) ผู้ต้องหา จำนวน 18 คน 2) ยาบ้า จำนวน 11.93 ล้านเม็ด 3) ยาไอซ์ จำนวน 435.1 กิโลกรัม และ 4) เคตามีน จำนวน 9.9 กิโลกรัม
(3.3) ตช. ดำเนินการเชิงรุกในการปราบปรามและจับกุมผู้ค้ายาเสพติดในพื้นที่ขยายผลและใช้มาตรการทางทรัพย์สิน และกฎหมายปราบปรามการฟอกเงินและร่วมกับภาคีเครือข่ายค้นหาผู้ติดยาเสพติดจัดทำฐานข้อมูล (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-15 ธันวาคม 2565 มีการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดรวม 80,354 คดี ผู้ต้องหา 79,931 ราย
(4) การทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นเพื่อค้นหาผู้เสพยาเสพติดทั่วประเทศ
 
 
 
(4.1) สำนักงาน ป.ป.ส. ได้หารือร่วมกับ ตช. และ มท. ในการบูรณาการฐานข้อมูลผู้เสพ ผู้ติด ผู้มีอาการทางจิตเวช โดยจัดตั้งฐานข้อมูลด้านยาเสพติดที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงาน ป.ป.ส.
(4.2) ตช. ดำเนินการ Re X-Ray ผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด และผู้มีอาการทางจิตเวช จำนวน 158,333 ราย มีผู้ใช้ ผู้เสพ เข้าสู่กระบวนการบำบัด 106,937 ราย ผู้ป่วยจิตเวชที่มีสาเหตุจากยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัด 25,586 ราย และไม่ได้มีสาเหตุมาจากยาเสพติด 25,810 ราย (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-20 ธันวาคม 2565)
(4.3) มท. ดำเนินการ Re X-Ray ผู้เสพ ผู้ติด ผู้ค้า และผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด พบผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดทั่วประเทศ จำนวน 119,195 คน ผู้ค้ายาเสพติดทั่วประเทศ จำนวน 18,374 คน (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-30 พฤศจิกายน 2565)
(5) การตรวจสอบและติดตามข้อร้องเรียนของประชาชน(5.1) การดำเนินการต่อข้อร้องเรียนของประชาชน ผ่านสายด่วน 1386 มีการรับเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 5,016 เรื่อง ดำเนินการแล้ว 2,256 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 44.98 (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2565)
(5.2) ปิดล้อมตรวจค้นและจับกุมนักค้ายาเสพติดในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชนแพร่ระบาดยาเสพติด ปราบปรามจับกุม และขยายผลเพื่อนำไปสู่การใช้มาตรการทางทรัพย์สิน มีเป้าหมาย 13,945 หมู่บ้าน/ชุมชน ดำเนินการไปแล้ว 330 หมู่บ้าน/ชุมชน (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2565)
(5.3) สำนักงาน ป.ป.ส. ได้จัดการประชุมหารือการแก้ไขปัญหายาเสพติดเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมกำหนดให้มีการพัฒนาระบบ Blockchain ในการแจ้งเบาะแสยาเสพติดและรับเงินรางวัลนำจับ
(6) การศึกษาและทบทวนกรณีผู้เสพเป็นผู้ป่วยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ดำเนินการทบทวนร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. .... (ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์)
(7) การกำหนดมาตรการติดตามการบำบัดฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ต้นแบบด้านการดูแลผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยขับเคลื่อนการบูรณาการด้านการดูแลผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติด ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) ระหว่างหน่วยงานภาคีเครือข่าย 30 จังหวัดในพื้นที่ต้นแบบ ส่งผลให้ผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดได้รับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูได้อย่างเหมาะสม ลดอัตราการกลับมาเสพซ้ำ ลดลง และไม่ก่อความรุนแรงจนเกิดผลกระทบอย่างหนัก ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น
(8) การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring: EM)กรมคุมประพฤติได้กำหนดแนวทางรองรับการสนับสนุนติดตาม ควบคุมผู้เสพหรือกระทำผิด เพื่อปรับพฤตินิสัย และป้องกันอาชญากรรม จำนวน 6 แนวทาง ได้แก่ (1) แนวทางการนำ EM มาใช้กับผู้ถูกคุมความประพฤติที่เป็นผู้ใหญ่ทุกฐานความผิด (2) แนวทางการวิเคราะห์และส่งตัวผู้ถูกคุมประพฤติในคดียาเสพติดและคดีฐานความผิดอื่น (3) แนวทางการแสวงหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายยาเสพติด      (4) แนวปฏิบัติในการแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้เสพ กรณีศาลกำหนดเงื่อนไขให้บำบัดรักษาการติดยาเสพติดในระหว่างการคุมความประพฤติตามแผนการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด (5) แนวทางการเสนอความเห็นรายงานสืบเสาะและพินิจผู้ถูกสืบเสาะและพินิจที่เป็นจำเลย กรณีเสนอเงื่อนไขการนำ EM มาใช้กับผู้ถูกสืบเสาะพินิจที่เป็นจำเลย และ (6) การเตรียมความพร้อมศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน (JSOC) ทั้งนี้ สถิติการนำ EM มาใช้กับผู้กระทำผิด (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-                 31 ธันวาคม 2565) ได้แก่ 1) ผู้ได้รับการพักการลงโทษ 2,026 ราย 2) ผู้ได้รับการลดวันต้องโทษจำคุก 541 ราย และ 3) ผู้ถูกคุมความประพฤติ 82 ราย
3. มาตรการด้านการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด (สธ.)
(1) มาตรการระยะเร่งด่วน(1.1) บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด โดยในไตรมาส 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566         มีผลการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ตามแบบบำบัดรักษาตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 แบ่งเป็น (1) มาตรา 113 จำนวน 9,447 ราย (2) มาตรา 114 จำนวน 7,414 ราย และ (3) ศาล จำนวน 1,160 ราย
(1.2) มีระบบบูรณาการดูแลผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติด (SMI-V Care) ในพื้นที่นำร่อง 30 จังหวัด โดยผู้ก่อความรุนแรง ประมาณร้อยละ 3 ที่มีการวินิจฉัยโรคจิตเวช และมีทีมจัดการรายกรณี ประกอบด้วย บุคลากรสาธารณสุข (รพ.สต. ขึ้นไป) ร่วมกับผู้ปฏิบัติงานด้านสังคมที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มอบหมายร่วมกับผู้ปฏิบัติงานด้านความมั่นคง โดยจะใช้ข้อมูลจากชุมชนร่วมกันก่อน
(1.3) เร่งรัดสำรวจศูนย์คัดกรองให้ครอบคุลมทุกตำบล และดำเนินการขึ้นทะเบียนศูนย์คัดกรองแล้ว จำนวน 9,473 แห่ง แบ่งเป็น สังกัด สธ. จำนวน 6,596 แห่ง           และสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มท. จำนวน 2,877 แห่ง
(1.4) เร่งรัด สนับสนุน และร่วมบูรณาการการดำเนินงานกับหน่วยงานในพื้นที่ CBTx (Community based treatment and rehabilitation) สร้างการมีส่วนร่วมของครอบครัวชุมชน สังคม ดูแลผู้ติดยาเสพติด ดำเนินการแล้ว 659 ชุมชน และจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชน จำนวน 775 แห่ง ดำเนินการแล้ว จำนวน 439 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 56.73 อยู่ระหว่างรอลงประเมินจากคณะกรรมการระดับเขตสุขภาพ จำนวน 326 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 42.07
(2) มาตรการระยะกลาง(2.1) สนับสนุนการดำเนินงานของสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดภาคีเครือข่าย จำนวน 146 แห่ง
(2.2) เร่งรัดประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด เพื่อสำรวจ ตรวจสอบและยื่นขึ้นทะเบียนศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมให้ครอบคุลมทุกจังหวัดถึงระดับตำบล โดยได้ดำเนินการศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมขึ้นทะเบียนเว็บไซต์แล้ว จำนวน 912 แห่ง
(2.3) จัดให้มีบริการหอผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติดทุกโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป และครอบคุลมทุกจังหวัด โดยจัดตั้งหอผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติดในสังกัด สำนักงานปลัด สธ. 65 จังหวัด ใน 12 เขตสุขภาพ 97 แห่ง และให้โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด ดูแลบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดให้ครบทุกแห่ง โดยได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลยาเสพติดแล้ว จำนวน 1,080 แห่ง แบ่งเป็นสถานพยาบาลเฉพาะทาง 27 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน จำนวน 877 แห่ง และโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป จำนวน 176 แห่ง
(3) มาตรการระยะต่อเนื่องดำเนินการควบคุมกำกับ ติดตาม ศูนย์คัดกรอง สถานพยาบาลยาเสพติด/สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมและการใช้ชุมชนเป็นฐานการบำบัดยาเสพติด ให้เป็นไปตามมาตรฐานโดยมีการประเมินจากคณะกรรมการระดับเขตสุขภาพ
(4) ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอ(4.1) หน่วยบริการการบำบัดยาเสพติดของ สธ. ไม่เพียงพอ จึงเสนอให้หน่วยงานในสังกัด พม. ที่มีความพร้อมขึ้นทะเบียนเป็นศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยาเสพติดที่ยังไม่สามารถกลับคืนสู่ครอบครัวและสังคมให้ได้รับการดูแลแบบ half way house และจัดทำโครงการ/กิจกรรมขอรับการสนับสนุนงบดำเนินงาน           งบบุคลากร จากกองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด
(4.2) งบประมาณด้านการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดไม่เพียงพอ จึงเสนอให้กองทุนป้องกันฯ สนับสนุนงบประมาณด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด โดยให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจัดทำโครงการผ่านความเห็นชอบจาก สธ. ในฐานะหน่วยงานบูรณาการหลักด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด รวมทั้งแต่งตั้งผู้แทน สธ. เป็นคณะอนุกรรมการกองทุนป้องกันฯ ด้วย
4. มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต (สธ. และ พม.)
(1) การพัฒนาเครือข่ายนอกระบบสุขภาพ (สธ.)(1.1) การป้องกัน ได้แก่ ระบบดูแลสุขภาพจิตและแผนเผชิญเหตุในโรงเรียน/มหาวิทยาลัย ระบบการดูแลสุขภาพจิตในสถานประกอบการ และระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง
(1.2) การสนับสนุน ได้แก่ จัดทำแนวปฏิบัติในการขอรับการตรวจประเมินปัญหาสุขภาพจิตสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาบุคลากรสุขภาพจิตและการเพิ่มสิทธิประโยชน์การดูแลสุขภาพจิต
(1.3) การกำหนดมาตรการขับเคลื่อนงานสุขภาพจิตในสถานประกอบการ ได้แก่     (1) ประสานให้กระทรวงแรงงานแก้กฎกระทรวงการจัดสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2548 (2) กำหนดให้การตรวจสุขภาพประจำปี (การตรวจร่างกายและสภาวะจิตใจ) เป็นสวัสดิการที่กฎหมายกำหนด และ (3) สนับสนุนให้ใช้ MENTAL HEALTH CHECK-IN ประเมินสุขภาพจิตอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
(2) การพัฒนาเครือข่ายในระบบสุขภาพ (สธ.)(2.1) จัดตั้งหอผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติดทุกโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป ให้ครอบคลุมทุกจังหวัด โดยสังกัดสำนักงานปลัด สธ. 65 จังหวัด ใน 12 เขตสุขภาพ 97 แห่ง และจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชนให้ครบทุกแห่ง โดยได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนแล้ว 1,080 แห่ง แบ่งเป็น สถานพยาบาลเฉพาะทาง 27 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 877 แห่ง และโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป 176 แห่ง
(2.2) จัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลอำเภอ 775 แห่ง          โดยอนุมัติโครงสร้างกลุ่มงานแล้ว 439 แห่ง (ร้อยละ 56.73) อยู่ระหว่างรอลงประเมินจากคณะกรรมการระดับเขตสุขภาพ จำนวน 326 แห่ง
(3) การพัฒนาเครือข่ายในชุมชน (สธ.)(3.1) กระบวนการก่อนถึงโรงพยาบาล (Pre-Hos) ได้แก่ ค้นหาครอบครัวที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดความรุนแรง ระบบแจ้งเหตุวิกฤตจากความรุนแรงและเตรียมระบบดูแลและส่งต่อจิตเวชและยาเสพติดฉุกเฉิน
(3.2) กระบวนการเมื่อถึงโรงพยาบาลแล้ว (In-Hos) ได้แก่ บริการจิตเวชฉุกเฉินใน ER (Fast Track) บริการ Acute Care (หอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด) และส่งต่อผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดแบบไร้รอยต่อ
(3.3) กระบวนการหลังการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว (Post-Hos) ดูแลต่อเนื่องในชุมชน และบริการฟื้นฟูจิตเวชแลยาเพสติดในชุมชน
(4) ข้อเสนอเพื่อพัฒนา (สธ.)(4.1) พิจารณาให้จังหวัดสนับสนุนการดำเนินงานโปรแกรม SMI-V care โดยบูรณาการกับงานของพื้นที่ พิจารณาการบูรณการนำส่งผู้ป่วยเข้าสู่การบำบัดรักษาและการติดตามดูแลต่อเนื่อง ทั้งระหว่างการบำบัดและหลังการบำบัด โดยกำหนดบทบาทที่ชัดเจนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละระดับ
(4.2) สนับสนุนงบประมาณการผลิตจิตแพทย์ทั่วไป จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น รวมทั้งพยาบาลจิตเวชยาเสพติด ให้เพียงพอต่อความต้องการ
(4.3) สนับสนุนงบประมาณและสิทธิประโยชน์การให้บริการจิตเวชทางไกล (Telepsychiatry) เข้ามาเพื่อเพิ่มการวินิจฉัยและการดูแลต่อเนื่อง
(4.4) สนับสนุนการตรวจร่างกายและสุขภาพจิตประจำปีในหน่วยงานสถานประกอบการ รวมทั้งระบบช่วยเหลือสุขภาพจิต
(5) การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ (พม.)(5.1) การป้องกัน เช่น
          (5.1.1) สนับสนุนให้สภาเด็กและเยาวชนเป็นกลไกในการอบรม จัดกิจกรรมเพื่อป้องกัน แก้ไขปัญหา และถ่ายทอดความรู้เรื่องยาเสพติด โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ดำเนินการจัดกิจกรรมดังกล่าวในพื้นที่ทั่วประเทศ จำนวน 603 กิจกรรม จำนวน 37,620 คน
          (5.1.2) ประสานความร่วมมือดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง
          (5.1.3) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พม. ดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัย ควบคู่กับการพัฒนาชุมและพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยชุมชนตัวอย่างในโครงการบ้านมั่นคงที่เป็น “ชุมชนเข้มแข็ง” มีการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังภัยและยาเสพติด มีชาวบ้านในชุมชนเป็นอาสาสมัครเฝ้าระวังและมีกองทุนแม่ของแผ่นดิน เพื่อป้องกันปัญหายาเสพติด
          (5.1.4) วางแผนการถอดบทเรียนการช่วยเหลือเยียวยาและการแก้ไขปัญหาจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาการควบคุมอาวุธปืน เพื่อนำมาสังเคราะห์เป็นแนวทางในการจัดทำแผนเผชิญเหตุ (Incident Action Plan: IAP) แบบบูรณาการของ พม. ร่วมกับกรมสุขภาพจิต
(5.2) การช่วยเหลือเยียวยา เช่น
          (5.2.1) จัดบริการสายด่วน 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคมของ พม. เป็นศูนย์เฝ้าระวังปัญหาสังคมผ่านสื่อต่าง ๆ รวมถึงให้บริการรับแจ้งเหตุและประสานส่งต่อไปยังหน่วยงานภายใน พม. และบูรณาการปฏิบัติงานกับจิตอาสาและอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมงในการให้บริการคำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประสบปัญหาทางสังคมทั่วประเทศ ผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่      1) โทรศัพท์สายด่วน 1300 2) ทางสื่อสังคม (Social Media) 3) การติดต่อด้วยตนเอง และ 4) โทรศัพท์ระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีการให้บริการผู้ประสบปัญหาสังคมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด จำนวน 474 ราย และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 455 ราย และตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม- 28 ธันวาคม 2565 จำนวน 111 ราย
          (5.2.2) พม. ได้ดำเนินโครงการ “บ้านเติมฝันตามโครงการบ้านเรียนรู้สู่วิถีใหม่ (Half Way House)” ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และ “โครงการบ้านน้อยในนิคม” ในพื้นที่นิคมสร้างตนเอง เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายจิตเวชและจิตเวชยาเสพติดที่ได้รับการบำบัดฟื้นฟูด้านจิตใจและสามารถช่วยเหลือตนเองได้
(6) ปัญหา/อุปสรรค(6.1) กลุ่มผู้ติดยาเสพติดทีได้รับการบำบัดฟื้นฟูและช่วยเหลือเยียวยาไม่ได้รับการยอมรับและไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมและครอบครัว ทำให้ต้องกลับมาอยู่กับสถานสงเคราะห์
(6.2) ผู้ป่วยจิตเวชและจิตเวชยาเสพติดในสังคมมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
(6.3) บุคลากรในสังกัด พม. มีจำนวนไม่เพียงพอต่อการดูแลกลุ่มเป้าหมายของกระทรวงที่เป็นกลุ่มผู้ติดยาเสพติดหรือมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ติดยาเสพติดโดยเฉพาะ
(6.4) การบำบัดฟื้นฟูและให้การช่วยเหลือผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดโดยสถานสงเคราะห์หรือหน่วยงานอื่นในสังกัดของ พม. มีข้อจำกัดด้านแผนงานและงบประมาณ เนื่องจากกลุ่มผู้ติดยาเสพติดไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลักตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน การดำเนินงานจึงเน้นการประสานส่งต่อและสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น
(6.5) สถานสงเคราะห์และสถานคุ้มครองสวัสดิภาพในสังกัด พม. ไม่เพียงพอต่อการเพิ่มจำนวนที่มากขึ้นของผู้ป่วยจิตเวชและจิตเวชยาเสพติด

