วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 24 พฤษภาคม 2565

  วันนี้ (24 พฤษภาคม 2565)  เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

 

กฎหมาย

                    1.       เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน)   (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                    2.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงกำหนดด่านศุลกากรและด่านพรมแดน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....   (สำนักงานศุลกากรท่าอากาศยานดอนเมืองและด่านศุลกากรหนองคาย)
                    3.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ใน                                           โอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 พ.ศ. ....
                    4.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงออกตามความในมาตรา 63/11 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 (ร่างกฎกระทรรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเอกชน การกำหนดค่าตอบแทน และวิธีการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่เอกชนที่สืบหาทรัพย์สิน พ.ศ. ....)
                    5.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การลดเงินเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                    6.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรทั้งหมดหรือแต่บางส่วน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. ….
                    7.       เรื่อง     การปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตและการทบทวนกฎหมายตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ          พ.ศ. 2558
                    8.       เรื่อง     ข้อเสนอหลักการกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

เศรษฐกิจ – สังคม

                    9.       เรื่อง     ขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาล แห่งราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา)
                    10.      เรื่อง     โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8 – 9 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
                    11.      เรื่อง     รายงานประจำปี 2564 ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
                    12.      เรื่อง     รายงานประจำปี 2564 ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
                    13.      เรื่อง     รายงานสถานการณ์เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ประจำปี 2563-2564
                    14.      เรื่อง     รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนมีนาคม และไตรมาสแรกของปี 2565
                    15.      เรื่อง     รายงานความก้าวหน้าของมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทยปี พ.ศ. 2561-2570
                    16.      เรื่อง     การดำเนินโครงการ “ที่พักอาศัยผู้สูงอายุ รามา-ธนารักษ์” บนที่ดินราชพัสดุ จังหวัดสมุทรปราการ โดยบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด
                    17.      เรื่อง     ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุม ครั้งที่ 9/2565
                    18.      เรื่อง     สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 2/2565
                    19.      เรื่อง     การขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร

ต่างประเทศ

                    20.      เรื่อง     ขอความเห็นชอบชะลอการบริจาคเงินอุดหนุนให้แก่กองทุนแผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือด้านยาเสพติดระหว่างอาเซียนกับจีน (ASEAN and China Cooperative Operations in Response to Dangerous Drugs: ACCORD) ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป
                    21.      เรื่อง     การแก้ไขภาคผนวก 2 (กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า) เรื่อง การปรับโอนพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ จากฉบับปี 2002 เป็นฉบับปี 2017 ของกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้าภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP)
                    22.      เรื่อง     การอนุมัติชำระเงินค่าบำรุงประจำปีแก่ศูนย์ประสานงานความร่วมมืออนุภูมิภาคแผนงาน IMT-GT (CIMT) ประจำปี 2566 – 2570

แต่งตั้ง

                    23.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงมหาดไทย)
                    24.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงศึกษาธิการ)
                    25.      เรื่อง     แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารกองทุนจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่
                    26.      เรื่อง     การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2550
                    27.      เรื่อง     แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ
                    28.      เรื่อง     การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการบริหารการ
                                        พัฒนาพิงคนคร
 ​

กฎหมาย

1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้
                   สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา 
                   แก้ไขบทบัญญัติในการยุบเลิกสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (บจธ.) โดยให้ขยายระยะเวลาดำเนินการออกไปอีก 3 ปี จากเดิม “ให้ยุบเลิกเมื่อพ้นวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2565” เป็น “ให้ยุบเลิกเมื่อพ้นวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2568” โดยกำหนดให้พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป [เดิม “ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป” (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565)]
                   ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) มีความต่อเนื่องในการดำเนินภารกิจเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างทั่วถึงและได้รับการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนตามอำนาจหน้าที่ได้ต่อไปในระหว่างที่ดำเนินการจัดตั้งธนาคารที่ดินหรือองค์การอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในลักษณะทำนองเดียวกับธนาคารที่ดิน
 
2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดด่านศุลกากรและด่านพรมแดน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (สำนักงานศุลกากรท่าอากาศยานดอนเมืองและด่านศุลกากรหนองคาย)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดด่านศุลกากรและด่านพรมแดน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (สำนักงานศุลกากรท่าอากาศยานดอนเมืองและด่านศุลกากรหนองคาย) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                   ทั้งนี้ กค. เสนอว่า
                   1. กฎกระทรวงกำหนดด่านศุลกากรและด่านพรมแดน พ.ศ. 2560 ซึ่งอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจออกกฎกระทรวงในเรื่องดังต่อไปนี้ (1) กำหนดท่า ที่ หรือสนามบินใด ๆ ในราชอาณาจักรให้เป็นด่านศุลกากร โดยจะกำหนดเงื่อนไขในการดำเนินการทางศุลกากรตามที่เห็นสมควรไว้ด้วยก็ได้ รวมทั้งระบุเขตศุลกากรของด่านศุลกากรนั้น และ (2) กำหนดที่ใด ๆ ให้เป็นด่านพรมแดน โดยจะกำหนดเงื่อนไขในการดำเนินการทางศุลกากรตามที่เห็นสมควรไว้ด้วยก็ได้ โดยในลำดับที่ 2 แห่งกฎกระทรวงดังกล่าว กำหนดให้สนามบินดอนเมืองเป็นด่านศุลกากรซึ่งอยู่ภายใต้หน้าที่และอำนาจของสำนักงานศุลกากรกรุงเทพ และในลำดับที่ 34 กำหนดให้ “ที่หนองคาย” เป็นด่านศุลกากรภายใต้หน้าที่และอำนาจของด่านศุลกากรหนองคาย
                   2. ต่อมา ได้มีกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง พ.ศ. 2562 ข้อ 25 กำหนดหน้าที่และอำนาจของสำนักงานศุลกากรท่าอากาศยานดอนเมือง และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดและแบ่งส่วนราชการตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง พ.ศ. 2562 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 ข้อ 4 กำหนดให้สำนักงานศุลกากร ท่าอากาศยานดอนเมือง ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ให้มีเขตพื้นที่รับผิดชอบในเขตพื้นที่ท่าอากาศดอนเมือง โดยที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดด่านศุลกากรและด่านพรมแดนฯ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมศุลกากรฯ
                   3. ประกอบกับเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งจะส่งผลให้การขนส่งสินค้าและการเดินทางของผู้โดยสารมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น และคณะกรรมการพัฒนาระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าของประเทศ (กบส.) ได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ให้กรมศุลกากรจัดเตรียมความพร้อมในด้านกระบวนการและพิธีการศุลกากร
                   4. กค. โดยกรมศุลกากรพิจารณาแล้วจึงเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดด่านศุลกากรและด่านพรมแดน พ.ศ. 2560 ดังนี้
                             4.1 ลำดับที่ 2 จังหวัดกรุงเทพมหานคร แก้ไขให้ “สนามบินดอนเมือง” เป็นด่านศุลกากรซึ่งอยู่ภายใต้หน้าที่และอำนาจของสำนักงานศุลกากร ท่าอากาศยานดอนเมือง จากเดิมที่เป็นด่านศุลกากรซึ่งอยู่ภายใต้หน้าที่และอำนาจของสำนักงานศุลกากรกรุงเทพ เพื่อให้สอดคล้องตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ กรมศุลกากรฯ และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดและแบ่งส่วนราชการตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมศุลกากรฯ และเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติพิธีการศุลกากรและการตรวจของที่ขนส่งเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
                             4.2 ลำดับที่ 34 จังหวัดหนองคาย โดยกำหนดเพิ่มเติมให้ “บริเวณด่านศุลกากรหนองคาย” และ “บริเวณสถานีรถไฟหนองคาย” เป็นเขตศุลกากรของ “ที่หนองคาย” ซึ่งเป็นด่านศุลกากรภายใต้หน้าที่และอำนาจของด่านศุลกากรหนองคาย เพื่อให้สามารถปฏิบัติพิธีการศุลกากรและตรวจของที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรได้ตามกฎหมายศุลกากร ณ บริเวณสถานีรถไฟหนองคาย และเพื่อรองรับการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   1. ลำดับที่ 2 กำหนดให้สนามบินดอนเมืองเป็นด่านศุลกากรซึ่งอยู่ภายใต้หน้าที่และอำนาจของสำนักงานศุลกากรท่าอากาศยานดอนเมือง
                   2. ลำดับที่ 34 กำหนดให้บริเวณด่านศุลกากรหนองคายและบริเวณสถานีรถไฟหนองคายเป็นเขตศุลกากรของ “ที่หนองคาย” ซึ่งอยู่ภายใต้หน้าที่และอำนาจของด่านศุลกากรหนองคาย
 
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   ทั้งนี้ กค. เสนอว่า เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงจะทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม 2565และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขของราษฎรและความอุดมสมบูรณ์แก่แผ่นดินตลอดมา ตลอดจนการส่งเสริมศิลปาชีพในงานหัตถศิลป์หลากหลายแขนง ก่อให้เกิดการทำนุบำรุง สืบทอดงานศิลปะอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง จนทำให้ศิลปะไทยกลายเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของประเทศไทยซึ่งสร้างชื่อเสียงไปยังนานาประเทศทั่วโลก และเป็นการยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย
                   กรมธนารักษ์ กค. จึงเห็นสมควรจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสดังกล่าว ทั้งนี้ กค. ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกในโอกาสดังกล่าวและได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกตามแบบที่ทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว สำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดทำหรียญกษาปณ์ที่ระลึกดังกล่าวมาจากเงินทุนหมุนเวียนการบริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ทรัพย์สินมีค่าของรัฐและการทำของ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
                   สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณา ร่างกฎกระทรวงฯ เป็นการล่วงหน้าด้วยแล้ว
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   กำหนดชนิด ราคา โลหะ อัตราเนื้อโลหะ น้ำหนัก ขนาด อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดลวดลาย และลักษณะอื่น ๆ ของเหรียญกษาปณ์ทองคำ ชนิดราคาสองหมื่นบาท เหรียญกษาปณ์เงินชนิดราคาหนึ่งพันบาท และเหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคายี่สิบบาท สองชนิด เพื่อเป็นที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา
 
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงออกตามความในมาตรา 63/11 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562  (ร่างกฎกระทรรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเอกชน การกำหนดค่าตอบแทน และวิธีการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่เอกชนที่สืบหาทรัพย์สิน พ.ศ. ....)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเอกชน การกำหนดค่าตอบแทน และวิธีการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่เอกชนที่สืบหาทรัพย์สิน พ.ศ. …. ที่ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
                   ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ เป็นการกำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชน การกำหนดและวิธีการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่เอกชนที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการสืบหาทรัพย์สินของผู้อยู่ในบังคับของมาตรการบังคับทางปกครอง กรณีที่หน่วยงานของรัฐออกคำสั่งให้ชำระเงินและ กรณีดังกล่าวไม่มีเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการสืบหาทรัพย์สิน และจำนวนเงินที่ต้องชำระตามมาตรการบังคับทางปกครองนั้นมีมูลค่าตั้งแต่สองล้านบาทขึ้นไป โดยเอกชนผู้ได้รับมอบหมายให้สืบหาทรัพย์สินแทนหน่วยงานของรัฐต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้และต้องเป็นผู้ไม่มีส่วนได้เสียกับผู้อยู่ในบังคับของมาตรการบังคับทางปกครอง รวมทั้งกำหนดให้เอกชนผู้ได้รับมอบหมายที่สืบพบทรัพย์สินแล้วและได้รายงานต่อเจ้าพนักงานบังคับทางปกครองมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนสำหรับการสืบหาทรัพย์สินนั้น ซึ่งเป็นการออกกฎกระทรวงตามความในมาตรา 63/11 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 เพื่อให้มีรายละเอียดวิธีปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ อันทำให้การบังคับตามคำสั่งทางปกครองมีความรวดเร็วและเป็นประโยชน์ต่อทางราชการ ซึ่งคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเห็นชอบด้วยแล้ว
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเอกชน การกำหนดค่ตอบแทน และวิธีการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่เอกชนที่สืบหาทรัพย์สิน ดังนี้
                   1. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการประกาศคัดเลือกเอกชนเพื่อมอบหมายให้ดำเนินการสืบหาทรัพย์สินของผู้อยู่ในบังคับของมาตรการบังคับทางปกครองแทนหน่วยงานของรัฐ โดยกำหนดให้ในการบังคับ ตามคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงิน กรณีที่หน่วยงานของรัฐที่ออกคำสั่งให้ชำระเงินไม่มีเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการสืบหาทรัพย์สิน และจำนวนเงินที่ต้องชำระตามมาตรการบังคับทางปกครองมีมูลค่าตั้งแต่สองล้านบาทขึ้นไป หน่วยงานของรัฐนั้นอาจประกาศคัดเลือกเอกชนเพื่อมอบหมายให้ดำเนินการสืบหาทรัพย์สินของผู้อยู่ในบังคับของมาตรการบังคับทางปกครองแทนได้ โดยประกาศในเว็บไชต์ของหน่วยงานของรัฐดังกล่าวหรือในเว็บไซต์อื่นหรือใน  สื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นที่แพร่หลายหรือเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป
                   2. กำหนดให้เอกชนที่ประสงค์จะเข้ารับการคัดเลือกยื่นคำร้องพร้อมทั้งเอกสารต่อหน่วยงานของรัฐที่ออกคำสั่งให้ชำระเงิน
                   3. กำหนดลักษณะของเอกชนที่อาจได้รับมอบหมายให้สืบหาทรัพย์สิน
                             3.1 บุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย เช่น ไม่เป็นข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานประเภทอื่นในหน่วยงานของรัฐที่ออกประกาศคัดเลือก
                             3.2 นิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการเกี่ยวกับการดำเนินคดี การสืบทรัพย์ การบังคับคดี การยึด หรืออายัดทรัพย์สิน เป็นต้น
                   4. กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาคำร้องและการจัดทำบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกของหน่วยงานของรัฐ โดยให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐพิจารณาคำร้องและจัดทำบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกซึ่งมีลักษณะตามข้อ 3 ที่เห็นว่ามีความเหมาะสมในการสืบหาทรัพย์สินให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วันนับแต่วันครบกำหนดให้ยื่นคำร้อง และประกาศบัญชีดังกล่าวในเว็บไซต์ของหน่วยงาน
                   5. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีหนังสือแจ้งการมอบหมายไปยังเอกชนผู้ได้รับการคัดเลือก โดยให้ระบุจำนวนเงินที่ผู้อยู่ในบังคับของมาตรการบังคับทางปกครองค้างชำระรายละเอียดภูมิลำเนา ที่อยู่ และข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้อยู่ในบังคับของมาตรการบังคับทางปกครองที่สืบพบแล้ว ระยะเวลาในการสืบหาทรัพย์สิน  ซึ่งต้องไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่คำสั่งให้ชำระเงินเป็นที่สุด รวมทั้งเงื่อนไขอื่นที่เอกชนผู้ได้รับมอบหมายต้องปฏิบัติ
                   6. กำหนดให้เอกชนผู้ได้รับมอบหมายต้องรายงานผลการสืบหาทรัพย์สินต่อเจ้าพนักงานบังคับทางปกครองเพื่อดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินต่อไป ทั้งนี้ ในการรายงาน ให้แนบแผนที่ที่ตั้งของทรัพย์สิน ภาพถ่ายทรัพย์สินที่จะนำยึด สำเนาโฉนดที่ดินหรือเอกสารแสดงสิทธิในที่ดิน และเอกสารอื่นใดที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่จะยึดหรืออายัดด้วย
                   7. กำหนดเหตุที่หัวหน้าหน่วยงานของรัฐมีอำนาจสั่งเพิกถอนและสั่งถอนรายชื่อเอกชนผู้ได้รับการคัดเลือกออกจากบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือก เช่น เอกชนไม่มีลักษณะตามข้อ 3เอกชนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือจงใจกระทำการเป็นเหตุให้เสียหายแก่หน่วยงานของรัฐ
                   8. กำหนดเหตุที่หัวหน้าหน่วยงานของรัฐมีอำนาจยกเลิกการมอบหมายให้เอกชนสืบหาทรัพย์สิน ได้แก่ เอกชนตาย เลิกนิติบุคคล
                   9. กำหนดให้เอกชนผู้ได้รับมอบหมายที่สืบพบทรัพย์สินแล้วรายงานต่อเจ้าพนักงานบังคับทางปกครองมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนสำหรับการสืบหาทรัพย์สิน ดังนี้
                             9.1 กรณีทรัพย์สินที่สืบพบเป็นเงิน หรือเป็นสังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิต่าง ๆ ที่มีมูลค่า แต่ไม่ต้องขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น เนื่องจากมีการชำระเงินแทนราคาทรัพย์สินดังกล่าว ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราร้อยละสองครึ่งของจำนวนเงินที่คำนวณได้ แต่ไม่เกินหนึ่งล้านบาทต่อจำนวนเงินที่ต้องชำระตามคำสั่งทางปกครองในเรื่องนั้น
                             9.2 กรณีทรัพย์สินที่สืบพบเป็นสังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิต่าง ๆ ที่มีมูลค่า และมีการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราร้อยละสองของจำนวนเงินที่คำนวณได้ แต่ไม่เกินหนึ่งล้านบาทต่อจำนวนเงินที่ต้องชำระตามคำสั่งทางปกครองในเรื่องนั้น
ทั้งนี้ให้จ่ายค่าตอบแทนในการสืบหาทรัพย์สินให้แก่เอกชนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่หน่วยงาน
ของรัฐได้รับเงิน
                   10. กำหนดให้ประกาศคัดเลือกเอกชน คำร้องขอเข้ารับการคัดเลือกและหนังสือแจ้งการมอบหมาย ให้เป็นไปตามแบบที่หน่วยงานของรัฐกำหนดตามคำแนะนำของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
 
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การลดเงินเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การลดเงินเพิ่ม (ฉบับที่ ..)  พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   ทั้งนี้ กค. เสนอว่า
                   1. โดยที่กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การลดเงินเพิ่ม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564 ได้สิ้นสุดการบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565 แต่ปรากฏข้อเท็จจริงในปัจจุบันว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังคงส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง กค. พิจารณาแล้วจึงเห็นควรขยายระยะเวลาการลดเงินเพิ่มเหลือร้อยละ 0.25 ต่อเดือน ของอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565 (ระยะเวลา 6 เดือน) เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้แก่ผู้ประกอบการ 
                   2. กค. ได้ดำเนินการจัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐโดยรวมประมาณ 927,917.26 บาท แต่อย่างไรก็ตาม จะเป็นการบรรเทาผลกระทบโดยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการ เสริมสร้างสภาพคล่องและความสามารถในการแข่งขันทางการค้า ตลอดจนเป็นแรงจูงใจให้กับผู้นำเข้าหรือผู้ส่งของออกในสภาวะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 
                   1. กำหนดให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกซึ่งชำระอากรไม่ครบถ้วนโดยไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียอากรและได้นำอากรที่ยังชำระไม่ครบถ้วนมาชำระต่อกรมศุลกากร ให้ได้รับการลดเงินเพิ่มเหลือร้อยละ 0.25 ต่อเดือนของอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม นับแต่วันที่นำของออกไปจากอารักขาของศุลกากรหรือส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรจนถึงวันที่ชำระ 
                   2. ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565
 
