วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 8 กุมภาพันธ์ 2565

 


วันนี้ (8 กุมภาพันธ์ 2565)  เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
 

กฎหมาย

                   1.       เรื่อง     ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                   2.       เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยนครพนม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                   3.       เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                   4.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงออกตามพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 รวม 3 ฉบับ
                   5.       เรื่อง     ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยมาตรการทางบริหารในการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                   6.       เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดสาขาวิชา ปริญญา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของสถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ. ....
 

เศรษฐกิจ สังคม

                   7.       เรื่อง     (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564 - 2570
                   8.       เรื่อง     การขอโอนสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2547/67 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข L10/43 และ L11/43
                   9.       เรื่อง     การกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2563/2564
                   10.      เรื่อง     การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2564/2565
                   11.      เรื่อง     สรุปผลการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่าครั้งที่ 1/2565
                   12.      เรื่อง     รายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2564
                   13.      เรื่อง     ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนธันวาคม 2564
                   14.      เรื่อง     สรุปผลการประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 8/2564
                   15.      เรื่อง     รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤศจิกายน 2564 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2564 และแนวโน้มปี 2565
                   16.      เรื่อง     รายงานผลการปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมันดิบรั่วไหลในทะเล บริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง ของกระทรวงกลาโหม
                   17.      เรื่อง     ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาน พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายใต้โครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชน
                   18.      เรื่อง     การขอขยายระยะเวลาการดำเนินการศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราว (The Temporary Data Collection Centre : TDCC) ของทางการเมียนมา และการได้มาซึ่งเอกสารประจำตัวของคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564

ต่างประเทศ

                   19.      เรื่อง     การพิจารณารับรองร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุม OECD SEARP ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 2
                   20.      เรื่อง     การแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการ ภายหลังประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกที่ประชุมกรุงเฮกว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล
                   21.      เรื่อง     ผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-เวียดนาม ครั้งที่ 4
                   22.      เรื่อง     การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 (The Fifth APEC Meeting of Ministers Responsible for Forestry: MMRF5)
 

แต่งตั้ง

                   23.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับ ทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
                   24.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับ ทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)
                   25.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)
                   26.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)
                   27.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)
                   28.      เรื่อง     การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
                   29.      เรื่อง     การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการยาสูบแห่งประเทศไทย
                   30.      เรื่อง     การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารออมสิน
                   31.      เรื่อง     การแต่งตั้งประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง
                  
*******************
สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
 

กฎหมาย

1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้
                   1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
                   2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอ 
                   ทั้งนี้ สำนักงาน ปปง. เสนอว่า 
                   1. เมื่อ พ.ศ. 2559 ประเทศไทยได้ตราพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2559 เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ให้รองรับกับมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Anti-Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism: AML/CFT) ตามที่คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (Financial Action Task Force on Money Laundering: FATF) กำหนด 
                   2. อย่างไรก็ตาม จากรายงานการประเมินผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายของประเทศไทย พ.ศ. 2560 พบว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายตามข้อ 1. ยังมีข้อบกพร่องที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเพิ่มเติม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการประกาศและการเพิกถอนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดให้เป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้าย หรือเป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง การระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้ที่ถูกประกาศรายชื่อดังกล่าว และการเข้าถึงทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สิน ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญของมาตรฐานสากล นอกจากนี้ บทบัญญัติที่กำหนดหน้าที่และอำนาจของสำนักงาน ปปง. ในการขับเคลื่อนภารกิจตามกฎหมายในบางประการยังไม่ชัดเจนและครบถ้วนเพียงพอ อันอาจส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เกิดประสิทธิผลเท่าที่ควรอีกด้วย ดังนั้น สำนักงาน ปปง. จึงได้ยกร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และสามารถบังคับใช้ให้เกิดประสิทธิผลได้ต่อไป รวมทั้งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานด้านความมั่นคงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับต่อประชาคมโลกในการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้ายและก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบกิจการและนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ  
                   3. ในคราวประชุมคณะกรรมการ ปปง. ครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติตามข้อ 2. และเห็นชอบให้สำนักงาน ปปง. เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป  
                   4. สำนักงาน ปปง. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยได้รับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของสำนักงาน ปปง. (www.amlo.go.th) และส่งหนังสือรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และสำนักงาน ปปง. ได้จัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย พร้อมทั้งได้เปิดเผยเอกสารดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าว และได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 (เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562) แล้ว 
                   สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ 
                   1. กำหนดกระบวนการส่งเรื่องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ พิจารณากำหนดหรือเพิกถอนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดให้เป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้าย หรือเป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง  
                   2. กำหนดให้นำมาตรการระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินมาใช้โดยอนุโลมกับทรัพย์สินที่โอนเข้าบัญชีที่ถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินอันเนื่องมาจากมีการประกาศรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดให้เป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้ายหรือเป็นผู้ที่มีการกระทำ อันเป็นการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง  
                   3. กำหนดให้ผู้ซึ่งถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินหรือผู้มีส่วนได้เสีย มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้สำนักงาน ปปง. หรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติพิจารณาอนุญาตให้เข้าถึงหรือดำเนินการกับทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นพื้นฐาน หรือเพื่อการอื่นใดที่จำเป็น 
                   4. กำหนดให้สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานที่ดินสาขา หรือสำนักงานที่ดินอำเภอ ได้รับยกเว้นไม่ต้องกำหนดนโยบายในการประเมินความเสี่ยงหรือแนวทางปฏิบัติ เพื่อป้องกันมิให้มีการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง  
                   5. กำหนดให้หลักเกณฑ์ ระเบียบ และประกาศของคณะกรรมการ ปปง. ที่ออกตามพระราชบัญญัติที่กำหนดให้ประชาชนต้องปฏิบัติ ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนจึงจะใช้บังคับได้ 
                   6. กำหนดให้สำนักงาน ปปง. มีอำนาจหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการกำหนดหรือเพิกถอนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด และปฏิบัติการอื่นตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น และกำหนดให้เลขาธิการคณะกรรมการ ปปง. และพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นหมายเป็นหนังสือจากเลขาธิการคณะกรรมการ ปปง. มีอำนาจเรียกพยานหลักฐานเพื่อตรวจสอบตามหน้าที่ 
                   7. กำหนดเพิ่มเติมความผิดในฐานต่าง ๆ เช่น ฝ่าฝืนไม่กำหนดนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติ หรือมาตรการอื่นใดที่จำเป็นเพื่อป้องกันการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ฝ่าฝืนคำสั่งเรียกพยานหลักฐานของเลขาธิการคณะกรรมการ ปปง. หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เป็นต้น และแก้ไขเพิ่มเติมความผิดเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและความผิดเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ให้มีอัตราโทษที่เหมาะสม รวมทั้งกำหนดให้ความผิดบางประการที่นิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิด เป็นความผิดที่เปรียบเทียบได้
 
2. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยนครพนม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยนครพนม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
                    เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยนครพนม พ.ศ. 2553 เพื่อกำหนดครุยวิทยฐานะของครุยประกาศนียบัตรบัณฑิต และครุยประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูงเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตและประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง เพิ่มขึ้นในคณะครุศาสตร์ ซึ่งสภามหาวิทยาลัยนครพนมได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว
 
3. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
                   เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี  พ.ศ. 2553 เกี่ยวกับการกำหนดปริญญาในสาขาวิชาและอักษรย่อสำหรับสาขาวิชาวิจิตรศิลป์และประยุกต์ศิลป์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์เพิ่มขึ้น และกำหนดปริญญาชั้นปริญญาโทเพิ่มขึ้นในสาขาวิชาอุตสาหกรรมศาสตร์ รวมทั้งกำหนดสีประจำสาขาวิชาวิจิตรศิลป์และประยุกต์ศิลป์ และสาขาวิชาศึกษาศาสตร์ ซึ่งสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรีได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว
 
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงออกตามพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 รวม  3 ฉบับ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ 1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทของโรงฆ่าสัตว์ พ.ศ. …. 2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดวันและเวลาฆ่าสัตว์ พ.ศ. …. 3. ร่างกฎกระทรวงการขึ้นทะเบียน การเพิกถอนการขึ้นทะเบียน และคุณสมบัติของบุคคลซึ่งจะได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานตรวจโรคสัตว์ พ.ศ. …. รวม 3 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 
                   1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทของโรงฆ่าสัตว์ พ.ศ. …. กำหนดประเภทโรงฆ่าสัตว์ ดังนี้ 
                             1.1 โรงฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ภายในประเทศ ได้แก่ โรงฆ่าสัตว์ที่ประกอบกิจการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ภายในประเทศเท่านั้น  
                             1.2 โรงฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ภายในประเทศและเพื่อการส่งออก ได้แก่ โรงฆ่าสัตว์ที่ประกอบกิจการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ภายในประเทศและได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์เพื่อการส่งออกต่างประเทศได้ด้วย
(เป็นการกำหนดขึ้นใหม่เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559)
                    2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดวันและเวลาฆ่าสัตว์ พ.ศ. …. 
                             2.1 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตฆ่าสัตว์ตามวัน เวลา และสถานที่ที่ได้แจ้งไว้ตามหลักฐานการรับแจ้งการฆ่าสัตว์ 
                             2.2 กำหนดให้หยุดฆ่าโค กระบือ แพะ แกะ สุกร และนกกระจอกเทศ ยกเว้นสัตว์ปีก ในวันพระ วันเข้าพรรษา และวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี นับตั้งแต่เวลา 00.01 นาฬิกา จนถึงเวลา 24.00 นาฬิกา (เดิม ให้หยุดทำการฆ่าสัตว์ในวันพระ ยกเว้นสัตว์ปีก และวันโกนหรือวันก่อนวันพระหนึ่งวัน นับตั้งแต่เวลา 18.00 นาฬิกา จนถึงเวลา 24.00 นาฬิกา วันพระ วันเข้าพรรษา วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นับตั้งแต่เวลา 00.01 นาฬิกา จนถึงเวลา 24.00 นาฬิกา ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดวันสำคัญและเวลาที่ต้องหยุดทำการฆ่าสัตว์ ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2555) 
                   3. ร่างกฎกระทรวงการขึ้นทะเบียน การเพิกถอนการขึ้นทะเบียน และคุณสมบัติของบุคคลซึ่งจะได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานตรวจโรคสัตว์ พ.ศ. ….
                             3.1 กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะขอขึ้นทะเบียนพนักงานตรวจโรคสัตว์ เช่น มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี เป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสัตวแพทย์หรือผ่านการศึกษาอบรมด้านการตรวจโรคสัตว์ และการตรวจเนื้อสัตว์ตามหลักสูตรที่กรมปศุสัตว์หรือสัตวแพทยสภาให้การรับรอง เป็นต้น โดยให้ผู้ที่ประสงค์จะขอขึ้นทะเบียนยื่นคำขอและเอกสารที่กรมปศุสัตว์ตามแบบที่กรมปศุสัตว์กำหนด และกำหนดระยะเวลาการขึ้นทะเบียนไว้ครั้งละ 5 ปี 
                             3.2 กำหนดให้การแต่งตั้งพนักงานตรวจโรคสัตว์ต้องแต่งตั้งจากบุคคลที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไว้กับกรมปศุสัตว์ และเป็นผู้ที่สามารถปฏิบัติงานในช่วงระยะเวลาที่ทำการฆ่าสัตว์ด้วย  
                             3.3 กำหนดเหตุแห่งการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนพนักงานตรวจโรคสัตว์ เช่น ผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนถูกเพิกถอนใบอนุญาตหรือไม่ได้รับการต่ออายุใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนไม่ปฏิบัติหน้าที่ตรวจโรคสัตว์ หรือตรวจพิสูจน์เนื้อสัตว์หรือรับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
(เป็นการกำหนดขึ้นใหม่เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559) 
 
5. เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยมาตรการทางบริหารในการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยมาตรการทางบริหารในการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่คณะกรรมการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ 
                   ทั้งนี้ คณะกรรมการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์เสนอว่า โดยที่ปัจจุบันมีการลักลอบนำพาบุคคลเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเป็นสาเหตุสำคัญและเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการค้ามนุษย์ โดยปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว ส่งผลให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ไม่บรรลุผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ในคราวประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ที่ประชุมจึงมีมติให้แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยมาตรการทางบริหารในการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2558 โดยแก้ไขบทนิยามคำว่า “การค้ามนุษย์” ให้หมายความรวมถึงการนำพาบุคคลเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่งอาจมีผลเกี่ยวข้องหรือนำไปสู่การกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ด้วย เพื่อเป็นการกำหนดมาตรการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการนำพาบุคคลเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่งอาจส่งผลให้บุคคลดังกล่าวตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ได้ รวมทั้งแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ในส่วนของตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการ เพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมการฯ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 
                   สาระสำคัญของร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี 
                   ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยมาตรการทางบริหารในการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2558 ดังนี้ 
                   1. แก้ไขบทนิยามคำว่า “การค้ามนุษย์” จาก “การกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์” เป็น “การกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และให้หมายความรวมถึงการนำพาบุคคลเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่งอาจมีผลเกี่ยวข้องหรือนำไปสู่การกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ด้วย” 
                   2. แก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ในส่วนของตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการ จากเดิมที่กำหนดให้รองอธิบดีกรมการปกครองที่อธิบดีกรมการปกครองมอบหมายเป็นผู้ช่วยเลขานุการ เป็นกำหนดให้เจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มอบหมาย จำนวน 2 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
 
6. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดสาขาวิชา ปริญญา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของสถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดสาขาวิชา ปริญญา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของสถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วนแล้วดำเนินการต่อไปได้
                        สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
                   1. กำหนดปริญญาในสาขาวิชาและอักษรย่อสำหรับสาขาวิชาการแพทย์แผนไทย สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ และสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์
                   2. กำหนดรายละเอียดครุยวิทยฐานะของสถาบันพระบรมราชชนกซึ่งมีสามชั้น ได้แก่ ครุยดุษฎีบัณฑิต ครุยมหาบัณฑิต และครุยบัณฑิต รวมทั้งกำหนดลักษณะเข็มวิทยฐานะของสถาบันพระบรมราชชนก และกำหนดครุยประจำตำแหน่งของผู้บริหารสถาบันพระบรมราชชนก
                   และสภาสถาบันพระบรมราชชนกได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ. 2562 เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาจากสถาบันพระบรมราชชนก จากเดิมที่ได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัยที่ได้รับสมทบวิทยาลัยในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนกเข้าร่วมเป็นสถาบันสมทบในการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรี อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
 

เศรษฐกิจ สังคม

7. เรื่อง (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564 - 2570
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ ดังนี้
                   1. (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG [การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio - Circular - Green Economy : BCG Model)] (โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน) [(ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ BCG] พ.ศ. 2564 - 2570
                   2. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนปฏิบัติการฯ BCG พ.ศ. 2564 - 2570 ไปดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่อไป
                   สำหรับงบประมาณในการดำเนินโครงการจำนวน 40,972.60 ล้านบาท ให้หน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ โดยพิจารณาใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามภารกิจเท่าที่จำเป็น คำนึงถึงความประหยัด และประโยชน์ที่ประเทศชาติและประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ และเพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณรายจ่ายประจำปีจำนวนมาก ตลอดจนการพิจารณานำแหล่งเงินนอกงบประมาณ การหารายได้จากแหล่งทุนภายนอกและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนมาร่วมดำเนินการ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG [การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio - Circular - Green Economy : BCG Model)] [(ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ BCG] พ.ศ. 2564 - 2570 มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) การอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพและวัฒนธรรม (2) การสร้างคุณค่า (Value Chain) จากทรัพยากรชีวภาพและวัฒนธรรม และ (3) การสร้างความสามารถในการพึ่งตนเอง โดยมีกรอบแนวทางการดำเนินงานภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การสร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมด้วยการจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์ ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การเสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และมีมาตรการหลักในการดำเนินการ 13 มาตรการ เช่น (1) พัฒนาคลังข้อมูลดิจิทัลของทุนความหลากหลายทางชีวภาพ ทุนวัฒนธรรม และทุนทางปัญญา (2) เพิ่มพูนทรัพยากรของชาติด้วยการผสานพลังของรัฐ เอกชน ชุมชน และหน่วยงานวิจัย (3) พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ BCG โดยการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค (4) ส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืนและการท่องเที่ยวสีเขียว (5) ยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการ BCG สู่มาตรฐานสากล (6) ส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) การประกอบการรูปแบบใหม่บนฐานเศรษฐกิจ BCG (7) สร้างและพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับเศรษฐกิจ BCG ในทุกระดับ (8) เชื่อมโยงกับสากลในทุกมิติ ทั้งการพัฒนาองค์ความรู้ การดึงดูดบุคลากร การค้า และการลงทุน เป็นต้น มีกลไกการบริหารจัดการและการติดตามประเมินผล โดยกลไกเชิงนโยบายมีคณะกรรมการบริหารฯ BCG Model (นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ผลักดันและขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อให้เกิดการบูรณาการในการทำงานที่เป็นเอกภาพและเป็นการดำเนินงานที่มุ่งไปสู่การบรรลุเป้าหมายเดียวกัน และกลไกการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ มีคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ BCG Model (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธาน) ทำหน้าที่จัดทำแผนงานการขับเคลื่อนตามนโยบายสู่การปฏิบัติ รวมทั้งกำหนดระบบการติดตามและการประเมินผลที่มีความต่อเนื่อง มีคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ BCG Model สาขาเป้าหมายทำหน้าที่ติดตามผลการดำเนินงาน ศึกษา วิเคราะห์ปัญหา และแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อการเร่งรัดให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG และมีสำนักงานคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาการเศรษฐกิจ BCG ทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ BCG Model โดยสร้างการรับรู้เกี่ยวกับ BCG Model และประสานความร่วมมือกับกระทรวงและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาในการดำเนินงานทั้งสิ้น 6 ปี (พ.ศ. 2565 - 2570) โดยจะใช้งบประมาณในการดำเนินงานจำนวนทั้งสิ้น 40,972.60 ล้านบาท
 
8. เรื่อง การขอโอนสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2547/67 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข L10/43 และ L11/43
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอให้บริษัท สยามโมเอโกะ จำกัด (บจก. สยามโมเอโกะ) โอนสิทธิ ประโยชน์ และพันธะซึ่งถืออยู่ทั้งหมดตามสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2547/67 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข L10/43 และ L11/43 ให้แก่บริษัท ยูเอซี ยูทิลิตีส์ จำกัด (บจก. ยูเอซี ยูทิลิตีส์) โดยอาศัยความตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการปิโตรเลียมและต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 22 (7) แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ พน. จะออกเป็นสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) ของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2547/67 ตามแบบ ชธ/ป3/1 ที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดแบบสัมปทานปิโตรเลียม พ.ศ. 2555 ต่อไป
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   การโอนสิทธิ ประโยชน์ และพันธะซึ่งถืออยู่ทั้งหมดตามสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2547/67 ของบริษัท สยามโมเอโกะ จำกัด (ผู้โอน) เป็นการดำเนินการเปลี่ยนแปลงผู้รับสัมปทานและผู้ดำเนินงานในแปลงสำรวจบนบกหมายเลข L10/43 หรือพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมอรุโณทัย และแปลงสำรวจบนบกหมายเลข L11/43 หรือพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมบูรพา (พื้นที่จังหวัดสุโขทัยและพิษณุโลก) ซึ่งเป็นแหล่งที่ค้นพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์และมีการดำเนินการผลิตปิโตรเลียมตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2556 (สิ้นสุดระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมในวันที่ 21 มกราคม 2576) เนื่องจากผู้โอนประกอบธุรกิจด้านน้ำมันดิบ ส่งผลให้ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติและของเหลวอื่น ๆ ซึ่งเป็นสัดส่วนหลักของพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมดังกล่าว ดังนั้น การผลิตปิโตรเลียมตามแนวทางและมาตรฐานของผู้โอนจึงใช้เงินลงทุนในการดำเนินการสูง เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ที่คาดว่าจะได้รับ ทั้งนี้ บริษัท ยูเอซี ยูทิลิตีส์ จำกัด (บจก. ยูเอซี ยูทิลิตีส์) (ผู้รับโอน) ได้แสดงความสนใจและตอบรับที่จะรับโอนสัมปทานปิโตรเลียม เพื่อแสวงหาโอกาสในการพัฒนาปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่ค้นพบแล้วให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศต่อไป โดยผู้รับโอนมีผู้ถือหุ้นจำนวน 2 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายไทยและดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียม ดังนี้

ผู้ถือหุ้นธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน)
สัดส่วนการถือหุ้นใน บจก. ยูเอซี ยูทิลิตีส์
ร้อยละ 70
- ธุรกิจพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก
- กิจการโรงไฟฟ้า 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าเสาเถียร - เอ และโรงไฟฟ้าประดู่เฒ่า - เอ
- โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (PPP) ในเขตพื้นที่อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ได้จากการผลิตน้ำมันดิบแหล่งบูรพา (แปลงสำรวจบนบกหมายเลข L10/43) รวมทั้งมีการติดตั้งท่อก๊าซธรรมชาติเพื่อรับก๊าซธรรมชาติที่ได้จากการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติมจากแหล่งปิโตรเลียมเสาเถียร - เอ (แปลงสำรวจบนบกหมายเลข S1)
บริษัท พีทีอี พลัส จำกัด
สัดส่วนการถือหุ้นใน บจก. ยูเอซี ยูทิลิตีส์
ร้อยละ 30
ธุรกิจด้านการสำรวจและให้บริการในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยมีเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมทั้งมีประสบการณ์ เช่น บริการติดตั้งและซ่อมบำรุงเครื่องสูบหลุมน้ำมัน บริการหลุมเจาะติดตั้งและเปลี่ยนระบบการผลิตบริการหลุมผลิตแบบรถบรรทุกเคลื่อนที่ บริการแปลและวิเคราะห์ข้อมูลและประเมินศักยภาพของแหล่งผลิต เป็นต้น

ทั้งนี้ คณะกรรมการปิโตรเลียมและกระทรวงพลังงานได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้รับโอนมีคุณสมบัติในการเป็นผู้รับสัมปทานตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และมีความพร้อมทางด้านเทคนิค ทางด้านการเงินในการปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขในสัมปทาน และหากได้รับทราบผลการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้ว บจก. ยูเอซี ยูทิลิตีส์ จะเข้าดำเนินการพัฒนาแหล่งที่ค้นพบปิโตรเลียมและผลิตปิโตรเลียมได้ต่อไป ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นการดำเนินการตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่ง พน. จะดำเนินการออกเป็นสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) ของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2547/67 ตามแบบ ชธ/ป3/1 ที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดแบบสัมปทานปิโตรเลียม พ.ศ. 2555 ต่อไป
 
9. เรื่อง การกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2563/2564
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2563/2564 เป็นรายเขต 9 เขต โดยมีอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศ ดังนี้
                   1. ราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2563/2564 เฉลี่ยทั่วประเทศในอัตราตันอ้อยละ 1,002.20 บาท ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส.*
                   2. อัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อย เฉลี่ยทั่วประเทศ เท่ากับ 60.13 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.
                   3. ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2563/2564 เฉลี่ยทั่วประเทศ เท่ากับ 429.51 บาทต่อตันอ้อย
________________________
* ซี.ซี.เอส. (Commercial Cane Sugar : CCS) เป็นระบบการคิดคุณภาพของอ้อย ซึ่งได้นำแบบอย่างมาจากระบบการซื้อขายอ้อยของประเทศออสเตรเลีย และได้เริ่มใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ฤดูการผลิตปี 2536/2537 เป็นต้นมา โดยคำว่า ซี.ซี.เอส. หมายถึง ปริมาณของน้ำตาลที่มีอยู่ในอ้อยซึ่งสามารถหีบสกัดออกมาได้เป็นน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ส่วนอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. หมายถึง เมื่อนำอ้อยมาผ่านกระบวนการผลิต จะได้น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ร้อยละ 10 กล่าวคือ อ้อย 1 ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัมจะได้น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 100 กิโลกรัม
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   อก. รายงานว่า
                   1. พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 55 และมาตรา 56 บัญญัติให้ภายในเดือนตุลาคมของทุกปี ให้คณะกรรมการบริหารกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย และเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการแล้วให้เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ก่อนที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายจะออกประกาศและนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา
                   2. คณะกรรมการบริหารในคราวประชุมครั้งที่ 8/2564 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ได้พิจารณาการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิต ปี 2563/2564 แล้วเสนอคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายในคราวประชุมครั้งที่ 12/2564 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 โดยคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายมีมติรับรองและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการบริหารเสนอ ดังนี้
                             2.1 เห็นชอบข้อมูลองค์ประกอบการคำนวณราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2563/2564
                             2.2 เห็นชอบการคำนวณรายได้สุทธิที่ได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทรายตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ฤดูการผลิตปี 2563/2564 ได้ราคาอ้อยเฉลี่ยทั่วประเทศในอัตราตันอ้อยละ 1,006.97 บาท ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. และกำหนดอัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อย เท่ากับ 60.42 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย เท่ากับ 431.56 บาทต่อตันอ้อย
                             2.3 เห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2563/2564 เป็นรายเขต 9 เขต ดังนี้

เขตคำนวณราคาราคาอ้อยขั้นสุดท้ายผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ที่ 10 ซี.ซี.เอส.
(บาทต่อตันอ้อย)
ที่ 10 ซี.ซี.เอส.
(บาทต่อตันอ้อย)
อัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อย
(บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.)
เขต 11,024.6561.48439.14
เขต 2973.3758.40417.16
เขต 31,018.8861.13436.66
เขต 4975.4358.53418.04
เขต 51,023.4761.41438.63
เขต 61,026.8461.61440.08
เขต 71,019.6261.18436.98
เขต 91,010.7360.64433.17
เฉลี่ยทั่วประเทศ1,002.2060.13429.51

หมายเหตุ เขต 8 จำนวน 1 โรงงาน ประกอบด้วย โรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลชลบุรี ไม่เปิดหีบอ้อย
                             2.4 เห็นชอบให้โรงงานน้ำตาลนำส่งเงินส่วนต่างระหว่างรายได้สุทธิและราคาอ้อยขั้นสุดท้ายให้กับกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ฤดูการผลิตปี 2563/2564 ตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527
                   3. ประเด็นข้อพิพาท เรื่อง น้ำตาลภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ระหว่างประเทศไทยกับบราซิลมิได้มีประเด็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการในการคำนวณราคาอ้อยทั้งขั้นต้นและขั้นสุดท้าย ดังนั้น การกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2563/2564 จึงไม่ขัดกับข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศแต่อย่างใด แต่เป็นการรักษาประโยชน์ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย รวมทั้งเป็นการสร้างหลักประกันอย่างพอเพียงและเหมาะสมให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย
                   4. หากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2563/2564 ตามที่ อก. เสนอแล้ว จะตัองดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ และมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ กรณีราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ชาวไร่อ้อยจะได้รับค่าอ้อยเพิ่มสำหรับนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการเพาะปลูกและบำรุงรักษาอ้อยและการดำรงชีพต่อไป อันจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม ต่อไป
 