 
7. เรื่อง  การขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีในส่วนที่ได้มอบหมายให้คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติพิจารณา
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ  ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี จำนวน 6 มติ ดังนี้

ลำดับวันที่มีมติเรื่อง
122 มิถุนายน 2525นโยบายการใช้และกรรมสิทธิ์ที่ดิน และนโยบายเกี่ยวกับการจัดตั้งธนาคารที่ดิน
27 กุมภาพันธ์ 2527อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติเกี่ยวกับการถอนสภาพที่ดิน
สาธารณประโยชน์เพื่อนำไปจัดให้แก่ประชาชน
318 ธันวาคม 2527แจ้งผลการพิจารณาเรื่องที่ดินของคณะกรรมการพัฒนาชนบทแห่งชาติ                   (แก้ไขเพิ่มเติมมติคณะรัฐมนตรีข้อ 1.1)
411 มีนาคม 2529การควบคุมการจัดที่ดิน
51 กันยายน 2530มติคณะกรรมการพัฒนาชนบทแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2530
615 สิงหาคม 2543การจำแนกประเภทที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช เรื่องกรมป่าไม้
ขอกำหนดพื้นที่สวนป่าชะอำ (กำหนดเป็นสวนรุกขชาติชะอำ) เป็นพื้นที่ป่าไม้ถาวร
จังหวัดเพชรบุรี (ขอเปลี่ยนแปลงมติคณะรัฐมนตรีเดิม เฉพาะแห่ง) และเรื่องสำนักงานการปฏิรูบที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ขอคืนพื้นที่จำแนกที่ไม่เหมาะสมต่อการปฏิรูปที่ดิน

                   โดยแก้ไขหน่วยงานที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย จาก “คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ” เป็น “คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ” เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ  พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                   มท. รายงานว่า
                   1. เดิมพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ได้บัญญัติให้คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมการจัดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินและกฎหมายอื่น วางนโยบายการจัดที่ดิน ตลอดจนอนุมัติโครงการการจัดที่ดินของทบวงการเมือง แต่เนื่องจากปัจจุบันได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม
ประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 ซึ่งได้แก้ไขชื่อ “คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ”เป็น “คณะกรรมการจัดที่ดิน” และได้มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการจัดที่ดินโดยยกเลิกหน้าที่ในการวางนโยบายการจัดที่ดินเพื่อให้ประชาชนมีที่ดินสำหรับอยู่อาศัยและหาเลี้ยงชีพตามควรแก่อัตภาพ รวมถึงควบคุมการจัดที่ดินตามกฎหมายอื่น ประกอบกับ ปัจจุบันได้มีพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งได้บัญญัติให้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และให้มีอำนาจหน้าที่ในเชิงการกำกับดูแลการบริหารจัดการ และการกำหนดนโยบายและแผนที่เกี่ยวข้องกับที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ โดยสามารถสรุปและเปรียบเทียบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ คณะกรรมการจัดที่ดิน และคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติตามกฎหมายได้ ดังนี้
 

พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบาย
ที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562
 
ม.20               (เดิม)คณะกรรมการจัดที่ดิน                 แห่งชาติ (ปัจจุบันไม่มีแล้ว)ม.20               (แก้ไข)คณะกรรมการจัดที่ดินม.10
 
คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ 
(6)ควบคุมการจัดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินและกฎหมายอื่นวรรคแรกควบคุมการจัดที่ดิน
ตามประมวลกฎหมายที่ดิน
วรรคแรกกำกับดูแลการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินโดยทั่วไป 
(1)วางนโยบายการจัดที่ดิน(1)กำหนดแนวทางการจัดที่ดิน(1)กำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการ
ที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ
เพื่อขอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี
 
(2)วางแผนการถือครองที่ดิน(2)วางแผนการถือครองที่ดิน                   ในการจัดที่ดิน(4)กำหนดมาตรการหรือแนวทางการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ซึ่งรวมถึงรูปแบบการจัดที่ดินในลักษณะแปลงรวมโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ หรือรูปแบบในลักษณะอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเพื่อให้การใช้ที่ดินเกิดประโยชน์สูงสุด 
(4)สงวนหรือหวงห้ามที่ดินของรัฐซึ่งมิได้มีบุคคลใดมีสิทธิครอบครองเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน(3)สงวนหรือหวงห้ามที่ดินของรัฐซึ่งมิได้มีบุคคลใดมีสิทธิครอบครองเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน
 
-- 
(10)วางระเบียบหรือข้อบังคับ กำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดที่ดินหรือเพื่อกิจการอื่นตามประมวลกฎหมายที่ดิน(4)กำหนดระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดที่ดินการออกโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองประโยชน์หรือเพื่อกิจการอื่นตามประมวลกฎหมายที่ดิน-- 
(7)ปฏิบัติการเกี่ยวกับที่ดินตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย(5)ปฏิบัติการอื่นใดตามที่ประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ หรือตามที่คณะรัฐมนตรีหรือคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติมอบหมาย-- 
-- 
(9)ปฏิบัติการอื่นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน
หรือกฎหมายอื่น
 
(3)สงวนและพัฒนาที่ดิน
เพื่อจัดให้แก่ประชาชน
---- 
(5)อนุมัติโครงการการจัดที่ดิน
ของทบวงการเมือง
---- 
(8)มอบหมายให้ทบวงการเมืองที่เกี่ยวข้อง
ดำเนินการเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งในมาตรานี้แทนคณะกรรมการได้ตามที่เห็นสมควร
---- 

ทั้งนี้ ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมาลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 บัญญัติให้การใดที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติตามมาตรา 20 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก๊ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ซึ่งยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ และอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการจัดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้
ให้คณะกรรมการจัดที่ดินดำเนินการต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ
                   2. จากการเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการจัดที่ดินและการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (ตามข้อ 1) ที่ประชุมคณะกรรมการจัดที่ดินครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่  4 พฤศจิกายน 2564 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน และที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทบทวนมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว จำนวน 5 มติ ตามที่คณะกรรมการจัดที่ดินเสนอ ซึ่งต่อมา มท. ได้แจ้งข้อมูลเพิ่มเติม โดยขอให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเพิ่มอีก 1 มติ รวมเป็น 6 มติ โดยรายละเอียดของการแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีทั้ง 6 มติ สามารถสรุปได้ ดังนี้

มติคณะรัฐมนตรีและข้อความเดิมการแก้ไข
1. มติคณะรัฐมนตรี (22 มิถุนายน 2525) เรื่อง นโยบายการใช้และกรรมสิทธิ์ที่ดินและนโยบายเกี่ยวกับการจัดตั้งธนาคารที่ดิน
   “ผลการจำแนกประเภทที่ดินตามข้อ 2.1 (1) และ 2.1 (2) ให้เสนอคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป”
 
 
 
 
 
ทุกข้อความที่ระบุถึง
“คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ”
ให้แก้ไขเป็น
คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ”
ทั้ง 6 มติ
2. มติคณะรัฐมนตรี (7 กุมภาพันธ์ 2527) เรื่อง อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติเกี่ยวกับการถอนสภาพที่ดินสาธารณประโยชน์เพื่อนำไปจัดให้แก่ประชาชน
   “ให้คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติพิจารณาเรื่องขอถอนสภาพที่ดินสาธารณประโยชน์เพื่อนำไปจัดให้แก่ประชาชนเฉพาะรายที่ มท. เห็นสมควรได้”
3. มติคณะรัฐมนตรี (18 ธันวาคม 2527) เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาเรื่องที่ดินของคณะกรรมการพัฒนาชนบทแห่งชาติ
   “ผลการจำแนกประเภทที่ดินตามข้อ 2.3 (1) และ 2.3 (2) ให้เสนอคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป”
4. มติคณะรัฐมนตรี (11 มีนาคม 2529) เรื่อง                    การควบคุมการจัดที่ดิน
   “ให้คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติรับไปพิจารณากำหนดกรอบนโยบายและหลักเกณฑ์การจัดที่ดิน เพื่อให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมายดำเนินการจัดที่ดินไปตามอำนาจหน้าที่ภายใต้กรอบนโยบายและหลักเกณฑ์ดังกล่าว และเมื่อหน่วยงานใดจะจัดที่ดินแห่งใดก็ให้เสนอต่อคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติทราบ พร้อมทั้งหลักเกณฑ์และรายละเอียดและหากหน่วยงานใดไม่ได้ดำเนินการตามกรอบนโยบายและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติกำหนด ให้ มท. รายงานให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาด้วย”
5. มติคณะรัฐมนตรี (1 กันยายน 2530) เรื่อง มติคณะกรรมการพัฒนาชนบทแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2530
   “มอบหมายให้ มท. นำนโยบายที่ดิน และกลยุทธ์               ต่าง ๆ ที่เสนอ โดยให้คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติพิจารณาดำเนินการ และนำข้อสังเกตต่าง ๆ ของที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาชนบทแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย เพื่อให้เป็นนโยบายที่ดินของชาติ”
6. มติคณะรัฐมนตรี (15 สิงหาคม 2543) เรื่อง การจำแนกประเภทที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช เรื่องกรมป่าไม้ขอกำหนดพื้นที่สวนป่าชะอำ (กำหนดเป็นสวนรุกขชาติชะอำ ) เป็นพื้นที่ป่าไม้ถาวร จังหวัดเพชรบุรี (ขอเปลี่ยนแปลงมติคณะรัฐมนตรีเดิม เฉพาะแห่ง) และเรื่องสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ขอคืนพื้นที่จำแนกที่ไม่เหมาะสมต่อการปฏิรูปที่ดิน
   “อนุมัติเป็นหลักการว่า พื้นที่จำแนกที่คณะรัฐมนตรีมีมติมอบโดยตรงให้ ส.ป.ก.รับไปดำเนินการโดยไม่ผ่านคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ เมื่อ ส.ป.ก. ไม่สามารถดำเนินการได้ ให้คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติพิจารณาพื้นที่จำแนกดังกล่าวไปได้เลย ไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีอีก”

 
8. เรื่อง ขออนุมัติเพิ่มวงเงินงบประมาณและขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมา จำนวน 12 ตอน
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอดังนี้
                   1. เพิ่มวงเงินงบประมาณรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณ ภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมา (โครงการฯ) จำนวน 12 ตอน วงเงิน 4,970.7106 ล้านบาท
                   2. ขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ (ก่อหนี้ผูกพันฯ) ภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมา ดังนี้
                             2.1 ขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันฯ จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2563 เป็นปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2566 จำนวน 3 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 5 ตอนที่ 20 และตอนที่ 24
                             2.2 ขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันฯ จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2563 เป็นปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2567 จำนวน 5 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 2 ตอนที่ 18 ตอนที่ 19 ตอนที่ 34 และตอนที่ 39
                             2.3 ขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันฯ จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2563 เป็นปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2568 จำนวน 4 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 ตอนที่ 4 ตอนที่ 21 และตอนที่ 23
 
 
9. เรื่อง การขออนุมัติเพิ่มจำนวนการรับนิสิตโครงการเพชรในตม
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เสนอดังนี้
                   1. เพิ่มจำนวนการรับนิสิตโครงการเพชรในตม จากเดิมปีละ 45 คน เป็นปีละ 161 คน ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป
 

องค์ประกอบเดิมที่เสนอในครั้งนี้
1. จำนวนนิสิตต่อปีการศึกษา45 คน161 คน (เพิ่มขึ้น 116 คน)
2. สัดส่วนการรับตามพื้นที่กลุ่มที่ 1 จำนวน 30 คน จากทุกจังหวัดทั่วประเทศ (ยกเว้นผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดภูเก็ต)1กลุ่มที่ 1 จำนวน 146 คน จาก 73 จังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดละ 2 คน ยกเว้น ผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานครและพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้2
จังหวัดใน กอ.รมน. ภาค 1 (ภาคกลาง)8 คน
จังหวัดใน กอ.รมน. ภาค 2 (ภาคอีสาน)10 คน
จังหวัดใน กอ.รมน. ภาค 3 (ภาคเหนือ)8 คน
จังหวัดใน กอ.รมน. ภาค 4 (ภาคใต้)4 คน
กลุ่มที่ 2 จำนวน 15 คนกลุ่มที่ 2 (คงเดิม)
พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า)15 คน

                   2. บรรจุบัณฑิต จำนวน 161 คน เป็นข้าราชการครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในโรงเรียนพื้นที่ภูมิลำเนาของนิสิตโครงการเพชรในตมหรือหมู่บ้านใกล้เคียง โดยไม่ต้องสอบแข่งขันเป็นกรณีพิเศษ3
                   3. จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามความจำเป็นและเหมาะสม
                   สำหรับภาระงบประมาณที่จะเกิดขึ้นเพิ่มเติมจากดำเนินโครงการดังกล่าวในปีงบประมาณ  พ.ศ. 2566 เห็นควรให้ กอรมน. และ มศว พิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และ/หรือใช้จ่ายจากงบประมาณที่เหลือจ่ายจากการดำเนินการที่บรรลุตามวัตถุประสงค์แล้ว และ/หรือรายการที่หมดความจำเป็น หรือรายการที่คาดว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้ทันภายในปีงบประมาณเพื่อมาดำเนินการดังกล่าว และจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และปีต่อ ๆ ไป ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
                   เนื่องจากโครงการเพชรในตมเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่าง 3 หน่วยงาน คือ กอ.รมน. มศว และ สพฐ. จึงเห็นสมควรที่ กอ.รมน. จะบูรณาการการดำเนินโครงการดังกล่าวร่วมกับ มศว สพฐ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งตรวจสอบความซ้ำซ้อนของวิธีการดำเนินงานและกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนให้การอุดหนุนทุนการศึกษาดังกล่าวเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล คุ้มค่า ประหยัด ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย และเกิดประโยชน์สูงสุดตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ตามความเห็นของสำนักงานงบประมาณ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   กอ.รมน. รายงานว่า
                   1. โครงการเพชรในตมจัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรในหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.) ซึ่งอยู่ในถิ่นทุรกันดารห่างไกลความเจริญ และหมู่บ้านที่มีปัญหาด้านสังคมและล่อแหลมต่อความมั่นคงของชาติ ให้มีความรู้ทั้งในด้านการศึกษา การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริยทรงเป็นประมุข เพื่อให้มีความสามารถไปเป็นครูและผู้นำในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเองหรือพื้นที่ใกล้เคียง โดยจะรับสมัครและสอบคัดเลือกนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีละ 45 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ 1 จำนวน 30 คน จากหมู่บ้าน อพป. ทั่วประเทศ (ยกเว้นผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดภูเก็ต) และกลุ่มที่ 2 จำนวน 15 คน จากหมู่บ้าน อพป. ในพื้นที่จังหวัดชายภาคแดนใต้ เพื่อเข้ารับการศึกษาในระดับปริญญาตรีคณะศึกษาศาสตร์ วิชาเอกประถมศึกษา มศว เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูในสังกัด สพฐ. ในโรงเรียนพื้นที่ภูมิลำเนาของนิสิตโครงการเพชรในตม หรือหมู่บ้านใกล้เคียงโดยไม่ต้องสอบแข่งขันเป็นกรณีพิเศษซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการประสานความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่

หน่วยงานหน้าที่รับผิดชอบ
1. มศว- คัดเลือกนักเรียนจากหมู่บ้าน อพป.
- จัดหาที่พัก ที่ศึกษาเล่าเรียน และทุนการศึกษาส่วนหนึ่ง
2. กอ.รมน.- สนับสนุนทุนการศึกษาและกิจกรรมพิเศษของนิสิตตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาจนจบการศึกษา
3. ศธ.- จัดหาตำแหน่งเพื่อบรรจุบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาแล้วเป็นข้าราชการครูในภูมิลำเนาเดิมหรือพื้นที่ใกล้เคียงของบัณฑิตแต่ละคน

