วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

สร้างแหล่งอาหาร สร้างสุขภาวะกลุ่มเปราะบาง

 

สร้างแหล่งอาหาร สร้างสุขภาวะกลุ่มเปราะบาง thaihealth

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องอาหารการกินเรียกได้ว่าเป็นครัวของโลก แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดผลกระทบในการเข้าถึงแหล่งอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ในชุมชน มีกลุ่มคนตกงานและกลุ่มคนไร้บ้านหรือที่เรียกว่ากลุ่มเปราะบางเพิ่มขึ้น รวมไปถึงกลุ่มเด็กซึ่งปกติจะได้รับอาหารจากทางโรงเรียน ก็ไม่ได้รับอาหารไปด้วยเพราะโรงเรียนปิดตามมาตรการป้องกันโควิด-19

ดร.นพ.ไพโรจน์ เล่าว่า ทาง สสส. และภาคีเครือข่าย ได้ทำงานเรื่องอาหารมาตลอด เช่น ส่งเสริมการบริโภคผักและผลไม้ การสร้างแหล่งปลูกพืชผักปลอดสารพิษ ส่งเสริมการเกื้อหนุนโดยชุมชน เช่น การจัดครัวกลางเพื่อหล่อเลี้ยงคนในชุมชน รวมไปถึงโครงการจ้างงานระยะสั้นเพื่อนำรายได้มาเลี้ยงดูครอบครัวในช่วงโควิด

"การดูแลเรื่องอาหารช่วงโควิดต้องทำตั้งแต่ต้นทางเริ่มตั้งแต่การเพาะปลูกที่ต้องปลอดภัยจากสารเคมี การกระจายอาหารถึงผู้บริโภคทุกกลุ่มในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง การดูแลเรื่องอาหารนอกจากจะต้องไม่ขาดแคลนแล้ว ก็ต้องให้ความรู้ทางโภชนาการควบคู่ไปด้วย เช่น กินให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย ไม่กินมากเกินไป เลือกกินผักผลไม้ให้มากขึ้น ที่สำคัญต้องหลีกเลี่ยงอาหารหวานมันเค็ม ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรค NCDs (Non-Communicable Diseases) หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ  โรคถุงลมโป่งพอง โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น" ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว

สร้างแหล่งอาหาร สร้างสุขภาวะกลุ่มเปราะบาง thaihealth

ด้าน นางสาวนพพรรณ  พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ให้ข้อมูลว่า จากการสำรวจเก็บข้อมูลในช่วงโควิด-19 ทำให้พบว่ามีคนไร้บ้านหน้าใหม่จำนวนมาก สิ่งหนึ่งที่หน่วยงานต่างๆ สามารถเข้ามาช่วยเหลือ คือการสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยชวนชุมชนเรียนรู้การจัดระบบเพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤติ โดยเฉพาะการลดรายจ่ายเรื่องอาหารซึ่งสามารถทำได้เลย เพียงแค่หาพื้นที่ในชุมชนปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเอง หรือถ้าชุมชนไหนมีพื้นที่ใหญ่ก็อาจจะเลี้ยงปลา หรือปลูกผักแปลงใหญ่ได้ นอกจากนี้อาจจะทำร้านอาหารราคาถูกขึ้นในชุมชน เช่น โครงการปันกันอิ่ม เป็นต้น

สร้างแหล่งอาหาร สร้างสุขภาวะกลุ่มเปราะบาง thaihealth

โดยการสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนในชุมชน ช่วงโควิด-19 ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องต่างๆ ดังนี้

1. ให้ความรู้เรื่องความมั่นคงทางอาหารแก่คนในชุมชน และกลุ่มคนไร้บ้าน โดยมีเครือข่ายหนุนเสริมการทำงาน เพื่อสร้างระบบอาหารให้เกิดขึ้นในชุมชน การเข้าถึงราคาอาหารที่ไม่แพงเกินไป ถ้ามีวิกฤติก็จะสามารถรับมือได้ดีกว่าชุมชนที่ไม่ได้มีการจัดระบบที่ดี

