วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ 16 พฤศจิกายน 2564


 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2564 ณ จังหวัดกระบี่

http://www.thaigov.go.th
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
 
                   วันนี้ (16 พฤศจิกายน 2564) ณ ห้องประชุมโภคีธรา โรงแรมโซฟิเทล กระบี่ โภคีธรา กอล์ฟ แอนด์ สปา รีสอร์ท ตำบลหนองทะเล อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2564 ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
 

กฎหมาย

                   1.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว และใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ พ.ศ. ....
                   2.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงออกตามพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 รวม 3 ฉบับ
                   3.        เรื่อง     ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ฉบับที่ ..)
 

เศรษฐกิจ สังคม

                   4.       เรื่อง     การขออนุมัติกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
                   5.       เรื่อง     การนำเสนอแหล่งมรดกทางธรรมชาติ พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน เข้าสู่ บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก 
                   6.       เรื่อง     เรื่อง ขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการจัดที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยให้ชุมชน ในพื้นที่ป่าชายเลนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 และ 2563 ในท้องที่จังหวัดชายฝั่งทะเล 21 จังหวัด
                   7.       เรื่อง      ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 14/2564  
                   8.       เรื่อง     แนวทางการดำเนินงานส่งเสริมปีท่องเที่ยวไทย 2565 (Visit Thailand Year 2022)
                   9.       เรื่อง      ขออนุมัติดำเนินงานโครงการประมูลสิทธิ์งานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 และ จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572
                   10.     เรื่อง     ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สามของปี 2564 และแนวโน้มปี 2564
                   11.     เรื่อง     สรุปผลการปฏิบัติราชการของคณะรัฐมนตรีในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน
 

ต่างประเทศ

                   12.      เรื่อง     ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมสภารัฐมนตรีสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ 21  
                   13.      เรื่อง     ขอความเห็นชอบร่างความตกลงว่าด้วยการต่ออายุแถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟ ระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
                    14.      เรื่อง     ร่างบันทึกการประชุม (Agreed Minutes) ของการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย – เวียดนาม ครั้งที่ 4
 
 

แต่งตั้ง

                   15.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)
                   16.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)
                   17.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้)
                   18.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพาณิชย์)
 
                  
*******************
สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
 
 

กฎหมาย

1. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวและใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวและใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ พ.ศ. .... ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้ กก. รับความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                   ทั้งนี้ กก. เสนอว่า 
                   1. เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจการท่องเที่ยวเกิดความชะงัก ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก ทำให้ขาดรายได้แต่ยังรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจหรือประกอบอาชีพ ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ในระยะเร่งด่วน เพื่อให้สามารถหล่อเลี้ยงธุรกิจและการประกอบอาชีพอาชีพในภาวะวิกฤต จึงเห็นควรยกเว้นค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวและใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 ลงชั่วคราว และเพื่อให้การยกเว้นค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวและใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ดังกล่าวเป็นไปตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ซึ่งบัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม ยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงฉบับนี้ 
                   2. คณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ในการประชุมครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวแล้ว   
                   3. กก. ได้รายงานผลการดำเนินการตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยรายงานว่า ตามมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวมัคคุเทศก์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 กำหนดให้เงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว และค่าธรรมเนียมอื่นที่เรียกเก็บตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นเงินและทรัพย์สินของกองทุนคุ้มครองธุรกิจนำเที่ยว ซึ่งให้ตกเป็นของกรมการท่องเที่ยวเพื่อใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของกองทุน โดยไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดิน ซึ่งการยกเว้นค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว เป็นระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ จะทำให้กองทุนไม่ได้รับเงินจากค่าธรรมเนียม ประมาณ 18,900,000 บาท และการยกเว้นค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ เป็นระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ จะทำให้กองทุนไม่ได้รับเงินค่าธรรมเนียมประมาณ 13,850,600 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 32,750,600 บาท ซึ่งการยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ และเป็นการพยุงสถานะของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ให้มีการประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง  
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 
                   1. กำหนดให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวครั้งละ 2,000 บาท และการต่ออายุใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวสาขา ครั้งละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ 
                   2. กำหนดให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ ครั้งละ 200 บาท เป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ

2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงออกตามพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 รวม 3 ฉบับ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงออกตามพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 รวม 3 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว  ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้                   
                   ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงรวม 3 ฉบับ ตามที่ กษ. เสนอ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาต การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การโอนใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาตให้ประกอบกิจการฆ่าสัตว์ และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และมาตรฐานในการประกอบกิจการฆ่าสัตว์ และมาตรฐานการขนส่งสัตว์และเนื้อสัตว์ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 และเพื่อให้การประกอบกิจการฆ่าสัตว์มีสุขอนามัย รวมทั้งเพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการฆ่าสัตว์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง  
                   1. ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ประกอบกิจการฆ่าสัตว์ พ.ศ. .... เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การโอนใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาตให้ประกอบกิจการฆ่าสัตว์ โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้  
                             1) การขออนุญาตและการออกใบอนุญาต 
                                       ผู้ใดประสงค์จะประกอบกิจการฆ่าสัตว์ต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อนายทะเบียน พร้อมด้วยแผนงานการประกอบกิจการฆ่าสัตว์ รวมทั้งข้อมูลเอกสาร หรือหลักฐาน หากถูกต้องครบถ้วนแล้ว ให้นายทะเบียนเสนอแผนงานการประกอบกิจการฆ่าสัตว์ต่อคณะกรรมการประจำจังหวัดที่โรงฆ่าสัตว์นั้นตั้งอยู่เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ  
                             2) การต่ออายุใบอนุญาต 
                                      ให้ผู้รับใบอนุญาตยื่นคำขอต่อนายทะเบียนก่อนใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุไม่น้อยกว่าสามเดือน แต่ไม่เกินหกเดือน พร้อมด้วยแผนงานการประกอบกิจการฆ่าสัตว์และเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ 
                             3) การโอนใบอนุญาต 
                                      ผู้รับใบอนุญาตประสงค์จะโอนใบอนุญาตให้บุคคลอื่น ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียน พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ โดยให้ผู้อนุญาตออกใบอนุญาตใหม่ตามใบอนุญาตเดิมและให้ประทับตรา “โอน” ไว้ด้านบนขวามือของใบอนุญาต  
                             4) การออกใบแทนใบอนุญาต  
                                      กรณีใบอนุญาตสูญหาย เสียหาย หรือถูกทำลาย ให้ผู้รับใบอนุญาตยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ใบอนุญาตสูญหาย เสียหาย หรือถูกทำลาย พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ
                             5) การยื่นคำขอ
                                      การยื่นคำขอ การออกใบอนุญาต การอนุญาต และการแจ้งตามกฎกระทรวงนี้ให้ดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก แต่ถ้าไม่สามารถดำเนินการได้ สำหรับกรุงเทพมหานคร ให้ยื่น       ณ สำนักงานปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร และสำหรับจังหวัดอื่น ให้ยื่น ณ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแห่งท้องที่ที่โรงฆ่าสัตว์นั้นตั้งอยู่
                   2. ร่างกฎกระทรวงการประกอบกิจการฆ่าสัตว์ พ.ศ. .... เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และมาตรฐานในการประกอบกิจการฆ่าสัตว์ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้  
                             1) สถานที่ตั้งโรงฆ่าสัตว์ต้องมีรั้วกั้นหรือมาตรการอื่นใดในการป้องกันสัตว์อื่น และบุคคลภายนอกมิให้เข้าไปในในโรงฆ่าสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต มีมาตรการป้องกันสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคมิให้เข้าไปในอาคารโรงฆ่าสัตว์ มีระบบระบายน้ำ ระบายอากาศที่มีประสิทธิภาพ 
                             2) โรงพักสัตว์ต้องมีพื้นที่เพียงพอสำหรับสัตว์ที่จะทำการฆ่าในแต่ละรอบ มีพื้นที่สำหรับแยกสัตว์ป่วยหรือสงสัยว่าป่วย มีระบบระบายอากาศ ระบบระบายน้ำ และของเสียจากสัตว์ที่ไม่ก่อให้เกิดการสะสมของสิ่งปฏิกูล  
                             3) เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงฆ่าสัตว์ต้องทำด้วยวัสดุที่ไม่มีส่วนผสมที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค  
                             4) ผู้รับใบอนุญาตต้องงดให้อาหารสัตว์และจัดให้มีการพักสัตว์ภายในระยะเวลาที่เหมาะสมก่อนทำการฆ่า และจัดให้มีการตรวจสัตว์โดยพนักงานตรวจโรคสัตว์ภายใน 24 ชั่วโมง ก่อนทำการฆ่าและต้องทำให้สัตว์สลบก่อนทำการฆ่า
                             5) บริเวณชำแหละและตัดแต่งเนื้อสัตว์ต้องทำความสะอาดได้ง่าย และในขณะที่มีการตัดแต่งเนื้อสัตว์ต้องไม่ให้เนื้อสัตว์สัมผัสพื้นและผนัง มีมาตรการป้องกันสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคมิให้เข้าไปในสถานที่ตัดแต่งเนื้อสัตว์ 
                   3. ร่างกฎกระทรวงการขนส่งสัตว์และเนื้อสัตว์ พ.ศ. .... เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และมาตรฐานการขนส่งสัตว์และเนื้อสัตว์ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 
                             1) ผู้ขนส่งสัตว์ต้องทำด้วยความระมัดระวังไม่ทำให้สัตว์ตื่นตกใจ ได้รับบาดเจ็บ หรือได้รับความทรมาน ซึ่งในการขนส่งสัตว์ ห้ามขนส่งสัตว์ต่างประเภทรวมกัน
                             2) ยานพาหนะต้องมีการระบายอากาศที่ดี ป้องกันการกระแทกในระหว่างการขนส่ง มีการป้องกันมิให้มูลฝอยและสิ่งปฏิกูลตกลงสู่พื้นผิวถนน ยานพาหนะขนส่งสัตว์และภาชนะบรรจุสัตว์ต้องล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อด้วยวิธีการที่เหมาะสมก่อนและหลังการขนส่งสัตว์ 
                             3) ผู้ขนส่งเนื้อสัตว์ต้องมีเอกสารที่แสดงว่าได้รับอนุญาตให้เคลื่อนย้ายเนื้อสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ มีใบรับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์ หรือขนส่งเนื้อสัตว์ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่มีตรารับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์  
                             4) ยานพาหนะขนส่งเนื้อสัตว์ ต้องมีโครงสร้างที่แข็งแรง สามารถทำความสะอาดและฆ่าเชื้อได้ง่าย มีการป้องกันมิให้มูลฝอยและสิ่งปฏิกูลลงสู่ผิวถนน
 
3. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ฉบับที่ ..)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ฉบับที่ ..) ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ โดยให้ ตช. รับความเห็นของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                   ทั้งนี้ ร่างประกาศฯ ที่ ตช. เสนอ เป็นการแก้ไขและบรรเทาผลกระทบแก่คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามประเภทการตรวจลงตรา (รวมทั้งการตรวจลงตรา Visa on Arrival) คนต่างด้าวที่ได้รับสิทธิการยกเว้นการตรวจลงตรา และคนต่างด้าวที่ได้รับสิทธิตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยให้ได้รับการขยายระยะเวลาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและการแจ้งที่พักอาศัยต่อไปได้ ตั้งแต่วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (3 สิงหาคม 2564) ที่ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ออกใบอนุญาตหรือรับแจ้งไปดำเนินการแก้ไขกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชนในการติดต่อราชการเพื่อขออนุญาตกับหน่วยงานของรัฐจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  
                    สาระสำคัญของร่างประกาศ 
                   1. ให้ขยายระยะเวลาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรของคนต่างด้าว ดังต่อไปนี้  
                             (1) คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามประเภทการตรวจลงตรา (รวมทั้งการตรวจลงตรา Visa on Arrival)  
                             (2) คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามสิทธิการยกเว้นการตรวจลงตราตามข้อ 13 แห่งกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจ การยกเว้น และการเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตรา พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม  
                             (3) คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวซึ่งได้รับสิทธิตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือตามประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งระยะเวลาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรของคนต่างด้าวดังกล่าวจะสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับเป็นต้นไป โดยให้ขยายระยะเวลาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรต่อไปได้ตั้งแต่วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564  
                   2. ให้ขยายระยะเวลาการแจ้งที่พักอาศัยตามมาตรา 37 (5) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 หรือตามประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้องสำหรับคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเกิน 90 วัน แล้วครบกำหนดระยะเวลาการแจ้งที่พักอาศัย ตั้งแต่วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564  
                   3. ให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองประกาศกำหนดระยะเวลาให้คนต่างด้าวดำเนินการตามมาตรา 35 และมาตรา 37 (5) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องให้เสร็จสิ้น ระหว่างวันที่ 1 – 31 ธันวาคม 2564
 

