วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

รู้เท่าทันน้ำตาล...อย่างชาญฉลาด

  


    น้ำตาล จัดเป็นคาร์โบไฮเดรตประเภทสารให้พลังงานที่มีรสหวาน ละลายน้ำได้ดี จึงนิยมนำมาใช้ประโยชน์ในการปรุงอาหาร แต่ขณะเดียวกัน น้ำตาลจัดเป็นอาหารที่ให้พลังงานชนิดว่างเปล่า คือ ให้พลังงานแต่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ (หรือมีแต่น้อยมาก) โดยน้ำตาล 1 กรัม จะให้พลังงาน 4 แคลอรี่ 

ปัจจุบันจากการสำรวจพบว่า ประชากรไทยบริโภคน้ำตาลมากถึงวันละ 20 ช้อนชา ซึ่งเกินกว่าปริมาณที่ควรบริโภคถึง 3 เท่า ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกายคือ เมื่อร่างกายมีการบริโภคน้ำตาลที่เป็นคาร์โบไฮเดรตมากเกินความต้องการ ร่างกายจะนำไปเก็บสะสมในรูปของไกลโคเจนที่ตับและกล้ามเนื้อ เพื่อเก็บไว้ใช้เป็นแหล่งพลังงานสำรองในเวลาที่ร่างกายขาดพลังงาน แต่หากมีการสะสมของไกลโคเจนมากเกินไป ร่างกายจะเปลี่ยนเป็นสะสมในรูปของเซลล์ไขมัน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบเมตาบอลิกอื่นๆ ตามมาได้ คำแนะนำในการบริโภคน้ำตาลเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย มีดังนี้
1. ใน 1 วันควรกินน้ำตาลเกินไม่เกิน 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัม
2. ควรอ่านฉลาดโภชนาการที่มากับผลิตภัณฑ์เพื่อทราบปริมาณน้ำตาลของอาหารชนิดนั้นว่าเกินกว่าปริมาณน้ำตาลที่ควรจะได้รับต่อวันหรือไม่ 
3. ควรเลือกบริโภคน้ำตาลทรายแดงแทนน้ำตาลทรายขาว เนื่องจากน้ำตาลทรายขาวเป็นน้ำตาลที่ผ่านกระบวนการฟอกทางเคมีและแยกสิ่งสกปรกที่เจือปนอยู่ออก เพื่อทำให้น้ำตาลมีสีขาวบริสุทธิ์ แต่เมื่อผ่านกระบวนการเหล่านี้จะทำให้น้ำตาลทรายขาวมีคุณค่าทางโภชนาการน้อยลงเมื่อเทียบกับน้ำตาลทรายแดง 
4. ควรปรับพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาล โดยอาจจะเริ่มจากการลดการเติมน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มให้น้อยลง หรือเลือกกินอาหารอื่นจากธรรมชาติที่ให้คุณค่าทางโภชนาการมากกว่า เช่น การเลือกกินผลไม้ที่มีรสหวานน้อยแทนการบริโภคน้ำตาล เป็นต้น 
แม้ว่าชีวิตจะขาดหวานไม่ได้ แต่เราควรรู้ถึงหลักการบริโภคน้ำตาลที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้สารที่สร้างความหวานในชีวิตเรา กลายเป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายตามมา ดังนั้นเราควรบริโภคน้ำตาลในปริมาณที่เหมาะสมและเพียงพอต่อร่างกาย ควบคู่ไปกับการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ปรุงสุก สะอาด ปราศจากอันตราย และออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
 ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://healthydee.moph.go.th