วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ทำไม Ransomware ระบาดหนัก เชื่อใจแฮกเกอร์ได้ไหม ถ้ายอมจ่ายค่าไถ่ขอคืนข้อมูล

 


    เรื่องของ Ransomware ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ หากแต่เป็นของเก่าที่ถูกพัฒนามาตั้งแต่ ค.ศ. 1980s ก่อนที่จะพัฒนาความสลับซับซ้อนให้เข้าใจได้ยากขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 2010 เป็นต้นมา
ตัวเลขของ SonicWall เปิดเผยว่า ระหว่างปี 2019 ถึงปี 2020 การโจมตีด้วย Ransomware เพิ่มขึ้นราว 62 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก และแค่ในทวีปอเมริกาเหนือแห่งเดียว การโจมตีเพิ่มขึ้น 152 เปอร์เซ็นต์ และในปีหลังจากนี้ก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้อีก รวมถึงยังมีตัวเลขของ Internet Crime report ระบุอีกด้วยว่าในปี 2020 ที่ผ่านมา เอฟบีไอ (FBI) ได้รับการร้องเรียนจากการถูกโจมตีด้วย Ransomware เกือบ 2,500 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ราว 20 เปอร์เซ็นต์
เช่นนั้นแล้ว การเติบโตของ Ransomware ซึ่งเป็นการเติบโตในแง่ที่ไม่ดีนัก จึงเป็นเรื่องที่ผู้บริหาร ระดับผู้นำองค์กร หรือมีอำนาจการตัดสินใจในนโยบายต่างๆ จะต้องคิดให้หนักขึ้นเกี่ยวกับประเด็นทางโลกไซเบอร์ ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการเสริมแกร่งความมั่นคงภายในองค์กร ความพยายามลดความเสี่ยงในการถูกโจมตี หรืออาจถึงขั้นต้องตระเตรียมเงินเพื่อนำไปจ่ายเป็นค่าไถ่ให้กับแฮกเกอร์ด้วยซ้ำไป
ในช่วงที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้คุยกับแหล่งข่าว ซึ่งทำงานให้กับบริษัทที่เป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล รวมไปถึงคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ถึงประเด็นการเติบโตของ Ransomware ซึ่งมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
สิ่งที่น่าสนใจจากการพูดคุย พบว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดการโจมตีด้วย Ransomware บ่อยในช่วง 1-2 ปีหลัง มีด้วยกันสองสาเหตุหลักๆ
สาเหตุแรกเป็นเรื่องของเงิน เพราะการเรียกค่าไถ่แต่ละครั้ง มีโอกาสที่จะทำให้แฮกเกอร์ มีเงินเข้ากระเป๋าอย่างน้อยๆ 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ แต่ถ้าเป็นการโจมตีบริษัทใหญ่ระดับโลก ถ้าเกิดบริษัทดังกล่าว ยอมจ่ายเงินค่าไถ่ เผลอๆ ก็อาจทำให้แฮกเกอร์คนนั้น รวยจนแทบไม่ต้องทำงานอีกแล้วตลอดชีวิต
อีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งมองข้ามไม่ได้เช่นกัน นั่นคือ การเรียกค่าไถ่ของแฮกเกอร์ ถูกมองเป็นเรื่องของ “ความท้าทาย” โดยเฉพาะในกรณีที่หากสามารถแฮกข้อมูลของบริษัทใหญ่ๆ ที่น่าจะมีความเข้มแข็งด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ได้สำเร็จ สิ่งที่จะตามมาหลังจากนั้นคือชื่อเสียงของแฮกเกอร์ และกลายเป็นผลงานที่จะถูกพูดถึงไปตลอดชีวิต

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.thairath.co.th