วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

อาหารปิ้งย่าง เสี่ยงมะเร็งจริงหรือ ?

 


เมนูปิ้งย่าง ที่มาพร้อมกับกลิ่นหอม ๆ และรสชาติที่แสนอร่อยจนเป็นที่นิยม ทำให้หลาย ๆ คน ชอบกินเป็นประจำ จึงเกิดคำถามว่า "การกินอาหารปิ้งย่างมาก ๆ เสี่ยงเป็นมะเร็งจริงหรือ"คำตอบ คืออาหารปิ้งย่าง หรืออาหารรมควันนั้น หากกินเป็นประจำต่อเนื่องก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้โดยเฉพาะมะเร็งตับ เนื่องจากพบสารพิษในอาหารที่ปิ้งย่าง รมควันจนไหม้เกรียมจากเนื้อสัตว์ที่มีไขมันหรือมันเปลวติดอยู่ เช่น หมูย่างติดมัน เนื้อย่างติดมัน เพราะขณะที่เราปิ้งย่างอาหาร ไขมันหรือน้ำมันจะหยดลงบนเตาไฟ ทำให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เกิดสารพีเอเอชลอยขึ้นมาพร้อมเขม่าควันและเกาะติดที่ผิวของอาหารที่เรากินเข้าไป ซึ่งสารพีเอเอช หรือสารกลุ่มโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอนเป็นสารชนิดเดียวกับควันไอเสียของเครื่องยนต์ ควันบุหรี่ และเตาเผาเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม สารพิษอื่น ๆ ที่พบ ได้แก่ สารไนโตรซามีน พบได้ในปลาหมึกย่าง ปลาทะเลย่างและเนื้อสัตว์ที่ใส่สารกัดบูด เช่น แหนม ไส้กรอก เบคอน แฮม ที่มีสีแดงผิดปกติ เป็นต้น และสารพัยโรลัยเซต ที่พบมากในส่วนที่ไหม้เกรียมของอาหารปิ้งย่างเช่นกัน เมื่อกินเป็นประจำต่อเนื่องทำให้สารพิษสะสมในร่างกายจนอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้   จากเหตุผลที่กล่าวมานี้ ทำให้เกิดความกังวลในการที่จะกินอาหารปิ้งย่าง แต่เราสามารถปรับวิธีการกินอาหารปิ้งย่างให้ปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงจากการได้รับสารพิษที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง โดยสามารถปรับวิธีการกินได้ ดังนี้

1. เลือกกินเนื้อสัตว์ส่วนที่มีไขมันน้อยที่สุด หรือตัดส่วนที่เป็นมันออก

2. ถ้าปิ้งย่างบนเตาถ่านให้ใช้ถ่านแบบอัดก้อนหรือฟืนที่เป็นไม้เนื้อแข็งเพราะการเผาไหม้จะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ

3. ปิ้งย่างให้สุกพอดี ไม่ปิ้งจนเกรียม หากมีส่วนที่ไหม้เกรียมให้ตัดทิ้ง ไม่ควรกิน และควรทำความสะอาด  ตะแกรงปิ้งอยู่เสมอเพื่อลดคราบเขม่าและรอยไหม้ที่ติดอยู่กับตัวตะแกรง

4. หากกินที่ร้าน ให้เลือกร้านที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก หรือมีเครื่องดูดควัน

5. หมักเนื้อด้วยน้ำมะนาว สะระเเหน่ โรสเเมรี่ ช่วยลดสารก่อมะเร็ง

6. กินผักควบคู่กับอาหารปิ้งย่างด้วยเสมอ

7. ไม่ควรกินบ่อยจนเกินไปหรือกินประจำต่อเนื่อง

          นอกจากการปรับวิธีการกินอาหารปิ้งย่างทั้ง 7 ข้อแล้ว การนำวัตถุดิบมาประกอบอาหาร ควรทำความสะอาดก่อนปรุงเสมอ และสังเกตสิ่งผิดปกติของอาหาร เช่น สี กลิ่น รสชาติ หากผิดปกติก็ไม่ควรกิน ควรเลือกกินอาหารให้ถูกสุขลักษณะในปริมาณที่พอเหมาะ กินอาหาร 5 หมู่ ครบสัดส่วนและหลากหลาย กินผักผลไม้สดเป็นประจำทุกวัน และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงในการได้รับสารพิษที่ก่อโรคมะเร็งได้และมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง

 ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://healthydee.moph.go.th