วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2564

วิธีปฏิบัติตัวเบื้องต้นเพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

 


วัคซีนสำหรับโรคโควิด-19 เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดปัญหาการแพร่ระบาดของโรค ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบบมีอาการรุนแรงหรือโอกาสเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ปัจจุบันในประเทศไทย (ข้อมูล ณ วันที่ 26 เมษายน 2564) มีวัคซีนที่ได้รับการจัดสรรเพื่อการฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรังต่างๆ ผู้ที่มีภาวะอ้วน และบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในด่านหน้า จำนวน 2 ชนิดด้วยกัน คือ วัคซีนโคโรนาแวค หรือ ซิโนแวค (CoronaVac หรือ Sinovac COVID-19 vaccine) และวัคซีนป้องกันโควิด-19 แอสตร้าเซเนกา (COVID-19 Vaccine AstraZeneca) สำหรับวัคซีนชนิดอื่นๆ ที่มีทั่วโลกนั้นอยู่ในระหว่างกระบวนการจัดหาโดยกระทรวงสาธารณสุขเพื่อการเข้าถึงวัคซีนที่เหมาะสมสำหรับการทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย

ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีอะไรบ้าง
ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยทั่วไปมักไม่รุนแรงและหายเองได้ภายใน 2-3 วัน อาการส่วนใหญ่ที่พบภายหลังการฉีดได้แก่

ปวดบริเวณที่ฉีด

มีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย

คลื่นไส้ อาเจียน (น้อยกว่า 5 ครั้ง)

            ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 25 เมษายน 2564 พบรายงานอาการข้างเคียงข้างต้นหรืออาการอื่นๆ ที่มีความรุนแรงที่ได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญของกรมควบคุมโรคทั้งหมด 13 ราย จากการฉีดทั้งหมด 1.15 ล้านโดส และไม่พบการเสียชีวิตที่มีสาเหตุมาจากวัคซีนที่ได้รับการรายงานอย่างไรก็ตามในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมามีรายงานการเกิดผลข้างเคียงทางระบบประสาท เช่น แขน-ขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว คล้ายอัมพฤกษ์-อัมพาต หลังจากการฉีดวัคซีน และทำให้เกิดความกังวลใจสำหรับผู้ที่วางแผนหรือกำลังจะได้รับวัคซีนตามที่ลงทะเบียนไว้ ผลข้างเคียงทางระบบประสาทนี้อาจเกิดได้จาก 2 สาเหตุหลักได้แก่

1.การเกิดหลอดเลือดในสมองอุดตันจากภูมิคุ้มกันภายหลังได้รับวัคซีน มักเกิดขึ้นหลังจากได้รับวัคซีนไปแล้ว 4-30 วัน และมักพบในผู้หญิงอายุน้อยกว่า 55 ปี นอกจากนี้ยังอาจพบการอุดตันของหลอดเลือดที่ปอด ทางเดินอาหาร หรือขาได้เช่นกัน โดยปัญหานี้มีข้อมูลการรายงานว่าอาจจะสัมพันธ์กับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนกา, และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson)6 อย่างไรก็ตาม อุบัติการการเกิดผลข้างเคียงนี้อยู่ในช่วง 1-8 คนจากทั้งหมด 1 ล้านคนที่ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งถือว่าต่ำกว่าอัตราการเกิดหลอดเลือดอุดตันโดยทั่วไป

2.การตอบสนองจากความเครียดที่เกิดจากการฉีดวัคซีน หรือ Immunization Stress Related Response (ISRR อ่านว่า ไอ-เอส-อาร์-อาร์) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการหรืออาการแสดงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาของการฉีดวัคซีนใดๆ (ไม่จำเพาะกับวัคซีนป้องกันโควิด-19) และยังไม่ทราบกลไกที่แน่ชัด แต่อาจเป็นผลมาจากความเครียดหรือความวิตกกังวล เช่น ความเครียดจากการถูกฉีดวัคซีน (หรือบางรายอาจจะกลัวเข็มฉีดยา) ความวิตกกังวลต่อผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดลิ่มเลือดอุดตันแต่อย่างใด อาการของ ISRR ที่พบมีตั้งแต่ ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม ไปจนถึงอาการทางระบบประสาท เช่น ปวด เสียว ชา หรือแปล๊บๆ ตามแขนขา ชารอบปาก พูดไม่ชัด การเคลื่อนไหวผิดปกติชั่วคราว อ่อนเพลีย มึนศีรษะ ตามัว ซึ่งในประเทศไทยพบรายงานอาการในลักษณะนี้ภายหลังการฉีดวัคซีน Sinovac เป็นหลัก แต่ไม่ได้พบในคนทุกรายที่ได้รับการฉีดวัคซีน โดยอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นภายใน 30 นาทีหลังจากการได้รับวัคซีน และเกิดเพียงชั่วคราว ส่วนใหญ่สามารถหายเองได้ใน 3 วัน