10. เรื่อง การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2564/2565
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ทั้ง 9 เขตคำนวณราคาอ้อยเป็นราคาเดียวทั่วประเทศ ดังนี้
                   1. ราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ในอัตราตันอ้อยละ 1,070 บาท ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส.* หรือเท่ากับร้อยละ 96.34 ของประมาณการราคาอ้อยเฉลี่ยทั่วประเทศ 1,110.66 บาทต่อตันอ้อย และกำหนดอัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อยเท่ากับ 64.20 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.
                   2. ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2564/2565 เท่ากับ 458.57 บาทต่อตันอ้อย
________________________
* ซี.ซี.เอส. (Commercial Cane Sugar : CCS) เป็นระบบการคิดคุณภาพของอ้อย ซึ่งได้นำแบบอย่างมาจากระบบการซื้อขายอ้อยของประเทศออสเตรเลีย และได้เริ่มใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ฤดูการผลิตปี 2536/2537 เป็นต้นมา โดยคำว่า ซี.ซี.เอส. หมายถึง ปริมาณของน้ำตาลที่มีอยู่ในอ้อยซึ่งสามารถหีบสกัดออกมาได้เป็นน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ส่วนอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. หมายถึง เมื่อนำอ้อยมาผ่านกระบวนการผลิต จะได้น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ร้อยละ 10 กล่าวคือ อ้อย 1 ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัมจะได้น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 100 กิโลกรัม
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   อก. รายงานว่า
                   1. พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 49 - 53 บัญญัติให้ก่อนเริ่มฤดูการผลิตน้ำตาลทราย ให้คณะกรรมการบริหารจัดทำประมาณการรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทรายที่จะผลิตในฤดูนั้น เพื่อกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น และเมื่อคณะกรรมการบริหารได้จัดทำประมาณการรายได้ และกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นแล้ว ให้แจ้งให้สถาบันชาวไร่อ้อยและสมาคมโรงงานทราบ และจัดให้มีการประชุมผู้แทนสถาบันชาวไร่อ้อย และผู้แทนสมาคมโรงงานเพื่อรับฟังความคิดเห็น และข้อคัดค้าน (ถ้ามี) โดยทำเป็นหนังสือแจ้งให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบวันก่อนวันประชุม และให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายเสนอราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นและผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 50 ต่อคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อพิจารณา เมื่อคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้พิจารณาราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นแล้วให้เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
                   2. คณะกรรมการบริหารในคราวประชุมครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ได้มีมติกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ดังนี้
                             2.1 เห็นชอบองค์ประกอบการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2564/2565
                             2.2 กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิต 2564/2565 ทั้ง 9 เขตคำนวณราคาอ้อย เป็นราคาเดียวทั่วประเทศ ดังนี้
                                      2.2.1 ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2564/2565 ในอัตราตันอ้อยละ 1,040 บาท ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. หรือเท่ากับร้อยละ 99.75 ของประมาณการราคาอ้อยเฉลี่ยทั่วประเทศ 1,075.05 บาทต่อตันอ้อย และกำหนดอัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อยเท่ากับ 62.40 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.
                                      2.2.2 ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2564/2565 เท่ากับ 445.71 บาทต่อตันอ้อย
                   3. สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้จัดให้มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อคัดค้านจากสถาบันชาวไร่อ้อยและสมาคมโรงงานน้ำตาลต่อราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2564/2565 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 โดยสถาบันชาวไร่อ้อยได้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2564/2565 สรุปได้ ดังนี้
                             3.1 ขอคัดค้านราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2564/2565 ที่ประกาศในอัตราตันอ้อยละ 1,040 บาท ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. เพราะเป็นราคาที่ไม่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต และเสนอให้ประกาศราคาอ้อยขั้นต้น ทุกเขตคำนวณราคาอ้อยในอัตราตันอ้อยละ 1,100 บาท ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. เพื่อให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้
                             3.2 ขอให้มีการปรับปรุงองค์ประกอบที่ใช้คำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2564/2565 ดังนี้
                                      3.2.1 ขอให้ปรับราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบให้เป็นปัจจุบัน เนื่องจากราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบที่บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด แจ้งเป็นราคาในขณะที่มีปริมาณที่จำหน่ายได้เพียงร้อยละ 30.18 ขณะที่ในปัจจุบันสามารถจำหน่ายได้มากกว่าร้อยละ 50
                                      3.2.2 ขอให้ปรับอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด ได้ขายไปล่วงหน้าแล้วที่อัตรา 32.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และในขณะนี้อัตราแลกเปลี่ยนได้อ่อนตัวเกินกว่า 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
                                      3.2.3 ขอให้ปรับราคากากน้ำตาล (โมลาส) เป็น 4,800 บาทต่อตัน เพื่อให้ใกล้เคียงกับราคาที่ใช้ในการคำนวณราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2563/2564
                                      3.2.4 ขอให้ปรับเพิ่มปริมาณน้ำตาลบริโภคภายในประเทศจาก 22.464 ล้านกระสอบ เป็น 23.5 ล้านกระสอบ
                   4. คณะกรรมการบริหารในคราวประชุมครั้งที่ 8/2564 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ได้พิจารณาการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2564/2565 แล้วมีมติเห็นชอบและให้นำเสนอคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายพิจารณา ดังนี้
                             4.1 เห็นชอบองค์ประกอบการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2564/2565 โดยปรับองค์ประกอบการคำนวณ ดังนี้
                                      4.1.1 ประมาณการราคาน้ำตาลทรายดิบที่ส่งมอบให้ บริษัท อ้อยและน้ำตาลทรายไทย จำกัด จากเดิม ราคารวมพรีเมียม เท่ากับ 19.32 เซนต์ต่อปอนด์ เป็น ราคารวมพรีเมียม เท่ากับ 20.07 เซนต์ต่อปอนด์
                                      4.1.2 อัตราแลกเปลี่ยน จากเดิม 32.59 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 32.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
                             4.2 กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ทั้ง 9 เขตคำนวณราคาอ้อย เป็นราคาเดียวทั่วประเทศ ดังนี้
                                      4.2.1 ราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ในอัตราตันอ้อยละ 1,070 บาท ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. หรือเท่ากับร้อยละ 96.34 ของประมาณการราคาอ้อยเฉลี่ยทั่วประเทศ 1,110.66 บาทต่อตันอ้อย และกำหนดอัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อยเท่ากับ 64.20 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.
                                      4.2.2 ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2564/2565 เท่ากับ 458.57 บาทต่อตันอ้อย
                   5. คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายในคราวประชุมครั้งที่ 12/2564 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ได้พิจารณาการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ตามที่คณะกรรมการบริหารเสนอโดยได้มีการรับฟังความคิดเห็นและข้อคัดค้านของผู้แทนสถาบันชาวไร่อ้อยและผู้แทนโรงงานแล้วมีมติ ดังนี้
                             5.1 เห็นชอบองค์ประกอบการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2564/2565 โดยปรับองค์ประกอบการคำนวณ (ตามข้อ 4.1) ตามที่คณะกรรมการบริหารเสนอ
                             5.2 เห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2564/2565 (ตามข้อ 4.2)
                   6. ประเด็นข้อพิพาท เรื่อง น้ำตาลภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ระหว่างประเทศไทยกับบราซิลมิได้มีประเด็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการในการคำนวณราคาอ้อยทั้งขั้นต้นและขั้นสุดท้าย ดังนั้น การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2564/2565 จึงไม่ขัดกับข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศแต่อย่างใด แต่เป็นการรักษาประโยชน์ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย รวมทั้งเป็นการสร้างหลักประกันอย่างพอเพียงและเหมาะสมให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทย
                   7. หากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2564/2565 จะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ ชาวไร่อ้อยจะได้รับค่าอ้อยสำหรับนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการเพาะปลูกและบำรุงรักษาอ้อย และการดำรงชีพต่อไป
 
11. เรื่อง สรุปผลการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 1/2565
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ สรุปผลการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยมีข้อสั่งการสำคัญ 10 ประเด็น เพื่อคณะรัฐมนตรีจะได้กำกับและติดตามการดำเนินงานของหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่าได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป สรุปได้ ดังนี้

ข้อสั่งการ/การมอบหมายงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
1. ให้ขับเคลื่อนภารกิจของหน่วยงาน และพิจารณาการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีให้สอดคล้องกับเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติแผนแม่บทตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยพิจารณาทั้งเป้าหมายระยะยาว 20 ปี และเป้าหมายในช่วงระยะเวลาทุก ๆ 5 ปี ด้วย 
 
 
 
 
 
 
 
ทุกส่วนราชการ
2. ให้ขับเคลื่อนการดำเนินภารกิจโดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ ศูนย์ข้อมูล และระบบคลาวด์1 เพื่อให้เกิดการปฏิบัติงานที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็วขึ้นโดยให้พิจารณาใช้ระบบคลาวด์กลางภาครัฐ2 เพื่อประหยัดงบประมาณที่แต่ละหน่วยงานจะนำไปใช้ในการพัฒนาระบบคลาวด์และบริหารจัดการศูนย์ข้อมูล รวมถึงเพื่อความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลและระบบงานของหน่วยงานภาครัฐที่ถูกจัดเก็บอยู่ในระบบคลาวด์กลางภาครัฐซึ่งมีมาตรฐาน มีความมั่นคงปลอดภัย และตั้งอยู่ภายในประเทศ
3. ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง (PM2.5) ทั้งการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง โดยเฉพาะจากยานพาหนะ เช่น การแก้ไขปัญหาการจราจรที่หนาแน่น การเร่งรัดก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามแผน นอกจากนี้ ควรพิจารณาศึกษาแผนการก่อสร้างเส้นทางเดินรถไฟฟ้าเพิ่มเติมให้ครอบคลุมต่อความต้องการใช้บริการของประชาชน
4. ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงานประมง และแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย โดยจัดพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวสำหรับแรงงานต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ กวดขันการเฝ้าระวังการลักลอบเข้าประเทศตามพื้นที่แนวชายแดน รวมถึงตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมและดำเนินคดีกับแรงงานต่างด้าว นายหน้า และนายจ้าง/สถานประกอบการที่ลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ เพื่อสกัดกั้นและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)กระทรวงกลาโหม
กระทรวงมหาดไทย
กระทรวงแรงงาน
และสำนักงาน
ตำรวจแห่งชาติ
5. ให้เตรียมความพร้อมรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง รวมถึงสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมั่นในการกลับเข้ามาใช้บริการรักษาพยาบาลในประเทศไทยกระทรวงสาธารณสุข
6. ให้พัฒนา บูรณะ ฟื้นฟูมรดกและสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมรวมถึงทรัพยากรทางธรรมชาติ เพื่อให้เกิดแหล่งการท่องเที่ยวใหม่ โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเป็นหลักกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวัฒนธรรม
7. ให้ดำเนินงานด้านการต่างประเทศเชิงรุก โดยเน้นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศและสานต่อความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี รวมถึงต่อยอดความร่วมมือกับประเทศยุทธศาสตร์/มีศักยภาพเพื่อส่งเสริมความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าในระดับภูมิภาคและระดับโลกกระทรวงการต่างประเทศ
8. ให้การสนับสนุนด้านกฎหมายแก่หน่วยงานของรัฐ โดยช่วยเหลือและให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการร่างกฎหมาย การตอบข้อหารือเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติตามกฎหมาย ให้ส่วนราชการสามารถขับเคลื่อนภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
9. ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อให้มีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชน 
 
 
ทุกส่วนราชการ
10. ให้ส่วนราชการที่มีการเสนอเอกสารกฎหมายต่าง ๆ ทั้งพระราชบัญญัติพระราชกำหนด และพระราชกฤษฎีกา ซึ่งมีกำหนดกรอบระยะเวลาในการดำเนินการไว้ ให้เสนอสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) โดยมีระยะเวลาพอสมควรสำหรับการตรวจสอบความถูกต้องของ สลค. ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย

หมายเหตุ : 1ระบบคลาวด์ (Cloud Computing) เป็นการบริการเช่าใช้ระบบคอมพิวเตอร์หรือทรัพยากรด้านคอมพิวเตอร์เพื่อนำมาใช้ในการทำงานโดยไม่ต้องวางระบบเครือข่ายเอง
                      2ระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Service: GDCC) เป็นระบบกลางในการให้บริการคลาวด์สำหรับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐทุกกระทรวง ทบวง กรม ในการให้บริการข้อมูลข้ามหน่วยงานได้อย่างเป็นระบบ รวดเร็ว ปลอดภัย และควบคุมได้ เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ข้อมูลร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยประหยัดงบประมาณภาครัฐทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการประมวลผลให้มีประสิทธิภาพ เสถียรภาพ และมีความปลอดภัยสูงซึ่งเป็นการลดการลงทุนซ้ำซ้อนด้านไอทีของภาครัฐ
 
