วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2564

เช็กอาการ “Nomophobia” โรคติดมือถือ โรคยอดฮิตของยุคดิจิทัล

 


    ในโลกยุคดิจิทัล ที่อะไร ๆ ก็สะดวกสบาย จะคุยกับเพื่อน อ่านบทความ ติดตามความเคลื่อนไหวของสังคม หรือแม้แต่สั่งอาหาร ก็มักจะทำผ่านมือถือ หรือ “สมาร์ตโฟน” ทั้งนั้น ทำให้โทรศัพท์มือถือเหมือนอวัยวะที่ 33 ของใครหลาย ๆ คนเลย เป็นทั้งเครื่องมือที่ใช้ดำรงชีวิต หาข้อมูลความรู้ และฆ่าเวลายามว่าง แม้ว่าสมาร์ตโฟนจะเป็นเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์ชีวิตยุคดิจิทัลได้เกือบทุกอย่าง แต่ของทุกอย่างมีทั้งประโยชน์ และโทษถ้าเราใช้เกินพอดี ไม่เว้นแม้แต่สมาร์ทโฟน ที่ถ้าเกิดอาการ “ติด” ขึ้นมาแล้ว ก็จะนำไปสู่การเป็นโรค “โนโมโฟเบีย” (Nomophobia) ได้

 โนโมโฟเบีย (Nomophobia) คือคำย่อของอาการ “no mobile phone phobia” แปลตรงตัวก็คือโรคขาดมือถือไม่ได้ ซึ่งศัพท์คำนี้ถูกบัญญัติขึ้นเมื่อปี 2008 โดย YouGov หรือองค์การวิจัยของสหราชอาณาจักร เพื่อใช้เรียกอาการที่เกิดจากความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นเมื่อขาดโทรศัพท์มือถือ หรือสมาร์ตโฟนเพื่อใช้ติดต่อสื่อสาร โดยที่อาการ “โนโมโฟเบีย” จัดเป็นโรคจิตเวชประเภทหนึ่ง ที่อยู่ในกลุ่มของอาการวิตกกังวล และด้วยชีวิตยุคดิจิทัลที่ต้องพึ่งพาสมาร์ตโฟนในการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้คนส่วนใหญ่เป็นโรคนี้โดยไม่รู้ตัว มาสำรวจตัวเองกันดีกว่าว่า ติดมือถือแค่ไหน ถึงเรียกว่าเป็นโนโมโฟเบีย ?

- ต้องมีโทรศัพท์อยู่ติดตัวตลอดเวลา ถ้าไม่มีจะรู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวาย

- หมกมุ่นอยู่กับการอัปเดตข้อมูลในสมาร์ตโฟน ถึงไม่มีเรื่องด่วน ก็อดไม่ได้ที่จะหยิบมือถือขึ้นมาดูแทบตลอดเวลา

- ถ้ามีเสียงเตือนหรือสัญญาณเตือนจากโทรศัพท์มือถือ คุณจะหยุดทุกอย่างเพื่อหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดู ถ้าตอนนั้นคุณทำอะไรค้างไว้อยู่และไม่สามารถดูโทรศัพท์ได้ทันที จะทำให้คุณขาดสมาธิจากกิจกรรมที่คุณทำค้างไว้ทันที

- หยิบโทรศัพท์เป็นอย่างแรก ทันทีหลังตื่นนอน และก่อนนอนก็ต้องไถ่มือถือดูก่อนถึงจะนอนได้

- เล่นโทรศัพท์ระหว่างทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นตอนรับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำ ขับรถ นั่งรถเมล์ ขึ้นบีทีเอส รอคิวสั่งอาหาร

- กลัวโทรศัพท์ตัวเองหายมาก ถึงมากที่สุด แม้ว่าจะเก็บไว้ในที่ปลอดภัยแล้วก็ตาม

- ไม่เคยปิดมือถือเลย

- พูดคุยกับเพื่อนออนไลน์มากกว่าคุยกับเพื่อนที่อยู่ตรงหน้าเวลานัดเจอกัน

- ตั้งใจลองงดเล่นมือถือ 1 ชั่วโมง แต่ทำไม่ได้ 

ทีนี้มาดูกันว่าโรคโนโมโฟเบียที่เป็นโรคทางจิต จะสามารถทำให้เกิดโรคทางกายอะไรได้บ้าง

