วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2565

ผลการดำเนินงานของกระทรวงมหาดไทย ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี พบ ผลงานตามนโยบายสำคัญด้านการบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาการเกษตร การเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยว มีความคืบหน้าตามแผน


 

วันที่ 25 มกราคม 2565 กระทรวงมหาดไทยได้เสนอรายงานผลการดำเนินงานของกระทรวงมหาดไทย ตามข้อสั่งการของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปตรวจราชการ ณ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา โดยผลการดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในประเด็นต่าง ๆ (ข้อมูล ณ 30 พ.ย.64) ได้แก่ การบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาภาคการเกษตร และการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยว มีความก้าวหน้าตามแผน ซึ่งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้บูรณาการทำงานร่วมกับจังหวัดเพชรบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่และส่วนกลาง สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

 
1. การบริหารจัดการน้ำ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริหารจัดการน้ำให้ครอบคลุมทุกมิติอย่างยั่งยืน และพอเพียงเพื่อให้สามารถรองรับน้ำและใช้ประโยชน์ในการอุปโภค บริโภค เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ตลอดจนรักษาระบบนิเวศได้สูงสุด โดยให้วางแผนการดำเนินการระยะยาวเชื่อมโยงกับนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบ่งความรับผิดชอบและทำงานอย่างบูรณาการกันในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ 
 
ผลการดำเนินงาน
 จังหวัดเพชรบุรี ได้ประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี มีผลการดำเนินการเป็นรูปธรรม อาทิ 1) โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี ซึ่งเป็นการกำหนดแผนการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนแก่งกระจานในฤดูแล้ง ปี 2564/2565 ให้ครอบคลุมทุกมิติอย่างยั่งยืน และเพียงพอ เพื่อให้สามารถรองรับน้ำและใช้ประโยชน์ในการอุปโภค บริโภค เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ตลอดจนรักษาระบบนิเวศได้สูงสุด 2) แผนการเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำหลากและแก้ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี รวมถึงได้คาดการณ์สภาพอากาศล่วงหน้าให้เฝ้าระวังฝนตกหนักในช่วงเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน ตลอดจนเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงทีมีประสิทธิภาพ เช่น เครื่องมือ เครื่องจักร จุดเสี่ยงน้ำท่วม จุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 3) ผลการดำเนินงานการใช้เครื่องสูบสมรรถนะสูง เพื่อการสูบส่งน้ำกักเก็บและระบายน้ำ ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ซึ่งย้ำให้ดำเนินการตัดยอดน้ำหลากในพื้นที่ภูเขาด้วยเครื่องสูบน้ำระยะไกลเพื่อชะลอน้ำหลากและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งหรือพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 8 เขต (ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ เป็น 1 ใน 8 เขต โดยสามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำและมีปริมาณน้ำที่สูบได้ 95,000 ลูกบาศก์เมตร) 4) จังหวัดเพชรบุรีบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ สำรวจพื้นที่แหล่งน้ำที่มีความจำเป็นเพิ่มปริมาณน้ำเพื่อกักเก็บทั้งด้านการอุปโภคบริโภคหรือเพื่อการประกอบอาชีพและมีความเหมาะสมที่จะดำเนินการโดยใช้การสูบส่งน้ำได้ รวมทั้งสำรวจแหล่งน้ำต้นทางที่มีปริมาณน้ำมากหรือเพียงพอที่จะสูบส่งไปยังพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำกักเก็บน้อย เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนตามนโยบายรัฐบาลต่อไป 5) จัดเตรียมความพร้อม รายละเอียดโครงการ แผนงาน และความพร้อมของพื้นที่ให้สมบูรณ์ชัดเจนก่อนเสนอโครงการเพื่อขอรับงบประมาณในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ ได้แก่  (1) โครงการชลประทานเพชรบุรี ซึ่งเป็นแผนงานที่จะดำเนินการในอนาคต อาทิ งานปรับปรุงคลองระบายน้ำและคลองส่งน้ำ พร้อมคลองขุดใหม่ความยาวรวม 27.227 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที งานเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำ ประกอบด้วย เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำเขื่อนแก่งกระจาน และเพิ่มประสิทธิภาพความจุอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ และ (2) เตรียมการสร้างการมีส่วนร่วมและสร้างการรับรู้ให้ประชาชน โดยจัดประชุมร่วมกับประชาชนในขั้นตอนการสำรวจ-ออกแบบรายละเอียด รวมถึงชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการและจัดหาที่ดินในการก่อสร้าง เป็นต้น
 
