วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2564

รู้ทัน ป้องกันหนูน้อยห่างไกล COVID-19

          จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโรค COVID-19 ซึ่งนำความกังวลใจให้กับผู้คนทั่วโลก และแม้ว่ารายงานผู้ป่วยโรค COVID-19 ส่วนใหญ่จะพบในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ แต่มีรายงานการติดเชื้อในเด็กรวมทั้งทารกแรกเกิด ผู้ปกครองหลายท่านคงจะมีความกังวลใจเกี่ยวกับสุขภาพของลูกน้อย บทความนี้ขอแนะนำถึงวิธีการดูแลสุขภาพของลูกน้อยให้ปลอดภัยจากการติดโรค COVID-19

รู้จักเชื้อไวรัสที่ก่อโรค COVID-19
          
เชื้อไวรัสที่ก่อโรค COVID-19 คือ เชื้อไวรัสโคโรนาชนิดหนึ่ง ซึ่งไวรัสโคโรนานี้ค้นพบและเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดไข้หวัดในเด็ก ๆ มานานแล้ว แต่ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานี้ เริ่มมีการรายงานของการติดเชื้อไวรัสโคโรนาอุบัติใหม่ ซึ่งเป็นการติดต่อจากสัตว์สู่คน สำหรับเชื้อไวรัสโคโรนาที่รายงานติดต่อจากสัตว์สู่คนตัวแรก คือ เชื้อไวรัสโคโรนาที่ทำให้เกิดโรคซาร์ส  ซึ่งเป็นการติดมาจากตัวชะมดมาสู่คนและมีการระบาดในประเทศจีน ต่อมาเกิดการอุบัติของเชื้อไวรัสโคโรนาตัวที่สองที่ทำให้เกิดโรคเมอร์ส ซึ่งพบจุดกำเนิดที่ประเทศแถบตะวันออกกลางซึ่งมีอูฐเป็นพาหะ
          และเมื่อเดือนธันวาคม 2562 มีการระบาดของโรคปอดอักเสบเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งค้นพบว่าเกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโรค COVID-19 สาเหตุที่ชัดเจนว่าเชื้อไวรัสชนิดนี้ติดต่อมาจากสัตว์ชนิดใดอาจไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่จากการตรวจทางพันธุกรรมพบว่า เชื้อนี้มีความใกล้เคียงกับไวรัสโคโรนาในค้างคาวที่สุด ซึ่งต่อมาพบว่ามีการแพร่เชื้อจากคนไปสู่คน

แผลงฤทธิ์แพร่เชื้ออย่างไร
          
โรค COVID-19 แพร่เชื้อจากคนไปสู่คนผ่านทางละอองฝอยจากการไอและจามเป็นหลัก พบว่าเชื้อสามารถคงทนอยู่ในสิ่งแวดล้อมและวัตถุต่าง ๆ เช่น อยู่บนพลาสติกและเสตนเลสได้ถึง 3 วัน เป็นต้น รวมทั้งมีการตรวจพบเชื้อในอุจจาระของผู้ที่มีการติดเชื้อได้เป็นเวลาหลายวัน หากเราไปสัมผัสกับวัตถุหรือสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่มีเชื้อไวรัสชนิดนี้ และเอามาป้ายตาจมูกปากก็อาจทำให้ติดเชื้อได้เช่นกัน โรค COVID-19 มีระยะฟักตัว 1 - 14 วัน โดยที่ร้อยละ 99 ของผู้ป่วยจะแสดงอาการใน 14 วันหลังจากสัมผัสโรค อย่างไรก็ตามมีรายงานผู้ป่วยส่วนน้อยอาจมีระยะฟักตัวถึงเกือบ 1 เดือน และผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 บางส่วนอาจจะไม่มีอาการ ซึ่งพบมีรายงานเด็กที่สัมผัสเชื้อและติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการถึงร้อยละ 4-15 แต่สามารถแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้
          อาการแสดงของการติดเชื้อ COVID-19 มีความหลากหลายตั้งแต่เป็นไข้หวัดเล็กน้อย หรือมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ มีไข้สูง เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และในจำนวนนี้มีรายงานถึงร้อยละ 10 ที่มีอาการของระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และหากผู้ที่ติดเชื้อมีอาการมากขึ้นก็อาจมีอาการแสดงของปอดอักเสบ ปอดอักเสบอย่างรุนแรง บางรายอาจมีอาการเหมือนติดเชื้อในกระแสเลือด ช็อก หรือการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายล้มเหลว บางรายอาจถึงแก่ชีวิตได้ รายงานอัตราการเสียชีวิตโดยภาพรวมประมาณร้อยละ 2 แต่อาจจะสูงขึ้นในผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น

สำหรับเด็ก ๆ COVID-19 อันตรายอย่างไร
          
สำหรับเด็ก ๆ ส่วนใหญ่แล้วเมื่อมีการติดโรค COVID-19 จะมีอาการน้อยกว่าผู้ใหญ่มาก และกว่าร้อยละ 90 จะมีประวัติสัมผัสกับบุคคลในครอบครัวที่มีการติดเชื้อ เด็ก ๆ อาจจะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ และส่วนใหญ่ก็จะมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดทั่วไป ซึ่งมักจะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ มีรายงานผู้ป่วยที่เป็นโรค COVID-19 ที่มีอาการหนักและวิกฤตร้อยละ 6 ในขณะที่ผู้ใหญ่ที่มีอาการหนักและวิกฤตพบมากภึงร้อยละ 19 โดยกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะมีอาการรุนแรงในเด็ก ได้แก่ ทารกและเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี

เมื่อไรจะสงสัยว่าเด็ก ๆ เข้าข่ายติดเชื้อไวรัส COVID-19
          
โดยทั่วไป หากแพทย์จะสงสัยว่าเด็ก ๆ เข้าข่ายติดเชื้อไวรัส COVID-19 หากตรวจพบว่าเด็ก ๆ มีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 37.5

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.healthydee.moph.go.th/