เศรษฐกิจ สังคม

4. เรื่อง การขออนุมัติกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบดังนี้
                   1. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ 
                   2. เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์การกู้เงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามที่ พน. เสนอ  
                   3. สำหรับการอนุมัติการกู้ยืมเงิน ให้เป็นไปตามความเห็นของกระทรวงการคลัง โดยให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดำเนินการกู้เฉพาะวงเงิน 20,000 ล้านบาท ตามกรอบของกฎหมายกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีอยู่ และจะดำเนินการกู้เงินเพิ่มเติมวงเงิน 10,000 ล้านบาท ได้ต่อเมื่อร่างพระราชกฤษฎีกาตามข้อ 1. มีผลบังคับใช้แล้ว  
                   4. ให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงรับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                   ทั้งนี้ เรื่องที่ พน. เสนอ เป็นการดำเนินการเพื่อให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกู้ยืมเงินเพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชน ซึ่ง พน. ยืนยันว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 และเป็นไปตามแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง โดยการตราร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ เป็นจำนวนไม่เกิน 30,000 ล้านบาท (ปัจจุบันกำหนดไว้ 20,000 ล้านบาท) และกำหนดหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยกำหนดให้ในการกู้ยืมเงินแต่ละคราวให้ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเสนอเหตุลความจำเป็นในการกู้เงิน รายละเอียดการกู้เงิน ซึ่งประกอบด้วยแผนการกู้เงิน แผนการใช้จ่ายเงินกู้ และแผนการชำระหนี้ ต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติต่อไป โดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง สำหรับแผนการกู้ยืมเงินและแผนการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นการกำหนดรายละเอียดของการกู้ยืมเงินและระยะเวลาหรือช่วงเวลาในการดำเนินการต่าง ๆ ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้มีมติเห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้ หลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และแผนการกู้ยืมเงินและแผนการชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 โดยแผนการเบิกจ่ายเงินกู้ที่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณการไว้จะเริ่มเบิกเงินกู้ประมาณเดือนมิถุนายน 2565
                   สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา หลักเกณฑ์การกู้ยืมเงิน และแผนการกู้ยืมเงินและแผนการชำระหนี้ 
                   1. ร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศเป็นจำนวนไม่เกิน 30,000 ล้านบาท (ปัจจุบันกำหนดไว้ 20,000 ล้านบาท)  
                   2. หลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ในการกู้ยืมเงินแต่ละคราวให้ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเสนอเหตุผลความจำเป็นในการกู้เงิน รายละเอียดการกู้เงินซึ่งประกอบด้วยแผนการกู้เงิน แผนการใช้จ่ายเงินกู้ และแผนการชำระหนี้ ต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติต่อไป ทั้งนี้ วงเงินกู้จะต้องไม่เกิน 20,000 ล้านบาท หรือวงเงินอื่นที่กำหนดตามพระราชกฤษฎีกา การกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงถือเป็นการก่อหนี้สาธารณะ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องด้วย 
                   3. แผนการกู้ยืมเงินและแผนการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดรายละเอียดของการกู้ยืมเงิน เช่น ผู้กู้ วัตถุประสงค์ในการกู้ยืม วงเงินกู้ยืม อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาชำระคืน แผนการเบิกเงิน แผนการชำระคืนเงินกู้ และเงื่อนไขอื่น เป็นต้น และแผนการกู้ยืมเงินซึ่งมีการกำหนดระยะเวลาหรือช่วงเวลาในการดำเนินการต่าง ๆ เช่น สถาบันการเงินพิจารณาการกู้ยืมเงินในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม ลงนามในสัญญาเงินกู้กับสถาบันการเงินในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม และเบิกเงินกู้ยืมในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน เป็นต้น
 
5. เรื่อง การนำเสนอแหล่งมรดกทางธรรมชาติ พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก 
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้
                   1. เห็นชอบเอกสารบัญชีรายชื่อเบื้องต้น พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันเพื่อเสนอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก  
                   2. เห็นชอบให้ ทส. (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) นำเสนอแหล่งมรดกทางธรรมชาติพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันเพื่อเสนอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลกต่อศูนย์มรดกโลก ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส 
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   ทส. เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ “เอกสารบัญชีรายชื่อเบื้องต้น พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก” ซึ่งจะใช้นำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 (วันที่ 15 เมษายน 2565) เพื่อให้การรับรองการเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก โดยพื้นที่ที่นำเสนอขึ้นทะเบียนประกอบด้วย 6 พื้นที่อุทยาน และ 1 พื้นที่ป่าชายเลน ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด (จังหวัดระนอง จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต) พื้นที่รวม 2,908 ตารางกิโลเมตร (ประกอบด้วยพื้นที่นำเสนอ 1,159.55 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่กันชน 1,748.45 ตารางกิโลเมตร) โดยแบ่งตามลักษณะทางระบบนิเวศเป็น       3 ลักษณะ รายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

 
พื้นที่
 
ลักษณะเด่น
ข้อมูลภูมิศาสตร์
ที่ตั้งขนาดพื้นที่นำเสนอ      (ตารางกิโลเมตร)
1. ป่าชายเลนและกลุ่มเกาะชายฝั่ง
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง- เป็นป่าชายเลนผืนใหญ่ที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์และอาจเป็นป่าชายเลนดั้งเดิมที่ไม่ถูกรบกวนผืนใหญ่ที่สุดในมหาสมุทรอินเดียตะวันออก
- เป็นพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการในการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนของคนในชุมชน
 
 
จังหวัดระนอง
272.00
อุทยานแห่งชาติแหลมสน315.00
ป่าชายเลนจังหวัดระนอง142.30
2. หมู่เกาะทะเลลึก
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์- มีปะการังที่สวยงามและมีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ
- สามารถพบสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ที่หายาก เช่น ฉลามวาฬ กระเบนราหู โลมา ได้เป็นประจำ
 
 
จังหวัดพังงา
141.25
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน140.00
3. ชายหาดและป่าสันทรายชายฝั่ง
อุทยานแห่งชาติเขาลำปี – หาดท้ายเหมือง- มีแนวปะการังทอดตัวยาวขนานกับชายฝั่งถึงเกาะภูเก็ตทางใต้ (เปรียบเทียบได้กับแนวปะการังเกรตแบริเออร์รีฟ ในเครือรัฐออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งมรดกโลก)
- เป็นแหล่งวางไข่ที่สำคัญของเต่ามะเฟืองที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวบนชายฝั่งแผ่นดินใหญ่ทางตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย
 
จังหวัดพังงา
72.00
อุทยานแห่งชาติสิรินาถ 
 
จังหวัดภูเก็ต
77.00
รวม1,159.55
รวมพื้นที่กันชน 1,748.45 ตารางกิโลเมตร2,908.00
      

                   ทั้งนี้ การเสนอพื้นที่เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกจะต้องดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้
                   1. จัดทำบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ซึ่งรวบรวมสถานที่ที่มีความสำคัญทั้งหมดภายในประเทศ
* โดย ทส. ได้เสนอเอกสารบัญชีรายชื่อเบื้องต้นให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อให้ได้รับการรับรองการเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) (ตามที่ ทส. เสนอมาในครั้งนี้) 
                   2. เลือกรายชื่อสถานที่ที่ต้องการเสนอชื่อมาจากบัญชีรายชื่อเบื้องต้นเพื่อจัดทำเป็นแฟ้มข้อมูล (Nomination File)
                   3. แฟ้มข้อมูลจะถูกตรวจสอบและพิจารณาจากองค์กร 2 แห่ง ได้แก่ สภานานาชาติว่าด้วยการดูแลอนุสรณ์สถานและแหล่งโบราณคดี (International Council on Monuments and Sites) และสหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ (World Conservation Union) ซึ่งเป็นองค์กรที่ปรึกษาอยู่ภายใต้คณะกรรมการมรดกโลก (World Heritage Committee) ก่อนให้ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการมรดกโลก**
** โดย ทส. จะเสนอเอกสารเพื่อเข้าสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลกให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและมอบหมายให้ประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกเป็นผู้ลงนามในเอกสารนำเสนอการเข้าสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลก ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส
                   4. คณะกรรมการจะจัดการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ (World Heritage Committee Session) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อตัดสินว่าสถานที่ที่ได้รับการเสนอชื่อแห่งใดที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการ 
                   โดยที่ขณะนี้การนำเสนอแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ พื้นที่อนุรักษ์ทะเลอันดามันอยู่ในขั้นตอนที่ (1) การจัดทำบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ซึ่งหากประเทศไทยดำเนินการจัดส่ง “เอกสารบัญชีรายชื่อเบื้องต้น พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก” ให้ศูนย์มรดกโลกได้ภายในวันที่ 15 เมษายน 2565 จะได้รับการนำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 เพื่อให้ได้การรับรองการเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลกและจะสามารถดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปเพื่อจัดส่งเอกสารการนำเสนอเป็นมรดกโลกได้ในปี 2566
 
6. เรื่อง ขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการจัดที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยให้ชุมชน ในพื้นที่ป่าชายเลน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 และ 2563 ในท้องที่จังหวัดชายฝั่งทะเล 21 จังหวัด
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการจัดที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยให้ชุมชน ในพื้นที่ป่าชายเลนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 และ 2563 ในท้องที่จังหวัดชายฝั่งทะเล 21 จังหวัด เพื่อนำที่ดินที่เป็นป่าชายเลน เนื้อที่รวม 4,105 – 0 – 04 ไร่ ไปดำเนินการจัดที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยให้ชุมชน ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
                   สาระสำคัญ
                   ทส. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้ยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดให้ระงับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนโดยเด็ดขาด (มติคณะรัฐมนตรี 23 กรกฎาคม 2534  22 สิงหาคม 2543 และ 17 ตุลาคม 2543) เพื่อนำที่ดินในพื้นที่ป่าชายเลนเนื้อที่รวม 4,105 – 0 – 04 ไร่ ในท้องที่จังหวัดชายฝั่งทะเล 21 จังหวัด (จังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต สตูล และตรัง) ไปดำเนินการจัดที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ซึ่ง คทช. ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 มีมติรับทราบด้วยแล้ว โดยในส่วนของค่าใช้จ่ายในการปลูกและบำรุงป่าชายเลนทดแทนไม่น้อยกว่า 20 เท่าของพื้นที่ป่าชายเลนที่ใช้ประโยชน์ ทส. จะดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ว่าด้วยการปลูกและบำรุงป่าชายเลนทดแทนเพื่อการอนุรักษ์หรือรักษาสภาพแวดล้อม กรณี การดำเนินการโครงการใด ๆ ของหน่วยงานของรัฐที่มีความจำเป็นต้องเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลน พ.ศ. 2556 ต่อไป  
                   อนึ่ง พื้นที่เป้าหมายในการจัดที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยให้ชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลนในครั้งนี้เป็นพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบและอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ทส. ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 และพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ไม่ได้ทับซ้อนกับพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่นและไม่กระทบต่อการปฏิบัติตามกฎหมายในความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่น และเมื่อได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายแล้วเจ้าหน้าที่จะลงสำรวจพื้นที่ร่วมกับผู้นำหรือผู้แทนชุมชน และมีผู้ที่อยู่อาศัยใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นผู้นำตรวจและนำชี้เป็นรายแปลง
                    เนื่องจากพื้นที่ป่าชายเลนมีมติคณะรัฐมนตรีห้ามมิให้ใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลนในทุกกรณีทั้งภาครัฐและเอกชน ดังนั้น การจะเข้าใช้ประโยชน์หรือกระทำการใด จึงต้องขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีก่อน 
 
7. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 14/2564  
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) ในคราวประชุมครั้งที่ 14/2564 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ดังนี้  
                   1. อนุมัติให้นำวงเงินกู้เพื่อการตามมาตรา 5 (2)มาใช้เพื่อการตามมาตรา 5 (1)เพิ่มเติม (ครั้งที่ 1) จำนวน 20,000 ล้านบาท เพื่อรองรับความต้องการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 สำหรับการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) ของหน่วยงานรับผิดชอบ  
                   2. มอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบที่ได้รับอนุมัติดำเนินโครงการ โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนดกู้เงินฯ พ.ศ. 2563) และพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ เร่งดำเนินการคืนเงินกู้เหลือจ่ายและรายงานประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการเสนอกระทรวงการคลัง (กค.) ตามขั้นตอนของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 พ.ศ. 2563 (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ กู้เงิน พ.ศ. 2563) และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 พ.ศ. 2564 (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ                   กู้เงิน เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) สามารถบริหารกรอบวงเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 และพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                    3. อนุมัติโครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (โครงการฯ) ปี 2564 รอบที่ 5 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแห่งชาติ (สปสช.) กรอบวงเงิน 20,829.2340 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 1 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นค่าชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ/สถานพยาบาลตามเกณฑ์ที่กำหนดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 รอบที่ 5 ทั้งนี้ สปสช. และหน่วยงานรับผิดชอบต้องตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายดังกล่าวว่าเป็นการชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการให้บริการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด 19 ตามวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 และไม่มีความซ้ำซ้อนกับแหล่งเงินงบประมาณและแหล่งเงินอื่น ๆ 
                   4. มอบหมายให้ สปสช. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการฯ ปี 2564 รอบที่ 5 และดำเนินการจัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายเดือน เพื่อให้ สบน. สามารถจัดหาเงินกู้พร้อมทั้งปฏิบัติตามข้อ 15 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ กู้เงิน เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 อย่างเคร่งครัดตามขั้นตอนต่อไป
                   สาระสำคัญ
                   โครงการฯ ปี 2564 รอบที่ 5 ของ สปสช. เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 สธ. โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอเรื่องโครงการฯ ปี 2564 รอบที่ 5 ของ สปสช. โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

ประเด็นรายละเอียด
วัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายชดเชยค่าบริการสาธารณสุข สำหรับการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด 19 ปี 2564 ที่หน่วยบริการ/สถานพยาบาลได้ให้บริการไปแล้วภายในปีงบประมาณ 2564 อาทิ ค่าบริการตรวจคัดกรอง ค่าบริการรักษาพยาบาล ค่าบริการฉีดวัคซีน และค่าตรวจวินิจฉัยและรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตันจากการรับวัคซีนโควิด 19 (Vaccine-induced Immune Thrombotic Thrombocytopenia : VITT)3
กลุ่มเป้าหมายหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลที่จัดบริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้ให้บริการสาธารณสุขทั่วประเทศ
วงเงินและแหล่งเงิน20,829.2340 ล้านบาท โดยขอใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานหรือโครงการกลุ่มที่ 1 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564
ระยะเวลาดำเนินงาน1 เดือน (เดือนตุลาคม 2564)
ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับหน่วยบริการ/สถานพยาบาลได้รับการจ่ายชดเชยค่าบริการตรวจคัดกรอง บริการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ บริการรักษาพยาบาล บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ตามผลการบริการที่เกิดขึ้นจริง

______________________________ 
เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
คือ การเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันกับเกล็ดเลือดต่ำที่พบได้หลังจากการฉีดวัคซีนโควิด 19 มีการรายงานพบภาวะ VITT ได้หลังการฉีดวัคซีน 2 ชนิดคือ AstraZenaca และ Johnson & Johnson โดยองค์ประกอบของวัคซีนบางส่วนทำให้ร่างกายของผู้ที่ได้รับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาไปกระตุ้นเกล็ดเลือด จนทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำ โดยผู้ป่วยจากภาวะดังกล่าวจะมีอาการตั้งแต่มึนศีรษะ ปวดศรีษะ คลื่นไส้อาเจียน ตามัว แขนขาอ่อนแรง ไปจนถึงมีลิ่มเลือดอุดตันในช่องท้อง
 
