วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 4 พฤศจิกายน 2564

 

วันนี้ (4 พฤศจิกายน 2564)  เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

 

กฎหมาย

                    1.       เรื่อง     ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                    2.       เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงท้องถิ่นสายเชื่อมระหว่างถนนสุขาภิบาล 5 (ถนนรัตนโกสินทร์สมโภช) กับถนนนิมิตใหม่  พ.ศ. ….
                    3.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายลำโดมใหญ่ บางส่วน ในท้องที่ตำบลสีวิเชียร อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ. …. 
                    4.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 75 ปี วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ พ.ศ. … 
                    5.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ….
                    6.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบและรายการบัญชีเกี่ยวกับปริมาณและสถานที่เก็บของน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ซื้อ กลั่น ผลิต ได้มา  จำหน่ายไปแล้วและที่เหลืออยู่ในแต่ละเดือน และแผนการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซื้อ กลั่น ผลิต หรือจำหน่ายซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงของผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                    7.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นขอกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงปริมาณการค้าประจำปี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                    8.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ สำหรับการอุ่น ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....
                    9.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การลดเงินเพิ่ม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. ....
                             10.      เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต และหนังสือรับรองการแจ้งตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต หนังสือรับรองการแจ้ง และการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ. 2559 (ฉบับที่ ..)   พ.ศ. ....
 

เศรษฐกิจ – สังคม

 
                    11.      เรื่อง     ขอความเห็นชอบการปรับหลักเกณฑ์การชดเชยผู้ได้รับผลกระทบด้านเสียง และการขยายกรอบวงเงินลงทุนโครงการก่อสร้างทางเส้นที่ 3 ท่าอากาศยาน
สุวรรณภูมิ ในส่วนของงบประมาณสำหรับดำเนินการชดเชยผลกระทบด้านเสียง เนื่องจากโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศสุวรรณภูมิ ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
                    12.      เรื่อง     รายงานผลการดำเนินการภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 2560 - 2564) ประจำปี 2563
                    13.      เรื่อง     สรุปมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ครั้งที่ 1/2564
                    14.      เรื่อง     การขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564
                    15.      เรื่อง     ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุม ครั้งที่ 37/2564
                    16.      เรื่อง     ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายการบริหารจัดการธุรกิจสายการบิน ธุรกิจสนับสนุน และบุคลากรการบิน ช่วงวิกฤต
COVID-19 ของคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา
                   17.      เรื่อง     ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 12/2564
                    18.      เรื่อง     การกำหนดวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ ประจำปี 2565
                    19.      เรื่อง     การกำหนดวันอังคารที่ 28 ธันวาคม 2564 เป็นวันหยุดราชการประจำภาคตะวันออก
                    20.      เรื่อง     ผลการหารือการชดเชยต้นทุนเงิน ธ.ก.ส. โครงการประกันรายได้เกษตรกร ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนาน
                  
         

ต่างประเทศ

                    21.      เรื่อง     ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง –  ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2564 (Memorandum of Understanding on the Cooperation on Projects of the Mekong – Lancang Cooperation Special Fund 2021)
                    22.      เรื่อง     ผลการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 6
                    23.      เรื่อง     รายงานการประชุมด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาในกรอบสหประชาชาติ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส
โคโรนา 2019 (COVID-19)
                    24.      เรื่อง     ร่างบันทึกการประชุมและร่างแถลงข่าวร่วม (Joint Press Statement) ของการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย - ลาว ครั้งที่ 22
                    25.      เรื่อง     ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมที่จะรับรองในการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 32 และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 28
         

แต่งตั้ง

                    26.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงคมนาคม) 
                    27.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)
                    28.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)
                    29.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงยุติธรรม)
                    30.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง  (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน)
                    31.      เรื่อง     แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการปิโตรเลียม
                    32.      เรื่อง     การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
                    33.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูงกระทรวงมหาดไทย

*******************
สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
 
 
กฎหมาย
1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้
                   1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้พิจารณาตามประเด็นข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และรับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานอัยการสูงสุดไปประกอบการพิจารณาด้วย และให้รวมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมโดยกำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเป็นความผิดมูลฐาน) ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้เป็นฉบับเดียวกัน ตลอดจนพิจารณาให้มีความสอดคล้องกับร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
                   2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอ
                   3. ให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                   ทั้งนี้ สำนักงาน ปปง. เสนอว่า
                   1. ประเทศไทยได้เข้ารับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย [Anti - Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism (AML/CFT)] รอบที่ 3 ในประเด็นการวิเคราะห์ระดับความสอดคล้องของกฎหมายและกระบวนการ ตามข้อแนะนำของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (The Financial Action Task Force - FATF) ซึ่งจากรายงานการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลดังกล่าวของประเทศไทย พ.ศ. 2560  พบว่า บทบัญญัติในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 บางประการยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลตามข้อแนะนำของ FATF เช่น ปัญหาในส่วนของผู้มีหน้าที่รายงานที่ยังกำหนดไม่ครบถ้วนและครอบคลุมประเภทธุรกิจหรือวิชาชีพที่มีความเสี่ยงด้าน AML/CFT รวมถึงมาตรการควบคุมกำกับองค์กรไม่แสวงหากำไร (Non-Profit Organization-NPOs) ซึ่งส่งผลกระทบต่อมาตรการด้านป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
                   2. โดยที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน จึงมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตลอดจนเป็นอุปสรรคในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การกำหนดความผิดมูลฐานที่ไม่ครอบคลุมและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน (ความผิดเกี่ยวกับการค้าสื่อลามกอนาจารเด็ก ความผิดเกี่ยวกับตลาดทุนตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และกฎหมายว่าด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล ความผิดเกี่ยวกับการสมยอมในการเสนอราคา ความผิดเกี่ยวกับการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด) การกำหนดอำนาจของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานในการควบคุมการขนเงินสดและตราสารเปลี่ยนมือข้ามแดน อำนาจของพนักงานศุลกากรในการยึดเงินตรา เงินตราต่างประเทศ หรือตราสารเปลี่ยนมือที่นำเข้ามาในหรือออกไปนอกประเทศ กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าเงินสด หรือตราสารเปลี่ยนมือเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือเกี่ยวกับการฟอกเงินหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง รวมถึงมาตรการเกี่ยวกับการดำเนินการกับทรัพย์สินและมาตรการทางอาญาที่ยังมีข้อจำกัดบางประการ และไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่รูปแบบการฟอกเงินมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เป็นต้น
                   3. สำนักงาน ปปง. จึงเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โดยปรับปรุงมาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลตามข้อแนะนำของ FATF เพื่อการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้าน AML/CFT และเสร็จสิ้นทันกำหนดระยะเวลาในการผลักดันให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกของ FATF ภายในปี พ.ศ. 2566 และเพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเหมาะสมกับสภาพการณ์ ก่อให้เกิดความเป็นธรรม การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น                      และส่งผลให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับสากล
                   4. คณะกรรมการ ปปง. ในการประชุมครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และให้เสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยมีข้อสังเกตจากผู้แทนกระทรวงการคลังว่าการกำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรเป็นความผิดมูลฐานนั้น มีความเหมาะสมเพียงใด และกระทรวงการต่างประเทศเห็นว่า ร่างมาตรา 16 การตรวจสอบองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร (NGOs) สมาคม มูลนิธิ เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงินหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายนั้น ควรตรวจสอบหลักการกำกับดูแลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตามมติคณะรัฐมนตรี (29 มิถุนายน 2564) เพื่อไม่ให้มีการออกกฎหมายหลายฉบับที่มีหลักการซ้ำซ้อนกันหรือขัดแย้งกัน
                   5. สำนักงาน ปปง. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติฯ โดยจัดโครงการสัมมนารับฟังความคิดเห็น จำนวน 4 ครั้ง และรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน ปปง. (www.amlo.go.th) จำนวน 3 ครั้ง พร้อมนำผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาแล้ว ทั้งนี้ ได้จัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย พร้อมทั้งเปิดเผยสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ www.amlo.go.th ตามแนวทางของมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี รวมทั้งได้จัดทำแผนกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองมาด้วยแล้ว
                   สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
                   ปรับปรุงมาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลด้าน AML/CFT ตามข้อแนะนำของ FATF และให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบันเกิดความเป็นธรรม และเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รายละเอียด ดังนี้
                   1. แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “ความผิดมูลฐาน” โดยกำหนดความผิดเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็กอันมีลักษณะเป็นการค้าเป็นความผิดมูลฐาน
                   2. แก้ไขชื่อหมวด 2 จากเดิม “การรายงานและการแสดงตน” เป็น “การป้องกันการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง”
                   3. กำหนดหลักเกณฑ์การควบคุมการขนเงินตรา เงินตราต่างประเทศ และตราสารเปลี่ยนมือข้ามแดนเพื่อป้องกันการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายหรือการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง และกำหนดหน้าที่และอำนาจของพนักงานศุลกากร
                   4. กำหนดหน้าที่สมาคม มูลนิธิ และองค์กรไม่แสวงหากำไร รวมถึงหน้าที่ และอำนาจของหน่วยงานในการควบคุมและกำกับดูแลสมาคม มูลนิธิ และองค์กรไม่แสวงหากำไรดังกล่าวเพื่อป้องกันการฟอกเงินการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายหรือการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
                   5. กำหนดให้ผู้มีหน้าที่รายงานสามารถระงับการทำธุรกรรมของลูกค้าในกรณีที่พบว่าธุรกรรมของลูกค้าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินได้ก่อนส่งเรื่องให้สำนักงานดำเนินการต่อไปเพื่อป้องกันการยักย้ายทรัพย์สิน
                   6. ยกเลิกข้อกำหนดที่ให้ผู้มีหน้าที่รายงานต้องจัดให้พนักงานหรือบุคลากรของผู้มีหน้าที่รายงานต้องเข้ารับการฝึกอบรมและทบทวนความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้เนื่องจากข้อกำหนดดังกล่าวถูกนำไปรวมอยู่ในมาตรการควบคุมภายในตามมาตรา 20/1 แล้ว
                   7. กำหนดหลักเกณฑ์การเก็บรักษารายละเอียดของข้อมูลหรือเอกสารเกี่ยวกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า การทำธุรกรรมและการบันทึกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำธุรกรรมและระยะเวลาการเก็บรักษารายละเอียดของข้อมูลหรือเอกสารดังกล่าว
                   8. กำหนดอำนาจของคณะกรรมการ ในการออกระเบียบเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและวิธีการเบิกจ่าย เพื่อดำเนินการต่าง ๆ ตามการกิจที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของสำนักงานโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
                   9. กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการขอให้เพิกถอนการยึดหรืออายัดและกำหนดระยะเวลาการเก็บรักษาทรัพย์สินก่อนที่จะตกเป็นของกองทุนกรณีที่ไม่มีผู้มาขอรับคืน
                   10. เพิ่มเติมหลักเกณฑ์ให้เจ้าของที่แท้จริงในทรัพย์สินที่มิได้รู้เห็นเป็นใจหรือยินยอมให้ทรัพย์สินนั้นถูกใช้หรือครอบครองไว้เพื่อใช้หรือสนับสนุนในการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินสามารถยื่นคำคัดค้านคำร้องของพนักงานอัยการที่ร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน
                   11. กำหนดให้ทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินปลอดจากบรรดาทรัพยสิทธิหรือภาระผูกพันและกำหนดให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงทะเบียนเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งของศาล รวมทั้งกำหนดอำนาจศาลในการเรียกผู้เกี่ยวข้องเข้ามาในคดีในชั้นพิจารณา
                   12. กำหนดหน้าที่และอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการเก็บรักษาและจัดการทรัพย์สินให้มีความชัดเจน และสามารถร้องขอความช่วยเหลือจากพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจและกำหนดอำนาจให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจสามารถจับกุมหรือควบคุมตัวผู้ที่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้
                   13. กำหนดความผิดกรณีใช้ข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานของบุคคลอื่นหรือยอมให้บุคคลอื่นใช้ข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานของตน หรือเป็นตัวกลางในการจัดหาข้อมูล เอกสารหรือหลักฐานของบุคคลอื่น เพื่อประโยชน์ในการปกปิดตัวตนในการทำธุรกรรม
 
2. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่าง
ถนนสุขาภิบาล 5 (ถนนรัตนโกสินทร์สมโภช) กับถนนนิมิตใหม่ พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนสุขาภิบาล 5 (ถนนรัตนโกสินทร์สมโภช) กับถนนนิมิตใหม่ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้  และให้ มท. รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดต่อไป และรับความเห็น
ของกระทรวงคมนาคมและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย 
                   ทั้งนี้ มท. เสนอว่า 
                   1. กทม. มีโครงการก่อสร้างทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนรัตนโกสินทร์สมโภชกับ
ถนนนิมิตใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการก่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่นสายเชื่อมระหว่างถนนพหลโยธิน –  ถนนรัตนโกสินทร์สมโภช – ถนนนิมิตใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในเขต กทม. และปริมณฑล บรรเทาภาระการจราจรบนถนนสายหลัก และเพิ่มพื้นที่ถนนในเขตชานเมือง เมื่อก่อสร้างเสร็จจะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อที่สำคัญ รวมทั้งเพิ่มโครงข่ายการจราจรในพื้นที่ กทม. ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น อันจะทำให้ประชาชนสามารถเดินทางสู่ถนนสายหลักที่ใกล้เคียง ได้แก่ ถนนพหลโยธิน ถนนรามอินทรา ถนนสุวินทวงศ์ ทางพิเศษฉลองรัช และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ได้สะดวก โดยลักษณะของโครงการเป็นการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 8 ช่องจราจร (ไป - กลับ) ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร กว้างประมาณ 60 – 80 เมตร จุดเริ่มต้นโครงการจากถนนสุขาภิบาล 5 และสิ้นสุดโครงการที่ถนนนิมิตใหม่ โดยเจ้าหน้าที่ได้จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มา ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 เป็นที่ดิน 245 แปลง โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง 93 รายการ จำนวนเงินค่าทดแทน 2,021,360,342 บาท 
                   2. โดยที่เจ้าหน้าที่เวนคืนได้ดำเนินการสำรวจอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนสุขาภิบาล 5 (ถนนรัตนโกสินทร์สมโภช) กับถนนนิมิตใหม่ พ.ศ. 2560 ไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากมีจำนวนอสังหาริมทรัพย์ที่จำเป็นจะต้องเข้าทำการสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด เป็นที่ดินประมาณ 212 แปลง โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างประมาณ 407 รายการ 
                   3. กทม. พิจารณาแล้วเห็นว่า ยังมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการสำรวจอสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์ในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อดำเนินการก่อสร้างทางหลวงท้องถิ่นสายเชื่อมระหว่างถนนสุขาภิบาล 5 (ถนนรัตนโกสินทร์สมโภช) กับถนนนิมิตใหม่ ในท้องที่แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน แขวงคลองถนน แขวงออเงิน   เขตสายไหม และแขวงสามวาตะวันตก แขวงสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา กทม. ต่อไป เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่ง อันเป็นกิจการสาธารณูปโภค และเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด  
                   4. กทม. ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างทางหลวงท้องถิ่นสายดังกล่าว ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว 
                   5. สำนักงบประมาณแจ้งว่า กทม. มีแผนการจัดกรรมสิทธิ์และการเบิกจ่ายค่าทดแทน ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี นับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2564 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2569 ประมาณการค่าจัดกรรมสิทธิ์  จำนวน 4,216,000,000 บาท โดยใช้จ่ายจากงบประมาณของ กทม. ทั้งจำนวน ทั้งนี้ การดำเนินการจะต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน 
                   สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา 
                   กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน แขวงคลองถนน แขวงออเงิน เขตสายไหม และแขวงสามวาตะวันตก แขวงสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา กทม. เพื่อสร้างทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนสุขาภิบาล 5 (ถนนรัตนโกสินทร์สมโภช) กับถนนนิมิตใหม่ (พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับได้มีกำหนด 5 ปี)
 
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายลำโดมใหญ่ บางส่วน ในท้องที่ตำบลสีวิเชียร อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ. …. 
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายลำโดมใหญ่ บางส่วน ในท้องที่ตำบลสีวิเชียร อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ 
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้เป็นการกำหนดให้เพิกถอนพื้นที่บางส่วนของป่าฝั่งซ้ายลำโดมใหญ่ที่อยู่ในท้องที่ตำบลสีวิเชียร อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1,063 (พ.ศ. 2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ออกจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติ โดยมีพื้นที่ที่เพิกถอนประมาณ 502-3-74.25 ไร่ เพื่อให้ราษฎรมีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินในพื้นที่ที่มีการออกใบจองไว้แล้ว ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวทับซ้อนกับพื้นที่ของโครงการจัดที่ดินผืนใหญ่น้ำยืน  
 