6.  เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรทั้งหมดหรือแต่บางส่วน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรทั้งหมดหรือแต่บางส่วน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   ทั้งนี้ กค. เสนอว่า 
                   1. กฎกระทรวงกำหนดให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรทั้งหมดหรือแต่บางส่วน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564 กำหนดให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 102 วรรคสองและมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 โดยใช้สำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อการผ่านแดน หรือการถ่ายลำหรือของที่ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 103 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565
                   2. แต่โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรณีดังกล่าวถือเป็นพฤติการณ์พิเศษ ซึ่งหากไม่ขยายระยะเวลาการใช้บังคับกฎกระทรวงตามข้อ 1. จะเป็นเหตุให้ของที่นำเข้ามาภายหลังวันที่ 31 มีนาคม 2565 และยังไม่สามารถปฏิบัติพิธีการผ่านแดนหรือถ่ายลำได้ทันภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรตกเป็นของแผ่นดินภายหลังพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร โดย กค. พิจารณาแล้วเห็นควรขยายระยะเวลาการใช้บังคับกฎกระทรวงกำหนดให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรทั้งหมดหรือแต่บางส่วน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564 ออกไปอีก 
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 
                   กำหนดให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรทั้งหมดหรือแต่บางส่วน โดยมีสาระสำคัญดังนี้ 
                   1. กำหนดให้กรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จนเป็นเหตุให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดน หรือการถ่ายลำไม่สามารถส่งของที่นำเข้ามาเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำออกไปนอกราชอาณาจักรได้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 102 วรรคสองและมาตรา 103 ทั้งนี้ สำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำหรือของที่ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 103 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565 
                   2. กำหนดให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำแสดงหลักฐานและเอกสารที่เกี่ยวข้องที่เป็นเหตุให้ไม่อาจปฏิบัติตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 102 วรรคสองและมาตรา 103 ต่ออธิบดี เพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาการดำเนินการดังกล่าวได้ตามความจำเป็นแก่กรณี
 
7. เรื่อง การปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตและการทบทวนกฎหมายตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558
                คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแนวทางการปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตและการทบทวนกฏหมายตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558  เพื่อให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ  และให้ทุกหน่วยงานรับแนวทางฯ ไปทบทวนงานในความรับผิดชอบ  แล้วแจ้งผลให้ ก.พ.ร. พิจารณาในภาพรวม ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีภายใน 1 เดือน
                สาระสำคัญของเรื่อง
                ก.พ.ร. รายงานว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง โดยเฉพาะการปรับปรุงระยะเวลาพิจารณาอนุญาตในกระบวนงานที่มีความสำคัญต่อการสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 มาตรา 7 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของ ก.พ.ร. ในการตรวจสอบขั้นตอนและระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตที่กำหนดและในกรณีที่เห็นว่าขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนดล่าช้าเกินสมควร ให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและสั่งการให้ผู้อนุญาตดำเนินการแก้ไขให้เหมาะสม ก.พ.ร. จึงได้มีการดำเนินการ ดังนี้
                        1. ศึกษาระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตเพื่อกำหนดมาตรฐานการให้บริการและรูปแบบการทบทวนกฎหมายเพื่อปรับปรุงการอนุญาตของหน่วยงานของรัฐ โดยสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ศึกษาขั้นตอนและระยะเวลาในการอนุญาตของหน่วยงานของรัฐที่เผยแพร่บนเว็บไชต์ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อติดต่อราชการ (www.info.go.th) จำนวน 3,827 กระบวนงาน จาก 132 หน่วยงาน เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานระยะเวลาการดำเนินการในแต่ละขั้นตอนหลักของการพิจารณาอนุญาต ได้แก่ ขั้นตอนการยื่นเอกสาร การพิจารณาอนุญาต และการลงนาม พบว่าหน่วยงานแต่ละแห่งมีการกำหนดระยะเวลาดำเนินการที่แตกต่างกัน จึงได้นำค่ากลางของระยะเวลาการดำเนินการแต่ละขั้นตอนที่หน่วยงานส่วนใหญ่สามารถดำเนินการได้มากำหนดเป็นมาตรฐานระยะเวลาการให้บริการเพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้เป็นแนวทางในการทบทวนระยะเวลาการดำเนินการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ดังนี้
ขั้นตอนการดำเนินการมาตรฐานระยะเวลาการให้บริการ
การยื่นเอกสารตรวจสอบความครบถ้วนของรายการเอกสารที่ผู้ขออนุญาตยื่นเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาอนุญาตไม่เกิน 1 วันทำการ
การพิจารณาตรวจสอบการดำเนินงานของผู้ขออนุญาตว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายหรือไม่ โดยได้กำหนดมาตรฐานระยะเวลาการให้บริการจำแนกตามลักษณะงานและความซับซ้อนของเอกสารที่ใช้ในการพิจารณา เช่น 
- การตรวจพิจารณาเอกสาร จำนวน 1-10 รายการ หรือเอกสารยืนยันตัวตน หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานผู้อนุญาตไม่เกิน 2 วันทำการ
- การตรวจสอบสถานที่ไม่เกิน 15 วันทำการ
- การตรวจสอบเครื่องมืออุปกรณ์/เครื่องจักรไม่เกิน 2 วันทำการ
- การตรวจสอบองค์กรโดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานไม่เกิน 15 วันทำการ
- การพิจารณาโดยคณะกรรมการไม่เกิน 29 วันทำการ
การลงนามหรือคณะกรรมการมีมติเป็นขั้นตอนที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายลงนามในใบอนุญาตไม่เกิน 1 วันทำการ
ทั้งนี้ จากการติดตามผลการทบทวนกฎหมายเพื่อปรับปรุงการอนุญาต ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการทบทวนกฎหมายในกระบวนงานสำคัญที่มีผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชน พบว่า หน่วยงานมีการทบทวนและแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการยกเลิกการอนุญาต เช่น การยกเลิกการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง. 4) การปรับปรุงกระบวนการโดยการลดขั้นตอนหรือระยะเวลาการให้บริการหรือการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการให้บริการ เช่น การพัฒนาระบบบัตรส่งเสริมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในการออกบัตรส่งเสริมการลงทุน การปรับปรุงวิธีการอนุญาต เช่น การปรับปรุงการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในสิทธิบัตร เป็นการจดแจ้งการอนุญาตให้ใช้สิทธิ และ การปรับปรุงหรือยกเลิกการจัดเก็บค่าธรรมเนียม เช่น การยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้เครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญประการหนึ่ง คือ การนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการให้บริการควรได้รับงบประมาณเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบรวมถึงการจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์  ต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อให้เกิดผลสำเร็จ
                        2. กำหนดแนวทางการปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตและการทบทวนกฎหมายตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปเป็นแนวทางในการปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตและทบทวนกฎหมายให้เอื้อต่อกระบวนการพิจารณาอนุญาตเพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการได้รับการบริการจากภาครัฐที่เร็วขึ้น ง่ายขึ้น ค่าใช้จ่ายที่ถูกลงและเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                             2.1 การแบ่งกลุ่มกระบวนงานเพื่อปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาต
                                  (1) กลุ่มกระบวนงานที่มีผลกระทบสูง เป็นกระบวนงานสำคัญหรือมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก รวมถึงกระบวนงานที่เป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชนที่เป็นข้อร้องเรียนหรือข้อเสนอแนะของประชาชนและภาคเอกชน จำนวน 31 กระบวนงาน จำแนกเป็นกลุ่มได้ ดังนี้
กระบวนงานหน่วยงาน
กระบวนงานที่สนับสนุนด้านการลงทุน/ประกอบกิจการ
1) การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน/ขยายโรงงานกรมโรงงานอุตสาหกรรม
2) การจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรกรมโรงงานอุตสาหกรรม
3) การทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์บริการ
4) การขึ้นทะเบียนตำรับผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
5) การขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในทะเบียนตำรับยาอย.
6) การจดทะเบียยนการประกอบธุรกิจขายตรงสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
7) การขอผ่อนผันการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550)กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
8) การขออนุญาตและแก้ไขรายการผลิตภัณฑ์อาหารอย.
9) การขออนุญาตการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
10) การขออนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
11) การรังวัดสอบเขต แบ่งแยก รวมโฉนดที่ดินหรือตรวจสอบเนื้อที่แบ่งแยก รวมหนังสือรับรองการทำประโยชน์กรมที่ดิน
12) การจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์กรมที่ดิน
13) การขอตรวจสอบหลักฐานทะเบียนที่ดินหรือห้องชุดกรมที่ดิน
14) การแจ้งขุดดิน/ถมดินกรมโยธาธิการและผังเมือง
15) การขอรับใบอนุญาตเป็นผู้มีสิทธิจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
16) การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากรมทรัพย์สินทางปัญญา
17) การต่ออายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากรมทรัพย์สินทางปัญญา
กระบวนงานที่สนับสนุนด้านการนำเข้าและการส่งออก
18) การขอรับชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักรกรมศุลกากร
19) การขออนุญาตนำหรือเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ภายในราชอาณาจักรกรมปศุสัตว์
20) การขออนุญาตนำสัตว์หรือซากสัตว์ออกนอกราชอาณาจักรกรมปศุสัตว์
21) การขออนุญาตให้เป็นผู้นำของเข้า ผู้ส่งออกของกรมศุลกากร
กระบวนงานที่สนับสนุนด้านการท่องเที่ยว
22) การออกใบอนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยกรมการท่องเที่ยว
23) การเลิกประกอบกิจการธุรกิจนำเที่ยวและขอรับคืนหลักประกันกรมการท่องเที่ยว
24) การออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมกรมการปกครอง
กระบวนงานที่สนับสนุนด้านแรงงาน
25) การขอใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานทำงานในประเทศกรมการจัดหางาน
26) การขอรับเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนจากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
กระบวนงานที่สนับสนุนภาคการเกษตร
27) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรกรมส่งเสริมการเกษตร
28) การขอรับรองแหล่งผลิตพืชอินทรีย์กรมวิชาการเกษตร
29) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกรมประมง
กระบวนงานที่สนับสนุนการวางรากฐานทางเศรษฐกิจและสังคม
30) การขออนุญาตให้ชาวต่างชาติประกอบวิชาชีพครูโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
31) การขอความยินยอมหรือขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
                                  (2) กลุ่มกระบวนงานทั่วไป เป็นการส่งเสริมการปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตในกระบวนงานที่เกี่ยวกับการอนุญาต การจดทะเบียน หรือการแจ้งที่มีกฎหมายหรือกฎกำหนดให้ต้องขออนุญาต จดทะเบียน หรือแจ้งก่อนดำเนินการใดตามคู่มือสำหรับประชาชนที่เป็นภารกิจหลักของหน่วยงานที่นอกเหนือจากกลุ่มกระบวนงานที่มีผลกระทบสูง
                             2.2 เป้าหมายในการดำเนินการปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาต
                                  (1) กลุ่มกระบวนงานที่มีผลกระทบสูง ให้หน่วยงานของรัฐทบทวนกระบวนงานและปรับลดระยะเวลาการดำเนินการลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2565
                                  (2) กลุ่มกระบวนงานทั่วไป ให้หน่วยงานของรัฐเสนอกระบวนงานที่สามารถปรับลดระยะเวลาการดำเนินการลงร้อยละ 30-50 มาดำเนินการภายในปี 2565 โดยเป็นกระบวนงานที่เป็นภารกิจหลักมีระยะเวลาในการดำเนินการมาก หรือเป็นกระบวนงานที่มีคุณค่า หรือเกิดประโยชน์แก่ประชาชนหากมีการปรับปรุงระยะเวลาการดำเนินการให้ดีขึ้นหรือเป็นกระบวนงานที่มีโอกาสในการปรับปรุงสูง
                             2.3 แนวทางการปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาต
                                  (1) พิจารณายุบเลิก ยุบรวมขั้นตอนที่ไม่จำเป็น การใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ลดการทำซ้ำหรือการส่งเรื่องไปกลับ การทำกิจกรรมคู่ขนานแทนการดำเนินการเป็นขั้นตอน ทบทวนแนวทางการตรวจสอบการดำเนินการหรือกิจการที่มีความซ้ำซ้อนหรือพิจารณาให้หน่วยงานอื่นดำเนินการแทนหรือกำหนดแนวทางการตรวจสอบตามความเสี่ยงของการดำเนินการ
                                  (2) ทบทวนและปรับปรุงกฎหมายที่กำหนดระยะเวลาในการอนุญาตและกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการบริการของหน่วยงาน
                                  (3) นำมาตรฐานระยะเวลาการให้บริการตามผลการศึกษาของสำนักงาน ก.พ.ร. เป็นเป้าหมายในการพิจารณาปรับลดระยะเวลาการดำเนินการ
                                  (4) ปรับปรุงคู่มือสำหรับประชาชนให้สอดคล้องกับการปรับปรุงระยะเวลาการดำเนินการเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจแก่ประชาชน รวมถึงความโปร่งใสในการพิจารณาอนุญาต
                                  (5) ปรับลดระยะเวลาการพิจารณาอนุญาต ซึ่งต้องไม่กระทบต่อคุณภาพการให้บริการและกรณีกระบวนงานใดที่หน่วยงานไม่สามารถลดระยะเวลาการให้บริการลงได้อีกหรือมีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการให้รายงานไปยังสำนักงาน ก.พ.ร. ทราบ
                             2.4 แนวทางการทบทวนกฎหมายเพื่อปรับปรุงกระบวนการพิจารณาอนุญาต
                                  (1) การพิจารณาใช้ระบบอนุญาตในกฎหมาย โดยนำคำแนะนำของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย เรื่อง การใช้ระบบอนุญาตในกฎหมาย ซึ่งแบ่งการอนุญาตออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 การกำหนดกฎเกณฑ์ให้ปฏิบัติตาม ระดับที่ 2 การจดแจ้ง ระดับที่ 3 การจดทะเบียน/การขึ้นทะเบียน และระดับที่ 4 การอนุญาต/ใบอนุญาตมาเป็นแนวทางในการดำเนินการ
                                  (2) การทบทวนกฎหมายเพื่อยกเลิกการอนุญาต เช่น กฎหมายที่บังคับใช้เป็นเวลานานหรือไม่ได้มีการทบทวนมาเป็นเวลานาน กฎหมายที่มีลักษณะควบคุมหรือลิดรอนสิทธิของประชาชน กฎหมายที่มีความซ้ำซ้อนกันหลายหน่วยงาน กฎหมายที่มีข้อกำหนดหรือข้อบังคับเกินความจำเป็น มีการพิจารณาที่ซ้ำซ้อนกันหลายหน่วยงาน หรือเป็นงานบริการที่ไม่ได้ดำเนินการแล้ว (ไม่มีผู้ขอรับบริการหรืองานบริการที่ไม่มีความจำเป็นต้องขออนุญาตแล้ว) ทั้งนี้ การพิจารณายกเลิกการอนุญาตต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิหรือภาระของประชาชน
                                  (3) การทบทวนกฎหมายเพื่อปรับปรุงการอนุญาต เช่น การปรับปรุงขั้นตอน การลดระยะเวลาการให้บริการ การนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการให้บริการ การลดใช้เอกสารหลักฐานประกอบการยื่นคำขอและการปรับปรุงแบบฟอร์มในการยื่นคำขอให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน หรือปรับปรุงวิธีการอนุญาต หรือปรับปรุงค่าธรรมเนียม
                        ทั้งนี้ การส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตและทบทวนกฎหมายโดยเฉพาะในกระบวนงานที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมตามเป้าหมาย 31 ใบอนุญาตดังกล่าวจะสามารถลดระยะเวลาในการพิจารณาลงร้อยละ 50 จากเดิม ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนและผู้ประกอบการได้รับความสะดวกรวดเร็วในการพิจารณาอนุญาตและการประกอบธุรกิจ
                        ก.พ.ร. ในการประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 พิจารณาแล้วเห็นว่าการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวอยู่ในอำนาจของแต่ละกระทรวงที่จะพิจารณาดำเนินการภายในกรอบของกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบ ควรนำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบก่อนแจ้งส่วนราชการดำเนินการ จึงมีมติเห็นชอบด้วย และให้เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
 