           นิ้วล็อก

           อาการปวดชาตามนิ้ว และข้อมือ เส้นเอ็นข้อมืออักเสบ ซึ่งเกิดจากการเล่นมือถือ ที่ใช้มือกด จิ้ม สไลด์ และถือสมาร์ตโฟนต่อเนื่องเป็นเวลานาน ถ้าเริ่มรู้สึกว่านิ้วมือเริ่มแข็ง ลองกำมือแล้วเหยียดขึ้นไม่ค่อยได้ แนะนำให้ไปพบแพทย์โดยด่วน 

           เสี่ยงวุ้นในตาเสื่อม

           การเพ่งจอเล็ก ๆ เป็นต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ หรือการเล่นโทรศัพท์ในที่มืด จะทำให้สายตาล้าได้ ซึ่งอาการเริ่มแรกอาจมีอาการตาแห้ง ถ้าปล่อยไว้นาน ๆ โดยไม่ยอมปรับพฤติกรรมอาจจะทำให้เกิดโรคจอประสาทตาและวุ้นในตาเสื่อมได้ ซึ่งอาจนำไปสู่อาการตาบอดได้เลย 

           ปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่
           ท่าเวลาเล่นมือถือจะทำให้เราก้มหน้า ค่อมตัวลงโดยไม่ตั้งใจ เพราะมัวแต่จดจ่ออยู่ที่หน้าจอ เป็นสาเหตุให้คอ บ่า ไหล่ เกิดอาการเกร็งอย่างต่อเนื่อง เลือดไหลเวียนไม่สะดวก และหากเล่นนาน ๆ ก็อาจจะมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย ควรเปลี่ยนพฤติกรรม หมั่นเปลี่ยนท่านั่ง หรือวางมือถือลงบ้าง แล้วหันมายืดเส้นยืดสายก่อนที่อาการจะลุกลามไปมากกว่านี้ 

           หมอนรองกระดูกเสื่อมก่อนวัยอันควร
           เนื่องจากการนั่งผิดท่า และนั่งเกร็งเป็นเวลานาน เวลาที่นั่งเล่นมือถือ ซึ่งอาการหมอนรองกระดูกเสื่อมเป็นอาการที่ต่อเนื่องมาจากการปวดเมื่อย คอ บ่า ไหล่ หากปล่อยไว้จนมาถึงขั้นนี้แล้ว อาจจะต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเลยทีเดียว 

           โรคอ้วน
           โรคนี้ถึงจะไม่ได้เป็นผลกระทบโดยตรงจากการติดเล่นมือถือ แต่ก็เป็นโรคทางอ้อมที่หลาย ๆ อาจคาดไม่ถึง เพราะการเอาแต่เล่นโทรศัพท์โดยที่ไม่ลุกไปทำกิจกรรมอย่างอื่นเลย ทำให้เราขยับร่างกายน้อยลงมาก และยิ่งถ้ากินเยอะขึ้นแต่ขยับร่างการน้อยลง ทำให้การเผาผลาญพลังงานก็น้อยลง ก็อาจทำให้เกิดการสะสมของไขมันจะกลายเป็นโรคอ้วนได้ง่าย ๆ 

           แม้ว่าอาการโนโมโฟเบีย (Nomophobia) จะจัดเป็นโรคจิตเวชแบบอ่อน ๆ ที่ไม่ได้รุนแรงจนต้องไปพบแพทย์เพื่อการรักษา แต่ก็เป็นสาเหตุของโรคทางการที่อันตรายหลายโรคเลยทีเดียว ถ้าสำรวจตัวเองแล้วว่า เราก็เข้าข่ายมีอาการโนโมโฟเบีย (Nomophobia) แล้วล่ะก็ ทางที่ดีแนะนำให้เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ลองหากิจกรรมให้ตัวเองทำที่ไม่ใช่การเล่นมือถือ หรือดูหนังผ่านมือถือดู อาจจะลองเปลี่ยนเป็นการไปวิ่งออกกำลังการในสวน หรือหากิจกรรมทำกับเพื่อนที่ต้องอาศัยการพูดคุย และร่วมทำกิจกรรมกันต่อหน้า เพื่อลดอาการ “ติดมือถือ” ที่เป็นอยู่ให้เบาบางลงบ้าง

                                 

                                                     ขอขอบคุณข้อมูลจาก :  https://th.jobsdb.com/