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 75 ปี วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ พ.ศ. … 
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 75 ปี วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ 
                   กค. เสนอว่า 
                   1. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ เดิมชื่อโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยและวิทยาลัยพยาบาลกรุงเทพ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมชมกิจการของโรงเรียนครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2484 ซึ่งพระองค์ให้ความสำคัญต่อการศึกษาพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสมอมา และได้พระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญอักษรพระนามาภิไธย ส.ว. เป็นเครื่องหมายประจำวิทยาลัยด้วย  
                   2. ต่อมา สธ. จึงได้ขอความร่วมมือกรมธนารักษ์ กค. จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 75 ปี วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เฉลิมพระเกียรติคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อการพยาบาลของ สธ. เพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์บทบาทและหน้าที่ของพยาบาลวิชาชีพในระบบสุขภาพของประเทศไปยังหน่วยงาน องค์กร และประชาชนทั่วไปให้ได้รับทราบ ซึ่ง กค. ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกในโอกาสดังกล่าวและได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกตามแบบที่ทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว สำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกดังกล่าว มาจากเงินทุนหมุนเวียนการบริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ ทรัพย์สินมีค่าของรัฐและการทำของประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง  
                   กำหนดชนิด ราคา โลหะ อัตราเนื้อโลหะ น้ำหนัก ขนาด อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด ลวดลาย และลักษณะอื่น ๆ ของเหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคายี่สิบบาท เพื่อเป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบ 75 ปี วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ 
 
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
                    กษ. เสนอว่า
                   1. พระราชบัญญัติสถานพยาบาลสัตว์ พ.ศ. 2533 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นค่าธรรมเนียมและกำหนดกิจการอื่นกับออกประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 34 บัญญัติให้ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องร้องขอ โดยบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง  
                   2. โดยที่ได้มีกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติสถานพยาบาลสัตว์ พ.ศ. 2533 กำหนดแบบบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ ซึ่งปัจจุบันไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบันแล้ว ดังนั้น สมควรยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติสถานพยาบาลสัตว์ พ.ศ. 2533 โดยปรับปรุงแบบบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น และกำหนดอายุบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ชัดเจน เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและครอบคลุมการปฏิบัติหน้าที่ และเพื่อให้ทันกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน 
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 
                   1. ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติสถานพยาบาลสัตว์ พ.ศ. 2533 
                   2. กำหนดแบบบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนี้  
                             2.1 รูปถ่ายที่ติดบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้ใช้รูปถ่ายที่ถ่ายไม่เกินหกเดือนก่อนวันยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นรูปถ่ายครึ่งตัว ขนาดกว้าง 2.5 เซนติเมตร ยาว 3 เซนติเมตร              หน้าตรงและแต่งเครื่องแบบปกติ หรือเครื่องแบบที่ตนสังกัด ไม่สวมหมวก และไม่สวมแว่นตาดำ  
                             2.2 บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้มีอายุห้าปีนับแต่วันออกบัตร  
                   3. ให้อธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นผู้ออกบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่   
                   4. กำหนดให้บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ออกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2535)  ออกตามความในพระราชบัญญัติสถานพยาบาลสัตว์ พ.ศ. 2533 ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าบัตรนั้นจะสิ้นอายุ
 
6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบและรายการบัญชีเกี่ยวกับปริมาณและสถานที่เก็บของน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ซื้อ กลั่น ผลิต ได้มา จำหน่ายไปแล้วและที่เหลืออยู่ในแต่ละเดือน และแผนการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซื้อ กลั่น ผลิต หรือจำหน่ายซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงของผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบและรายการบัญชีเกี่ยวกับปริมาณและสถานที่เก็บของน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ซื้อ กลั่น ผลิต ได้มา จำหน่ายไปแล้วและที่เหลืออยู่ในแต่ละเดือน และแผนการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซื้อ กลั่น ผลิต หรือจำหน่ายซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงของผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้ 
                   ทั้งนี้ พน. เสนอว่า 
                   1. โดยที่ได้มีกฎกระทรวงกำหนดแบบและรายการบัญชีเกี่ยวกับปริมาณและสถานที่เก็บของน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ซื้อ กลั่น ผลิต ได้มา จำหน่ายไปแล้วและที่เหลืออยู่ในแต่ละเดือน และแผนการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซื้อ กลั่น ผลิต หรือจำหน่ายซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงของผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 พ.ศ. 2546 กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ส่งบัญชีเกี่ยวกับปริมาณและสถานที่เก็บของน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ซื้อ กลั่น ผลิต ได้มา จำหน่ายไปแล้วและที่เหลืออยู่ในแต่ละเดือน จำนวน 1 ชุด พร้อมคู่ฉบับ 2 ชุด และส่งแผนการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซื้อ กลั่น ผลิต หรือจำหน่ายซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงสามเดือนถัดไป จำนวน 1 ชุด พร้อมคู่ฉบับ 1 ชุด โดยกำหนดวิธีการจัดส่งไว้ 2 ช่องทาง คือ จัดส่งโดยตรงหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังกรมธุรกิจพลังงาน พน. 
                   2. กรมธุรกิจพลังงานได้ออกคำสั่งกรมธุรกิจพลังงานที่ 25/2564 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 แต่งตั้งคณะทำงานปรับปรุงกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 16 มาตรา 17 และมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 เพื่อทำหน้าที่พิจารณาปรับปรุงกฎกระทรวง ซึ่งในการประชุมคณะทำงานฯ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงกฎกระทรวงตามข้อ 1. โดยยกเลิกการจัดส่งสำเนาคู่ฉบับ เพื่อลดภาระด้านเอกสารของผู้ประกอบการ และเพิ่มช่องทางจัดส่งแบบและรายการบัญชี รวมถึงแผนการค้าของผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือช่องทางอื่นใด ตามที่อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานประกาศกำหนด  
                   3. กรมธุรกิจพลังงานจึงได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบและรายการบัญชีเกี่ยวกับปริมาณและสถานที่เก็บของน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ซื้อ กลั่น ผลิต ได้มา จำหน่ายไปแล้วและที่เหลืออยู่ในแต่ละเดือน และแผนการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซื้อ กลั่น ผลิต หรือจำหน่ายซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงของผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ขึ้น และในการประชุมคณะทำงานฯ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าวและให้ พน. เสนอตามขั้นตอนต่อไป 
                   4. พน. พิจารณาแล้ว เห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงดังกล่าว เป็นการเพิ่มช่องทางการให้บริการรับบัญชีหรือแผนจากผู้ประกอบการ ให้มีความเหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน เพื่อลดขั้นตอน และเอกสารต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น ช่วยให้การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการสะดวกและง่ายมากยิ่งขึ้นอันเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ และรองรับนโยบายรัฐบาลดิจิทัลของรัฐบาล  
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง  
                   ปรับปรุงการส่งบัญชีเกี่ยวกับปริมาณและสถานที่เก็บของน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนการค้าน้ำมันให้สามารถดำเนินการผ่านวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือช่องทางอื่นใด ตามที่อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานประกาศกำหนด (เดิมกำหนดเฉพาะให้ส่งโดยตรงหรือส่งทางไปรษณีย์) และยกเลิกการส่งสำเนาคู่ฉบับของเอกสารดังกล่าว
 
7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นขอกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงปริมาณการค้าประจำปี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นขอกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงปริมาณการค้าประจำปี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้
                   พน. เสนอว่า
                   1. โดยที่ได้มีกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นขอกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงปริมาณการค้าประจำปี พ.ศ. 2546 กำหนดวิธีการยื่นคำขอกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงปริมาณการค้าประจำปีไว้ 2 ช่องทาง คือ จัดส่งโดยตรงหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังกรมธุรกิจพลังงาน พน.
                   2. กรมธุรกิจพลังงานได้ออกคำสั่งกรมธุรกิจพลังงานที่ 25/2564 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 แต่งตั้งคณะทำงานปรับปรุงกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 16 มาตรา 17 และมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 เพื่อทำหน้าที่พิจารณาปรับปรุงกฎกระทรวงให้รองรับการเพิ่มการยื่นคำขอผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งในการประชุมคณะทำงานฯ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ได้มีมติเห็นชอบการปรับปรุงกฎกระทรวงตามข้อ 1. โดยให้เพิ่มช่องทางการยื่นเอกสารเพื่อรองรับการยื่นคำขอผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือช่องทางอื่นใด ตามที่อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานกำหนด
                   3. กรมธุรกิจพลังงานจึงได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นขอกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงปริมาณการค้าประจำปี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ขึ้น และในการประชุมคณะทำงานฯ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวและให้ พน. เสนอตามขั้นตอนต่อไป
                   4. พน. พิจารณาแล้ว เห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นการเพิ่มช่องทางการให้บริการรับคำขอจากผู้ประกอบการให้มีความเหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน เพื่อลดขั้นตอนและเอกสาร                ต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น ช่วยให้การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการสะดวกและง่ายมากยิ่งขึ้น
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   ปรับปรุงวิธีการยื่นคำขอกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงปริมาณการค้าประจำปีให้สามารถดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือช่องทางอื่นใด ตามที่อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานประกาศกำหนด (เดิมกำหนดเฉพาะให้ส่งโดยตรงหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน)
 
8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ สำหรับการอุ่น ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ สำหรับการอุ่น ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้
                   ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เป็นการกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ สำหรับการอุ่น และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟสำหรับการอุ่นครั้งเดียว ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟสำหรับการอุ่นที่มีคุณภาพ อันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีความปลอดภัยจากสารเคมีปนเปื้อนที่อาจส่งผลต่อสุขภาพ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   1. กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ สำหรับการอุ่น ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 2493 เล่ม 1 – 2554 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4355 (พ.ศ. 2554) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ เล่ม 1 สำหรับการอุ่นลงวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2554
                   2. กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ สำหรับการอุ่นครั้งเดียว ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 2493 เล่ม 2 – 2556 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4607 (พ.ศ. 2557) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ เล่ม 2 สำหรับการอุ่นครั้งเดียว ลงวันที่ 27มกราคม พ.ศ. 2557
                   3. กำหนดให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสองร้อยเจ็ดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
9. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การลดเงินเพิ่ม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การลดเงินเพิ่ม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้ กค. รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
 
 
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   เป็นการขยายระยะเวลาการกำหนดให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกซึ่งชำระอากรไม่ครบถ้วน โดยไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียอากรและได้นำอากรที่ยังชำระไม่ครบถ้วนมาชำระต่อกรมศุลกากร ให้ได้รับการลดเงินเพิ่มเหลือร้อยละ 0.25 ต่อเดือนของอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม นับแต่วันที่นำของออกไปจากอารักขาของศุลกากรหรือส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรจนถึงวันที่ชำระ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม  พ.ศ. 2565 (กฎกระทรวงเดิมได้สิ้นสุดแล้ว เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564) เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้แก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายและเสริมสร้างสภาพคล่องและความสามารถทางการค้าให้กับผู้ประกอบการ ตลอดจนเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแก่ประชาชนภายในประเทศ
 
10. เรื่อง  ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต และหนังสือรับรองการแจ้งตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต หนังสือรับรองการแจ้ง และการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ. 2559 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต และหนังสือรับรองการแจ้งตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต หนังสือรับรองการแจ้ง และการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ. 2559 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ
                   สาระสำคัญ
                   ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต และหนังสือรับรองการแจ้งตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต หนังสือรับรองการแจ้ง และการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ. 2559 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมนี้ ซึ่งปัจจุบันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต หนังสือรับรองการแจ้ง และการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ. 2559  ออกตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และได้ออกกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต และหนังสือรับรองการแจ้งตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต หนังสือรับรองการแจ้ง และการให้บริการ  ในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ. 2559 พ.ศ. 2563 มีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2564 แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส              โคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ยังไม่คลี่คลายและยังส่งผลกระทบกับผู้ประกอบกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถดำเนินการชำระค่าธรรมเนียม หรือชำระค่าธรรมเนียมรายปีได้เป็นเหตุสุดวิสัยที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) จึงเห็นเป็นการสมควรให้มีร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต และหนังสือรับรองการแจ้งตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต หนังสือรับรองการแจ้ง และการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ. 2559 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ขึ้น โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
                   ข้อ 1 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
                   ข้อ 2 ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตามข้อ 2 (2) (3) (4) และ (5) และหนังสือรับรองการแจ้งตามความในข้อ 3 ของกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต หนังสือรับรองการแจ้งและการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ. 2559 ต่อไปอีกหนึ่งปีนับตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 ถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2565
                   ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสาธารณสุขแล้ว และการออกร่างกฎกระทรวงดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องเป็นเงิน จำนวนประมาณ 16,837,761,600 บาท (หนึ่งหมื่นหกพันแปดร้อยสามสิบเจ็ดล้านเจ็ดแสนหกหมื่นหนึ่งพันหกร้อยบาทถ้วน) แต่อย่างไรก็ตาม การเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแต่ละพื้นที่ไม่เต็มเพดานขั้นสูงตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฯ ซึ่งแตกต่างกันตามบริบทของพื้นที่ และการเลิกประกอบกิจการของสถานประกอบกิจการ จึงคาดว่าราชการส่วนท้องถิ่นอาจสูญเสียรายได้เพียงร้อยละห้าสิบของจำนวนเงินที่ประมาณการ คิดเป็นจำนวนเงิน 8,418,880,800 บาท (แปดพันสี่ร้อยสิบแปดล้านแปดแสนแปดหมื่นแปดร้อยบาทถ้วน)
 
เศรษฐกิจ – สังคม
 
11. เรื่อง ขอความเห็นชอบการปรับหลักเกณฑ์การชดเชยผู้ได้รับผลกระทบด้านเสียง และการขยายกรอบวงเงินลงทุนโครงการก่อสร้างทางเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในส่วนของงบประมาณสำหรับดำเนินการชดเชยผลกระทบด้านเสียงเนื่องจากโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศสุวรรณภูมิ ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้
                   1. เห็นชอบการปรับหลักเกณฑ์การชดเชยผู้ได้รับผลกระทบด้านเสียงจากการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากเดิมที่ชดเชยเฉพาะอาคารที่ก่อสร้างก่อนปี 2549 เป็นชดเชยเฉพาะอาคารที่ก่อสร้างอยู่ก่อนจนถึงวันที่รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการ กิจการหรือการดำเนินการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง (Environment and Health Impact Assessment: EHIA) โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 และ 4 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) (20 กรกฎาคม 2563)
                   2. อนุมัติการขยายกรอบวงเงินลงทุนโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในส่วนของงบประมาณสำหรับดำเนินการชดเชยผลกระทบด้านเสียงเนื่องจากการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพิ่มขึ้น 6,254.941 ล้านบาท (รวมสำรองราคาเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 10 แต่ไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 7) ส่งผลให้โครงการก่อสร้างทางวิ่นเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีวงเงินลงทุนเพิ่มขึ้นจาก 21,795.941 ล้านบาท เป็น 28,050.882 ล้านบาท (รวมสำรองราคาเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 10 และภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 7)
 
12. เรื่อง รายงานผลการดำเนินการภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 2560 - 2564) ประจำปี 2563
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานผลการดำเนินการภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 2560 - 2564) ประจำปี 2563 ซึ่งประกอบด้วย 7 มาตรการหลัก 17 มาตรการย่อย และแผนงานสนับสนุน 65 แผนงาน โดยดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 29 แผนงาน อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 32 แผนงาน ล่าช้ากว่ากำหนด จำนวน 3 แผนงาน และไม่เป็นไปตามแผน จำนวน 1 แผนงาน [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (12 กันยายน 2560) ที่ให้คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย (คณะกรรมการฯ) รายงานผลการดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาดทุนฯ ให้คณะรัฐมนตรีทราบทุกปี] สรุปได้ ดังนี้
                   1. การเป็นแหล่งทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) วิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) และนวัตกรรม มุ่งเน้นการส่งเสริมให้ SMEs และ Startup เข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยการสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ ๆ ประกอบด้วย 4 แผนงาน มีสถานะการดำเนินการ ดังนี้
                             1.1 ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 2 แผนงาน ได้แก่ (1) การระดมทุนของกิจการจากบุคคลจำนวนมากด้วยการเสนอขายหลักทรัพย์ผ่านระบบคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) ด้วยระบบสินเชื่อออนไลน์ระหว่างบุคคลและ (2) การเตรียมการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการซื้อขายสำหรับนักลงทุนประเภทพิเศษ
                             1.2 อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 2 แผนงาน ได้แก่ (1) การจัดทำกลไกแบบจำลองคะแนนเครดิต (Credit Scoring) ให้แก่ SMEs โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ (22 ธันวาคม 2563) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร  และ (2) การสนับสนุนให้ SMEs และ Startup เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) อยู่ระหว่างหารือแนวทางการกำกับดูแลและการกำหนดประเภทผู้ลงทุนสำหรับแพลตฟอร์มการระดมทุนและการขายหลักทรัพย์
                   2. การเป็นแหล่งระดมทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ส่งเสริมให้การลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานสามารถเติบโตรองรับการลงทุนในระดับภูมิภาคได้และมุ่งเน้นให้มีการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค ประกอบด้วย 3 แผนงาน มีสถานะการดำเนินการ ดังนี้
                             2.1 ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 1 แผนงาน คือ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย
                             2.2 อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 1 แผนงาน คือ การแก้ไขกฎหมายให้หน่วยงานที่ยังไม่สามารถนำส่วนแบ่งรายได้จากทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานของตนมาเข้ากองทุนสามารถทำได้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติ (25 ธันวาคม 2561) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงและสะพาน พ.ศ. .... เพื่อรองรับการดำเนินการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทยของกรมทางหลวง (ทล.) ต่อมาในคราวประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 ที่ประชุมมีมติให้ ทล. รับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายดังกล่าว โดย ทล. อยู่ระหว่างรวบรวมข้อสังเกตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
                             2.3 ล่าช้ากว่ากำหนด จำนวน 1 แผนงาน คือ การพิจารณาหลักเกณฑ์ทางภาษีของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โดยกรมสรรพากรอยู่ระหว่างพิจารณาข้อเสนอจากสำนักงาน ก.ล.ต. และความเห็นจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
                   3. การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย มุ่งเน้นการส่งเสริมศักยภาพตลาดทุนไทย การส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม การปรับปรุงกฎระเบียบ การส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม การยกระดับมาตรฐานและความน่าเชื่อถือ และการสร้างบุคลากรในตลาดทุนประกอบด้วย 33 แผนงาน มีสถานะการดำเนินการ ดังนี้
                             3.1 ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 19 แผนงาน เช่น (1) การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ [พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2562] (2) การพัฒนาระบบการชำระเงินสำหรับตลาดทุน (3) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน และ (4) การส่งเสริมการแข่งขันและการเข้าถึงบริการทางการเงินด้วยเทคโนโลยี
                             3.2 อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 12 แผนงาน เช่น (1) การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่มีประเด็นเกี่ยวกับการควบคุมกิจการ เช่น (ร่าง) พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….  โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ (12 มีนาคม 2562) อนุมัติหลักการให้รวมร่างกฎหมายที่มีประเด็นเกี่ยวกับการควบรวมกิจการกับ (ร่าง) พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างกระทรวงพาณิชย์จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบจากกฎหมายเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป (2) การจัดให้มีกฎหมายเพื่อรองรับการจัดตั้งทรัสต์เพิ่มเติมจากทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ (9 มีนาคม 2564) เห็นชอบให้ กค. ถอน(ร่าง) พระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล พ.ศ. .... เพื่อนำไปศึกษาทบทวนตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) และ (3) การศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายการให้บริการกู้ยืมเงินโดยมีหลักทรัพย์วางเป็นหลักประกัน โดยในคราวประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ที่ประชุมมีมติไม่ขัดข้องในหลักการการอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถกู้ยืมเงินโดยมีหลักทรัพย์เป็นหลักประกันโดยไม่จำกัดเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์เท่านั้น และให้สอบถามความเห็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ กค. เกี่ยวกับการดูแลควบคุมความเสี่ยงและข้อจำกัดทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันสำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างนำความเห็นของ ธปท. และ กค. มาประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป
                             3.3 ล่าช้ากว่ากำหนด จำนวน 1 แผนงาน คือ การเตรียมความพร้อมรองรับการประเมินระบบการกำกับดูแลตลาดทุนไทยตามโครงการ Financial Sector Assessment Program (FSAP) โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษานโยบายเสถียรภาพระบบการเงิน
                             3.4 ไม่เป็นไปตามแผน จำนวน 1 แผนงาน คือ การเปิดให้บุคคลที่ไม่ใช่ผู้ออกหลักทรัพย์สามารถนำหลักทรัพย์อื่นมายื่นขอจดทะเบียนเพื่อทำการซื้อขายใน ตลท. ได้ อย่างไรก็ตาม สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ขอถอนเรื่องดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่าผู้ลงทุนสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้โดยตรงหรือลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านการลงทุนตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้แล้ว
                   4. การพัฒนาให้ตลาดทุนไทยเป็นจุดเชื่อมโยงของภูมิภาค มุ่งเน้นการส่งเสริมให้ประเทศไทย (ไทย) เป็นแหล่งระดมทุนและการลงทุนจากประเทศที่ต้องการลงทุนในภูมิภาคประกอบด้วย 7 แผนงาน มีสถานะการดำเนินการ ดังนี้
                             4.1 ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 2 แผนงาน ได้แก่ (1) การอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนต่างชาติที่ต้องการนำเงินไปลงทุนในราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและ (2) การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ไทยเป็นจุดเชื่อมโยงการให้บริการด้านการเงินของภูมิภาค
                             4.2 อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 5 แผนงาน เช่น (1) การอำนวยความสะดวกให้เกิดผลิตภัณฑ์เพื่อสนับสนุนให้ผู้ออกหลักทรัพย์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ สามารถระดมทุนผ่านตลาดทุนของไทย โดยสำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างเสนอหลักการการปรับปรุงหลักเกณฑ์การจดทะเบียนหลักทรัพย์ข้ามประเทศต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ (2) การสร้าง International Product Platform เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้ามตลาดและการลงทุนต่างประเทศที่ง่ายขึ้น โดย ตลท. ได้ดำเนินการร่วมกับธารณรัฐประชาชนจีน (ตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น) เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐสิงคโปร์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้ามตลาด ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างสำนักงาน ก.ล.ต. ปรับแก้หลักเกณฑ์
                   5. การมีแผนรองรับสังคมผู้สูงอายุ เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศ รวมทั้งสร้างศักยภาพในการขยายตัวของเศรษฐกิจผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการออมระยะยาวให้ครอบคลุมกำลังแรงงานทั้งประเทศอย่างทั่วถึงและสร้างความเพียงพอด้านรายได้เพื่อดำรงชีพหลังการเกษียณอายุ ตลอดจนพัฒนาทักษะทางการเงินของคนไทย ประกอบด้วย 8 แผนงาน มีสถานะการดำเนินการ ดังนี้
                             5.1 ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 2 แผนงาน ได้แก่ (1) การศึกษาเพื่อปรับปรุงพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเป็นแหล่งเงินออมสำคัญในการรองรับการเกษียณอายุ และ (2) การจัดให้มีกฎหมายเพื่อรองรับธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ
                             5.2 อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 5 แผนงาน เช่น (1) การจัดให้มีผู้ทำหน้าที่กำหนดนโยบายระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุทุกระบบของประเทศ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ (30 มีนาคม 2564) อนุมัติหลักการของ (ร่าง) พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ.คนบ.) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (2) การจัดให้มีระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ (30 มีนาคม 2564) อนุมัติหลักการของ (ร่าง) พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.บ. กบช.) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และ (3) การจัดตั้งระบบทะเบียนกลางด้านบำเหน็จบำนาญของประเทศ ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้เมื่อร่าง พ.ร.บ. คนบ. และร่าง พ.ร.บ. กบช. มีผลใช้บังคับ
                             5.3 ล่าช้ากว่ากำหนด จำนวน 1 แผนงาน คือ การพัฒนาทักษะทางการเงินของคนไทย ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำร่างแผนพัฒนาทักษะทางการเงินเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
                   6. การพัฒนาตลาดทุนดิจิทัล มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางที่จะเชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันและรองรับทุกกิจกรรมในตลาดทุนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ประกอบด้วย 3 แผนงาน มีสถานะการดำเนินการ ดังนี้
                             6.1 ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 1 แผน คือ การพัฒนาการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านเทคโนโลยี Blockchain
                             6.2 อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 2 แผนงาน ได้แก่ (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางในตลาดทุน โดยอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการทดสอบระบบในโครงการ Regulatory Sandbox นอกจากนี้ ตลท. และ ธปท. อยู่ระหว่างหารือแนวทางการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสำหรับตลาดทุนในส่วนของข้อมูลตลาดแรก (Primary Market) และ (2) การพัฒนากฎเกณฑ์รองรับการระดมทุนในรูปแบบดิจิทัล (Securities Token Offering: STO) โดยสำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างปรับปรุงหลักการเพื่อรองรับแนวโน้ม และพัฒนาการของเทคโนโลยีและการดำเนินการของต่างประเทศ
                   7. การส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืนทั้งระบบและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่สังคม รวมทั้งการส่งเสริมผู้ระดมทุนและกิจการให้ตระหนักถึงประโยชน์และความเสี่ยงจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล และมุ่งส่งเสริมพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน ประกอบด้วย 7 แผนงาน มีสถานะดำเนินการ ดังนี้
                             7.1 ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 2 แผนงาน ได้แก่ (1) การพัฒนาศูนย์รวมข้อมูลสำหรับหลักทรัพย์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ทั้งตราสารทุน ตราสารหนี้ และกองทุนรวม และ (2) การออกพันธบัตรสีเขียว พันธบัตรเพื่อสังคม และพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อม
                             7.2 อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 5 แผนงาน เช่น (1) การจัดทำแผนงาน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับตลาดทุนไทย โดยสำนักงาน ก.ล.ต. ได้เสนอกรอบการจัดทำแผนงานฯ ต่อคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของตลาดทุนไทย เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 โดยคณะทำงานฯ เห็นควรให้จัดทำโครงการนำร่อง จำนวน 1 เรื่อง และ (2) การพัฒนาและสนับสนุนเครื่องมือระดมทุนเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน (เป็นแผนงานต่อเนื่อง) เช่น กค. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร การเคหะแห่งชาติ และภาคเอกชน ได้เสนอขาย SDGs Bond ในปี 2563 มูลค่ารวม 8.64 หมื่นล้านบาท
 
13. เรื่อง สรุปมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ครั้งที่ 1/2564
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอสรุปมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาโครงการที่จะช่วยเหลือด้านยางพาราให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง รวมทั้งสถาบันเกษตร ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้ยางและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ราคายางพาราตกต่ำอันเนื่องมาจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติในเรื่องสำคัญต่าง ๆ สรุปได้ ดังนี้
เรื่องมติที่ประชุม
1. โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3· เห็นชอบหลักการโครงการฯ วงเงินรวมทั้งสิ้น 10,065.69 ล้านบาท
· มอบหมายให้ กษ. โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) หารือกับกระทรวงการคลัง (กค.) และสำนักงบประมาณ (สงป.) เกี่ยวกับงบประมาณในการดำเนินโครงการฯ ให้ชัดเจน ก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
· มอบหมายให้ กษ. (กยท.) แต่งตั้งคณะกรรมการ/คณะทำงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินโครงการฯ และจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
2. การขอรับเงินอุดหนุนและส่งเสริมสนับสนุนการปลูกแทนเพิ่มเติมโครงการควบคุมปริมาณการผลิต· เห็นชอบหลักการการขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการควบคุมปริมาณการผลิตจากปี 2558-2564 เป็นปี 2558-2566 โดยกำหนดเป้าหมายลดพื้นที่ปลูกยางพาราเพิ่มเติมอีกจำนวน 450,000 ไร่ วงเงินรวมทั้งสิ้น 7,200 ล้านบาท
· เห็นชอบหลักการการขอรับจัดสรรงบประมาณสำหรับพื้นที่ที่ได้ดำเนินการไปแล้วเพิ่มเติมภายใต้โครงการควบคุมปริมาณการผลิตระหว่างปี 2558-2563 จำนวน 911,751.90 ไร่ กรอบวงเงิน 14,588.03 ล้านบาท
· มอบหมายให้ กษ. (กยท.) หารือกับ สงป. เกี่ยวกับงบประมาณในการดำเนินการให้ชัดเจนก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) เพื่อรับซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนยาง และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง· เห็นชอบหลักการโครงการฯ วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 - ธันวาคม 2565 ระยะเวลาการชดเชยดอกเบี้ยตามโครงการฯ 1 ปี นับตั้งแต่ได้รับอนุมัติ แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2565 วงเงินชดเชยดอกเบี้ย 603.50 ล้านบาท
· มอบหมายให้ กษ. (กยท.) หารือกับ กค. และ สงป. เกี่ยวกับงบประมาณในการดำเนินโครงการฯ ให้ชัดเจนก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
· มอบหมายให้ กษ. (กยท.) แต่งตั้งคณะกรรมการ/คณะทำงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินโครงการฯ และจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
 
4. การทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 เกี่ยวกับการมอบหมายหน่วยงานขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อชดเชยดอกเบี้ยของผู้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาทเห็นชอบหลักการของการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดยมอบหมายให้ กยท. ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อจ่ายชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้เข้าร่วมโครงการฯ (เดิมธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร)
5. การปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์
 
· เห็นชอบการเพิ่มเติมหลักเณฑ์และเงื่อนไขโครงการฯ ได้แก่
(1) ชดเชยดอกเบี้ยสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อไม้ยาง และ/หรือชดเชยดอกเบี้ยสินเชื่อเกี่ยวกับการดำเนินกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการขยายกำลังการผลิต/ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต ณ ที่ตั้งเดิมหรือที่ตั้งใหม่เพื่อใช้ในการประกอบกิจการ และ (2) ผู้ประกอบการจะต้องมีสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน และ/หรือสินเชื่อที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์กับสถาบันการเงิน
· มอบหมายให้ กยท. หารือกับ กค. เกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ
6. การเพิ่มองค์ประกอบใน กนย.เห็นชอบให้เพิ่มนายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้เป็นกรรมการใน กนย.
7. โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางและโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563· รับทราบผลการระบายยางของโครงการฯ (จากการประสานข้อมูลเพิ่มเติมจาก กษ. เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ได้รับแจ้งว่าสต็อกยาง ณ เดือนกันยายน 2564 ของทั้ง 2 โครงการ มียางที่ทำสัญญารอส่งมอบรวมจำนวน 18,481.93 ตัน มูลค่า 1,236.70 ล้านบาท และได้ส่งมอบยางแก่ผู้ซื้อแล้วรวมจำนวน 104,763.35 ตัน มูลค่า 3,904 ล้านบาท)
· มอบหมายให้ กษ. (กยท.) รายงานคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป
 
14. เรื่อง การขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแนวทางการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 3 / 2564 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 และมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดำเนินการตามที่ กนช. เสนอ โดยให้ กนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   กนช. รายงานว่า ในการประชุม กนช. ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้นำเรื่องสำคัญเชิงนโยบายเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อมอบหมายหน่วยงานดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) และพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 จำนวน 4 เรื่อง ดังนี้
                   1. เรื่องมาตรการรับมือฤดูฝน 10 มาตรการ
                             1.1 กนช. รายงานว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2564 ทำให้พื้นที่จังหวัดสมุทรปราการเกิดน้ำท่วมขังบริเวณเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปู และมีการคาดการณ์เส้นทางเดินพายุหมุนเขตร้อน 2 ลูก ได้แก่ พายุไต้ฝุ่น “จันทู” บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ที่จะเคลื่อนเข้าใกล้เกาะไต้หวัน ในวันที่ 11 - 13 กันยายน 2564 และพายุโซนร้อน “โกนเซิน” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ที่จะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำลงสู่อ่าวตังเกี๋ยในช่วงวันที่ 12 - 13 กันยายน 2564 ซึ่งส่งผลทำให้มีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้มีการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยเดือนกันยายน - ธันวาคม 25641 รายละเอียด ดังนี้
เดือนพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย
กันยายน55 จังหวัด 347 อำเภอ 1,375 ตำบล
ตุลาคม58 จังหวัด 347 อำเภอ 1,492 ตำบล
พฤศจิกายน40 จังหวัด 202 อำเภอ 956 ตำบล
ธันวาคม12 จังหวัด 105 อำเภอ 540 ตำบล
 