สร้างแหล่งอาหาร สร้างสุขภาวะกลุ่มเปราะบาง thaihealth

2. สร้างทัศนคติพึ่งพาตัวเอง อาจมีการรับแจกอาหารของบริจาคบ้าง เพราะเกิดวิกฤติจริงๆ แต่เราต้องปลูกฝังด้วยว่าไม่ใช่การสงเคราะห์และรอรับ เพราะสิ่งสำคัญคือต้องพยายามทำให้เขาลุกขึ้นมาจัดการชีวิตตัวเอง เช่น การรวมกลุ่มสร้างอาชีพหารายได้

3. ส่งเสริมสร้างแหล่งอาหารเอง เช่น การปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ทำการเกษตร หรือทำให้เกิดเป็นระบบอาหารชุมชนขึ้น เพื่อจัดการปัญหาเมื่อเกิดภาวะความยากลำบากในอนาคต

สร้างแหล่งอาหาร สร้างสุขภาวะกลุ่มเปราะบาง thaihealth

ขณะที่ นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้ฯ คนไร้บ้าน สสส. บอกว่า วิกฤติโควิด-19 ทำให้จำนวนคนไร้บ้านมีเพิ่มมากขึ้น ประมาณร้อยละ 25-30 ซึ่งกลุ่มคนจนที่อยู่นอกระบบชุมชนจะน่าเป็นห่วงที่สุด จัดเป็นกลุ่มคนเปราะบางที่เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือ และอาจกลายเป็นคนไร้บ้านในที่สุด

สร้างแหล่งอาหาร สร้างสุขภาวะกลุ่มเปราะบาง thaihealth

การสร้างความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ นอกจากจะต้องอิ่มท้องแล้วก็ต้องถูกสุขลักษณะด้วย นายอนรรฆ บอกต่อว่า เราได้ทำโครงการกองทุนข้าวสารเพื่อช่วยเหลือคนในชุมชน โดยรับข้าวมาจากเครือข่ายเกษตรกรที่ปลูกแบบอินทรีย์ มาขายให้ครัวเรือนละ 20 บาท ซึ่งนอกจากจะช่วยให้คนในชุมชนมีอาหารแล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอีกด้วย

สร้างแหล่งอาหาร สร้างสุขภาวะกลุ่มเปราะบาง thaihealth

"การสร้างคุณค่าในตัวเองให้กับกลุ่มคนเปราะบางก็เป็นสิ่งสำคัญ เราสามารถทำให้เขาเปลี่ยนจากผู้รับเป็นผู้ให้ได้ เช่น การช่วยทำความสะอาด เก็บขยะตามพื้นที่สาธารณะ หรือช่วยงานอาสาต่างๆ โดยแลกกับคูปองอาหาร ซึ่งการช่วยเหลืองานสังคมเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จะทำให้เกิดการเรียนรู้ว่าเขาก็สามารถเป็นผู้ให้ได้เช่นกัน" ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้ฯ คนไร้บ้าน สสส. กล่าว

สร้างแหล่งอาหาร สร้างสุขภาวะกลุ่มเปราะบาง thaihealth

การลดรายจ่ายในการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับคนในชุมชน หรือกลุ่มคนไร้บ้าน อย่างน้อยก็ช่วยสร้างทักษะเพื่อรับมือกับวิกฤติโควิดที่ยังคงอยู่ หรือวิกฤติอื่นๆ ในอนาคตได้ สสส.และภาคีเครือข่าย ส่งเสริมการสร้างความมั่นคงทางอาหารยั่งยืน เพื่อทำให้เกิดแหล่งอาหารที่ดีและเพียงพอกับคนทุกกลุ่มในสังคม

 ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://healthydee.moph.go.th