8. เรื่อง แนวทางการดำเนินงานส่งเสริมปีท่องเที่ยวไทย 2565 (Visit Thailand Year 2022)
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมปีท่องเที่ยวไทย 2565 (Visit Thailand Year 2022) ภายใต้แนวคิด Visit Thailand Year 2022 : Amazing New Chapters ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอ
                   สาระสำคัญ
                   1. วัตถุประสงค์การดำเนินงานปีท่องเที่ยวไทย 2565
                             1. เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจในการนำรายได้เข้าประเทศ เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจภาพรวมและสังคมของประเทศไทย
                             2. เพื่อประกาศความพร้อมของประเทศไทยในการพลิกโฉม เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวในปี 2565
                             3. สร้างจุดขายที่แตกต่างให้กับประเทศไทย พร้อมยกระดับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยในฐานะ Quality Leisure Destination สู่การเป็น Preferred Destination
                             4. เพื่อดึงดูด เชิญชวน และกระตุ้นการตัดสินใจของกลุ่มเป้าหมายให้เกิดความสนใจเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย
                   2. แนวคิดการนำเสนอปีท่องเที่ยวไทย
                             1. พลิกโฉมประเทศไทย ผ่านการสื่อสารการตลาดในแคมเปญ Visit Thailand Year 2022 : Amazing New Chapters
                             2. นำเสนอสินค้า บริการ และกิจกรรมทางการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจะได้รับในแนวคิด From A to Z Amazing Thailand Has it All โดยแบ่งการนำเสนอขายครอบคลุมการดำเนินงานทั้งปี 2565 ผ่านตัวอักษร A ถึง Z
                             3. กำหนดแนวทางการสื่อสารแคมเปญ Visit Thailand Year 2022 : Amazing New Chapters โดยแบ่งแนวทางการนำเสนอสินค้า บริการ และกิจกรรมทางการท่องเที่ยว เป็น Chapter ได้แก่
                             Chapter ที่ 1 : The First Chapter นำเสนอประสบการณ์และสร้างความรู้สึกใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส พร้อมทั้งมอบประสบการณ์ท่องเที่ยวที่เหนือความคาดหมายที่นักท่องเที่ยวจะได้รับ โดยนำเสนอตัวอย่างตัวอักษรชุดแรก ได้แก่
                             A-Awaken Your Senses
                             B-Beyond Expectation
                             C-Craft Your Imagination
                             Chapter ที่ 2 : The One You Love เพื่อเชิญชวนคนที่คุณรัก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มครอบครัว คู่รัก หรือกลุ่มเพื่อน ให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทย เพื่อสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวที่น่าประทับใจ ร่วมกัน โดยนำเสนอตัวอย่างตัวอักษร ได้แก่
                             N-New Expressions of Romance
                             O-Overjoyed with Excitement
                             P-Pump Your Heart with Flames of Passion
                             Chapter ที่ 3 : The Earth We Care นำเสนอประเทศไทยและแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกิดเป็นภาพของ Responsible Tourism พร้อมทั้งนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม และอุดมสมบูรณ์มากขึ้นของประเทศไทยที่รอนักท่องเที่ยวมาสัมผัส และร่วมกันรักษาแหล่งท่องเที่ยวไปด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอรูปแบบการท่องเที่ยวในวิถีชีวิต ชุมชนท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ของไทย โดยนำเสนอตัวอย่างตัวอักษร ได้แก่
                             R-Reconnect with Nature
                             S-Submerge Yourself in Local Culture
                   ทั้งนี้ ในการดำเนินงานสื่อสารการตลาดประเทศไทยจะมี New Chapters นำเสนอขายสินค้า บริการ และกิจกรรมทางการท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาค้นหาและสัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ มากกว่าที่เคยตลอดปี 2565
                   3. แนวคิดการดำเนินงาน
                             3.1 กลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมาย
                                  นักท่องเที่ยวต่างประเทศ
                             3.2 รูปแบบการดำเนินงาน
                                  ด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้ โดยเสนอภาพประเทศไทยผ่านสินค้า บริการ และกิจกรรมทางการท่องเที่ยว โดยใช้แคมเปญ Visit Thailand Year 2022 : Amazing New Chapters พร้อมนำเสนอสินค้า บริการ และกิจกรรมทางการท่องเที่ยว ผ่านตัวอักษร A ถึง Z ใน แนวคิด From A to Z Amazing Thailand Has It All
                             1) ออกแบบสร้างสรรค์ และผลิตชิ้นงานภาพยนตร์โฆษณา ความยาว 2 นาที เพื่อสื่อสารแนวคิด
                             2) ดำเนินการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ในงานส่งเสริมการขายต่างประเทศ อาทิ
                             - การเปิดตัวแคมเปญ Visit Thailand Year 2022 : Amazing New Chapters ในงานส่งเสริมการขาย World Travel Market 2021 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งเป็นงานส่งเสริมการขายทางการท่องเที่ยวที่มีความสำคัญที่สุดระดับโลกในตลาดท่องเที่ยว พร้อมทั้งจัดกิจกรรม Press Conference เพื่อสร้างการรับรู้ และสร้างความเชื่อมั่นในการเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย ไปยังกลุ่มเป้าหมายกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว สื่อมวลชน และนักท่องเที่ยวต่างชาติ
                             - จัดกิจกรรม Visit Thailand Year 2022 Welcome Reception with Friends of Thailand ณ JW Marriott Marquis Dubai ในช่วงงาน Expo 2020 Dubai พร้อมเปิดตัวแคมเปญ Visit Thailand Year 2022, Amazing New Chapters ให้แก่ผู้เข้าร่วมงานเป็นกลุ่มชาวเอมิเรตส์ (Emiratis) รวมถึงเป็น influencer ที่มีความสำคัญในแวดวงสังคม
                             3) จัดทำแผนการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และดำเนินการผ่านการสื่อสารทุกช่องทาง เพื่อก่อให้เกิดการรับรู้สู่กลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างแพร่หลาย อาทิ
                             - สื่อโทรทัศน์
                             - สื่อสิ่งพิมพ์ (หนังสือพิมพ์ และนิตยสารชั้นนำ)
                             - สื่อวิทยุ
                             - สื่อออนไลน์ในเว็บไซต์ยอดนิยม และเว็บไซต์ประชาสัมพันธ์ของ ททท. Blogger Celebrity Social Media ฯลฯ
                             - สื่อพิเศษ (บิลบอร์ด จอ LED Wraps รถตู้ ททท. ฯลฯ)
                             4) เชิญสื่อมวลชน และผู้ประกอบการท่องเที่ยวต่างประเทศ เข้าร่วมสำรวจสินค้าด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่เป้าหมายต่าง ๆ (Mega-Fam Trip)
                             5) ประสานงานพันธมิตรในและนอกอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โฆษณา ประชาสัมพันธ์แคมเปญผ่านช่องทางต่าง ๆ ของพันธมิตร อาทิ พันธมิตรทางสายการบิน
                             ด้านส่งเสริมตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ มุ่งเน้นการดำเนินการสื่อสารตลาดแบบบูรณาการและส่งเสริมการขายร่วมกับพันธมิตรทั้งภายในและภายนอกอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเสนอขายสินค้า บริการและกิจกรรมทางการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายหลักในแต่ละภูมิภาค
                             ด้านสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว
                             1. เริ่มการดำเนินงานในจังหวัดท่องเที่ยวพื้นที่นำร่อง 17 จังหวัด ในพื้นที่ Bluezone ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดกระบี่ จังหวัดชลบุรี (เฉพาะอำเภอบางละมุง เมืองพัทยา อำเภอศรีราชา อำเภอเกาะสีชัง และ อำเภอสัตหีบเฉพาะตำบลนาจอมเทียนและตำบลบางเสร่) จังหวัดเชียงใหม่ (เฉพาะอำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอดอยเด่า อำเภอแม่ริม และอำเภอแม่แตง จังหวัดตราด (เฉพาะอำเภอเกาะช้าง) จังหวัดบุรีรัมย์ (เฉพาะอำเภอเมืองบุรีรัมย์) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (เฉพาะตำบลหัวหินและตำบลหนองแก) จังหวัดพังงา จังหวัดเพชรบุรี (เฉพาะเทศบาลเมืองชะอำ) จังหวัดภูเก็ต จังหวัดระนอง (เฉพาะเกาะพยาม) จังหวัดระยอง (เฉพาะเกาะเสม็ด) จังหวัดเลย (เฉพาะอำเภอเชียงคาน) จังหวัดสมุทรปราการ (เฉพาะบริเวณพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ) จังหวัดสุราษฎร์ธานี (เฉพาะเกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่า) จังหวัดหนองคาย (เฉพาะอำเภอเมืองหนองคาย อำเภอสังคม อำเภอศรีเชียงใหม่ และ อำเภอท่าบ่อ) จังหวัดอุดรธานี (เฉพาะอำเภอเมืองอุดรธานี อำเภอบ้านดุง อำเภอกุมภวาปี อำเภอนายูง อำเภอหนองหาน และ อำเภอประจักษ์ศิลปาคม)
                             2. ขยายการดำเนินงานไปยังจังหวัดท่องเที่ยวอื่นทั่วประเทศ พร้อมนำเสนอแหล่งท่องเที่ยว สินค้า บริการทางการท่องเที่ยว กิจกรรมและเทศกาลประเพณี ตามแนวคิดและสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดของ ททท.
 
9. เรื่อง ขออนุมัติดำเนินงานโครงการประมูลสิทธิ์งานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 และจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการยื่นประมูลสิทธิ์การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 (ระดับ B) และจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572 (ระดับ A1) ต่อสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ International Association of Horticultural Producers (AIPH) โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
                   สาระสำคัญ
                   โครงการประมูลสิทธิ์การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 และจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572 มีวัตถุประสงค์ เป้าหมาย ระยะเวลา และสถานที่ ของการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก รายละเอียดโดยสรุป ดังนี้
                   1. จังหวัดอุดรธานี (จัดงานระดับ B)
                             1) วัตถุประสงค์
                                      1.1 แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาด้านพืชสวนของไทยรวมถึงพื้นที่ชุ่มน้ำและสมุนไพร ตลอดจนการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและเทคโนโลยีด้านพืชสวน ในระดับชาติ และระดับนานาชาติ
                                      1.2 ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้ ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้านธุรกิจ ด้านการนำเข้า-ส่งออก ผลิตผลการเกษตร ธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรมและธุรกิจด้านการบริการด้านต่าง ๆ
                                      1.3 ส่งเสริมการพัฒนาและต่อยอดการเกษตรด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และการวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อสร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ให้เป็นศูนย์กลางด้านการค้าการลงทุนของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS)
                                      1.4 สร้างจังหวัดอุดรธานีให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้านการเกษตรของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง GMS เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิต วิจัย และการต่อยอดสู่ BCG Model (Bio Economy, Circular Economy, Green Economy) เศรษฐกิจชีวภาพ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และระบบเศรษฐกิจสีเขียว สร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ
                                      การเฉลิมฉลองที่สำคัญของประเทศและจังหวัดอุดรธานี
                                      (1) ในปี พ.ศ. 2569 เป็นปีที่ประชาชนชาวไทยจะมีโอกาสได้ร่วมเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 10 ปี ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดมบรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
                                      (2) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมายุครบ 6 รอบ หรือ 72 พรรษา
                                      (3) เฉลิมฉลองการก่อตั้งจังหวัดอุดรธานี ครบ 134 ปี โดยกรมพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมพระผู้สถาปนาเมืองอุดรธานี
                             2) เป้าหมาย จำนวนผู้เข้าชมงาน 3.6 ล้านคน (แบ่งเป็นชาวไทย ร้อยละ 70 และชาวต่างประเทศ ร้อยละ 30) จำนวนประเทศที่เข้าร่วมงานไม่น้อยกว่า 20 ประเทศ/องค์กร/สมาคม
                             3) ระยะเวลาจัดงาน 134 วัน ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569 - 14 มีนาคม 2570
                             4) สถานที่จัดงาน พื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด ตำบลกุดสระ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี พื้นที่รวม 1,030 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่น้ำ 400 ไร่ และพื้นดิน 630 ไร่
                             5) ผู้รับผิดชอบโครงการ ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดอุดรธานี และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)
                   2. จังหวัดนครราชสีมา (จัดงานระดับ A1)
                             1) วัตถุประสงค์
                                      1.1 เพื่อแสดงความก้าวหน้าด้านพันธุ์พืช เทคโนโลยี และนวัตกรรมการผลิตพืชสวน การแปรรูปและผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร การเป็นฐานเกษตร และอาหารที่เข้มแข็งบนพื้นฐานของการพัฒนา รวมทั้งการสร้างสมดุลทางธรรมชาติด้านการวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศไทย
                                      1.2 เพื่อให้เกิดการยกระดับและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูลข่าวสารทางด้านพืชสวนและการเกษตรกับนานาประเทศที่มาร่วมงาน และส่งเสริมให้เกิดการขยายตลาดสินค้าการเกษตรให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนและระดมสมองเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระยะกลางและระยะยาว และสร้างเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศและกับนานาชาติ
                                      1.3 เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ กระจายความเจริญ โอกาสที่จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่ของจังหวัดนครราชสีมาและประเทศไทย โดยสร้างตัวแบบหลักการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่สามารถตอบโจทย์ตามยุทธศาสตร์ชาติ
                                      การเฉลิมฉลองที่สำคัญของประเทศและจังหวัดนครราชสีมา
                                      (1) เฉลิมพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดมบรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ราชาภิเษก ครบรอบ 1 ทศวรรษ และเฉลิมฉลองทรงมีพระชนมายุครบ 77 พรรษา
                                      (2) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมายุครบ 74 พรรษา
                                      (3) เฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 203 ปี วีรกรรมท้าวสุรนารี
                                      (4) เฉลิมฉลองการก่อตั้งจังหวัดนครราชสีมา ครบรอบ 355 ปี โดยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
                             2) เป้าหมาย จำนวนผู้เข้าชมงาน 2.6 ล้านคน โดยร้อยละ 15 เป็นชาวต่างประเทศจำนวนประเทศที่เข้าร่วมงาน 30 ประเทศ
                             3) สถานที่จัดงาน พื้นที่ป่าสาธารณประโยชน์โคกหนองรังกา ตำบลเทพาลัย อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 678 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่จัดแสดง (Exhibited area) 523 ไร่ และพื้นที่จอดรถ (Parking area) 155 ไร่
                             4) ระยะเวลาการจัดงาน 110 วัน ระหว่างวันที่ 10 พฤศจิกายน 2572 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2573
                             5) ผู้รับผิดชอบโครงการ ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดนครราชสีมา สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)
                   ผลกระทบ
                   1. ด้านเศรษฐกิจ
                   ตลอดระยะเวลาในการจัดงานของจังหวัดอุดรธานี มีมูลค่าการสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) กว่า 20,000 ล้านบาท สร้างการจ้างงานกว่า 81,000 อัตรา รายได้จากการเก็บภาษีกว่า 7,700 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้จังหวัดอุดรธานี เกิดรายได้สะพัดกว่า 32,000 ล้านบาท
                   ตลอดระยะเวลาในการจัดงานของจังหวัดนครราชสีมา มีมูลค่าการสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) กว่า 9,163 ล้านบาท สร้างการจ้างงานกว่า 36,003 อัตรา และรายได้จากการเก็บภาษีกว่า 3,429 ล้านบาท ซึ่งทำให้จังหวัดนครราชสีมา เกิดรายได้สะพัดกว่า 18,942.64 ล้านบาท
                   2. ด้านการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของประเทศ สามารถเผยแพร่ให้นานาชาติเห็นถึงการพัฒนาด้านการเกษตรของประเทศ ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิถี การอยู่ร่วมกันของคนไทยกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งเผยแพร่พระราชดำริด้านการเกษตรในการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนสู่ประชาคมโลก
                   3. ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ องค์กรนานาชาติ สามารถกระชับความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ และ องค์กรนานาชาติ ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมในงานมากกว่า 20 ประเทศ/องค์กร
                   4. ด้านสังคม สามารถสร้างงานและกระจายรายได้ให้กับคนในพื้นที่และจังหวัดข้างเคียง ส่งเสริมองค์ความรู้ด้านพืชสวนและการเกษตรให้กับท้องถิ่น เช่น การศึกษาวิจัย รวมไปถึงกิจกรรมอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการต่อยอด ประชาชนชาวไทยจะได้มีโอกาสร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสที่สำคัญ และลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาเมือง
                   5. ด้านการเกษตร สามารถแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและเป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพ สามารถผลิตอาหารที่มีความปลอดภัยและได้มาตรฐานสากล มีวัฒนธรรมการบริโภคที่มีความหลากหลาย มีศิลปวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีที่ล้ำค่า รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เชิงอนุรักษ์การเกษตร
                   6. ด้านการเพิ่มพูนประสบการณ์และองค์ความรู้ มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระดับนานาชาติร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อต่อยอดงานวิจัยและการพัฒนาพืชสวนของไทย อันจะเป็นโอกาสให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐ เอกชน ได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ทางด้านพืชสวน และรูปแบบการจัดนิทรรศการในประเทศและนานาชาติ เนื่องจากในงานจะเป็นจุดรวมเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านพืชสวนของประเทศที่มาร่วมงาน รวมทั้งการเปิดโอกาสให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และเพื่อร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมด้านพืชสวนต่อไป
                   ค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มาของงบประมาณ
                   1. ค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มาของงบประมาณการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 และจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะได้ดำเนินการในขั้นตอนของบประมาณตามกฎหมายต่อไป
                   2. สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ได้จัดสรรงบประมาณการประมูลสิทธิ์ที่ได้รับจัดสรรจากงบยุทธศาสตร์ประจำปี 2565
                             จำนวน 15 ล้านบาท ตามรายละเอียด ดังนี้
                                      (1) ค่าประกันสิทธิ์ (Financial Guarantee) ในปี 2565
                                                จำนวนเงิน 10 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น
                                                - จังหวัดอุดรธานี จำนวน 4 ล้านบาท
                                                - จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 6 ล้านบาท
                                      (2) ค่าดำเนินการสำรวจพื้นที่จังหวัดอุดรธานีในเดือนมกราคม และจังหวัดนครราชสีมา ของคณะกรรมการ AIPH (AIPH Site inspection) ในปี พ.ศ. 2565 จำนวน 5 ล้านบาท
 
