วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2564

ดูแลให้ความรัก ใส่ใจผู้สูงวัยในครอบครัว

 


ครอบครัวที่อบอุ่นเป็นจุดเริ่มต้นของการมีชีวิตที่ดี และการมีครอบครัวที่อบอุ่นเริ่มได้ง่ายๆ จากการเอาใจใส่ซึ่งกันและกันในครอบครัว ในปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอาจทำให้เรามีเวลาน้อยลงจนลืมใส่ใจกับผู้สูงวัยในครอบครัว เช่น ปู่ย่า ตายาย ทั้งที่แท้จริงแล้วผู้สูงวัยมีอายุค่อนข้างมาก แม้จะไม่อยากจะรบกวนเวลาลูกหลาน แต่ยังต้องการความใส่ใจจากลูกหลานบ้างเพื่อลดความคิดถึงและความคิดมากลงบ้าง นอกจากนี้การเอาใจใส่ยังช่วยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเห็นความสำคัญและคุณค่าในตัวเองด้วย

โดยทั่วไปในเทศกาลสำคัญๆ นอกจากการแสดงความรักด้วยการรดน้ำดำหัว มอบของขวัญให้กับญาติผู้ใหญ่ที่เรารักแล้วข้อแนะนำการให้ความสำคัญแก่ผู้สูงวัยในครอบครัว ด้วยการหมั่นดูแลและใส่ใจผู้สูงอายุ มีดังนี้

1.   ใส่ใจในโภชนาการของผู้สูงวัย แม้ว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะรับประทานอาหารได้น้อยลง แต่การรับประทานอาหารควรรับประทานให้ถูกสัดส่วน ครบทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ รวมถึงหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีรสหวาน มัน และเค็มจัด ควรทานอาหารที่ย่อยง่าย กากใยสูง

2.   พาไปตรวจสุขภาพประจำปี เป็นสิ่งที่จำเป็นที่ลูกหลานไม่ควรละเลย เนื่องจากร่างกายของผู้สูงวัยมีการเสื่อมสภาพลง ระบบภายในหรือสุขภาพอาจจะเกิดความผิดปกติได้ ดังนั้น การพาผู้สูงวัยไปตรวจสุขภาพประจำปี จะทำให้สามารถคัดกรองหาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจจะทำให้เกิดโรค

3.   ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ เมื่ออายุมากขึ้นเท่าไหร่การเสื่อมสภาพของร่างกายย่อมตามมา โดยเฉพาะปัญหาการล้มของผู้สูงวัยค่อนข้างเยอะ ดังนั้นควรเลือกกิจกรรมที่ผู้สูงอายุจะทำให้เหมาะสมหรือภายในที่พักอาศัย ควรเก็บของให้เป็นระเบียบ โดยเฉพาะในห้องน้ำควรจะมีราวจับไว้ด้วย

4.   พยายามให้ผู้สูงอายุได้ออกกำลังกายบ้าง แม้ว่าผู้สูงอายุไม่ค่อยกล้าที่จะออกกำลังกายเพราะอาจจะกลัวผลัดตกหกล้ม กลัวจะไม่มีแรงออกกำลัง ควรหากิจกรรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมให้กับผู้สูงอายุ และคอยให้ความช่วยเหลือ เช่น การช่วยพยุงให้เดินแกว่งแขนเบาๆ เพื่อช่วยยืดคลายกล้ามเนื้อ เปิดเพลงคลอเบาๆ ช่วยให้ผ่อนคลาย ลดความตึงเครียดกับการออกกำลังกาย ก็จะทำให้ผู้สูงอายุมีร่างกายที่แข็งแรงและมีอารมณ์ดีมากยิ่งขึ้น 

5.   จัดสภาพแวดล้อมที่ดีเพื่อให้ผู้สูงอายได้พักผ่อน เช่น ปลูกต้นไม้หรือทำในสิ่งที่ผู้สูงอายุชอบ ฟังเพลง ร้องเพลง เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุมีความเครียดน้อยลงและมีจิตใจที่แจ่มใส

การที่เราอยู่ในครอบครัวเดียวกันมานาน อาจทำให้เราคุ้นเคยกับร่างกายที่แข็งแรงของผู้สูงอายุในครอบครัวจนลืมไปว่าแม้ผู้สูงอายุเคยเป็นคนที่แข็งแรง แต่เมื่อเวลาผ่านไปร่างกายย่อมมีการเสื่อมสภาพลง ต้องการการดูแลที่มากขึ้น ดังนั้นลูกหลานในครอบครัวไม่ควรปล่อยปะละเลย ควรดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุที่เรารักและเคารพให้มาก เพื่อให้ผู้สูงอายุมีอายุยืน มีสุขภาพที่แข็งแรงทั้งงด้านร่างกายและจิตใจ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.healthydee.moph.go.th/