                   2. ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการเพชรในตม ครั้งที่ 1/2565 (คณะกรรมการฯ) เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 ได้รายงานผลการตรวจเยี่ยมพื้นที่ กอ.รมน. ภาค 2 และพื้นที่ กอ.รมน. ภาค 3 พบว่า ผลการดำเนินการของครูเพชรในตมในการสร้างความเข้าใจต่องานด้านความมั่นคง โดยเฉพาะนักเรียนซึ่งเป็นบุตรหลานของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ตามแนวชายแดน ก่อให้เกิดผลดีต่อการแก้ปัญหาความมั่นคงในภาพรวม อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ ได้รับรายงานจากครูเพชรในตมว่า จำนวนครูในโรงเรียนตามพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ตลอดจนพื้นที่ตามแนวชายแดน ยังคงขาดแคลนโดยเฉพาะครูระดับชั้นประถมศึกษา ประกอบกับจำนวนการผลิตบุคลากรครูของโครงการเพชรในตมมีเพียง 45 คนต่อปี ดังนั้น สำนักกิจการมวลชนและสารนิเทศ กอ.รมน. ได้เสนอแนวทางการรับนิสิตโครงการเพชรในตมเพิ่มเติม จากเดิม ปีละ 45 คน เป็นปีละ 161 คน โดยรับนักเรียนจาก 73 จังหวัด (ยกเว้นผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานครและพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้) จังหวัดละ 2 คน รวมเป็น 146 คน และในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อีกจำนวน 15 คน ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ เนื่องจากเป็นการขยายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้แก่เยาวชนในหมู่บ้าน อพป. อย่างครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งนิสิตโครงการเพชรในตมจะได้รับการปลูกฝังอุดมการณ์ให้เป็นคนดี คนเก่ง มีจิตสาธารณะ เป็นพลเมืองที่ดีของชาติ และมีความสามารถในการเป็นครูและผู้นำมวลชนผ่านกิจกรรมของ กอ.รมน. ทั้งนี้ สำหรับระบบการคัดสรรและการบริหารจัดการในการเพิ่มจำนวนนิสิตโครงการเพชรในตมให้สำนักกิจการมวลชนและสารนิเทศ กอ.รมน. มศว และ ศธ. หารือร่วมกันให้สามารถดำเนินการได้ตามบริบทใหม่ต่อไป
                   3. กอ.รมน. แจ้งว่า ศธ. และ มศว เห็นชอบตามที่ กอ.รมน. เสนอโดย ศธ. มีความเห็นเพิ่มเติมว่าการพิจารณาจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการในแต่ละปีงบประมาณเพื่อรองรับการบรรจุบัณฑิตโครงการเพชรในตม ผู้สำเร็จการศึกษาตามจำนวนและภูมิลำเนาของนิสิตทุนต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานวิชาเอกที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนด หากสถานศึกษาตามภูมิลำเนามีสภาพอัตรากำลังเกินเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนด จะต้องบรรจุในสถานศึกษาใกล้เคียงโดยเรียงลำดับ ดังนี้ 1) ตามภูมิลำเนา 2) ระดับตำบล 3) ระดับอำเภอ และ 4) ระดับจังหวัด
                   4. ประมาณการค่าใช้จ่ายของโครงการเพชรในตม จากจำนวนนิสิตทั้งหมดของโครงการ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป มีดังนี้

แหล่งเงินที่ใช้ปีงบประมาณ (หน่วย : ล้านบาท)
พ.ศ. 2566พ.ศ. 2567พ.ศ. 2568พ.ศ. 2569
เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ14.48
(9.09 + 5.39)
18.9824.3329.09
หมายเหตุ : สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจะใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของ กอ.รมน. (จำนวน 5.39 ล้านบาท) และตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป จะเสนอเป็นความต้องการงบประมาณประจำปีต่อไป

 
 
 
______________________
1 ตั้งแต่ปี 2563 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการรับนิสิตในกลุ่มที่ 1 จากเดิมรับเฉพาะนิสิตในพื้นที่จังหวัดชายแดนเป็นรับจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ (ยกเว้นผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดภูเก็ต)
พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หมายถึง จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดสงขลา 4 อำเภอ (อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย)
3 นิสิตที่รับทุนการศึกษาจะต้องชดใช้ทุนด้วยการปฏิบัติราชการในโรงเรียนพื้นที่ภูมิลำเนาของนิสิตหรือพื้นที่ใกล้เคียง เป็นระยะเวลา     1 เท่า ของจำนวนปีที่ศึกษา เช่น หากใช้ระยะเวลาศึกษา 4 ปี ต้องปฏิบัติราชการในพื้นที่ดังกล่าวเป็นเวลา 4 ปี จึงจะสามารถขอย้าย โอน หรือลาออกจากราชการได้โดยไม่เสียค่าปรับ
 
10. เรื่อง ขออนุมัติหลักการโครงการส่งเสริมการสร้างคนดีตามหลักการทางศาสนาที่ถูกต้องเพื่อสืบสานและรักษาสังคมพหุวัฒนธรรมที่ดีงามของจังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2566 – 2570
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการโครงการส่งเสริมการสร้างคนดีตามหลักการทางศาสนาที่ถูกต้อง เพื่อสืบสานและรักษาสังคมพหุวัฒนธรรมที่ดีงามของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566-2570 ทั้งนี้ ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงยุติธรรม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ รวมทั้งข้อเสนอแนะของกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567-2570 ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ดังนี้
                   1. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ หรือโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการตามระเบียบว่าด้วยการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการและงบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่างหน่วยรับงบประมาณ พ.ศ. 2562
                   2. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2570 ให้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นของภารกิจอย่างเหมาะสม และ/หรือพิจารณาเงินนอกงบประมาณ รวมถึงรายได้หรือเงินอื่นใดที่หน่วยงานมีอยู่หรือสามารถนำมาใช้จ่ายสมทบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามขั้นตอนต่อไป เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติหลักการโครงการส่งเสริมการสร้างคนดีตามหลักการทางศาสนาที่ถูกต้องเพื่อสืบสานและรักษาสังคมพหุวัฒนธรรมที่ดีงามของจังหวัดชายแดนภาคใต้ (โครงการฯ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2570 และกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการฯ จำนวน 2,330 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 ได้มีมติอนุมัติหลักการโครงการดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเป็นการขอรับการสนับสนุนงบประมาณปีละ 466 ล้านบาท เพื่อดำเนินการใน 2 กิจกรรม ได้แก่
                   1. งบประมาณสำหรับค่าอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา และจังหวัดสตูล) ที่เข้ารับการศึกษาหลักการขั้นพื้นฐานตามหลักศาสนาเบื้องต้นในโรงเรียนตาดีกา (รร. ตาดีกา) เฉพาะวันเสาร์ – อาทิตย์ และศูนย์พระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ (ศพอ.) จำนวน 203,606 คน โดยสนับสนุนงบประมาณคนละ 20 บาท/คน/วัน รวมทั้งสิ้น 378.84 ล้านบาทต่อปี
                   2. งบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายในการพัฒนาศักยภาพเด็กและผู้สอนรวมทั้งสิ้น 87.10 ล้านบาทต่อปี เพื่อให้เด็กที่เรียนใน รร. ตาดีกา และ ศพอ. ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนเข้าสู่กระบวนการฝึกอบรม ขัดเกลา และสร้างทักษะเพื่อให้เป็นคนดีตามหลักการทางศาสนาของทุกศาสนา และครูผู้สอนได้รับการพัฒนาสมรรถนะให้มีหลักการในการสอนศาสนาที่ถูกต้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่จะร่วมกันติดตามและประเมินผลโครงการฯ ต่อไป
 
11. เรื่อง (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 – 2570)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอดังนี้
                   1. เห็นชอบ (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 – 2570) (ร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฯ) และประกาศใช้แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 – 2570)
                   2. เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนดไว้ในแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฯ แปลงแผนไปสู่การปฏิบัติด้วยการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนของหน่วยงานที่ครอบคลุมการดำเนินงานของหน่วยงานภายในสังกัดทุกระดับ สำหรับงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ให้หน่วยงานใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่แต่ละหน่วยงานได้รับจัดสรร โดยดำเนินการในภารกิจของหน่วยงาน และนำมิติด้านสิทธิมนุษยชนมาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น
                   3. เห็นชอบให้หน่วยงานต่าง ๆ ตามข้อ 2 รายงานผลการปฏิบัติตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฯ เมื่อสิ้นปีงบประมาณปีละ 1 ครั้ง ในห้วงเดือนตุลาคม – ธันวาคมของทุกปี และมอบหมายให้ ยธ. รับผิดชอบกำหนดแนวทาง วิธีการรายงานผลและแบบรายงานผลการดำเนินงาน พร้อมแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบและถือปฏิบัติ
                   4. เห็นชอบให้หน่วยงานภาครัฐ (ระดับกรมหรือเทียบเท่า) บรรจุวิชาสิทธิมนุษยชน ไม่น้อยกว่า         3 ชั่วโมง ในหลักสูตรฝึกอบรมข้าราชการทุกระดับ และมอบหมายให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ รับผิดชอบการกำหนดขอบเขตและเนื้อหาหลักการสิทธิมนุษยชนพื้นฐานที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำแก่หน่วยงาน
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   กระทรวงยุติธรรมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 – 2570) (ร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฯ) และประกาศใช้แผนดังกล่าว เนื่องจากแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562 – 2565) ได้หมดวาระลง กระทรวงยุติธรรม (กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ) จึงได้จัดทำร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฯ โดยเป็นแผนที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน (Bottom – Up Approach) ภายใต้กรอบการวิเคราะห์ในประเด็นพื้นฐาน (issue – based) 5 มิติ ได้แก่ (1) มิติโครงสร้าง          (2) มิติกฎหมาย (3) มิติการจัดสรรทรัพยากร (4) มิติความตระหนักรู้ และ (5) มิติสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนในด้านต่าง ๆ โดยร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฯ มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งนี้ ร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนโดยไม่เลือกปฏิบัติ คำนึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สร้างสังคมที่ตระหนักถึงการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย แผนรายด้าน 5 ด้าน และแผนรายกลุ่ม 11 กลุ่ม โดยมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการดำเนินการตามข้อเสนอแนะในเรื่องต่าง ๆ              มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
                   แผนรายด้าน 5 ด้าน 29 ข้อท้าทาย 31 ข้อเสนอแนะ 59 ตัวชี้วัด
                   1. การเมืองการปกครองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพของประชาชน เสริมการมีส่วนร่วมการตัดสินใจ การเข้าถึงทรัพยากรและบริการของรัฐ
                   2. กระบวนการยุติธรรม ส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรม ปกป้อง คุ้มครองสิทธิอย่างเท่าเทียมสอดคล้องมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล
                   3. สาธารณสุขประชาชน สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นได้อย่างเท่าเทียม
                   4. การศึกษา ส่งเสริมการศึกษาการเรียนรู้ที่มีคุณภาพตลอดชีวิตแก่ทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม
                   5. เศรษฐกิจและธุรกิจ ส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สร้างประโยชน์ให้คนทุกกลุ่ม
                   แผนรายกลุ่ม 11 กลุ่ม 44 ข้อท้าทาย 64 ข้อเสนอแนะ 96 ตัวชี้วัด
                   1. ผู้ใช้แรงงาน ปกป้อง คุ้มครอง สิทธิกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ใช้แรงงานเข้าถึงสิทธิอย่างเหมาะสม
                   2. ผู้เสียหาย และเหยื่อของกระบวนการยุติธรรม พัฒนามาตรการ คุ้มครอง ช่วยเหลือผู้เสียหาย พยาน และเหยื่อให้เข้าถึงสิทธิของกระบวนการยุติธรรม
                   3. เด็กและสตรี ปกป้อง คุ้มครองเด็กและสตรีจากการถูกละเมิดสิทธิ ส่งเสริมให้เข้าถึงบริการภาครัฐอย่างเท่าเทียม และได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม
                   4. นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนสามารถใช้สิทธิได้ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย
                   5. ผู้สูงอายุ คุ้มครองให้ผู้สูงอายุเข้าถึงสิทธิที่พึงมีในทุกมิติ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและมีศักดิ์ศรี
                   6. ผู้เสพยาเสพติด ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจของผู้เสพยาเสพติดอย่างมีประสิทธิภาพ
                   7. ความหลากหลายทางเพศ ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ
                   8. บุคคลที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนและกลุ่มชาติพันธุ์ ส่งเสริมมาตรการที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหากลุ่มผู้ไร้รัฐ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มผู้ลี้ภัยตามหลักสิทธิมนุษยชน
                   9. คนพิการ ส่งเสริม พิทักษ์และรับรองให้คนพิการได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และมีศักดิ์ศรี
                   10. ผู้ต้องหา ผู้ต้องขัง และผู้พ้นโทษ คุ้มครองสิทธิ ผู้ต้องหา ผู้ต้องขัง ผู้พ้นโทษ อย่างยั่งยืน ลดการกระทำผิดซ้ำ
                   11. ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยจิตเวช คุ้มครองสิทธิ ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วยเอดส์ ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ป่วยจิตเวช และส่งเสริมการเข้าถึงบริการของรัฐอย่างเหมาะสม
 
12. เรื่อง การปรับปรุงโครงสร้างอัตราเงินเดือนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอการปรับปรุงโครงสร้างอัตราเงินเดือนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยขยายเพดานอัตราเงินเดือนขั้นสูงเฉพาะระดับตำแหน่งที่เกินกว่า 113,520 บาท ตามที่คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครรส.) และสำนักงาน ก.พ. ให้ความเห็นชอบแล้ว ดังนี้

ระดับตำแหน่งอัตรา (บาท)
อัตราเดิมอัตราใหม่
(ข้อเสนอในครั้งนี้)
8ผู้อำนวยการกอง99,970120,270
9ผู้อำนวยการฝ่าย108,810133,770
10ผู้ช่วยผู้ว่าการ111,160138,270
11รองผู้ว่าการ113,520142,830

โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ
                   ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมเสนอเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างอัตราเงินเดือนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ระดับ 8 – 11 เพื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เนื่องจากโครงสร้างอัตราเงินเดือนปัจจุบันเป็นโครงสร้างที่ใช้มานานมากกว่า 10 ปี โดยไม่ได้มีการปรับขยาย รวมทั้งภารกิจและหน้าที่ความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นด้วย และเมื่อเปรียบเทียบค่าตอบแทนของภาคแรงงานอุตสาหกรรม กทพ. กับรัฐวิสาหกิจอื่น พบว่าอัตราเงินเดือนของ กทพ. เกือบทุกระดับต่ำกว่าค่าตอบแทนของภาคแรงงานอุตสาหกรรมเดียวกันทำให้มีผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของพนักงานที่มีภาระงานเพิ่มขึ้นแต่ไม่สอดคล้องกับอัตราเงินเดือนที่ได้รับเป็นค่าตอบแทนในการทำงาน
 
13. เรื่อง (ร่าง) นโยบายด้านการบินพลเรือนของประเทศ พ.ศ. 2565 – 2580
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบนโยบายด้านการบินพลเรือนของประเทศ พ.ศ. 2565 – 2580 ตามที่คณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) เสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   กบร. รายงานว่า
                   1. พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 ได้บัญญัติให้ กบร. มีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบายด้านการบินพลเรือนของประเทศ กบร. และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำ (ร่าง) นโยบายด้านการบินพลเรือนของประเทศ พ.ศ. 2565 – 2580 ขึ้นโดยมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้านการบริหารจัดการองค์กรและกิจการการบิน การบริหารจัดการองค์กรและความเสี่ยง โครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมขนส่ง กฎหมายการขนส่งทางอากาศ วิศวกรรมและเทคโนโลยีอากาศยานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นผู้ทำงาน และได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น สายการบิน ผู้ให้บริการท่าอากาศยาน ผู้ทำงานทางอากาศเรียบร้อยแล้ว
                   2. (ร่าง) นโยบายด้านการบินพลเรือนของประเทศ พ.ศ. 2565 – 2580 มีเป้าหมายหลัก คือ   (1) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยระบบคมนาคมขนส่งทางอากาศที่มีคุณภาพ ต้นทุนเหมาะสม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศและการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค (2) มีระบบการบินที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล (3) มีความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต  (4) ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนในทุกมิติ โดย (ร่าง) นโยบายดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานด้านการบินพลเรือนของประเทศโดยแบ่งการกำหนดนโยบายออกเป็น 3 ด้าน คือ 1) ด้านเศรษฐกิจการบิน 2) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน 3) ด้านมาตรฐานการบิน ประกอบด้วย 13 นโยบายหลัก
__________________
1 ปัจจุบันยังไม่มีนโยบายด้านการบินพลเรือนของประเทศบังคับใช้
 