10. เรื่อง ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สามของปี 2564 และแนวโน้มปี 2564
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบเรื่อง ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สามของปี 2564 และแนวโน้มปี 2564 ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้
                   1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สามของปี 2564
                   เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2564 ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.6 ในไตรมาสก่อนหน้า (%YoY) และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2564 ลดลงจากไตรมาสที่สองของปี 2564 ร้อยละ 1.1 (QoQ_SA) รวม 9 เดือนแรก ของปี 2564 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 1.3
                             1.1 ด้านการใช้จ่าย การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลงขณะที่การส่งออกสินค้า การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัว การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนลดลงร้อยละ 3.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีสาเหตุจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ประชาชนระมัดระวังพฤติกรรมการใช้จ่าย ในขณะที่ภาครัฐมีความจำเป็นต้องยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยการใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนลดลงร้อยละ 14.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 13.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการใช้จ่ายเพื่อซื้อยานพาหนะร้อยละ 21.8 การใช้จ่ายหมวดบริการลดลงร้อยละ 4.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 9.1 ในไตรมาสก่อนหน้า และการใช้จ่ายหมวดสินค้ากึ่งคงทน ลดลงร้อยละ 8.3 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยสะ 7.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัวร้อยละ 1.3 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยานพาหนะลดลงร้อยละ 15.6 อย่างไรก็ตาม กลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ขยายตัวร้อยละ 2.7 การปรับตัวลดลงของการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสนี้สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจากระดับ 38.8 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นระดับ 34.9 รวม 9 เดือนแรก การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 0.4 การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 2.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยค่าตอบแทนแรงงาน (ค่าจ้าง เงินเดือน) ขยายตัวร้อยละ 1.0 และการโอนเพื่อสวัสดิการทางสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการขยายตัวสูงร้อยละ 47.1 ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาโรคโควิด-19 ขณะที่รายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการลดลงร้อยละ 3.6 การขยายตัวของการใช้จ่ายรัฐบาลสอดคล้องกับการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำ 638,678 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวร้อยละ 23.0 (คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำอยู่ที่ร้อยละ 23.8 สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 20.6 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 19.6 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) และการเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเงิน 219,740 ล้านบาท รวม 9 เดือนแรก การอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 1.9 การลงทุนรวมลดลงร้อยละ 0.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลงทุนภาครัฐที่ลดลงร้อยละ 6.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นผลจากการลดลงของการลงทุนรัฐบาล ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 24.0 (สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 20.5 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ต่ำกว่าร้อยละ 30.8 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.6 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 9.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรเครื่องมือ ขยายตัวร้อยละ 3.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 12.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้าง ลดลงร้อยละ 0.5 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 0.1 ในไตรมาสก่อนหน้า รวม 9 เดือนแรก การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 4.7 โดยการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐขยายตัวร้อยละ 4.8 และร้อยละ 4.6 ตามลำดับ
                             1.2 ด้านภาคต่างประเทศ
                             การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 67,249 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 15.7 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 36.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 และราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องจักรอุปกรณ์ (ร้อยละ 16.4) รถยนต์นั่ง (ร้อยละ 8.7) รถกระบะ (ร้อยละ 18.7) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ร้อยละ 25.3) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 26.1) ผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 10.4) อาหารสัตว์ (ร้อยละ 19.6) ยางพารา (ร้อยละ 99.5) มันสำปะหลัง (ร้อยละ 59.8) และข้าว (ร้อยละ 16.5) เป็นต้น สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง เช่น ตู้เย็น (ร้อยละ 6.0) เครื่องดื่ม (ร้อยละ 5.2) ปลากระป๋องและปลาแปรรูป (ร้อยละ 24.7) และน้ำตาล (ร้อยละ 2.4) เป็นต้น การส่งออกไปยังตลาดหลักส่วนใหญ่ขยายตัวต่อเนื่อง เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 24.2 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 21.6
                             การนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 57,985 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 41.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณเละราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.9 และร้อยละ 3.0 ตามลำดับ ส่งผลให้ดุลการค้าในไตรมาสที่สามเกินดุล 9.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (304.7 พันล้านบาท) รวม 9 เดือน มูลค่าการส่งออกและการนำเข้าสินค้า ขยายตัวร้อยละ 17.9 และร้อยละ 26.3 ตามลำดับ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 26,365 ล้านดอลลาร์ สรอ. (833,601 ล้านบาท)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจและมูลค่าการส่งออกของประเทศคู่ค้าสำคัญ

(%YoY)GDPมูลค่าการส่งออกสินค้า
256225632564256225632564
ทั้งปีทั้งปีQ2Q3ทั้งปีทั้งปีQ2Q3
สหรัฐฯ2.3-3.412.24.9-1.5-13.551.023.7
ยูโรโซน1.4-6.414.23.7-2.5-7.146.7-
สหราชอาณาจักร1.4-9.823.66.60.9-13.521.712.9
ออสเตรเลีย1.9-2.59.7-5.3-7.447.650.3
ญี่ปุ่น0.0-4.77.6--4.4-9.142.520.4
จีน6.02.37.94.9-0.14.030.423.9
อินเดีย4.8-7.020.1--0.1-14.886.138.6
เกาหลีใต้2.2-0.96.04.0-10.4-5.542.126.5
ไต้หวัน3.03.17.43.8-1.54.937.430.1
ฮ่องกง-1.7-6.17.65.4-4.1-0.526.922.4
สิงคโปร์1.3-5.415.26.5-5.2-4.133.519.3
อินโดนีเซีย5.0-2.17.13.5-6.8-2.755.950.9
มาเลเซีย4.4-5.616.1-4.5-3.4-2.350.615.9
ฟิลิปปินส์6.1-9.612.07.12.3-8.136.612.7
เวียดนาม7.22.96.6-6.28.46.934.72.9

ที่มา: CEIC รวบรวมโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
 
                             1.3 ด้านการผลิต สาขาการผลิตอุตสาหกรรม สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการก่อสร้าง และสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า และสาขาไฟฟ้าและก๊าซฯ ปรับตัวลดลง ขณะที่สาขาการขายส่งการขายปลีกและการซ่อมแซมฯ ขยายตัว และสาขาเกษตรกรรมขยายตัวเร่งขึ้น สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ร้อยละ 4.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพอากาศและปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวย สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรร้อยละ 8.1 โดยดัชนีผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มไม้ผล (ร้อยละ 37.8) ข้าวเปลือก (ร้อยละ 12.1) ยางพารา (ร้อยละ 4.4) มันสำปะหลัง (ร้อยละ 11.9) และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ร้อยละ 11.9) ส่วนผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่ลดลง เช่น กุ้งขาวแวนนาไม (ลดลงร้อยละ 6.7) เป็นต้น ด้านหมวดปศุสัตว์ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 15 ร้อยละ 2.2 ในขณะที่หมวดประมงลดลงร้อยละ 6.7 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ร้อยละ 4.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 12.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยสินค้าเกษตรสำคัญที่ดัชนีราคาปรับตัวลดลง เช่น ข้าวเปลือก (ลดลงร้อยละ 27.1) กลุ่มไม้ผล (ลดลงร้อยละ 20.2) สุกร (ลดลงร้อยละ 9.6) กุ้งขาวแวนนาไม (ลดลงร้อยละ 9.2) และไก่เนื้อ (ลดลงร้อยละ 1.8) เป็นต้น ส่วนสินค้าเกษตรที่ดัชนีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ปาล์มน้ำมัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 84.7) ยางพารา (เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7) อ้อย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.3) มันสำปะหลัง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.1) และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4) เป็นต้น ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ร้อยละ 2.9 สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 16.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของอุปสงค์ในประเทศ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่การผลิต และปัญหาข้อจำกัดในห่วงใซ่อุปทานโลก สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมร้อยละ 0.8 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงร้อยละ 30 - 60 ลดลงร้อยละ 1.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 28.3 ในไตรมาสก่อนหน้าและดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส ร้อยละ 4.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 9.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ร้อยละ 4.3 สอดคล้องกับการส่งออกสินค้าที่ยังขยายตัวในเกณฑ์ดี สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 59.31 ต่ำกว่าร้อยละ 62.73 ในไตรมาสก่อนหน้า และต่ำกว่าร้อยละ 60.41 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่ลดลง เช่น การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ลดลงร้อยละ 11.2) การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 5.9) และการผลิตจักรยานยนต์ (ลดลงร้อยละ 39.4) เป็นต้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น การผลิตน้ำตาล (ร้อยละ 61.2) การผลิตชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 14.1) และการผลิตยานยนต์ (ร้อยละ 2.4) เป็นต้น สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารลดลงร้อยละ 18.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 14.6 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของการท่องเที่ยวในประเทศและการใช้จ่ายภาคครัวเรือน โดยในไตรมาสนี้มี รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 0.010 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 91.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 86.0 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่สามภายในประเทศขยายตัวเป็นวงกว้าง ประกอบกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเริ่มเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในไตรมาสนี้มีจำนวน 45,398 คน (รวมนักท่องเที่ยวกลุ่ม Thailand Privilege Card) อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5.46 ต่ำกว่าร้อยละ 8.24 ในไตรมาสก่อนหน้าและต่ำกว่าร้อยละ 26.69 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ลดลงร้อยละ 0.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 11.2 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของดัชนีบริการขนส่งร้อยละ 3.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 20.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้บริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียงลดลง ในขณะที่บริการขนส่งทางน้ำและบริการขนส่งทางอากาศเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการส่งออกสินค้า และการเริ่มฟื้นตัวของการเดินทางระหว่างประเทศ ส่วนบริการสนับสนุนการขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 และบริการไปรษณีย์ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องร้อยละ 23.2 สาขาไฟฟ้า ก๊าซ และระบบปรับอากาศ ลดลงร้อยละ 2.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.8 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับกิจกรรมการผลิตทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการที่อยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีการผลิตไฟฟ้าลดลงร้อยละ 0.3 ตามการปรับตัวลดลงของปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจร้อยละ 11.5 ในขณะที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 และปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 ส่วนดัชนีการผลิตก๊าซธรรมชาติลดลงร้อยละ 6.0 สอดคล้องกับการลดลงของปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ส่งเข้าโรงแยกก๊าซและความต้องการใช้ก๊าชธรรมชาติเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า
                             1.4 เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สถานการณ์ด้านแรงงานพบว่าสัดส่วนผู้ประกันตนที่ได้รับประโยชน์กรณีว่างงานจากมาตรา 33 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 ต่ำกว่าร้อยละ 2.8 ในไตรมาสก่อนหน้าและต่ำกว่าร้อยละ 4.4 ในใตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการภาครัฐในการรักษาระดับการจ้างงานและจูงใจให้แรงงานเข้าระบบประกันตนมากขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.7 และร้อยละ 0.1 สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดจากดุล 4.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (14.3 หมื่นล้านบาท) เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ 2.4 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 มีมูลค่าทั้งสิ้น 9,337,543.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 58.0 ของ GDP
                   2. แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2564
                   เศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าขยายตัวร้อยละ 1.2 ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการลดลงร้อยละ 6.1 ในปี 2563 อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.2 และบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 2.5 ต่อ GDP  เทียบกับการเกินดุลร้อยละ 4.0 ต่อ GDP ในปี 2563
                   3. แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2565
                   เครษฐกิจไทยปี 2565 คาคว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5 – 4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและภาคการผลิตตามสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มคลี่คลายลงและความคืบหน้าของการกระจายวัคซีน (2) การฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ของภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศภายใต้นโยบายการเปิดประเทศของภาครัฐ (3) การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการส่งออกสินค้า (4) การขับเคลื่อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ และ (5) ฐานการขยายตัวที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. จะขยายตัวร้อยละ 4.9 การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.3 และร้อยละ 4.2 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในช่วงร้อยละ 0.9 - 1.9 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.0 ของ GDP การประมาณการเศรษฐกิจในปี 2565 ในด้านต่าง ๆ มีดังนี้
                             3.1 การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค (1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.2 ในปี 2564 ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลงและสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้องตามมาตรการการเบิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งแรงสนับสนุนจากการดำเนินมาตรการของภาครัฐเพิ่มเติม (2) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาลคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.3 ชะลอลงจากร้อยสะ 2.3 ในปี 2564 โดยเป็นผลจากการลดลงของกรอบรายจ่ายประจำภายใต้กรอบงบประมาณประจำปี 2565 แต่ยังมีแรงสนับสนุนให้การใช้จ่ายรัฐบาลขยายตัวได้จากการเบิกจ่ายงบประมาณจากพระราชกำหนดเงินกู้ฯ 1 ล้านล้านบาท และพระราชกำหนดเงินกู้ฯ เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท
                             3.2 การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.3 เทียบกับร้อยละ 4.4 ในปี 2564 โดยการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องร้อยละ 4.2 เทียบกับร้อยละ 4.3 ในปี 2564 สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการส่งออกตามการขยายตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและการค้าโลก ขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะยยายตัวร้อยละ 4.6 ต่อเนื่องจากร้อยละ 4.8 ในปี 2564 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกรอบรายจ่ายลงทุนกายใต้กรอบงบประมาณประจำปี 2565 วงเงิน 624,340 ล้านบาท และกรอบงบลงทุนรัฐวิสาหกิจในปี 2565 วงเงิน 468,833 ล้านบาท (รวมรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทมหาชน)
                             3.3 มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 16.8 ในปี 2564 โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 และราคาสินค้าส่งออกจะเพิ่มขึ้นในช่วงร้อยละ 0.0 – 1.0 ขณะที่การส่งออกบริการมีแนวโน้มฟื้นตัวตามการดำเนินมาตรการเปิดประเทศและการปรับตัวดีขึ้นของสถานการณ์การแพร่ระบาดทั้งในประเทศไทยและประเทศต้นทางนักท่องเที่ยว โดยในกรณีฐานคาดว่ารายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 จะอยู่ที่ 4.4 แสนล้านบาท เทียบกับ 1.3 แสนล้านบาทในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 238.0 ส่งผลให้โดยรวมคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2565 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 10.0 ในปี 2564
                   4. ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2564 และปี 2565
                   การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2564 และปี 2565 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศให้อยู่ในวงจำกัด โดย (i) การดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรค (ii) การเร่งรัดกระจายวัคซีนให้เพียงพอและทั่วถึง (iii) การควบคุมดูแลกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค และ (iv) การเตรียมแผนการรองรับการกลับมาระบาดของโรค (2) การสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดย (i) การเร่งรัดติดตามมาตรการต่าง ๆ ทั้งด้านการเงินการคลังที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และพิจารณามาตรการเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มที่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือ (ii) การพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือแรงงานเพิ่มเติมสำหรับภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว และ (iii) การประชาสัมพันธ์มาตรการของภาครัฐให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีความเข้าใจและสามารถใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ (3) การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดย (i) การติดตามและประเมินผลมาตรการต่าง ๆ ที่ดำเนินการไปแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ ควบคู่ไปกับการปรับมาตรการและดำเนินมาตรการเพิ่มเติมอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจโดยคำนึงถึงความเสี่ยงที่ยังมีอยู่ในระยะข้างหน้า (ii) การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน และ (iii) การดูแลเกษตรกรโดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ (4) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า โดย (i) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังตลาดหลักที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน และการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ (ii) การพัฒนาสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม (iii) การแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อระบบการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ (iv) การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา รวมทั้งการเร่งรัดกระบวนการพิจารณาในการตัดสินใจเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ และ (v) การป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต (5) การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดย (i) การเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่อการควบคุมการระบาดของโรคภายในประเทศ (ii) การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2561 - 2563 ให้เกิดการลงทุนจริง (iii) การแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ รวมทั้งการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต (iv) การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (v) การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ (vi) การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งที่สำคัญ และ (vii) การพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูงเพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้มข้นโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (6) การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ และ (7) การติดตามและเฝ้าระวังความผันผวนของภาคเศรษฐกิจต่างประเทศที่มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
 