8. เรื่อง ข้อเสนอหลักการกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบหลักการกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ตามที่สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดองเสนอ และให้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามขั้นตอนของกฎหมายก่อนดำเนินการต่อไป
                   ทั้งนี้ หลักการกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดองเสนอ เป็นการกำหนดให้มีหลักการกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์มซึ่งมีหลักการสำคัญ ได้แก่ ให้ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างเหมาะสม ประกอบธุรกิจโดยสามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองสิทธิในการใช้บริการแพลตฟอร์ม ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลมีความร่วมมือและมีแนวทางการกำกับดูแลที่สอดคล้องกัน มีการกำหนดหน้าที่พื้นฐานของผู้ประกอบธุรกิจทุกกลุ่มที่ต้องปฏิบัติ กำหนดให้มีวิธีการหรือระบบที่สามารถรับแจ้งการกระทำความผิดหรือการใช้ข้อมูลที่ผิดกฎหมาย รวมถึงมีการลบและปิดกั้นการเข้าถึงของข้อมูลที่ผิดกฎหมายดังกล่าวนั้นได้และมีการรับรองผู้แจ้งเบาะแสการกระทำความผิด มีการกำกับดูแลสัญญาระหว่างผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและผู้ใช้บริการ รวมทั้งมีการรักษาความเป็นธรรมในการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เพื่อให้มีการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นธรรม มีการคุ้มครองผู้บริโภค และกำหนดบทบาทและหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ เพื่อเป็นกฎหมายกลางในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มอันจะทำให้ระบบการให้บริการและการใช้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลมีความชัดเจนและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดรับกับบริบทด้านระบบเศรษฐกิจสังคมดิจิทัลของประเทศไทยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สร้างโอกาสในการแข่งขันของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติในด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
                   สาระสำคัญของหลักการกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม 
                   1. หลักการที่ 1 วัตถุประสงค์และขอบเขตของกฎหมาย ให้ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างเหมาะสม ประกอบธุรกิจโดยสามารถแข่งขันกันได้อย่างเป็นธรรม ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองสิทธิในการใช้บริการแพลตฟอร์ม ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลมีความร่วมมือและมีแนวทางการกำกับดูแลที่สอดคล้องกัน โดยกำหนดผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ออกเป็น 5 กลุ่ม คือ 1) ผู้ให้บริการตัวกลาง (Intermediary services)2) ผู้ให้บริการรับฝากข้อมูล (Hosting services)3) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม (Online platform)4) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขนาดใหญ่  (Very Large Online Platform)และ 5) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่มีอำนาจควบคุม (Gatekeeping Platform)ส่วนผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เช่น ผู้ให้บริการที่มีขนาดเล็กโดยอาจเป็นผู้ให้บริการที่มีจำนวนธุรกรรมน้อยกว่า 10,000 รายการต่อวัน ผู้ให้บริการที่มีขอบเขตการให้บริการอย่างจำกัดโดยไม่เปิดบริการให้บุคคลทั่วไป เช่น ใช้เฉพาะภายในองค์กรหรือเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ผู้ให้บริการที่ให้บริการจำกัดเฉพาะสินค้าหรือบริการที่ผู้ให้บริการเป็นผู้แทนจำหน่ายหรือเป็นผู้ผลิตเท่านั้น 
                   2. หลักการที่ 2 หน้าที่พื้นฐานของผู้ประกอบธุรกิจทุกกลุ่ม กำหนดหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามหลักการของกฎหมายที่เสนอนี้และหน่วยงานกำกับดูแล เช่น การเปิดเผยรายงานความโปร่งใส และการมีระบบรับแจ้งปัญหาจากผู้ใช้งาน นอกจากนี้ หากผู้ประกอบธุรกิจมาจากต่างประเทศ ควรจัดให้มีตัวแทนในประเทศไทยหรือมีช่องทางทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อติดต่อระหว่างผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจกับหน่วยงานกำกับดูแล  
                   3. หลักการที่ 3 หน้าที่เพิ่มเติมของผู้ประกอบธุรกิจทุกกลุ่มยกเว้นผู้ให้บริการตัวกลาง กำหนดให้มีวิธีการหรือระบบที่สามารถรับแจ้งการกระทำความผิดหรือการใช้ข้อมูลที่ผิดกฎหมาย รวมถึงมีหน้าที่ลบและปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลที่ผิดกฎหมายดังกล่าวนั้นได้ 
                   4. หลักการที่ 4 หน้าที่เพิ่มเติมของผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มที่เป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ กำหนดหน้าที่และมาตรการป้องกันการเกิดการกระทำผิดและความเสียหายขึ้นบนแพลตฟอร์มทั้งในส่วนของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ รวมถึงกำหนดความรับผิดในกรณีที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่จนก่อให้เกิดการกระทำผิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม 
                   5. หลักการที่ 5 หน้าที่เพิ่มเติมของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ กำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญภายนอกประเมินความเสี่ยงของระบบและความเสี่ยงอื่นที่อาจเกิดขึ้นในการใช้บริการแพลตฟอร์ม ตลอดจนมีการเปิดเผยผลการทดสอบระบบเทคโนโลยีของแพลตฟอร์ม และข้อมูลปัจจัยและเหตุผลที่ส่งผลให้นำเสนอโฆษณาให้ผู้ใช้งาน 
                   6. หลักการที่ 6 การรับรองผู้แจ้งเบาะแสการกระทำความผิด (Accreditation of Trusted Flagger) ให้หน่วยงานกำกับดูแลมีการรับสมัคร ตรวจสอบและรับรองผู้แจ้งเบาะแสการกระทำความผิด ตลอดจนมีหน้าที่ในการปรับปรุงรายชื่อผู้แจ้งเบาะแสการกระทำความผิดเป็นประจำ  
                   7. หลักการที่ 7 การกำกับดูแลสัญญาระหว่างผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและผู้ใช้บริการ กำกับดูแลเนื้อหาสาระของสัญญาหรือข้อตกลง ซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักการที่หน่วยงานกำกับดูแลประกาศกำหนด หากมีสัญญาหรือข้อตกลงใดไม่เป็นไปตามประกาศกำหนด ให้ถือว่าสัญญาหรือข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มซึ่งเป็นบริการด้านการขนส่งและต้องมีผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้ส่งของ (Rider) จำนวนมากให้ทั้งสองฝ่ายมีการกำกับดูแลสัญญาโดยกำหนดหน้าที่และความรับผิดอย่างชัดเจน  
                   8. หลักการที่ 8 หน้าที่และอำนาจของหน่วยงานกำกับดูแล กำหนดให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลตามหลักการของกฎหมายที่เสนอนี้ 
                   9. หลักการที่ 9 ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีหลักการดังนี้  
                             (1) การกำหนดให้หน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลตามร่างกฎหมายนี้ มีหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานแก่หน่วยงานกำกับดูแลอื่นในการปฏิบัติตามกฎหมาย   
                             (2) ในกรณีที่หน่วยงานใดมีหน้าที่และอำนาจกำกับดูแลธุรกิจใดตามกฎหมายอื่นอยู่แล้ว แต่ไม่ครอบคลุมมาตรการบางเรื่องตามร่างกฎหมายนี้ หน่วยงานดังกล่าวอาจพิจารณาใช้อำนาจตามหลักการของร่างกฎหมายนี้ได้  
                             (3) หากจำเป็นต้องทดลองแนวทางการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจในรูปแบบใหม่หรือต้องการทดลองให้นำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่เข้ามาใช้ หน่วยงานกำกับดูแลตามหลักการนี้อาจตั้งคณะกรรมการซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องเพื่อกำกับดูแลการทดสอบการดำเนินธุรกิจในวงจำกัด (Sandbox) ได้   
                   10. หลักการที่ 10 การรักษาความเป็นธรรมในการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม [ใช้แนวทางการกำกับเชิงการป้องกัน (Ex-ante Approach) โดยการกำหนดพฤติกรรมที่ควรทำและพฤติกรรมที่ห้ามทำ] กำหนดให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเป็นหน่วยงานกำกับดูแลหลักในการพิจารณาประกาศหลักเกณฑ์และรายชื่อผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่มีอำนาจควบคุม (Gatekeeping Platform) โดยดำเนินการภายใต้หลักการที่ 9
_________________________________ 
1ผู้ให้บริการตัวกลาง (Intermediary services) หมายความถึง ผู้ประกอบการใด ๆ ที่ให้บริการรับหรือส่งข้อมูลให้บุคคลอื่นโดยไม่จัดเก็บข้อมูลที่รับหรือส่งไว้ถาวร โดยบริการที่ให้ในกลุ่มนี้จะเป็นเพียงแค่บริการรับส่งหรือแลกเปลี่ยนข้อมูล เช่น บริการ VPN IXP CDN ที่อาจมีการจัดเก็บข้อมูลไว้ชั่วคราวในลักษณะของ caching หรือเป็นผู้ให้บริการ DNS เท่านั้น
ผู้ให้บริการรับฝากข้อมูล (Hosting services) หมายความถึง ผู้ประกอบการใด ๆ ที่ให้บริการรับหรือส่งข้อมูลให้บุคคลอื่น แต่มีการจัดเก็บรักษาข้อมูลไว้กับผู้ให้บริการด้วย ทั้งนี้ ผู้ให้บริการในกลุ่มนี้จะมีความหลากหลาย แต่สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น
- ผู้ให้บริการรับฝากข้อมูลของลูกค้า โดยลูกค้าสามารถเข้าถึงและแก้ไขข้อมูลได้ทั้งที่เป็นการให้บริการเก็บรักษาข้อมูลในลักษณะ cloud storage, web hosting service รวมทั้งบริการส่งข้อมูลที่จัดเก็บไว้ให้ผู้ใช้งานทั่วไปที่มิใช่เจ้าของข้อมูลด้วย 
- ผู้ให้บริการเว็บบอร์ดเพื่อให้ผู้ใช้งานทั่วไปเข้ามาปฏิสัมพันธ์กันโดยไม่มุ่งเน้นว่าให้มีการซื้อขายสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าบริการดังกล่าวจะเป็นระบบเปิดหรือระบบปิดเฉพาะสมาชิก
- ผู้ให้บริการโปรแกรมสำนักงานออนไลน์และเกมส์ออนไลน์ 
- ผู้ให้บริการดัชนี คัดเลือก หรืออ้างอิง (indexing, selection and reference) สินค้าหรือบริการ
ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม (Online platform) หมายความถึง ผู้ประกอบการใด ๆ ที่ให้บริการรับหรือส่งข้อมูลให้บุคคลอื่น โดยมีการจัดเก็บรักษาข้อมูลและให้บริการจับคู่ (matching) ระหว่างผู้ใช้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยอาจมีบริการอื่นเพื่อสนับสนุนการจับคู่หรือการทำธุรกรรม เช่น บริการ social media การโฆษณาสินค้าและบริการ โดยอาจแบ่งย่อยออกได้เป็น
- ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์ โดยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจะจัดพื้นที่ให้ผู้ซื้อและผู้ขายเข้ามาจับคู่ทำธุรกรรมเท่านั้น
- ผู้ให้บริการออนไลน์ในลักษณะซับซ้อน (Complex online platform provider) โดยผู้ให้บริการจะมีการให้บริการที่หลากหลายแต่มีความเกี่ยวเนื่องกัน เช่น ผู้ให้บริการ social networking มีการให้บริการแชตส่วนตัว บริการเพิ่มยอดชมโฆษณา บริการพื้นที่เสนอซื้อหรือขายสินค้าและบริการ ผสมกับการให้บริการข้อมูลข่าวสาร บริการรับส่งเงิน บริการผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา (Escrow) บริการรับส่งสินค้า
4 ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ (Very Large Online Platform) หมายความถึง ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม (Online Platform) แต่มีขนาดใหญ่จนการประกอบกิจกรรมนั้นอาจมีความเสี่ยงที่จะสร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญแก่สังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้ การพิจารณาว่าผู้ประกอบธุรกิจใดเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขนาดใหญ่นั้น จำเป็นจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีในบริบทของประเทศไทย โดยอาจพิจารณาจากปริมาณผู้ใช้งานที่อยู่ในระบบ (Active User) รายได้หรือปริมาณของธุรกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย หรือลักษณะของความสำคัญของบริการที่ให้เมื่อพิจารณาจากทางเลือกอื่น ๆ ที่มีอยู่ เช่น บริการรับส่งสินค้า
5 ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่มีอำนาจควบคุม (Gatekeeping Platform) หมายความถึง ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม (Online Platform) ที่มีอำนาจควบคุมการเข้าถึงบริการ โดยในการพิจารณาว่าผู้ให้บริการแพลตฟอร์มใดเป็นผู้มีอำนาจควบคุมนั้น หน่วยงานที่กำกับดูแลจะต้องอาจพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ภายใต้บริบทของประเทศไทยโดยอาจเทียบเคียงหลักเกณฑ์ของต่างประเทศที่ใช้พิจารณา เช่น จำนวนผู้ใช้งานและส่วนแบ่งการตลาด ระยะเวลาเฉลี่ยที่ผู้ใช้งานใช้บริการในแต่ละรอบเวลา รายได้จากการให้บริการในประเทศไทยเฉลี่ยสามปีสุดท้าย การใช้เทคโนโลยีเพื่อควบคุมการเข้าถึงสินค้าและบริการ เช่น ระบบปฏิบัติการ app store เป็นต้น (นิยามนี้ใช้เฉพาะหลักการที่ 10)
 

เศรษฐกิจ – สังคม


9. เรื่อง ขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาล แห่งราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ1 ตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (โครงการฯ) (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงาน EIA) เพื่อใช้ประกอบการดำเนินโครงการแล้ว เพื่อให้ รฟท. สามารถดำเนินโครงการก่อสร้างตลอดแนวทางให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
                   สาระสำคัญ
                   กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) ในส่วนงานอุโมงค์ (สัญญางานโยธาที่ 3 – 2) มีระยะทางของอุโมงค์และแนวเส้นทางโครงการที่ต้องพาดผ่านลุ่มน้ำ ชั้นที่ 1 เอ ในพื้นที่จังหวัดสระบุรีและจังหวัดนครราชสีมา รวม 5,270 เมตร ซึ่ง คค. ได้จัดทำรายงาน EIA และได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว
__________________
1พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ หมายถึง พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ที่ยังคงมีสภาพป่าสมบูรณ์ ปรากฏอยู่ในปี 2525 ซึ่งจำเป็นจะต้องสงวนรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารและเป็นทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ
 
10. เรื่อง โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8 – 9 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอดังนี้
                   1. เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8 - 9 ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 600 เมกะวัตต์ พร้อมระบบส่งไฟฟ้า ในวงเงินรวมทั้งสิ้น 47,470 ล้านบาท
                   2. อนุมัติงบประมาณประจำปี 2565 ตามแผนประมาณการเบิกจ่ายสำหรับโครงการโรงโฟฟ้าแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 8 - 9 (โครงการฯ) จำนวนเงินทั้งสิ้น 3,795 ล้านบาท
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   พน. รายงานว่า
                   1. ภาคเหนือมีอัตราการเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยร้อยละ 3.3 และมีความต้องการไฟฟ้าสูงสุด ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 เท่ากับ 3,521.4 เมกะวัตต์ และคาดว่าในปี 2580 จะมีความต้องการไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 6,033 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันภาคเหนือมีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 5,561.6 เมกะวัตต์  (ข้อมูล ณ พฤศจิกายน 2564) ซึ่งกำลังผลิตไฟฟ้าหลักมาจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะและรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ซึ่งตั้งอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว1
                   2. โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 - 9 มีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญา รวม 600 เมกะวัตต์ (2x300 เมกะวัตต์) และใช้ถ่านหินลิกไนต์จากเหมืองแม่เมาะเป็นเชื้อเพลิง โดยเริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 และ พ.ศ. 2533 ตามลำดับ โดยปัจจุบัน โรงไฟฟ้าดังกล่าวมีอายุการใช้งานมากกว่า 30 ปี (อายุการใช้งานตามสัญญา 33 ปี และ 32 ปี) จึงมีประสิทธิภาพลดลง ประกอบกับถ่านหินลิกไนต์จากเหมืองแม่เมาะมีค่าแคลเซียมออกไซด์ในขี้เถ้าเฉลี่ยสูง ทำให้โรงไฟฟ้าแมเมาะที่ใช้งานอยู่ปัจจุบันไม่สามารถเดินเครื่องได้เต็มประสิทธิภาพ ประกอบกับแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (ตามข้อ 2.2) ได้กำหนดให้ปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่ครบอายุการใช้งานออกจากระบบรวมทั้งสิ้น 1,620 เมกะวัตต์ ครอบคลุมโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 ซึ่งมีกำหนดปลดในปี 2565 และ เครื่องที่ 9 ในปี 2568 ส่งผลให้กำลังผลิตไฟฟ้าของภาคเหนือที่เหลืออยู่ไม่สามารถรองรับเหตุสุดวิสัย ในกรณีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดหยุดเดินเครื่องฉุกเฉิน (N-1) ได้ จึงจำเป็นต้องเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่โดยการดำเนินโครงการฯ และได้พิจารณาระยะเวลาเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าทดแทนให้สอดคล้องตามปริมาณลิกไนต์สำรองที่มีอยู่ในเหมืองแม่เมาะ เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า
                   3. รายละเอียดและรายงานศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ
                             3.1 รายละเอียดทั่วไป
 
ประเด็นรายละเอียด
วัตถุประสงค์เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศและรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคเหนือ ลดการพึ่งพากำลังผลิตไฟฟ้าผ่านสายส่งจากภูมิภาคอื่น รวมถึงรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศไทย และเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลในด้านการใช้เชื้อเพลิงที่มีอยู่ภายในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สถานที่ตั้งตั้งอยู่ภายในบริเวณโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ทางด้านทิศใต้ของโรงไฟฟ้าปัจจุบัน ถัดจากพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 4 – 7 ใช้พื้นที่ก่อสร้างเฉพาะส่วนผลิตกระแสไฟฟ้าและระบบส่งประมาณ 145 ไร่ ซึ่งอยู่ในขอบเขตพื้นที่ของ กฟผ. ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากกรมป่าไม้ (ถึงวันที่ 31 มกราคม 2593)
ชนิด
และขนาด
กำลังผลิตไฟฟ้า
· โรงไฟฟ้าพลังความร้อนประเภทผลิตพลังงานไฟฟ้าฐานโดยใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง และใช้เทคโนโลยีแบบ Pulverized Coal (PC) ซึ่งเป็นวิธีการเผาไหม้ถ่านหินที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย
· ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 600 เมกะวัตต์
· ประสิทธิภาพ (New and Clean) ประมาณร้อยละ 37.88
· ประสิทธิภาพเฉลี่ยตลอดอายุการเดินเครื่อง 25 ปี ประมาณร้อยละ 37.14
· กำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2569
เชื้อเพลิง
และความ
ต้องการ
ใช้เชื้อเพลิง
· มีอัตราความต้องการในการใช้ถ่านหินลิกไนต์จากเหมืองแม่เมาะของโครงการฯ สูงสุด ประมาณ 10,418 ตันต่อวัน หรือเฉลี่ยประมาณ 3.23 ล้านตันต่อปี โดยคำนวณที่ค่าความร้อน (HHV) ของถ่านหินลิกไนต์ 3,200 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม และอัตราเดินเครื่องสูงสุดร้อยละ 85 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 21.53 ของความต้องการรวมของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ (ประมาณ  15 ล้านตันต่อปี)
· ความต้องการใช้เชื้อเพลิงรวมประมาณ 81 ล้านตัน ตลอดอายุการเดินเครื่อง 25 ปี
· เหมืองแม่เมาะมีปริมาณสำรองถ่านลิกไนต์ (Reserve) ประมาณ 237 ล้านตัน (มกราคม 2562) ซึ่งเพียงพอต่อการผลิตเพื่อจัดส่งให้โรงไฟฟ้าที่มีอยู่ [เครื่องที่ 8 - 13 (ทยอยปลดตามอายุการใช้งาน)] รวมทั้งโรงไฟฟ้าทดแทนเครื่องที่ 4 - 7 และเครื่องที่ 8 - 9 ในช่วงเดือนมกราคม 2562 ถึงธันวาคม 2593 คิดเป็นประมาณ 234 ล้านตัน
แหล่งน้ำ
และความ
ต้องการใช้น้ำ
· ใช้แหล่งน้ำเดียวกันกับโรงไฟฟ้าแม่เมาะปัจจุบัน ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่ขาม และแม่จาง
· มีความต้องการใช้น้ำทั้งสิ้นประมาณ 44,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ได้แก่ (1) กิจกรรมภายในโรงไฟฟ้า 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน (2) ระบบหล่อเย็น 36,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน (3) ระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 5,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และ (4) ขั้นตอนการเตรียมน้ำมันดิบ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
· ปริมาณน้ำทิ้งออกสู่ระบบบำบัดน้ำทิ้งสูงสุดประมาณ 10,251 ลูกบาศก์เมตรต่อวันโดยจะ            ถูกหมุนเวียนกลับไปใช้ในระบบต่าง ๆ และนำไปผ่านกระบวนการบำบัดน้ำทิ้งให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานก่อนระบายลงสู่แม่น้ำจางในอัตราสูงสุดประมาณ 7,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
ระบบส่งไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะจ่ายไฟเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของ กฟผ. ผ่านสถานีไฟฟ้าแรงสูงแม่เมาะ 3 ซึ่งมีการเชื่อมโยงกับสถานีไฟฟ้าแรงสูงแห่งอื่น ๆ เพื่อส่งไฟฟ้าไปยังจังหวัดต่าง ๆ ด้วยสายส่งไฟฟ้าที่ระดับแรงดัน 115 230 และ 500 กิโลโวลต์ โดยโครงการฯ จะเชื่อมโยงเข้ากับระบบไฟฟ้าหลักที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงแม่เมาะ 3 ซึ่งจะต้องก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าเพิ่มและปรับปรุงสถานีไฟฟ้าโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 18 เดือน หรือจะแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2568 ดังนี้
(1) งานก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ จากลานไกไฟฟ้า2 ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 8 - 9 ไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูง 230 กิโลโวลต์ แม่เมาะ 3 ระยะทางประมาณ                   1,000 เมตร
(2) งานขยายสถานีไฟฟ้าแรงสูง 230/115 กิโลโวลต์ แม่เมาะ 3
(3) งานระบบสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ
แผน
การดำเนินงาน
แผนงานโครงการ : กฟผ. จะออกหนังสือสนองรับราคาซื้ออุปกรณ์โรงไฟฟ้า (Letter of Intent;, LOI) ให้ผู้ชนะการประกวดราคา เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาประมาณ 48 เดือน โดยมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2569
· แผนการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า3 (กองทุนฯ) : โครงการฯ จัดอยู่ในกองทุนฯ ประเภท ก ตามระเบียบกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เนื่องจากใช้ถ่านลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง และมีปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้ามากกว่า 5,000 ล้านกิโลวัตต์ - ชั่วโมงต่อปี หรือมีรายได้มากกว่า 50 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป จึงต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนฯ ตลอดอายุการเดินเครื่อง ดังนี้
ระยะการดำเนินการเงื่อนไขการนำส่งเงิน
ตามระเบียบดังกล่าว
การนำส่งเงิน
ของโครงการฯ
ระยะการก่อสร้างนำส่งเงินในอัตรา 50,000 บาทต่อเมกะวัตต์ติดตั้งต่อปี หรือไม่น้อยกว่า 50,000 บาทต่อปีประมาณ 132 ล้านบาท
(ระยะเวลา 48 เดือน)
ระยะการผลิตไฟฟ้านำส่งเงินตามปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้าในแต่ละเดือนในอัตรา 2 สตางค์ต่อหน่วยผลิตไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบตลอดอายุโรงไฟฟ้าประมาณ 89.35 ล้านบาท ต่อปี (25 ปี) เฉลี่ยเดือนละประมาณ 7.45 ล้านบาท
ประมาณการ
ค่าใช้จ่าย
· ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวมทั้งสิ้น 47,470 ล้านบาท ดังนี้
 