12. เรื่อง รายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2564
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2564 (เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2564) ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี] (5 พฤษภาคม 2563) ที่ให้ กนง. ประเมินภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มของประเทศและรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเป็นรายไตรมาส] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                   1. การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2564
                      กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน และ 22 ธันวาคม 2564 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ควรติดตามการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สายพันธุ์โอไมครอนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไป ทั้งนี้ กนง. เห็นว่าควรคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เนื่องจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และได้คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่เพิ่มขึ้นชั่วคราวจากปัจจัยด้านอุปทานจะคลี่คลายภายในปี 2565 โดยโอกาสที่แรงกดดันเงินเฟ้อของไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมีไม่มากเนื่องจากข้อจำกัดด้านการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการและตลาดแรงงานที่ยังเปราะบาง แต่ยังต้องติดตามพัฒนาการของเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด
                   2. การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจการเงินเพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงิน
                             2.1 เศรษฐกิจโลก โดยเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามีทิศทางขยายตัวต่อเนื่องแต่ชะลอลงตามลำดับ โดยปี 2564 ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ในไตรมาสที่ 3 และปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทานที่ยืดเยื้อ ส่วนปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงตามการระบาดในช่วงต้นปี รวมถึงการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน และในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวตามการคลี่คลายของสถานการณ์การแพร่ระบาดและปัญหาห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ ธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย โดยธนาคารกลางกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารกลางส่วนใหญ่ในเอเชียมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว และธนาคารกลางในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่หลายแห่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
                             2.2 ภาวะการเงินและเสถียรภาพระบบการเงินไทย โดยภาวะการเงินไทยโดยรวมยังผ่อนคลาย ภาคธุรกิจสามารถระดมทุนได้อย่างต่อเนื่องแต่ความเสี่ยงด้านเครดิตยังเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium-sized Enterprises: SMEs) ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐและดัชนีค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากไตรมาสก่อน โดยเงินบาทอ่อนค่าเร็วในช่วงเดือนธันวาคม 2564 จาก 2 ปัจจัย คือ (1) การแพร่ระบาดของโควิด – 19 สายพันธุ์โอไมครอน และ (2) การลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศอุตสาหกรรมหลักเร็วกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งส่งผลให้ความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงและมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากสินทรัพย์เสี่ยง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าในตราสารหนี้ของไทย นอกจากนี้ เสถียรภาพระบบการเงินยังเปราะบาง โดยเฉพาะฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดหลายระลอกซึ่งอาจชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไป จึงต้องติดตามและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความเสี่ยงระยะปานกลางที่อาจเกิดขึ้นภายใต้ความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังยืดเยื้อและอาจรุนแรงขึ้น
                             2.3 แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทย
                                      2.3.1 เศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.9*เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากประมาณการเดิม ส่วนปี 2565 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 โดยการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ การส่งออกสินค้า และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวขึ้นที่ร้อยละ 4.7 จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก
                                      2.3.2 มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 18* สูงกว่าที่คาดการณ์ โดยเป็นผลจากปริมาณขยายตัวดีและราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกและต้นทุนการขนส่งสินค้า ส่วนปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ต่ำกว่าประมาณการเดิมเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนและปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.9 ซึ่งเป็นอัตราที่ชะลอตัวลงจากปี 2565 สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก
                                      2.3.3 ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2564 กลับมาฟื้นตัวจากที่คาดการณ์ไว้เดิม 1.5 แสนคน เป็น 2.8 แสนคน เนื่องจากนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว ส่วนปี 2565 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมจาก 6 ล้านคน เป็น 5.6 ล้านคน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน และปี 2566 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 20 ล้านคน
                                      2.3.4 การบริโภคภาคเอกชนปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.4* โดยในไตรมาสที่ 4 มีการฟื้นตัวต่อเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เริ่มคลี่คลาย การกระจายวัคซีนได้ตามเป้าหมาย และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ ส่วนปี 2565 และ 2566 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.6 และ 3.8 ตามลำดับ ด้านการลงทุนภาคเอกชนปี 2564 และ 2565 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 4 และ 5.4 ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้เนื่องจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่มีแนวโน้มล่าช้า ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศและความเชื่อมั่นภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนและปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 5 ตามการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
                                      2.3.5 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการ โดยปี 2564 และ 2565 ปรับเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 1.2 และ 1.7 ตามลำดับเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานมีแนวโน้มสูงขึ้นชั่วคราวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและปี 2566 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 1.4
__________________________
*จากการประสานข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 กค. แจ้งว่า ยังไม่มีสถานะข้อมูลล่าสุดของไตรมาส 4 ปี 2564 เนื่องจากต้องรอการแถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสดังกล่าวของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก่อน
 
13. เรื่อง ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนธันวาคม 2564
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเสนอ ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนธันวาคม 2564 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
                   1. ความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ชาติและการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
                             1.1 การจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินการประจำปีตามยุทธศาสตร์ชาติ
และตามแผนการปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2564 อยู่ระหว่างจัดทำรายงานประจำปีตามหมวด 3 ของพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 โดยมีข้อมูลความก้าวหน้าผลการดำเนินการ ปัญหาอุปสรรค ข้อเสนอแนะต่อเป้าหมายและตัวชี้วัด และแนวทางการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ สศช. ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากการดำเนินการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ ในปี 2564 โดยมีสถานะการบรรลุเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 140 เป้าหมาย ดังนี้  (1) เป้าหมายที่บรรลุค่าเป้าหมาย จำนวน 39 เป้าหมาย (ร้อยละ 28) ปรับตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา (2) เป้าหมายที่ต่ำกว่าค่าเป้าหมาย จำนวน 43 เป้าหมาย (ร้อยละ 31) ปรับตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา (3) เป้าหมายที่ต่ำกว่าค่าเป้าหมายระดับเสี่ยง จำนวน 35 เป้าหมาย (ร้อยละ 25) ปรับตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา (4) เป้าหมายที่ต่ำกว่าค่าเป้าหมายขั้นวิกฤต จำนวน 23 เป้าหมาย (ร้อยละ 16) มีจำนวนคงที่จากปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ สศช. จะเสนอผลการดำเนินงานดังกล่าวต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรี และรัฐสภาต่อไป
                             1.2 ความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจน
และการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.)  ในเดือนธันวาคม 2564 สศช. ได้ลงพื้นที่เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร และจังหวัดสงขลา เพื่อติดตามการดำเนินการของ ศจพ. ทุกระดับ และมีการทดลองเก็บข้อมูลในพื้นที่ด้วยแบบสอบถามฉบับปรับปรุง และในเดือนมกราคม 2565 มีกำหนดลงพื้นที่เขตบางกอกน้อย และเขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร เป็นครั้งที่ 2 เพื่อเป็นข้อมูลตัวชี้วัดที่สะท้อนบริบทของเขตเมืองและทุกอำเภอในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อนำคำถามที่ปรับปรุงไปใช้และทดลองเก็บข้อมูลในพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อมูลตัวอย่างที่เป็นตัวแทนของประชากรทั้งจังหวัดและมีจำนวนเพียงพอในการคำนวณหาหลักเกณฑ์กลางของดัชนีความยากจนหลายมิติ  ทั้งนี้ สศช. จะเสนอข้อมูลความก้าวหน้าการดำเนินการเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนต่อคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติต่อไป
                   2. ความก้าวหน้าแผนการปฏิรูปประเทศ
                             2.1 การรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ครั้งที่ 13 (เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564)  สศช. ได้จัดทำรายงานความคืบหน้าฯ ประกอบด้วยสาระสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่
                                      2.1.1 ส่วนที่ 1 รายงานความคืบหน้าของกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) จำนวนทั้งสิ้น 62 กิจกรรม มีสถานะความคืบหน้า ดังนี้ (1) การดำเนินการเป็นไปตามแผน จำนวน 53 กิจกรรม และ (2) การดำเนินการล่าช้ากว่าแผน จำนวน 9 กิจกรรม เช่น การสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ การเพิ่มและพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ตามเป้าหมายและการพัฒนามาตรการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ ทั้งนี้  สศช. จะประสานและบูรณาการร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ หน่วยงานรับผิดชอบหลักและหน่วยงานร่วมดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมที่มีความล่าช้ากว่าแผนให้เป็นไปตามเป้าหมายและระยะเวลาที่กำหนดไว้
                                      2.1.2 ส่วนที่ 2 ความคืบหน้ากฎหมายภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) จำนวนทั้งสิ้น 45 ฉบับ ดังนี้ (1) ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 2 ฉบับ และ (2) อยู่ระหว่างการดำเนินการ จำนวน 43 ฉบับ ซึ่ง สศช. จะประสานหน่วยงานผู้รับผิดชอบ เพื่อเร่งรัดการดำเนินการและเสนอตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
                                      2.1.3 ส่วนที่ 3 ความคืบหน้าของประเด็นที่รัฐสภาให้ความสนใจเป็นพิเศษ ได้เสนอรายงานสรุปความคืบหน้าของประเด็นที่รัฐสภาให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อรัฐสภาตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติ (18 มกราคม 2565) รับทราบแล้ว
                             2.2 การติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ สศช. ได้พัฒนาระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) เพื่อรองรับการดำเนินงาน ดังนี้ (1) การติดตามและนำเข้าข้อเสนอโครงการพัฒนาที่สำคัญภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) โดยปัจจุบันมีการนำเข้าข้อมูลโครงการในระบบ eMENSCR แล้วทั้งสิ้น 32 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับอนุมัติข้อมูลแล้วเพียง 2 โครงการ (ข้อมูล ณ วันที่ 5 มกราคม 2565) (2) การติดตามเกี่ยวกับการประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณและผลสัมฤทธิ์จากการใช้จ่ายงบประมาณ โดยทุกหน่วยงานของรัฐจะต้องนำเข้าข้อมูล เช่น โครงการ/การดำเนินการข้อมูลแผนระดับที่ 3 รายงานผลสัมฤทธิ์ของโครงการ/การดำเนินงาน แผนปฏิบัติราชการรายปีและแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี ซึ่งจะช่วยให้สามารถวิเคราะห์และประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐได้อย่างตรงจุด รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ และ (3) การติดตามและประเมินผลโครงการ/การดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals: SDGs) จำนวน 17 เป้าหมาย และ 169 เป้าหมายย่อย เพื่อให้ระบบ eMENSCR เป็นเครื่องมือหลักในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบการจัดทำ/พัฒนาโครงการตามลำดับความสำคัญ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายรวมทั้งสามารถติดตามและประเมินผลการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ทั้งนี้ อยู่ระหว่างพัฒนาระบบ eMENSCR เพื่อให้รองรับการดำเนินการดังกล่าว
                   3. ผลการดำเนินการอื่น ๆ
                             3.1 การสร้างการตระหนักรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของภาคีต่าง ๆ ต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ สศช. ได้เผยแพร่วีดิทัศน์เพื่อให้ประชาชนรับทราบเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) และเพื่อให้ภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้องได้แสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งนี้ จะนำความเห็นดังกล่าวไปจัดทำ (ร่าง) แผนฯ เพื่อให้มีความชัดเจนครอบคลุม มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชนอย่างแท้จริง
                             3.2 ประเด็นที่ควรเร่งรัดเพื่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ สศช. ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐนำเข้าข้อมูลการจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีและรายงานผลสัมฤทธิ์แผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณในระบบ eMENSCR เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติ และเพื่อให้การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศมีข้อมูลที่สมบูรณ์และเป็นปัจจุบัน โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2564 มีหน่วยงานของรัฐนำเข้าข้อมูลดังกล่าว จำนวนทั้งสิ้น 93 หน่วยงาน หรือคิดเป็นร้อยละ 29.71 ของหน่วยงานทั้งหมด ดังนั้น เพื่อให้การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ สศช. จะเร่งรัดให้หน่วยงานนำเข้าข้อมูลแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในระบบ eMENSCR ตามขั้นตอนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และจะเร่งรัดให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัดในปีงบประมาณต่อไป
 
14. เรื่อง สรุปผลการประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 8/2564
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (กตน.) เสนอ  สรุปผลการประชุม กตน. ครั้งที่ 8/2564 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกลและให้ส่วนราชการรับประเด็นและมติของที่ประชุม กตน. ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                   ในการประชุม กตน. ครั้งที่ 8/2564 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมฯ มีผลการประชุมฯ สรุปได้ ดังนี้
 