11. เรื่อง สรุปผลการปฏิบัติราชการของคณะรัฐมนตรีในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางและข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ในการปฏิบัติราชการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อสั่งการไปพิจารณาดำเนินการต่อไป รวมทั้งรายงานผลการดำเนินงานให้ สศช. ทราบด้วย  
                   สาระสำคัญ
                   รายงานสรุปผลการปฏิบัติราชการติดตามงานและโครงการ รวมทั้งข้อสั่งการของคณะรัฐมนตรีในการติดตามงานในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม – 15 พฤศจิกายน 2564 มีรายละเอียด ดังนี้
                  
                   1. กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน มีเป้าหมายการพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพระดับโลก บนฐานความเข้มแข็งของภาคเกษตรและชุมชน
                   2. ภาพรวมของพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล โดยมีจังหวัดภูเก็ต เป็นหัวหน้ากลุ่มจังหวัด พื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ตั้งอยู่บริเวณคาบสมุทรภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 20,472.1 ตารางกิโลเมตร มีชายฝั่งทะเลทอดยาวตามแนวเหนือใต้ ติดกับมหาสมุทรอินเดีย มีความยาว 1,022.8 กิโลเมตร สภาพทางภูมิศาสตร์เป็นเกาะ ทะเล อ่าว หาดทราย ป่าเขา และป่าชายเลนทอดยาวตลอดชายฝั่งอันดามัน ทำให้มีทรัพยากร ธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ และความหลากหลายทั้งบนบกและในทะเล จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีความสวยงามและมีชื่อเสียงระดับโลก อาทิ เกาะภูเก็ต เกาะพีพี และเกาะหลีเป๊ะ สามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ และมีบทบาทเป็นประตูฝั่งตะวันตกของภาคใต้ (Western Gateway) ที่สามารถเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งทางน้ำกับประเทศในกลุ่ม BIMSTEC โดยมีท่าเทียบเรือขนาดกลางและขนาดเล็กที่ใช้ประโยชน์เพื่อการขนส่งสินค้า การท่องเที่ยว และการประมง รวมทั้งเป็นแหล่งผลิตปาล์มน้ำมัน ยางพารา และการแปรรูปอุตสาหกรรมเกษตรและประมงเพื่อการส่งออก โดยมีประเด็นการพัฒนา ดังนี้ (1) การพัฒนาคุณภาพด้านการท่องเที่ยวให้มีมาตรฐานอย่างยั่งยืน (2) การพัฒนาระบบและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าภาคเกษตร ประมงและปศุสัตว์ที่มีศักยภาพในพื้นที่ เพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน และ (3) การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพต้นทุนมนุษย์เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ส่งผลให้เศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันมีภาวะหดตัวอย่างรุนแรง เนื่องจากพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก
                   3. ผลการปฏิบัติราชการของคณะรัฐมนตรีในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน
                   ผลการปฏิบัติราชการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ของรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี รวม 28 คน  มีประเด็นการพัฒนาและข้อสั่งการโดยสรุปได้ ดังนี้
                             3.1 พัฒนาคุณภาพด้านการท่องเที่ยวให้มีมาตรฐานอย่างยั่งยืน
                                      1) ติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและประเด็นการพัฒนาสำคัญของจังหวัดสตูล ข้อสั่งการ ให้จังหวัดสตูลเสนอโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนสอดคล้องกับปัญหาความต้องการของพื้นที่และมีความพร้อมในการดำเนินการ เพื่อเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณ
                                      2) ติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและประเด็นการพัฒนาสำคัญของจังหวัดตรัง ข้อสั่งการ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังสั่งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องร่วมกับกรมเจ้าท่า สำรวจพิสูจน์สิทธิสิ่งปลูกสร้างริมลำน้ำในพื้นที่เกาะลิบง เพื่อแก้ไขการจัดเก็บภาษีตามมาตรา 117 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2546 และแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้อง รวมทั้งกำกับดูแลการฉีดวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในพื้นที่นำร่อง ตลอดจนแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อหาข้อสรุปปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่เกาะลิบง
                                      3) ติดตามโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา ข้อสั่งการ (1) ให้กรมทางหลวงชนบทเร่งรัดดำเนินการให้เป็นไปตามแผน และให้ความสำคัญกับการป้องกันและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ (2) ระหว่างดำเนินการก่อสร้างให้มีการควบคุมกำกับดูแลให้มีความปลอดภัยทั้งต่อผู้รับจ้างและประชาชนในพื้นที่
                                      4) การส่งมอบพื้นที่แขวงทางหลวงระนองให้กับโรงพยาบาลระนอง ข้อสั่งการ ให้กรมทางหลวงดำเนินการปรับระดับพื้นที่ก่อสร้างสำนักงานแขวงทางหลวงระนองแห่งใหม่ให้แล้วเสร็จ รวมทั้งขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2566 เพื่อดำเนินการก่อสร้างสำนักงานแขวงทางหลวงระนองแห่งใหม่ต่อไป
                                      5) ติดตามมาตรการดูแลนักท่องเที่ยวทะเลตรัง ข้อสั่งการ (1) กำหนดมาตรการความปลอดภัยใน 3 ด้าน เพิ่มเติมจากที่ปฏิบัติอยู่แล้ว ได้แก่ ท่าเทียบเรือปลอดภัย เรือปลอดภัย และคนปลอดภัย และ (2) ให้เร่งสำรวจ ตรวจสอบ การปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำทั้งที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับอนุญาต แต่ไม่ได้ดำเนินการตามข้อกำหนด เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย
                                      6) ติดตามความคืบหน้าการบำรุงรักษาร่องน้ำในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน 6 จังหวัด ข้อสั่งการ ให้สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 3 กรมเจ้าท่าดำเนินการ (1) ขุดลอกร่องน้ำให้เป็นไปตามแผน เพื่อให้สามารถใช้ร่องน้ำสัญจรเข้า-ออกได้ตลอดเวลา และ (2) เตรียมความพร้อมในการสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม และตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
                                      7) ติดตามการดำเนินงานโครงการจ้างก่อสร้างขุดลอกและบำรุงรักษาชายฝั่งทะเลบริเวณร่องน้ำกันตัง ข้อสั่งการ ให้กรมเจ้าท่าดำเนินการ (1) บริหารจัดการตะกอนดินหลังจากการขุดลอกให้เกิดประโยชน์ตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในการดำเนินการ และ (2) ให้รับข้อสังเกตของจังหวัดในการพิจารณาดำเนินการขุดลอกให้ความกว้างของร่องน้ำมีความเหมาะสมกับการเดินทางเข้าออกของเรือ การจอดเรือ และประเภทเรือ
                                      8) รับฟังบรรยายสรุปและตรวจพื้นที่โครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ ข้อสั่งการ ให้กรมท่าอากาศยานดำเนินการ (1) ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงสาธารณสุขโดยเคร่งครัด และ (2) ควบคุมงานโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 3 ปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 1 และ 2 พร้อมลานจอดรถยนต์ โครงการก่อสร้างทางขับขนาน รวมถึงระบบไฟฟ้าสนามบินให้เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญา
                                      9) ตรวจเยี่ยมและประชุมติดตามการดำเนินงานการให้บริการขนส่งสาธารณะ ข้อสั่งการ ให้สำนักงานขนส่งจังหวัดกระบี่ดำเนินการ (1) ติดตามสถานการณ์และเตรียมความพร้อมการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน (2) กำชับผู้ประกอบการขนส่งให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด (3) ประสานกรมการขนส่งทางบก (ส่วนกลาง) ขอรับฉากกั้นเพื่อติดตั้งในรถแท็กซี่ของจังหวัดกระบี่ (4) ส่งเสริมรถโดยสารสาธารณะให้ได้รับมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (SHA) และ (5) บูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการต่อยอดการใช้เทคโนโลยี เพื่อให้ข้อมูลการเดินรถโดยสารประจำทางแก่ผู้โดยสาร
                                      10) ตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนท่องเที่ยวบ้านไหนหนัง และโครงการพาน้องกลับบ้านกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้งบ้านไหนหนัง ข้อสั่งการ ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ประสานสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาผึ้งชันโรง และผลิตภัณฑ์จากผึ้งชันโรง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้งบ้านไหนหนัง
                                      11) เยี่ยมชมการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนบ้านนาตีน ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ข้อสั่งการ ให้ธนาคารออมสินดำเนินการดูแลวิสาหกิจชุมชนบ้านนาตีนอย่างต่อเนื่อง และ (2) สนับสนุนช่องทางการตลาด และการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ชุมชนผ่านช่องทางออนไลน์ร่วมกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง
                                      12) ตรวจเยี่ยมด่านศุลกากรกระบี่ ข้อสั่งการ ให้ท่าเรือตะโกลา สรุปประเด็นปัญหาการดำเนินงาน เสนอรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังพิจารณา เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวทางน้ำของประเทศ
                                      13) ตรวจติดตามโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง – ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ข้อสั่งการ ให้สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสนับสนุนข้อมูลประกอบการดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตาของหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ
                                      14) ติดตามการดำเนินโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ข้อสั่งการ ให้บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ประสานหน่วยงานท้องถิ่นและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในการดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่เกาะพีพีให้สำเร็จ รวมทั้งพัฒนาแนวคิดและเทคนิคการสร้างท่อร้อยสายในโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการใช้ทรัพยากรร่วมกันในการวางโครงข่ายปลายทาง (Lastmile Sharing) เพื่อเป็นการลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                                      15) ติดตามการปฏิบัติงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ข้อสั่งการ (1) ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการเร่งรัดการก่อสร้างท่าเทียบเรือบริเวณอ่าวโล๊ะซา วางแผนการท่องเที่ยวตามขีดความสามารถในการรองรับ (Carrying Capacity) อย่างเหมาะสม จัดทำทุ่นไข่ปลาเพื่อกำหนดพื้นที่ในการเล่นน้ำของนักท่องเที่ยวและไม่อนุญาตให้มีเรือเข้ามาที่หน้าหาด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการังชายหาดในบริเวณอ่าวมาหยา หารือกับผู้ประกอบการการท่องเที่ยวถึงช่วงเวลาในการปิดอุทยานแห่งชาติ รวมทั้งจัดหาครุภัณฑ์และพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับรองรับการท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา – หมู่เกาะพีพี (2) ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศึกษา เรียนรู้ และเตรียมการขับเคลื่อนการลดการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งสื่อสารและสร้างความรู้ความเข้าใจในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบตามการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (Conference of the Parties: COP26) (3) ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานและสร้างความเข้าใจแก่ชุมชนและประชาชนเกี่ยวกับภารกิจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการนำเสนอแหล่งมรดกทางธรรมชาติ พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) (4) ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการเร่งรัด ยื่นขอรับการประเมินมาตรฐาน SHA/SHA Plus และเตรียมพร้อมการเปิดประเทศและการท่องเที่ยว รวมทั้งเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายที่สำคัญของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้บรรลุเป้าหมาย (5) ให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนภารกิจสำคัญของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้บรรลุเป้าหมาย และ (6) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอโครงการเพื่อบรรจุในแผนพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน
                                      16) ติดตามโครงการพัฒนาพื้นที่เฉพาะเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ระยะที่ 1 ถึงระยะที่ 4 ข้อสั่งการ ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเร่งรัดการดำเนินงานโครงการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่
                                      17) ติดตามการดำเนินโครงการเที่ยวชุมชนยลวิถี ชุมชนแหลมสัก ข้อสั่งการ (1) ให้สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมและกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวชุมชนและการประกอบการด้านอาหารพื้นเมือง อาหารโบราณ และอาหารฮาลาล เพื่อรองรับการท่องเที่ยว (2) ให้สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต่อยอดกระบี่เมืองศิลปะ และงาน THAILAND BIENNALE, KRABI 2018 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดกระบี่และจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (3) ให้สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมและกรมส่งเสริมวัฒนธรรม พิจารณาแนวทางในการสนับสนุนการพัฒนาสร้างภาพลักษณ์ชุมชนยลวิถีบ้านแหลมสัก เพื่อส่งเสริมและต่อยอดการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมสามสาย (ไทยพุทธ ไทยมุสลิม และไทยจีน) และ (4) ให้สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ประสานงานกับจังหวัดกระบี่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนการก่อสร้างประติมากรรมสามวัฒนธรรมพร้อมภูมิทัศน์โดยรอบ ของชุมชนยลวิถี บ้านแหลมสัก
                             3.2 การพัฒนาระบบและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าภาคเกษตร ประมงและปศุสัตว์ที่มีศักยภาพในพื้นที่ เพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
                                      1) ติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและประเด็นการพัฒนาสำคัญของจังหวัดตรัง ข้อสั่งการ (1) ให้กรมป่าไม้เร่งรัดสำรวจเส้นแนวเขตพื้นที่ป่าสงวน และให้จังหวัดตรังแต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัด เพื่อดำเนินการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดิน พร้อมทั้งพิจารณาออกเอกสารสิทธิให้ราษฎรและดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของรัฐ (คทช.) ในพื้นที่ตำบลนาวง อำเภอห้วยยอด และตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา รวมทั้งเร่งบริหารจัดการพื้นที่ของกรมป่าไม้ที่หมดสัญญาเช่ากับบริษัทตรังธารทอง จำกัด (2) ให้กรมชลประทานจัดทำข้อเสนอโครงการ พร้อมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่เพื่อจัดทำโครงการแก้มลิง ในพื้นที่ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา ตามระเบียบของกรมป่าไม้ และ (3) ให้กรมการค้าภายในร่วมกับองค์การคลังสินค้าทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ท่าเทียบเรือนาเกลือ และให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรังเจรจากับกรมธนารักษ์ เพื่อขอลดค่าเช่าเหลือร้อยละ 50 ของอัตราที่จ่ายในปัจจุบัน
                                      2) ติดตามความก้าวหน้าโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตรและการมอบเช็คชำระหนี้และโฉนดที่ดินของกองทุนฟื้นฟูช่วยเหลือเกษตรกรให้แก่เกษตรกรจังหวัดพังงา ข้อสั่งการ (1) ให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกันดำเนินโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง และ (2) ให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเร่งรัดติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร และประสานสถาบันการเงินที่มีสถานะเป็นเจ้าหนี้ให้ชะลอการดำเนินการทางกฎหมายกับลูกหนี้ที่เป็นเกษตรกร รวมทั้งเร่งรัดการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรให้เป็นไปตามแผนการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร
