วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

"มือเท้าชา"อาการที่ไม่ควรมองข้าม

 


"มือเท้าชา"อาการที่ไม่ควรมองข้าม

"ชาตามปลายมือปลายเท้า" หลายคนอาจเคยเกิดอาการนี้ บางคนมีอาการเพียงชั่วครู่ บางคนมีอาการนานกว่านั้นและความถี่ของอาการที่ว่านี้ก็ต่างกันออกไปในแต่ละคน ซึ่งอาการ "ชา" นี้เป็นอาการทางระบบประสาท แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความรำคาญ แต่ในระยะแรกๆ มักไม่รบกวนชีวิตของผู้ป่วยมากเท่ากับอาการปวด แต่ก็เป็นสัญญาณหนึ่งของร่างกายที่บ่งบอกถึงความผิดปกติของระบบประสาท ดังนั้นควรหาสาเหตุและวิธีการแก้ไขอาการ ก่อนที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงอย่างอื่นตามมา

อาการชาเป็นอาการผิดปกติของระบบประสาทรับความรู้สึก ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะที่นิ้ว มือ แขน เท้าหรือขา เป็นอาการที่มีความรู้สึกเจ็บ ปวด ร้อน หรือเย็นน้อยกว่าปกติหรือไม่มีความรู้สึกเลย บางคนอาจรู้สึกซ่าๆ ที่ปลายมือปลายเท้าหรือบริเวณอื่นหรือมีอาการเหมือนมีอะไรยุบยิบๆ ตามปลายมือปลายเท้า แล้วก็หายไปหรือเป็นตลอด ซึ่งอาการชาจะเกิดขึ้นเมื่อเส้นประสาทส่งความรู้สึกของบริเวณที่เป็นทำงานบกพร่องไปแล้วอย่างน้อย 50% โดยถ้าเส้นประสาทส่งความรู้สึกทำงานบกพร่องไปอย่างช้าๆ อาจไม่รู้สึกถึงความผิดปกติและมักตรวจพบได้ยาก แต่ถ้าเกิดการบกพร่องไปอย่างรวดเร็วจะเกิดอาการที่ชัดเจน1

อาการมือเท้าชาสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาจเกิดจากการนั่งหรือยืนในท่าเดิมเป็นเวลานาน ทำให้เลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่ทั่วถึง อาจเกิดจากมีระดับแร่ธาตุและวิตามินผิดปกติ2 หรืออาจมีสาเหตุจากโรคบางโรค เช่น โรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท งูสวัด เบาหวาน ปวดศีรษะไมเกรน ลมชัก หลอดเลือดสมอง และ Raynaud's phenomenon เป็นต้น นอกจากนี้อาการชายังเป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นบ่อยจากการใช้ยาเคมีบำบัดหรือฉายรังสี3-5

ในกรณีที่รู้สาเหตุของอาการมือเท้าชา จะรักษาตามสาเหตุนั้นๆ เช่น มือเท้าชาที่เกิดจากโรคเบาหวาน โดยอาการชานี้เป็นภาวะแทรกซ้อนที่แสดงถึงภาวะของโรคเบาหวานที่รุนแรงมากขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานหากจะบรรเทาหรือรักษาอาการชาก็ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม6-7 แต่ในกรณีที่ไม่สามารถหาสาเหตุของมือเท้าชาได้ ควรปรึกษาแพทย์ถึงอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น เพื่อหาสาเหตุของอาการชาและทำการรักษาหรือป้องกัน เพราะหากเกิดอาการชาบ่อยขึ้นหรือมีอาการชามากขึ้นแล้วปล่อยทิ้งไว้ โดยไม่หาสาเหตุและไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจทำให้มีอาการรุนแรงขึ้นจนอาจไม่มีความรู้สึกเลย ทำให้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุหรือบาดแผลได้ง่ายขึ้น เช่น หากเท้าเหยียบตะปูหรือมือถูกของร้อน จะไม่ชักเท้าหนีจากตะปูหรือชักมือหนีจากของร้อน ทำให้เท้าและมือเป็นแผลได้ง่าย ซึ่งต่างจากคนปกติที่จะมีปฏิกิริยาการตอบสนองที่รวดเร็ว โดยจะรีบชักเท้าหนีจากตะปูหรือชักมือหนีจากของร้อนทันที ดังนั้นจึงต้องระวังการเกิดอุบัติเหตุหรือบาดแผลจากของมีคม ของร้อนหรืออันตรายจากสิ่งอื่น

ถึงแม้อาการมือเท้าชาจะเป็นอาการเล็กน้อยสำหรับบางคน แต่อาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะหรือโรคที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะหากมีอาการชาบ่อยขึ้นหรือรุนแรงขึ้น จึงไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาก่อนที่โรคจะรุนแรงขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นเมื่อเกิดอาการ "มือเท้าชา" อย่าเพิ่งวางใจ หากสามารถหาสาเหตุของโรคได้เร็วและถูกต้อง ย่อมได้รับผลการรักษาที่ดีและป้องการการเกิดภาวะของโรคที่รุนแรงยิ่งขึ้นได้ และที่สำคัญเมื่อเกิดอาการชาขึ้นแล้ว ควรระมัดระวังการเกิดบาดแผล สวมรองเท้าเมื่อออกไปเดินนอกบ้านหรืออยู่ในที่รก หมั่นสังเกตและดูแลรักษามือและเท้าอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและหากเกิดบาดแผลจะสามารถรักษาแผลได้อย่างทันท่วงที

 ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://healthydee.moph.go.th