                             1.2 กนช. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นจึงเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน โดยมีนโยบายที่ต้องเร่งดำเนินการ ดังนี้
การดำเนินการการมอบหมาย
มาตรการที่ 2 การบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลากให้กรมชลประทานประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ประชาชนรับทราบถึงการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก และปรับพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบรรลือและโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ออกจากพื้นที่รับน้ำหลาก เนื่องจากเป็นการรับน้ำผ่านคลองชลประทานเท่านั้น
มาตรการที่ 5 ปรับปรุง แก้ไข สิ่งกีดขวางทางน้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำ และเร่งให้ปรับปรุง เพื่อให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
มาตรการที่ 6 ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวาให้กรมโยธาธิการและผังเมืองประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งกำจัดผักตบชวาที่เริ่มมีมากขึ้นในแม่น้ำท่าจีน และอ่างเก็บน้ำห้วยกระบอก อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเตรียมการระบายน้ำ
มาตรการที่ 7 เตรียมความพร้อม/วางแผน เครื่องจักร เครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นเจ้าภาพหลักในการเตรียมพร้อม วางแผนเครื่องจักรเครื่องมือ ประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม โดยการบูรณาการจัดทำแผนปฏิบัติการการใช้เครื่องจักรเครื่องมือที่มีกระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ อยู่ทั่วประเทศ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมนำเครื่องมือลงในพื้นที่เสี่ยง และพื้นที่คาดว่าจะได้รับน้ำท่วมในเขตเศรษฐกิจ พร้อมทั้งรายงานให้คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดทราบต่อไปด้วย
มาตรการที่ 9 สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ทุกหน่วยงานสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์โดยสื่อสารให้ประชาชนได้รับรู้ รับทราบ เพื่อจะได้เตรียมตัวได้ทันต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น
อื่น ๆ1) ให้กรมชลประทานเร่งระบายน้ำในพื้นที่น้ำท่วม ไม่ให้เกิดการท่วมขังเป็นระยะเวลานาน เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ
2) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมการรองรับกรณีฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง และเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อรองรับน้ำหลากที่จะเกิดขึ้น พร้อมแจ้งให้คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดรับทราบ และต้องมีการซักซ้อมการเผชิญเหตุต่อไปด้วย
3) ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) วางแผนการระบายน้ำในเขตนิคมอุตสาหกรรม เช่น การขุดคลองระบายน้ำ เป็นต้น
                   2. เรื่องความก้าวหน้าแผนงบประมาณด้านทรัพยากรน้ำ
                             2.1 การใช้จ่ายงบประมาณงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
                                      2.1.1 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการบรรเทาผลกระทบภัยแล้งและป้องกันน้ำท่วม จำนวน 6 ครั้ง2 วงเงินงบประมาณรวม 23,264.30 ล้านบาท จำนวน 23,286 รายการมีหน่วยดำเนินการ 15 หน่วยงาน ดังนี้
หน่วย : รายการ
โครงการดำเนินการ
แล้วเสร็จ
ดำเนินการ
ยังไม่แล้วเสร็จ*
ยกเลิกรวม
1) โครงการด้านแหล่งน้ำ19,9241,1702,16323,257
2) โครงการจัดหาครุภัณฑ์226129
รวม23,286
* เช่น กระทรวงมหาดไทย จำนวน 1,016 รายการ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำนวน 102 รายการ กรมทรัพยากรน้ำ จำนวน 43 รายการ กรมชลประทาน จำนวน 11 รายการ กรมเจ้าท่า จำนวน 2 รายการ (เรือกำจัดผักตบชวา รถขุดตักบนโป๊ะ) กรมโยธาธิการและผังเมือง จำนวน 1 รายการ (เรือกำจัดผักตบชวา) และกรุงเทพมหานคร จำนวน 1 รายการ (เครื่องดูดตะกอน)
                                      ทั้งนี้ หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะได้ปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้น 702.71  ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำบาดาลเพิ่มขึ้น 47.32 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ครัวเรือนรับประโยชน์ 3.29 ล้านครัวเรือน มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 7.19 ล้านไร่ และสามารถกำจัดวัชพืชได้ 7.83 ล้านตัน
                                      2.1.2 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ  พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในฤดูฝนเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2564/2565 และการระบายน้ำในช่วงเดือนสิงหาคม - พฤศจิกายน 2564 จำนวน 2 ครั้ง ดังนี้
                                                (1) โครงการจัดซื้อครุภัณฑ์เครื่องจักรกลสำหรับรองรับการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 จำนวน 24 รายการ วงเงินงบประมาณ 426.47 ล้านบาท ดำเนินการโดยกรมชลประทาน ปัจจุบันได้รับจัดสรรงบประมาณแล้วทั้ง 24 รายการ
                                                (2) โครงการสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2563/64 คณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 จำนวน 2,854 รายการ วงเงินงบประมาณ 3,248.52 ล้านบาท ดำเนินการโดย 7 หน่วยงาน [กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมชลประทาน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หน่วยบัญชาการทหารพัฒนากรมทรัพยากรน้ำ] รายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
การจัดสรร
งบประมาณ
หน่วยงานรายการวงเงินงบประมาณ
(ล้านบาท)
ได้รับจัดสรร
งบประมาณแล้ว
1) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล2,1941,437.95
2) กรมชลประทาน441,183.31
3) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)2115.01
4) มท. (9 จังหวัด)291176.17
5) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น114129.04
รวม5 หน่วยงาน2,6453,041.48
ไม่ได้รับการจัดสรร
งบประมาณ*
1) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล10.09
2) มท.6226.50
3) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น125.78
รวม
 
3 หน่วยงาน7532.37
อยู่ระหว่าง
การพิจารณา
จัดสรรงบประมาณ**
1) หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา230.57
2) กรมทรัพยากรน้ำ448.36
3) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น8639.36
4) มท.4223.65
รวม4 หน่วยงาน134141.94
* หน่วยรับงบประมาณยังไม่ได้ส่งรายละเอียดรายการเพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณ (สงป.)
** หน่วยรับงบประมาณได้ส่งรายละเอียดรายการเพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณจาก สงป. แล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สงป.
                   ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ3 จะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 117,597 ไร่ ปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้น 29.18 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำบาดาลเพิ่มขึ้น 16.79 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และครัวเรือนได้รับประโยชน์ 145,511 ครัวเรือน
                             2.2 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 รายละเอียด ดังนี้
โครงการรายการวงเงิน
งบประมาณ
(ล้านบาท)
การเบิกจ่าย
(ล้านบาท)
คงเหลือ
ยังไม่เบิกจ่าย
(ล้านบาท)
เบิกจ่ายแล้วก่อหนี้ผูกพันรวม
แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
(17 หน่วยรับงบประมาณ)
3,82665,548.6841,229.91
(ร้อยละ 62.90)
15,068.19
(ร้อยละ 22.99)
56,298.11
(ร้อยละ 85.89)
9,250.57
(ร้อยละ 14.11)
                                      2.2.1 ความก้าวหน้าเบิกจ่ายและก่อหนี้ผูกพันของแต่ละหน่วยงานสรุปได้ ดังนี้
ผลการเบิกจ่าย
ลำดับร้อยละ
สูงสุด1) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)100
2) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล88
3) กรมป่าไม้97.58
ต่ำสุด1) กรมอุตุนิยมวิทยา7.48
2) องค์การจัดการน้ำเสีย23.40
3) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย31.98
                             2.3 กนช. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้แผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำสามารถบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน จึงให้หน่วยงานดำเนินการดังนี้
                                      2.3.1 ให้เร่งดำเนินโครงการที่ได้รับงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ  พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นให้แล้วเสร็จ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันสถานการณ์และเป็นไปตามเป้าหมาย
                                      2.3.2 ให้เร่งรัดการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ  พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นก่อนสิ้นปีงบประมาณ และรายงานให้ สทนช. ทราบ
                                      2.3.3 ให้เร่งรัดการเบิกจ่ายและก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้ครบทุกรายการ และรายงานให้ สทนช. เพื่อสรุปรายงานให้ กนช. และคณะรัฐมนตรีทราบตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มาตรา 17 (4)
                                      2.3.4 ให้ตรวจสอบ ปรับปรุงตัวชี้วัด ผลสัมฤทธิ์ของแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 2565 ให้ตรงกับข้อมูลที่รายงานต่อ สงป. และส่งข้อมูลให้ สทนช. เพื่อใช้กำกับ ติดตามต่อไป
                                      2.3.5 ให้รายงานแผนงานโครงการที่ได้รับงบประมาณจากแหล่งอื่น เช่น กองทุนต่าง ๆ และที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน เพื่อให้ตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ครอบคลุมตามเป้าหมายของแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580)
                                      2.3.6 เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีคณะกรรมการลุ่มน้ำชุดใหม่จึงเห็นควรให้ สทนช. ภาค 1 - 4 ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการลุ่มน้ำเป็นผู้พิจารณาการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำผ่านระบบ Thai Water Plan ในปี 2566 เพื่อให้สามารถเสนอ กนช. พิจารณาในเดือนธันวาคม 2564 ตามปฏิทินขั้นตอนการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ
                   3. เรื่องกรอบแนวทาง ปฏิทินการดำเนินงานจัดทำข้อมูลการถ่ายโอนภารกิจให้แก่ อปท.  ด้านแหล่งน้ำ
                             3.1 สืบเนื่องจากมติ กนช. ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 เห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบายการแก้ไขภารกิจที่ยังถ่ายโอนไม่แล้วเสร็จ ให้หน่วยงานที่ต้องถ่ายโอนภารกิจเร่งสำรวจจัดทำบัญชีสินทรัพย์ และจัดส่งให้สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. จำแนกเป็น (1) โครงการที่ยังถ่ายโอนไม่แล้วเสร็จ (ก่อนปี พ.ศ. 2551) และ (2) โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จแต่ไม่สามารถถ่ายโอนภารกิจและสินทรัพย์ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542                ได้หลังปี พ.ศ. 2551 โดยให้จัดทำบัญชีสินทรัพย์เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอต่อ กนช. พิจารณาก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป
                             3.2 กนช. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้การดำเนินงานจัดทำข้อมูลการถ่ายโอนภารกิจให้แก่ อปท. ด้านแหล่งน้ำ สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ จึงให้หน่วยงานดำเนินการตามกรอบแนวทางและปฏิทินการดำเนินงาน ดังนี้
                                       3.2.1 ให้เร่งสำรวจตรวจสอบทรัพย์สินที่ยังไม่ได้ถ่ายโอนภารกิจ และให้ อปท. สำรวจตรวจสอบทรัพย์สินที่รับโอนก่อนและหลังปี 2551 สถานภาพของข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน สถานภาพการใช้ประโยชน์ สถานะครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง (ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560)
                                      3.2.2 ให้จัดทำหลักเกณฑ์การจำหน่ายทรัพย์สินตามประเภทแหล่งน้ำ  (ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560)       
                                      3.2.3 ให้ปรับปรุงบัญชีข้อมูลแหล่งน้ำถ่ายโอนภารกิจให้เป็นปัจจุบัน โดยแยกประเภทและสภาพการใช้งานให้เป็นปัจจุบัน แยกบัญชีถ่ายโอนภารกิจ รับโอนภารกิจ ก่อนและหลัง ปี 2551
                                      3.2.4 ให้ดำเนินการตามแผนการดำเนินการ (Road Map) การจัดทำข้อมูลถ่ายโอนภารกิจ ด้านแหล่งน้ำ ของหน่วยงานและ อปท. ดังนี้
เดือนรายการ
กันยายน - พฤศจิกายน 2564หน่วยงานจัดทำหลักเกณฑ์การจำหน่ายทรัพย์สินถ่ายโอนภารกิจตามประเภทแหล่งน้ำ
ธันวาคม 2564 -
พฤษภาคม 2565
หน่วยงานและ อปท. สำรวจตรวจสอบทรัพย์สินที่รับโอนภารกิจแล้วและยังไม่ถ่ายโอนภารกิจ ก่อนและหลังปี 2551 สถานภาพของข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยแยกบัญชีทรัพย์สินถ่ายโอนภารกิจ
มิถุนายน - กรกฎาคม 2565หน่วยงานและ อปท. ดำเนินการปรับปรุงบัญชีข้อมูลแหล่งน้ำถ่ายโอนภารกิจให้เป็นปัจจุบัน เพื่อรายงาน กนช. และคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.)
สิงหาคม - กันยายน 2565หน่วยงานและ อปท. จัดทำแผนปฏิบัติการแหล่งน้ำถ่ายโอนภารกิจ แผนปฏิบัติการปรับปรุงแหล่งน้ำ ก่อนและหลังปี 2551 เสนอคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดและคณะกรรมการลุ่มน้ำ ก่อนเสนอ กนช. เพื่อเห็นชอบแผนปฏิบัติการ และจัดทำแผนปฏิบัติการ 5 ปี (ด้านแหล่งน้ำ) ของ อปท. เสนอคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด คณะกรรมการลุ่มน้ำ กนช. และ กกถ. เพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณ
                   4. เรื่องแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็ม น้ำท่วมและน้ำแล้งในลุ่มน้ำติดอ่าวไทย ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
                             4.1 กนช. แจ้งว่า ได้กำหนดหลักการแก้ไขปัญหา โดยการลดความต้องการใช้น้ำ (Demand) ในปัจจุบันให้สอดคล้องกับน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ควบคู่กับการพัฒนาน้ำต้นทุน (Supply) เพิ่มให้เต็มศักยภาพ รวมถึงสร้างกลไกในการบริหารจัดการน้ำ (Management) ซึ่งมีแผนการดำเนินการในระยะเร่งด่วน ปี 2565 - 2566 ดังนี้
แผนดำเนินการหน่วยงานดำเนินการ
ด้านอุปสงค์ (Demand)
1) การปรับเปลี่ยนระบบการปลูกพืชเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคเกษตรดำเนินการโดย มท. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)   (กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) (กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล) และ สทนช.
2) ขยายผลส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมตามหลัก 3R [Reduce (การลดปริมาณการใช้) Reuse (การใช้ซ้ำ) และ Recycle (การแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่)]ดำเนินการโดย กนอ. กรมโรงงานอุตสาหกรรมและองค์การจัดการน้ำเสีย
3) ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำและแผนจัดสรรน้ำดำเนินการโดย สทนช. มท. กษ. และ ทส.
4) เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ และควบคุมค่าความเค็ม การปนเปื้อนในแม่น้ำสายหลักดำเนินการโดยกรมชลประทาน กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) มท.              (การประปาส่วนภูมิภาคและการประปานครหลวง) และ สทนช.
ด้านอุปทาน (Supply)
1) จัดหาแหล่งน้ำสำรองและขยายกำลังการผลิตน้ำประปา 1.8 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ปรับปรุงคลองประปาฝั่งตะวันตกและตะวันออกดำเนินการโดยการประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค
2) ลดอัตราน้ำสูญเสียในระบบภาคอุปโภคบริโภค 89.43 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี (ร้อยละ 2.9) และระบบอุตสาหกรรม 1.11 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี (ร้อยละ 0.45)ดำเนินการโดยการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค กรมโรงงานอุตสาหกรรม และ กนอ.
3) เพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสีย 92,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวันดำเนินการโดยกรุงเทพมหานคร องค์การจัดการน้ำเสีย และ อปท.
4) การพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนทั้งผิวดินและน้ำบาดาลในลุ่มน้ำสายหลัก 39 ล้านลูกบาศก์เมตรดำเนินการโดยกรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และ มท. (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและ อปท.)
5) การขุดลอกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำเชื่อมโยงแหล่งน้ำในการไล่น้ำเค็มดำเนินการโดยกรมชลประทาน กรมเจ้าท่า และ อปท.
ด้านบริหารจัดการ (Management)
1) ศึกษาการบริหารจัดการอาคารบังคับน้ำหรือประตูระบายน้ำในลำน้ำสายหลักให้สอดคล้องกับระดับน้ำขึ้น - น้ำลงของน้ำทะเล-
2) การขึ้นทะเบียนองค์กรผู้ใช้น้ำและกำหนดโควตาการใช้น้ำดำเนินการโดย สทนช. มท. กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
3) ติดตั้งสถานีตรวจวัดในทะเลและในแม่น้ำ เพิ่มเติมดำเนินการโดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
4) การศึกษา วิจัยประเด็นช่องว่าง เทคโนโลยี นวัตกรรม และแนวทางการบริหารจัดการน้ำ-
5) บูรณาการฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและพัฒนาระบบคาดการณ์ล่วงหน้าระยะยาวดำเนินการโดย สทนช. กรมอุตุนิยมวิทยา กรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และสถาบันการศึกษา
6) พัฒนาความร่วมมือกับต่างประเทศในการวางแผนการแก้ไขปัญหา-
                             4.2 กนช. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด จึงให้หน่วยงานดำเนินการ ดังนี้
                                      4.2.1 ให้ดำเนินการตามผลการศึกษา โดยเฉพาะการขับเคลื่อนแผนงานเร่งด่วน พร้อมกับเสนอแผนขอรับการสนับสนุนงบประมาณ และให้ สทนช. ติดตามผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผน
                                      4.2.2 ให้คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดและคณะกรรมการลุ่มน้ำใช้แนวทางมาตรการดังกล่าวเป็นกรอบในการจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการลุ่มน้ำ และให้ สทนช. นำไปเป็นองค์ประกอบในการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำ การใช้ประโยชน์ที่ดิน และเส้นทางน้ำที่เหมาะสมในผังน้ำต่อไป
                                      4.2.3 ประเด็นช่องว่างแนวทางการดำเนินงานที่ต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม มอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบ ดังนี้
                                                (1) กลุ่มงานวิจัย เช่น การไหลเวียนของน้ำทะเลในอ่าวไทย น้ำขึ้นน้ำลง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ปรับปรุงพันธุ์พืชให้ทนต่อน้ำเค็ม เห็นควรเสนอให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์               วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสถาบันการศึกษาเป็นหน่วยงานหลักดำเนินการ
                                                (2) กลุ่มงานศึกษานโยบายภาพรวม เช่น ข้อมูลการใช้น้ำแผนยุทธศาสตร์ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง การวางแผนควบคุมน้ำเค็ม ให้ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการ              เพื่อเป็นกรอบนโยบายการพัฒนา และแก้ไขปัญหาในภาพรวมแล้วจึงให้หน่วยงานปฏิบัติรับไปดำเนินการตามภารกิจต่อไป
                                                (3) กลุ่มงานศึกษาปฏิบัติ เช่น การศึกษาความเหมาะสมของประตูปิดปากแม่น้ำ (เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมส่งเสริมการเกษตร การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค กรมโรงงานอุตสาหกรรม กนอ. กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับไปดำเนินการตามภารกิจให้สอดคล้องกับกรอบนโยบายการพัฒนา และแก้ไขปัญหาในภาพรวม
                                      4.2.4 เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเกิดความสมดุล ให้ทุกหน่วยงานกำหนดเป้าหมายเชิงปริมาณ ความต้องการ มาตรการด้านอุปสงค์ (Demand) ความต้องการใช้น้ำระยะเร่งด่วนถึงระยะยาว ให้สอดคล้องกับเป้าหมายมาตรการด้านอุปทาน (Supply) ด้านการใช้น้ำ
                                      4.2.5 การดำเนินงานศึกษาและการเสนอแผนในพื้นที่ต้องเน้นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนตามประกาศคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำนโยบายและแผนแม่บทเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2564
_____________________
1รายละเอียดพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยตามแผนที่การคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนทั่วประเทศตั้งแต่เดือนกันยายน - ธันวาคม 2564
2สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพบว่า ข้อมูลของ กนช. ดังกล่าวน่าจะมีความคลาดเคลื่อนเนื่องจากที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการบรรเทาผลกระทบภัยแล้งและป้องกันน้ำท่วมเพียง 5 ครั้ง ส่วนที่เหลือ กนช. ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เป็นการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 24.53 ล้านบาท โดยนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 เพื่อสร้างธนาคารน้ำใต้ดิน ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อดำเนินโครงการบรรเทาผลกระทบภัยแล้งและป้องกันน้ำท่วม จำนวน 5 ครั้ง
รวมทั้งรายการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณแล้ว ไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ และอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ

15. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุม ครั้งที่ 37/2564
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) ในคราวประชุมครั้งที่ 37/2564 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนดกู้เงินฯ) ดังนี้
ลำดับหน่วยงานเจ้าของโครงการโครงการการเปลี่ยนแปลงรายละเอียด
ที่เป็นสาระสำคัญของโครงการ
1.1สำนักงาน
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
(สป.วธ.)
โครงการกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย (Community Cultural Product of Thailand) (CCPOT) สู่สากล (โครงการ CCPOT)ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการฯ จากเดิมสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2564  เป็นสิ้นสุด เดือนมีนาคม 2565
 
1.2สำนักงานปลัดกระทรวง
การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
(สป.อว.)
โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล
1 มหาวิทยาลัย) (โครงการ 1 ตำบล
1 มหาวิทยาลัย)
ปรับเพิ่มกรอบวงเงินในกิจกรรมการพัฒนา Platform การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเป็น Community Big Data  จากเดิม 10 ล้านบาท เป็น 20 ล้านบาท
 
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   คกง. รายงานว่า ที่ประชุม คกง. ในคราวประชุมครั้งที่ 37/2564 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 มีมติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการ ดังนี้
                   1. โครงการ CCPOT ของ สป.วธ.
                             1.1 สป.วธ. ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการ CCPOT โดยพบปัญหา/อุปสรรคในการดำเนินงานในกิจกรรม ดังต่อไปนี้
กิจกรรมปัญหา/อุปสรรคในการดำเนินงาน
กิจกรรมที่ 1 การศึกษา พัฒนา และส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนการจ้างที่ปรึกษาเกิดความล่าช้าเนื่องจากมีการยื่นอุทธรณ์ในขั้นตอนการประกวดราคา จึงต้องมีการเริ่มกระบวนการใหม่และได้ผู้ชนะการเสนอราคา เมื่อเดือนกันยายน 2564 และได้ลงนามในสัญญาในเดือนตุลาคม 2564 โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มีนาคม 2565)
กิจกรรมที่ 2 การจัดงานแสดง และจำหน่ายสินค้าวัฒนธรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศการจ้างที่ปรึกษาได้ผู้ชนะการเสนอราคาและลงนามในสัญญาแล้ว เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ทั้งนี้ ได้มีการส่งมอบงานงวดที่ 1 แล้ว แต่การส่งมอบงานงวดที่ 2 (งวดสุดท้าย) คือ การจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้ายังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากต้องดำเนินกิจกรรมที่ 1 ให้แล้วเสร็จก่อน
 
                             1.2 มติ คกง.
                        เห็นควรให้ความเห็นชอบให้ สป.วธ. เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการ CCPOT โดยให้ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการ จากเดิมสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2564 เป็นสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2565 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้เห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว ทั้งนี้ เห็นควรให้ สป.วธ. เร่งดำเนินโครงการ CCPOT ให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามผลการพิจารณาของ คกง. แล้ว ให้ สป.วธ. เร่งดำเนินการแก้ไขข้อมูลโครงการในระบบ eMENSCR โดยเร็ว
                   2. โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ของ อว.
                             2.1 อว. ได้พิจารณาผลการดำเนินงานและผลการเบิกจ่ายงบประมาณของโครงการ               1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – สิงหาคม 2564 (รวม 7 เดือน) พบว่า มีกิจกรรมที่จำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมจากกรอบที่ได้รับอนุมัติไว้ ได้แก่ กิจกรรม การพัฒนา Platform การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล โดย ณ ปัจจุบันได้ดำเนินการออกแบบและพัฒนากระบวนการบริหารจัดการข้อมูล Community Big Data เรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากขั้นตอนการทดสอบระบบจัดเก็บ รวบรวม และวิเคราะห์ผลการติดตามการใช้ระบบมีขอบเขตการดำเนินการที่ขยายจากเดิม ประกอบกับต้องจัดทำ Platform รองรับการดำเนินงานพัฒนาในระยะต่อไปให้ครอบคลุมทั้งประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมในการดำเนินการดังกล่าว โดย อว. พิจารณาแล้วเห็นว่า สามารถนำเงินเหลือจ่ายจากกิจกรรมอื่นมาใช้ได้ เนื่องจากกิจกรรมการจัดประชุมได้ปรับรูปแบบเป็นการจัดประชุมออนไลน์แทนและกิจกรรมการติดตามผลการดำเนินงานไม่สามารถลงพื้นที่เพื่อติดตามประเมินผลโครงการได้จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายจากกิจกรรมดังกล่าวลดลง ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงวงเงินในแต่ละกิจกรรมจะไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตและผลลัพธ์ของโครงการตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และไม่มีผลกระทบต่อกรอบวงเงินโครงการ
                             2.2 มติ คกง.
                                  เห็นควรให้ความเห็นชอบให้ อว. เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย โดยปรับเพิ่มกรอบวงเงินในกิจกรรมการพัฒนา Platform การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเป็น Community Big Data จากเดิม 10 ล้านบาท เป็น 20 ล้านบาท ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้เห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว และเห็นควรให้ อว. เร่งดำเนินโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามผลการพิจารณาของ คกง. แล้ว ให้ อว. เร่งดำเนินการแก้ไขข้อมูลโครงการในระบบ eMENSCR โดยเร็ว
 
16. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายการบริหารจัดการธุรกิจสายการบิน ธุรกิจสนับสนุน และบุคลากรการบิน ช่วงวิกฤต COVID-19 ของคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายการบริหารจัดการธุรกิจสายการบิน ธุรกิจสนับสนุน และบุคลากรการบินช่วงวิกฤติ COVID-19 ของคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
                   เรื่องเดิม
                   1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (สว.) ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายการบริหารจัดการธุรกิจสายการบิน ธุรกิจสนับสนุน และบุคลากรการบินช่วงวิกฤติ COVID-19 มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการการคมนาคมมีข้อเสนอแนะแบ่งออกเป็น 3 โครงการย่อย ได้แก่ โครงการย่อยที่ 1 การบริหารจัดการธุรกิจสายการบินช่วงวิกฤติ COVID-19 เกี่ยวกับการทบทวนกฎระเบียบที่เป็นข้อจำกัดในการประกอบธุรกิจสายการบิน โครงการย่อยที่ 2 การเตรียมความพร้อมบุคลากรการบินเชิงบูรณาการ มีข้อเสนอด้านนโยบายในระยะเร่งด่วน เช่น ควรกำหนดแนวทางผ่อนผันกฎระเบียบบางอย่างเพื่อช่วยเหลือบุคลากรการบิน และระยะสั้น เช่น  การออกใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่และปรับปรุงกระบวนการกำกับดูแล และโครงการย่อยที่ 3 โอกาสการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานและอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน เกี่ยวกับการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุง และผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศให้ได้มาตรฐานระดับสากล รวมทั้งส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนอากาศยานที่ผลิตในประเทศ
                   2. รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ คค. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าว  ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผล                  การพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน  30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
 
                   ข้อเท็จจริง
                   คค. รายงานว่า ได้ร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อ 2 ซึ่งเห็นชอบกับข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยสรุปผลการพิจารณาได้ดังนี้
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯผลการพิจารณา
1. โครงการย่อยที่ 1 การบริหารจัดการธุรกิจสายการบิน ช่วงวิกฤติ COVID-19
1.1 การทบทวนกฎระเบียบที่เป็นข้อจำกัดในการประกอบธุรกิจสายการบินสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้มี      การทบทวนกฎ ระเบียบต่าง ๆ เช่น ข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ 97 ว่าด้วยการอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนประเภทขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์ และประเภทการทำงานทางอากาศ ซึ่งจะได้นำข้อเสนอแนะดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาต่อไป
1.2 มาตรการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบอย่าง                        ทันการณ์ ควรขับเคลื่อนนโยบายให้ความช่วยเหลือธุรกิจสายการบินที่สอดคล้องกับความต้องการของสายการบิน โดยเร่งผลักดันสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน (Soft Loan) เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงิรในขณะที่รอการฟื้นตัว ทบทวนการขยายเวลาปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ต่อไปอีก 6 เดือน รวมทั้งควรสนับสนุนสิทธิประโยชน์แก่สายการบิน เพื่อให้สายการบินมีต้นทุนต่ำลง และสามารถแข่งขันกับสายการบินต่างชาติได้กค. ได้สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน (Soft Loan) เพื่อสนับสนุนสายการบินในขณะรอการฟื้นตัว และได้ดำเนินการขยายเวลาลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น ในอัตรา 20 สตางค์ต่อลิตรต่อไปอีก 6 เดือน จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 64
กรมท่าอากาศยาน
   - ได้ลดค่าบริการในการในการขึ้นลงของอากาศยานแก่สายการบินในเชิงพาณิชย์ในอัตราร้อยละ 50 และลดค่าบริการที่เก็บอากาศยานแก่สายการบินเฉพาะผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการการบิน พลเรือนประเภทการขนส่งเพื่อการพาณิชย์ในอัตราร้อยละ 50 เพื่อบรรเทาผลกระทบเบื้อต้น
   - ได้ขยายเวลาปรับลดอัตราค่าเช่าให้แก่ผู้ประกอบการเช่าพื้นที่ ทั้งภายในและภายนอกอาคารเป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 64 - 30 ก.ย. 64
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีมาตรการช่วยเหลือ ดังนี้
   1. ปรับลดค่าบริการในการขึ้นลงอากาศยานและค่าบริการที่เก็บอากาศยานลงอัตราร้อยละ 50 สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศ
   2. ยกเว้นการจัดเก็บค่าบริการที่เก็บอากาศยานให้แก่สายการบินที่หยุดให้บริการชั่วคราว
   3. กรณีเที่ยวบินเช่าเหมาลำให้มีสิทธิเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว
รง. (กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน) ได้กำหนดแนวทางในการเฝ้าระวังการเลิกจ้าง โดยใช้มาตรการด้านแรงงานสัมพันธ์ โดยนายจ้างและลูกจ้างจะปรึกษาหารือร่วมกันก่อนหยุดกิจการตาม ม. 75 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 41 หากจำเป็นต้องเลิกจ้างให้นำมาตรการการลดค่าใช้จ่ายมาตรการปรับปรุงการบริหารงานบุคคลให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยการเลิกจ้างขอให้เป็นทางเลือกสุดท้าย
1.3 ควรกำหนดแนวทางการปรับตัวและเสริมศักยภาพของสายการบิน นอกเหนือจากต้องดำเนินธุรกิจฝ่าวิกฤติให้อยู่รอดแล้ว รวมทั้งต้องปรับทิศทางเสริมศักยภาพธุรกิจตามวิถีความปกติใหม่ (New Normal) เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือเศรษฐกิจฟื้นตัวกพท. ได้ปรับระบบการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับมาตรฐานสุขอนามัยในระดับสากลเพื่อให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 และได้เตรียมความพร้อมรองรับการให้บริการเมื่อเกิดการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินต่อไป
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริการจัดการท่าอากาศยาน ทั้งนี้ เพื่อให้ท่าอากาศยานและสายการบินสามารถรักษาขีดความสามารถในการให้บริการ และได้เตรียมการรองรับการกลับมาดำเนินงานของธุรกิจต่อไปในอนาคต
2. โครงการย่อยที่ 2 การเตรียมความพร้อมบุคลากรการบินเชิงบูรณาการ
2.1 ข้อเสนอระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย
          (1) กพท. ควรกำหนดแนวทางผ่อนผันกฎระเบียบบางอย่าง เพื่อช่วยเหลือบุคลากรการบิน
กพท. ได้ออกประกาศ เรื่อง การยกเว้นมาตรการหรือการดำเนินการเพื่อกำกับดูแลผู้มีใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ในสถานการณ์ที่มีโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ฉบับที่ 6 เพื่อกำกับดูแลผู้ถือใบอนุญาตให้เหมาะสมกับสถานการณ์
          (2) กพท. ควรมีมาตรการผลักดันเพื่อช่วยรักษาประสบการณ์ของบุคลากรการบินที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่กพท. ได้มีมาตรการผ่อนผันให้นักบินที่มีประสบการณ์การบินให้ใช้เครื่องฝึกบินจำลองทุก 90 วัน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐาน ICAO และนักบินต้องเข้ารับการตรวจสอบ Pilot Proficiency Check ทุก 6 เดือน รวมทั้งได้จัดทำร่างประกาศ/ร่างระเบียบ กำหนดมาตรฐานการตรวจร่างกายนักบินที่ได้รับการรักษาจนหายจากการติดเชื้อ COVID-19 เพื่อให้มีความมั่นใจและพร้อมปฏิบัติหน้าที่
สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ได้มีการเปิดสอนหลักสูตรการฝึกอบรมทบทวน เพื่อรักษามาตรฐานและประสิทธิภาพของบุคลากรการบิน
          (3) ภาครัฐควรเร่งรัดการออกมาตรการช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรของผู้ประกอบการในธุรกิจการบินสถาบันเวชศาสตร์การบินกองทัพอากาศ ได้ปรับลดค่าตรวจสุขภาพของนักบินและพนังานต้อนรับ
รง. (สำนักงานประกันสังคม) ได้ดำเนินการลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนแล้ว
            (4) ส่งเสริมการพัฒนาทักษะด้านอื่นให้แก่บุคลากรการบิน เพื่อเปิดโอกาสในการทำงานให้มากขึ้น รวมถึงการจัดฝึกอบรมอาชีพเสริมความต้องการในระหว่างรอการจ้างงาน โดยอาจมีกระบวนการจัดสรรบุคลากรให้ไปประกอบอาชีพด้านอื่นเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ ตลอดจนนำความรู้ความสามารถของบุคลากรสร้างศักยภาพแก่ภาคส่วนอื่นได้กพท. ได้มีการส่งเสริมให้เกิดอาชีพใหม่ในอุตสาหกรรมการบิน เพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนาบุคลากรของ กห. หน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติและบุคคลทั่วไป รวมทั้งเพื่อรองรับการขยายตัวของการใช้งานระบบอากาศยานไร้คนขับภายในประเทศที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
รง. ได้ดำเนินการส่งเสริมการพัฒนาทักษะด้านอื่นให้แก่บุคลากรการบิน และจัดฝึกอบรมอาชีพเสริมตามความต้องการในระหว่างรอการจ้างงาน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ
2.2 ข้อเสนอระยะสั้น ประกอบด้วย
            (1) กพท. ควรเข้มงวดในการออกใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่และปรับปรุงกระบวนการกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สอดคล้องกับเกณฑ์การตรวจสอบมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดการยอมรับมาตรฐานของบุคลากรระดับนานาชาติ
กพท. ได้มีการกำกับดูแลการออกใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ให้เป็นไปตามมาตรฐานของ ICAO แล้ว และประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการ ARISE Plus Civil Aviation Project เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงและความร่วมมือระดับภาคในการคมนาคมขนส่งในอาเซียน โดยมีเป้าหมายในการปรับปรุงกฎระเบียบ สร้างกลไกในการอำนวยความสะดวก เสริมสร้างขีดความสามารถในการจัดการจราจรทางอากาศรวมถึงสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรป
          (2) ควรมีการจัดตั้งสภาวิชาชีพด้านการบิน โดยเป็นหน่วยงานศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลสำรวจความต้องการแรงงานในธุรกิจการบินทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติกพท. และ สบพ. เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการ
          (3) ควรมีหน่วยงานเพื่อติดตามการวางแผนพัฒนาบุคลากรการบินของประเทศอย่างต่อเนื่อง ให้สามารถตอบสนองความเปลี่ยนแปลงได้ทันเวลา สำหรับหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการบินควรมีการประสานงานระหว่าง ศธ. อว. คค. และผู้ประกอบการในธุรกิจการบินเพื่อให้หลักสูตรตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานกพท. ได้มีการประสานงานกับ ศธ. เพื่อพัฒนาหลักสูตร
นายช่างภาคพื้นดินและสถาบันฝึกอบรมในช่างภาคพื้นดิน เพื่อให้ได้มาตรฐานและได้รับการรับรองที่ถูกต้องตามกฎหมาย
สบพ. ได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนระดับ ปวส. ในสาขาวิชาช่างอากาศยานหรือสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบิน และได้พัฒนาหลักสูตร Remotely Piloted Aircraft Controller and Launcher Training Course ร่วมกับ บริษัท โดรนอาคาเดมิค (ไทยแลนด์) เพื่อมุ่งเน้นการผลิตและพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ทางด้านอากาศยานไร้คนขับหรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
          (4) ส่งเสริมให้เกิดอาชีพใหม่ในอุตสาหกรรมการบิน เช่น นักบินอากาศยานไร้คนขับ รวมถึงส่งเสริมการใช้อากาศยานขนาดเล็กในการทำกิจกรรมด้านต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยว การแพทย์ เพื่อเพิ่มอัตราจ้างงานบุคลาการในประเทศกพท. ได้มีการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมการบิน เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้งานอากาศยานไร้คนขับจำนวนมาก เช่น การเกษตร การสำรวจ การป้องกันสาธารณภัย   เป็นต้น จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงมาตรฐานด้านความปลอดภัยเป็นสำคัญ ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการทบทวนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
3. โครงการย่อยที่ 3 โอกาสการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานและอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน
          3.1 ข้อเสนอแนะด้านนโยบาย ประกอบด้วย
          (1) ควรพิจารณาปรับแผนยุทธศาสตร์ รวมถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานและอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
กพท. ได้จัดทำแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนและการซ่อมบำรุงอากาศยานในประเทศไทย โดยร่วมกับ สกท. ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
กค. จะส่งเสริมการลงทุนจาก สกท. ในประเภทกิจการผลิตหรือซ่อมอากาศยานหรืออุปกรณ์เกี่ยวกับยานอวกาศ โดยให้ได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรของนำเข้าเพื่อวิจัย ยกเว้นอากรวัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออกและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาษี
          (2) กำหนดนโยบายหรือมาตรการให้สิทธิพิเศษในการจัดซื้อจัดจ้างกค. จะได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการกำหนดนโยบายหรือมาตรการสิทธิพิเศษในการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานและอุตสาหรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยานของไทย
          (3) ภาครัฐควรมีนโยบายตั้งหน่วยงานหรือองค์กรที่เป็นศูนย์รวมการวิจัยและการพัฒนาทางด้านอากาศยานเป็นศูนย์ทดสอบและรับรองมาตรฐานสากลทางด้านอากาศยานที่มีความจำเป็นกพท. ปัจจุบันมีโครงการความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อทำการวิจัยและพัฒนาอากาศยาน และเห็นว่าการจัดตั้งหน่วยงานหรือองค์กรที่เป็นศูนย์รวมการวิจัยและการพัฒนาทางด้านอากาศยานนั้น จำเป็นต้องพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน เนื่องจาก กพท. มีหน้าที่กำกับดูแลการออกแบบ ผลิต และซ่อม ในขณะที่หน่วยงานดังกล่าวมีหน้าที่ให้บริการหรือสนับสนุนกิจการการออกแบบ ผลิตและซ่อม หากมีการจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าวขึ้น ดังนั้น การจะเป็นทั้งผู้ตรวจสอบและผู้ให้บริการ อาจก่อให้เกิดการขัดกันของผลประโยชน์ได้
อก. มีสถาบันเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตอากาศยานหลายหน่วยงาน เช่น สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสถาบันไทย-เยอรมัน เป็นต้น ซึ่งสามารถเป็นเครือข่ายกับองค์กรพัฒนาด้านอากาศยานที่จะจัดตั้งขึ้นนี้ได้
3.2 ด้านกฎหมายและกฎระเบียบ 
          (1) ปรับปรุงข้อบังคับของ คกก. การบินพลเรือน ฉบับที่ 97 ว่าด้วยการอนุญาตประกอบกิจการพลเรือน ประเภทการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์และประเภทการทำงานทางอากาศ เรื่องเงื่อนไขอายุของอากาศยานสำหรับการรับขนคนโดยสารและสินค้าให้สามารถจดทะเบียนอากาศยานที่มีอายุเกิน 16 ปี และเงื่อนไขของอายุอากาศยานสำหรับการรับขนเฉพาะสินค้าให้สามารถจดทะเบียนอากาศยานที่มีอายุเกิน 22 ปี ได้
กพท. ได้มีการปรับปรุงข้อบังคับของ คกก. การบินพลเรือน เป็นฉบับที่ 98 แล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ เจตนารมณ์ แนวทางปฏิบัติเชิงนโยบายของ คค. ที่มุ่งเน้นในด้านความปลอดภัยของอากาศยานที่ผู้ได้รับอนุญาตจะนำมาใช้ในการประกอบกิจการการบินพลเรือน
          (2) เพิ่มระยะเวลาการให้สิทธิยกเว้นภาษีนำเข้าและภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 8 ปี เป็น                15 ปี เทียบเท่ากับบางประเทศในภูมิภาคอาเซียนกค. เห็นว่า
   1. ผู้ประกอบการสามารถขอจัดตั้งเขตปลอดอากรของตนเอง หรือขอประกอบกิจการในเขตปลอดอากรในประเภทที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร
   2. ผู้ประกอบการสามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่าน พ.ร.บ. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 60 และ พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 61 โดยจะได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคลไม่เกิน 15 ปี และยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักร
          (3) แก้ไขการจัดเก็บอากรกลุ่มอุปกรณ์และเครื่องมือราคาสูงที่มีความจำเป็นในการซ่อมอากาศยานตามคู่มือที่ผู้ผลิตอากาศยานแนะนำให้ใช้ประกอบกับวัสดุเพื่อซ่อมอากาศยาน โดยดำเนินการตาม ม. 12 แห่ง พ.ร.ก. พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 30 ให้ รมว. กค. ออกประกาศเพื่อยกเว้นหรือลดหย่อนอากรกำหนดให้ของที่ได้รับยกเว้นอากรครอบคลุมไปถึงพวกอุปกรณ์หรือเครื่องมือดังกล่าวด้วย
          (4) สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการนำเข้าวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมการบิน
กค. เห็นว่า
   1. กรมศุลกากรจะได้มีการศึกษาผลกระทบที่อาจมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในวงกว้างและการจัดเก็บรายได้ของรัฐโดยตรงต่อไป
   2. โดยที่เครื่องมือทั่วไป (Generic Tools) เครื่องมือพิเศษ (Special Tools) ที่ใช้ในการซ่อมบำรุงอากาศยานนั้น ไม่ได้มีการระบุไว้ในแบบพิมพ์เขียว (Drawing) จึงไม่ได้รับยกเว้นอากร และได้แจ้งให้กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรมการบินรวบรวมรายการบัญชีของดังกล่าวเสนอเพื่อพิจารณาต่อไป
3.3 ด้านการส่งเสริมการลงทุน
          (1) พิจารณานโยบายส่งเสริมการลงทุน เช่น เงินสนับสนุน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือการพักชำระหนี้ให้กลุ่มอุตสาหกรรมการบิน ทั้งภาคการผลิตและซ่อมบำรุงอากาศยานตามระยะเวลาที่เหมาะสมกับสถานการณ์วิกฤติ COVID-19
กพท. ได้ดำเนินการขอความอนุเคราะห์จาก กค. และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยในการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ อีกทั้งได้สนับสนุนข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้านอุตสาหกรรมการบินเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม
รง. ได้มีการดำเนินการโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (ตั้งแต่เดือนเมษายน - ธันวาคม 2563) และระยะที่ 2 (ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม - 31 ธันวาคม 2564) แล้ว
          (2) นโยบายส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานครบวงจรตามมาตรฐานการซ่อมบำรุงระดับสากลที่มีชิ้นส่วนอะไหล่เพียงพอ การซ่อมมีความรวดเร็ว และควรมีที่ตั้งใกล้กับฐานหลักของสายการบินเพื่อที่จะสามารถแข่งขันราคาได้กพท. พร้อมให้การสนับสนุนการออกใบรับรองหน่วยซ่อมในราชอาณาจักร ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำนโยบายหลายด้าน และจะนำข้อเสนอแนะดังกล่าวไปประกอบการพิจารณา
สบพ. พร้อมให้การสนับสนุนนโยบายดังกล่าว โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านช่างอากาศยานและด้านช่างผลิตชิ้นส่วนอากาศยานที่มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ รวมทั้งมีการดำเนินงานตามแผนการจัดตั้งศูนย์ฝึก EASA Part-147 Training Organization ในปีงบประมาณ 64-65 เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานการฝึกอบรมช่างอากาศยานให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล นอกจากนี้ ยังเป็นการเตรียมความพร้อมในการผลิตช่างอากาศยานที่ได้มาตรฐานของศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ที่อู่ตะเภาตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย
 
17. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 12/2564
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) ในคราวประชุมครั้งที่ 12/2564 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 โดยมีมติอนุมัติ/เห็นชอบในหลักการข้อเสนอแผนงานหรือโครงการเพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จุฬาฯ) จำนวน 2 โครงการ ดังนี้
ลำดับโครงการข้อเสนอตามมติ คกง.ฯ
1โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ChulaCov19 mRNA เพื่อทำการทดสอบทางคลินิกระยะที่สาม และการผลิตเพื่อขึ้นทะเบียนวัคซีนเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน
  • อนุมัติโครงการฯ กรอบวงเงินจำนวน 2,316.8
    ล้านบาท
     โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 1 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม  พ.ศ. 2564
  • มอบหมายให้จุฬาฯ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ
2โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 (Baiya)รับทราบโครงการฯ กรอบวงเงินจำนวน
1,309 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 1 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564
 
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   คกง. รายงานว่า ที่ประชุม คกง. ภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 12/2564 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 มีมติเกี่ยวกับการพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของข้อเสนอแผนงานหรือโครงการเพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ดังนี้
                   1. โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ChulaCov19 mRNA เพื่อทำการทดสอบทางคลินิกระยะที่สาม และการผลิตเพื่อขึ้นทะเบียนวัคซีนเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉินของจุฬาฯ อว.
                             1.1 สาระสำคัญของโครงการ
รายการรายละเอียด
(1) วัตถุประสงค์1.1 เพื่อดำเนินการทดสอบวิจัยในอาสาสมัครระยะที่ 3 * ตามเกณฑ์ที่กำหนดโดยองค์การอาหารและยา (อย.) เพื่อใช้ในการขึ้นทะเบียน
1.2 เพื่อการผลิตวัคซีนสำหรับทดสอบระยะที่ 3 และเตรียมการผลิตสำหรับขึ้นทะเบียนเพื่อรับการรับรองจาก อย.
(2) กลุ่มเป้าหมายประชาชนคนไทยทุกคน
(3) แผนการบริหารความเสี่ยงของโครงการ
  • การบริหารจัดการเงินกู้ มีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการใช้จ่ายเงินกู้ ประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยและคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อบริหารงบประมาณให้มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้
  • การพิจารณาอนุมัติจริยธรรมในกระบวนการวิจัย มีการดำเนินงานเชิงรุกร่วมกับ อย. และคณะกรรมการจริยธรรมร่วมสถาบัน เพื่อลดความล่าช้าในกระบวนการดังกล่าว
  • การหาอาสาสมัครที่ยังไม่ได้รับวัคซีนให้ครบตามกรอบจำนวนที่กำหนด โดยมีการประสานโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัดให้จัดหาอาสาสมัครให้ อย่างไรก็ดี กรณีที่ไม่สามารถหาอาสาสมัครชาวไทยได้ตามจำนวนที่กำหนด จะมีการประสานนักวิจัยในโรงเรียนแพทย์หรือโรงพยาบาลต่างประเทศ (อินโดนีเซียและมาเลเซีย) เพื่อจัดหากลุ่มตัวอย่างให้ครบตามจำนวน
(4) แผนธุรกิจและการตลาดจัดทำแผนธุรกิจในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ภายหลังการขึ้นทะเบียนวัคซีนแล้วเสร็จ (ปัจจุบันยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน)
(5) งบประมาณ2,316.8 ล้านบาท
(6) กรอบระยะเวลา1 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565)
(7) ผลประโยชน์
ที่คาดว่าจะได้รับ
ช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานของการผลิตวัคซีนชนิด mRNA อย่างครบวงจร ทำให้ไทยสามารถผลิตวัคซีนโควิด 19 ใช้ได้เอง และสามารถต่อยอดเทคโนโลยีนี้สู่การผลิตวัคซีนสำหรับป้องกันโรคอื่น ๆ รวมถึงโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต
                            
                             1.2 มติ คกง.
                                      1.2.1 เห็นควรให้ความเห็นชอบโครงการฯ กรอบวงเงินจำนวน 2,316.8
ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 1 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ทั้งนี้ เห็นควรให้ อว. โดยจุฬาฯ พิจารณากำหนดกลไกการกำกับติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการฯ เพื่อให้การดำเนินโครงการฯ มีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้
                                      1.2.2 เห็นควรมอบหมายให้จุฬาฯ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการและดำเนินการจัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายเดือน เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะสามารถจัดหาเงินกู้ พร้อมทั้งปฏิบัติตามข้อ 15 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 โดยเคร่งครัดตามขั้นตอนต่อไป
                   2. โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 (Baiya) ของจุฬาฯ อว.
                             2.1 สาระสำคัญของโครงการ
รายการรายละเอียด
(1) วัตถุประสงค์เพื่อวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด 19 โดยเฉพาะในส่วนของการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 3 ในอาสาสมัครอย่างน้อย 10,000 คน ตามหลักเกณฑ์ของ อย. โดยมีเป้าหมายหลัก เพื่อให้ไทยสามารถผลิตวัคซีนโควิด 19 ได้ตั้งแต่ต้นน้ำด้วยตัวเอง และวัคซีนที่ผลิตในไทยผ่านการทดสอบในระยะต่าง ๆ ตามเกณฑ์มาตรฐานสากล ส่งผลให้สามารถฉีดกระตุ้นภูมิให้กับประชาชนคนไทยได้อย่างน้อย 60 ล้านโดสต่อปี
(2) กลุ่มเป้าหมายอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีและไม่มีประวัติได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 มาก่อน จำนวน 10,000 คน
(3) งบประมาณ1,309 ล้านบาท
(4) กรอบระยะเวลา1 ปี 3 เดือน (ตุลาคม 2564 – ธันวาคม 2565)
(5) ผลประโยชน์
ที่คาดว่าจะได้รับ
วัคซีนโควิด 19 ที่ผลิตในไทยผ่านการทดสอบในระยะต่าง ๆ ตามเกณฑ์มาตรฐานสากล สามารถฉีดกระตุ้นภูมิให้กับประชาชนคนไทยได้อย่างน้อย 60 ล้านโดสต่อปี ซึ่งจะทำให้ไทยมีข้อมูลการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในประเทศที่น่าเชื่อถือตามมาตรฐานสากล
 
                             2.2 อย่างไรก็ดี โครงการฯ ที่เสนอในครั้งนี้เป็นการเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการทดสอบวัคซีนทางคลินิกในมนุษย์ระยะที่ 3 ซึ่งกำหนดแผนการดำเนินงาน/แผนการใช้จ่ายเงินในเดือนพฤษภาคม 2565 ในขณะที่ปัจจุบัน โครงการฯ ยังอยู่ระหว่างการรอผลทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 และ 2 ดังนั้น  จึงเห็นควรรอผลการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 ก่อน เพื่อไม่ให้กระทบต่อกรอบวงเงินกู้ในภาพรวม และลดค่าเสียโอกาสในการดำเนินแผนงาน/โครงการอื่นที่มีความสำคัญและจำเป็นในอนาคต
                             2.3 มติ คกง.
                             เห็นควรให้ความเห็นชอบในหลักการโครงการฯ ของจุฬาฯ ร่วมกับ บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ กรอบวงเงินจำนวน 1,309 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 1 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ภายในประเทศโดยเป็นเงินทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนชนิด Protein Subunit ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมอบหมายให้จุฬาฯ เร่งรัดทำรายงานผลการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 เสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาของ คกง. ตามขั้นตอนต่อไป
___________________________________
* การทดสอบวัคซีนโควิด 19 ในมนุษย์ แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
  • ระยะที่ 1 เพื่อศึกษาความปลอดภัยและปริมาณวัคซีนที่ใช้ โดยจะทำการทดสอบวัคซีนในอาสาสมัครจำนวนหลักสิบคน
  • ระยะที่ 2 เป็นการขยายการทดสอบในอาสาสมัครจำนวนหลักร้อยถึงหลักพันคน เพื่อยืนยันความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีน
  • ระยะที่ 3 เป็นการทดสอบประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อในอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีน และติดตามอาการอันไม่พึงประสงค์โดยเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (Placebo – Controlled Trail) ซึ่งต้องทดสอบในอาสาสมัครจำนวนหลายหมื่นคน
 