14. เรื่อง ขออนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายโครงการซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลประทานที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากอุทกภัยปี 2565
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ให้ กษ. โดยกรมชลประทานใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 3,092.72 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายโครงการซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลประทานที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากอุทกภัยปี 2565 รวม 1,167 รายการ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   กษ. รายงานว่า
                   1. ในช่วงกันยายน 2565 ประเทศไทยได้ประสบกับอุทกภัยจากอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอิทธิพลของ “พายุโนรู” ส่งผลทำให้พื้นที่ในหลายจังหวัดของภูมิภาคดังกล่าวเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากทำให้อาคารชลประทานในพื้นที่ได้รับความเสียหาย กษ. โดยกรมชลประทานจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการซ่อมแซม/ปรับปปรุงอาคารและระบบชลประทานโดยเร่งด่วน เพื่อให้สามารถส่งน้ำและระบายน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรได้ทันในช่วงฤดูแล้ง-ฤดูฝน และไม่ให้เกิดความเสียหายเพิ่มมากขึ้นต่อตัวอาคาร และระบบชลประทาน จนไม่สามารถซ่อมแซมให้ใช้งานได้อีก อีกทั้งยังเป็นการป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดกับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานและประชาชนทั่วไปจากการใช้งานอาคารชลประทานและระบบชลประทานที่ชำรุดเสียหาย สรุปได้ ดังนี้
                       1.1 วัตถุประสงค์
                             1.1.1 เพื่อซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคาร และระบบชลประทานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และการใช้งานให้กลับคืนสู่สภาพเดิมหรือมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น มีสภาพพร้อมใช้งาน และมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำให้ดีขึ้น สามารถรองรับปริมาณน้ำหลากได้
                             1.1.2 เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อการอุปโภค-บริโภค และเพื่อกิจกรรมอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                       1.2 แผนงานโครงการ กรมชลประทานขอใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 3,092.72 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี เพื่อให้เป็นค่าใช้จ่ายโครงการซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลประทานที่ได้รับความเสียหาย เนื่องจากอุทกภัยปี 2565 รวม 1,167 รายการ
                       1.3 ผลลัพธ์ของโครงการ กรมชลประทานจะมีอาคารชลประทาน จำนวน 1,167 รายการ           ที่มีสภาพพร้อมใช้งาน สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                   2. กษ. โดยกรมชลประทานได้ขอให้สำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลประทานดังกล่าว ซึ่ง สงป. แจ้งว่า นายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้กรมชลประทานดำเนินโครงการตามที่เสอในพื้นที่ 48 จังหวัด จำนวน 1,167 รายการ ภายในวงเงิน 3,092.72 ล้านบาท โดยใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยเบิกจ่ายในงบลงทุน สำหรับส่วนที่เหลือ (กรมชลประทานขอรับจัดสรรไป 1,871 รายการ วงเงินรวม 5,921.29 ล้านบาท) ขอให้กรมชลประทารจัดทำแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์          โดยพิจารณาใช้จ่ายจากเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทานในโอกาสแรกก่อน หากไม่เพียงพอให้เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอนต่อไป โดยคำนึงถึงศักยภาพ ภารกิจเท่าที่จำเป็นและเหมาะสม คุ้มค่า         และประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ
 
15. เรื่อง  รายงานสรุปการดำเนินการของงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ “มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน”
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสรุปการดำเนินการของงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ “มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
                    สาระสำคัญ
                   กระทรวงการคลังได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ สมาคมธนาคารไทยและหน่วยงานพันธมิตรต่าง ๆ จัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ฯ ขึ้น เพื่อเร่งรัดให้การขับเคลื่อนการแก้ไขและการปรับโครงสร้างหนี้สินของประชาชนและผู้ประกอบการไทยเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมและทั่วถึง สนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อสร้างรายได้ รวมทั้งพิจารณาแนวทางการสร้างรายได้เพิ่มเติมและการสร้างความรู้ทางการเงินให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนเกิดผลอย่างยั่งยืน โดยขอเสนอรายงานสรุปผลการดำเนินการของงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ฯ ดังนี้
                   1. การจัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ฯ รูปแบบออนไลน์ โดย ธปท. ได้ร่วมมือกับสมาคมสถาบันการเงินต่าง ๆ และชมรมของผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน จัดให้มีการลงทะเบียนเพื่อขอแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2565 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 โดยรวบรวมเจ้าหนี้จำนวน 68 ราย ครอบคลุมสินเชื่อทุกประเภท เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เป็นต้น ซึ่งเป็นการรวบรวมเจ้าหนี้ไว้มากที่สุดเมื่อเทียบกับการจัดครั้งที่ผ่านมา
                   ทั้งนี้ ผลการจัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ฯ รูปแบบออนไลน์มีผู้ลงทะเบียนเพื่อขอแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์ทั้งสิ้น 188,739 ราย คิดเป็นจำนวนรายการสะสม 413,780 รายการ ประกอบด้วย ลูกหนี้ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลร้อยละ 35 ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 31          และภาคอื่น ๆ ร้อยละ 34 ของลูกหนี้ที่ลงทะเบียนทั้งหมด และประเภทสินเชื่อที่มีการลงทะเบียนสูงสุด คือ บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลร้อยละ 75 สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ร้อยละ 6 สินเชื่อรายย่อยอื่นร้อยละ 5 สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยร้อยละ 4 และสินเชื่อประเภทอื่น ๆ ร้อยละ 10
                   2. การจัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ฯ รูปแบบสัญจร โดยกระทรวงการคลังและ ธปท. ได้ร่วมกับสมาคมสถาบันการเงินของรัฐและหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน โดย ธปท. สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ศูนย์ F.A. Center โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กองทุนการออมแห่งชาติ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด กรมการจัดหางาน กรมการพัฒนาชุมชน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และธนาคารพาณิชย์ จัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ฯ รูปแบบสัญจร  ในกรุงเทพมหานครและ 4 ภูมิภาค ทั่วประเทศไทย จำนวน 5 ครั้ง ดังนี้
                   ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 4 - 6 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
                   ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 18 - 20 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
                   ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 16 - 18 ธันวาคม 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
                   ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 20 - 22 มกราคม 2566 ณ ศาลาประชาคมเทศบาล เมืองบ้านสวน จังหวัดชลบุรี
                   ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 27 - 29 มกราคม 2566 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ         60 ปี จังหวัดสงขลา จังหวัดสงขลา
                   งานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ฯ รูปแบบสัญจร ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลักที่จะส่งผลให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนและผู้ประกอบการเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืนในระยะยาว ได้แก่ (1) การแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิม เพื่อช่วยผ่อนปรนภาระหนี้ของประชาชนและผู้ประกอบการให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง         (2) กาสร้างรายได้ผ่านกาสร้างอาชีพหรืออาชีพเสริม เพื่อช่วยให้ประชาชนและผู้ประกอบการมีรายได้ที่เพียงพอต่อการชำระหนี้ นอกจากนี้ ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถขอรับสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นหรือเป็นแหล่งทุนเพื่อสร้างรายได้เพิ่มได้เช่นเดียวกัน และ (3) การสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชนด้วยการส่งเสริมทักษะในการประกอบอาชีพ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ที่เพียงพอและมั่นคง และการเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน     เพื่อสร้างความตระหนักถึงการวางแผนทางการเงินและส่งเสริมการบริหารจัดการด้านการเงินอย่างถูกต้อง
                   ทั้งนี้ ผลการจัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ฯ รูปแบบสัญจร จำนวนทั้งสิ้น 5 ครั้ง มีประชาชนและผู้ประกอบการขอรับบริการภายในงานเป็นจำนวน 33,859 รายการ จำนวนเงินประมาณ 23,286 ล้านบาท แบ่งเป็นการขอรับคำปรึกษาด้านการเงินและแนวทางในการประกอบอาชีพ จำนวนมากที่สุด 13,220 รายการ รองลงมา          คือ การขอแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิม 10,066 รายการ จำนวนเงิน 9,647 ล้านบาท การขอสินเชื่อเพิ่มเติม 4,040 รายการ จำนวนเงิน 7,800 ล้านบาท และการเข้าร่วมกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อส่งเสริมการออม การตรวจข้อมูลเครดิตโดย บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด การแนะแนวอาชีพโดยสำนักงานจัดหางาน การขอคำแนะนำจากสำนักงานพัฒนาชุมชน การจำหน่ายทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของทั้งสถาบันการเงินและบริษัทเอกชน เป็นต้น จำนวน 6,533 รายการ
                   3. การดำเนินการในระยะต่อไป
                   กระทรวงการคลังและ ธปท. ได้มีแนวทางการดำเนินการในระยะต่อไป เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่องและสนับสนุนให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้
                             3.1 มาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืน โดยกระทรวงการคลังและ ธปท. สนับสนุนให้สถาบันการเงิน ครอบคลุมทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินและปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้ของลูกหนี้ที่มากกว่าการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เพียงอย่างเดียวเพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้อย่างแท้จริงและคำนึงถึงภาระของลูกหนี้ตลอดสัญญา   ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินมาตรการถึงสิ้นปี 2566 นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้กำหนดให้การดำเนินการตามแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่ง
                             3.2 ธปท. ได้จัดช่องทางเสริมเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ (1) ทางด่วนแก้หนี้ ซึ่งเป็นช่องทางเสริมออนไลน์สำหรับประชาชนที่ต้องการปรับโครงสร้างหนี้แต่ติดต่อเจ้าหนี้ไม่ได้หรือติดต่อแล้วแต่ยังไม่สามารถตกลงเงื่อนไขกันได้ (2) หมอหนี้เพื่อประชาชน ซึ่งเป็นช่องทางให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างครบวงจรแก่ลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบธุรกิจ SMEs และ (3) คลินิกแก้หนี้ ซึ่งเป็นช่องทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียจากบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ไม่มีหลักประกัน
                             3.3 ธปท. จะเผยแพร่เอกสารทิศทาง (Directional Paper) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566       เพื่อสื่อสารแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน รวมทั้งช่วยให้ทุกภาคส่วนเห็นทิศทางการดำเนินงานในระยะต่อไปและแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดมากขึ้น โดยเอกสารดังกล่าวประกอบด้วย แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ที่มีอยู่เดิม และการปล่อยหนี้ใหม่ให้มีคุณภาพในลักษณะการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) รวมถึงการวางรากฐานที่จำเป็นอื่น ๆ เช่น การพัฒนาฐานข้อมูลเครดิตให้มีข้อมูลหลากหลาย สะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริงของลูกหนี้ การปลูกฝังให้ลูกหนี้มีวินัยทางการเงิน (Responsible Borrowing) เป็นต้น
 
16. เรื่อง แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบ ดังนี้
                   1. รับทราบแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) และเห็นชอบมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ต่อไปตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
                   2. ในระยะต่อไป หากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีแผนระดับที่ 3 ที่ต้องเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ให้ดำเนินการตามขั้นตอนของการเสนอแผนระดับที่ 3 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 (เรื่อง แนวทางการเสนอแผนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี) วันที่ 3 ธันวาคม 2562        (เรื่อง การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติสู่การปฏิบัติ) วันที่ 15 ธันวาคม 2563 (เรื่อง แนวทางการจัดทำแผนระดับที่ 3      ที่เป็นแผนปฏิบัติการด้าน... เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี) และวันที่ 27 เมษายน 2564 (เรื่อง คู่มือแนวทางการจัดทำแผนระดับที่ 3 และการเสนอแผนระดับที่ 3 ในส่วนของแผนปฏิบัติการด้าน... ต่อคณะรัฐมนตรี) ตามความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
                   3. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป รวมทั้งให้รับความเห็นชอบของกระทรวงคมนาคมไปดำเนินการด้วย
                   4. สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และในปีต่อ ๆ ไป ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   ทส. รายงานว่า
                      1. จากการประเมินผลการดำเนินงานตามเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 1 (ข้อมูล ณ ปี 2564) สรุปได้ว่า เป้าหมายที่ 1 การลด เลิกใช้พลาสติกเป้าหมายด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถดำเนินการได้ร้อยละ 42 (จากเป้าหมายร้อยละ 75) และเป้าหมายที่ 2 การนำพลาสติกเป้าหมายภายในประเทศกลับไปใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สามารถดำเนินการได้ร้อยละ 25 (จากเป้าหมายร้อยละ 40) โดยผลิตภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ประโยชน์มากที่สุด ได้แก่ ขวดพลาสติก (ทุกชนิด) อย่างไรก็ตาม การจัดการขยะพลาสติกที่ผ่านมายังมีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานโดยไม่มีกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับเพื่อใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก โดยเฉพาะยังคงมีการผลิตและออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกโดยไม่ได้คำนึงถึงการนำกลับมาใช้ประโยชน์ ทำให้เกิดขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นทุกปี ความร่วมมือของประชาชนในการลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวยังมีน้อยมีการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกมากเกินความจำเป็น และเพิ่มขึ้นนับจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ขยะพลาสติกบางส่วนหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำก่อให้เกิดปัญหาขยะในแหล่งน้ำและในทะเล อีกทั้งระบบการจัดการขยะที่มีในปัจจุบันยังขาดการคัดแยก การรวบรวมเพื่อนำกลับไปหมุนเวียนเป็นวัตถุดิบใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นไปในรูปแบบความร่วมมือเชิงสมัครใจโดยได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ผู้บริโภค หน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนในระดับหนึ่ง สามารถลดปริมาณขยะพลาสติกและนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ได้เป็นบางส่วน
                   2. ทส. โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ขยะพลาสติก การบริหารจัดการที่ผ่านมา ปัญหา อุปสรรคในการดำเนินการ นโยบายที่เกี่ยวข้องประชุมระดมความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางและยก (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ และให้ ทส. โดยกรมควบคุมมลพิษ ปรับแก้ไข (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ โดยเพิ่มเติมตามความเห็นของ กก.วล. และให้นำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ต่อไป รวมทั้งให้ ทส. โดยกรมควบคุมมลพิษ ประสานกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เรื่อง การวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับการจัดการขยะพลาสติกต่อไป ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษได้ปรับแก้ไข (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ตามความเห็นของ กก.วล. ด้วยแล้ว
                   3. สาระสำคัญของ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ สรุปได้ ดังนี้