ประเด็นความเห็น/ข้อสังเกต/มติที่ประชุม กตน.
1) การส่งเสริมการค้าชุมชนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน
          1.1) การพัฒนาคุณค่าผลิตภัณฑ์และบริการของชุมชนที่มีอัตลักษณ์และมีมาตรฐานการผลิตตามหลักสากล
                   1) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ได้ดำเนินการ ดังนี้ (1) สร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง พังงา และชุมพร เช่น สนับสนุนปัจจัยการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าว (2) ส่งเสริมและสนับสนุนสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทำการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า (Good Agricultural Practices: GAP) ในพื้นที่ 22 จังหวัด 50 สถาบัน จำนวน 1,202 ราย คิดเป็นมูลค่า 21.69 ล้านบาท และ (3) พัฒนาเกษตรให้เข้าสู่มาตรฐาน GAP เช่น ตรวจสอบรับรองแปลง ฟาร์ม โรงงาน และสินค้า              เฝ้าระวัง และควบคุมคุณภาพสินค้าเกษตรให้เป็นไปตามมาตรฐาน จำนวน 559,731 แห่ง และอบรมเจ้าหน้าที่และองค์กรเกี่ยวกับการรับรองมาตรฐาน จำนวน 1,294 ราย
                   2) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ได้ดำเนินการ ดังนี้  (1) ส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสินค้าชุมชนให้เป็นสินค้าที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) และ (2) สร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ชุมชนเรื่องการส่งเสริมคุ้มครองสินค้าชุมชนให้ได้รับการขึ้นทะเบียน GI จำนวน 42 สินค้า 17 จังหวัด
         1.2) การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลต่อยอดการพัฒนาควบคู่กับการส่งเสริมการเรียนรู้ของชุมชน
                   1) กษ. ได้ดำเนินการ ดังนี้ (1) ส่งเสริมพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตร โดยให้สหกรณ์เข้าร่วมจำหน่ายสินค้าบนแฟลตฟอร์ม Thaitrade, Phenixbox  และ Shopee และส่งเสริมสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรทำแผนพัฒนาองค์กรแผนธุรกิจ แผนบริหารจัดการสินค้าเกษตรผ่านระบบสหกรณ์ (One Plan Province: OPP) รวมทั้งสนับสนุนการเชื่อมโยงตลาดและกระจายผลผลิตเกษตรผ่านเครือข่ายสหกรณ์และ (2) บริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตร เพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) เช่น จัดทำฐานข้อมูลเพื่อรองรับเขตเกษตรเศรษฐกิจ พัฒนาที่ดิน เพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมตาม Agri-Map และส่งเสริมเกษตรเชิงรุกด้านการประมง
                     2) พณ. ได้ดำเนินการ เช่น (1) ต่อยอดการสร้างมูลค่าเพิ่มการตลาดออนไลน์ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (2) จัดกิจกรรม “ปรับตัวสู้วิกฤตด้วย e-Commerce ชุมชนอัจฉริยะออนไลน์” ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และ (3) พัฒนาการใช้เทคโนโลยีสู่ช่องทางออนไลน์
                   3) กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้ดำเนินการส่งเสริมสินค้าออนไลน์ และส่งเสริมอุตสาหกรรมครัวเรือน วิสาหกิจชุมชน เช่น ยกระดับศักยภาพเกษตรรุ่นใหม่และผู้ประกอบการ/วิสาหกิจชุมชนในการผลิตสินค้าชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน และส่งเสริมนักการตลาดรุ่นใหม่ 76 จังหวัด
          1.3) การส่งเสริมการเชื่อมโยงภาคเศรษฐกิจหลักกับเศรษฐกิจชุมชนในทุกภาคการผลิต โดย พณ. ได้ดำเนินการสร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชนและการมีส่วนร่วมของชุมชนบนพื้นฐานการใช้เทคโนโลยีตามแนวทางต้นแบบหมู่บ้านเถาเป่า จำนวน 34 ชุมชน
          1.4) การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
                      1) กษ. ได้ดำเนินการ ดังนี้ (1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีผลการดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2562-2564 รวม 4,243 แปลง 187,827 ราย (2) โครงการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ด้านปศุสัตว์ โดยในปี 2564 จัดตั้งศูนย์ให้บริการยืมเครื่องจักรกลอาหารสัตว์ 24 จังหวัด จำนวน 4,297 ราย และ (3) โครงการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร เช่น ฝึกอบรมช่างเกษตรท้องถิ่น จัดทำแปลงสาธิตเกษตรอัจฉริยะ จำนวน 3 จุด และถ่ายทอดความรู้เครื่องจักรกลการเกษตรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จำนวน 200 ไร่
                   2) มท. ได้ดำเนินการสนับสนุนด้านการเกษตรภายใต้กลไกการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2565เช่น สร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถให้กับบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด และส่งเสริมช่องทางการตลาดเครือข่ายเกษตรอินทรีย์และเครือข่ายเกษตรปลอดภัย
          1.5 ข้อเสนอแนะ เช่น กษ. เสนอว่า ควรมีการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อขยายผลในการสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว และ พณ. เสนอว่า ควรมีการติดตามผลการดำเนินงาน เพื่อนำผลที่ได้มาปรับรูปแบบการดำเนินกิจกรรมให้สอดคล้องและเหมาะสมกับผู้ประกอบการ และควรมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้สามารถรองรับการค้าในยุคดิจิทัล
ความเห็นและข้อสังเกตของ กตน. :
1) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาประเด็นที่มีผลต่อการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ด้านการเกษตรโดยให้พิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบาย/โครงการที่มีผลต่อการเติบโตของ GDP ด้านการเกษตร สร้างกำลังซื้อให้แก่เกษตรกร และช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนและผลักดันเศรษฐกิจให้มีการหมุนเวียนและเติบโตอย่างต่อเนื่อง
2) การส่งเสริมโครงการ/นโยบายต่าง ๆ ควรขับเคลื่อนลงไปในระดับชุมชน หมู่บ้านและพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ โดยยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก เพื่อต่อยอดไปในระดับเศรษฐกิจมหภาค
3) ควรเน้นส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์การเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นนัยสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของ GDP ด้านการเกษตร ช่วยส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์  และหาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาด
4) ควรมีการเชื่อมโยงตลาดข้าวในต่างประเทศ โดยให้มีการแยกตลาดข้าวให้ชัดเจนตามคุณภาพและประเภทของข้าว เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวอินทรีย์ เพื่อให้เป็นตลาดเฉพาะ และสามารถแข่งขันด้านราคาได้
มติที่ประชุม :
1) รับทราบ
2) ให้ กษ. พณ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอแนะของที่ประชุมฯ ไปพิจารณา
2) แผนงาน/โครงการการขับเคลื่อนสู่รัฐบาลดิจิทัล (Digital Government)
          2.1) การขับเคลื่อนรัฐบาลด้วยข้อมูล (Data Driven Government) : สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ได้ดำเนินการ เช่น (1) ขับเคลื่อนธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data Governance) และนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ เช่น จัดทำมาตรฐานธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ และหลักเกณฑ์และมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลต่อสาธารณะ และให้คำปรึกษาหน่วยงานต้นแบบในการจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (2) จัดทำแผนการปฏิบัติงานการพัฒนากรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ และ (3) จัดทำเกณฑ์ชี้วัดความสำเร็จของการจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ
          2.2 ) การบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐรวมจุดเดียว
                    1) สพร. ดำเนินการจัดทำและให้บริการ “ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลาง (Government Data Exchange หรือ GDX)” เช่น ข้อมูลบุคคลและนิติบุคคล/ภาษีมูลค่าเพิ่ม สหกรณ์/ทะเบียนพาณิชย์จาก Linkage Center และหน่วยงานอื่น ๆ จำนวน 299 รายการ และข้อมูลเพื่อรองรับการยกเลิกสำเนาเอกสารทางราชการและบริการอื่น ๆ
                          2) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.)ได้ดำเนินการ ดังนี้ (1) โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลของรัฐมีหน่วยงานภาครัฐใช้บริการแล้ว จำนวน 735 หน่วยงานและ (2) จัดฝึกอบรมบุคลากรภาครัฐให้มีความรู้ด้าน Cloud Computing 3 หลักสูตร จำนวน 2,065 คน
          2.3) การเร่งยกระดับทักษะดิจิทัลบุคลากรภาครัฐ 
                   1) สพร. ได้พัฒนาบุคลากรภาครัฐด้านดิจิทัลและพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับบุคลากรภาครัฐในด้านต่าง ๆ เช่น จัดทำมาตรฐานหลักสูตรเกี่ยวกับทักษะดิจิทัลและพัฒนาระบบสนับสนุนการพัฒนาทักษะดิจิทัลภาครัฐ 2) ดศ. ได้ดำเนินการ ดังนี้ (1) สร้างครูผ่านโครงการยกระดับครูดิจิทัล โครงการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อคุณครู และโครงการที่มุ่งเน้นการยกระดับทักษะด้านการเขียนโปรแกรมให้เป็นรหัสหรือสัญลักษณ์ (Coding) ให้กับนักเรียนทั่วประเทศ (2) พัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับแรงงานและ (3) พัฒนาบุคลากรภาครัฐ
          2.4) ข้อเสนอแนะ โดย สพร. เสนอว่า ควรจัดทำแนวทางการทำกระบวนการปลี่ยนแปลงข้อมูลเป็นดิจิทัล (Data Digitization Process) ที่ไม่ซับซ้อนและมีเครื่องมือสนับสนุนที่หน่วยงานสามารถนำไปใช้งานได้ และควรมีการจัดทำมาตรฐานการเชื่อมต่อระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ (e-Sevice) เข้าสู่ระบบ GDX ที่ชัดเจนเข้าใจง่ายและประกาศให้หน่วยงานนำไปใช้
ความเห็นและข้อสังเกตของ กตน. :
1) หน่วยงานภาครัฐยังขาดความรู้ความเข้าใจในทักษะด้านดิจิทัล จึงขอให้ สพร. เผยแผ่องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องในรูปแบบวิดีโอผ่านเว็บวิดีโอ Youtube หรือเว็บไซต์           อื่น ๆ พร้อมกับเผยแผ่ข้อมูลที่จำเป็นให้หน่วยงานภาครัฐและประชาชนสามารถเข้าถึงได้สะดวก
2) ในปัจจุบันระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับการรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประกอบการกำหนดนโยบายของหน่วยงานภาครัฐ และการเผยแผ่ให้ประชาชนสามารถนำไปใช้
ประโยชน์ในการประกอบธุรกิจและการวางแผนดำรงชีวิต
มติที่ประชุม :
1) รับทราบ
2) ให้ สพร. ดศ. และหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอแนะของที่ประชุมฯ
ไปพิจารณา
3) ข้อเสนอแนวทางการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
          3.1) ข้อเสนอแนวทางการดำเนินงาน เช่น การเสนอประเด็นติดตามการดำเนินงานตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีโดยใช้หลักเกณฑ์ความบ่อยครั้งในการสั่งการ และความสำคัญของประเด็นข้อสั่งการ และการขับเคลื่อนและบูรณาการดำเนินงานตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี โดยบูรณาการข้อมูลให้เป็นหน่วยเดียว
          3.2) ประโยชน์ที่จะได้รับ เช่น ทำให้มีการบูรณาการการขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงานในประเด็นข้อสั่งการและสามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในด้านการประชาสัมพันธ์
ความเห็นและข้อสังเกตของ กตน. :
เห็นควรให้คณะอนุกรรมการฯ รวบรวมข้อมูลผลการดำเนินงานในประเด็นติดตามฯ ของหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ รวมทั้งนำมาใช้ในด้านการประชาสัมพันธ์แก่ประชาชน เพื่อให้ได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น
มติที่ประชุม : เห็นชอบข้อเสนอแนวทางการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฯ

 
15. เรื่อง รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤศจิกายน 2564 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2564 และแนวโน้มปี 2565
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤศจิกายน 2564 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2564 และแนวโน้มปี 2565  ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ  ดังนี้
                   สาระสำคัญ
                   ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน 2564 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI)  ขยายตัวร้อยละ 4.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการซื้อในประเทศและต่างประเทศที่เริ่มขยายตัวในหลายสินค้า หลังจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนพฤศจิกายน 2564 ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คือ
                   1. การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวร้อยละ 11.88 จากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว หลังประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัดซีนแล้ว ทำให้มีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นปกติได้มากกว่าปีก่อน
                   2. ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวร้อยละ 21.16 เพิ่มขึ้นตามความต้องการในตลาดโลกที่ขยายตัวต่อเนื่องหลังการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563
                   3. เม็ดพลาสติก ขยายตัวร้อยละ 20.0 จากการหยุดซ่อมบำรุงต่อเนื่องหลายวันของผู้ผลิตบางรายในปีก่อน
                   4. น้ำมันปาล์ม ขยายตัวร้อยละ 55.92 จากผลผลิตปาล์มน้ำมันที่มีมากกว่าปีก่อนเนื่องจากต้นปาล์มมีความสมบูรณ์เต็มที่ และจากปริมาณส่งออกน้ำมันปาล์มดิบที่เพิ่มขึ้น หลังอินโดนีเซียและมาเลเซีย ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในช่วงการแพร่ระบาด ทำให้ปริมาณสินค้าในตลาดโลกลดลง
                   5. เภสัชภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 24.88 ตามความต้องการใช้ในโรงพยาบาลจากสถานการณ์โควิด-19ที่มีการแพร่ระบาดอยู่เป็นระลอก ส่งผลให้อุตสาหกรรมยายังคงเติบโตต่อเนื่องรวมถึงต้องปฏิบัติตามนโยบายจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่กำหนดให้ผู้ผลิตต้องมีสินค้าเพียงพอกับความต้องการ
                   สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในปี 2564 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.2 ในขณะที่ปี 2563 MPI หดตัวร้อยละ 9.3 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวในปี 2564 อาทิ รถยนต์ โดยเพิ่มขึ้นในตลาดส่งออก เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าขยายตัว จากการคลี่คลายของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  ในส่วนของตลาดในประเทศยังคงชะลอตัว ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นผลจากความต้องการของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการใช้ Cloud Computing และ Data Center รวมถึง ความต้องการใช้อุปกรณ์ที่จำเป็นในการทำงานและการศึกษาทางไกล ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกในตลาดหลักที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน เหล็กและเหล็กกล้า เพิ่มขึ้นทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวเพิ่มขึ้นจากโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ สำหรับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนเพิ่มขึ้นจากการผลิตของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อน จากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระลอกแรกที่ส่งผลกระทบทั่วโลก และส่งผลให้ผู้ผลิตขาดแคลนชิ้นส่วนสำหรับการผลิตสินค้าจากการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ เฟอร์นิเจอร์ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มดีขึ้นและปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศเริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้มียอดคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้ารายใหญ่จากตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น รวมถึงตลาดในประเทศก็ได้รับคำสั่งซื้อในส่วนของเครื่องเรือนทำด้วยโลหะเพิ่มขึ้น
                   แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2565 ประมาณการอัตราการขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 4.0-5.0 โดยมีแรงสนับสนุนจาก (1) ตลาดส่งออกขยายตัวต่อเนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า (2) ตลาดในประเทศเริ่มฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของภาครัฐ และ (3) ในส่วนของสถานประกอบการ มีการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีขึ้น รวมถึงการกระจายวัคซีนทำได้ครอบคลุมและทั่วถึง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดยังคงมีความไม่แน่นอน ยังคงต้องติดตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อย่างใกล้ชิดต่อไป
 
16. เรื่อง รายงานผลการปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมันดิบรั่วไหลในทะเล บริเวณมาบตาพุด  จังหวัดระยอง ของกระทรวงกลาโหม
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมันดิบรั่วไหลในทะเล บริเวณ มาบตาพุด  จังหวัดระยอง ของกระทรวงกลาโหม ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ ดังนี้
                   สรุปผลการปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมันดิบรั่วไหลในทะเล บริเวณมาบตะพุด จังหวัดระยอง
ของกระทรวงกลาโหม