18. เรื่อง การกำหนดวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ ประจำปี 2565
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ ดังนี้
                    1. รับทราบภาพรวมวันหยุดราชการ ประจำปี 2565 จำนวน 19 วัน และเห็นชอบการกำหนดวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ ประจำปี 2565 จำนวน 4 วัน ได้แก่ (1) วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม 2565 (2) วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม 2565 (3) วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม 2565 และ (4) วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม 2565
                    2. ในกรณีที่หน่วยงานใดมีภารกิจในการให้บริการประชาชนหรือมีความจำเป็นหรือราชการสำคัญในวันหยุดราชการดังกล่าว (ตามข้อ 1) ที่ได้กำหนดหรือนัดหมายไว้ก่อนแล้วซึ่งหากยกเลิกหรือเลื่อนไปจะเกิดความเสียหายหรือกระทบต่อการให้บริการประชาชน ให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควร
โดยมิให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการและกระทบต่อการให้บริการประชาชน
                    3. ในส่วนของรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน และภาคเอกชน ให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงแรงงาน พิจารณาความเหมาะสมของการกำหนดเป็นวันหยุดให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วแต่กรณีต่อไป
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันหยุดราชการประจำปี ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 มีผลทำให้ภาพรวมวันหยุดราชการ ประจำปี 2565 มีจำนวน 19 วัน ดังนี้
 
  1.  
วันขึ้นปีใหม่1 มกราคม 
  1.  
วันหยุดชดเชยวันขึ้นปีใหม่3 มกราคม1 วัน
  1.  
วันมาฆบูชา16 กุมภาพันธ์1 วัน
  1.  
วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์
6 เมษายน1 วัน
  1.  
วันสงกรานต์13 – 15 เมษายน3 วัน
  1.  
วันฉัตรมงคล4 พฤษภาคม1 วัน
  1.  
วันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
(สำนักพระราชวังจะประกาศเป็นปี ๆ ไป)
พฤษภาคม1 วัน
  1.  
วันวิสาขบูชา15 พฤษภาคม 
  1.  
วันหยุดชดเชยวันวิสาขบูชา16 พฤษภาคม1 วัน
  1.  
วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี3 มิถุนายน1 วัน
  1.  
วันอาสาฬหบูชา13 กรกฎาคม1 วัน
  1.  
วันเข้าพรรษา14 กรกฎาคม1 วัน
  1.  
วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทร
รามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
28 กรกฎาคม1 วัน
  1.  
วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง
และวันแม่แห่งชาติ
12 สิงหาคม1 วัน
  1.  
วันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
13 ตุลาคม1 วัน
  1.  
วันปิยมหาราช23 ตุลาคม1 วัน
  1.  
วันหยุดชดเชยวันปิยมหาราช24 ตุลาคม1 วัน
  1.  
วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จ
พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ
5 ธันวาคม1 วัน
  1.  
วันรัฐธรรมนูญ10 ธันวาคม1 วัน
  1.  
วันหยุดชดเชยวันรัฐธรรมนูญ12 ธันวาคม1 วัน
  1.  
วันสิ้นปี31 ธันวาคม1 วัน

 
                    2. โดยที่ในแต่ละปีที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษเพื่อให้มีวันหยุดต่อเนื่องกันหลายวันเพื่อเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการเดินทางและส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ดังนั้น เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รวมทั้งเป็นการสนับสนุนการประกาศเปิดประเทศเพื่อรับท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ จึงเห็นควรให้มีการกำหนดวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษในปี 2565 เพื่อให้มีวันหยุดต่อเนื่องกันในแต่ละช่วงเชื่อมโยงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ จำนวน 4 วัน ได้แก่ (1) วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม 2565 (2) วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม 2565 (3) วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม 2565 และ (4) วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม 2565
 
19. เรื่อง การกำหนดวันอังคารที่ 28 ธันวาคม 2564 เป็นวันหยุดราชการประจำภาคตะวันออก
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กำหนดวันอังคารที่ 28 ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นวันพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นวันหยุดราชการประจำภาคตะวันออก ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ
                   สาระสำคัญ
                      ตามที่คณะรัฐมนตรี ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบการกำหนดวันหยุดราชการประจำภูมิภาค ประจำปี 2564 โดยได้กำหนดวันหยุดราชการประจำภาคเหนือ  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง แล้ว นั้น
                        เพื่อให้การกำหนดวันหยุดราชการประจำภูมิภาคครอบคลุมทุกภูมิภาค และก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงได้เสนอพิจารณากำหนดให้วันอังคารที่ 28 ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นวันพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นวันหยุดราชการประจำภาคตะวันออก เนื่องจากพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นเส้นทางและฐานพักแรม ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงใช้เพื่อรวบรวมกำลังพล ฝึกอาวุธ และสะสมเสบียง ก่อนจะทรงยกทัพเข้ากรุงศรีอยุธยาเพื่อกอบกู้อิสรภาพ
                        อนึ่ง ประกาศคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ เรื่อง การจัดตั้งกลุ่มจังหวัดและกำหนดจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 กำหนดให้จังหวัดในภาคตะวันออก ประกอบด้วย จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด จังหวัดนครนายก จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดสระแก้ว รวม 8 จังหวัด
 
20. เรื่อง ผลการหารือการชดเชยต้นทุนเงิน ธ.ก.ส. โครงการประกันรายได้เกษตรกร ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนาน
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการหารือการชดเชยต้นทุนเงิน ธ.ก.ส. โครงการประกันรายได้เกษตรกร ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนาน ตามที่สำนักงบประมาณมีข้อสังเกตเพิ่มเติม ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
                   สาระสำคัญ
                   กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ได้ประชุมหารือการชดเชยต้นทุนเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกร ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนาน ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ การเกษตร สำนักงบประมาณ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564 โดยมีอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมพิจารณาร่วมกันแล้ว มีความเห็นว่า การใช้ต้นทุนเงินของ ธ.ก.ส. ประจำไตรมาส บวก 1 จะสอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงมากกว่าการใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนของ ธ.ก.ส. บวก 1 เนื่องจากต้นทุนของ ธ.ก.ส. จะพิจารณาจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทุกประเภทของ ธ.ก.ส. ซึ่งปัจจุบันมีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ที่ร้อยละ 1.1 อย่างไรก็ตาม อัตราดังกล่าวจะพิจารณาปรับทุก ๆ ไตรมาส ตามสถานการณ์การดำเนินงานของ ธ.ก.ส. ในแต่ละช่วงเวลา
                   ดังนั้น เพื่อคำนึงถึงภาระงบประมาณที่รัฐจะต้องรับภาระทั้งในปัจจุบันและอนาคตจึงเห็นควรกำหนดอัตราการชดเชยต้นทุนเงินให้ ธ.ก.ส. ในอัตราต้นทุนทางการเงินของ ธ.ก.ส. ประจำไตรมาสบวก 1 แต่สูงสุดไม่เกินอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ของ ธ.ก.ส. บวก 1 ในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งอยู่ภายในกรอบวงเงิน 18,000 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 ทั้งนี้ ให้ใช้อัตราดังกล่าวสำหรับโครงการอื่น ๆ ที่มีการมอบหมายให้ ธ.ก.ส. สำรองจ่ายและรัฐบาลชดเชยต้นทุนเงินให้ ธ.ก.ส. ในลักษณะเดียวกันด้วย โดยให้ ธ.ก.ส. เสนอต่อคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและกระทรวงพาณิชย์เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป
         
ต่างประเทศ
21. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2564 (Memorandum of Understanding on the Cooperation on Projects of the Mekong – Lancang Cooperation Special Fund 2021)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) ประจำปี พ.ศ. 2564 (Memorandum of Understanding on the Cooperation on Projects of the Mekong – Lancang Cooperation Special Fund 2021) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่างบันทึกความเข้าใจฯ ประจำปี พ.ศ. 2564 ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์และนโยบายของประเทศไทย ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หารือร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) (กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย) เพื่อพิจารณาดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก และอนุมัติให้ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ประจำปี พ.ศ. 2564 ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ
                   สาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฯ ประจำปี พ.ศ. 2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการงบประมาณของโครงการที่ได้รับการอนุมัติจากฝ่ายจีนให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้กองทุนฯ อย่างสูงสุด ทั้งนี้หลักการเบื้องต้นเพื่อสร้างชุมชนแห่งการแบ่งปันเพื่อให้เกิดสันติภาพและความมั่งคั่งในอนาคตต่อสมาชิกแม่โขง – ล้านช้าง และปฏิบัติตามเจตนารมณ์ในการปรึกษาหารือ การร่วมมือกัน การช่วยเหลือกัน และมีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเคารพกฎหมายและกฎระเบียบของทั้งประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน และร่วมกันติดตามประเมินโครงการและการใช้งบประมาณจากกองทุนฯ  โดยมีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 7 โครงการ ได้แก่
                   1. โครงการแนวทางใหม่เพื่อการเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (Novel Approaches for Sustainable Aquaculture in Mekong Delta River)
                   2. โครงการควบคุมความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและความมั่นคงด้านอาหารด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับชีวิตวิถีใหม่ (Risk Control in Food Safety and Security Using Appropriate Innovation Technology for New Normal)
                   3. โครงการยกระดับการเลี้ยงผึ้งของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งในภูมิภาคแม่โขง – ล้านช้าง ครบวงจรและการสำรวจสุขภาพของแมลงผสมเกสรเพื่อความมั่นคงทางอาหาร (Upgrading Beekeeping Management for Lancang – Mekong Farmers and Pollinator Health for Food Security)
                   4. โครงการเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตสัตว์และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คุณภาพของผลิตภัณฑ์และการเพิ่มมูลค่า โดยใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นเพื่อความมั่นคงและความยั่งยืน (Technologies and Innovations for Improvement of Livestock and Aquaculture Production Efficiency, Product Quality and Added Value, Based on Local Resources to Secure Productions Sustainability)
                   5. โครงการระบบจัดการฐานข้อมูลดิจิทัลด้านผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในกลุ่มประเทศสมาชิกแม่โขง – ล้านช้าง สำหรับหนุนเสริมการค้าข้ามพรมแดน (LMC Pool Logistics the Website Application Collected Logistics Provider Information Support Cross Border Business)
                   6. โครงการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรสุขภาพที่ให้การดูแลด้านมารดาทารกกับชนกลุ่มน้อยในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (Improvement of Potentials of Maternity Healthcare Personals Working in Minority Communities in Lao, and Vietnam)
                   7. โครงการพัฒนาระบบติดตามและประเมินปริมาณผลผลิตพืชเศรษฐกิจในประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมา ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ [Geospatial Information Application for Agriculture Monitoring in CLM (Cambodia, Laos PDR and Myanmar) Countries]
                    รวมงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายจีนทั้งสิ้น 2,396,800 ดอลลาร์สหรัฐ
 
22. เรื่อง ผลการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 6
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพการประชุมและมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยรัฐมนตรี/ผู้แทนจากเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค จำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ (ยกเว้นรัฐเอกราชปาปัวนิวกินี) โดยในส่วนของประเทศไทย (ไทย) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วมประชุม [คณะรัฐมนตรีมีมติ (17 สิงหาคม 2564) เห็นชอบร่างแถลงการณ์การประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปคและร่างแผนงานความมั่นคงอาหารเอเปคมุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายรับรองร่างแถลงการณ์และร่างแผนงานดังกล่าว] ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)  เสนอสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                   1. ที่ประชุมได้รับรอง 1) แถลงการณ์การประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ซึ่งมีสาระสำคัญประกอบด้วย การรับทราบผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีต่อความเป็นอยู่และความปลอดภัยของประชาชนในภูมิภาคเอเปค โดยเฉพาะในด้านความมั่นคงอาหารและห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งการวางแนวทางในการตอบสนองต่อวิกฤตสุขภาพของโลกและสภาวะเศรษฐกิจ และการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและการดำเนินงานที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และ 2) แผนงานความมั่นคงอาหารเอเปคมุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 โดยมีการผลักดันประเด็นความมั่นคงอาหาร ได้แก่ (1) เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม มุ่งให้เอเปคเป็นผู้นำระดับโลกในการนำนวัตกรรมมาใช้ในระบบอาหารและผลักดันการทำแผนงานดิจิทัลด้านความมั่นคงอาหาร (2) ผลิตภาพ เน้นการพัฒนาด้านผลิตภาพและประสิทธิภาพของระบบอาหารในภูมิภาค (3) ความครอบคลุม สนับสนุนการมีส่วนร่วมที่สมดุลโดยคำนึงถึงเพศ ชาติพันธุ์ และอายุ  (4) ความยั่งยืน ปรับปรุงประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมของระบบอาหารเอเปค (5) ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชน ตระหนักถึงบทบาทของภาคเอกชนที่เป็นศูนย์กลางตลอดห่วงโซ่คุณค่าอาหารและ 6) การกำหนดเป้าหมายที่ชาญฉลาดและการดำเนินการตามแผนงานความมั่นคงอาหารฯ นำเสนอแนวทางมุ่งสู่การจัดการด้านอาหารที่เข้าถึงได้ ความมีอยู่ของอาหาร มีคุณค่าทางโภชนาการ และเพียงพอสำหรับประชาชนในภูมิภาคเอเปค รวมถึงการนำแผนงานไปสู่การปฏิบัติ
                   2. กษ. พิจารณาแถลงการณ์ และแผนงานความมั่นคงอาหารฯ แล้ว เห็นว่า (1) ไม่มีการปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่เป็นสาระสำคัญหรือมีนัยสำคัญที่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย และมีผลสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและ (2) การประชุมครั้งนี้มีประโยชน์กับการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหารของไทย รวมถึงมีความสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียวในภาคเกษตรของไทย นอกจากนี้ การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับภาคเอกชนและองค์การระหว่างประเทศจะช่วยขับเคลื่อนความมั่นคงอาหารและการปฏิรูประบบอาหารของไทยให้ประสบความสำเร็จ
                   3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับนโยบายของไทย ดังนี้
                             3.1 ไทยให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนการผลิตแบบดั้งเดิมมาเป็นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น โดยมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเกษตรเชิงพาณิชย์ และการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติเพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านการเกษตร และการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมเพื่ออบรมการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้ในการผลิตและพัฒนาขีดความสามารถให้แก่เกษตรกร
                             3.2 ไทยพร้อมนำแผนงานความมั่นคงอาหารฯ มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานในอีก 10 ปีข้างหน้าและวางเป้าหมายสู่การเป็นครัวของโลก โดยขับเคลื่อนนโยบาย 3 ด้าน ได้แก่ (1) ความปลอดภัยของอาหาร (2) ความมั่นคงของภาคเกษตรและอาหาร และ (3) ความยั่งยืนของภาคเกษตร โดยนำแนวคิดเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนหรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว มาขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเกษตรเพื่อมุ่งเน้นการสร้างสมดุลของการผลิตสินค้าเกษตรและการอนุรักษ์ทรัพยากรทางการเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
                    4. ถ้อยแถลงของสมาชิกเอเปค ประกอบด้วย
ประเทศถ้อยแถลง
(1) นิวซีแลนด์เพิ่มขีดความสามารถของภาคเกษตรในการประยุกต์ใช้นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อส่งเสริมความมั่นคงอาหารในการฟื้นตัวจากโควิด-19
(2) สาธารณรัฐเกาหลีสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคเกษตรโดยมุ่งเน้นการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมการเปลี่ยนผ่านสู่การเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนต่ำ และการกำหนดแนวทางการจัดการห่วงโซ่อุปทานอาหารด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์
(3) แคนาดาจัดทำข้อริเริ่มเพื่อสร้างขีดความสามารถของชนพื้นเมืองและชุมชนด้านการเกษตรและระบบอาหาร ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจและลดอุปสรรคสำหรับกลุ่มที่ขาดโอกาส
(4) สาธารณรัฐสิงคโปร์ตั้งเป้าหมายการผลิตอาหารให้ได้ร้อยละ 30 ของความต้องการทางโภชนาการในระดับท้องถิ่นภายในปี ค.ศ. 2030
(5) สหรัฐอเมริกาจัดทำข้อริเริ่มเรื่องพันธกิจด้านนวัตกรรมการเกษตรเพื่อสภาพภูมิอากาศและผลักดันงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในระบบเกษตรและอาหาร
(6) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)ผลักดันนโยบายการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและจัดทำแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร
(7) เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนพัฒนาช่องทางออนไลน์เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้งานได้อย่างเท่าเทียม
(8) ญี่ปุ่นจัดทำยุทธศาสตร์ระบบอาหารสีเขียวเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050
                   นอกจากนี้ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติได้กล่าวถึงการปิดช่องว่างทางดิจิทัลโดยเฉพาะพื้นที่ชนบทและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อต่อสู้กับความหิวโหย ความยากจน และความเหลื่อมล้ำ
 
