วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

 




การศึกษาสร้างคน คนสร้างชาติ โดย...การพัฒนาหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ต้องตอบโจทย์ความต้องการ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในศตวรรษที่ 21

———————————-

📣พี่น้องประชาชนที่รักครับ

🏵หลังการเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ผมก็ได้กลับมาเดินหน้าการขับเคลื่อนแผนงานต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ในทันที โดยผมได้สั่งการกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสานต่อนโยบายโดยแปลงออกมาให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 2 เดือน ทั้งด้านแรงงาน การท่องเที่ยว ความร่วมมือการค้าการลงทุน และด้านอื่นๆ แล้วให้รายงานความก้าวหน้าต่อผมในทันที รวมทั้งการสนับสนุนภาคเอกชนอย่างเต็มที่ ในการดำเนินการคู่ขนานกันไปด้วย เนื่องจากสิ่งที่ประเทศไทยจะได้รับจากการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะเปิดประตูสู่การสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมากมายในรอบกว่า 30 ปี

🏵นอกจากการสร้างความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว สิ่งสำคัญที่ผมติดตามอยู่ตลอดเวลา คือการสร้างคนในชาติด้วยการศึกษา ที่ต้องพัฒนาให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลง และพลวัตรของโลก จะหยุดอยู่กับที่ หรือทำสิ่งเดิมซ้ำๆ ไม่ได้ ดังนั้นในการประชุม ครม.ครั้งล่าสุด (1 ก.พ.65) จึงได้มีการเห็นชอบนโยบายการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา หรือที่เรียกว่า “Higher Education Sandbox” ซึ่งเป็นโครงการนำร่องของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่จะพัฒนาหลักสูตรการศึกษารูปแบบใหม่ ที่ทลายข้อจำกัดเดิมในอดีต เพื่อตอบสนองแนวทางการศึกษาในอนาคตที่ยืดหยุ่นและคล่องตัว มุ่งเป้าให้เกิดประสิทธิภาพการเรียนรู้และผลสัมฤทธิ์ เช่น ผู้สอนไม่จำเป็นต้องเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเสมอไป แต่มาจากหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนก็ได้ ส่วนการเรียนการสอนในรายวิชาบังคับบางวิชา ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าเรียนในสถานศึกษา แต่สามารถไปเรียนจากการทำงานในสถานประกอบการแทน โดยไม่เพียงให้ความสำคัญในเชิงหลักการอย่างเดียว แต่เน้นประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติจริงไปพร้อมๆ กันด้วย อีกทั้งเป็นการศึกษาที่ไม่เน้นปริญญา แต่มุ่งตอบสนองการทำงาน การสร้างอาชีพ เป็นการผลิต "กำลังคนขั้นสูง" สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว โดย อว.ร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มหาวิทยาลัยต่างๆ ภาคอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ที่ตอบโจทย์ความต้องการ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่มากขึ้น ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นอีกก้าวสำคัญของ “การปฏิรูปการศึกษา” ในระดับมหาวิทยาลัย ที่จะสร้างคนขึ้นมารองรับการขับเคลื่อนประเทศชาติ

🏵ส่วนในระดับ "การศึกษาขั้นพื้นฐาน" รัฐบาลได้ผลักดัน พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 ให้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทในแต่ละท้องถิ่น ทั้งอาชีพและความต้องการแรงงาน โดยกำหนด "โรงเรียนนำร่อง" และสร้าง "เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง" จากการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน ที่เน้นการส่งเสริมความถนัดของผู้เรียนแต่ละคน เป็นการกระจายอำนาจและให้เสรีในการปฏิบัติแก่สถานศึกษา เพื่อเพิ่มโอกาสการพัฒนาที่คล่องตัวขึ้น อีกทั้งเน้นสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานสำคัญในการเรียนรู้ให้กับลูกหลานของเรา

🏵ทั้งหมดนี้ ผมได้เน้นย้ำให้มีการทำงานบูรณาการกันอย่างครบวงจร ตั้งแต่ "ต้นทาง" ที่มีกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวง อว. เป็นผู้ผลิตกำลังคนเข้าสู่ระบบ และ "กลางทาง+ปลายทาง" ที่มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงาน เป็นต้น เป็น "ตลาดแรงงาน" โดยมองทั้งความต้องการแรงงานในประเทศ เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สถานประกอบการ และภาคเอกชนไทย รวมทั้งการสร้างโอกาสงานใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกมากมายในอนาคต

🏵ความคืบหน้าเหล่านี้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลเตรียมไว้เพื่อวันข้างหน้า ตามนโยบาย "ประเทศไทย 4.0" ซึ่งต้องดำเนินการในทุกมิติ พร้อมๆ กัน ทั้ง Hardware คือโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ Software คือ กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ พันธสัญญาต่างๆ กับประชาคมโลก และ Peopleware คือ การเตรียมกำลังคน โดยปฏิรูปการศึกษา ซึ่งจะสำเร็จได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ก็ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ผมเชื่อมั่นในอนาคตของประเทศไทย และศักยภาพของคนไทย ว่าจะสามารถก้าวไปสู่การเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำของโลก ในทุกๆ ด้านได้อย่างแน่นอนครับ

  ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.facebook.com/ayutthayanews/