  1. สถานการณ์
                   เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 กรมเจ้าท่า ได้รับแจ้งเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลจากท่อใต้ทะเลของทุ่น
รับน้ำมันดิบกลางทะเล (SPM) ของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC เป็นเหตุให้น้ำมันดิบรั่วไหลลงสู่ทะเลในระดับ 2 กรมเจ้าท่าในฐานะศูนย์ประสานงานป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน
ได้ประสานกองทัพเรือขอให้จัดตั้งศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการในการขจัดคราบน้ำมัน ระดับ 2 เพื่อดำเนินการขจัดคราบน้ำมันในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ตามแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน พ.ศ. 2547 ต่อมาเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 คราบน้ำมันได้เคลื่อนตัวถึงบริเวณชายหาดแม่รำพึง จังหวัดระยอง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดระยอง ได้ประกาศให้พื้นที่ หมู่ 1 ตำบลบ้านเพ หมู่ 5 และหมู่ 10 ตำบลตะพง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย รายละเอียดตามหนังสือ กรมเจ้าท่า ที่ คค 0310.6/472 ลงวันที่ 26 มกราคม 2565 และประกาศกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดระยอง ลงวันที่ 29 มกราคม 2565 เรื่อง เขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย ภัยอื่น ๆ (ภัยจากน้ำมันดิบรั่วไหล) ในพื้นที่อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง โดยศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดระยอง ได้แบ่งพื้นที่ปฏิบัติการ ออกเป็น 5 โซน ได้แก่ โซน A สำรวจตั้งแต่บริเวณกองพันทหารราบที่ 7 กรมทหารราบที่ 3 กองพลนาวิกโยธิน ถึง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ระยะทาง 2 กิโลเมตร โซน B สำรวจตั้งแต่บริเวณศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ถึง หาดแม่รำพึง ระยะทาง 2 กิโลเมตร โซน C สำรวจตั้งแต่บริเวณหาดแม่รำพึง ถึง ลานหินขาว ระยะทาง 2 กิโลเมตร โซน D สำรวจตั้งแต่บริเวณลานหินขาว
ถึง เขาแหลมหญ้า ระยะทาง 2 กิโลเมตร และโซน E สำรวจตั้งแต่บริเวณเขาแหลมหญ้า ถึง เกาะเสม็ด
               2.  การปฏิบัติที่ผ่านมา
                    2.1 กองทัพเรือได้สั่งการให้ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ จัดตั้ง ศูนย์อำนวยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน กองทัพเรือ มีหน้าที่ในการอำนวยการ กำกับดูแล ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในขณะเดียวกันได้สั่งการให้ทัพเรือภาคที่ 1 จัดตั้งศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการในการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน ทัพเรือภาคที่ 1 โดยมีผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ เพื่อทำหน้าที่กำหนดแผน และยุทธวิธีในการขจัดคราบน้ำมัน ปฏิบัติการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันที่เกิดขึ้นในพื้น ที่รับผิดชอบ รวมทั้งอำนวยการประสานกับส่วนราชการ และหน่วยงานภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด ตลอดจนสั่งการหน่วยสนับสนุน ต่าง ๆ ทั้งนี้ ได้เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2565 รวมทั้งจัดกำลังพล และยุทโธปกรณ์ สนับสนุนหน่วยต่าง ๆ ในการขจัดคราบน้ำมันใน 2 ลักษณะ ดังนี้
                             2.1.1 การขจัดคราบน้ำมันในทะเล ซึ่งเป็นการขจัดกลุ่มคราบน้ำมันขนาดใหญ่ ดำเนินการด้วยวิธีการใช้ทุ่นกักน้ำมัน เครื่องดูดน้ำมันหรือ Skimmer ดูดคราบน้ำมันจากทะเลสู่ถังเก็บ แล้วนำส่งเพื่อทำลายต่อไป สำหรับในส่วนของการขจัดกลุ่มคราบน้ำมันที่มีทิศทางการเคลื่อนที่ที่เป็นอันตรายต่อชายฝั่งและพื้นที่เปราะบาง ได้ดำเนินการด้วยการใช้ทุ่นล้อมเพื่อเบี่ยงเบนทิศทางการเคลื่อนที่ของกลุ่มคราบน้ำมันให้มีทิศทางไปสู่ทะเลเปิด แล้วทำการล้อมดักและดูดไปทำลายตามกระบวนการต่อไป
                             2.1.2 การขจัดคราบน้ำมันบริเวณชายฝั่ง แบ่งเป็น 2 พื้นที่ ได้แก่ 1) พื้นที่ชายฝั่งในทะเล ได้ประสานกับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระยอง ในการใช้ทุ่นล้อมกันคราบน้ำมันขึ้นฝั่ง และ 2) พื้นที่ชายฝั่งบนบก โดยบริเวณที่เป็นหินใช้การฉีดน้ำให้คราบน้ำมันรวมตัวกันแล้วตักเก็บเพื่อนำไปทำลาย ส่วนบริเวณที่เป็นหาดทรายจะใช้รถขุดตักในการตักคราบน้ำมันที่ปะปนกับทรายแล้วนำไปทำลาย ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้สวมชุดป้องกันและจำกัดเวลาในการปฏิบัติงานเพียง 4 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อป้องกันสารพิษ
ที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย
           นอกจากนี้ กองทัพเรือได้ส่ง หน่วยเฉพาะกิจกองเรือยุทธการ 642 นักประดาน้ำชุดปฏิบัติการ พิเศษและเรือยาง ดำน้ำสำรวจสภาพระบบนิเวศใต้ทะเลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
                     2.2 ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหม โดยศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองบัญชาการกองทัพไทย และศูนย์บรรเทาสาธารณภัยเหล่าทัพ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งนำศักยภาพและขีดความสามารถของหน่วยมาให้การสนับสนุนส่วนราชการในการเข้าควบคุมเหตุภัยพิบัติดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพทันที เพื่อป้องกัน
และลดผลกระทบจากสาธารณภัยที่เกิดขึ้นต่อสภาวะแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งบรรเทาความเดือดร้อน
ของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับมอบหมาย ดังนี้
                             2.2.1 ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองบัญชาการกองทัพไทย โดยหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 14 สำนักงานพัฒนาภาค 1 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ได้จัดชุดบรรเทาสาธารณภัยเคลื่อนที่เร็ว ร่วมกับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระยอง เฝ้าระวังเหตุการณ์ และสนับสนุนการกั้นแนวทุ่นกักคราบน้ำมัน(Absorbent Boom) ณ หาดแม่รำพึง ตำบลตะพง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง
                             2.2.2 ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก โดยศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 14 จัดชุดประสานงานและประเมินสถานการณ์การแก้ไขปัญหาคราบน้ำมันดิบรั่วไหลร่วมกับกองอำนวยการป้องกัน
และบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระยอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดกำลังพล จำนวน 40 นาย รถยนต์บรรทุกขนาดเล็ก จำนวน 1 คัน และรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่ จำนวน 2 คัน เตรียมการสนับสนุนการกั้นแนวทุ่นกักคราบน้ำมัน (Absorbent Boom) เพื่อจำกัดพื้นที่การรั่วไหล พร้อมปฏิบัติเมื่อได้รับการประสาน
                             2.2.3  ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองบัญชาการกองทัพเรือ โดยหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน
หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง และกรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ ได้จัดกำลังพลหมุนเวียนปฏิบัติหน้าที่
วันละกว่า 300 นาย ปฏิบัติภารกิจจัดเก็บ และซับคราบน้ำมันบริเวณชายหาด ทำการพิสูจน์ทราบสารพิษ
ที่เป็นอันตรายจากน้ำมัน และชำระล้างสารพิษให้กับกำลังพลหรืออื่น ๆ รวมทั้งให้คำปรึกษาด้านวิชาการ และเก็บตัวอย่างด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
                     2.3 สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) ได้บูรณาการร่วมกับ กรมเจ้าท่า
กระทรวงคมนาคม  ในภารกิจส่งอากาศยานไร้คนขับสำรวจน้ำมันดิบรั่วไหลจากท่อใต้ทะเล ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยี
ในการป้องกันประเทศมาใช้ในการช่วยเหลือประชาชน เพื่อสร้างความต่อเนื่องและขยายผลด้านอุตสาหกรรม
ป้องกันประเทศ ในการนี้ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) ได้ส่งนักวิจัย และเจ้าหน้าที่
ของโครงการวิจัยและพัฒนาองค์ประกอบพื้นฐานระบบยานไร้คนขับ จำนวน 13 นาย ร่วมสนับสนุนภารกิจ
ด้วยการนำระบบอากาศยานไร้คนขับจำนวน 2 ระบบ ที่มีขีดความสามารถและรัศมีทำการบินระยะไกล และ
มีเวลาปฏิบัติการในอากาศได้นาน รวมทั้งสามารถส่งข้อมูลภาพที่มีความคมชัดสูง (High Definition) โดยระบบที่ 1 เป็นระบบอากาศยานไร้คนขับแบบปีกตรึงขึ้นลงทางดิ่ง (VTOL) รุ่น DP22 (Half Moon) และระบบที่ 2 เป็นอากาศยานไร้คนขับขึ้นลงทางดิ่งขนาดเล็ก (Multi-Rotor UAS/DP21) (Coral) ร่วมปฏิบัติภารกิจการบินสำรวจคราบน้ำมันดิบ ตามบริเวณแนวชายฝั่งหาดแม่รำพึง ตำบลบ้านเพ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง และส่งภาพด้วยเทคโนโลยี Streaming ให้กับ ศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการในการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน ทัพเรือภาคที่ 1 โดยปฏิบัติการบิน จำนวน 8 เที่ยวบิน ระยะทางรวม 80 กิโลเมตร
               3.  ผลการปฏิบัติ
                     ปัจจุบันสถานการณ์ในทะเลตรวจไม่พบคราบน้ำมัน และไม่มีการรั่วไหลเพิ่มเติม ในส่วนของการดำเนินการกำจัดคราบน้ำมันบริเวณชายฝั่งได้ดำเนินการกำจัดเรียบร้อยแล้ว ศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการในการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน ทัพเรือภาคที่ 1 ได้ยุติการปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 18.00 นาฬิกา
 
17. เรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาน พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายใต้โครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชน
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายใต้โครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชน วงเงินจำนวน 3,150,918,000 บาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ
                   สาระสำคัญ
                   1. กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเดิม พ.ศ. 2564 โครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชน เพื่อเป็นค่าตอบแทนให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 1,039,729 คน และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) จำนวน 10,577 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,050,306 คน ในอัตราเดือนละ 500 บาทต่อคน เป็นเงินจำนวน 3,150,9180 ล้านบาท (ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 - มีนาคม 2565)
                   2. คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ลงมติอนุมัติตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 17/2564 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 โดยมอบหมายให้กรุงเทพมหานคร และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ประสานกับสำนักงบประมาณ และกระทรวงสาธารณสุข ในการขอรับงบประมาณสำหรับค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามความจำเป็นและความเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป
                   3. นายกรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 ให้กระทรวงสาธารณสุขเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายในกรอบวงเงิน 3,150,918,000 บาท
 
