วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2564

ปิดโพรงใต้บ้าน หลังดินทรุดตัว รับมือก่อนบ้านทรุด



 เพราะบ้านเป็นสมบัติชิ้นใหญ่ที่จะต้องใช้ทั้งชีวิตอยู่ภายใต้ชายคา เจ้าของบ้านทุกคนจึงต้องการคุณภาพบ้านที่ดีที่สุด ด้วยการใส่ใจตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้น ไปจนถึงเก็บรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้ได้บ้านที่สมบูรณ์อย่างที่ต้องการ แต่ในความเป็นจริง บางปัจจัยแวดล้อมที่ควบคุมได้ยากก็อาจจะสร้างปัญหาที่ไม่คาดคิดได้เช่นกัน อย่างเช่น เมื่อพูดถึงเรื่อง “บ้านทรุด” ซึ่งอาจมีที่มาจากการทรุดตัวของดินจนเกิดเป็นโพรงรอบบ้านที่ฝืนธรรมชาติไม่ได้ แต่เมื่อเจอปัญหาบ้านทรุดอย่าเพิ่งตกใจจนลนลาน เพราะโพรงใต้บ้านอาจจะไม่ใช่สัญญาณเลวร้ายอย่างที่คิด และมีวิธีการที่เจ้าของบ้านสามารถรับมือกับโพรงที่เกิดจากบ้านทรุดได้ไม่ยาก

โพรงใต้บ้านเกิดจากอะไร
        ปัญหาโพรงใต้บ้านส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาดินทรุดตัวทางธรรมชาติ ซึ่งปกติพื้นดินมีโอกาสที่จะทรุดได้อยู่แล้ว แต่จะมากหรือน้อยขึ้นกับหลายปัจจัย ในบางกรณีหากละเลยอาจส่งผลให้บ้านทรุดในภายหลังได้ เช่น ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีลักษณะเป็นชั้นดินอ่อน ระดับการทรุดตัวค่อนข้างมาก (ประมาณ 10 เซนติเมตร/ปี) หรือหากการก่อสร้างนั้น เพิ่งมีการถมดินที่ยังทิ้งระยะเวลาไม่นานนัก ดินที่ถมใหม่ยังไม่แน่นพอ เมื่อผ่านฝนไปอีก 2-3 ปี จะมีการทรุดเพิ่มภายหลัง และเมื่อดินทรุดมากขึ้นเรื่อย ๆ จะเริ่มมองเห็นฐานรากของบ้าน เสี่ยงต่อการที่บ้านทรุด จึงเกิดเป็นโพรงดินใต้บ้าน หากระบบฐานรากออกแบบไว้ดีแล้วจะไม่ส่งผลกระทบใดกับตัวบ้าน มีเพียงปัญหาดินเป็นโพรงเท่านั้นครับ 

วิธีปิดโพรงใต้บ้าน
        แม้ว่าโพรงที่เกิดขึ้นใต้ตัวบ้านจะไม่ได้สร้างความเสียหายและเป็นอันตรายกับโครงสร้างของอาคาร เพราะตัวบ้านวางอยู่บนเสาเข็มช่วยพยุงเอาไว้ แต่ก็เป็นส่วนที่ทำให้บ้านดูไม่สวยงามและอาจเป็นจุดรองรับน้ำขัง หรือเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์มีพิษได้ จึงควรแก้ไขปิดช่องว่างเหล่านี้ให้เรียบร้อย ซึ่งมีหลายวิธีให้เลือก ดังนี้ 

- บังโพรงแบบชั่วคราว หากสำรวจแล้วว่าร่องรอยโพรงไม่ใหญ่มาก อาจบังรูโหว่ง่าย ๆ แบบชั่วคราวไปก่อน เช่น วางกระถางต้นไม้ทรงเหลี่ยมมาเรียงเป็นแนวติด ๆ กัน ตกแต่งช่องว่างเพิ่มเติมด้วยกรวด แนวกระถางต้นไม้จะบดบังความไม่สวยงามเหล่านี้ให้ดูงามตาขึ้นได้ 

- ใช้ขอบคันหินปิดโพรง ขอบคันหินใช้สำหรับบ้านที่มีขนาดโพรงไม่ใหญ่ การทรุดตัวไม่มากประมาณ 13 - 23 ซม. เหมาะกับการใช้ขอบคันหินสูงตั้งแต่ 20 - 30 ซม. เลือกใช้ตามความเหมาะสม สามารถวางขอบคันหินเป็นแปลงปลูกต้นไม้ ช่วยพรางร่องรอยและให้ความสวยงามกับบ้านไปพร้อม ๆ กัน

- ทำแผงป้องกันดินไหล เพื่อแก้ไขดินทรุดรอบบ้าน ในกรณีที่โพรงใต้บ้านมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีดินไหลลงไป สามารถอุดปิดด้วยแผ่นพื้นคอนกรีต แผ่นพื้นสำเร็จ แผ่นโฟม หรือแผ่น metal sheet ผิวเรียบ โดยวิธีการปรับแก้เริ่มขุดดินโดยรอบโพรงให้ลึกกว่าดินใต้ตัวบ้าน จากนั้นนำแผ่นวัสดุมาเสียบในดินให้แน่น (ลึกประมาณ 50-80 เซนติเมตร) อาจก่ออิฐปิดทับอีกชั้น เพื่อกันดินจากด้านนอกไหลเข้าไปในโพรง 

- เติมดินและทรายไปเรื่อย ๆ วิธีนี้ใช้ได้ดีกับโพรงใหญ่ ๆ ที่ทรุดตัวเพิ่มน้อย มักจะปิดโพรงด้วยการเติมดินหรือทราย โดยขุดรอบ ๆ รอยแยกให้เห็นแนวโพรง แล้วอัดดินหรือฉีดน้ำไล่ทรายเข้าไป เสร็จแล้วถมดินรอบบ้านให้สูงขึ้นจนเลยโพรงใต้บ้าน แต่การอัดดินต้องระวังเรื่องการกระทบระบบท่อต่าง ๆ ใต้อาคารและการเพิ่มน้ำหนักให้โครงสร้างบ้าน 

-  กรณีดินรอบบ้านทรุดตัวมาก ทรุดมานานจนเริ่มคงตัวแทบไม่ทรุดต่อแล้ว (ไม่เกิน 10 ซม. ใน 1 ปี) มีโพรงขนาดใหญ่แต่สังเกตแล้วว่าแทบไม่ทรุดตัวต่อ แต่แก้ไขหลายครั้งหลายวิธีแล้วยังกลับมาอยู่ในสภาพเดิม แนะนำให้แก้ไขด้วยการปิดโพรงผ่านบริการปิดโพรงใต้บ้าน หรือ Smart Space Covering จาก SCG ที่จะแก้ไขปัญหาดินทรุดตัวตามระดับปัญหาที่เกิดขึ้น 

                                    ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.scgbuildingmaterials.com