หัวข้อรายละเอียด
วัตถุประสงค์(1) เพื่อเป็นทิศทางการดำเนินงานของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการและขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะพลาสติก
(2) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาการบริหารจัดการพลาสติกของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยดำเนินงานอย่างเป็นระบบและครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การนำเข้า การจำหน่าย การบริโภค และการจัดการ                ณ ปลายทาง
วิสัยทัศน์ก้าวสู่การจัดการพลาสติกที่ยั่งยืน ด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Moving Towards Sustainable Plastic Management by Circular Economy)
กรอบแนวคิดกรอบแนวคิดการจัดลำดับความสำคัญของการจัดการขยะรูปแบบใหม่และการบริหารจัดการขยะตามวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ ดังนี้
(1) การจัดการ ณ ต้นทาง ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco Design) การผลิต และการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมการกำหนดหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จัดจำหน่าย ในการร่วมรับผิดชอบผลิตภัณฑ์ของตนตลอดวัฏจักรชีวิตตามหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) ในการจัดการขยะพลาสติก
(2) การจัดการ ณ กลางทาง ส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคโดยการใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเลือกใช้สินค้าและบรรจุภัณฑ์          ที่สามารถใช้ซ้ำ และเรียกคืนกลับไปรีไซเคิลโดยผู้ประกอบการ การลดหรืองดใช้บรรจุภัณฑ์ที่ก่อภาระต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ เพื่อให้มีการนำทรัพยากรกลับคืนจากของเสียให้มากที่สุดในรูปแบบวัสดุรีไซเคิล (Material Recovery) และพลังงาน (Energy Recovery) ทำให้เหลือขยะที่ต้องกำจัด (Final Disposal) ให้น้อยที่สุด
(3) การจัดการ ณ ปลายทาง ใช้แนวทางการจัดการขยะมูลฝอยผสมผสาน (Integrated Solid Waste Management) ตามที่กำหนดไว้ในการจัดลำดับความสำคัญของการจัดการขยะรูปแบบใหม่ โดยจัดให้มีระบบคัดแยกและนำกลับคืนวัสดุรีไซเคิล ระบบกำจัดแบบผสมผสานโดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ก่อนการฝังกลบขั้นสุดท้าย เช่น การเผาเพื่อผลิตพลังงาน และการหมักปุ๋ยเพื่อให้เหลือขยะที่ต้องฝังกลบให้น้อยที่สุด
(4) การพัฒนาเครื่องมือบริหารจัดการขยะพลาสติก เพื่อสนับสนุนให้การจัดการขยะพลาสติกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ 1) รูปแบบความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต 2) มาตรฐานผลิตภัณฑ์พลาสติก (ภาคบังคับ) 3) หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติ (Guideline/Agreement) การออกแบบผลิตภัณฑ์ 4) สัญลักษณ์ประเภทผลิตภัณฑ์พลาสติก (Eco Mark) 5) มาตรฐานและระบบการรับรองวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิล (PCR Mark) 6) มาตรฐานและคุณลักษณะเศษพลาสติก 7) Digital Platform Recycle 8) รายการสินค้าสีเขียว (Green Product) ในระบบการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement) 9) ผลงานวิจัยและพัฒนาตามหัวข้อที่กำหนด และ 10) ฐานข้อมูลพลาสติกของประเทศ (ฐานข้อมูลกลาง)
เป้าหมาย
ภายใน
ปี2570
(1) ปริมาณขยะพลาสติกเป้าหมายที่เข้าสู่ระบบฝังกลบขยะลดลง ร้อยละ 100 ได้แก่          ขวดพลาสติก (ทุกชนิด) ฝาขวด บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว ถุงพลาสติกหูหิ้วและถ้วย/แก้วพลาสติก
(2) ผลิตภัณฑ์พลาสติกเป้าหมายเข้าสู่ระบบรีไซเคิล ร้อยละ 100 ได้แก่ ขวดพลาสติก       (ทุกชนิด) ฝ่าขวด บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว ถุงพลาสติกหูหิ้ว และถ้วย/แก้วพลาสติก
(3) ลดปริมาณขยะพลาสติกที่มีโอกาสหลุดรอดลงสู่ทะเล ร้อยละ 50
(4) มีเครื่องมือในการบริหารจัดการขยะพลาสติก 10 ประเภท ตามที่กำหนดในแผน     ปฏิบัติการฯ
มาตรการ(1) มาตรการการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการควบคุม ป้องกัน เพื่อลดการเกิดขยะพลาสติก ตั้งแต่การออกแบบการผลิตสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการจัดกลุ่มและกำหนดประเภทผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่อเพิ่มศักยภาพในการนำกลับมารีไซเคิล กำหนดให้มีหลักเกณฑ์และมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกและยกระดับให้เป็นมาตรฐานเชิงบังคับ กำหนดสัญลักษณ์ให้กับประเภทผลิตภัณฑ์พลาสที่ต้องนำกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิล หรือต้องนำไปจัดการหรือกำจัด เพื่อให้ง่ายต่อการคัดแยกและสร้างการเรียนรู้ของประชาชน สนับสนุนให้มีการผลิตและใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกตามการจัดกลุ่มประเภทผลิตภัณฑ์พลาสติก นำหลักการความรับผิดชอบ EPR มาใช้ในการจัดการบรรจุภัณฑ์พลาสติก
(2) มาตรการการลดขยะพลาสติกในขั้นตอนการบริโภค มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการดำเนินการต่อเนื่องและขยายผลให้ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และร้านสะดวกซื้อ ทั้งเจ้าของตราสินค้าขนาดใหญ่ (Brand owner) และในพื้นที่ท้องถิ่น (Local Brand)สนับสนุนการลดขยะพลาสติก รณรงค์สร้างความร่วมมือกับสถานประกอบการอาหารและเครื่องดื่ม ตลาดสดของส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และตลาดเอกชนในการสนับสนุนการลดขยะพลาสติก ขอความร่วมมือประชาชนสนับสนุนการลดขยะพลาสติกยกระดับให้หน่วยงานภาครัฐและร้านค้าในสถานที่ราชการเป็นต้นแบบการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว รณรงค์และสร้างแคมเปญระดับประเทศเพื่อสื่อสารต่อสาธารณะภายใต้แนวทาง “งดการให้-ปฏิเสธการรับ ลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียว”
(3) มาตรการการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะจากบ้านเรือน อาคาร สำนักงาน ที่สอดคล้องกับวิธีการกำจัดที่ปลายทาง สร้างความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ต้องนำกลับเข้าระบบรีไซเคิล และต้องทิ้งเพื่อนำไปกำจัด โดยเฉพาะพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ สนับสนุนให้มีการสร้างโรงหมักปุ๋ยเพื่อรองรับการจัดการพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพพร้อมกับการจัดการขยะอินทรีย์และเพิ่มศักยภาพระบบการเก็บรวบรวมขยะพลาสติก
(4) มาตรการจัดการขยะพลาสติกในทะเล มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการป้องกันการเกิดขยะพลาสติกในทะเล โดยการสำรวจพื้นที่ระบบเก็บขนของ อปท. บริเวณริมฝั่งคลองริมแม่น้ำ และริมชายฝั่งทะเลในพื้นที่ 23 จังหวัด ที่ทำให้ขยะพลาสติกหลุดรอดลงสู่ทะเลและเพิ่มระบบการเข้าถึงพื้นที่ ดำเนินตามมาตรการการจัดการขยะบนพื้นที่เกาะ โดยมุ่งเน้นการคัดแยกขยะก่อนนำไปกำจัดและควบคุมกรณีมีการขนส่งขยะมากำจัดบนฝั่ง วางระบบคัดแยกรวบรวม และการจัดการขยะพลาสติกและขยะประเภทอื่น สำหรับเรือท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวและเครื่องมือประมงจะต้องนำขยะพลาสติกมากำจัดบนฝั่งตามที่กำหนด วางระบบในการป้องกันจัดเก็บ ขยะพลาสติก และนำส่งไปจัดการสำหรับขยะพลาสติกที่หลุดรอดลงสู่ทะเล
การขับเคลื่อน
แผนสู่การปฏิบัติ
(1) กลไกการขับเคลื่อน ได้แก่ การสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสาระสำคัญของแผนปฏิบัติการฯ ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกระดับมีความเข้าใจ ยอมรับ ตระหนักถึงความสำคัญ และร่วมมือในการนำแผนไปสู่การปฏิบัติและใช้กลไกคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะพลาสติก การใช้เครื่องมือทางการเงินการคลัง เครื่องมือทางสังคมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางที่กำหนด
(2) การติดตามประเมินผล โดยกำหนดให้มีการติดตาม ประเมินผล และผลกระทบของการดำเนินงานภายใต้มาตรการที่กำหนดเป็นประจำทุกปี เพื่อนำมาปรับปรุงหรือใช้ในการทบทวนแผนการดำเนินงานให้เหมาะสม และรายงานผลการดำเนินงานต่อ กก.วล. และเผยแพร่สู่สาธารณะ

                   3.4 ความเชื่อมโยงกับนโยบายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (1) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) (2) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (3) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570)    (4) แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570  (5) Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 (6) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ (พ.ศ. 2565-2570) และ (7) ความร่วมมือและความตกลงระหว่างประเทศ
 
 
17. เรื่อง การกำหนดระยะเวลาการให้อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนสำหรับโครงการ “บ้านคนไทยประชารัฐ” บนที่ดินราชพัสดุ
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอดังนี้
                   1. รับทราบผลการดำเนินโครงการ “บ้านคนไทยประชารัฐ” บนที่ดินราชพัสดุ (โครงการฯ)
                   2. อนุมัติให้กรมธนารักษ์นำที่ราชพัสดุที่รองรับการดำเนินโครงการฯ ใน 7 พื้นที่ ประกอบด้วย          (1) พื้นที่ชลบุรี (2) พื้นที่เชียงใหม่ (3) พื้นที่เชียงราย (4) พื้นที่ขอนแก่น (5) พื้นที่ลำปาง (6) พื้นที่นครพนม และ        (7) พื้นที่อุดรธานี ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2561 ไปรองรับการดำเนินโครงการสำคัญอื่น ๆ ตามนโยบายของรัฐบาลหรือนำไปบริหารจัดการ หรือพัฒนาจัดหาประโยชน์เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ภาครัฐต่อไป
                   3. อนุมัติให้กำหนดระยะเวลาการให้อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน (Pre Finance และ Post Finance) สำหรับธุรกรรมนโยบายภาครัฐ (Public Service Account : PSA) โครงการฯ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2561 (เดิมกำหนดไว้ตั้งแต่ 3 มกราคม 2561 – 2 มกราคม 2566) เป็นระยะเวลา 1 ปี ระหว่างวันที่ 3 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2567 (อัตราดอกเบี้ยคงเดิม) ทั้งนี้ ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจปฏิบัติตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ สกส. 28/2562 เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA) ประกาศ ณ วันที่ 2 กันยายน 2562 กฎหมายว่าด้วยสถาบันการเงินเฉพาะกิจ กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และมติคณะรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   กค. รายงานว่า
                   1. ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกรอบการดำเนินโครงการฯ (มติคณะรัฐมนตรี)    วันที่ 3 มกราคม 2561 กค. (กรมธนารักษ์)  ได้ดำเนินการ ดังนี้
                             1.1 กรมธนารักษ์ได้เปิดประมูลเป็นการทั่วไปเพื่อหาผู้ลงทุนจัดสร้างและบริหารโครงการฯ โดยมีเอกชนที่สนใจซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิก่อสร้างและบริหารโครงการฯ 5 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ (1) ประจวบคีรีขันธ์          (2) ชลบุรี (3) เชียงใหม่ (4) เชียงราย และ (5) ขอนแก่น และได้ประชุมร่วมกับผู้ได้รับสิทธิก่อสร้างและบริหารโครงการฯ ทั้ง 5 พื้นที่ ธอส. และ ธ.ออมสิน (เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561) โดยมีรองอธิบดีกรมธนารักษ์ รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นประธานการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาวางกรอบการอนุมัติสินเชื่อโครงการฯ
                                      1.1.1 อัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2561
                                      1.1.2 แยกวงเงินสินเชื่อโครงการฯ จำนวน 4,000 ล้านบาท เป็น Pre Finance จำนวน 2,000 ล้านบาท และ Post Finance จำนวน 2,000 ล้านบาท หากจำนวนเงินไม่เพียงพอให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอขยายวงเงินเพิ่มเติม และกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี
                                       1.1.3 การแยกบัญชีโครงการฯ เป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (PSA)
                                      1.1.4 ให้ ธอส. และ ธ.ออมสิน พิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการภาคเอกชนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนจัดเตรียมเอกสารประกอบการพิจารณาให้ถูกต้องครบถ้วน
                             1.2 กค. (กรมธนารักษ์) ธอส. และ ธ.ออมสิน ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงสินเชื่อโครงการฯ โดยทั้ง 2 ธนาคารได้ร่วมกันจัดวงเงินสินเชื่อประมาณ 4,000 ล้านบาท แบ่งเป็น
                                      1.2.1 สินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย (Pre Finance) โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนปีที่ 1 ถึงปีที่ 3 ร้อยละ 3/ปี หลังจากนั้น MLR – ไม่เกินร้อยละ 1/ปี ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 5 ปี เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ และหรือบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ที่เข้าร่วมพัฒนาโครงการ
                                      1.2.2 สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Post Finance) โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนปีที่ 1 ถึงปีที่ 4 ร้อยละ 2.75/ปี หลังจากนั้น กรณีรายย่อย MRR – ร้อยละ 0.75/ปี หรือ กรณีสวัสดิการหักเงินเดือน MRR – ร้อยละ 1/ปี ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 30 ปี และผ่อนปรนการกำหนดอัตราส่วนรายจ่ายในการชำระหนี้ต่อรายได้ต่อเดือน (DSR) หรืออัตราส่วนภาระผ่อนชำระหนี้รวมต่อรายได้สุทธิรวม (DTI) ตามที่ธนาคารกำหนด โดยมีวงเงินสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยบนที่ดินราชพัสดุในระดับราคา 350,000 – 700,000 บาทต่อหน่วย
                   2. ผลการดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมา ในภาพรวมพื้นที่นำร่องทั้ง 8 พื้นที่ กค. (กรมธนารักษ์)         ได้เปิดประมูลโครงการฯ เป็นการทั่วไปเพื่อคัดเลือกเอกชนมาพัฒนาที่ราชพัสดุโดยการก่อสร้างและบริหารโครงการฯ และข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีเอกชนที่สนใจดำเนินโครงการฯ ทั้งหมดรวม 5 พื้นที่ (1) ประจวบคีรีขันธ์ (2) ชลบุรี        (3) เชียงใหม่ (4) เชียงราย และ (5) ขอนแก่น ซึ่งมีเพียงพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์เท่านั้นที่สามารถก่อสร้างโครงการฯ          ได้ สำหรับพื้นที่อื่น ๆ ไม่สามารถดำเนินการได้อันเนื่องมาจากปัจจัยหลักในภาพรวม คือ การขาดสภาพคล่องทางด้านการเงิน และติดขัดเกี่ยวกับการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งที่ในความเป็นจริงผู้มีรายได้น้อยยังคงมีความต้องการในเรื่องที่อยู่อาศัยค่อนข้างสูง เช่น ยอดจองสิทธิโครงการฯ พื้นที่เชียงใหม่ คิดเป็นร้อยละ 141 พื้นที่เชียงรายคิดเป็นร้อยละ 60 และพื้นที่ชลบุรีคิดเป็นร้อยละ 64 ของจำนวนที่พักอาศัยทั้งหมด (ข้อมูล ณ วันที่ 22 เมษายน 2562) เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันการดำเนินโครงการฯ ใน 7 พื้นที่ที่เหลือประกอบด้วย พื้นที่ (1) ชลบุรี (2) เชียงใหม่ (3) เชียงราย (4) ขอนแก่น (ได้ผู้ได้รับสิทธิก่อสร้างและบริหารโครงการฯ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ) (5) ลำปาง (6) นครพนม และ (7) อุดรธานี (เปิดประมูลแล้วแต่ไม่มีเอกชนสนใจเข้าร่วมพัฒนาที่ราชพัสดุ) ไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม
                   3. กค. จึงเห็นว่า ควรนำที่ราชพัสดุพื้นที่ที่ไม่มีเอกชนสนใจเข้าร่วมพัฒนาที่ราชพัสดุ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ (1) อุดรธานี (2) ลำปาง และ (3) นครพนม และพื้นที่ที่ไม่มีความพร้อมในทุกบริบทที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อการก่อสร้างและบริหารโครงการฯ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ พื้นที่         (1) ชลบุรี (2) เชียงราย (3) ขอนแก่น และ (4) เชียงใหม่ (รวมทั้งสิ้น 7 แห่ง) ไปรองรับการดำเนินโครงการสำคัญอื่น ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล หรือนำไปบริหารจัดการ หรือพัฒนาจัดหาประโยชน์เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ภาครัฐ ในกรณีที่ผู้เช่าไม่สามารถดำเนินโครงการฯ ต่อไปได้ เพื่อให้การบริหารจัดการที่ราชพัสดุมีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
                   4. สำหรับการดำเนินโครงการฯ ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จประมาณร้อยละ 94.51) ได้กำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินโครงการฯ และการให้อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน (Pre Finance และ Post Finance) ระยะเวลา 5 ปี โดยมีผู้ได้รับสิทธิอยู่อาศัยในโครงการฯ ได้แจ้งตามประสงค์ขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Post Finance) กับ ธอส. จำนวน 235 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ 2 และ 3 (ประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 35,000 บาทต่อคนต่อเดือน และประชาชนทั่วไป) ซึ่งปัจจุบันได้สิ้นสุดระยะเวลาการให้สินเชื่อดังกล่าวแล้ว (ตั้งแต่       3 มกราคม 2566) ธอส. จึงยังมิได้อนุมัติสินเชื่อให้ผู้ได้รับสิทธิอยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนี้การกำหนดเป็นธุรกรรมนโยบายภาครัฐ (PSA) ต้องมีการกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดที่ชัดเจนโดยจะต้องเป็นโครงการนโยบายภาครัฐที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ในครั้งนี้ กค. จึงขอขยายกำหนดเวลายื่นคำขอกู้เงินและทำนิติกรรมในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2561 ไปจนถึงวันที่ 2 มกราคม 2567
 
18. เรื่อง ทบทวนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ ดังนี้
                   1. รับทราบผลการดำเนินการตามมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย
                   2. เห็นชอบการปรับหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขของมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ดังนี้
                             2.1 การปรับอัตราการคืนเงิน จากเดิมร้อยละ 15 – 20 เป็นร้อยละ 20 – 30 เป็นระยะเวลา 2 ปี
                             2.2 การปรับเพิ่มเพดานการคืนเงิน จากเดิม 75 ล้านบาทต่อเรื่อง เป็น 150 ล้านบาทต่อเรื่อง
                   ทั้งนี้ ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพิจารณาปรับรายละเอียดเงื่อนไขการรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมและอัตราการคืนเงินของเงื่อนไขต่าง ๆ ให้เหมาะสม โดยให้ความสำคัญกับปัจจัยที่ส่งผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศโดยตรงเป็นลำดับแรก เช่น การกระจายรายได้สู่เมืองรอง การเพิ่มการจ้างแรงงานไทย และการเพิ่มมูลค่าค่าใช้จ่ายในประเทศ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและประชาชนในพื้นที่โดยตรง
 
19. เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวภายหลังวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอเรื่อง แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวภายหลังวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ดังนี้
                   1. เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 โดยให้คนต่างด้าว ดังต่อไปนี้ อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ เพื่อทำงานถึงวันที่  15 พฤษภาคม 2566
                             1.1 คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเอกสารหลักฐานครบถ้วน ที่ได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานพร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอและค่าธรรมเนียมต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ดังนี้
                                      1) คนต่างด้าวที่ได้รับการตรวงลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 แต่ยังไม่ได้ยื่นขออนุญาตเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 หรือวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 แล้วแต่กรณี หรือที่เอกสารหนังสือเดินทางฯ ทยอยหมดอายุตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป
                                      2) คนต่างด้าวที่ได้รับการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 และได้รับการตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 หรือวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ตามแต่ละกรณีแล้วแต่เอกสารหนังสือเดินทางฯ ทยอยหมดอายุตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป
                             1.2 คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วน ที่ได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานพร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอและค่าธรรมเนียมต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ดังนี้
                                      1) คนต่างด้าวที่ไม่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง
                                      2) คนต่างด้าวที่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง แต่ไม่ไปดำเนินการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป (Visa) ให้ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 หรือเท่าอายุของหนังสือเดินทางฯ
                                      3) คนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่         5 กรกฎาคม 2565 ที่นายจ้างได้ดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวและชำระค่าธรรมเนียมแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลและการตรวจโรคต้องห้าม
                                      4) คนต่างด้าวที่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง และได้รับการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป (Visa) แล้ว แต่หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หมดอายุก่อนวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ทำให้ไม่ได้รับการตรวจลงตรา หรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566
                   2. เห็นชอบให้
                             2.1 คนต่างด้าวตามข้อ 1.2 1) – 3) เมื่อดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารประจำตัวภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ให้ได้รับการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 หากประสงค์จะทำงานต่อไปจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 และหากประสงค์จะทำงานต่อไป จะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568
                             2.2 คนต่างด้าวตามข้อ 1.2 4) เมื่อดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารประจำตัวภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ให้ได้รับการตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและทำงานต่อไปถึงวันที่         13 กุมภาพันธ์ 2567 หรือวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ตามสิทธิ์เดิมที่ได้รับตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565
                   3. การดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
                             3.1 กระทรวงมหาดไทย ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ดังนี้
                                      1) อนุญาตให้คนต่างด้าวตามข้อ 1.1 ซึ่งได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานพร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอและค่าธรรมเนียมต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566            อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อทำงานถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2566
                                      2) อนุญาตให้คนต่างด้าวตามข้อ 1.2 ซึ่งได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานพร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอและค่าธรรมเนียมต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566           อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อทำงานถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2566
                                         (1) อนุญาตให้คนต่างด้าวตามข้อ 1.2 1) – 3) ที่ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารประจำตัวภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ให้ได้รับการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 หากประสงค์จะทำงานต่อไปจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 และหากประสงค์จะทำงานต่อไปจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568
                                         (2) อนุญาตให้คนต่างด้าวตามข้อ 1.2 4) ที่ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารประจำตัวภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ให้ได้รับการตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและทำงานต่อไปถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 หรือวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ตามสิทธิ์เดิมที่ได้รับตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565
                   ในกรณีที่หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือทางสิ้นอายุให้คนต่างด้าวดำเนินการให้ได้มาซึ่งเอกสารดังกล่าว เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตหรือย้ายรอยตราประทับอนุญาต รวมถึงขยายระยะเวลาอนุญาตตามสิทธิให้แก่คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ โดยยกเว้นเปรียบเทียบปรับในช่วงที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งให้รวมถึงกรณีที่คนต่างด้าวตามข้อ 1 ซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 หรือวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 หรือวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 แล้ว แต่ได้รับการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป (Visa) เท่าอายุของหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางหรือวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 เมื่อมาดำเนินการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตหรือย้ายรอยตราประทับอนุญาต ให้ยกเว้นการเปรียบเทียบปรับการอยู่ในราชอาณาจักรเกินระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต
                                      3) มิให้นำมาตรา 12 (10) และมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง            พ.ศ. 2522 และคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ 1/2558 เรื่อง การไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาในราชอาณาจักร ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 มาใช้บังคับแก่คนต่างด้าวดังกล่าว รวมทั้ง การยกเว้นการแจ้งตามมาตรา 37 มาตรา 38 และมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ในระหว่างที่คนต่างด้าวยังไม่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางหมดอายุ ตลอดจนกำหนดการสิ้นผลของการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ
                   ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 (ฉบับที่ ..)
                             3.2 กระทรวงแรงงาน ออกประกาศกระทรวงแรงงาน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 14 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้
                                      1) อนุญาตให้คนต่างด้าวตามข้อ 1.2 ซึ่งได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานพร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอและค่าธรรมเนียมต่ออายุในอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ทำงานไปพลางก่อนได้ ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 โดยในระหว่างที่คนต่างด้าวยังไม่ได้รับใบอนุญาตทำงาน          ให้กรมการจัดหางานออกเอกสารซึ่งแสดงว่าคนต่างด้าวได้รับอนุญาตทำงานเป็นเอกสารหลักฐานใช้แทนใบอนุญาตทำงาน อาทิ ใบรับคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน หรือทะเบียนใบอนุญาตทำงาน ตามแต่ละกรณี คู่กับใบเสร็จรับเงิน เพื่อใช้แสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้รับอนุญาตทำงานตามกฎหมายแล้ว จนกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงาน
                                       กรณีคนต่างด้าวที่ทำงานในกิจการประมงทะเล (ทำงานบนเรือประมงทะเล)        เมื่อดำเนินการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานพร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอและค่าธรรมเนียมต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ให้นายจ้าง/คนต่างด้าวนำหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอและค่าธรรมเนียมต่ออายุใบอนุญาตทำงาน และใบอนุญาตทำงาน (บต. 39) มาติดต่อที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเล เพื่อให้นายทะเบียนของสำนักงานจัดหางานจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเล ประทับอนุญาตให้ทำงานในเบื้องต้นถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 และลงลายมือชื่อนายทะเบียนกำกับไว้ รวมทั้งให้ระบุเงื่อนไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ เป็นไปตามแนวทางที่กรมการจัดหางานกำหนด
                                      2) คนต่างด้าวตามข้อ 1 ซึ่งได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานพร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอและค่าธรรมเนียมต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 แต่ไม่สามารถชำระค่าธรรมเนียมได้ทันภายในวันดังกล่าว สามารถชำระค่าธรรมเนียมได้ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566
                                      กรณีชำระเงินค่าธรรมเนียมภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว แต่ชำระค่าธรรมเนียมไม่ครบถ้วนหรือชำระเกิน ให้ชำระค่าธรรมเนียมให้ครบถ้วนหรือคืนเงินค่าธรรมเนียมส่วนที่เกิน            ตามแนวทางที่กรมการจัดหางานกำหนด ทั้งนี้ ให้ครอบคลุมถึงคนต่างด้าวที่ได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต และชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอและค่าธรรมเนียมต่ออายุใบอนุญาตทำงานตามแนวทางของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่         5 กรกฎาคม 2565
                                      3) อนุญาตให้คนต่างด้าวตามข้อ 1.2 ซึ่งได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต ทำงานพร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมค่ยื่นคำขอและค่าธรรมเนียมต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ตามข้อ 3.2 1) ให้สามารถยื่นเอกสารหลักฐานหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางเล่มใหม่ ซึ่งได้รับการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป (Visa) ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 หรือย้ายรอยตราประทับแล้ว และเอกสารการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนและซื้อประกันสุขภาพ ต่อกรมการจัดหางานได้ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 รวมทั้งสำหรับคนต่างด้าวตามข้อ 1.2 3) ให้ยื่นเอกสารหลักฐานการจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล และการตรวจโรคต้องห้าม ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว โดยเมื่อเอกสารหลักฐานครบถ้วนจะอนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 หากประสงค์จะทำงานต่อไป ต้องดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตทำงานก่อนที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ (วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567) โดยจะได้รับอนุญาตให้ทำงานไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 และไปดำเนินการขอตรวจอนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568
                                      กรณีคนต่างด้าวตามข้อ 1.2 4) ได้รับการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2565  จะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ตามสิทธิ์เดิมที่ได้รับตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 และเมื่อยื่นเอกสารหลักฐานครบถ้วนต่อกรมการจัดหางานภายในระยะเวลาที่กำหนด จะได้รับอนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568
                                      4) คนต่างต้าวตามข้อ 1.1 จะได้รับอนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 หรือวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ตามสิทธิ์เดิมที่ได้รับตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565
                                      5) ให้นำความตามมาตรา 64/1 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาใช้บังคับแก่คนต่างด้าวดังกล่าวเฉพาะในส่วนของคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคนต่างด้าวที่จะขอรับใบอนุญาตทำงาน พ.ศ. 2563 เท่านั้น โดยนายทะเบียนไม่ต้องนำเรื่องเกี่ยวกับการได้รับโทษตามมาตรา 101 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว มาเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาอนุญาตทำงาน
                                      6) กรมการจัดหางานสามารถกำหนดแนวทางการดำเนินการหรือปรับปรุงแนวทางการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เสร็จสิ้นภายในระยะเวลากำหนด
                                      ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ยกร่างประกาศกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้องจำนวน         7 ฉบับ ดังนี้ 1) ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 (ฉบับที่ ..) 2) ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษสำหรับคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019            ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 (ฉบับที่..) 3) ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา             ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 (ฉบับที่ ..) 4) ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษสำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 (ฉบับที่ ..) 5) ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 (ฉบับที่ ..)       6) ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 (ฉบับที่ ..) และ 7) ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งได้รับอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 (ฉบับที่ ..)
                             3.3 กระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ และสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ปรับปรุงขั้นตอนการขายประกันสุขภาพให้คนต่างด้าว ดังต่อไปนี้ สามารถซื้อประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง สะดวกรวดเร็ว และทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
                                      1) คนต่างด้าวที่ทำงานกับนายจ้างในกิจการซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม
                                      2) คนต่างด้าวที่ทำงานกับนายจ้างในกิจการต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ในระหว่างที่ยังไม่เกิดสิทธิประกันสังคม เว้นแต่คนต่างด้าวที่อยู่ระหว่างการเข้าสู่ระบบประกันสังคมที่ได้ซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัย เป็นระยะเวลา 4 เดือนแล้ว โดยอัตราเบี้ยประกันขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทประกันภัย
                                      ทั้งนี้ รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวตามข้อ 1 ที่มีอายุไม่เกินสิบแปดปีบริบูรณ์
                             3.4 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ดำเนินการดังนี้
                                      1) ตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว และประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว หรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปให้คนต่างด้าวตามข้อ 1.1 ให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 หรือวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ตามสิทธิ์เดิมที่ได้รับตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565
                                      2) ตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว และประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว หรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป ให้คนต่างด้าวตามข้อ 1.2 ดังนี้
                                         (1) คนต่างด้าวตามข้อ 1.2 1) – 3) ที่ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารประจำตัวภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ให้ได้รับการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 หากประสงค์จะทำงานต่อไปจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 และหากประสงค์จะทำงานต่อไปจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568
                                         (2) คนต่างด้าวตามข้อ 1.2 4) ที่ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารประจำตัวภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ให้ได้รับการตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและทำงานต่อไปถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 หรือวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ตามสิทธิ์เดิมที่ได้รับตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่         5 กรกฎาคม 2565
                                         (3) จัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลให้กับคนต่างด้าวตามข้อ 1.2 3) ถึงวันที่        15 พฤษภาคม 2566
                                         ทั้งนี้ ในกรณีที่หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสิ้นอายุให้คนต่างด้าวดำเนินการให้ได้มาซึ่งเอกสารดังกล่าว เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตหรือย้ายรอยตราประทับอนุญาต รวมถึงขยายระยะเวลาอนุญาตตามสิทธิให้แก่คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ โดยยกเว้นเปรียบเทียบปรับในช่วงที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ รวมทั้ง ยกเว้นการรับแจ้งตามมาตรา 37 มาตรา 38 และมาตราอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ในระหว่างที่คนต่างด้าวยังไม่มีหนังสือเดินทาง หรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางหมดอายุ
                             3.5 กรมการปกครอง และกรุงเทพมหานคร ดำเนินการจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ซึ่งเป็นการดำเนินการตามกฎหมายปกติ ที่สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริหารการทะเบียนภาคสาขาจังหวัด หรือสถานที่อื่นที่กรมการปกครองกำหนด
                             ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานโดยกรมการจัดหางาน ได้มีการประสานสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาขอให้พิจารณาตรวจร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยและร่างประกาศกระทรวงแรงงาน ควบคู่ไปกับการเสนอแนวทางดังกล่าวเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาด้วยแล้ว
                   4. เห็นชอบการขยายระยะเวลาการดำเนินการออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity: C) ของทางการเมียนมา ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรปราการจังหวัดระนอง และจังหวัดชลบุรี รวมทั้ง ให้หน่วยงานของกรมการจัดหางานและสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองร่วมดำเนินการภายในพื้นที่บริเวณเดียวกัน รวมถึงหากทางการเมียนมาร้องขอสถานที่ออกเอกสารรับรองบุคคลเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงสถานที่การออกเอกสารรับรองบุคคล หรือการออกหน่วยให้บริการเคลื่อนที่ ให้ทางการเมียนมามีหนังสือร้องขอผ่านช่องทางการทูตและสามารถดำเนินการได้ไปพลางก่อน โดยมีระยะเวลาการดำเนินการไม่เกินวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 โดยให้ทางการเมียนมาสามารถดำเนินการได้ในโอกาสแรกนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ ในส่วนของทางการลาวและทางการกัมพูชา หากประสงค์จะดำเนินการจัดเก็บข้อมูลเพื่อออกหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางให้มีหนังสือร้องขอผ่านช่องทางการทูตและสามารถดำเนินการได้ไปพลางก่อน โดยมีระยะเวลาการดำเนินการจนถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2566
                   5. หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินการดังกล่าว ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงและฝ่ายปกครอง ดำเนินการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมดำเนินคดี คนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายหรือทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
 

ต่างประเทศ

20. เรื่อง  สรุปผลการประชุมระดับรัฐมนตรีท่องเที่ยวกรอบ ACMECS ครั้งที่ 5
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการประชุมระดับรัฐมนตรีท่องเที่ยวกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Aveyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ครั้งที่ 5 และเห็นชอบมอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวกรอบ ACMECS ปี พ.ศ. 2566-2568 ต่อไป ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ และให้ กก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงคมนาคมไปดำเนินการต่อไป
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   กก. รายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวกรอบ ACMECS ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ณ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                   1. ที่ประชุมรับทราบการดำเนินงานของประเทศสมาชิกกรอบ ACMECS1 ภายใต้แผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวกรอบ ACMECS ปี พ.ศ. 2562-2566และรับรองแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวกรอบ ACMECS ปี พ.ศ. 2566-2568 สรุปได้ ดังนี้

กรอบความร่วมมือกิจกรรม เช่นประเทศ                    ผู้ประสานงานหลัก
1. การส่งเสริมการท่องเที่ยว
และการตลาด เพื่อส่งเสริม
แนวคิด “5 ประเทศ
1 จุดหมายปลายทาง”
- จัดกิจกรรมท่องเที่ยวสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยวตัวแทนท่องเที่ยว และสื่อของประเทศสมาชิกและจากประเทศที่สามไปยังประเทศสมาชิกที่เกี่ยวข้อง รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านการตลาดร่วมกันเพื่อยกระดับความตระหนักรู้การท่องเที่ยวกรอบ ACMECS ผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศอื่น เช่น กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง และกรอบความร่วมมือแม่โขง-เกาหลี
- จัดทำวิดีโอส่งเสริมร่วมกันเรื่องแนวคิด “5 ประเทศ
1 จุดหมายปลายทาง” และสนับสนุนให้สายการบินนำเสนอวิดีโอนี้ในเที่ยวบินของตนเอง
ไทย [การท่องเที่ยว
แห่งประเทศไทย
(ททท.)]
 
2. การพัฒนาสินค้า                การท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริม
ความเชื่อมโยง                       ด้านการท่องเที่ยว
ตามแหล่งท่องเที่ยวหลัก
ของแต่ละประเทศ
- พัฒนาสินค้าใหม่และเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิม
อย่างต่อเนื่องและพัฒนาเส้นทางรวมถึงแหล่งท่องเที่ยวใหม่
ตลอดจนการท่องเที่ยวเชิงเกษตร
- ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวที่มีอยู่ของประเทศสมาชิกกรอบ ACMECS และพัฒนาการเชื่อมโยง
ระเบียง/เส้นทางท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมการขับรถเที่ยวด้วยตนเอง เมืองโบราณ แหล่งมรดกทางวัฒนธรรม และเส้นทางพุทธศาสนา
- ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารร่วมกัน3 ใน ACMECS
โดยสำรวจความเป็นไปได้ในการจัดกิจกรรมหรือนิทรรศการ
เกี่ยวกับอาหารคู่ขนานกับกิจกรรมการท่องเที่ยวอื่น และการท่องเที่ยวเชิงกีฬาสำหรับภูมิภาค ACMECS เช่น กอล์ฟ การแข่งขันจักรยาน การแข่งขันไตรกีฬา การวิ่งระยะสั้น กีฬาชายหาดและกีฬาทางน้ำเป็นประจำทุกปี
เวียดนาม
[หน่วยงานของไทย
ที่เกี่ยวข้อง :
สำนักงานปลัดกระทรวง
การท่องเที่ยวและกีฬา
(สป. กก.)
กรมการท่องเที่ยว
(กทท.) และ ททท.]
 