หน่วย : ล้านบาท 
รายการค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์
ในประเทศและการก่อสร้าง
รวม
โรงไฟฟ้า25,530
(740 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
21,47047,000
ระบบ
ส่งไฟฟ้า
265
(7.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
205470
รวม25,79521,67547,470
 
 
 
 
 
 
· ประมาณการเบิกจ่ายรายปี ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท
รายการปี 2565ปี 2566ปี 2567ปี 2568ปี 2569รวม
โรงไฟฟ้า3,7959,12011,81016,9405,33547,000
ระบบ
ส่งไฟฟ้า
-75.2352.542.3-470
รวม3,7959,195.212,162.516,982.35,33547,470
แหล่งเงินทุนกฟผ. จะพิจารณาใช้เงินจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งหรือหลายแหล่งรวมกัน ดังนี้
แหล่งเงินทุนเงินตราต่างประเทศเงินบาท
- สถาบันการเงินระหว่างประเทศ
- ธนาคาร/สถาบันเพื่อการนำเข้า – ส่งออก
ü-
ธนาคาร/สถาบันการเงินต่างประเทศ
และ/หรือในประเทศ
ในประเทศ
การออกพันธบัตรลงทุนต่างประเทศ
และ/หรือในประเทศ
ในประเทศ
การระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (EGATIF)üü
เงินรายได้ของ กฟผ.üü
                             3.2 การพิจารณาความเหมาะสมของโครงการฯ
ด้านรายละเอียด
ด้านสิ่งแวดล้อม· มีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าสูงกว่าโรงไฟฟ้าแม่เมาะเดิม ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิง
· มีการติดตั้งระบบควบคุมมลสารซึ่งใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อช่วยลดการปล่อยมลสารในภาพรวมมีมาตรการติดตาม ตรวจสอบ และป้องกัน เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
· ข้อมูลสมรรถนะทางเทคนิคเบื้องต้นของโครงการฯ (ปล่องระบายอากาศ) 
สิ่งที่ปลดปล่อย
จากการผลิตไฟฟ้า
หน่วยค่าความเข้มข้นอากาศเสีย
ของโครงการฯ
ค่ามาตรฐานควบคุม
การปล่อยทิ้งอากาศเสีย
จากโรงไฟฟ้าใหม่
ซัลเฟอร์ไดออกซ์ไซด์ (SO2)ppmV490180
mg/Nm3235-
ออกไซด์ของไนโตรเจน
(NOx)
ppmV90200
mg/Nm3170-
ฝุ่นละออง (TSP)mg/Nm33080
 
· คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 มีมติ ดังนี้
(1) เห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ กิจกรรม หรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างร้ายแรง (Environmental Health Impact Assessment : EHIA) ของโครงการฯ ตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อน ในการประชุมครั้งที่ 14/2564 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 โดยให้ กฟผ. ดำเนินการตามแผนลดการใช้ถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้าและใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น และให้เพิ่มเติมมาตรการเกี่ยวกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ตามแนวทางที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดและดำเนินการสรุปได้ ดังนี้
· ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดไว้ในรายงาน EHIA อย่างเคร่งครัด
· ให้ตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวตามที่กำหนดไว้
(2) มอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณากำหนดมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย
ด้านการรับฟังความคิดเห็น· คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในคราวประชุมครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (รับฟังความคิดเห็นฯ) โครงการฯ ซึ่งได้ดำเนินกระบวนการทั้งในรูปแบบการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ในพื้นที่และช่องทางออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 30พฤศจิกายน 2564 ถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2564 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
(1) ผู้เข้าร่วม รวมทั้งสิ้นจำนวน 2,969 คน ได้แก่
- ประเภท : (1) ประชาชนในพื้นที่รอบโครงการ 1,593 ราย (ร้อยละ 53.7)                       (2) ประชาชนทั่วไปที่สนใจ 773 ราย (ร้อยละ 26.2) และหน่วยงานราชการในระดับต่าง ๆ42 ราย (ร้อยละ 1.4)
- พื้นที่ (ตำบล) : แม่เมาะ 671 ราย (ร้อยละ 22.6) สบป้าด 369 ราย (ร้อยละ 12.4) นาสัก 295 ราย (ร้อยละ 9.9) จางเหนือ 164 ราย (ร้อยละ 5.5) และบ้านดง 94            (ร้อยละ 3.3)
(2) ความคิดเห็นฯ และข้อเสนอแนะของคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ
ประชาชนส่วนใหญ่แสดงออกถึงความเชื่อมั่นกับเทคโนโลยีของโครงการฯ รวมทั้งมาตรการต่าง ๆ ที่ถูกจัดทำขึ้นตามรายงาน EHIA สามารถครอบคลุมและตอบปัญหาที่ประชาชนห่วงกังวล อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นที่ประชาชนยังให้ความห่วงใยเป็นพิเศษ เช่น
   - กฟผ. ควรหาเทคโนโลยีในการดักจับและกักเก็บหรือเปลี่ยนให้เป็นเคมีภัณฑ์ชนิดอื่นหรือทำการปลูกป่าเพื่อส่งเสริมการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิที่เป็นศูนย์ (Net Zero)
   - กกพ. ควรให้ กฟผ. จัดทำแผนบูรณาการทางด้านน้ำอย่างเป็นรูปธรรมครอบคลุมระยะเวลาของอายุโรงไฟฟ้า โดยควรมีความยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ตามปริมาณการใช้น้ำและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งการจัดการปัญหาทางด้านกลิ่นจากแหล่งน้ำตามฤดูกาลด้วย
   - กฟผ. อาจพิจารณานำระบบวงจรตัดเสียงรบกวน (Noise Cancellation) มาติดตั้งตามบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม เพื่อแก้ปัญหาเสียงรบกวนในยามวิกาล
   - มาตรการด้านการจราจรยังมีความไม่สมบูรณ์ อาทิ ระบบสัญญาณไฟจราจรที่ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุเป็นระยะ ดังนั้น กฟผ. ควรร่วมมือกับกรมทางหลวงสำรวจและทำการแก้ไขจุดบกพร่อง โดยระหว่างก่อสร้างควรกำกับให้รถที่เข้าออกโครงการติดป้ายให้ชัดเจนบริเวณกระจกรถด้านข้างทั้ง 2 ข้าง และด้านท้าย ระบุชื่อโครงการ หน่วยงาน และเบอร์ติดต่อ
   - ประชาชนยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่อาจมีความรุนแรงขึ้น ดังนั้น กฟผ. ควรจัดทำแผนฉุกเฉินเพิ่มเติมเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยยึดหลักป้องกันเป็นพื้นฐานสำคัญ
   - ควรคำนึงถึงมาตรการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศต่าง ๆ ในสภาวะภูมิอากาศทั่วไปไม่อำนวย เช่น ท้องฟ้าปิดในฤดูหนาวที่จะส่งผลให้เกิดหมอกควัน โดยควรดำเนินการเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และช่วยเหลือประชาชนให้สวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างทั่วถึง
   - ควรเปิดโอกาสให้ผู้นำชุมชน ตัวแทนภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมดำเนินงานติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมทุกครั้ง และในการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า กองทุนสนับสนุนจาก กฟผ. หรือกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ควรเน้นสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง และยกมาตรฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกทางสังคมเป็นหลัก
ด้านเศรษฐศาสตร์ และการเงินมีความคุ้มค่าในการลงทุนและให้ผลตอบแทนการลงทุน โดยมีอัตราผลตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) ร้อยละ 6.99 และคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์สุทธิทางด้านเศรษฐศาสตร์ จำนวน 5,928 ล้านบาท โดยราคาขายไฟฟ้าของโครงการฯ ไม่สูงกว่าผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่ใช้ถ่านลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง โดยมีผลการวิเคราะห์สรุปได้ ดังนี้
หัวข้อผลการวิเคราะห์
ราคาขายไฟฟ้าเฉลี่ย1.8025 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง
- ค่าความพร้อมจ่ายพลังงานไฟฟ้า (AP)51.1551 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง
- ค่าพลังงานไฟฟ้า (EP)60.6474 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง
อัตราผลตอบแทนเงินลงทุน (ROIC)
ตามโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปี 2558
ร้อยละ 5.85
อัตราผลตอบแทนการลงทุนของโครงการ (Project IRR)7ร้อยละ 5.87
มูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์สุทธิของโครงการ (Project NPV) [อัตราส่วนลด (discount rate) เท่ากับ อัตราต้นทุนเงินทุน (WACC) ที่ร้อยละ 5.85]119 ล้านบาท
อัตราผลตอบแทนส่วนทุน (ROE)ร้อยละ 6.47
มูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์สุทธิส่วนทุน (NPV on Equity)1,860 ล้านบาท
อัตราผลตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR)7ร้อยละ 6.99
มูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์สุทธิทางด้านเศรษฐศาสตร์5,928 ล้านบาท
ระยะเวลาคืนทุน16 ปี
_______________________
1กำลังผลิตไฟฟ้าหลักของภาคเหนือมาจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8 – 13 และโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 4 – 7 กำลังผลิตตามสัญญารวม 2,220 เมกะวัตต์ และรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ เครื่องที่ 1 – 3 กำลังผลิต 1,473 เมกะวัตต์
2ลานไกไฟฟ้า (Switchyard) ทำหน้าที่ตัดต่อวงจงไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้า
3กองทุนพัฒนาไฟฟ้า คือ กองทุนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนสนับสนุนให้มีการให้บริการไฟฟ้าไปยังท้องที่ต่าง ๆ อย่างทั่วถึง กระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น พัฒนาชุมชนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย โดยคำนึงถึงความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า
4ค่าความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะมีผลในการแผ่รังสี (radiative forcing) เท่ากันกับก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ โดยค่าคาร์บอนเทียบเท่านี้จะมีหน่วยเป็นส่วนในล้านส่วนโดยปริมาตร (ppmv)
5ค่าความพร้อมจ่ายพลังไฟฟ้า (Availability Payment: AP) ประกอบด้วย ประมาณการภาระเงินกู้ผลตอบแทนส่วนทุนค่าใช้จ่ายคงที่ในการเดินเครื่องและบำรุงรักษา และค่าใช้จ่ายด้านประกันภัย
6ค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Payment: EP) ประกอบด้วย ค่าเชื้อเพลิง ค่าใช้จ่ายผันแปรในการเดินเครื่องบำรุงรักษา และเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า (ระหว่างดำเนินการผลิต)
7คู่มือแนวทางและหลักเกณฑ์การวิเคราะห์โครงการ พ.ศ. 2555 (ฉบับปรับปรุง) ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า สำหรับการวิเคราะห์ความเหมาะสมทางการเงินของโครงการ อัตราผลตอบแทนทางการเงิน (Financial Internal Rate of Return: FIRR) ควรมากกว่าอัตราเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักต้นทุนเงินลงทุนของโครงการ (Weighted Cost of Capital: WACC) ในขณะที่การวิเคราะห์ความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจของโครงการ ที่ผ่านมา สศช. ได้กำหนดเกณฑ์อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return : EIRR) ที่เหมาะสมอยู่ระหว่างร้อยละ 9 – 12 แล้วแต่ลักษณะของโครงการ
 
11. เรื่อง รายงานประจำปี 2564 ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอ รายงานประจำปี 2564 ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี* (สสวท.) (เป็นการดำเนินการตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2541 ที่บัญญัติให้ สสวท. จัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยแสดงงบดุลบัญชีทำการและบัญชีกำไรขาดทุนที่ผู้สอบบัญชีรับรองว่าถูกต้องพร้อมกับรายงานของผู้สอบบัญชี รวมทั้งแสดงผลงานของ สสวท. ในปีที่ล่วงมาและแผนงานที่จะจัดทำในปีต่อไปภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีและให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอรายงานประจำปีต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                   1. ผลการดำเนินงานของ สสวท. ประจำปี 2564 ใน 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
                             1.1 การพัฒนาหลักสูตร สื่อ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ ที่เน้นการปฏิบัติการและการสร้างความเข้าใจในระดับที่เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละกลุ่มโดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น การพัฒนาหลักสูตร สื่อ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาและกระตุ้นให้เกิดการใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบที่สามารถนำไปใช้ได้จริง ผ่านสื่อประกอบหนังสือเรียนและคู่มือครู สื่อเสริมการเรียนรู้ที่เน้นรูปแบบดิจิทัล สามารถนำไปใช้ศึกษาต่อเป็นนักนวัตกรตามแนวทาง KOSEN** รวมทั้งพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ และการวิจัย วัดผล และประเมินผลการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีระดับประเทศและระดับนานาชาติ และการวิจัยติดตามการใช้หลักสูตร สื่อ การเรียนรู้ และพัฒนาเกณฑ์การประเมินสื่อการเรียนรู้
                             1.2 การขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี และสถานศึกษา ผ่านเครีอข่าย สสวท. ให้มีคุณภาพทั่วประเทศอย่างเป็นระบบ เช่น การพัฒนาระบบบริหารจัดการเครือข่ายเพื่อขยายการให้บริการหลักสูตร สื่อและกระบวนการจัดการเรียนรู้ของ สสวท. การปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนของครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสะเต็มศึกษา ***   ตามแนวทาง สสวท. โดยการจัดอบรมและพัฒนาครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีในรูปแบบออนไลน์ มีผู้เข้ารับการอบรม 44,939 คน และการสร้างเครื่อข่ายความร่วมมือนานาชาติ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ ได้มีการส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) โดยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาหลักสูตร สื่อ และกระบวนการเรียนรู้สาระเทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ)
                             1.3 การขับเคลื่อนกระบวนการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ให้เน้นความเข้าใจ ลงมือปฏิบัติการ และสามารถนำไปใช้จริงทั้งในและนอกระบบตามแนวทาง สสวท. เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ โดยการพัฒนาระบบการจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ My IPST และนำมาทดลองใช้กับครูในโรงเรียนนำร่อง 6 โรงเรียน โดยพบว่าครูมีความพึงพอใจระบบดังกล่าวในระดับดีมาก ร้อยละ 54 ระดับดี ร้อยละ 34 และปานกลาง ร้อยละ 12 รวมทั้งมีการพัฒนาระบบต่าง ๆ อีก 4 ระบบ เช่น ระบบการสอบออนไลน์ระบบอบรมครูออนไลน์ โดยในปี 2564 มีผู้ใช้งานในระบบต่าง ๆ  รวม 23.2 ล้านราย นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาและส่งเสริมการใช้เครื่องมือในการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับกระบวนการจัดการเรียนการสอน ตามแนวทาง สสวท. เช่น จัดทำกรอบการสร้างข้อสอบ TCAS 65 จำนวน 6 ฉบับ ต้นร่างข้อสอบ TCAS 65 จำนวน 12 ฉบับ และรายงานผลการวิเคราะห์คุณภาพข้อสอบที่คัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาปีการศึกษา 2564
                             1.4 การเร่งรัดพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิดศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมตามนโยบายประเทศไทย 4.0 เช่น การบริหารการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) โดยได้พัฒนาโปรแกรมเสริมให้ผู้รับทุนโครงการ สควค. ระยะที่ 4 ในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท การบริหารการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) โดยคัดเลือกนักเรียนและนักศึกษาเข้าร่วมโครงการแบ่งเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 35 ทุน และระดับอุดมศึกษา จำนวน 64 ทุน นอกจากนี้  ยังมีการสนับสนุนทุนการศึกษานักเรียน นักศึกษา และครูเพื่อพัฒนาให้เป็นผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี และตอบสนองต่อความต้องการของประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ทุน พสวท. จำนวน 1,605 ทุน ทุน สควค. จำนวน 13 ทุน และทุนโอลิมปิกวิชาการ จำนวน 186 ทุน
                             1.5 การส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กรและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มการยอมรับ สสวท. ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีของเยาวชนให้ทันสมัย เช่น การพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ และสมรรถนะตามกลุ่มงานอย่างเป็นระบบ ผ่านการจัดทำแผนพัฒนาองค์กรและบุคลากรแบบก้าวกระโดดเพื่อไปสู่การเป็นองค์กร 4.0 มีการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการทำงานของ สสวท. และสร้างความตระหนักรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เช่น การเสริมสร้างศักยภาพด้านการสื่อสารภาพลักษณ์องค์กร โดยจัดทำเนื้อหาและสื่อส่งเสริมการเรียนรู้และเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ จำนวน 628 ชิ้น การประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพลักษณ์เชิงบวก โดยจัดทำ
ข่าวสารเผยแพร่สื่อมวลชน จำนวน 213 ชิ้น นอกจากนี้ สสวท. ได้ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายจัดประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในโรงเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 24 รูปแบบออนไลน์ในหัวข้อ “นวัตกรรมการเรียนรู้ เพื่อทักษะในศตวรรษที่ 21” โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 19,508 คน
                   2. รายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินของ สสวท. สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบแล้ว เห็นว่าถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐที่กระทรวงการคลังกำหนด สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
หน่วย:ล้านบาท
รายการปี 2564ปี 2563เพิ่มขึ้น/(ลดลง)
1. งบแสดงฐานะการเงิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2564
   รวมสินทรัพย์1,773.961,772.791.17
   รวมหนี้สิน281.78298.72(16.94)
   รวมสินทรัพย์สุทธิ/ส่วนทุน1,492.181,474.0718.11
2. งบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564
   รวมรายได้1,800.121,781.5618.56
   รวมค่าใช้จ่าย1,782.001,893.54(111.54)
   รายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ18.12(111.98)130.10
หมายเหตุ :  ปี 2564 ค่าใช้จ่ายที่ลดลงส่วนใหญ่ คือ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานร่วมกับส่วนราชการ ค่าตอบแทนและค่าใช้สอย
___________________________
*สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม ค้นคว้า และวิจัยหลักสูตร วิธีสอน และการประเมินผลการเรียนการสอนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลย์ในทุกระดับการศึกษา ส่งเสริม และดำเนินการฝึกอบรมครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา รวมทั้งดำเนินการค้นคว้า ปรับปรุง และจัดทำแบบเรียน เอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี
**แนวทาง KOSEN เป็นแนวทางการศึกษาที่เน้นการปฏิบัติการและการวิจัยโดยใช้วิทยาศาสตร์เป็นฐาน มุ่งเน้น และส่งเสริมองค์ความรู้ทางคณิตศาสตร์  ฟิสิกส์ วิศวกรรมศาสตร์ ปัจจุบันประเทศไทยได้ร่วมมือกับสถาบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่น พัฒนาหลักสูตรการศึกษาพิเศษตามแนวทาง KOSEN ที่สถาบันไทย KOSEN 2 แห่ง ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
***สะเต็มศึกษา เป็นแนวทางการจัดการศึกษาที่ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสามารถบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรม และคณิตศาสตร์ไปใช้ในการเชื่อมโยงและแก้ปัญหาในชีวิตจริง รวมทั้งการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เช่น ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม และทักษะสารสนเทศ สื่อ เทคโนโลยี
 
