วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2565

โรคมือเท้าปาก โรคระบาดในเด็ก


 โรคมือเท้าปากนับว่าเป็นโรคระบาดที่พบบ่อยในเด็กทารก เด็กเล็กตามสถานรับเลี้ยงเด็ก และโรงเรียนอนุบาล เนื่องจากติดต่อกันง่าย ดังนั้น การป้องกันและการดูแลรักษาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก วันนี้

เรามาติดตามกันเถอะว่า โรคมือเท้าปากมีอาการอย่างไร และป้องกันได้อย่างไรบ้าง

โรคมือเท้าปาก เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อ Enterovirus ติดต่อได้ง่ายโดยการสัมผัสกับเชื้อโดยตรงผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ เด็กจะมีอาการมีไข้ เจ็บปาก กินอะไรไม่ค่อยได้ น้ำลายไหล มีแผลในปากคล้ายร้อนใน มีผื่นเป็นจุดแดง ๆ หรือตุ่มน้ำใสบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ซึ่งอาจขึ้นตามลำตัว แขน และขาได้เช่นกัน อาการจะหนักในช่วง 2-3 วันแรก จากนั้นจะค่อย ๆ ทุเลาลงและหายเองได้ในเวลา 1 สัปดาห์

การรักษา

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาหรือฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรง จะเป็นการรักษาตามอาการ คือ ถ้ามีไข้ก็ให้กินยาลดไข้ โดยขนาดยาพาราเซตามอลที่เหมาะสมในเด็ก คือ 10 - 15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยรับประทานทุก4-6 ชั่วโมงหรือเมื่อมีอาการ และเช็ดตัวลดไข้ร่วมด้วย ถ้ามีอาการคัน ก็อาจจะกินยาแก้แพ้ แก้คันได้ ซึ่งควรใช้ขนาดยาตามที่ฉลากระบุ โดยคำนวณจากน้ำหนักตัวเป็นหลัก ถ้ามีอาการเจ็บแผลในปาก อาจใช้ยาชาทาตุ่มแผลในช่องปาก

การป้องกัน

1. ถ้าเด็กเป็นโรคมือเท้าปากก็ควรต้องหยุดเรียน เพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อ

2. เด็กควรล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนและหลังกินอาหาร หรือหลังจากเข้าห้องน้ำ

3. หมั่นทำความสะอาดของเล่นหรือของใช้เด็ก

4. ฝึกนิสัยกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ให้กับเด็ก

 โรคมือเท้าปากสามารถหายได้เองก็จริง แต่ในรายที่อาการรุนแรง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนทำให้
ก้านสมองอักเสบ และมีโอกาสเสียชีวิตได้ ดังนั้น พ่อแม่ต้องหมั่นสังเกตอาการของลูก หากลูกมีอาการซึมลง หายใจหอบ หายใจเร็ว มีอาการชัก เกร็ง หมดสติ หรือมือสั่น ขาสั่น เดินเซ ควรรีบพามาพบแพทย์


 ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://healthydee.moph.go.th