2. การพัฒนาภาคการเกษตร ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสริมสร้างศักยภาพเกษตรกรให้สามารถเข้าสู่ระบบการผลิต การแปรรูปและการตลาดที่ทันสมัย พัฒนาผลิตภัณฑ์ และการใช้ประโยชน์จากพืชอย่างสร้างสรรค์ ตลอดจนหาช่องทางการตลาดและผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ๆ ให้กับเกษตรกร และให้คัดเลือกเกษตรกร ชุมชนหรือวิสาหกิจชุมชนด้านการเกษตรที่ประสบความสำเร็จ เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางการเกษตรและเกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
ผลการดำเนินงาน
 จังหวัดเพชรบุรี โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบุรี ได้มีการดำเนินการต่าง ๆ ตามข้อสั่งการแล้ว ประกอบด้วย (1) ดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มและวางแผนการผลิต ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ (2) อบรมถ่ายทอดความรู้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน (3) ส่งเสริมให้เกษตรกรเกิดการรวมกลุ่มเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการตลาด และ (4) ส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าผ่านตลาดออนไลน์ได้แก่ Thailandpostmart ของบริษัทไปรษณีย์ไทย และตลาดเกษตรกรออนไลน์ของกรมส่งเสริมการเกษตร  นอกจากนี้ยังได้ดำเนินโครงการตลาดกลางสินค้าเกษตรเพชรบุรีโมเดล โดยเฉพาะการจัดทำ “เพชรบุรีโมเดล” ด้านตลาดกลางการเกษตรออนไลน์ ส่งเสริมการตลาดด้วยระบบ E-commerce โดยให้จังหวัดเพชรบุรีเป็นจังหวัดนำร่องตลาดกลางสินค้าเกษตรทั้ง Online และ Offline โดยเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 มีการเปิดตัวแถลงข่าว “ตลาดกลางสินค้าเกษตรออนไลน์ เพชรบุรีโมเดล” ซึ่งตั้งแต่เริ่มดำเนินงานจนถึงปัจจุบัน มีสินค้าของจังหวัดเพชรบุรีโพสจำหน่ายในแพลตฟอร์ม Thailandpostmart แล้วจำนวน 12 สหกรณ์/ร้านค้า จำนวนชนิดสินค้า 71 ชนิด พร้อมทั้งมีการสร้างเพจ “ของดีเพชรบุรี” ซึ่งมีสินค้าที่จำหน่ายในเพจฯ แล้วจำนวน 124 รายการ ควบคู่กับการจัดช่วงเวลาให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ ไลฟ์สดจำหน่ายสินค้าในเพจของดีเพชรบุรีเป็นประจำอีกด้วย อีกทั้งบริษัทฟู้ดวิลล์ จำกัด มีแผนที่จะเช่าพื้นที่ตลาดกลางการเกษตรท่ายาง ทำศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าเกษตรเพื่อส่งให้กับตลาดในกรุงเทพมหานคร โรงเรียน เอกชน ร้านอาหาร ซึ่งสินค้าที่รับซื้อจะต้องมีมาตรฐานขั้นต่ำคือ GAP และเมื่อวันที่  20 ตุลาคม 2564 คณะทำงานโครงการตลาดกลางสินค้าเกษตรเพชรบุรีโมเดล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบริษัทฟู้ด วิลล์ จำกัด  ได้ตกลงเงื่อนไขในการรับซื้อผักผลไม้จากเกษตรกรและผู้ค้าที่ตลาดกลางการเกษตรท่ายาง (หนองบ้วย) ซึ่งมีพืชเกษตรรวม 20 กว่ารายการ โดยได้เริ่มต้นดำเนินการในเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งการที่บริษัทฟู้ด วิลล์ จำกัดได้เข้ามารับซื้อสินค้าจากเกษตรกรโดยตรงทำให้สามารถเลือกสรรสินค้าได้ตามความพอใจทั้งราคาและคุณภาพ และสร้างอาชีพและรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่ด้วย
 
3. การเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการในการประชุมเตรียมความพร้อมการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยว (Sandbox) โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อรองรับการเปิดรับนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างชาติอย่างรอบคอบและรัดกุม  โดยการเปิดประเทศนั้นสามารถพิจารณาเป็นรายพื้นที่ตามศักยภาพของพื้นที่นั้น ๆ เช่น พื้นที่สีขาว ทั้งนี้ ต้องควบคุมให้มีการปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และเร่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในแต่ละพื้นที่ รวมถึงมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) ให้กับประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว
 
ผลการดำเนินงาน
 สำนักงานสาธารสุขจังหวัดเพชรบุรีได้ตรวจติดตามการปฏิบัติตามมาตรการการเตรียมความพร้อมของพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ดังนี้ 1) มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention for COVID-19) ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ผ่านสื่อทุกช่องทางเพื่อให้ประชาชนดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรค ติดตามตรวจประเมินผลการดำเนินงานรวมทั้งบังคับใช้กฎหมายตามความจำเป็นโดยตรวจติดตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในสถานประกอบการพื้นที่ตำบลชะอำ ตามหลัก Universal Prevention หรือการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาลทุกสัปดาห์ 2) การตรวจคัดกรองด้วย Antigen Test  Kit (ATK) อาทิ ติดตามตรวจ ATK สถานประกอบกิจการต่าง ๆ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เร่งการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อทุกพื้นที่แบบปูพรม สุ่มตรวจพนักงานในสถานที่ต่าง ๆ ทั้งร้านอาหาร สถานประกอบการ โรงแรม ฯลฯ กำหนดช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจ RT-PCR  โดยแจ้งโรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล เทศบาล และศูนย์บริการนักท่องเที่ยว รวมทั้งติดตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาพักในพื้นที่ตำบลชะอำ ผลการตรวจ ATK หลักฐานการคัดกรองความเสี่ยงจาก Application การฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ตลอดจนเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ตรวจสอบติดตามการติดเชื้อ COVID-19 การสอบสวนโรคในพื้นที่ตำบลชะอำและรายงานผลทุกวัน ทั้งนี้ กรณีพบผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 กรณีพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 ได้จัดหาสถานที่กักตัวกลุ่มเสี่ยง จัดโรงพยาบาลสนามรองรับเพิ่มเติมในการรักษาพยาบาลและส่งต่อ รายงานสอบสวนโรคภายใน 24 ชั่วโมง จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์อำเภอชะอำ จำกัดการแพร่ระบาด ปรับลดกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวในกลุ่มที่พบการติดเชื้อ รายงานผลการสอบสวนโรคต่อศูนย์บริหารสถานการณ์อำเภอชะอำ 3) ความครอบคลุมของการได้รับวัคซีน (Vaccine coverage) อาทิ สำรวจจำนวนความต้องการวัคซีนของประชาชนในพื้นที่ เพื่อขอสนับสนุนวัคซีนจากกรมควบคุมโรค บริหารการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายและติดตามการได้รับวัคซีนของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ตำบลชะอำให้ครอบคลุมตามเกณฑ์ 4) มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting) และ 5) รายงานผลการดำเนินการให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเพชรบุรีทราบอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.thaigov.go.th