12. เรื่อง  รายงานประจำปี 2564 ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา* (กสศ.) เสนอ  รายงานประจำปี 2564 ของ กสศ. ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 ที่บัญญัติให้ กสศ. จัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาเพื่อทราบภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับรายงานการสอบบัญชี (กสศ. ได้รับรายงานเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                   1. ผลการดำเนินงานของ กสศ. ประจำปี 2564 ที่สำคัญ ดังนี้
โครงการผลการดำเนินงาน
1) มาตรการเร่งด่วนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19)ให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่นักเรียนในครอบครัวยากจนพิเศษกลุ่มช่วงชั้น
รอยต่อของระดับการศึกษา (อนุบาลศึกษาปีที่ 3 ประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3) ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา จำนวน 294,424 คน รวมทั้งได้ดำเนินการโครงการระดมความร่วมมือภาคเอกชนและภาคประชาชนเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบางในภาวะวิกฤตผ่านโครงการต่าง ๆ มีเด็กและเยาวชนขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสได้รับประโยชน์ จำนวน 33,532 คน
2) โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาส่งเสริมและสนับสนุนให้จังหวัดหรือท้องถิ่นมีระบบการช่วยเหลือและแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาในระดับพื้นที่ผ่านต้นแบบและระบบการทำงานใหม่ ๆ โดยมีกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์ ได้แก่  1) เด็กปฐมวัยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 54,028 คน และ 2) เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา จำนวน 7,142 คน ได้รับการช่วยเหลือให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือได้รับการฝึกทักษะอาชีพเพื่อสร้างรายได้
3) โครงการพัฒนาทักษะแรงงานขาดแคนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่ใช้ชุมชนเป็นฐานกลุ่มประชากรวัยแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผู้ด้อยโอกาส และผู้ที่ได้รับ
ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จำนวน 8,561 คน ได้รับการพัฒนา
ทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต มีแผนการประกอบอาชีพ และเกิดการรวมกลุ่ม
และพัฒนาไปสู่การเป็นวิสาหกิจชุมชน และมีการพัฒนาหน่วยพัฒนาอาชีพ
จำนวน 117 แห่ง ใน 48 จังหวัด 6 ภูมิภาคทั่วประเทศที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน
4) โครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาช่วยเหลือ ดูแล และพัฒนาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา
จำนวน 36,268 คน ให้ได้รับโอกาสในการเรียนรู้อย่างเหมาะสมตามบริบท
และสภาพปัญหา รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพและทักษะของครู
นอกระบบ จำนวน 3,471 คน เพื่อให้สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้
ได้อย่างมีคุณภาพ เช่น การออกแบบกระบวนการเรียนรู้และสามารถประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความรู้ความเข้าใจจิตวิทยาเด็กและระบบการคุ้มครองเด็ก
5) โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไขส่งเสริมและสนับสนุนโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กและเยาวขน
วัยเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส (นักเรียนยากจนพิเศษ)
โดยมีการติดตามเงื่อนไขการมาเรียนและพัฒนาการที่สมวัยตามเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งนี้ ในภาคเรียนที่ 1/2564 มีผู้ได้รับเงินอุดหนุน จำนวน 1,244,591 คน
6) โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสให้มีโอกาสศึกษาต่อในสายอาชีพในระดับ ปวช. และ ปวส. ในสาขาที่สอดคล้องกับความต้องการแรงงานฝีมือ เช่น การแปรรูปอาหาร เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพผ่านการให้ทุนการศึกษา จำนวน 7,067 คน และสนับสนุนทุนนวัตกรรมสายอาชีพให้นักศึกษาที่มีความต้องการพิเศษ จำนวน 189 ทุน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้พิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย และผู้พิการทางการเคลื่อนไหว
7) โครงการทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพสร้างโอกาสทางการศึกษาสายอาชีพระดับสูงให้แก่เยาวขนที่มีความสามารถพิเศษแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสระดับ ปวช. หรือ ปวส. โดยการให้ทุนการศึกษาในระดับปริญญาตรี โท และเอก จำนวน 85 คน มีการบูรณาการและยกระดับการพัฒนาและส่งเสริม “นักศึกษาช้างเผือก” ผ่านความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น การทำโครงงานหรือวิจัยร่วมกับผู้ประกอบการ การส่งเสริมทักษะชีวิต และการเปิดโลกด้านเทคโนโลยีใหม่ เพื่อให้นักศึกษาทุนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความพร้อมและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติต่อไป
8) โครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล  เป็นครูรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชนสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับเยาวชนยากจนหรือด้อยโอกาสให้เข้าถึงการศึกษาในในระดับอุดมศึกษา จำนวน 627 คน ในสถาบันผลิตและพัฒนาครู 15 แห่งทั่วประเทศ พัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่เป็นโรงเรียนปลายทางของนักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น และการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลตามเป้าหมายจำนวน 600 แห่ง ให้มีระบบการบริหารจัดการและวิชาการที่เข้มแข็งต่อเนื่อง
9) โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่องโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 727 แห่ง เกิดการพัฒนาอย่างเป็นระบบ
ทำให้นักเรียนกว่า 190,000 คน มีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพสูงขึ้น ทั้งนี้ โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการพัฒนา 3 ด้าน
ได้แก่ 1) การจัดการเรียนรู้และบริหารจัดการภายในโรงเรียน 2) การบริหารจัดการด้านวิชาการ และ 3) การยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา
10) โครงการวิจัยและนวัตกรรมด้านการศึกษามีการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรม รวม 33 ชิ้นงาน จำแนกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) นวัตกรรมระบบเทคโนโลยีและข้อมูลสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เช่น ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและระบบฐานข้อมูลสถานะความเหลื่อมล้ำและคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ 2) การวิจัยและประเมินผล เช่น งานวิจัยเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและ 3) การพัฒนาเครือข่ายการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย เช่น งานวิจัยผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 กับกลุ่มเป้าหมายของ กสศ. และการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อลดภาวะการเรียนรู้ถดถอย
 
                   2. รายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินของกองทุนฯ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 มีความถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐที่กระทรวงการคลังกำหนด สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                                                                                      หน่วย : ล้านบาท  
รายการปี 2564ปี 2563เพิ่มขึ้น/(ลดลง)
1. งบแสดงฐานะการเงิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2564
   รวมสินทรัพย์3,085.092,625.41459.68
   รวมหนี้สิน168.1697.5170.65
   รวมสินทรัพย์สุทธิ/ส่วนทุน2,916.932,527.90389.03
2. งบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564
   รวมรายได้6,152.705,538.78613.92
   รวมค่าใช้จ่าย5,763.675,150.48613.19
   รายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ389.03388.300.73
3. งบแสดงการเปลี่ยนแปลงสินทรัพย์สุทธิ/ส่วนทุน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564
   ทุนประเดิม1,011.961,011.96คงเดิม
   รายได้สูง/(ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสม1,904.941,515.91389.03
   องค์ประกอบอื่นของสินทรัพย์สุทธิ/ส่วนทุน0.030.030.00
   รวมสินทรัพย์สุทธิ/ส่วนทุน (ยอดคงเหลือ)2,916.932,527.90389.03
หมายเหตุ : ปี 2564 ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมาจากค่าใช้จ่ายบุคลากร ค่าใช้จ่ายโครงการ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
____________________
*กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา สนับสนุนเงินและค่าใช้จ่ายให้แก่เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูให้มีความสามารถจัดการเรียนการสอน
 
13.  เรื่อง รายงานสถานการณ์เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ประจำปี 2563-2564
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) เสนอ รายงานสถานการณ์เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและผลการดำเนินงานของ ท.ท.ช.  ประจำปี 2563-2564 ดังนี้
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                   สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะสำนักงานเลขานุการของ ท.ท.ช. รายงานว่า เนื่องจากในปี 2563 เหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้สร้างความเสียหายให้กับภาคการท่องเที่ยวของไทยและของโลกเป็นอย่างมาก สรุปได้ ดังนี้
                   1. สถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยและของโลกปี 2563 และแนวโน้มปี 2564
ประเด็นสาระสำคัญ
1. รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทยปี 2563 มีรายได้ลดลงจากปี 2562 ประมาณ 2.18 ล้านล้านบาท
 
2. สถานการณ์การท่องเที่ยวไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2563 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย จำนวน 6.70 ล้านคน
ลดลงร้อยละ 83.2 จากปี 2562 (39.92 ล้านคน) และรายได้ 0.33               ล้านบาท ลดลงร้อยละ 82.6 จากปี 2562 (1.91 ล้านบาท)
3. สถานการณ์การท่องเที่ยวไทยของนักท่องเที่ยวไทยการท่องเที่ยวในประเทศปรับตัวลดลง เนื่องจากการแพร่ระบาดของ                โควิด-19 การประกาศใช้มาตรการควบคุมการระบาดของโลก รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยว เช่น อุทยานแห่งชาติ ได้ปิดลงชั่วคราว โดยนักท่องเที่ยวไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศประมาณ 90.56 ล้านคน1 ลดลงร้อยละ 47.6 จากปี 2562 การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยในประเทศ มีมูลค่า 4.82 แสนล้านบาท ลดลงร้อยละ 55.4 จากปี 2562- พฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยวไทยส่วนหนึ่งเลือกเดินทางแบบเช้าไปเย็นกลับมากกว่าพักค้างคืน ทำให้ธุรกิจโรงแรมและที่พักได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยในปี 2563 อัตราการเข้าพัก2 ทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 29.51 ลดลงร้อยละ 40.6 เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีอัตราการเข้าพักทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 70.08 รวมถึงกำลังซื้อของคนไทยที่ลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจส่งต่อการจับจ่ายใช้สอยระหว่างการเดินทาง
4. สถานการณ์การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั่วโลกสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นวิกฤตไปทั่วโลก ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกลดลง เมื่อเทียบกับปี 2562 ดังนี้
นักท่องเที่ยวระหว่างประเทศของโลกมีจำนวน 381 ล้านคน ลดลง            ร้อยละ 73.6
รายได้จากการท่องเที่ยวทั่วโลกลดลงกว่า 0.9-1.2  พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
- อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกสูญเสียรายได้ 118 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ความต้องการเดินทางหดตัวร้อยละ 65.9
- การจองห้องพักของโรงแรมและที่พักลดลงกว่าร้อยละ 48
5. แนวโน้มการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศในปี 2564แม้ว่าในหลายประเทศจะเริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่สถานการณ์
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศยังพบผู้ติดเชื้อสูงทำให้แนวโน้มการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกในปี 2564 ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากการเดินทางท่องเที่ยวยังต้องขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ 1) การควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในแต่ละประเทศหลายประเทศยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินนโยบายในการเปิดรับนักท่องเที่ยวและยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการเดินทางของผู้ที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยว และ 2) การฉีดวัคซีนยังจำกัดเฉพาะประเทศและการเข้าถึงเฉพาะกลุ่ม จากข้อมูล Our World in Data3 สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีประชาชนได้รับวัคซีนครบโดสประมาณ 52 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 0.67 ของประชากรโลก
                    2. ผลการดำเนินงานของ ท.ท.ช. ประจำปี 2563-2564
ประเด็นสาระสำคัญ
1. การจัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ (พ.ศ. 2564-2565)4ท.ท.ช. ได้จัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นแผนพัฒนาเฉพาะกิจอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อวางรากฐานและแก้ปัญหาการหยุดชะงักของการท่องเที่ยว โดยสร้างความสมดุลของการพัฒนาทั้งในมิติของพื้นที่ เวลา กิจกรรม รูปแบบและกลุ่มนักท่องเที่ยวเพื่อการสร้างรายได้และกระจายรายได้สู่ชุมชน รวมทั้งเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสู่การเติบโตในอนาคต โดยมุ่งประเด็นพัฒนาที่สำคัญ เช่น 1) พัฒนาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยว ผู้ผลิต และขายสินค้า/บริการ 2) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก และปรับปรุงปัจจัยเอื้อให้สนับสนุนการฟื้นตัวและเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 3) ปรับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพผ่านการตลาด และ 4) บริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
2. การประกาศเขตพัฒนาการท่องเที่ยว 6 เขต (เพิ่มเติม) (จากปี 2558-2560 ที่มีการประกาศเขตพัฒนาการท่องเที่ยวไปแล้ว 9 เขต)5ในปี 2563 ได้มีการประกาศกำหนดเขตพัฒนาการท่องเที่ยวเพิ่มเติมจำนวน 6 เขตพัฒนาการท่องเที่ยว ได้แก่ 1) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองเก่ามีชีวิต (จังหวัดน่าน แพร่ พะยา และอุตรดิตถ์) 2) เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตชายฝั่งอ่าวไทย 3) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น - เขาใหญ่ 4) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวธรณีวิทยาถิ่นอีสาน 5) เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และ 6) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้ทำให้ปัจจุบันไทยมีเขตพัฒนาการท่องเที่ยวทั้งสิ้น 15 เขต ครอบคลุมพื้นที่ 59 จังหวัด
3. การประกาศ ท.ท.ช. เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการ               ต่าง ๆประธานกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ [รองนายกรัฐมนตรี
(นายอนุทินฯ] ได้ลงนามประกาศ ท.ท.ช. ดังนี้
ประกาศ ท.ท.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาการท่องเที่ยว ประจำเขตพัฒนาการท่องเที่ยว พ.ศ. 2564 กำหนดให้คณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยว6 จัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาการท่องเที่ยวตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นการท่องเที่ยว แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ รวมถึงแนวคิดการพัฒนาของเขตการท่องเที่ยวควรอยู่บนพื้นฐานศักยภาพของพื้นที่ความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยว
ประกาศ ท.ท.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ แต่งตั้ง และการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยว ประจำเขตพัฒนาการท่องเที่ยว  พ.ศ. 2564 กำหนดให้คณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวติดตามตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการพัฒนาการท่องเที่ยว รวมถึงรายงานสภาพปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามแผนปฏิบัติการพัฒนาการท่องเที่ยวได้ต่อ ท.ท.ช.
 
4.การปรับปรุงมาตรฐานการท่องเที่ยวไทยท.ท.ช. ได้เห็นชอบการปรับปรุงมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย จำนวน 5 มาตรฐาน ได้แก่ 1) มาตรฐานที่พักเพื่อการท่องเที่ยวประเภทโรงแรม เพื่อให้เป็นไปตามสถานการณ์ปัจจุบันและรองรับแนวโน้มการท่องเที่ยวยุคใหม่ (New Normal) 2) มาตรฐานที่พักแบบระยะยาว เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 3) มาตรฐานห้องน้ำสาธารณะเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อให้สอดคล้องกับสุขอนามัยและเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 4) มาตรฐานร้านอาหารเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและข้อกำหนดตามกฎกระทรวงสาธารณสุข และ 5) มาตรฐานสถานที่จำหน่ายของที่ระลึกประเภทอัญมณี เพื่อให้มาตรฐานครอบคลุมถึงผู้ประกอบการค้าอัญมณีรายเล็ก และสร้างความเชื่อมั่นในการเลือกซื้อสินค้าให้แก่นักท่องเที่ยว
5. การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ ท.ท.ช.ท.ท.ช. ได้เห็นชอบคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ ท.ท.ช. จำนวน  2 คณะ ได้แก่ 1) คณะอนุกรรมการด้านความปลอดภัยทางการท่องเที่ยว เพื่อกำหนดกรอบแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากอุบัติเหตุและความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือในการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีของไทย และ 2) คณะอนุกรรมการการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินภารกิจการส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของไทยตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ อีกทั้งช่วยส่งเสริมให้ไทยมีแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพระดับโลกที่เติบโตบนพื้นฐานของความเป็นไทยจากการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้สามารถกระจายรายได้สู่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน
6. การศึกษาและจัดทำแนวทางการจัดเก็บและการบริหารจัดการค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวที่เรียกเก็บจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติท.ท.ช. ได้เห็นชอบในหลักการ เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เพื่อใช้จ่ายในการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยว โดยมีการปรับอัตราค่าธรรมเนียมที่เหมาะสมจากเดิม 65-220 บาท เป็น 300 บาท และส่วนหนึ่งของค่าธรรมเนียมที่เก็บได้จะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดประกันภัยให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในระหว่างการท่องเที่ยวภายในประเทศโดยให้ความคุ้มครองแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติตามเกณฑ์ของกองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
7. การจัดทำแผนการเปิดประเทศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติท.ท.ช. ได้เห็นชอบแผนการเปิดประเทศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
โดยแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 : นำร่อง (1 เมษายน-30 มิถุนายน 2564 ระยะที่ 2 : Phuket Sandbox (1 กรกฎาคม-30 กันยายน 2564)
ระยะที่ 3 : ผ่อนคลาย 10 จังหวัด คือ จังหวัดภูเก็ต กระบี่ พังงา                   สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ ชลบุรี กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และบุรีรัมย์ (1 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2564) และระยะที่ 4 : เข้าสู่ภาวะปกติ (1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป) [ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) (ศบค.) ที่ 4/2564 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 9)]
 
_______________
1นับจากจำนวนคนที่เดินทางท่องเที่ยวในสถานที่ต่าง ๆ ภายในประเทศตลอดทั้งปี
2อัตราการเข้าพัก คือ การนำจำนวนห้องพักที่ขายได้ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง (รายปี รายเดือน หรือรายวัน) นำมาหารด้วยจำนวนห้องพักที่เปิดขายทั้งหมด
3Our World in Data คือ สื่อพิมพ์ออนไลน์ที่รวบรวมข้อมูลภาพรวมระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงข้อมูลประชากร สาธารณสุข พลังงาน การศึกษา
4คณะรัฐมนตรีมีมติ (30 พฤศจิกายน 2564) อนุมัติ (ร่าง) แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ (พ.ศ. 2564-2565) ตามที่ ท.ท.ช. เสนอ
5เขตพัฒนาการท่องเที่ยว 9 เขต ระหว่างปี 2558-2560 ประกอบด้วย 1) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก 2) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออก 3) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน 4) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา 5) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ 6) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวมรดกโลกด้านวัฒนธรรม 7) เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง 8) เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลาง และ 9) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวหมู่เกาะทะเลใต้
6คณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวจะจัดตั้งขึ้นเมื่อมีการประกาศกำหนดเขตพัฒนาการท่องเที่ยวขึ้นในพื้นที่นั้น โดยองค์ประกอบคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีผู้แทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นกรรมการและเลขานุการ
 