18. เรื่อง การขอขยายระยะเวลาการดำเนินการศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราว (The Temporary Data Collection Centre : TDCC) ของทางการเมียนมา และการได้มาซึ่งเอกสารประจำตัวของคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ดังนี้
                   1. การขอขยายระยะเวลาการดำเนินการศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราว (The Temporary Data Collection Centre : TDCC) (ศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ) ของทางการเมียนมา ณ จังหวัดสมุทรสาคร ออกไปอีก 1 ปี
                   2. การดำเนินการให้ได้มาซึ่งหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา)
                   3. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
                             3.1 กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) รง. โดยกรมการจัดหางาน จังหวัดสมุทรสาคร โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด และสำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร เป็นหน่วยงานหลักในการประสานกับทางการเมียนมาให้ดำเนินการตามมติที่ประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเรื่องรัฐบาลเมียนมาขอขยายเวลาการดำเนินการของศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ของทางการเมียนมา ที่จังหวัดสมุทรสาคร
                             3.2 จังหวัดสมุทรสาคร โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาครเป็นหน่วยงานที่พิจารณากำหนดวัน เวลา ในการเริ่มเปิดดำเนินการ รวมทั้งพิจารณาแนวทางการปฏิบัติงานของศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ของทางการเมียนมา ให้สอดคล้องกับแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) กรณีที่มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยังมีการบังคับใช้ อาทิ มาตรการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามเขตพื้นที่จังหวัดให้แรงงานเมียนมาที่ทำงานนอกเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครที่มีความประสงค์จะไปดำเนินการจัดเก็บข้อมูล ณ ศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ของทางการเมียนมา ต้องดำเนินการตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณา โดยที่ยังคงให้การมาขอรับบริการของแรงงานสามารถดำเนินการได้
                             3.3 กต. พิจารณามอบอำนาจในการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (NON Immigrant LA) หรือการตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป (กรณีการมอบอำนาจเดิมไม่ครอบคลุม) ให้กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่จะปฏิบัติหน้าที่ ณ ศูนย์ออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity : CI) ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดระนอง จังหวัดชลบุรี และจังหวัดเชียงใหม่ หรือในพื้นที่อื่นตามที่ทางการเมียนมาประสงค์ขอจัดตั้งศูนย์ออกเอกสารรับรองบุคคลเพิ่มเติม
                             3.4 จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดระนอง จังหวัดชลบุรี และจังหวัดเชียงใหม่ โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เป็นหน่วยงานที่พิจารณาแนวทางการปฏิบัติงานของศูนย์ออกเอกสารรับรองบุคคลให้สอดคล้องกับแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 กรณีที่มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยังมีการบังคับใช้ อาทิ มาตรการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามเขตพื้นที่จังหวัด ให้แรงงานเมียนมาที่มีความประสงค์จะไปดำเนินการจัดทำเอกสารรับรองบุคคล ณ ศูนย์ออกเอกสารรับรองบุคคล ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดระนอง จังหวัดชลบุรี และจังหวัดเชียงใหม่ ต้องดำเนินการตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณา โดยที่ยังคงให้การมาขอรับบริการของแรงงานสามารถดำเนินการได้
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   รง. รายงานว่า
                   1. การจัดตั้งศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ของทางการเมียนมา มีจุดประสงค์เพื่อจัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาที่ประสงค์ขอมีหนังสือเดินทางได้ในเบื้องต้น ก่อนที่หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงจะพิจารณาออกหนังสือเดินทางให้กับแรงงานต่อไป โดยที่แรงงานเหล่านี้ยังไม่ต้องเดินทางกลับไปยังประเทศต้นทาง โดยเมื่อผ่านการพิจารณาแล้ว แรงงานเมียนมาสามารถไปขอรับหนังสือเดินทางได้ที่สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทยหรือศูนย์ออกหนังสือเดินทางบริเวณชายแดน โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมามีแรงงานเมียนมาได้ยื่นขอหนังสือเดินทาง ทั้งสิ้น จำนวน 113,176 คน และได้รับหนังสือเดินทางแล้วทั้งสิ้น จำนวน 64,355 คน โดยมีแรงงานเมียนมาที่อยู่ระหว่างตรวจสอบประวัติอาชญากรรมและรอรับหนังสือเดินทาง จำนวน 48,821 คน ต่อมาฝ่ายเมียนมายืนยันความจำเป็นที่ต้องมีการจ่ายเล่มหนังสือเดินทางที่ศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ของทางการเมียนมา เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่แรงงานเมียนมา จึงจำเป็นต้องมีการยกระดับศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ของทางการเมียนมาให้เป็นสถานที่ทำการทางกงสุล ซึ่งทั้งฝ่ายเมียนมาและฝ่ายไทยได้มีการหารือในรายละเอียดมาอย่างต่อเนื่อง ต่อมาเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทยได้มีหนังสือถึง กต. แจ้งการปรับเปลี่ยนแนวทางโดยขอยกระดับศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ของทางการเมียนมา ขึ้นเป็นสำนักงานส่วนแยก (Extension Officeของสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย ซึ่ง กต. มีข้อคิดเห็นว่า ตามข้อ 12 ของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล ค.ศ. 1963 การยกระดับศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ของทางการเมียนมา เป็นสำนักงานส่วนแยกของสถานเอกอัครราชทูตฯ ต้องได้รับความยินยอมจากรัฐบาลไทยและเป็นไปตามการดำเนินการของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ซึ่งขณะนี้การยกระดับศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ของทางการเมียนมา เป็นสำนักงานส่วนแยกของสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
                   2. ปัจจุบันศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ของทางการเมียนมาได้ยุติการดำเนินการแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2564 สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทยจึงได้มีหนังสือถึง กต. ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2564 แจ้งความประสงค์ขอให้ฝ่ายไทยพิจารณาขยายระยะเวลาการดำเนินการศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ของทางการเมียนมา ออกไปอีก 1 ปี เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นายจ้างและแรงงานเมียนมาให้สามารถมีเอกสารประจำตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่ต้องเดินทางกลับประเทศ รวมทั้งเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในภาพรวมได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการดำเนินการของศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ของทางการเมียนมา ยังคงเป็นไปตามแนวทางที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
ประเด็นรายละเอียด
วัตถุประสงค์เพื่อเก็บข้อมูลของแรงงานเมียนมาที่ประสงค์ขอมีหนังสือเดินทาง (Passport)
(โดยไม่มีการจัดทำและจ่ายเล่มหนังสือเดินทาง)
กลุ่มเป้าหมายกลุ่มแรงงานเมียนมา
(ไม่รวมคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมาที่อยู่ในประเทศไทยด้วยวัตถุประสงค์อื่น)
ระยะเวลาดำเนินการชั่วคราว เป็นระยะเวลา 1 ปี
สถานที่ตั้งตลาดทะเลไทย ตำบลท่าจีน อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร
เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงการเข้าเมือง และประชากร สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จำนวน 13 คน
(โดยไม่มีการขอเอกสิทธิ์คุ้มครองทางการทูตให้กับเจ้าหน้าที่ ทั้งในส่วนที่ปฏิบัติหน้าที่ ณ ศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ของทางการเมียนมา หรือ ณ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย)
เอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณา1. แบบคำขอ
2. บัตรประจำตัวประชาชนเมียนมา
3. สำเนาทะเบียนบ้านเมียนมา
ค่าใช้จ่าย
ในการดำเนินการ
ไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ
(ยกเว้นเมื่อไปรับหนังสือเดินทาง ณ จุดที่กำหนด ต้องเสียค่าใช้จ่าย จำนวน 1,050 บาท)
สถานที่สำหรับ
รับหนังสือเดินทาง
1. สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย
2. ศูนย์ออกหนังสือเดินทางบริเวณชายแดน 3 แห่ง ได้แก่
    - ฝั่งท่าขี้เหล็ก (ตรงข้ามอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย)
    - ฝั่งเมียวดี (ตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก)
    - ฝั่งเกาะสอง (ตรงข้ามอำเภอเมือง จังหวัดระนอง)
                   3. การดำเนินการให้ได้มาซึ่งหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานที่ออกตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 โดยในกรณีที่หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสิ้นอายุ ให้คนต่างด้าวดำเนินการให้ได้มาซึ่งเอกสารดังกล่าวภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ดังนั้น เพื่อให้การได้มาซึ่งหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางของคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมาเป็นไปด้วยความเรียบร้อยภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรกำหนดแนวทางการดำเนินการเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ดังนี้
                             3.1 กต.พิจารณามอบอำนาจในการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non Immigrant LAหรือการตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป (กรณีการมอบอำนาจเดิมไม่ครอบคลุม) ให้กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่จะปฏิบัติหน้าที่ ณ ศูนย์ออกเอกสารรับรองบุคคล ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดระนองจังหวัดชลบุรี และจังหวัดเชียงใหม่
                             3.2 กรณีที่มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยังมีการบังคับใช้ อาทิ มาตรการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามเขตพื้นที่จังหวัด ให้แรงงานเมียนมาที่มีความประสงค์จะไปดำเนินการจัดทำเอกสารรับรองบุคคล ณ ศูนย์ออกเอกสารรับรองบุคคล ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดระนอง จังหวัดชลบุรี และจังหวัดเชียงใหม่ ต้องดำเนินการตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณา โดยที่ยังคงให้การมาขอรับบริการของแรงงานสามารถดำเนินการได้
                             3.3 กรณีที่มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยังมีการบังคับใช้ อาทิ มาตรการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามเขตพื้นที่จังหวัด ให้แรงงานเมียนมาที่ทำงานนอกเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ที่มีความประสงค์จะไปดำเนินการจัดเก็บข้อมูล ณ ศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ของทางการเมียนมา ต้องดำเนินการตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณา โดยที่ยังคงให้การมาขอรับบริการของแรงงานสามารถดำเนินการได้
                   4. คณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวในการประชุมครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video Conferenceโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุม ได้มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการของศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ของทางการเมียนมา ออกไปอีก 1 ปีเพื่อให้แรงงานเมียนมามีเอกสารประจำตัว โดยที่ไม่ต้องเดินทางกลับประเทศ และทำให้การบริหารจัดการแรงงานเมียนมาในประเทศไทยเกิดความต่อเนื่อง เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยขั้นตอนการดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563
                   5. การขอขยายระยะเวลาการดำเนินการศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ของทางการเมียนมาและการดำเนินการให้ได้ซึ่งหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (ตามข้อ 2 และข้อ 3) เป็นการช่วยเหลือสนับสนุนให้กับนายจ้างและสถานประกอบการที่มีความประสงค์จะจ้างแรงงานเหล่านั้นต่อไป ส่งผลให้การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แรงงานต่างด้าวได้รับอนุญาตทำงานโดยถูกต้องตามกฎหมายและยังคงอยู่ในการกำกับของหน่วยงานภาครัฐ ได้รับการคุ้มครองและมีสิทธิประโยชน์สวัสดิการการคุ้มครองตามสิทธิที่พึงได้รับ รวมถึงสามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้อย่างชัดเจนหลังจากที่วาระการจ้างงานสิ้นสุดลงหรือแรงงานไม่ประสงค์จะทำงานอีกต่อไป ตลอดจนลดความสุ่มเสี่ยงที่แรงงานบางส่วนจะเปลี่ยนเป็นแรงงานที่ไม่ถูกต้องหากเอกสารประจำตัวสิ้นอายุลง ช่วยลดภาระในการติดตามตรวจสอบของเจ้าหน้าที่และการใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินการดังกล่าว
 
ต่างประเทศ
19. เรื่อง การพิจารณารับรองร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุม OECD SEARP ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 2  คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุม Organisation for Economic Co - operation and Development (OECD) Southeast Asia Regional Programme (SEARP) [OECD SEARP1] ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 (ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารดังกล่าว โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง พร้อมทั้งอนุมัติให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้รับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   1. การประชุม SGM of OECD SEARP เป็นกลไกในการกำหนดทิศทางและติดตามผลการดำเนินงานของ SEARP ซึ่งประเทศไทยได้ดำรงตำแหน่งประธานการประชุมร่วมกับสาธารณรัฐเกาหลี วาระ 3 ปี (พ.ศ. 2561 - 2563) และได้ขยายวาระการดำรงตำแหน่งประธานร่วมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ไปจนถึงสิ้นสุดการประชุม OECD SEARP ระดับรัฐมนตรี  (จะหมดวาระการเป็นประธานร่วมหลังการประชุม SGM of OECD SEARP ครั้งที่ 9 ซึ่งมีกำหนดจัดการประชุมในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565) โดยประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์จากกลไกนี้ในการผลักดันประเด็นที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธศาสตร์ต่อประเทศไทยและภูมิภาค เช่น การฟื้นฟูเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 การส่งเสริม SMEs การพัฒนาทุนมนุษย์ และการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมา OECD ได้ให้การสนับสนุนการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่ประเทศไทยและอาเซียนเพื่อขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง
                   2. OECD และสาธารณรัฐเกาหลีจะร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม OECD SEARP ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 9 - 10 กุมภาพันธ์ 2565 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลีในรูปแบบผสมผสาน (ซึ่งเป็นการประชุมคู่ขนานกับการประชุม SGM of OCED SEARP) ภายใต้หัวข้อ “อนาคตที่มีคนเป็นศูนย์กลาง: ความเป็นหุ้นส่วนเพื่ออาเซียนที่อัจฉริยะ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและครอบคลุมมากขึ้น” เพื่อหารือถึงแนวทางความร่วมมือในการรับมือกับความท้าทายด้านดิจิทัลสิ่งแวดล้อม และสังคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งในการประชุมจะมีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MoU) ระหว่างอาเซียนกับ OECD [คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (24 มกราคม 2565) เห็นชอบและอนุมัติให้มีการลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับ OECD แล้ว (ตามข้อ 5.5)] รวมถึงพิธีส่งมอบตำแหน่งประธานร่วม SEARP ให้แก่ออสเตรเลียและเวียดนามอย่างเป็นทางการ รวมทั้งจะมีการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ เพื่อเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมดังกล่าว
                   3. ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ เป็นเอกสารแสดงความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกภายใต้โครงการ SEARP เพื่อการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนและทั่วถึงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การฟื้นฟูที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างโครงการ SEARP กับอาเซียนและองค์กรระดับภูมิภาคอื่น ๆ ตลอดจนการดำเนินการเพื่อจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่างอาเซียนกับ OECD ในอนาคต (เช่น โครงการ Country Programme ระยะที่ 2)
­­________________________
1 OECD SEARP ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2557 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง OECD กับอาเซียนด้วยการสนับสนุนการรวมตัวของภูมิภาคอาเซียน ส่งเสริมกระบวนการปฏิรูปภายในประเทศสมาชิกอาเซียน และเพิ่มการมีส่วนร่วมประเทศสมาชิกอาเซียนในหน่วยงานและกลไกต่าง ๆ ของ OECD ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดี โดยครอบคลุม 13 ประเด็นสาขาความร่วมมือ เช่น การลงทุน ภาษี นวัตกรรม การฟื้นตัวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว และ MSMEs เป็นต้น ทั้งนี้ ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธาน SEARP ร่วมกับสาธารณรัฐเกาหลีตั้งแต่ปี 2561
 
20. เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการ ภายหลังประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกที่ประชุมกรุงเฮกว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการภายหลังประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกที่ประชุมกรุงเฮกว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคลตามองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ โดยกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศเป็นเลขานุการร่วม รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานสำหรับการเข้าร่วมประชุม Council on General Affairs and Policy (CGAP) และการประชุมของ Hague Conference on Private International Law (HCCH) อื่น ๆ ของคณะผู้แทนไทย รวมถึงการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
                   สาระสำคัญของเรื่อง สรุปดังนี้
                   1. กระทรวงยุติธรรมได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการส่วนที่เกี่ยวข้องกรณีประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกประชุมกรุงเฮกว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล (Hague Conference on Private International Law: HCCH) ภายหลังจากที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ได้อนุญาตให้เลขาธิการ HCCH (Dr. Christophe Bernasconi) เข้าเยี่ยมคารวะและหารือข้อราชการ ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 และคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563เห็นชอบต่อการเข้าเป็นสมาชิก HCCH เนื่องจากจะทำให้ประเทศไทยมีสิทธิในการเข้าร่วมกระบวนการเจรจาร่างอนุสัญญาต่าง ๆ ของ HCCH และมีโอกาสในการผลักดันวัตถุประสงค์หรือความต้องการของไทยบนเวทีระหว่างประเทศได้ และยังเป็นประโยชน์ต่อการติดตามพัฒนาการของกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลที่เกี่ยวกับการคุ้มครองดูแลสิทธิประโยชน์ของประชาชน ในการดำเนินกิจกรรมข้ามรัฐ รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงกฎหมายภายในของไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลอีกด้วย ด้วยเหตุที่ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก HCCH โดยสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 จึงมีความจำเป็นในการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเป็นกลไกประสานงานระหว่างหน่วยงานไทยทั้งทางด้านสารัตถะและพิธีการ ในการเตรียมการเข้าร่วมการประชุมของ HCCH ต่อไป
                   2. กระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมพลวัตภายหลังการเข้าเป็นสมาชิก HCCH โดยกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ (1) โครงการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “แนวทางพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคลเนื่องในโอกาสที่ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก Hague Conference on Private International Law (HCCH)” เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 (2) การประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อพิจารณากรอบการดำเนินงาน ภายหลังประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกที่ประชุมกรุงเฮกว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 และ (3) การประชุมเพื่อพิจารณาการดำเนินงานภายหลังประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกที่ประชุมกรุงเฮกว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 โดยที่ประชุมได้เห็นชอบกรอบการดำเนินการภายหลังการเข้าเป็นสมาชิกฯ จำนวน 4 ประเด็น ได้แก่ (1) การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฉบับใหม่และการทบทวนการปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับที่เป็นภาคีในปัจจุบัน (2) การพัฒนากฎหมายเอกซน และกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลของไทยให้สอดคล้องกับ HCCH รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายภายใน (3) การพัฒนาองค์ความรู้เชิงวิชาการของไทยและการพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้อง และ (4) การส่งเสริมท่าทีและเป้าประสงค์ของไทยในเวทีการประชุมของ HCCH
                   ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมท่าทีและเป้าประสงค์ของไทยในเวทีการประชุมของ HCCH หน่วยงานของไทยได้เห็นชอบให้กระทรวงยุติธรรมเสนอจัดตั้งกลไกรูปแบบคณะกรรมการ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานและการผลักดันทบบาทของไทยในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ HCCH ให้มีประสิทธิภาพและมีลักษณะที่ยั่งยืนต่อไป
          สำหรับการประชุม CGAP เป็นการประชุมหลักของ HCCH มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28กุมภาพันธ์ – 4 มีนาคม 2565 ผ่านระบบการประชุมทางไกล
 
21. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-เวียดนาม ครั้งที่ 4
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (Joint Commission on Bilateral Cooperation: JCBC) ไทย-เวียดนาม ครั้งที่ 4 และมอบหมายส่วนราชการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามผลการประชุมฯ ต่อไปตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   กต. รายงานว่า การประชุม JCBC ไทย-เวียดนาม ครั้งที่ 4 เป้นการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (นายบุ่ย แทงห์ เซิน) เป็นประธานร่วมกันโดยการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิดหลัก “การส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งเพื่อการฟื้นฟูและเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน” สรุปได้ ดังนี้
                   ผลการประชุมฯ มีการส่งเสริมความร่วมมือด้านต่าง ๆ ดังนี้
 
ประเด็นสาระสำคัญ
1) ด้านการเมือง/ความมั่นคงเพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่อสันติภาพอย่างยั่งยืน1.1 การส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยยินดีต่อการหารือระหว่างผู้นำสองประเทศอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งยืนยันจะแลกเปลี่ยนการเยือนและเป็นเจ้าภาพการประชุมทวิภาคีระหว่างกันในปี 2565
1.2 การส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีด้านการเมืองความมั่นคงในกรอบต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้นเพื่อรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค และสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่าง
กระทรวงกลาโหม (กห.) และกองทัพของสองประเทศ ความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเล ความร่วมมือด้านความมั่นคงในกรอบพลเรือน ความร่วมมือด้านนิติบัญญัติ ความร่วมมือด้านอาญาและยุติธรรม และการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม
2) ด้านเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน
 
 
 
2.1 การมีมาตรการฟื้นฟูการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกัน เช่น การให้ผู้ที่เดินทางจากไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (เวียดนาม) ที่ฉีดวัคซีนครบแล้วเข้าประเทศได้ทางอากาศภายใต้ระบบ Test and Go เพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจและราชการ
2.2 การกระชับความร่วมมือด้านสาธารณสุข เช่น การพัฒนาและวิจัยวัคซีนโควิด-19 และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร
2.3 การเพิ่มปริมาณการค้าทวิภาคีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้ามูลค่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 โดยประสงค์ให้จัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ในโอกาสแรก
2.4 การส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน โดยฝ่ายไทยขอให้ฝ่ายเวียดนามคุ้มครองการลงทุน การจัดตั้งหอการค้าและอุตสาหกรรมของไทยในเวียดนาม รวมทั้งขอให้ฝ่ายเวียดนามเพิ่มการลงทุนในไทย
2.5 การส่งเสริมการเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำ รวมถึงความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานระหว่างภาคอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศในสาขาที่เกื้อกูลกัน เช่น รถยนต์และชิ้นส่วน ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี
2.6 ฝ่ายไทยขอให้ฝ่ายเวียดนามอำนวยความสะดวกการขนส่งผ่านแดนจากไทยไปยังประเทศที่สาม ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความแออัดของรถบรรทุกสินค้าที่ด่านขายแดนเวียดนาม-จีน
2.7 การส่งเสริมความร่วมมือที่เกื้อกูลกันระหว่างแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (BCG Economy Model) ของไทยกับยุทธศาสตร์แห่งชาติ เพื่อการเจริญเติบโตสีเขียว (ค.ศ. 2021 - 2030) ของเวียดนาม
2.8 การกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุน การท่องเที่ยวและความเชื่อมโยงทางการเงินระหว่างกัน รวมถึงการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมระหว่างสองประเทศ
3. ด้านสังคมและวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
 
3.1 การจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 45 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ทั้งด้านการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม วิซาการ และด้านการค้าการลงทุน รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยเฉพาะด้านรัฐบาลดิจิทัล ความมั่นคงทางไซเบอร์และเมืองอัจฉริยะ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย และการสนับสนุนหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาไทย และภาษาเวียดนามของทั้งสองประเทศ
3.2 การสนับสนุนความร่วมมือในระดับประชาชน โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และความร่วมมือระดับประชาชน พร้อมทั้งสนับสนุนบทบาทของสมาคมมิตรภาพ และสมาคมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ
 
                   ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบร่างบันทึกการประชุมฯ โดยสาระสำคัญของเอกสารไม่แตกต่างจากที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบไว้แล้ว และร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับเวียดนาม จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ (1) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่าง กต. กับ กต. เวียดนาม ระหว่างปี 2564 -2569 (2) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กับกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวเวียดนาม ระหว่างปี 2564 - 2569  และ (3) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสถาปนาเมืองคู่มิตรระหว่างจังหวัดอุบลราชธานีกับจังหวัดเถื่อเทียนเว้ของเวียดนาม
 
22. เรื่อง การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 (The Fifth APEC Meeting of Ministers Responsible for Forestry: MMRF5)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมป่าไม้ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 (The Fifth APEC Meeting of Ministers Responsible for Forestry: MMRF5) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้องในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี พ.ศ. 2565 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ (ทส.) เสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   1. การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2565 มีการประชุมที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ เป็นหน่วยงานหลัก จำนวนทั้งสิ้น 2 รายการ ได้แก่
                             1.1 การประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 (The Fifth APEC Meeting of Ministers Responsible for Forestry: MMRF5) ซึ่งเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี
                             1.2 การประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการค้าไม้ที่ผิดกฎหมายและการค้าอื่นที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 21 และ 22 (The 21st and 22nd  Meeting of Expert Group on Illegal Logging and Associated Trade: EGILAT21, EGILAT22) ซึ่งเป็นการประชุมในระดับต่ำกว่าระดับรัฐมนตรี
                   2. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ ได้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมเตรียมการเพื่อจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 (The Fifth APEC Meeting of Ministers Responsible for Forestry: MMRF5) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง จำนวน 3 ครั้ง (ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564) โดยหน่วยงานที่เข้าร่วมการประชุมสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 (The Fifth APEC Meeting of Ministers Responsible for Forestry: MMRF5) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการร่วมกันพัฒนาร่างข้อเสนอผลลัพธ์ (Deliverables) ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องการผลักดันในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี พ.ศ. 2565 ได้แก่ APEC Action Plan for Forest Management and Innovation และ Forest Timber and Products Certification and Declaration รวมทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานต่าง ๆ เพื่อเตรียมการสำหรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 (The Fifth APEC Meeting of Ministers Responsible for Forestry: MMRF5) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง
                   ทั้งนี้ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 (The Fifth APEC Meeting of Ministers Responsible for Forestry: MMRF5) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยประเทศไทยจะมีโอกาสในการแสดงบทบาทนำภาคการป่าไม้ของภูมิภาค ในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้เพื่อเป็นฐานการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม เสริมสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งทำให้การพัฒนาภาคเศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโตอย่างครอบคลุม ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบ อีกทั้งการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าวจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่แสดงให้เห็นว่าได้ให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมกับประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหาด้านป่าไม้ซึ่งมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผ่านการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน
 
แต่งตั้ง
23. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นางมานิดา สิงหัษฐิต นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาจิตเวช) โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต ให้ดำรงตำแหน่งนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาจิตเวช) โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 
 
24. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง นายวีรศักดิ์ ทิพย์มณเฑียร ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการ ระดับสูง) สำนักอำนวยการ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบงานการข่าว (นักการข่าวทรงคุณวุฒิ) กลุ่มงานที่ปรึกษา สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 
 
25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้ 
                   1. นายประพันธ์ ดิษยทัต เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย  
                   2. นางสาวดาว วิบูลย์พานิช รองอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ โรมาเนีย 
                   3. นายกฤษณ์ ตันคณารัตน์ กงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา ญี่ปุ่น ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบัวโนสไอเรส สาธารณรัฐอาร์เจนตินา
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศทั้ง 3 ราย ดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับ
 
26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย เพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้ 
                   1. นายวัลลพ สงวนนาม รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวง 
                   2. นายสุรศักดิ์ อินศรีไกร เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง  
                   3. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
27. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 4 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้ 
                   1. นางสุปราณี นฤนาทนโรดม รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง 
                   2. นางสาวเจริญวรรณ หนูนาค รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง  
                   3. นายศัจธร วัฒนะมงคล รองศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 1 สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 1 สำนักงานปลัดกระทรวง 
                   4. ว่าที่ร้อยตรี เจษฎาภรณ์ พรหนองแสน รองศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 14 สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 17 สำนักงานปลัดกระทรวง 
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

28. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอขอแต่งตั้งนายดิสทัต คำประกอบ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีอีกหนึ่งวาระ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565
 
29. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการยาสูบแห่งประเทศไทย
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการยาสูบแห่งประเทศไทย รวม 9 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการอื่นเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ดังนี้
                   1. นายธีรัชย์ อัตนวานิช ผู้แทนกระทรวงการคลัง  ประธานกรรมการ                       
                   2. นายปิ่นสาย สุรัสวดี ผู้แทนกระทรวงการคลัง     กรรมการ
                   3. นางสาวสุภัค ไชยวรรณ ผู้แทนกระทรวงการคลัง  กรรมการ
                   4. ศาสตราจารย์อัญญา ขันธวิทย์                        กรรมการ
                   5. พลตำรวจตรี ศิร์ธัชเขต ครูวัฒนเศรษฐ์             กรรมการ
                   6. พลโท วรพจน์ ธนะธนิต                                  กรรมการ
                   7. นายทองเปลว กองจันทร์                                กรรมการ
                   8. นายสมศักดิ์ เธียรวิวัฒน์นุกูล                          กรรมการ        
                   9. นางชนัญญารักษ์ เพ็ชร์รัตน์                           กรรมการ        
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป
 
30. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารออมสินคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารออมสิน รวม 10 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการอื่นเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 ดังนี้
                   1. นายประภาศ คงเอียด ผู้แทนกระทรวงการคลัง             ประธานกรรมการ
                   2. นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา ผู้แทนกระทรวงการคลัง     กรรมการ
                   3. นางวรนุช ภู่อิ่ม ผู้แทนกระทรวงการคลัง                      กรรมการ
                   4. นางสาวเยาวนุช วิยาภรณ์                                      กรรมการ
                   5. นางสาวธิดารัธ ธนภรรคภวิน                                  กรรมการ
                   6. นางสาวสุปรียา พิพัฒน์มโนมัย                               กรรมการ
                   7. นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์                                     กรรมการ
                   8. นางรัชดาภรณ์ ราชเทวินทร์                                   กรรมการ
                   9. รองศาสตราจารย์ธนวรรธน์ พลวิชัย                        กรรมการ
                   10. นางธิดา พัทธธรรม                                             กรรมการ
                   ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป
 
31. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชนเสนอการแต่งตั้งประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง ดังนี้
                   1. นายโชติชัย เจริญงาม                              เป็นประธานกรรมการ
                   2. นายถาวร ชลัษเฐียร                                 เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
                   3. นางสาวเพียงออ เลาหะวิไลย                     เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
                   4. นายพิศิษฐ์ แสง-ชูโต                                เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
                   5. นายสมโภชน์ อาหุนัย                               เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
                   6. นายสุเมธ องกิตติกุล                                เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป
 
 
………………………..........
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.thaigov.go.th