3. การแลกเปลี่ยนข้อมูล
ด้านการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้อง
กับนโยบายกรอบการกำกับดูแลและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
กับการกำกับดูแลที่ดีของการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวต่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งโอกาสในการลงทุน
- จัดทำข้อมูลการท่องเที่ยวของแต่ละประเทศให้เป็นปัจจุบัน เช่น ข้อมูลการข้ามแดนและข้อมูลสถิติการท่องเที่ยว แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการและการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว  พัฒนารูปแบบเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลแนวโน้มการท่องเที่ยวร่วมกัน  เพื่อปรับปรุงคุณภาพการบริการและสินค้าการท่องเที่ยว รวมทั้งแลกเปลี่ยนกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวในระดับชาติและนานาชาติที่มีภาคการท่องเที่ยวจากประเทศสมาชิกกรอบ ACMECS เข้าร่วมงาน
- การสื่อสารในภาวะวิกฤติ (เพื่อคุ้มครองนักท่องเที่ยวกรณีเกิดการก่อการร้ายหรือโรคระบาด)
เมียนมา
(หน่วยงานของไทย
ที่เกี่ยวข้อง : สป. กก.
กองบัญชาการตำรวจ
ท่องเที่ยว และ ททท.)
4. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
เพื่อแบ่งปันแนวปฏิบัติ
และความรู้ที่เป็นเลิศ
รวมถึงกระชับความร่วมมือ
ด้านการท่องเที่ยว ACMECS
 
- จัดตั้งเครือข่ายสำหรับการอบรมและการศึกษาให้กับประเทศสมาชิกกรอบ ACMECS
- แลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวไมซ์4 โดยการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการและการสัมมนา
- ส่งเสริมการเคลื่อนย้ายบุคลากรด้านการท่องเที่ยวของประเทศสมาชิกกรอบ ACMECS ภายใต้กรอบการดำเนินงานของข้อตกลงร่วมว่าด้วยการยอมรับคุณสมบัติบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอาเซียน
- สนับสนุนด้านงบประมาณที่เป็นไปได้สำหรับหลักสูตร
การเพิ่มทักษะและพัฒนาทักษะสำหรับบุคลากรด้านการท่องเที่ยวผ่านความร่วมมืออื่น เช่น กรอบความร่วมมือ                แม่โขง-ล้านช้าง  กรอบความร่วมมือแม่โขง-เกาหลี
กัมพูชา
[หน่วยงานของไทย
ที่เกี่ยวข้อง : กทท.
และสำนักงานส่งเสริม
การจัดประชุม
และนิทรรศการ
(องค์การมหาชน)]
 
5. การเชื่อมโยงสินค้า
การท่องเที่ยวและการมี
ส่วนร่วมของภาคเอกชน
เพื่อส่งเสริมความร่วมมือ
ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน
องค์กรระหว่างประเทศ
และองค์การนอกภาครัฐ
มีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริม
ความเชื่อมโยงที่ยั่งยืน
ภายในภูมิภาค ปรับปรุง
คุณภาพการบริการและสินค้าการท่องเที่ยว
- ผลักดันและส่งเสริมแพคเกจเส้นทางท่องเที่ยวของภาคเอกชนและวงจรการท่องเที่ยวของภูมิภาค ACMECS
- ผลักดันให้สายการบินในประเทศและต่างประเทศส่งเสริมเที่ยวบินตรงในแหล่งท่องเที่ยวหลักของประเทศสมาชิกกรอบ ACMECS มากขึ้น และผลักดันความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการเชื่อมโยงจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวผ่านเส้นทางทะเลระหว่างประเทศสมาชิกกรอบ ACMECS และสร้างแพคเกจท่องเที่ยวทางเรือสำราญร่วม กันเนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระเบียงการท่องเที่ยวชายฝั่งตอนใต้รวมถึงแพคเกจท่องเที่ยวล่องเรือแม่น้ำโขงร่วมกัน
ลาว
(หน่วยงานของไทย
ที่เกี่ยวข้อง : สป. กก.
และ ททท.)
 
6. กรอบการดำเนินงาน
เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้
ในการจัดตั้งสำนักเลขาธิการ
ด้านการท่องเที่ยว
กรอบ ACMECS หรือสำนักงาน
ประสานความร่วมมือ
เพื่อให้การดำเนินงาน
ของประเทศสมาชิก ACMECS
มีประสิทธิภาพ
ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสำนักเลขาธิการหรือสำนักงานประสานความร่วมมือในปี พ.ศ. 2566 และปี พ.ศ. 2567 และจัดเตรียมขอบเขตการดำเนินงานสำหรับการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสและรัฐมนตรีท่องเที่ยวกรอบ ACMECSกัมพูชา
(หน่วยงานของไทย
ที่เกี่ยวข้อง : สป. กก.
และ กทท.)

 
                   2. ประชุมเห็นชอบในหลักการร่างปฏิญญาเสียมราฐว่าด้วยการท่องเที่ยวกรอบ ACMECS ในอนาคต และจะรับรองเอกสารดังกล่าวเมื่อไทยดำเนินการตามกระบวนการภายในประเทศแล้วเสร็จ5
                   3. ที่ประชุมรับรองถ้อยแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวกรอบ ACMECS ครั้งที่ 5 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมรับรองถ้อยแถลงการณ์ร่วมการประชุมฯ  ซึ่งมีสาระสำคัญไม่แตกต่างจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (1 พฤศจิกายน 2565) เห็นชอบ อย่างไรก็ตาม มีการเพิ่มเติมประเด็น ดังนี้
                             3.1 ที่ประชุมขอบคุณนายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่กล่าวต้อนรับผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์และชื่นชมความเห็นเชิงลึกด้านการท่องเที่ยว ACMECS ในคำกล่าวและมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามคำแนะนำที่ได้รับเพื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวกรอบ ACMECS ปี พ.ศ. 2566-2568 และฉบับต่อไป
                             3.2 ที่ประชุมยินดีต่อข้อริเริ่มต่าง ๆ สำหรับการฟื้นฟูและการพัฒนาการท่องเที่ยวในภูมิภาคภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โควิด-19) รวมทั้งการจัดการประชุม Mekong Tourism Forum 2022 ระหว่างวันที่ 9-14 ตุลาคม 2565 ณ จังหวัดกว๋างนาม เวียดนาม ภายใต้หัวข้อ “สร้างการท่องเที่ยวใหม่ ตอบสนองด้วยการฟื้นฟู” นอกจากนี้ ได้ขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวแห่งกัมพูชาที่เป็นตัวแทนรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนในการเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่ม G20 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565  ณ เกาะบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ปี พ.ศ. 2565
                             3.3 ที่ประชุมแลกเปลี่ยนผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และรับทราบด้วยความพึงพอใจในความร่วมมือของประเทศสมาชิก ACMECS ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของ             โควิด-19
                             3.4 ที่ประชุมตระหนักถึงความสำคัญและได้สนับสนุนข้อริเริ่มในการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสำนักเลขาธิการด้านการท่องเที่ยว ACMECS  ในปี พ.ศ. 2566 และ ปี พ.ศ. 2567
                             3.5 ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและความจำเป็นในการยกระดับการเชื่อมโยงทางอากาศ ทางน้ำ และทางบก นอกจากนี้ การท่องเที่ยวของ ACMECS      ควรมีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่จากการฟื้นตัวช้าของเศรษฐกิจโลก แนวโน้ม     การกีดกันทางการค้าและการต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่เพิ่มขึ้น6 และเน้นย้ำถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาข้ามชาติ
                             3.6 ที่ประชุมยินดีต่อกัมพูชาที่จะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาซีเกมส์และการแข่งขันกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ในปี พ.ศ. 2566
                             3.7 ที่ประชุมยินดีต่อผลการประชุม ACMECS – CLMV Tourism Dialogue ครั้งที่ 1     เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 โดยเป็นการจัดงานคู่ขนานกับการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการท่องเที่ยวกรอบ ACMECS ครั้งที่ 5 และการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการท่องเที่ยวกรอบ CLMV ครั้งที่ 5 และสนับสนุนให้จัดการประชุมดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันให้หน่วยงานที่ไม่ใช่ภาครัฐรวมทั้งภาคเอกชน ภาคการศึกษา ชุมชนท้องถิ่น องค์การนอกภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน มีความครอบคลุม และมีการฟื้นฟูในภูมิภาค
                   4. การประชุมฯ ครั้งที่ 6 ที่จะจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2567 ลาวจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมต่อไป
                            
1ACMECS ประกอบไปด้วยประเทศสมาชิก ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และประเทศไทย
2แผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวกรอบ ACMECS ปี พศ. 2562-2566 ประกอบด้วย การประชาสัมพันธ์และการตลาด การเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว การพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ความปลอดภัยในการท่องเที่ยว และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน โดยมุ่งเน้นที่จะส่งเสริมความมุ่งมั่นที่ว่า “ห้าประเทศ-จุดหมายปลายทางเดียว” เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากการจัดการการท่องเที่ยวที่มีอยู่ในกลุ่มอนุภูมิกาค ACMECS รวมทั้งพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยว  การเชื่อมโยงเส้นทาง เพื่อส่งเสริมเมืองโบราณ มรดกทางวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงอาหาร และการขับรถเที่ยวด้วยตนเอง
3การท่องเที่ยวเชิงอาหาร หมายถึง  การเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งผลิตอาหาร เทศกาลอาหาร ร้านอาหาร และการเรียนรู้ประสบการณ์ทางด้านอาหารในการชิมอาหารและเครื่องดื่มผสมผสานการเชื่อมโยงวัฒนธรรมกับประวัติศาสตร์
4ไมซ์ (MICE คือ Meeting, Incentives, Conventions/Conferencing และ Exhibitions) เป็นธุรกิจการท่องเที่ยวที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการจัดประชุมต่าง ๆ ทั้งในระดับองค์กร ภูมิภาค และนานาชาติ โดยมักมีการจัดงานแสดงสินค้าควบคู่กันไปด้วย รวมถึงอาจมีการจัดการท่องเที่ยวเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้ท่องเที่ยวเรียนรู้สถานที่ที่น่าสนใจของแหล่งที่จัดประชุมนั้น ๆ โดย ธุรกิจไมซ์ในไทยได้มีนโยบายในการยกระดับแต่ละภูมิภาคให้มีความโดดเด่นแตกต่างกัน เช่น ภาคเหนือมีวัฒนธรรมวิถีชีวิตล้านนาที่โดดเด่นรวมไปถึงธุรกิจด้านสุขภาพ การเกษตรและหัตถกรรม และภาคตะวันออกเน้นเรื่องของธุรกิจเพาะปลูกผลไม้และธุรกิจพลอยที่น่าสนใจเพื่อเพิ่มเส้นทางใหม่ให้แก่นักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์
5จากการประสาน กก. แจ้งว่า ร่างปฏิญญาเสียมราฐว่าด้วยการท่องเที่ยวกรอบ ACMECS อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ
6โลกาภิวัตน์ คีอ ผลจากการพัฒนาการติดต่อสื่อสาร การคมนาคมขนส่ง และเทคโนโลยีสารสนเทศ อันแสดงให้เห็นถึงการเจริญเติบโตของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี และวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงระหว่างปัจเจกบุคคล ชุมชน หน่วยธุรกิจ และรัฐบาลทั่วทั้งโลก
 
21. เรื่อง ร่างจดหมายสนับสนุนการดำเนินงานของธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างจดหมายสนับสนุนการดำเนินงานของธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) (ร่างจดหมายสนับสนุนฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงร่างจดหมายสนับสนุนฉบับดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงการคลัง (กค.) ดำเนินการได้ตามความเหมาะสม รวมทั้งอนุมัติการลงนามในร่างจดหมายสนับสนุนฯ และมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนลงนามในร่างจดหมายสนับสนุนฯ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   เดิมประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคีสมาชิกตามข้อบทของความตกลงเพื่อการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) (ความตกลงฯ) เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2558 และความตกลงดังกล่าวมีผลผูกพันเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2559 โดยข้อบทที่ 44 วรรคสองของความตกลงฯ กำหนดให้ประเทศสมาชิกดำเนินการเพื่อให้บทบัญญัติในบทนี้ (การให้สถานะ ความคุ้มกัน เอกสิทธิ์ และการยกเว้นแก่ AIIB) มีผลใช้บังคับในดินแดนของตน และจะต้องแจ้งการดำเนินการที่ได้กระทำเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ AIIB ทราบ ซึ่ง AIIB ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขอให้พิจารณาลงนามในร่างจดหมายสนับสนุนการดำเนินงานของ AIIB (ร่างจดหมายสนับสนุนฯ) เพื่อรับรองว่าการดำเนินงานของ AIIB ในประเทศสมาชิกจะได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามที่กำหนดไว้ในข้อบทดังกล่าว เช่น
ความคุ้มกันจากกระบวนการพิจารณากฎหมาย เอกสิทธิ์ในการติดต่อประสานงาน การยกเว้นภาษีอากร เป็นต้น          ซึ่งกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพิจารณาและปรับปรุงร่างจดหมายสนับสนุนฯ ให้อยู่ในขอบเขตของข้อบทของความตกลงฯ โดยไม่เพิ่มภาระผูกพันแก่ประเทศไทย และให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของแต่ละหน่วยงานแล้ว ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่ขัดข้อง และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าร่างจดหมายสนับสนุนฯ มิใช่การทำสัญญาขึ้นใหม่และไม่มีประเด็นที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับการเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
 
22.  เรื่อง รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทย – เบลเยียม
                   คณะรัฐมนตรีมีมติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้
                   1. รับทราบบันทึกความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่การเดินอากาศของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและเจ้าหน้าที่การเดินอากาศของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม (บันทึกความเข้าใจฯ)
                   2. เห็นชอบร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรเบลเยียมและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยว่าด้วยบริการเดินอากาศ (ความตกลงฯ ฉบับใหม่) และหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ คค. ดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง
                   3. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ลงนามร่างความตกลงฯ ฉบับใหม่ และให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ออกหนังสือมอบอำนาจ (Full Powers) ให้แก่ผู้ที่ได้รับมอบหมายดังกล่าวด้วย รวมทั้งมอบให้ กต. ดำเนินการแจ้งเป็นหนังสือผ่านช่องทางทางการทูตถึงการดำเนินการตามกระบวนการเสร็จสิ้น เพื่อให้ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   บันทึกความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่การเดินอากาศของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและเจ้าหน้าที่การเดินอากาศของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม และร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรเบลเยียมและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยว่าด้วยบริการเดินอากาศ ที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอในครั้งนี้เป็นการจัดทำร่างความตกลงฯ ใหม่ เพื่อใช้แทนที่ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างสองประเทศฉบับเดิม โดยได้ปรับปรุงข้อกำหนดและสิทธิทางการบินระหว่างทั้งสองประเทศให้มีความเป็นปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้กระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าบันทึกความเข้าใจฯ ไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178                ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเห็นว่าร่างความตกลงฯ เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยหาก คค. ยืนยันได้ว่าเนื้อหาของร่างความตกลงฯ ไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง อีกทั้งไม่เข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาประเภทอื่นตามมาตรา 178 วรรคสองและวรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กรณีก็จะไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่ง คค. พิจารณาแล้วยืนยันว่าร่างความตกลงฯ ไม่มีผลกระทบในลักษณะดังกล่าว นอกจากนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้ว เห็นว่า เนื่องจากร่างความตกลงฯ ได้ผ่านความเห็นชอบจากทั้ง 2 ประเทศ ตั้งแต่เมื่อปี 2558 แต่โดยที่ปัจจุบันสายการบินได้รับผลกระทบทางการเงินจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงเห็นควรมอบหมายให้ คค. และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยรับไปเจรจากับเบลเยียมในเรื่องความเหมาะสมของการกำหนดเงื่อนไขเรื่องการอุดหนุนสายการบินจากภาครัฐ โดยในเบื้องต้นเห็นควรให้มีการยกเว้นเงื่อนไขดังกล่าวเป็นการชั่วคราวหรือจนกว่าสภาวะธุรกิจสายการบินจะฟื้นตัวจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
 
23. เรื่อง ร่างแถลงข่าวร่วมสำหรับการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างแถลงข่าวร่วมสำหรับการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขร่างแถลงการข่าวร่วมดังกล่าว ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาดำเนินการโดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีก และให้นายกรัฐมนตรีร่วมรับรองร่างแถลงข่าวร่วมฯ ในการหารือกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
                   สาระสำคัญ
                   ร่างแถลงข่าวร่วมสำหรับการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมืออย่างรอบด้านเพื่อการพื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19อาทิ (1) ความเชื่อมโยงในทุกมิติอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งรวมถึงการผลักดันโครงการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานที่ยังคั่งค้างอยู่ให้มีความคืบหน้า (2) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (3) การพัฒนาพื้นที่ชายแดน โดยให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ของไทยกับรัฐตอนเหนือของมาเลเซีย รวมถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อยกระดับความอยู่ดีกินดีของประชาชนในพื้นที่ (4) ความร่วมมือด้านความมั่นคง (5) ความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม       โดยส่งเสริมความร่วมมือระดับประชาชนในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และ (6) ความร่วมมือประเด็นในภูมิภาคและระหว่างประเทศ เพื่อแสดงเจตนารมณ์จะร่วมมือกันเพื่อรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN centrality) และปฏิบัติตามเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน       และเศรษฐกิจสีเขียว (Bangkok Goals on Bio-Circular-Green (BCG) Economy)
                   ทั้งนี้ ร่างถ้อยแถลงข่าวร่วมฯ ไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งไม่มีการลงนามในร่างถ้อยแถลงข่าวร่วมดังกล่าว ดังนั้น ร่างถ้อยแถลงข่าวร่วมฯ       จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
 
