วันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ออทิสติก รู้ก่อน เข้าใจก่อน

 


โรคออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการที่มีผลต่อการสื่อสารและโต้ตอบกับผู้อื่นทั้งการใช้ ภาษาพูด ท่าทาง รวมถึงพฤติกรรมหรือความสนใจที่จำกัดและซ้ำๆ ออทิสติกเป็นภาวะที่เกิดขึ้นตลอดชีวิต แม้ว่าไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่สามารถบำบัดและช่วยผู้ป่วยออทิสติกในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ อาการออทิสติกมักจะปรากฏครั้งแรกเมื่อ  ยังเล็กมาก ดังนั้นหากพ่อแม่มีการสังเกตอาการออทิสติกแต่เนิ่นๆ ทำให้พบในระยะแรกๆ จะช่วยให้การปรับปรุงพัฒนาการอาการของเด็กออทิสติกได้ดียิ่งขึ้น

          อาการทางพฤติกรรมของโรคออทิสติกมักปรากฏในช่วงต้นของพัฒนาการในเด็กช่วงอายุ 12 - 18 เดือนหรือก่อนหน้านั้น โดยสัญญาณเริ่มต้นของออทิสติกอาจสังเกตได้จากความแตกต่าง 3 ด้าน ดังนี้

1.    ความแตกต่างทางสังคม ลักษณะการแสดงออก คือ

   -  ไม่ค่อยสบตา ไม่สนใจใคร ไม่มองไปที่วัตถุหรือเหตุการณ์ที่ผู้ปกครองชี้บอกกล่าว

   -  ไม่แสดงออกทางสีหน้าหรือตอบสนองต่อรอยยิ้มของผู้ปกครอง

   -  ไม่นำสิ่งของที่ตนเองสนใจมาแสดงต่อผู้ปกครอง

   -  ไม่เอาใจใส่ต่อผู้อื่น ชอบอยู่หรือเล่นคนเดียว

2.  ความแตกต่างทางการสื่อสาร ลักษณะการแสดงออก คือ

   -  ไม่สามารถชี้นิ้วบอกความต้องการได้ และไม่แบ่งปันสิ่งของต่างๆ ให้กับคนอื่น

   -  ไม่ส่งเสียงอ้อแอ้ หรือเริ่มพูดเมื่ออายุถึง 16 เดือน

   -   พูดซ้ำในสิ่งที่ผู้อื่นพูดโดยไม่เข้าใจความหมาย

   -   ไม่ตอบสนองต่อการเรียกชื่อ แต่ตอบสนองต่อเสียงอื่นๆ เช่น เสียงแตรเสียงแมว เป็นต้น

   -   ไม่รู้จักชื่อตนเอง หรือสับสนสรรพนามในการเรียก เช่น แทนตัวเองว่า "เธอ" และเรียกผู้อื่นว่า "ฉัน"

   -   ไม่ต้องการสื่อสาร เริ่มต้นหรือตอบโต้บทสนทนาไม่ได้

   -    เล่นบทบาทสมมุติไม่เป็น เช่น เล่นตุ๊กตาหรือไม่เข้าใจว่าจะจับตุ๊กตาลักษณะใด

   -    อาจสูญเสียภาษาหรือพัฒนาการอื่นๆ ในช่วงอายุ 15 - 24 เดือน

3.   ความแตกต่างทางพฤติกรรม ลักษณะการแสดงออก คือ

   -    มีพฤติกรรมซ้ำๆ เช่น โยกตัวไปมา สะบัดมือไปมา เป็นต้น

   -    ชอบทำกิจกรรมซ้ำ และเป็นประจำ

   -    หมกมุ่นกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ

   -    สนใจสิ่งของเป็นส่วนๆ เช่น เล่นล้อรถแทนที่จะเล่นรถทั้งคัน เป็นต้น

ดังนั้นครอบครัวควรสังเกตความแตกต่างเหล่านี้ในบุตรหลาน เพราะหากตระหนักถึงสัญญาณออทิสติกได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ครอบครัวจะได้เข้าใจถึงสภาพและอาการของการแสดงออกของโรคนี้ได้มาก สามารถปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ ในการใช้ชีวิตกับผู้ป่วยออทิสติกได้ และสามารถปรับปรุงพัฒนาการของเด็กกลุ่มนี้ได้ดีขึ้น ที่สำคัญคือช่วยสนับสนุนให้ผู้ที่เป็นออทิสติกสามารถโตขึ้นมาพึ่งพาตนเองและหางานที่เหมาะสมกับความสามารถในการดำรงชีวิตได้ต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.healthydee.moph.go.th/