 
 
14. เรื่อง รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนมีนาคม และไตรมาสแรกของปี 2565
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนมีนาคม 2565 และไตรมาสแรกของปี 2565 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
                   สาระสำคัญ
                   1. สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนมีนาคม 2565
การส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 2565 มีมูลค่า 28,859.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (922,313 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 19.5 การส่งออกของไทยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 จากความต้องการสินค้าทั่วโลกที่แข็งแกร่ง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศที่คลี่คลายลง นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) อยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 21 โดยการจ้างงาน และการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเร่งตัวขึ้น บ่งชี้ว่า ประเทศคู่ค้าสำคัญมีแนวโน้มเติบโต
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนมีนาคม 2565 การส่งออก มีมูลค่า 28,859.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 19.5 การนำเข้า มีมูลค่า 27,400.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 18.0 ดุลการค้า เกินดุล 1,459.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ ไตรมาสแรกของปี 2565 (มกราคม-มีนาคม) การส่งออก มีมูลค่า 73,601.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 14.9 การนำเข้า มีมูลค่า 74,545.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 18.4 ดุลการค้า ขาดดุล 944.0 ล้านเหรียญสหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนมีนาคม 2565 การส่งออก มีมูลค่า 922,313 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 28.7 การนำเข้า มีมูลค่า 887,353 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 26.8 ดุลการค้า เกินดุล 34,960 ล้านบาท ขณะที่ ไตรมาสแรกของปี 2565 (มกราคม-มีนาคม) การส่งออก มีมูลค่า 2,401,444 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 26.1 การนำเข้า มีมูลค่า 2,466,654 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 29.9 ดุลการค้า ขาดดุล 65,210 ล้านบาท
                   การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 14.2 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 16 เดือน สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 6.3 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้) ข้าว ขยายตัวร้อยละ 53.9 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อิรัก จีน แอฟริกาใต้ เบนิน ฮ่องกง เยเมน และโมซัมบิก) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 2.0 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อียิปต์ และลิเบีย) น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 204.3 (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย กัมพูชา มาเลเซีย เกาหลีใต้ ลาว จีน และเมียนมา) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 15.5 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อิตาลี มาเลเซีย ออสเตรเลีย อินเดีย และเวียดนาม) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 350.1 (ขยายตัวในตลาดอินเดีย มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และเวียดนาม) ไก่แปรรูป ขยายตัวร้อยละ 6.6 (ขยายตัวในตลาดสหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไอร์แลนด์ และแคนาดา) สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวร้อยละ 9.7 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย มาเลเซีย กัมพูชา และเมียนมา) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา หดตัวร้อยละ 6.0 (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย และญี่ปุ่น) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัวร้อยละ 0.3 หดตัว (หดตัวในตลาดมาเลเซีย ฮ่องกง เวียดนาม และเกาหลีใต้) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง หดตัวร้อยละ 22.1 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และเมียนมา) ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 13.3 (YoY)
    การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
    มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 20.6 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ขยายตัวร้อยละ 15.5 (ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย เวียดนาม อินเดีย กัมพูชา และญี่ปุ่น) เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ขยายตัวร้อยละ 36.9 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และอินเดีย) แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 11.0 (ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ จีน ฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ ไต้หวัน และมาเลเซีย) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 37.1 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อินเดีย ฮ่องกง เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และอิตาลี) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 37.9 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เนเธอร์แลนด์ เมียนมา และกัมพูชา) เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อนและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 71.9 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ แคนาดา ลาว เมียนมา และแอฟริกาใต้) เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ขยายตัวร้อยละ 10.6 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และแคนาดา) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 10.9 (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม และสหรัฐฯ) ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัวร้อยละ 13.4 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และเวียดนาม) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 6.1 กลับมาหดตัวในรอบ 7 เดือน (หดตัวในตลาดเวียดนาม ไต้หวัน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย) ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 14.9 (YoY)
    ตลาดส่งออกสำคัญ
    การส่งออกไปยังตลาดสำคัญส่วนใหญ่ยังคงขยายตัว แม้จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในบางตลาด ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน และการใช้มาตรการควบคุมไวรัสโควิด-19 ที่เข้มงวดมากขึ้นของจีน ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่างๆ  สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 12.7 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 21.5 จีน ร้อยละ 3.2 ญี่ปุ่น ร้อยละ 1.0 อาเซียน (5) ร้อยละ 34.8 CLMV ร้อยละ 1.0 และสหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 6.9 (2) ตลาดรอง ขยายตัว
ร้อยละ 10.2 
ขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 36.4 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 29.5 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 2.2 ขณะที่ทวีปออสเตรเลีย และรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS หดตัวร้อยละ 1.3 และ 65.9 ตามลำดับ และ (3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 1,411.6 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัวร้อยละ 2,865.2
    2.ปัจจัยสนับสนุนและมาตรการส่งเสริมการส่งออก
    การส่งออกของไทยที่ขยายตัวได้ดีมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) โอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปตลาดโลกได้มากขึ้นจากความต้องการรักษาความมั่นคงทางอาหารของหลายประเทศ (2) การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีที่มีผลบังคับใช้แล้ว (3) การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบีย (4) ทิศทางของราคาสินค้าอาหารและโภคภัณฑ์ที่กำลังสูงขึ้น และ (5) ค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าในระดับที่เอื้อต่อการส่งออก
    มาตรการและแผนส่งเสริมการส่งออกกระทรวงพาณิชย์ที่สำคัญ อาทิ (1) การส่งเสริมการส่งออกผ่านนโยบาย Soft Power ผลักดัน 4 กลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ อาหาร ดิจิทัลคอนเทนต์ สุขภาพความงาม และสินค้าสร้างสรรค์อัตลักษณ์ไทย (2) การร่วมมือกับภาคเอกชนจัดทำมาตรการเชิงรุกบริหารจัดการส่งออกผลไม้ สำหรับฤดูการผลิตปี 2565 โดยเร่งรัดเจรจากับจีน เพื่อขอให้เปิดช่องทางรับสินค้าเพิ่มเติม เจรจากับลาวและเวียดนาม เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามแดน และประสานความร่วมมือในการตรวจสอบคุณภาพสินค้าและตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 และ (3) การผลักดันและเร่งแก้ไขปัญหาการค้าชายแดน อาทิ การส่งเสริมการค้าชายแดนของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนไทย-เมียนมา รวมทั้งเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อขอให้เปิดด่านการค้าชายแดนระหว่างกันมากขึ้น หลังปิดทำการชั่วคราวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19        
 
15. เรื่อง รายงานความก้าวหน้าของมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทยปี พ.ศ. 2561-2570
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอรายงานความก้าวหน้าของมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทยปี พ.ศ. 2561-2570 ตั้งแต่ปี 2564 ถึงปัจจุบัน และสรุปประเด็นปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานมาเพื่อคณะรัฐมนตรีทราบ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   อก. รายงานว่า
                    1. ผลการดำเนินการงานภายใต้มาตรการฯ ประกอบด้วย
                       1.1 มาตรการขจัดอุปสรรคการลงทุนและสร้างปัจจัยสนับสนุน มีการดำเนินงานสรุปได้ ดังนี้
                             (1) สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้ปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (2 ตุลาคม 2561) อนุมัติหลักการและคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้วโดยขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อบรรจุเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป
                             (2) กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้จัดทำกฎกระทรวงกำหนดประเภทชนิด และขนาดของโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 โดยเพิ่มประเภทโรงงาน เช่น การทำเคมีภัณฑ์หรือสารเคมี หรือวัสดุเคมี ซึ่งใช้วัตถุดิบพื้นฐานทางการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ต่อเนื่องโดยใช้กระบวนการเคมีชีวภาพเป็นพื้นฐาน และการผลิตพลาสติกชีวภาพจากเคมีภัณฑ์หรือสารเคมีหรือวัสดุเคมีที่ผลิตจากวัตุดิบพื้นฐานทางการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์ที่ต่อเนื่อง
                             (3) กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ปรับปรุงแก้ไขผังเมืองรวมของพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ในจังหวัดชัยภูมิ อุบลราชธานี และลพบุรี เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาและเป็นไปตามกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำผังเมืองรวมเมือง/ชุมชนเพื่อรองรับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมชีวภาพ
                             (4) หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ผลักดันภาคการเกษตรสู่การทำเกษตรสมัยใหม่เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศ เช่น
                                 (4.1) กรมวิชาการเกษตรได้พัฒนาแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะสำหรับพืชวัตถุดิบในอุตสาหกรรมชีวภาพ เช่น แปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะปาล์มน้ำมันจังหวัดกระบี่และสุราษฎร์ธานี รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ
                                 (4.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ดำเนินโครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) โดยจัดทำแนวทางบริหารจัดการสินค้าเกษตรทางเลือกที่มีอนาคตเพื่อวางแผนการผลิตและการปรับเปลี่ยนพืชเสริม/พืชแซมของพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง สับปะรด ปาล์มน้ำมัน และยางพารา เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
                                 (4.3) กรมพัฒนาที่ดินได้วางแผนการใช้ที่ดินและการผลิตพืชเศรษฐกิจตามความเหมาะสมของดินผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ รวม 93,297 ไร่
                                 (4.4) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติได้ดำเนินโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนจากข้าวเป็นพืชวัตถุดิบในอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยมีการปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่เพื่อการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 258,818 ไร่ อ้อยโรงงาน 472 ไร่ และมันสำปะหลัง 633.25 ไร่ และมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 17,720 ราย รวมทั้งได้พัฒนาระบบ WiMarC “ไวมาก” เพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลสภาพภูมิอากาศในสวนเกษตรด้วยเซ็นเซอร์และรูปภาพ
                      1.2 มาตรการเร่งรัดการลงทุนภายในประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ขยายระยะเวลาของมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกถึงสิ้นปี 2565 เพื่อให้สิทธิและประโยชน์ด้านการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมกับโครงการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว โดยในปี 2564 มีโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมชีวภาพ (อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหารและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ) ที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมรวม 222 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 76,561.7 ล้านบาท ประกอบด้วย
พื้นที่จำนวน
(โครงการ)
มูลค่าการลงทุน
(ล้านบาท)
ตัวอย่างโครงการที่น่าสนใจ
(1) เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก3117,512.0การผลิตพลาสติกชีวภาพ
ชนิด Thermoplastic Starch (TPS)1
(2) เขตพื้นที่ภาคเหนือ ตอนล่าง (นครสวรรค์)320,598.0การผลิตพลาสติกชีวภาพ
ชนิด Polylactic Acid (PLA)2
(3) เขตพื้นที่ภาคอีสาน ตอนกลาง (ขอนแก่น)116.7การผลิตหลอดดูดน้ำย่อยสลายได้จากเศษแป้ง
(4) เขตพื้นที่ศักยภาพอื่น18738,435.0การผลิตสารสกัดจากเซรั่มยางพารา
ทั้งนี้ มีความคืบหน้าของโครงการที่ภาคเอกชนได้ขับเคลื่อนการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศ ในปี 2564 เช่น
                                 (1) โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ โดยแบ่งโครงการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ก่อสร้างโรงหีบอ้อย กำลังการผลิต 24,000 ตันต่อวัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองเดินเครื่องจักรและคาดว่าจะสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2565 และระยะที่ 2 การผลิตวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตพลาสติกชีวภาพ กำลังการผลิต 75,000 ตันต่อปี โดยอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนและการสรรหาพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ
                                 (2) โครงการไบโอ ฮับ เอเชีย เพื่อพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะรองรับโรงงานอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น พลังงานชีวภาพ เคมีชีวภาพ และอาหารแห่งอนาคตสำหรับคนและสัตว์ โดยได้ลงนามสัญญาร่วมทุนฉบับใหม่กับนักลงทุนจากต่างประเทศแล้ว เช่น ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์และกลุ่มประเทศในยุโรป รวมทั้งได้ส่งเสริมการเกษตรอัจฉริยะในพื้นที่รอบโครงการเพื่อควบคุมปริมาณและคุณภาพวัตถุดิบจากเกษตรกรรายแปลงแบบครบวงจร โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้ว 60,000 ครัวเรือน
                                 (3) โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park เพื่อพัฒนาพื้นที่และระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) โดยอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายภายในโครงการซึ่งคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2567
                             1.3 มาตรการกระตุ้นอุปสงค์ มีการดำเนินงาน เช่น
                                 (1) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้ออกใบรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ จำนวน 45 ใบรับรอง ให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อให้สามารถยื่นขอยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละยี่สิบห้าสำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 – 31 ธันวาคม 2564 ทั้งนี้ กรมสรรพากรอยู่ระหว่างพิจารณาขยายระยะเวลามาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพเพื่อกระตุ้นความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพในประเทศเพิ่มขึ้น
                                 (2) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้ยึดหลักแนวคิดขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) ในการดำเนินงาน โดยได้ออกประกาศ เรื่อง ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟมและบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 นอกจากนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล จัดเก็บขยะชายหาดและขยะตกค้างในระบบนิเวศทางทะเลได้ปริมาณ 1,427,831 ชิ้น
                                 (3) สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายและสถาบันพลาสติกได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “Go Green ไปกับถุงพลาสติกชีวภาพ” เพื่อรณรงค์/ประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพเพิ่มขึ้น
                             1.4 มาตรการสร้างเครือข่ายในรูปแบบของศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านชีวภาพ (Center of Bio Excellence: CoBE) มีการดำเนินงาน ดังนี้
                                 (1) การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนารูปแบบและแนวทางการผลักดันให้ CoBE เป็นหน่วยงานกลาง หรือ One Stop Service ที่ครอบคุลมการให้บริการทั้งด้านข้อมูลงานวิจัย/มาตรฐาน/การตลาด และด้านการทดสอบทางเทคนิคและการสนับสนุนทุนวิจัยให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในลักษณะการอนุเคราะห์ทรัพยากร เครื่องมือ และสถานที่ ซึ่งการวิจัยส่วนใหญ่เป็นการนำวัสดุชีวภาพไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตร
                                 (2) การให้คำปรึกษา สนับสนุนเงินทุนในการยกระดับสถานประกอบการชีวภาพและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพต้นแบบ โดยให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการเพื่อยกระดับกระบวนการผลิตเข้าสู่อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพและเพิ่มผลผลิตสถานประกอบการด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพต้นแบบผ่านการสนับสนุนทุนวิจัยให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
                                 (3) การจัดทำหลักสูตรและฝึกอบรมเพื่อสร้างบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญด้านชีวภาพ เช่น การพัฒนาหลักสูตร Refinery Engineering สำหรับนักศึกษาและบุคลากรภาคอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบคุณภาพของหลักสูตร
                                 (4) การพัฒนาศูนย์ข้อมูลอัจฉริยะอุตสาหกรรมชีวภาพ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมชีวภาพเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลใน 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์เป้าหมาย ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ และชีวเภสัชภัณฑ์ โดยปรับปรุงฐานข้อมูลเดิมให้ทันสมัยและพัฒนาข้อมูลใหม่เพิ่มเติม
                   2. ปัญหาและอุปสรรคการดำเนินงาน
                             2.1 การกระตุ้นการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพยังไม่สามารถผลักดันให้เกิดผลในวงกว้างได้มากเท่าที่ควร เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 702) พ.ศ. 2563 เกี่ยวกับมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 – 31 ธันวาคม 2564 แต่มีผลใช้บังคับวันที่ 22 มิถุนายน 2563 ส่งผลให้ไม่มีผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในรอบระยะเวลาบัญชี 2562 ซึ่งเป็นปีแรกของการใช้มาตรการภาษีดังกล่าว นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเกิดความลังเลว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเนื่องจากต้องอาศัยเวลาในการเตรียมตัวและความพร้อมในการผลิตก่อนที่จะนำออกสู่ตลาดเพื่อจำหน่าย
                             2.2 การลงทุนของภาคเอกชนไม่เป็นไปตามแผนการที่วางไว้เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นอกจากนี้ โครงการลงทุนบางแห่งยังประสบปัญหาด้านการผังเมืองที่ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงการอุตสาหกรรมชีวภาพ รวมทั้งมีการคัดค้านของประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการตั้งโรงงานน้ำตาลหรือโรงงานที่เกี่ยวข้อง
                             2.3 ข้อจำกัดด้านกฎหมาย กฎ ระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศ เช่น การไม่มีกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพและความหลากหลายทางชีวภาพ
                             2.4 บุคลากรที่มีความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญในห้องปฏิบัติการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้บริการ โดยเฉพาะผู้ตรวจประเมินและผู้ดำเนินงานในหน่วยงานศึกษาวิจัย/พัฒนาส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องรอรายงานผลการทดสอบค่อนข้างนานและอาจเสียโอกาสทางการแข่งขัน
                             2.5 ปริมาณเม็ดพลาสติกชีวภาพที่ผลิตในประเทศมีไม่เพียงพอและราคาต้นทุนสูงกว่าเม็ดพลาสติกทั่วไป ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายไม่มีความพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมชีวภาพหรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพที่มีมูลค่าสูง
_____________________
1 Thermoplastic Starch (TPS) คือ พลาสติกที่ผลิตจากพืชซึ่งมีแป้งเป็นองค์ประกอบหลัก ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด  มันสำปะหลัง และถั่วต่าง ๆ โดยใช้กระบวนการทางความร้อนขึ้นรูป
2Polylactic Acid (PLA)  คือ พลาสติกที่มีการผลิตจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ส่วนประกอบของข้าวโพด ธัญพืช   มันสำปะหลัง และอ้อย มีกระบวนการผลิตด้วยการหมัก
 
