วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2565

 


เคยรู้สึกไหม?

เวลาไปติดต่อราชการ หรือจะประกอบกิจการงานอะไร มีกฎระเบียบให้เราต้องยื่นเอกสารนู่นนี่ หรือต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้มากมาย ทั้งที่ไม่จำเป็น หรือมีประโยชน์แก่รัฐนิดเดียว แต่เป็นภาระประชาชนมหาศาล

นั่นก็เพราะที่ผ่านมา กระบวนการออกกฎของไทย (เช่น กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ) มุ่งเน้นที่ความต้องการของภาครัฐ ความสะดวกของเจ้าหน้าที่ และการควบคุมกำกับประชาชน จนอาจละเลยการพิเคราะห์ว่า ที่บังคับให้ประชาชนต้องทำนั่นต้องยื่นนี่ กี่ชุดต่อกี่ชุด จำเป็นอย่างแท้จริงหรือไม่ พอสมควรแก่เหตุไหม

ซึ่งกลไกส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยสร้างความสมดุล ระหว่างประโยชน์สาธารณะกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ก็คือการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง และการวิเคราะห์ผลกระทบก่อนการออกกฎนั่นเอง

คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 เห็นชอบร่างอนุบัญญัติตาม พรบ.77 จำนวน 3 ฉบับ ตามที่คณะกรรมการพัฒนากฎหมายเสนอ เพื่อกำหนดให้หน่วยงานของรัฐรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบก่อนการออกกฎที่ก่อภาระแก่ประชาชน เพื่อให้กฎที่จะออกมาใช้บังคับแก่ประชาชนนั้น จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเท่าที่จำเป็น

ซึ่งอนุบัญญัติทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565 โดยกฎกระทรวงตามมาตรา 5 วรรค 5 ที่กำหนดประเภทหรือลักษณะของร่างกฎที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและทำ RIA ก่อนการออกกฎ จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 8 ตุลาคม 2565 ดังนั้น การเสนอร่างกฎตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป หน่วยงานผู้เสนอจึงต้องแนบสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงาน RIA ของร่างกฎนั้นประกอบด้วย

ศึกษารายละเอียดของอนุบัญญัติทั้ง 3 ฉบับได้ที่นี่

- กฎกระทรวงกำหนดร่างกฎที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ พ.ศ. 2565
- ประกาศคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย เรื่อง การดำเนินการอื่นของระบบกลาง พ.ศ. 2565
- แนวทางการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. 2565
(ฉบับ Update)

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.lawreform.go.th