                                      3) ตรวจเยี่ยมศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนเพาะเห็ดบ้านป่าครองชีพ ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ข้อสั่งการ (1) ให้กรมชลประทานเร่งเสนอโครงการก่อสร้างปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ ห้องน้ำ ปรับภูมิทัศน์ อ่างเก็บน้ำบางวาด อ่างเก็บน้ำคลองกะทะ และอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (2) ให้การยางแห่งประเทศไทยรักษาเสถียรภาพของราคายางพารา (3) ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมรับประเด็นปัญหาความต้องการของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินไปพิจารณาปรับปรุงการใช้ที่ดินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามศักยภาพพื้นที่ (4) ให้ทุกหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บริหารและสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพตามความต้องการของตลาด และ (5) ให้ทุกหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญกับการตรวจราชการในพื้นที่ ร่วมรับฟังปัญหาและดูแลแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร
                                      4) ตรวจเยี่ยมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลท่านา อำเภอกะปง จังหวัดพังงา ข้อสั่งการ (1) ให้กรมชลประทานเตรียมความพร้อมและจัดทำข้อเสนอโครงการฝายบ้านกะปง และโครงการฝายบางม่วงในลุ่มน้ำคลองตะกั่วป่า เพื่อบรรจุเข้าแผนงานโครงการประจำปีงบประมาณ 2566 (2) ให้กรมชลประทานพิจารณาจัดสรรงบประมาณปรับปรุงระบบท่อส่งน้ำโครงการฝายคลองทับยาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อดำเนินการในปี 2565 (3) ให้การยางแห่งประเทศไทยพิจารณาจัดสรรงบประมาณโครงการอาคารรวบรวมผลผลิตยางพาราของสหกรณ์การเกษตรตะกั่วป่า จำกัด และ (4) ให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับฟังปัญหาและความต้องการระดับพื้นที่ และดูแลแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร
                                      5) ตรวจเยี่ยมศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าด้านการเกษตร (ศพก.) อำเภอเมืองระนอง (ปาล์มน้ำมัน) บ้านห้วยปลิง ตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ข้อสั่งการ (1) ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ขับเคลื่อนโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านสานต่ออาชีพการเกษตร โดยสนับสนุนปัจจัยการผลิตต่างๆ ให้กับลูกหลานเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ (2) ให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ดำเนินการประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ในการจัดทำบัญชีครัวเรือน รวมทั้งเผยแพร่การใช้แอพพลิเคชั่น SMART 4M บนมือถือให้เกษตรกรและบุคคลทั่วไปนำไปใช้จัดทำบัญชีครัวเรือน (3) ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมส่งเสริมการเกษตร สนับสนุนและพัฒนาเกษตรกร โดยเฉพาะด้านการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต (4) ให้กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน และกรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินการประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมี รวมทั้งเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรเป็นเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ (5) ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดในทุกจังหวัด ส่งเสริมให้สตรีรวมกลุ่มและเสนอโครงการขอรับงบประมาณในการช่วยเหลือในการประกอบอาชีพ (6) ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์สร้างการรับรู้และส่งเสริมการกระจายสินค้าเด่นของจังหวัด โดยการใช้กลไกสหกรณ์กระจายและแลกเปลี่ยนสินค้าผ่านร้านค้าของสหกรณ์ทั่วประเทศ และเชื่อมโยงสินค้าเกษตรกับการท่องเที่ยว (7) ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ส่งเสริมการเชื่อมโยงตลาดกาแฟ เพื่อลดการนำเข้ากาแฟ (8) ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ในทุกจังหวัด ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานตามศาสตร์พระราชา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และ (9) ให้กรมปศุสัตว์ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ไก่สายพันธุ์หายากหรือมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ อาทิ ไก่ฟ้าพระยาลอ
                                      6) ตรวจเยี่ยมศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ข้อสั่งการ (1) ให้กรมวิชาการเกษตร บูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงานสหกรณ์จังหวัดตรัง และสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์จังหวัดตรัง จัดทำโครงการกระจายพืชพันธุ์สะตอตรัง 1 สู่กลุ่มเป้าหมาย และแก้ปัญหาการขาดแคลนต้นพันธุ์ ด้วยการสนับสนุนการขยายพันธุ์สะตอตรัง 1 ให้แก่สมาชิกสหกรณ์ (2) ให้กรมพัฒนาที่ดินศึกษาดินที่มีคุณภาพเหมาะสมกับการผลิตสะตอตรัง 1 เพื่อให้สามารถรักษาคุณภาพของสะตอตรัง 1 และขยายผลไปยังจังหวัดใกล้เคียง และ (3) ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์และหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมดำเนินการสนับสนุนดูแลปัจจัยด้านต่างๆ ของโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านสานต่ออาชีพการเกษตร
                                      7) ตรวจเยี่ยมสำนักงานท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต องค์การสะพานปลา ข้อสั่งการ (1) ให้องค์การสะพานปลาร่วมกับจังหวัดภูเก็ตจัดเวทีประชาคมชี้แจงเรื่องการพัฒนาและแผนการใช้พื้นที่ท่าเทียบเรือประมงภูเก็ตให้ประชาชนทราบ รวมทั้งทำความเข้าใจกับผู้ใช้ประโยชน์ที่อยู่ในพื้นที่ (2) ให้องค์การสะพานปลาและสำนักงานท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต จัดทำแผนการเคลื่อนย้ายท่าเรือ โดยเริ่มจากจุดที่สามารถดำเนินการได้ทันที (3) ให้สำนักงานท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต ทำหนังสือแจ้งเจ้าของเรือประมงที่ถูกจับจากการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) และจอดทิ้งร้างไว้ ให้ดำเนินการเคลื่อนย้ายเรือออกจากพื้นที่ และ (4) ให้องค์การสะพานปลาเสนอโครงการเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณโครงการเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อพัฒนาพื้นที่โรงอบปลากะตักให้กับชาวประมงและอื่นๆ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของท่าเทียบเรือประมง
                                      8) ตรวจเยี่ยมศรีผ่องฟาร์ม (ฟาร์มแพะ) อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ และประชุมหารือเกี่ยวกับโครงการที่จะขับเคลื่อนการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ข้อสั่งการ (1) ให้กรมประมง เสนอโครงการโดยคัดเลือกกิจกรรมที่มีความพร้อมภายใต้โครงการพัฒนาการประมงในอ่าวพังงาอย่างยั่งยืน (พ.ศ. 2566 - 2570) เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสนับสนุนสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ หรือสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการและเห็นผลได้ทันที (2) ให้กรมปศุสัตว์เสนอโครงการส่งเสริมการเลี้ยงแพะและแปรรูปผลิตภัณฑ์แบบครบวงจรตามมาตรฐานอาหารฮาลาล เพื่อยกระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะในพื้นที่กลุ่มจังหวัดอันดามัน จัดทำเป็นโครงการขอรับการจัดสรรงบประมาณจากพระราชกำหนดฯ และสนับสนุนสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ หรือสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการและเห็นผลได้ทันที และ (3) ให้กรมปศุสัตว์สนับสนุนการดำเนินโครงการธนาคารแพะ เพื่อพัฒนาฐานการผลิตแพะและสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดกระบี่
                                      9) ตรวจเยี่ยมการดำเนินการพัฒนาเพิ่มผลิตภาพผู้ประกอบการด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ข้อสั่งการ (1) ให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สนับสนุนองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการเพื่อเป็นต้นแบบความสำเร็จและขยายผลให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่อื่น และ (2) ให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการโดยนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการปรับปรุง/ต่อยอดเชิงพาณิชย์ และคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่
                                      10) ตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการในจังหวัดพังงาของกรมการพัฒนาชุมชน ข้อสั่งการ (1) ให้องค์การตลาดพยุงราคาสินค้าเกษตรโดยการรับซื้อสินค้าที่ล้นตลาด และส่งเสริมตลาดออนไลน์สินค้าเกษตรและสินค้า OTOP และ (2) ให้จังหวัดพังงา ประสานและส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าประเภทผักและผลไม้พื้นถิ่นที่ล้นตลาด และจัดทำเป็นรายการอาหารของเรือนจำจังหวัดเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่
                                      11) ตรวจเยี่ยม บริษัท วู้ดเวอร์ค จำกัด ข้อสั่งการ (1) ให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่ ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการ โดยสนับสนุนเทคโนโลยี นวัตกรรม หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และผู้เชี่ยวชาญเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต รวมทั้งสนับสนุนความร่วมมือตลอดห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ให้เกิดการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ และสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ โดยให้ขยายผลไปยังพื้นที่อื่น และ (2) ให้สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ขยายผลการดำเนินการควบคุมความเสี่ยงและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) ให้กับสถานประกอบการอื่นๆ ต่อไป
                                      12) ตรวจเยี่ยม บริษัท จี้ออ ฟู้ด จำกัด ข้อสั่งการ (1) ให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่ และสถาบันอาหาร ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการ โดยสนับสนุนเทคโนโลยี นวัตกรรมในการแปรรูป และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ (2) ให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่ ช่วยเหลือการขยายช่องทางการตลาดออนไลน์ และ (3) ให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยและสำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ สนับสนุนเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการสำหรับปรับปรุงและพัฒนาต่อยอดกิจการ
                             3.3 การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพต้นทุนมนุษย์เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
                                      1) ติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและประเด็นการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ข้อสั่งการ ให้จังหวัดในภาคใต้ฝั่งอันดามัน เสนอโครงการที่เป็นประเด็นการพัฒนาสำคัญของจังหวัด โดยคำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วนและสอดคล้องกับปัญหาความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยโครงการต้องมีความพร้อมสามารถดำเนินการได้ทันที และควรผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัด เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2564 ณ จังหวัดกระบี่
                                      2) หารือคณะครูโรงเรียนในเครือข่ายของมูลนิธิยุวทูตความดี ณ โรงเรียนอนุบาลกระบี่ 1 อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ข้อสั่งการ ให้หน่วยงานของกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการ (1) เสริมสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศให้มีส่วนช่วยพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทย รวมถึงนักเรียนที่เป็นเครือข่ายโครงการยุวทูตความดี เพื่อให้เป็นทรัพยากรบุคคลที่สามารถขับเคลื่อนประเทศได้ในอนาคตและตอบสนองต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน (2) บูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภายในกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานอื่น เพื่อให้ภารกิจด้านการต่างประเทศในการพัฒนาเยาวชนเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมและขยายผลในวงกว้าง และ (3) ประชาสัมพันธ์ภารกิจของกระทรวงการต่างประเทศ ในด้านการส่งเสริมความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเยาวชนและการศึกษาไทย
                                      3) ตรวจเยี่ยมโครงการบ้านมั่นคงบ้านบากัน ข้อสั่งการ ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการ (1) บูรณาการร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดทำโมเดล “อ่าวลึกน้อยยั่งยืน” เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชีวิตประมงพื้นบ้าน และ (2) บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เท่าทันสถานการณ์ แต่ไม่ทิ้งวิถีชีวิตชุมชน
                                      4) ตรวจเยี่ยมโครงการบ้านพอเพียงชนบทเขาดิน ข้อสั่งการ ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เท่าทันสถานการณ์ แต่ไม่ทิ้งวิถีชีวิตชุมชน
                                      5) ตรวจเยี่ยมศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลไสไทย ข้อสั่งการ (1) ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศูนย์ช่วยเหลือสังคมประจำตำบล ให้สามารถช่วยเหลือประชาขนได้อย่างทั่วถึง โดยอาศัยการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนการสร้างอาชีพใหม่ให้คนในสังคมและพัฒนาอาชีพให้เยาวชน (2) ให้เพิ่มจำนวนอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำหมู่บ้าน (อพม.) จังหวัดกระบี่ และ (3) ให้การเคหะแห่งชาติ ตรวจสอบบ้านว่าง เพื่อนำมาจัดทำเป็นบ้านเช่าราคาถูก สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ไร้ที่อยู่อาศัย
                                      6) ติดตามการมอบโฉนดที่ดินให้แก่ประชาชนตามโครงการมอบโฉนดที่ดินทั่วไทย นำสุขคลายทุกข์ให้ประชาชน ข้อสั่งการ ให้กรมที่ดินเร่งรัดดำเนินโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินและรังวัดรูปแปลงโฉนดที่ดิน และโครงการมอบโฉนดที่ดินทั่วไทยนำสุขคลายทุกข์ให้ประชาชน เพื่อให้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง เป็นหลักประกันความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยและการประกอบอาชีพ
                                      7) ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและนโยบายกระทรวง ศึกษาธิการ เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ข้อสั่งการ (1) ให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำเนินโครงการอาชีวะ สร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชน เพื่อผลิตกำลังคนของประเทศ นำร่อง 6 จังหวัดอันดามัน (โครงการอาชีวะ อยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ) และขยายผลไปทั่วประเทศในปี 2566 เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ และ (2) ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ บูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหานักเรียนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษากลับเข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ
                                      8)  ติดตามการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ข้อสั่งการ (1) ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นำกระบวนการบริหารจัดการแบบ Community Base Management (CBM) ของโรงเรียนบ้านคลองม่วง ขยายผลให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และต่อยอดไปยังโรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศ และ (2) ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากระบี่ประสานสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำเนินการจัดสรรงบประมาณให้แก่โรงเรียนบ้านคลองม่วง เพื่อก่อสร้างอาคารเรียนให้เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน
                                      9) ติดตามการขับเคลื่อนโครงการ NFE Data Map : ปักหมุดสร้างโอกาสทางการศึกษาของผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส พื้นที่จังหวัดระนอง ข้อสั่งการ (1) ให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ทำความตกลงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรื่องการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อนำพื้นที่มาจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยตำบล และ (2) ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำรวจและนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาที่เหมาะสม