16. เรื่อง การดำเนินโครงการ “ที่พักอาศัยผู้สูงอายุ รามา-ธนารักษ์” บนที่ดินราชพัสดุ จังหวัดสมุทรปราการ โดยบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอให้กรมธนารักษ์และบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) ดำเนินโครงการ “ที่พักอาศัยผู้สูงอายุ รามาฯ - ธนารักษ์” บนที่ดินราชพัสดุ จังหวัดสมุทรปราการ โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล (คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กรอบงบลงทุนของโครงการฯ ประมาณ 1,345.934 ล้านบาท และจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ บนเงื่อนไขที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) กำหนดเท่านั้น
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   เดิมคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (8 พฤศจิกายน 2559) เห็นชอบมาตรการการสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Senior Complex) บนที่ราชพัสดุ 4 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี นครนายก เชียงราย และเชียงใหม่ ซึ่งการสร้างที่พักอาศัยทั้ง 4 แห่งบนที่ราชพัสดุดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการ ต่อมาได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงโครงการศูนย์ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร (Senior Complex) ร่วมกัน 6 ฝ่ายระหว่างกรมธนารักษ์ บริษัท  ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จังหวัดสมุทรปราการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อให้ผู้สูงอายุที่ดูแลตัวเองได้มีที่พักอาศัยพร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่เหมาะสมสำหรับการดำรงชีวิต มีระบบการดูแลสุขภาพและสวัสดิการอื่น ๆ  แบบครบวงจร บนที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ สป.623 (บางส่วน) และ สป.646 (บางส่วน) ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ประมาณ 72 - 1 - 97 ไร่ ซึ่งประกอบด้วย ศูนย์เรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจรและบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย (Hospice Zone) (มหาวิทยาลัยมหิดลเช่าที่ราชพัสดุ) พื้นที่สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการการพักฟื้นหรือฟื้นฟูสุขภาพ (Nursing Home Zone) (อยู่ระหว่างดำเนินการ) และที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Senior Housing Zone) ภายใต้ชื่อโครงการ “ที่พักอาศัยผู้สูงอายุ รามาฯ -  ธนารักษ์” (กรมธนารักษ์มอบหมายให้บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการจัดสร้างและบริหารโครงการฯ) ในครั้งนี้กระทรวงการคลังจึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการดำเนินโครงการ “ที่พักอาศัยผู้สูงอายุ รามาฯ - ธนารักษ์” โดยใช้งบลงทุนของ ธพส. ประมาณ 1,345.934 ล้านบาท และจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ เมื่อมีผู้เช่า (Leasehold) ห้องพักแล้วทั้งหมดเท่านั้น [เงื่อนไขที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) กำหนด ซึ่งปัจจุบันมีผู้สูงอายุสนใจจองสิทธิเช่าห้องพักอาศัยแล้วจำนวน 1,310 ราย] โดยผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น สิทธิการพักอาศัย 30 ปี สิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินทั้งในระดับปฐมภูมิที่ไม่รุนแรงสามารถใช้บริการได้ที่ศูนย์เรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจรและบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายหรือกรณีจำเป็นต้องได้รับการรักษาเร่งด่วนสามารถใช้บริการของสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงหรือโรงพยาบาลอื่น ๆ ตามสิทธิของบุคคลนั้น ๆ ได้ สิทธิในการตรวจสุขภาพประจำปีจากการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ สิทธิประโยชน์ด้านสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนพิเศษตามเงื่อนไขของแต่ละธนาคารที่ร่วมโครงการ ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด และสภาพัฒนาฯ ได้ให้ความเห็นชอบโครงการดังกล่าวแล้ว และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้เห็นชอบรายงาน การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ ด้วยแล้ว
 
17. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 9/2565
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) ในคราวประชุมครั้งที่ 9/2565 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ดังนี้
                   1. อนุมัติให้กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตโคเนื้อด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ (โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตโคเนื้อฯ) โดยขยายระยะเวลาสิ้นสุดโครงการ จากเดิมสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2565 เป็นสิ้นสุดเดือนสิงหาคม 2565 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมปศุสัตว์จัดทำรายงานผลการดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตโคเนื้อฯ เสนอ คกง. เป็นรายเดือน
                   2. อนุมัติให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการค้นหาเชิงรุกสำหรับกลุ่มเสี่ยงของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในระดับพื้นที่ (โครงการค้นหาเชิงรุกฯ) โดยขยายระยะเวลาดำเนินโครงการ จากเดิมสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2565 เป็นสิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2565 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมควบคุมโรค สธ. เร่งรัดการดำเนินโครงการค้นหาเชิงรุกฯ ให้เป็นไปตามระยะเวลาที่เสนอโดยเคร่งครัด
                   3. มอบหมายให้กรมปศุสัตว์และกรมควบคุมโรคเร่งแก้ไขข้อมูลโครงการในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (Electronic Monitoring and Evaluation System of National Strategy and Country Reform : eMENSCR) ให้สอดคล้องกับการปรับปรุงรายละเอียดโครงการโดยเร็ว พร้อมทั้งเร่งดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จ และปฏิบัติตามข้อ 19 และข้อ 20 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 พ.ศ. 2563 รวมทั้งให้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดต่อไป
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   คกง. รายงานว่า ที่ประชุม คกง. ในคราวประชุมครั้งที่ 9/2565 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 มีมติที่เกี่ยวกับการพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
โครงการ/รายการมติคณะรัฐมนตรีเดิมมติ คกง.
(1) โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตโคเนื้อฯ ของกรมปศุสัตว์
ระยะเวลาดำเนินโครงการสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2565ขยายระยะเวลาโครงการ
เป็นสิ้นสุดเดือนสิงหาคม 2565
การคืนเงินงบประมาณเหลือจ่ายจากกิจกรรมการจัดซื้อจัดจ้างตัวอ่อนแช่แข็งภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตโคเนื้อฯโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตโคเนื้อฯ กรอบวงเงิน 75.621 ล้านบาทรับทราบการคืนเงินงบประมาณเหลือจ่าย
จากกิจกรรมการจัดซื้อจัดจ้างตัวอ่อนแช่แข็ง
จำนวน 1.784 ล้านบาท
เนื่องจากกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตัวอ่อนแช่แข็งเสร็จสิ้นแล้ว จึงขอคืนเงินงบประมาณที่เหลือจ่ายจากการดำเนินงาน
- พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมปศุสัตว์จัดทำรายงานผลการดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตโคเนื้อฯ เป็นรายเดือน ตั้งแต่สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2565
(2) โครงการค้นหาเชิงรุกฯ ของกรมควบคุมโรคสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2565ขยายระยะเวลาโครงการ
เป็นสิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2565
 
18. เรื่อง สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 2/2565
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (คบศ.) เสนอ ดังนี้
                   1. รับทราบสรุปผลการประชุม คบศ. ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565
                   2. เห็นชอบตามมติ คบศ. ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ดังนี้
                             2.1 รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย ตามข้อเสนอของ สศช. และทีมปฏิบัติการเชิงรุกทาบทามทั้งบริษัทเอกชนไทยและต่างประเทศ
                             2.2 รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ตามข้อเสนอของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (สศส.) และกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
                             2.3 เห็นชอบใน (ร่าง) แผนพัฒนาและฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (ภูเก็ต พังงา กระบี่) ตามข้อเสนอของประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (ดร. ทศพร ศิริสัมพันธ์) และ สศช.
                             2.4 เห็นชอบในหลักการแนวทางการเตรียมความพร้อมในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานเอ็กซ์โปวาระพิเศษ (Specialised Expo) ในปี พ.ศ. 2571 ตามข้อเสนอของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต
                             2.5 เห็นชอบในหลักการแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายหลังผ่อนปรนมาตรการผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ตามข้อเสนอของ ททท.
                   3. เห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีคณะกรรมการสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย (คสดช.) กำหนดองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจของ คสดช. และให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเป็นสำนักงานเลขานุการของ คสดช.
                   4. มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งดำเนินการตามมติ คบศ. และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเร็วต่อไป
                   สาระสำคัญของผลการประชุมและร่างระเบียบฯ
                   1. ผลการประชุม คบศ. ครั้งที่ 2/2565 มีสาระสำคัญ ดังนี้
สรุปผลการประชุมมติ คบศ.ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
1. เรื่องที่สำคัญ
     1.1 สถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุด (เสนอโดย สศช. และ ททท.)
          - สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศ มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม 2565 ชะลอตัวลงตามอุปสงค์ภายในประเทศ
          - สถานการณ์การท่องเที่ยวและความคืบหน้าในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เริ่มปรับตัวดีขึ้นภายหลังการกลับมาดำเนินมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบ Test & Go ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดย ททท. ตั้งเป้าหมายว่าจะมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในปี 2565 จำนวน 5 - 15 ล้านคน และสร้างรายได้รวม 0.63 - 1.2 ล้านล้านบาท ภายหลังยกเลิกการเดินทาง Test & Go ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565
 
- รับทราบตามที่ สศช. และ ททท. เสนอ
 
- มอบหมายให้ภาครัฐและเอกชนนำข้อมูลที่นำเสนอมาใช้ประกอบการพิจารณาการดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ รวมทั้งการพิจารณาใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
ฯลฯ
2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย (เสนอโดย สศช. และทีมปฏิบัติการเชิงรุกทาบทามทั้งบริษัทเอกชนไทยและต่างประเทศ)
     2.1 การกำหนดประเภทการตรวจลงตรา (วีซ่า) สำหรับผู้พำนักระยะยาว (LTR) เช่น การอนุญาตให้คนต่างด้าวเดินทางเข้าประเทศ การอนุญาตให้คนต่างด้าวที่ได้รับวีซ่า LTR เข้าทำงาน และการรับรองคุณสมบัติของคนต่างด้าวที่มีสิทธิได้รับวีซ่า LTR
     2.2 สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ได้รับสิทธิวีซ่า LTR เช่น การยกเว้นผู้ถือวีซ่า LTR ให้ไม่อยู่ในบังคับของข้อกำหนดอัตราส่วนการจ้างงานชาวไทยและชาวต่างชาติ 1 ต่อ 4 สิทธิประโยชน์ทางภาษี การกำหนดแนวทางปฏิบัติในการจัดช่องทางอำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างชาติที่ถือวีซ่า LTR และการให้สิทธิประโยชน์ด้านอสังหาริมทรัพย์
     2.3 แนวทางการบริหารจัดการโดยการจัดตั้ง คสดช.
     2.4 การจัดหาตัวแทนจดทะเบียนเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินการของมาตรการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ซึ่งมีรูปแบบการบริหารงานเป็นองค์กรเอกชนภายใต้การควบคุมการดำเนินงานโดย คสดช.
- รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. .... ฯลฯ
- มอบหมายให้หน่วยงานในพื้นที่แต่ละจังหวัดดำเนินการ (1) ติดตามและจัดเก็บข้อมูลชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาอาศัยในประเทศไทยโดยเฉพาะที่มีลักษณะกลุ่มเป้าหมายของ LTR และ (2) ศึกษาและจัดเตรียมแนวทางในการให้ชาวต่างชาติที่ได้รับวีซ่า LTR ร่วมสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนและประเทศไทย
3. มาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย (เสนอโดย สศส. และกรมการท่องเที่ยว)
     3.1 การดำเนินการสร้างแรงจูงใจและอำนวยความสะดวก ได้แก่ การกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจลงตราให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน การปรับหลักเกณฑ์การตรวจคนเข้าเมืองให้เอื้อต่อการถ่ายทำภาพยนตร์ฯ การจัดตั้งศูนย์ One Stop Service และการปรับกระบวนการออกใบอนุญาตทำงานและหลักฐานประกอบการอนุญาตและการยกเว้นภาษีเงินได้ของนักแสดงต่างชาติที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย
     3.2 การจัดหาแหล่งงบประมาณที่ใช้สำหรับดำเนินมาตรการส่งเสริมฯ โดย สศส. ได้หารือร่วมกับสำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็น (1) การปรับอัตราการคืนเงิน (Cash Rebate) เป็นร้อยละ 20 - 30 อัตราแบบขั้นบันไดสำหรับกองถ่ายฯ ที่มีค่าใช้จ่ายการถ่ายทำในประเทศเรื่องละ 50 ล้านบาทขึ้นไป และ (2) การตั้งวงเงินงบประมาณสำหรับมาตรการคืนเงิน
- รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย
ฯลฯ
- มอบหมายให้ สศส. และ กรมการท่องเที่ยว ประสานกระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการหาแนวทางติดตามดูแลและคัดกรองภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมต่อภาพลักษณ์ของประเทศ
 
 
 
- มอบหมายให้กรมการท่องเที่ยวพิจารณาเพิ่มอัตราการคืนเงิน (Cash Rebate) ให้กับภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของไทยเป็นอัตราสูงกว่ากรณีทั่วไป
4. (ร่าง) แผนพัฒนาและฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (ภูเก็ต พังงา กระบี่) [เสนอโดยประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (ดร. ทศพร ศิริสัมพันธ์) และ สศช.]
     4.1 วิสัยทัศน์และเป้าหมายการพัฒนา ให้เป็น “Amazing Thailand, Amazing Andaman เมืองท่องเที่ยวแห่งความสุข ยั่งยืน และแบ่งปัน” ประกอบด้วยเป้าหมาย (1) การท่องเที่ยวที่โดดเด่น มีความหนุนเสริมระหว่างกัน และมีคุณภาพสูง (2) การท่องเที่ยวที่เปิดโอกาสให้พื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากการพัฒนา และ (3) การท่องเที่ยวที่มีการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
     4.2 ยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนา ประกอบด้วย
          - ยุทธศาสตร์ที่ 1 การส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง
          - ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกให้มีความพร้อม มีคุณภาพ มีมาตรฐาน และเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ
          - ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของชุมชนและธุรกิจรายย่อย
          - ยุทธศาสตร์ที่ 4 การส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของจังหวัดให้หนุนเสริมและเชื่อมโยงกันภายในคลัสเตอร์ (Cluster)
          - ยุทธศาสตร์ที่ 5 การยกระดับการบริหารจัดการพื้นที่ให้มีคุณภาพและความยั่งยืนด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่ และการมีส่วนร่วมของพื้นที่
     4.3 การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของจังหวัดภูเก็ต ได้แก่ การพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยว การส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ การพัฒนาปัจจัยสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพเป้าหมาย และการสนับสนุนความร่วมมือกับภาคเอกชนและประเทศที่มีศักยภาพ
     4.4 การขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติ ประกอบด้วย (1) กลไกระดับนโยบาย โดยคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) และ (2) กลไกการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ โดยคณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวประจำเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน
- เห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนาและฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (ภูเก็ต พังงา กระบี่) และรับทราบความคืบหน้าของ (ร่าง) แผนปฏิบัติการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของจังหวัดภูเก็ตสู่การเป็น Wellness Touris World Class Destination
ฯลฯ
- มอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติรับข้อเสนอแนวทางการพัฒนาและฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (ภูเก็ต พังงา กระบี่) และเร่งดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความพร้อมให้กับพื้นที่เป้าหมาย
ฯลฯ
5. การเตรียมความพร้อมในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานเอ็กซ์โปวาระพิเศษ (Specialised Expo) ในปี พ.ศ. 2571 [เสนอโดย ททท. สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต]
     5.1 การเสนอของงบประมาณดำเนินโครงการ EXPO 2028 - Phuket, Thailand โดยขอรับการจัดสรรงบประมาณจากงบรายจ่ายงบกลางรวม 93.31 ล้านบาท
     5.2 การประมาณการค่าใช้จ่ายในการเตรียมความพร้อมรองรับกิจกรรมสำรวจพื้นที่เชิงลึก (Enquiry Mission) ของคณะกรรมการ BIE ณ จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 25 - 29 กรกฎาคม 2565 โดยขอรับการจัดสรรงบประมาณจากงบรายจ่ายงบกลางรวม 60 ล้านบาท
     5.3 การเสนอของบประมาณการดำเนินงานโฆษณาและประชาสัมพันธ์ โดยขอรับการจัดสรรงบประมาณจากงบรายจ่ายงบกลางรวม 30 ล้านบาท
- เห็นชอบแนวทางการเตรียมความพร้อมในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานเอ็กซ์โปวาระพิเศษ (Specialised Expo) ในปี พ.ศ. 2571 ณ จังหวัดภูเก็ต
ฯลฯ
- มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ  (องค์การมหาชน) ประสานกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และผลักดันการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานเอ็กซ์โปวาระพิเศษ (Specialised Expo) ของประเทศไทยผ่านช่องทางการทูตและในการประชุมระดับนานาชาติ
6. แนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายหลังผ่อนปรนมาตรการผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร (เสนอโดย ททท.)
     6.1 การขยายมาตรการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ได้แก่ ขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการทัวร์เที่ยวไทยเป็นสิ้นสุดเดือนกันยายน 2565 และเพิ่มจำนวนสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกันอีกจำนวน 1.5 ล้านสิทธิ
     6.2 การส่งเสริมการท่องเที่ยวในปี 2565 - 2566 ภายใต้แนวคิด “Visit Thailand Year 2022: Amazing New Chapter”
     6.3 การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพมหานครผ่านโครงการ “Unfolding Bangkok” เช่น กิจกรรม Sound of the city, Greeting Bangkok, Vivid Chaopraya, Living Hualampong เป็นต้น
- เห็นชอบในหลักการแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายหลังผ่อนปรนมาตรการผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร
ฯลฯ
- มอบหมายให้ ททท. ศึกษาวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลผู้ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการดำเนินมาตรการดังกล่าวโดยจำแนกตามขนาดของธุรกิจ
ฯลฯ
                   2. ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้
                             2.1 กำหนดให้มีคณะกรรมการสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย เรียกโดยย่อว่า “คสดช.” ประกอบด้วยรองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมอบหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการ เป็นต้น (ร่างข้อ 4)
                             2.2 กำหนดให้ คสดช. มีหน้าที่และอำนาจ ได้แก่กำหนดแนวทางยุทธศาสตร์ และผลักดันนโยบายการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงให้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยในลักษณะของผู้พำนักระยะยาว (Long-term Resident) กำหนดหลักเกณฑ์ คุณสมบัติ เงื่อนไข และวิธีการรับ เพิกถอน และยกเลิกการจดทะเบียนตัวแทน รวมทั้งกำหนดขอบเขตการดำเนินงาน วิธีการมาตรฐาน และอัตราค่าบริการ รวมทั้งตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานของตัวแทนจดทะเบียนและพิจารณาปัญหาของหน่วยงานของรัฐ ตัวแทนจดทะเบียน และคนต่างด้าวในการดำเนินการตามระเบียบนี้ เป็นต้น (ร่างข้อ 6)
                             2.3 กำหนดให้ สกท. เป็นสำนักงานเลขานุการของ คสดช. โดยมีหน้าที่และอำนาจ เช่น ปฏิบัติงานในฐานะฝ่ายเลขานุการ รวมถึงเป็นฝ่ายวิชาการ รับผิดชอบงานประชุม งบประมาณดำเนินการ รับผิดชอบงานธุรการทั่วไปของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานที่คณะกรรมการแต่งตั้ง เป็นต้น (ร่างข้อ 8)
 
19.เรื่อง การขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 18 ออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 และสิ้นสุดในวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เสนอ
                   เรื่องเดิม เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 17) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 และสิ้นสุดในวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศ
                   การดำเนินงานที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใกล้จะสิ้นสุดลง ศปก.ศบค. ได้จัดการประชุมเพื่อประเมินและกลั่นกรองการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เมื่อวันพฤหัสบดีที่  19 พฤษภาคม 2565 ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล และได้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 8/2565 เมื่อวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2565 มีมติเห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไปด้วยแล้ว โดยมีเหตุผลและความจำเป็นตามสรุปสาระสำคัญของการประชุมรายละเอียด ดังนี้
                   1. กรมควบคุมโรคได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาด ดังนี้
                             1.1 สถานการณ์ในระดับโลก มีแนวโน้มระดับความรุนแรงลดลง และจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงอยู่ในอัตราคงที่ โดยหลายประเทศได้เน้นไปที่การมีมาตรการกระตุ้นให้ประชาชนฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงที่เกิดจากการติดเชื้อ และรณรงค์การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ
                             1.2 สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ปรากฏจังหวัดที่มีอัตราผู้ป่วยครองเตียงเกินร้อยละ 50 แต่อย่างใด แต่ยังคงปรากฏผู้เสียชีวิตในกลุ่มที่มีความเสี่ยง อาทิ ผู้สูงอายุ ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือรับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ที่กำหนด อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศอย่างใกล้ชิด เนื่องจากกรณีกลับมาเปิดภาคเรียนตามปกติในสถานศึกษา (On site) ทั่วประเทศในห้วงเดือนพฤษภาคม 2565
                   2. สำหรับแนวโน้มสถานการณ์การแพร่ระบาดในห้วง 1 - 2 เดือนต่อจากนี้เป็นช่วงที่ยังคงต้องมีการคงไว้ซึ่งมาตรการในการป้องกันและควบคุมโรคต่อไปอีกชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อรอให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของประเทศไทยผ่านเกณฑ์การประเมินในการกำหนดให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นตามที่ฝ่ายสาธารณสุขกำหนด และยังมีความจำเป็นต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในการบูรณาการการประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการทางด้านสาธารณสุขที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วนในการปรับมาตรการป้องกันโรคอย่างค่อยเป็นค่อยไปเมื่อสามารถผ่านเกณฑ์การประเมินการเป็นโรคประจำถิ่น
                   3. มติของที่ประชุม ที่ประชุมมีความเห็นว่า ยังคงมีความจำเป็นจะต้องใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต่อไปอีกคราวหนึ่งเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในประเทศไทยยังไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินในการกำหนดให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นตามที่ฝ่ายสาธารณสุขกำหนด และเพื่อประโยชน์ในการบูรณาการการปฏิบัติงานและการดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความต่อเนื่อง จึงเห็นสมควรให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปในคราวที่ 18 เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565
 