            อาการผิดปกติทางระบบประสาททั้งสองสาเหตุแม้จะมีอาการแสดงออกที่คล้ายคลึงกัน และการเกิดอาจจำเพาะกับชนิดวัคซีนที่ได้รับ แต่มีความแตกต่างด้านระยะเวลาในการเกิดปัญหา และการจัดการปัญหา ดังนั้นผู้ที่เข้ารับวัคซีนควรปฏิบัติตามคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาลรับการฉีดวัคซีนอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมและทันท่วงที
ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงหรือผลกระทบจากผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เมื่อตัดสินใจเข้ารับการฉีดวัคซีนและได้รับนัดหมายเรียบร้อยแล้ว ผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนอาจปฏิบัติตัวในเบื้องต้นดังนี้

ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน
- พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อลดความเครียดของร่างกายและจิตใจก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน
- ดื่มน้ำอย่างเพียงพอเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ

วันที่เข้ารับการฉีดวัคซีน
- สวมใส่เสื้อผ้าที่สบาย ระบายอากาศได้ดี ไม่คับแน่นจนเกินไปจนทำให้ร้อน หรือยากต่อการฉีดวัคซีน
- แจ้งบุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับประวัติโรคประจำตัว ประวัติแพ้ยา อาหาร หรือสารเคมีต่างๆ และหากมีบัตรแพ้ยา ควรพกติดตัวไปด้วย
- เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนควรพักรอที่สถานพยาบาลอย่างน้อย 30 นาที เพื่อการติดตามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน แพ้วัคซีน และรับการประเมินจากแพทย์อย่างเหมาะสมได้ทันท่วงที
- หากมีอาการอ่อนเพลียหรือง่วงหลังจากฉีดวัคซีน ควรหลีกเลี่ยงการขับรถทางไกลหรือใช้เครื่องจักรที่ต้องใช้สมาธิสูง

หลังจากการฉีดวัคซีน
- ในช่วง 30 วันหลังฉีดวัคซีน (ทั้งเข็มที่ 1 และ 2) ควรสำรวจตนเองว่ามีอาการของหลอดเลือดอุดตัน (โดยเฉพาะผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนกา) เช่น ปวดศีรษะรุนแรง แขนขาชา/อ่อนแรง หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ชัก ตามัว เห็นภาพซ้อน เหนื่อยง่าย หายใจลำบากหรือติดขัด เจ็บแน่นหน้าอก ปวดท้องหรือปวดหลังรุนแรง ขาบวมแดง หรือ ซีดเย็น หากมีอาการดังกล่าวให้รีบมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อรับการประเมินและจัดการที่เหมาะสม
- หากผลข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีน เช่น ปวด ไข้ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการชา นั้นแย่ลงหรือไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้นภายใน 72 ชั่วโมง ควรมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
- หากมีอาการปวดบริเวณที่ฉีด อาจรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการได้

สรุป
            วัคซีนป้องกันโควิด-19 ช่วยลดโอกาสในการมีอาการติดเชื้อรุนแรงหรือเสียชีวิตจากการติดเชื้อ และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อลดการระบาดของโรค อีกทั้งผลข้างเคียงโดยทั่วไปมักไม่รุนแรงและหายได้เอง กรณีของผลข้างเคียงที่รุนแรงนั้นพบได้น้อยและบางส่วนสามารถติดตามอาการและจัดการได้หากบุคลากรทางการแพทย์ได้รับข้อมูลอย่างทันท่วงที ตลอดจนเมื่อผู้รับการฉีดวัคซีนทราบวิธีปฏิบัติตัวที่เหมาะสม ดังนั้น ในภาพรวมจึงอาจพิจารณาว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีประโยชน์มากกว่าผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหรือโอกาสเกิดความเจ็บป่วยที่รุนแรงหรือเสียชีวิตหากมีอาการติดเชื้อ ทั้งนี้การตัดสินใจเข้ารับการฉีดวัคซีนหรือไม่ก็อาจขึ้นกับวิจารณญาณของแต่ละบุคคลต่อข้อมูลที่ได้รับและบริบทของตนเอง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.healthydee.moph.go.th/