                                      10) การตรวจเยี่ยมติดตามบ้านผู้พิการที่จะเข้าสู่ระบบการศึกษาของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดพังงา ข้อสั่งการ ให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเร่งพัฒนาเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาของผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส และจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้พิการแต่ละประเภท
                                      11) การตรวจเยี่ยมติดตามการจัดการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ณ โรงเรียนประกอบธรรมอิสลาม ตำบลบ้านกลาง อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ข้อสั่งการ ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ติดตามการปรับปรุงอาคารเรียนของโรงเรียนประกอบธรรมอิสลาม และให้การช่วยเหลือต่อไป
                                      12) ติดตามและมอบนโยบายการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาส ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ข้อสั่งการ (1) ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พิจารณาหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องและให้ความช่วยเหลือในการบรรจุอัตรากำลัง ของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในพื้นที่ (2) ให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จัดทำหลักสูตรอาชีพของสถานศึกษาที่เชื่อมโยงกับสถานประกอบการให้เหมาะสมกับผู้พิการตามความถนัด และ (3) ให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการแจ้งให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศ เร่งดำเนินการนำเรื่องการควบรวม ยุบ และเลิกสถานศึกษาในพื้นที่ เข้าสู่การประชุมของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด
                                      13) การติดตามการดำเนินงานตามนโยบายการจัดการศึกษาโรงเรียนเอกชน จังหวัดกระบี่ ข้อสั่งการ ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ดำเนินการ (1) ศึกษาข้อกฎหมาย และหาแนวทางผลักดันการจัดตั้งกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาสำหรับผู้เรียนนอกระบบ พร้อมทั้งกำหนดคุณสมบัติของโรงเรียนเอกชนนอกระบบให้ตรงกับหลักเกณฑ์ของกองทุนฯ (2) ศึกษาข้อกฎหมายและหาแนวทางให้ผู้บริหารและครูผู้สอนโรงเรียนเอกชนนอกระบบ สามารถเข้าร่วมกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชนได้ และ (3) หารือกับกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการผ่อนปรนมาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อให้โรงเรียนเอกชนนอกระบบสามารถจัดการเรียนการสอนได้
                             3.4 ประเด็นอื่น ๆ
                                      1) ติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล และประเด็นการพัฒนาสำคัญของจังหวัดระนอง ข้อสั่งการ (1) ให้ทุกหน่วยงานสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนถึงความสำคัญของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่ต้องธำรงรักษาไว้ เพื่อสันติสุขของบ้านเมือง (2) ให้ทุกหน่วยงานทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (3) ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงร่วมกันบูรณาการแก้ไขปัญหาให้ครบทุกมิติ อาทิ ปัญหาแรงงาน ปัญหายาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ และภัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ (4) ให้จังหวัดระนองบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมบุคลากรและเครื่องมือ รวมทั้งซักซ้อมเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ทั้งภัยธรรมชาติและจากการกระทำของมนุษย์ (5) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการแผนงานและมาตรการร่วมกันในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรชายฝั่งและป่าชายเลน ให้เป็นเอกภาพและสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการดำเนินการตามมาตรการที่เกี่ยวข้อง (6) ให้กระทรวงแรงงานสำรวจข้อมูลแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในพื้นที่ ทั้งจำนวน สถานที่พัก ที่ทำงาน และการดูแลรับผิดชอบของนายจ้าง พิจารณาดำเนินการให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย (7) ให้กระทรวงแรงงานและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ใช้มาตรการป้องกันการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ปราบปรามการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานและแรงงานเด็ก ให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด (8) ให้กระทรวงแรงงานและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมประมง) ดำเนินการเกี่ยวกับการใช้แรงงานต่างด้าวในธุรกิจและอุตสาหกรรมประมงให้ถูกต้องตามกฎหมาย และให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยต้องปฏิบัติตามมาตรการของกฎหมาย (9) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขนถ่ายสัตว์น้ำต่างชาติที่เข้าเทียบท่า ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด (10) ให้ศูนย์ PIPO ตรวจสอบเรือประมง แรงงานในเรือประมง และปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด (11) ให้กรมประมงตรวจสอบแรงงานต่างด้าว ทั้งขาออกและขาเข้าว่าเป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่ (12) ให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติงานที่ชัดเจน และดำเนินการตามแผน (13) ให้กองทัพเรือร่วมกับกระทรวงแรงงานบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบเรือประมงทุกลำ และ (14) ให้ศูนย์ดำรงธรรมมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
                                      2) ติดตามการมีส่วนร่วมของสถานประกอบการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ณ บริษัทโกลด์เด้น ซีฟู้ด อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ข้อสั่งการ ให้กระทรวงแรงงานรับข้อเสนอของสถานประกอบการไปพิจารณาแนวทางช่วยเหลือ ในด้านการลด ขยายการส่งเงินสมทบเงินประกันสังคม การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้แรงงานในสถานประกอบการ และส่งเสริมการจ้างงานในธุรกิจ SMEs
                                      3) ติดตามสถานการณ์ด้านความมั่นคงตามแนวชายแดน ณ ท่าเรือหัวถนน ตำบลน้ำจืด อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ข้อสั่งการ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและประเทศชาติ
                                      4) ตรวจเยี่ยมชุมชนที่อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในเขตป่าชายเลน (ชุมชนบ้านมั่นคงซอยโชคชัย) อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ข้อสั่งการ (1) ให้หน่วยงานของรัฐส่วนกลางที่ต้องถ่ายโอนภารกิจ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุข ด้านคุณภาพชีวิต เร่งรัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจ ให้เสร็จสิ้นและสอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศ (2) ให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบเกี่ยวกับที่ดิน (กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมเจ้าท่า กรมธนารักษ์ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงกลาโหม และอื่นๆ) ประสานงาน สนับสนุน และส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าสำรวจที่ดินตามแนวทางที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ให้เสร็จสิ้นภายในปีงบประมาณ 2565 และให้ใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการบริหารจัดการ และ (3) ให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจัดประชุมหารือแนวทางกำหนดรูปแบบและวิธีปฏิบัติในโครงการพัฒนาชุมชนเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความยั่งยืน โดยใช้แนวทางตามโครงการบ้านมั่นคงชนบท และส่งเสริมทางเทคนิควิชาการ ส่วนการปฏิบัติขับเคลื่อน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนเป็นกลไกหลัก โดยผ่านแผนพัฒนาตำบล และให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหารือกับทุกภาคส่วนเพื่อจัดทำโครงการพัฒนาชุมชนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
                                      5) ตรวจเยี่ยมโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับที่พักอาศัยในพื้นที่หมู่บ้านเกาะฮั่ง และโครงการเพิ่มสมรรถนะการบริหารและจัดการพลังงานครบวงจรในชุมชนระดับตำบล และวิสาหกิจชุมชน ข้อสั่งการ (1) ให้สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำรวจพื้นที่ที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง และเสนอแนวทางการนำเทคโนโลยีพลังงานทดแทนมาสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ต่างๆ ตามความเหมาะสม และ (2) ให้สำนักงานพลังงานในพื้นที่ภาคใต้เผยแพร่เทคโนโลยีการอบแห้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับชุมชนต่างๆ พร้อมทั้งสำรวจความต้องการและความพร้อมของชุมชนในการขอรับสนับสนุนระบบเทคโนโลยีอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ และรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำคำของบประมาณจากจังหวัดและแหล่งงบประมาณอื่น อาทิ กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานต่อไป
                                      6) ตรวจเยี่ยมโครงการวิจัยแผนงานท้าทายไทย “ทะเลไทยไร้ขยะ” ข้อสั่งการ (1) ให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติร่วมกับเครือข่ายโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 มหาวิทยาลัย 1 ตำบล) ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อสนับสนุนและขยายผลโครงการฯ (2) ให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บูรณาการงานวิจัยโครงการทะเลไทยไร้ขยะร่วมกับชุมชนและภาคีที่เกี่ยวข้องในจังหวัดภูเก็ต เพื่อขยายผลงานวิจัยไปสู่การปฏิบัติและสร้างรายได้จากขยะให้แก่ชุมชน และ (3) ให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติสนับสนุนโครงการวิจัยด้านรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์หรือต่อยอดเชิงพาณิชย์
                                      7) ติดตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ข้อสั่งการ (1) ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต อาทิ การท่องเที่ยวมูลค่าสูง (Super premium) เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (2) ให้มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตบูรณาการร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยในการพัฒนาการท่องเที่ยวพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และ (3) ให้สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เร่งดำเนินการขยายผลโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ระยะที่ 2 ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
                                      8) ตรวจเยี่ยมการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมคลองกำพร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ หมู่ที่ 3 ตำบลคลองประสงค์ อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ และการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมคลองสินปุน (ด้านขวาของลำคลอง) ตำบลลำทับ อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่ ข้อสั่งการ ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเร่งรัดดำเนินโครงการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในพื้นที่ ป้องกันทรัพย์สินของชุมชน รวมถึงระบบสาธารณูปโภคไม่ให้เกิดความเสียหาย ตลอดจนป้องกันการปล่อยน้ำทิ้งจากอาคารบ้านเรือนและการรุกล้ำเนื่องจากการก่อสร้างอาคารต่างๆ
                                      9) ตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการน้ำการประปาส่วนภูมิภาค สาขาภูเก็ต ข้อสั่งการ ให้การประปาส่วนภูมิภาค ดำเนินการ (1) เตรียมความพร้อมการให้บริการน้ำประปาให้เพียงพอกับความต้องการของทุกภาคส่วนภายหลังการเปิดประเทศ โดยพิจารณาตรวจสอบความต้องการใช้น้ำที่แท้จริงและการบริหารจัดการน้ำดิบอย่างเหมาะสม (2) เร่งขยายเขตให้บริการในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ โดยสำรวจความต้องการของประชาชนและพิจารณาจัดทำแผนงานรองรับ เพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ และ (3) กรณีเกิดปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย ให้จัดรถบรรทุกน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
                                      10) ตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่รับผิดชอบของการประปาส่วนภูมิภาค สาขากระบี่ ข้อสั่งการ ให้การประปาส่วนภูมิภาค ดำเนินการ (1) เตรียมความพร้อมการให้บริการน้ำประปาอย่างต่อเนื่องเพียงพอต่อความต้องการ รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนของพื้นที่ให้บริการน้ำประปา และเร่งดำเนินการตามแผนขยายเขตพื้นที่บริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่ขาดแคลน และ (2) ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการระบบท่อส่งจ่ายน้ำจากพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อขยายเขตเพิ่มพื้นที่การจำหน่ายน้ำประปาให้ครอบคลุมและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น รองรับการขยายตัวในอนาคต
                                      11) ติดตามการดำเนินโครงการคุ้มครองคน คุ้มครองสิทธิ: สร้างวิถีชีวิตแห่งความเป็นธรรม ข้อสั่งการ ให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจัดให้มีโครงการคุ้มครองคน คุ้มครองสิทธิ: สร้างวิถีชีวิตแห่งความเป็นธรรมในทุกจังหวัด เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
                                      12) เยี่ยมชมกลุ่มเกษตรกรผู้ได้รับความเดือดร้อน กรณีการทุจริตในชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด ข้อสั่งการ (1) ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณารับเรื่องการบริหารงานสหกรณ์ของคณะกรรมการสหกรณ์เป็นคดีพิเศษและแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดเจน (2) ให้สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมช่วยเหลือลูกจ้างของชุมนุมสหกรณ์สวนปาล์มที่ถูกเลิกจ้าง รวมทั้งให้กระทรวงยุติธรรมรับข้อเรียกร้องเรื่องการขอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากกรมส่งเสริมสหกรณ์และให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ยกเว้นดอกเบี้ย
                                       13) การประชุมหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรมในพื้นที่ภาคใต้ ข้อสั่งการ (1) ให้กรมราชทัณฑ์ดำเนินมาตรการเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในเรือนจำและทัณฑสถาน และ (2) ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพส่งเสริมการไกล่เกลี่ยก่อนการบังคับคดี รวมทั้งจัดประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนภารกิจกระทรวงยุติธรรมในพื้นที่ทุกสัปดาห์ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความเข้าใจต่อภารกิจและบทบาทของกระทรวงยุติธรรม และรับทราบปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชนและช่องทางในการช่วยเหลือได้อย่างรอบด้าน
                                      14) ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลเกาะลันตา (ใหม่) ศูนย์รับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ศูนย์อุตสาหกรรม แปรรูปอาหารทะเล ศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์บ้านหลังสอด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านนาทุ่งกลาง อำเภอเกาะลันตา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านนา อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ และศูนย์การแพทย์เขาหลัก จังหวัดพังงา ข้อสั่งการ (1) ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกระบี่และจังหวัดพังงา เร่งรัดการฉีดวัคซีนทั้งชาวไทยและต่างด้าวให้ครอบคลุม (2) ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกระบี่บูรณาการในการจำกัดขยะทั่วไปและขยะติดเชื้อให้ถูกวิธีอย่างเป็นรูปธรรม (3) ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกระบี่จัดทำคำของบประมาณรายจ่ายงบกลางหรืองบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อจัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลเกาะลันตา (ใหม่) ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่เพื่อรองรับระบบการดูแลสุขภาพประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่ (4) ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกระบี่ประสานนายอำเภอเกาะลันตาดำเนินการเร่งรัดฉีดวัคซีนให้กับแรงงานต่างด้าวที่มาทำงานในเกาะลันตาให้ครบถ้วน และ (5) ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมอนามัยให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) รายใหม่ให้มีศักยภาพ สามารถแข่งขันได้
 