ต่างประเทศ

20. เรื่อง ขอความเห็นชอบชะลอการบริจาคเงินอุดหนุนให้แก่กองทุนแผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือด้าน  ยาเสพติดระหว่างอาเซียนกับจีน (ASEAN and China Cooperative Operations in Response to Dangerous Drugs: ACCORD) ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบชะลอการบริจาคเงินอุดหนุนให้แก่กองทุนแผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือด้านยาเสพติดระหว่างอาเซียนกับจีน (ASEAN and China Cooperative Operations in Response to Dangerous Drugs : ACCORD) ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นต้นไปตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   1. กองทุน ACCORD ก่อตั้งขึ้นภายใต้การบริหารของสำนักเลขาธิการอาเซียนเมื่อปี พ.ศ. 2546 เพื่อระดมทุนในการสนับสนนุนโครงการความร่วมมืออาเซียนและจีน โดยการบริจาคเงินอุดหนุนตั้งอยู่บนพื้นฐานของ             การบริจาคแบบสมัครใจ เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศมีบริทบพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน จึงมีศักยภาพในการบริจาคเงินอุดหนุนจำนวนมากน้อยแตกต่างกัน สำหรับประเทศไทย ยธ. โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) เป็นผู้รับผิดชอบการบริจาคเงินอุดหนุนให้แก่กองทุน ACCORD ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 – 2564
                   2. กระทรวงยุติธรรมขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดชะลอการบริจาคเงินอุดหนุนให้แก่กองทุนแผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือด้านยาเสพติดระหว่างอาเซียนกับจีน (ASEAN and China Cooperative Operations in Response to Dangerous Drugs: ACCORD) ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป เนื่องจาก 4 ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ. 2561 - 2564) มีเพียงไทยเท่านั้นที่บริจาคเงินอุดหนุนให้แก่กองทุน ACCORD (ปีละ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ประกอบกับในห้วงระยะเวลาดังกล่าวไม่มีประเทศสมาชิกอาเซียนเสนอโครงการเพื่อขอใช้งบประมาณจากกองทุน ACCORD เนื่องจากมีความยุ่งยากเกี่ยวกับขั้นตอนในการขอใช้งบประมาณ นอกจากนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้ประเทศสมาชิกอาเซียนมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดกิจกรรมไปเป็นแบบทางไกล (online) มากขึ้น ส่งผลให้มีใช้งบประมาณเพื่อทำกิจกรรมตามโครงการน้อยลง ประกอบกับสถานะบัญชีของกองทุน ACCORD ในปัจจุบันมีงบประมาณคงเหลือจำนวน 225,171.06 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพียงพอที่จะสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ของประเทศสมาชิกอาเซียนได้ รวมทั้งไม่กระทบต่อการแสดงบทบาทนำของไทยในอาเชียนด้วย  ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข   สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาแล้ว เห็นชอบ/ไม่ขัดข้องตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ
 
21.  เรื่อง  การแก้ไขภาคผนวก 2 (กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า) เรื่อง การปรับโอนพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ จากฉบับปี 2002 เป็นฉบับปี 2017 ของกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้าภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการแก้ไขภาคผนวก 2 (กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า) เรื่อง การปรับโอนพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ จากฉบับปี 2002 เป็นฉบับ ปี 2017 ของกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้าภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership: AJCEP) เพื่อให้กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) สามารถร่วมให้การรับรองการแก้ไขดังกล่าวในการประชุมคณะกรรมการร่วมภายใต้ความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP - JC) ครั้งที่ 20 พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้ภาคผนวก 2 (กฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า) พิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ ฉบับปี 2017 ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP ) มีผลใช้บังคับภายในประเทศต่อไปตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   พณ. รายงานว่า
                   1. ข้อ 26 ของบทที่ 3 (กฎว่าด้วยถิ่นกำเนินสินค้า) ภายใต้ความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) กำหนดให้พิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ (Harmonized System: HS) ที่ใช้ในการพิจารณาเกณฑ์ถิ่นกำเนินสินค้า ตามกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rules: PSRs) ต้องเป็นไปตามภาคผนวก 2 (กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า) ของความตกลงฯ ซึ่งพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ (HS) ที่กำหนดในความตกลงปัจจุบันคือพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ ฉบับปี 2002 (HS 2002) อย่างไรก็ดี เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับโอนพิกัดศุลกากรระหว่างประเทศ ตามหลักการขององค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization: WCO) ซึ่งกำหนดให้มีการปรับโอนพิกัดศุลกากร (Transposition) เป็นประจำทุก 5 ปี ดังนั้น คณะอนุกรรมการกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Sub-Committee of Rules of Origin: SCRO0) ภายใต้ความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) จึงเห็นชอบให้มีการประชุมเพื่อปรับโอนพิกัดศุลกากรของกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rules: PSRs) จากระบบฮาร์โมไนซ์ ฉบับปี 2002  (HS 2002) เป็นระบบฮาร์โมไนซ์ฉบับปี 2017 (HS 2017) ส่งผลให้ต้องดำเนินการแก้ไขภาคผนวก 2 ของความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP)
                   2. การประชุมคณะอนุกรรมการกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (SCROO) ภายใต้ความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AICEP) โดยมีกรมศุลกากรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักของประเทศไทย ได้เริ่มหารือกับประเทศภาคี เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ณ ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้มีการพิจารณาเรื่องการปรับโอนพิกัดศุลกากรของกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า (PSRs) จากระบบ HS 2002 เป็นระบบ HS 2007 และได้มีการหารืออย่างต่อเนื่องจากระบบ HS 2007 เป็นระบบ HS 2012 และจากระบบ HS 2012 เป็นระบบ                HS 2017 ตามลำดับจนกระทั่งในการประชุมคณะกรรมการร่วมภายใต้ความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP – JC) ครั้งที่ 19 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ณ ประเทศอินโดนีเซีย คณะอนุกรรมการกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (SCROO) ได้รายงานผลการหารือต่อคณะกรรมการร่วม (AJCEP - JC) ว่า อาเซียนและญี่ปุ่นสามารถสรุปผลการตรวจสอบทางเทคนิคของการปรับโอนพิกัดศุลกากรของกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า (PSRs) จากระบบฮาร์โมไนซ์ ฉบับปี 2002 (HS 2002) เป็นระบบฮาร์โมไนซ์ ฉบับปี 2017 (HS 2017) แล้ว จึงเสนอให้คณะกรรมการร่วม (AJCEP - JC) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้บังคับพิกัดศุลกากรของกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า (PSRs) ระบบฮาร์โมไนซ์ ฉบับปี 2017 (HS 2017) ต่อไป
                   3. การปรับโอนพิกัดศุลกากรของกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า (PSRs) ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (SCROO) ภายใต้ความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ได้หารือและเห็นชอบร่วมกันแล้ว ซึ่งผลการหารือตั้งอยู่บนพื้นฐานของเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าเดิมที่มีอยู่ตามที่ได้ตกลงกันไว้ภายใต้ความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) และการปรับโอนดังกล่าวจะไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อพันธกรณีที่มีอยู่ตามความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) มีรายละเอียด ดังนี้
                   4. ข้อ 76 (ภาคผนวกและหมายเหตุ) ของความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) กำหนดให้ภาคผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ดังนั้น การแก้ไขภาคผนวก 2 (กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า) เรื่อง การปรับโอนพิกัดศุลกากรของถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า (PSRs) จากระบบฮาร์โมไนซ์ ฉบับปี 2002 (HS 2002) เป็นระบบฮาร์โมไนซ์ ฉบับปี 2017  (HS 2017) ถือเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP)
                   5. ข้อ 77 (การแก้ไข) ของความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ระบุว่าแนวทางการแก้ไขภาคผนวก 2 อาจดำเนินการได้โดยการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตระหว่างรัฐบาลของประเทศภาคี อย่างไรก็ตาม ข้อ 7 ของพิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมความตกลงต่าง ๆ ระหว่างประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และญี่ปุ่น  (First Protocol to Amend the Agreement on Comprehensive Economic Partnership among Member States of the Association of Southeast Asian Nations and Japan) ได้แก้ไขบทบัญญัติเพิ่มเติมจากข้อ 77 (การแก้ไข) ของความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น(AJCEP) โดยระบุให้การแก้ไขภาคผนวก 2 (กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า) อาจดำเนินการได้โดยการรับรอง (adopt) ของคณะกรรมการร่วมภายใต้ความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP - JC) และให้การแก้ไขดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับกับทุกประเทศภาคีตามวันที่ AJCEP-JC ตกลงกัน
                   6. เพื่อให้การแก้ไขภาคผนวก 2 (กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า) สามารถดำเนินการได้โดย   การรับรอง (adopt) ของคณะกรรมการร่วมภายใต้ความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP - JC) ตามที่กำหนดไว้โดยพิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลงฯ พิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลงฯ จะต้องมีผลบังคับใช้ต่อประเทศภาคีครบทุกประเทศก่อน ซึ่งอินโดนีเซียเป็นประเทศสุดท้ายที่ให้สัตยาบันต่อพิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลงฯ และใช้บังคับพิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลงฯ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ดังนั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนและญี่ปุ่นจึงประสงค์ที่จะจัดประชุมคณะกรรมการร่วมภายใต้ความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP – JC) ครั้งที่ 20 (ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงไตรมาสที่สองของปี พ.ศ. 2565)   เพื่อรับรองการแก้ไขภาคผนวก 2 (กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า) เรื่อง การปรับโอนพิกัดศุลกากรของกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า (PSRs) จากระบบฮาร์โมไนซ์ ฉบับปี 2002 (HS 2002) เป็นระบบฮาร์โมไนซ์  ฉบับปี 2017 (HS 2017) ภายใต้ความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) รวมถึงกำหนดวันที่การแก้ไขดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับร่วมกัน
 
22.  เรื่อง การอนุมัติชำระเงินค่าบำรุงประจำปีแก่ศูนย์ประสานงานความร่วมมืออนุภูมิภาคแผนงาน IMT-GT (CIMT) ประจำปี 2566 – 2570
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติชำระเงินค่าบำรุงประจำปีแก่ศูนย์ประสานงานความร่วมมือ   อนุภูมิภาคแผนงาน IMT-GT ( Centre for Indonesia – Malaysia – Thailand Growth Triangle : CIMT) (ศูนย์ CIMT)  ประจำปี 2566 – 2570 จำนวนเงินปีละ 165,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา รวม 5 ปี เป็นจำนวนเงิน 825,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (ประมาณ 28.498 ล้านบาท) ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   1. แผนงาน IMT-GT เริ่มดำเนินงานในปี 2536 ในระยะแรกขับเคลื่อนด้วยการประชุมระดับรัฐมนตรีประจำปี ต่อมาได้มีการจัดประชุมระดับผู้นำ แผนงาน IMT-GT ครั้งที่ 1 ในปี 2548 โดยที่ประชุมมอบหมายให้จัดทำแผนดำเนินงานระยะ 5 ปี (IMT-GT Roadmap) เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในสาขาความร่วมมือต่าง ๆ โดยฝ่ายเลขานุการระดับชาติทั้ง 3 ประเทศ ขับเคลื่อนแผนงานร่วมกับศูนย์ CIMT ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีการจัดตั้งศูนย์ CIMT อย่างเป็นทางการ
                   2. ที่ประชุมระดับผู้นำ แผนงาน IMT-GT ครั้งที่ 7 ในปี 2556 ได้มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งศูนย์ CIMT อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นสำนักงานเลขานุการของแผนงาน IMT-GT โดยมีที่ตั้งอยู่ที่นครปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย ทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การจัดทำแผนดำเนินงานระยะ 5 ปี การคัดเลือกโครงการตามยุทธศาสตร์ความร่วมมือ ตลอดจนการขับเคลื่อนและติดตามประเมินผลโครงการภายใต้แผนงาน IMT-GT นอกจากนี้ในช่วงระหว่างปี 2561 - 2565 ศูนย์ CIMT มีผลการดำเนินงานที่สำคัญในการขับเคลื่อนแผนงาน IMT-GT อาทิ (1) การเสริมสร้างความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือกับประเทศนอกแผนงาน IMT-GT ในด้านต่าง ๆ โดยศูนย์ CIMT ได้ให้การต้อนรับตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ อาทิ ญี่ปุ่น อินเดีย รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในมิติต่าง ๆ ตามเสาหลักยุทธศาสตร์ ของ IMT-GT ทั้งการจัดการปัญหาขยะในอนุภูมิภาค IMT-GT การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว  รวมไปถึงการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน และ (2) การลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างศูนย์ CIMT กับ Danish Energy Efficiency Partners (DEEP) (กลุ่ม DEEP) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ให้บริการด้านพลังงานครบวงจร เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเร่งให้เกิดการดำเนินโครงการ/แผนงานที่ส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy Efficiency) ตามกรอบการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนของแผนงาน IMT-GT ปี ค.ศ. 2019 - 2036 (IMT-GT Sustainable Urban Development Framework 2019 - 2036) และแผนการดำเนินงานระยะ 5 ปี ปี ค.ศ. 2022 – 2026 (IMT-GT Implementation Blueprint 2022- 2026) ภายใน ๓ ปี รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกแผนงาน IMT-GT เข้าถึงองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญเชิงเทคโนโลยีด้านพลังงานของกลุ่ม DEEP ซึ่งจะช่วยให้ประเทศสมาชิกสามารถออกแบบ พัฒนา และดำเนินโครงการ/แผนงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความยั่งยืนในอนุภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ สศช. ได้ดำเนินการชำระเงินค่าบำรุงประจำปีแก่ CIMT ในส่วนของประเทศไทยประจำรอบปี 2561 -2565
ครบตามที่ได้รับอนุมัติตามคณะรัฐมนตรีแล้ว
                   3. ประเทศไทยในฐานะประเทศภาคีของแผนงาน IMT-GT มีพันธกรณีตามความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ CIMT ในการชำระเงินค่าบำรุงประจำปีแก่ศูนย์ CIMT ภายในไตรมาสที่ 2 (เดือนมีนาคม) ของแต่ละปีละงบประมาณ โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 - 2570 จำนวนเงินปีละ 165,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา รวม 5 ปี รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 825,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา โดยการชำระเงินค่าบำรุงประจำปีดังกล่าวเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ CIMT เพื่อส่งเสริมความต่อเนื่องในการดำเนินงานในฐานะองค์กรการประสานงานหลัก และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของแผนงาน IMT-GT รวมทั้งมุ่งบรรลุวิสัยทัศน์การเป็นอนุภูมิภาคที่มีการบูรณาการมีนวัตกรรม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และยั่งยืนภายในปี 2579 รวมทั้งเป็นกลไกที่สำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถขยายความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกและภาคีเพื่อการพัฒนาในสาขาต่าง ๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม
 

แต่งตั้ง

23. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงมหาดไทย)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้ง นางนิศากร  วิศิษฏ์สรอรรถ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
24. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงศึกษาธิการ)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้ง นายอโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการระดับสูง) สำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
 
 
25. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารกองทุนจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารกองทุนจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ จำนวน 3 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสองปี เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 ดังนี้
                   1. นายถวัลย์ วรรณกิจมงคล
                   2. นางพอตา ยิ้มไตรพร
                   3. นายนาฬิกอติภัค  แสงสนิท
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป
 
26. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2550
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ จำนวน 10 รูป/คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสองปี เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 ดังนี้  
                   1. พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต)
                   2. นายสมัย เจริญช่าง
                   3. นายสยาม ม่วงศักดิ์ 
                   4. นางกัมเลซ มันจันดา
                   5. นายสัตนามซิงห์ มัตตา 
                   6. นายปรารพ เหล่าวานิช 
                   7. นายสด แดงเอียด
                   8. นายประเสริฐ เล็กสรรเสริญ 
                   9. นายธาดา เศวตศิลา
                   10. นางพิมพ์กาญจน์ ชัยจิตร์สกุล
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป
 
27. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ จำนวน 9 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี ดังนี้
                   1. นายประกิต วาทีสาธกกิจ ด้านการแพทย์
                   2. นางนันทวรรณ วิจิตรวาทการ ด้านการสาธารณสุข
                   3. นายปกป้อง ศรีสนิท ด้านกฎหมาย 
                   4. นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ด้านการคุ้มครองสิทธิสตรีหรือสิทธิเด็ก
                   5. นางสาวปนัดดา วงศ์ผู้ดี ด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ในการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ 
                   6. นางสมศรี เผ่าสวัสดิ์ จากองค์กรเอกชนที่มีวัตถุประสงค์มิใช่เป็นการแสวงหากำไรและดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับด้านการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชน    
                   7. นายสมพงษ์ จิตระดับ จากองค์กรเอกชนที่มีวัตถุประสงค์มิใช่เป็นการแสวงหากำไรและดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับด้านการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชน
                   8. นายอิศรา ศานติศาสน์ จากองค์กรเอกชนที่มีวัตถุประสงค์มิใช่เป็นการแสวงหากำไรและดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับด้านการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชน
                   9. นางฐาณิษา สุขเกษม จากองค์กรเอกชนที่มีวัตถุประสงค์มิใช่เป็นการแสวงหากำไรและดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน 
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป
 
28. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนคร
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายอนุชา นาคาศัย) เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนคร รวม 7 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปีเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2565 ดังนี้
                   1. นายณอคุณ สิทธิพงศ์                         ประธานกรรมการ 
                   2. นางสาวบุษราภรณ์ กอบกิจพานิชผล    กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
                   3. นายปกรณ์ คุณสาระ                          กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
                   4. พลเอก โกศล ประทุมชาติ                   กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
                   5. นายนฤทัต เจริญเศรษฐศิลป์                กรรมการภาคเอกชน
                   6. พลตำรวจโท ประหยัชว์ บุญศรี             กรรมการภาคเอกชน 
                   7. นางศรีมาลา พรรณเชษฐ์                     กรรมการภาคเอกชน 
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป
*****************
                    
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.thaigov.go.th