24. เรื่อง ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 25 (The 25th GMS Ministerial Conference)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบทั้ง 2 ข้อ ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ  ดังนี้
                   1. รับทราบผลการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่ม   แม่น้ำโขง 6 ประเทศ (Greater Mekong Subregion: GMS) (แผนงาน GMS) ครั้งที่ 25
                   2. มอบหมายหน่วยงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามผลการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ครั้งที่ 25 
                   และให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงคมนาคมไปดำเนินการต่อไป
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   สศช. รายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ครั้งที่ 25 ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) เมื่อวันที่   6-8 ธันวาคม 2565 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแผนการและการลงทุน สปป. ลาว และประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย เป็นประธานในการประชุม สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                   1. รัฐมนตรีกลุ่มประเทศ GMS (ประเทศไทย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สปป. ลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐประชาชนจีน) ได้เห็นชอบเอกสารผลลัพธ์การประชุม จำนวน 5 ฉบับ ซึ่งไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565   สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

เอกสารผลลัพธ์การประชุมสาระสำคัญ
แถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรี
แผนงาน GMS ครั้งที่ 25
Ÿ รับทราบแผนการดำเนินงาน เช่น การจัดตั้งเครื่อข่ายองค์ความรู้ของ GMSความร่วมมือด้านดิจิทัล การย้ายถิ่นของแรงงาน เวทีหารือการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ครั้งที่ 13 และการใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ( Regional Comprehensive Econornic  Partnership: RCEP)
Ÿมอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสของประเทศ GMS เร่งเปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ไปสู่โครงการสำคัญภายใต้กรอบการลงทุนของภูมิภาค ฉบับใหม่พ.ศ. 2568
Ÿ กำหนดกลไกติดตามและประเมินผลสำหรับกรอบยุทธศาสตร์แผนงาน GMSพ.ศ. 2573 และเน้นย้ำการสร้างความร่วมมือกับหุ้นส่วนการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายของอนุภูมิภาคภายใน ปี 2573
ยุทธศาสตร์ความเท่าเทียมทางเพศ GMSส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศผ่านการสร้างโอกาสให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในโครงการรายสาขาความร่วมมือต่าง ๆ มากขึ้น
กรอบการประเมินผลลัพธ์สำหรับ
กรอบยุทธศาสตร์แผนงาน GMS
พ.ศ. 2573
เพื่อติดตามและประเมินผลการบรรลุวิสัยทัศน์ GMS 2030 โดยมีการกำหนดตัวชี้วัด 3 ระดับ ได้แก่ (1) ความก้าวหน้าในการบรรลุวิสัยทัศน์ (2) โครงการภายใต้สามเสาหลักของวิสัยทัศน์ GMS 2030 และ (3) งบประมาณที่ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asia Development Bank : ADB ได้จัดสรรให้โครงการต่าง ๆ
ข้อริเริ่มความร่วมมือเศรษฐกิจดิจิทัล GMSเพื่อการอำนวยความสะดวกทางการค้า การสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล   การพัฒนาระบบการเงินดิจิทัล การปรับปรุงความครอบคลุมทางดิจิทัลและ           การพัฒนาการกำกับดูแลด้านดิจิทัลขั้นสูง เป็นต้น นอกจากนี้ ได้นำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลใน GMS     อย่างครอบคลุม การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการส่งเสริมการประยุกต์ใช้ดิจิทัลในทุกสาขาความร่วมมือ
เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม
กรอบการลงทุนของภูมิภาค                 ฉบับใหม่ พ.ศ. 2568มีโครงการรวม 111 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 11,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยมีการเพิ่มหลักเกณฑ์การจัดทำโครงการเพื่อให้มีความพร้อมและสอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์แผนงาน GMS พ.ศ. 2573 ทั้งนี้ มีโครงการที่มีมูลค่าการลงทุนสูงตามกรอบการลงทุนของภูมิภาคของไทยที่ได้เริ่มดำเนินการและเข้าสู่กลไกงบประมาณแล้ว ได้แก่ โครงการพัฒนารถไฟทางคู่ในประเทศ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ

                   2. ประเด็นนำเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สรุปได้ ดังนี้
                             2.1 แสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ 30 ปีของการจัดตั้งแผนงาน GMS ซึ่งมีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ เช่น โครงการขยายถนนทางหลวง GMS ระยะที่ 2 ที่ได้ขยายถนนทางหลวงหมายเลข 22 และ 23 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และโครงการขยายถนนทางหลวงเป็น 4 ช่องจราจรสู่ด่านพรมแดนทุกด่าน ส่งผลให้การสัญจรและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมีความสะดวกและเกิดการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของ   อนุภูมิภาค นอกจากนี้ มีโครงการสำคัญที่ไทยดำเนินการร่วมกับ สปป. ลาว ได้แก่ โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากสถานีท่านาแล้งไปยังเวียงจันทน์ระยะทาง 7.5 กิโลมตร และโครงการปรับปรุงถนนหมายเลข 12 (R12) ใน สปป. ลาว (ช่วงสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3   ไปยังด่านพรมแดนน้ำพาว) ซึ่งทำให้ไทยและ สปป. ลาว เป็นศูนย์กลางด้านการค้าและโลจิสติกส์ใน GMS
                             2.2 สนับสนุนแนวทางการระดมทุนใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การออกตราสารหนี้สีเขียว
                             2.3 เร่งดำเนินงานตามความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งข้ามพรมแดนใน GMS (GMS Cross-Border Transport Agreement GMS CBTA) ในระยะแรกอย่างต่อเนื่องภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  ได้คลี่คลายลง โดยเฉพาะการเร่งปรับปรุงกฎระเบียบการดำเนินงานในด่านพรมแดนเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการใน GMS            และเพื่อให้เกิดการบูรณาการห่วงโซ่มูลค่าของ GMS เข้ากับห่วงโซ่มูลค่าโลกต่อไป
                             2.4 สนับสนุนให้กิจการธุรกิจท่องเที่ยวขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อยนำเทคโนโลยี    ดิจิทัลมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าและแก้ไขปัญหาทางธุรกิจ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่น
                             2.5 เน้นย้ำแนวทาง “สุขภาพหนึ่งเดียวของ GMS” เพื่อป้องกันโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตและสนับสนุนให้คณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและเกษตรร่วมกันนำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานร่วมกัน รวมทั้งเห็นว่ายุทธศาสตร์ความเท่าเทียมทางเพศ GMS จะมีส่วนสนับสนุนให้ผู้หญิงมีบทบาททางด้านเศรษฐกิจในครัวเรือน
                   3. ความเห็นของประเทศสมาชิก GMS และ ADB สรุปได้ ดังนี้

ประเทศความเห็น/ประเด็นนำเสนอ
กัมพูชาให้ความสำคัญกับกรอบยุทธศาสตร์แผนงาน GMS พ.ศ. 2573 ซึ่งตอบสนองและลดผลกระทบจากโควิด 19 ทั้งนี้ ควรมีการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะประเด็นความมั่นคงทางสาธารณสุข มาตรการทางเศรษฐกิจ การพัฒนาทุนมนุษย์ ประชากรกลุ่มเปราะบาง การค้า การขนส่ง การท่องเที่ยว และการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามพรมแดน รวมทั้งควรเร่งสร้างกลไกติดตามความก้าวหน้าของแผนงานอย่างเป็นระบบ
จีนŸ เสริมสร้างการประสานนโยบายและส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคภายใต้แนวคิดการเปิดกว้างและครอบคลุม ผลักดันงานด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาคระหว่างกัน และสร้างห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยนำความตกลง RCEP  ไปสู่การปฏิบัติจริง
Ÿ กระชับความร่วมมือในประเด็นความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และสาธารณสุขและเร่งบูรณาการความเชื่อมโยงทางการค้า อุตสาหกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ และความร่วมมือในนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
Ÿ ยกระดับความร่วมมือเพื่อสร้างความสอดคล้องระหว่างกรอบยุทธศาสตร์แผนงาน GMS พ.ศ. 2573 และแผนยุทธศาสตร์ชาติของประเทศสมาชิก
สปป.ลาวŸ เตรียมความพร้อมในการป้องกันและตอบสนองต่อผลกระทบของโควิค-19 เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้
Ÿ จัดลำดับโครงการที่มีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างครอบคลุมในทุกภาคส่วนเป็นลำดับแรก
Ÿ เร่งขยายความร่วมมือด้านการแข่งขันทางการค้าและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีระหว่างกัน
Ÿ ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการออกแบบนโยบายเพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุน
ข้ามแดนระหว่างกัน
เมียนมาŸ มุ่งเน้นความร่วมมือด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนและเร่งพัฒนากลไกความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล
Ÿ พร้อมเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ครั้งที่ 26
เวียดนามŸ เน้นย้ำบทบาทของแผนงาน GMS ในการเป็นกลไกที่สำคัญในการประสานงานเพื่อดำเนินงานตาม              แนวทางการพัฒนาด้านความเชื่อมโยง ความสามารถในการแข่งขันและความเป็นประชาคม
Ÿสนับสนุนข้อริเริ่มและกิจกรรมความร่วมมือภายใต้แผนงาน GMS โดยเฉพาะโครงการช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง และให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศสมาชิก GMS ADB และหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี
ADBŸ เน้นย้ำถึงความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจ การหยุดชะงักของห่วงโซ่มูลค่าและห่วงโซ่อุปทาน ความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความท้าทายรูปแบบใหม่ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกันของประเทศสมาชิก
Ÿ เน้นย้ำความสำคัญของกรอบยุทธศาสตร์แผนงาน GMS พ.ศ. 2573 ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมและ                  ความยั่งยืน โดยในระยะถัดไปจะต้องมีการบูรณาการผ่านกลไกของอนุภูมิภาค

 
                   4. การดำเนินงานในระยะต่อไปของแผนงาน GMS สรุปได้ ดังนี้
                             4.1 เร่งพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งอย่างต่อเนื่องและครอบคลุม  เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีน  โครงการปรับปรุงท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวเพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกในการนำเข้า ส่งออก รามทั้งการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพื่อจูงใจการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 แห่ง และพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Easten Econornic Comidor: EEC) การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาโครงการลงทุนมูลค่าสูง และการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคมและลดความยากจนแก่ประชาชนตามแนวชายแดนและพื้นที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ
                             4.2 เร่งดำเนินการตามแผนหรือยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาประชาสังคมอย่างบูรณาการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันใน GMS และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
                   5. การมอบหมายให้หน่วยงานดำเนินงานตามผลการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS   ครั้งที่ 25 สรุปได้ ดังนี้

โครงการ/ประเด็นสำคัญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การขับเคลื่อนแผนงาน GMS ในภาพรวม เช่น
(1) การจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจความเท่าเทียมทางเพศ GMSเช่น
- กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
- กระทรวงแรงงาน (รง.)
- กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
- สศช.
(2) การจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการค้าและการลงทุนเช่น
- กระทรวงพาณิชย์ (พณ.)
- สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.)
- สศช.
การขับเคลื่อนประเด็นความร่วมมือรายสาขา เช่น
(1) สาขาคมนาคมขนส่ง พลังงาน และเทคโนโลยีสารสนเทศ
และการสื่อสาร (Information and Communication Technology: ICT)
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งทุกรูปแบบ  ด่านพรมแดน โครงสร้างพื้นฐานพลังงาน และใช้ประโยชน์จากโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐาน ICT ทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้านเพื่ออำนวยความสะดวกในการคมนาคมขนส่ง การค้า การลงทุนและการข้ามแดนของนักท่องเที่ยว รวมถึงการอำนวยความสะดวกการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าในอนุภูมิภาค และการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐาน ICT ที่ครอบคลุมเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล
     - ริเริ่มรูปแบบการระดมทุนใหม่เพื่อพัฒนาโครงการลงทุนมูลค่าสูงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เช่น
- กระทรวงการคลัง (กค.)
- กระทรวงคมนาคม (คค.)
- กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.)
- กระทรวงพลังงาน
 
(2) สาขาการอำนวยความสะดวกคมนาคมขนส่งและการค้า
   - เร่งรัดดำเนินงานในระยะแรกเริ่มภายใต้ GMS และ CBTA
   - อำนวยความสะดวกการนำเข้า ส่งออก และการปรับปรุงกฎระเบียบการตรวจปล่อยสินค้าบริเวณด่านพรมแดนเพื่อให้สอดคล้องกับความตกลง GMS และ CBTA
   - ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพื่อจูงใจการลงทุนในเขตพัฒนา
เศรษฐกิจพิเศษและพื้นที่ EEC
เช่น
- กค.
- พณ.
- กระทรวงมหาดไทย (มท.)
- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
 
(3) สาขาสิ่งแวดล้อม เกษตร และสุขภาพ
   - ศึกษาการจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ               ภัยธรรมชาติ และภัยพิบัติ
   - เร่งรัดการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรรมตามแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียวของ GMS
   - ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหาร ความมั่นคง มั่งคั่งของ              ภาคการเกษตรและอาหาร และความยั่งยืนของภาคการเกษตร
เช่น
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สธ.
 
(4) สาขาท่องเที่ยว
   - แลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้เพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และเตรียมความพร้อมในการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี นโยบายการเงิน และภาษี เพื่อฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยว
   - ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของธุรกิจ
ท่องเที่ยวกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro Small and Medium Enterprises: MSMES) ในชุมชนท้องถิ่น
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.)
 
(5) การเคลื่อนย้ายแรงงาน ความเท่าเทียมทางเพศ และสุขภาพ
   - หารือกับประเทศต้นทางของแรงงานเกี่ยวกับแนวทางในการปฏิบัติที่ดีต่อแรงงานต่างด้าวร่วมกัน
   - เร่งสร้างโอกาสให้ผู้หญิง/แรงงานหญิงมีส่วนร่วมใน                      โครงการต่าง ๆ ให้มากขึ้น
   - เสริมสร้างแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่และขยายหลักประกันสุขภาพของแรงงานต่างด้าวให้ครอบคลุมมากขึ้น
เช่น
- กระทรวงการต่างประเทศ
- พม.
- มท.
- รง.
- สธ.
(6) การเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าในอนุภูมิภาค
   - เตรียมความพร้อมเพื่อเชื่อมโยงและขยายฐานการผลิต                     การท่องเที่ยว ส่งเสริมการลงทุนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านและกระจายผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจและสังคมผ่านการพัฒนาพื้นที่ EEC ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
   -เร่งพัฒนาศักยภาพแรงงานและเสริมสร้างขีดความสามารถของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่ากับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเป็นรูปธรรม
 เช่น
- กก.
- พณ.
- รง.
- กระทรวงศึกษาธิการ
- กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.)
- สกท.
- สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง
และขนาดย่อม
- สำนักงานคณะกรรมการนโยบาย
เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
 (7) สาขาการพัฒนาเมืองและการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น
ผลักดันการพัฒนาเมืองและเมืองอัจฉริยะในพื้นที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจและพื้นที่ชายแดนเพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน
เช่น
- มท.
- ดศ.

 

แต่งตั้ง

25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้งนายสธน   เกษมสันต์ ณ อยุธยา อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเอเธนส์ สาธารณรัฐเฮลเลนิก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศดังกล่าว ได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับ
 
26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอแต่งตั้ง นายเอกพงษ์ หริ่มเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
27. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงวัฒนธรรม)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกะทรวงวัฒนธรรมเสนอแต่งตั้ง นางสาวเพชรรัตน์ สายทอง ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
28. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) เสนอแต่งตั้ง นายศุภฤกษ์ ภู่พงศ์ศักดิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. ให้ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
29. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงมหาดไทย)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งข้าราชการการเมือง ดังนี้        
                   1. นายสุทธิ ปัญญาสกุลวงศ์ ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายนริศ ขำนุรักษ์) 
                   2. นายกูอาเซ็ม กูจินามิง ให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย [ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายนริศ ขำนุรักษ์)]
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป
 
30. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล จำนวน 3 คน ดังนี้
                   1. ศาสตราจารย์เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์      ด้านกิจกรรมทางทะเล
                   2. ศาสตราจารย์ชุมพร ปัจจุสานนท์         ด้านกฎหมาย
                   3. พลเรือเอก จุมพล ลุมพิกานนท์           ด้านการทหารเรือ
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป

 ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.thaigov.go.th