ต่างประเทศ

12. เรื่อง ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมสภารัฐมนตรีสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ 21  
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ธากาเพื่อเป็นผลลัพธ์ของการประชุมสภารัฐมนตรีสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ 21 ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรองร่างแถลงการณ์ธากาในการประชุมสภารัฐมนตรีสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ 21 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ 
                   สาระสำคัญ
                   1. ร่างแถลงการณ์ธากาเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสภารัฐมนตรีสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ 21 เพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกในการขับเคลื่อนความร่วมมือในภูมิภาค สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ (1) ยินดีต่อการรับตำแหน่งประธานของบังกลาเทศ (2) รับทราบถึงการทำหน้าที่อย่างดียิ่งของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธาน ระหว่างปี 2562 – 2564 (3) ส่งเสริมความร่วมมือและสนับสนุนให้สมาคมฯ มีบทบาทหลักในการใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรอินเดียอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และการรับมือกับความท้าทายและประเด็นสำคัญอื่น ๆ โดยเฉพาะการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคโควิด-19 (4) รับทราบผลการคัดเลือกเลขาธิการสมาคมฯ คนใหม่ (5) รับรองสหพันธรัฐรัสเซียและซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศคู่เจรจา ลำดับที่ 10 และ 11 ของสมาคมฯ (6) รับทราบการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย (ค.ศ. 2017-2021) และผลการจัดทำแผนปฏิบัติการสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดียฉบับที่สอง (ค.ศ. 2022-2027) และ (7) รับทราบการปรับปรุงการบริหารจัดการของสมาคมฯ
                   2. ร่างแถลงการณ์ธากาไม่มีถ้อยคำและบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ กอปรกับไม่มีการลงนามในเอกสารดังกล่าว จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
(ไทยจะรับรองร่างแถลงการณ์ธากาในการประชุมสภารัฐมนตรีอาเซียนสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดียครั้งที่ 21 ในวันที่ 17 พ.ย. 64 ผ่านระบบการประชุมทางไกล) 
 
13. เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างความตกลงว่าด้วยการต่ออายุแถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟ ระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างความตกลงว่าด้วยการต่ออายุแถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟ ระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (ร่างความตกลงว่าด้วยการต่ออายุแถลงการณ์ร่วมฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุง แก้ไขร่างความตกลงว่าด้วยการต่ออายุแถลงการณ์ร่วมฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญก่อนการลงนาม และเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ให้อยู่ในดุลยพินิจของกระทรวงคมนาคม โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทยสำหรับการลงนามดังกล่าว ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง 
                   คค. รายงานว่า 
                   1. แถลงการณ์ร่วมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและกระชับความร่วมมือด้านระบบราง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาการขนส่งทางรถไฟและระบบขนส่งมวลชนในเมือง ภายใต้กลไกคณะทำงานร่วมระบบรางไทย – เยอรมนี และคณะทำงานกลุ่มย่อยตามกิจกรรมความร่วมมือใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) ด้านการวิจัยและพัฒนา   (2) ด้านการประกอบการเดินรถ และ (3) ด้านอุตสาหกรรมระบบราง และมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

ประเด็นสาระสำคัญ
วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและกระชับความร่วมมือด้านระบบราง
ขอบเขตความร่วมมือทางวิชาการ- สนับสนุนความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมระบบราง ผู้ให้บริการเดินรถภายในประเทศ และผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการ องค์กรที่อยู่ในภาคส่วนของระบบราง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่าย เช่น การหาความเป็นไปได้ที่จะแลกเปลี่ยน ให้ความรู้ และฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และเจ้าหน้าที่ทางเทคนิค
- สนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมระบบรางสำหรับโครงการความร่วมมือในขอบเขตการขนส่งทางรางและระบบขนส่งมวลชนในเมือง เช่น การสนับสนุนให้มีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมให้ระบบรางในประเทศไทยมีความทันสมัยอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ค่าใช้จ่ายแต่ละฝ่ายจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดำเนินการตามแถลงการณ์ร่วมฯ ของตนเอง เว้นแต่จะมีการตกลงกันโดยทั้งสองฝ่ายเป็นการล่วงหน้า
บททั่วไปไม่มีเจตนาให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมายใด ๆ
การมีผลใช้บังคับ ระยะเวลาการสิ้นสุดและการแก้ไข- มีผลใช้บังคับในวันที่ทั้งสองฝ่ายลงนาม
- แถลงการณ์ร่วมฯ มีอายุ 3 ปี
- อาจมีการต่ออายุได้อีกคราวละ 2 ปี ตามความเห็นชอบร่วมกันของทั้งสองฝ่ายเป็นลายลักษณ์อักษร [ตามข้อ 5 (2) ในแถลงการณ์ร่วมฯ]
- สามารถแก้ไขเพิ่มเติมและยกเลิกได้โดยแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร
- การสิ้นสุดของแถลงการณ์ร่วมฯ จะไม่กระทบต่อกิจกรรมซึ่งดำเนินการแล้ว หรือได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองฝ่ายแล้ว

ทั้งนี้ แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวได้สิ้นสุดการมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562   
                   2. ต่อมา คค. และกระทรวงคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้ลงนามความตกลงว่าด้วยการต่ออายุแถลงการณ์ร่วมฯ (ครั้งที่ 1) เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2563 โดยให้ความตกลงว่าด้วยการต่ออายุแถลงการณ์ร่วมฯ เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 ถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายไทยและฝ่ายเยอรมนีได้ร่วมกันจัดกิจกรรมและดำเนินการต่าง ๆ ภายใต้แถลงการณ์ร่วมดังกล่าว เช่น 
                             2.1  การจัดตั้งสมาคมระบบรางไทย – เยอรมนี (German – Thai Railway Association: GTRA) เพื่อเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนความรู้ การพัฒนาบุคลากรและการวิจัยต่าง ๆ รวมทั้งขับเคลื่อนความร่วมมือด้านระบบรางให้มีความยั่งยืนและเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ สมาคมดังกล่าวได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 
                             2.2 ความร่วมมือทางวิชาการ เช่น (1) การจัดทำหลักสูตรปริญญาโทร่วม สาขาวิศวกรรมระบบรางและโครงสร้างพื้นฐาน (หลักสูตรนานาชาติ) ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัย RWTH Aachen แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และ (2) ความร่วมมือในการแปลตำราทางวิชาการภาษาเยอรมันเป็นตำราภาษาไทย ชื่อ “วิศวกรรมเทคโนโลยีระบบราง” (Schienenfahrzeugtechnik) ซึ่งตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 
                             2.3 การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากร โดยมีภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการด้านรถไฟฟ้า และบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว 
                             2.4 การจัดเสวนาทางไกลเพื่อหารือเกี่ยวกับการกระชับความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างบริษัทไทยและเยอรมนีเพื่อยกระดับระบบรถไฟของประเทศไทย 
                   3. เพื่อให้การดำเนินงาน กิจกรรม และโครงการภายใต้การพัฒนาความร่วมมือเป็นไปอย่างต่อเนื่อง คค. จึงเสนอให้มีการต่ออายุแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวต่อเนื่องไปอีก 2 ปี (เป็นการต่ออายุครั้งที่ 2) โดยได้ระบุให้ความตกลงว่าด้วยการต่ออายุแถลงการณ์ร่วมฯ เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 ถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566    
                   4. คค. เห็นว่า ร่างความตกลงว่าด้วยการต่ออายุแถลงการณ์ร่วมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การดำเนินงาน กิจกรรมและโครงการภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ รวมถึงความร่วมมือและการลงทุนด้านอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศไทย โดยไม่มีพันธะผูกพันทางกฎหมายในระดับสากล จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
 
14. เรื่อง ร่างบันทึกการประชุม (Agreed Minutes) ของการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย – เวียดนาม ครั้งที่ 4
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างบันทึกการประชุม (Agreed Minutes) ของการประชุม JCBC ไทย - เวียดนาม ครั้งที่ 4 ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขร่างบันทึกการประชุมฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาดำเนินการโดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีก โดยให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมรับรองร่างบันทึกการประชุมฯ ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
                   สาระสำคัญ
                   กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามได้ร่วมกันจัดทำร่างบันทึกการประชุมฯ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
                   1. ร่างบันทึกการประชุมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมของรัฐบาลทั้งสองประเทศที่จะส่งเสริมความร่วมมืออย่างรอบด้านทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี โดยเฉพาะการส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมและมองไปข้างหน้าในบริบทของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของทั้งสองประเทศจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ไทย - เวียดนามในฐานะ “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็ง (Strengthened Strategic Partnership)” ให้มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและตอบสนองต่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ โดยเน้นความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการเจริญเติบโต ความเป็นหุ้นส่วนเพื่อสันติภาพ และความเป็นหุ้นส่วนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
                   2. ร่างบันทึกการประชุมฯ ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน มีเนื้อหาที่สะท้อนเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่ายที่จะผลักดันความร่วมมือที่ใกล้ชิดในด้านต่าง ๆ อาทิ (1) ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง (2) ความร่วมมือด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (3) ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน (4) ความร่วมมือด้านสังคม วัฒนธรรม และประชาชน (5) ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ   (6) ความร่วมมือในกรอบพหุภาคีต่าง ๆ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ขอรับความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว
                   3. ร่างบันทึกการประชุมฯ เป็นการบันทึกผลการประชุมของคณะกรรมาธิการร่วมฯ ที่แสดงวิสัยทัศน์และเจตนารมณ์ร่วมกันของฝ่ายไทยและเวียดนามในการพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีในสาขาความร่วมมือด้านต่าง ๆ ตามนัยข้อ 2 โดยไม่มีการลงนาม และมิได้มีรูปแบบ ถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น ร่างบันทึกการประชุมฯ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
                   ทั้งนี้ ร่างบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ เป็นการกำหนดทิศทางความร่วมมือระหว่างไทยกับเวียดนามในระยะต่อไป ในฐานะ “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็ง” โดยเฉพาะความร่วมมือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของทั้งสองประเทศจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นด้วย
 

แต่งตั้ง

15. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้งข้าราชการ    พลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 4 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างและสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้  
                   1. นายชุตินทร คงศักดิ์ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ 
                   2. นางวิลาวรรณ มังคละธนะกุล อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง 
                   3. นายปิยภักดิ์ ศรีเจริญ เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมานามา ราชอาณาจักรบาห์เรน 
                   4. นายทวีเกียรติ เจนประจักษ์ อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ณ ไทเป 
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศตามข้อ 1. และ 3. ได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับ   
 
 
16. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้ง นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี ศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 10 สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
17. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอรับโอนข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงมหาดไทย และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง สังกัดศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้ 
                   1. นายศรัทธา คชพลายุกต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงมหาดไทย ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้   
                   2. นายบุญพาศ รักนุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงมหาดไทย ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้     
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป โดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมในการโอนแล้ว
 
18. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพาณิชย์)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง เพื่อเป็นการสับเปลี่ยนหมุนเวียนและเพื่อทดแทนผู้ที่เกษียณอายุราชการ ดังนี้ 
                   1. นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง  สำนักงานปลัดกระทรวง
                   2. นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ 
                   3. นายวันชัย วราวิทย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง 
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 

 …………………………………………………….
 แหล่งอ้างงอิง : https://www.thaigov.go.th/