23. เรื่อง รายงานการประชุมด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาในกรอบสหประชาชาติ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอรายงานการประชุมด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาในกรอบสหประชาชาติ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
การประชุมผลการประชุม
1. การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 14 (The 14th United Nations Congress on Crime Prevention and Criminal Justice: UN Crime Congress) ระหว่างวันที่ 7-12 มีนาคม 2564 ณ นครเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ซึ่งหัวข้อหลักของการประชุมฯ คือ การส่งเสริมการป้องกันอาชญากรรม ความยุติธรรมทางอาญา และหลักนิติธรรม เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 [คณะรัฐมนตรีมีมติ (14 มกราคม 2563) เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมฯ และให้ ยธ. เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานสำหรับการเข้าร่วมการประชุมฯ]1.1 บทบาทของไทยในการประชุมฯ ได้แก่
          1.1.1 การร่วมกล่าวถ้อยแถลง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้กล่าวถ้อยแถลง โดยมีสาระสำคัญ เช่น การนำมาตรฐานสากลมาปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (ข้อกำหนดกรุงเทพ และข้อกำหนดแมนเดลา) การยกระดับด้านการสาธารณสุขภายในเรือนจำ และความท้าทายจากอาชญากรรมรูปแบบใหม่
          1.1.2 การดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการอำนวยการกลาง ปลัด ยธ. (ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ) ได้ลงสมัครและได้รับการรับรองให้ดำรงตำแหน่งรองประธานในคณะกรรมการอำนวยการกลางของการประชุมฯ
          1.1.3 การเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เช่น สำนักงานกิจการยุติธรรมเข้าร่วม Workshop ที่ 1 เรื่อง การป้องกันอาชญากรรมโดยอ้างอิงหลักฐานทางสถิติ ตัวชี้วัดและการประเมินผลเพื่อสนับสนุนวิธีปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จ และกรมสอบสวนคดีพิเศษเข้าร่วม Workshop ที่ 4 เรื่อง แนวโน้มปัญหาอาชญากรรมในปัจจุบันพัฒนาการใหม่ และแนวทางแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เทคโนโลยีใหม่เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาอาชญากรรม
          1.1.4 การจัดกิจกรรมคู่ขนาน ยธ. ได้จัดการประชุมคู่ขนานในนามประเทศ ในหัวข้อ Health Care in Prison : Management during the COVID-19 Pandemic ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการยกระดับในด้านสาธารณสุขภายในเรือนจำ และการนำมาตรฐานและแนวปฏิบัติสากลมาปฏิบัติใช้ ซึ่งมีบริบทของการแพร่ระบาดของ COVID-19
          1.1.5 การจัดนิทรรศการ ประเทศไทยร่วมจัดนิทรรศการในรูปแบบทางไกล 2 รายการ ได้แก่ ยธ. จัดนิทรรศการในหัวข้อ Health Care in Detention Facilities : Management during the COVID-19 Pandemic และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) จัดแสดงนิทรรศการในหัวข้อ Advancing Collaborative and Innovative Justice for All
1.2 ที่ประชุมฯ ได้รับรองร่างปฏิญญาเกียวโต (Kyoto Declaration) ว่าด้วยการส่งเสริมการป้องกันอาชญากรรม ความยุติธรรมทางอาญาและหลักนิติธรรม เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030
2. การประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 30 (The 30th Commission on Crime Prevention and Criminal Justice: CCPCJ) ระหว่างวันที่ 17-21 พฤษภาคม 2564 ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีปลัด ยธ. (ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ฯ) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ซึ่งหัวข้ออภิปรายหลักของการ            ประชุมฯ คือ มาตรการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและต่อต้านการลักลอบย้าย                 ผู้อพยพและการปกป้องสิทธิของผู้อพยพที่เป็นเหยื่อ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก รวมถึงเด็กอพยพที่ไร้ผู้ดูแล2.1 บทบาทของไทยในการประชุมฯ ได้แก่
          2.1.1 การร่วมกล่าวถ้อยแถลง ปลัด ยธ. (ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ฯ) ได้กล่าวถ้อยแถลง โดยมีสาระสำคัญเป็นการเน้นย้ำถึงผลกระทบของ COVID-19 ต่อกระบวนการยุติธรรมในองค์รวม โดยเฉพาะต่อการบริหารจัดการในเรือนจำและทัณฑสถานการเรียกร้องให้สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติเพิ่มงานวิจัยในเรื่องดังกล่าว รวมถึงการผลักดันร่างข้อมติที่เสนอโดยประเทศไทย จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างข้อมติการบูรณาการกีฬาเพื่อการป้องกันอาชญากรรมและส่งเสริมความยุติธรรมทางอาญาในกลุ่มเยาวชน (Integrating sport into youth crime prevention and criminal justice strategies) และร่างข้อมติการส่งเสริมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 [Advancing the Criminal Justice System Reform amidst the Coronavirus Disease (COVID-19) Pandemic]
          2.1.2 การจัดกิจกรรมคู่ขนาน สำนักงานอัยการสูงสุดได้แจ้งความพร้อมในการจัดกิจกรรมคู่ขนานในนามประเทศไทย หัวข้อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเพื่อยับยั้งความรุนแรงต่อสตรีและเด็กในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 (Ensuring Access to Justice in Response to Violence Against Women and Children under the COVID-19)
2.2 ประเทศไทยได้ร่วมอุปถัมภ์ร่างข้อมมติ จำนวน 2 ฉบับที่เสนอโดยประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ ร่างข้อมติ Fourteenth United Nations Congress on Crime Prevention and Criminal Justice ซึ่งสรุปภาพรวมการประชุม UN Crime Congress สมัยที่ 14 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ และร่างข้อมติ Reducing reoffending through rehabilitation and reintegration ซึ่งเน้นการลดการกระทำผิดซ้ำและการพัฒนาพฤตินิสัยให้ผู้กระทำผิดกลับมาเข้าสู่สังคมได้
 
24. เรื่อง ร่างบันทึกการประชุมและร่างแถลงข่าวร่วม (Joint Press Statement) ของการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย - ลาว ครั้งที่ 22
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
                   1. เห็นชอบร่างบันทึกการประชุมและร่างแถลงข่าวร่วม (Joint Press Statement) ของการประชุม JC ไทย - ลาว ครั้งที่ 22 เพื่อให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมรับรองร่างบันทึกการประชุมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สปป. ลาว ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 และกระทรวงการต่างประเทศเผยแพร่แถลงข่าวร่วมฯ ต่อสาธารณชนภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม
                   2. หากมีการแก้ไขร่างบันทึกการประชุมและร่างแถลงข่าวร่วมฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ขออนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาดำเนินการโดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีก
                   สาระสำคัญ
                   กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงการต่างประเทศ สปป. ลาว ได้ร่วมกันจัดทำร่างบันทึกการประชุมและร่างแถลงข่าวร่วมการประชุม JC ไทย - ลาว ครั้งที่ 22 ณ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 3 - 4 พฤศจิกายน 2564 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
                   1. ร่างบันทึกการประชุมและร่างแถลงข่าวร่วมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมของรัฐบาลทั้งสองประเทศที่จะส่งเสริมความร่วมมืออย่างรอบด้านทั้งในกรอบทวีภาคีและพหุภาคี รวมทั้งการพบปะและแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันของเจ้าหน้าที่ระดับต่าง ๆ ทั้งจากส่วนกลางและท้องถิ่นเพื่อมุ่งเน้นและผลักดัน ตลอดจนสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ไทย - ลาว ให้ก้าวไปสู่ความสัมพันธ์ในฐานะ “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ให้มีผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศอย่างแท้จริง
                   2. ร่างบันทึกการประชุมและร่างแถลงข่าวร่วมฯ มีเนื้อหาระบุถึงประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะผลักดันความร่วมมืออย่างใกล้ชิดเพื่อฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาทิ (1) การรักษาความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดน (2) การส่งเสริมความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานและด้านมาตรฐานและกฎระเบียบต่าง ๆ (3) การส่งเสริมการค้าชายแดนและการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (4) การส่งเสริมการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว                  (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG Model) (5) การส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุขตามแนวชายแดน และ (6) การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ทั้งสองประเทศก้าวผ่านความท้าทายต่าง ๆ ไปด้วยกันอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยสอดคล้องกับร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทย ฉบับที่ 13 (ค.ศ. 2023 - 2027) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของ สปป. ลาว 5 ปี ฉบับที่ 9 (ค.ศ. 2021 - 2025)
                   3. โดยที่ร่างบันทึกการประชุมและร่างแถลงข่าวร่วมฯ เป็นเอกสารแสดงผลลัพธ์ของการประชุม JC ไทย - ลาว ครั้งที่ 22 ที่แสดงวิสัยทัศน์และเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างทั้งสองฝ่ายในการส่งเสริมและยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับ สปป. ลาว ทั้งในกรอบความสัมพันธ์ทวิภาคีและในกรอบระหว่างประเทศในสาขาความร่วมมือด้านต่าง ๆ ตามนัยข้อ 2 โดยไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น ร่างบันทึกการประชุมและร่างแถลงข่าวร่วมฯ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญฯ
 
25. เรื่อง ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมที่จะรับรองในการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 32 และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 28
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
                   1. เห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 32 ร่างปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 28 และร่างแผนปฏิบัติการวิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปค ค.ศ. 2040 หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารข้างต้นในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
                   2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ได้รับมอบหมาย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้ได้รับมอบหมายร่วมรับรองถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 32
                   3. อนุมัติให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้ได้รับมอบหมายร่วมรับรองปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 28 และแผนปฏิบัติการวิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปค ค.ศ. 2040
                   สาระสำคัญ
                   1. ร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 32 เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ระดับรัฐมนตรีในการร่วมกันฟื้นฟูภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค โดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) การรับมือกับโรคโควิด-19 ผ่านการสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานของวัคซีนโควิด-19 และสินค้าที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการฟื้นฟูการเดินทางที่ปลอดภัย (2) การฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านนโยบายเศรษฐกิจมหภาค การปฏิรูปโครงสร้าง และความร่วมมือในกรอบองค์การการค้าโลก (3) การส่งเสริมการฟื้นฟูอย่างครอบคลุมและยั่งยืนผ่านการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดย่อม สตรี และกลุ่มอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้รับการปลดปล่อยศักยภาพทางเศรษฐกิจ รวมถึงแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (4) การส่งเสริมการฟื้นฟูด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรม และ (5) การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้เอเปคในฐานะองค์กร
                   2. ร่างปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 28 เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของผู้นำเศรษฐกิจเอเปคในการรับมือและฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 โดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) การรับมือกับโรคโควิด-19 ผ่านการสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานของวัคซีนโควิด-19 และสินค้าที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการฟื้นฟูการเดินทางข้ามแดนที่ปลอดภัย (2) การฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน การปฏิรูปโครงสร้าง รวมถึงการสนับสนุนเทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรม (3) การฟื้นฟูอย่างครอบคลุมและยั่งยืน และ (4) แนวทางการดำเนินงานในอนาคตโดยการจัดทำแผนปฏิบัติการวิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปค ค.ศ. 2040
                   3. ร่างแผนปฏิบัติการวิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปค ค.ศ. 2040 เป็นเอกสารกำหนดแนวทางการดำเนินงานของเอเปค เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปค ค.ศ. 2040 ซึ่งผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคได้รับรองร่วมกันในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 27 โดยแผนปฏิบัติการฯ ได้กำหนดเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานของเขตเศรษฐกิจทั้งแบบร่วมกันและแบบรายเขตเศรษฐกิจ ในด้านการค้าและการลงทุน นวัตกรรมและกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล การเจริญเติบโตที่สมดุล เข้มแข็ง ยั่งยืนและครอบคลุม รวมถึงการประเมินความคืบหน้าการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ และการรักษาสถานะของเอเปคให้เป็นเวทีหลักของความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและเป็นแหล่งบ่มเพาะแนวคิดที่สำคัญ ทั้งนี้ ประเด็นที่ไทยผลักดันและได้รับการบรรจุอยู่ในร่างแผนปฏิบัติการฯ ได้แก่ การหารือประเด็นการค้าร่วมสมัยและสมัยใหม่ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการเดินหน้าวาระเขตการค้าเสรีของเอเชีย-แปซิฟิก (เอฟแทป) การสนับสนุนบทบาททางเศรษฐกิตของวิสาหกิจขนาดย่อม ขนาดเล็ก และขนาดกลาง (เอ็มเอสเอ็มอี) การฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่สมดุล เข้มแข็ง ยั่งยืนและครอบคลุม โดยมีแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียวเป็นหนึ่งในแนวทางการดำเนินการ ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานไปสู่ประเด็นสำคัญและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่ไทยจะผลักดันในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคปี 2565
 
 
แต่งตั้ง
26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ  (กระทรวงคมนาคม) 
                   คณะรัฐมนตรีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงคมนาคม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้  
                   1. นายอรรถสิทธิ์ สวัสดิ์พานิช ผู้อำนวยการสำนัก [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (วิศวกรรมโยธา) ระดับสูง] สำนักวิจัยและพัฒนางานทาง กรมทางหลวง ดำรงตำแหน่ง วิศวกรใหญ่ที่ปรึกษาวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านวิจัยและพัฒนา) (วิศวกรโยธาทรงคุณวุฒิ) กรมทางหลวง ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2564  
                   2. นายนรินทร์ ศรีสมพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (วิศวกรรมโยธา) ระดับสูง] สำนักงานทางหลวงที่ 5 กรมทางหลวง ดำรงตำแหน่ง วิศวกรใหญ่ที่ปรึกษาวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านควบคุมการก่อสร้าง) (วิศวกรโยธาทรงคุณวุฒิ) กรมทางหลวง ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2564 
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป  
 
27. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอแต่งตั้ง นางสาววันทนา แจ้งประจักษ์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งรองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
28. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอแต่งตั้ง นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
29. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงยุติธรรม)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 4 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้
                   1. นางสาวรวิวรรณ์ ศรีวนาภิรมย์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                   2. นางสาวนันทรัศมิ์ เทพดลไชย รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                   3. นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                   4. นางทัศนีย์ เปาอินทร์ รองอธิบดีกรมบังคับคดี ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมบังคับคดี
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
30. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เสนอแต่งตั้ง  นายเทพสุ บวรโชติดารา ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
31. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการปิโตรเลียม
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอแต่งตั้งบุคคล 5 คน เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการปิโตรเลียมสำหรับวาระต่อไป ดังนี้
                    1) นางสาวนารี ตัณฑเสถียร       อธิบดีอัยการ สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย   สำนักอัยการสูงสุด
                   2) นายพล ธีรคุปต์                  อาจารย์พิเศษ ตำแหน่งศาสตราภิชาน คณะนิติศาสตร์   จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมสรรพากร
                   3) นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง         รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา  สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
                   4) นายจิรวัฒน์  ชีวรุ่งโรจน์       อาจารย์ประจำ ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
                   5) นายพงศา พรชัยวิเศษกุล       อาจารย์ประจำ ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
                   โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป
 
32. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวม 17 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 ดังนี้
          1. ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์                               ประธานกรรมการ
          2. นายวิสิทธิ์ ใจเถิง                                                 กรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรเอกชน
         3. นายนิวรณ์ แสงวิสุทธิ์                                           กรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
          4. นายปิยะบุตร วานิชพงษ์พันธุ์                                   กรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรวิชาชีพ
          5. นางชลิดา อนันตรัมพร                                          กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
             (ด้านธุรกิจและการบริการ)
          6. นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์                                 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
             (ด้านการประถมศึกษา/ด้านการงบประมาณ)
          7. นายบุญรักษ์ ยอดเพชร                                           กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
              (ด้านการอาชีวศึกษา/ด้านการบริหารการศึกษา)
          8. นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์                                     กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
              (ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ)
 
          9. นายปราโมทย์ แก้วสุข                                          กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
              (ด้านการมัธยมศึกษา)
          10. นางพรรณพิมล วิปุลากร                                      กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
               (ด้านการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส)
          11. นายวิริยะ ฤชัยพาณิชย์                                      กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
               (ด้านการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย)
          12. นางศรินธร วิทยะสิรินันท์                                     กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
               (ด้านการศึกษาเพื่อคนพิการ)
          13. รองศาสตราจารย์ศิริเดช สุชีวะ                               กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
               (ด้านการบริหารการศึกษา)
          14. นายสนิท แย้มเกษร                                            กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
               (ด้านการบริหารงานบุคคล/ด้านการกีฬา)
          15. นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์                                   กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
               (ด้านอุตสาหกรรม)
          16. นายอำนาจ วิชยานุวัติ                                        กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
               (ด้านการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
              /ด้านการศึกษาเอกชน/ด้านการศึกษาปฐมวัย)
          17. พระพรหมบัณฑิต                                              กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
               (ด้านการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม)
          ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป
 
33. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง กระทรวงมหาดไทย
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 19 ราย ดังนี้
                     1. นายโสภณ  สุวรรณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                     2. นางสาวปาณี  นาคะนาท รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                     3. นายสุพจน์  ยศสิงห์คำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                     4. นายสันติธร  ยิ้มละมัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                     5. ว่าที่ร้อยตรี ณรงค์  โรจนโสทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                     6. นายชัชวาลย์  ฉายะบุตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                     7. นายวิสาห์  พูลศิริรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                     8. นายอภินันท์  เผือกผ่อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                     9. ร้อยโท ทศพล  ไชยโกมินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                   10. นายธวัชชัย  ศรีทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                   11. นายพิจิตร  บุญทัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                   12. นายโชตินรินทร์  เกิดสม รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการ จังหวัดชุมพร
                   13. นายสมชัย  กิจเจริญรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก
                   14. นายสนั่น  พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการ จังหวัดนราธิวาส
                   15. นายวิบูรณ์  แววบัณฑิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน
                   16. นายศักดิ์ฤทธิ์  สลักคำ รองอธิบดีกรมการปกครอง ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา
                   17. นายณัฐวุฒิ  เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี
                   18. นายเชษฐา  โมสิกรัตน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน
                   19. นายขจร  ศรีชวโนทัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป
………………………………..
 แหล่งอ้างงอิง : https://www.thaigov.go.th/