วันจันทร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2564

รู้จักภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) แล้วหรือยัง

 


โรค TIA คืออะไร

ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient Ischemic Attack) หรือ TIA บางครั้งอาจถูกเรียกว่า “MiniStroke” เป็นภาวะที่มีอาการที่คล้ายคลึงกับโรคหลอดเลือดสมอง แต่จะมีความรุนแรงน้อยกว่าเนื่องจากอาการของผู้ป่วยจะหายได้ภายใน 24 ชั่วโมง ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) ยังเป็นสัญญาณของความเสี่ยงการเกิดอัมพฤกษ์อัมพาต และเส้นเลือดสมองตีบตันอีกด้วย

  สาเหตุภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) 

เกิดจากการอุดตันชั่วคราวของหลอดเลือดแดงที่ทำหน้าที่เลี้ยงสมองจนขาดออกซิเจนไปชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดแดงจนทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) มีดังนี้

- ปัจจัยจากโรค เช่น ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลในเลือดสูง โรคเบาหวาน หรือภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วเป็นต้น

- ปัจจัยจากพฤติกรรม ทั้งการดื่มแอลกอฮอล์สูบบุหรี่รวมไปถึงการใช้สารเสพติด ทานอาหารที่มีไขมันมาก ไม่ออกกำลังกายทำให้เพิ่มความเสี่ยงภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) ได้

- ปัจจัยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป หรือคนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดสมอง


  อาการภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) 

อาการของภาวะนี้มีความรุนแรงน้อยกว่าโรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากอาการที่เกิดขึ้นจะสามารถหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยจะมีอาการ ดังนี้

- ปวดหรือเวียนศีรษะอย่างรุนแรง

- ความจำเสื่อมชั่วขณะ ไม่ค่อยมีสติ

- พูดลำบากติด ๆ ขัด ๆ

- เกิดอัมพาตครึ่งซีกที่แขนขา และใบหน้า

- การมองเห็นมีปัญหา เช่น การมองเห็นภาพซ้อน

- กล้ามเนื้อเกิดอาการชา และอ่อนแรง

  การรักษาสาเหตุภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) 

แพทย์จะทำการรักษาตามสาเหตุของการเกิดภาวะดังกล่าว และทำการป้องกันความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองควบคู่ไปด้วย การรักษาสามารถทำได้ผ่านการทานยาตามที่แพทย์สั่ง โดยตัวยาจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการในผู้ป่วย  หากมีอาการรุนแรงแพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดหลอดเลือดแดงแคโรติดอาเทอรี นอกจากนี้ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) ในผู้ป่วยบางรายยังสามารถรักษาได้ด้วยการทำบอลลูนหัวใจเพื่อขยายหลอดเลือด

  การป้องกันภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) 

- หากมีอาการป่วยเป็นโรคที่เพิ่มความเสี่ยงต้องทำการรักษา และดูแลตนเองตามคำแนะนำของแพทย์

- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน และคอเลสเตอรอลสูง พยายามควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพิ่ม--- อาหารประเภทผักผลไม้ หรือเนื้อปลามากขึ้น

- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอครั้งละ 30 นาทีขึ้นไปให้ได้ 5 วันต่อสัปดาห์

- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยลง และไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด

- ตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอเพื่อค้นหาความเสี่ยงภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA)

                                                            ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.petcharavejhospital.com