วันอังคารที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2564

คำกล่าวมอบนโยบายของนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

 ขอบคุณท่านรองนายกรัฐมนตรี ท่านรัฐมนตรี ท่านหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่มาร่วมประชุมในวันนี้รวมทั้งท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทุกท่านที่เข้าร่วมประชุมทางไกลผ่านทางระบบ Video Conference ณ ศาลากลางทุกจังหวัด  เพื่อรับมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 

 
โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีทิศทางดีขึ้นเป็นลำดับ  และความคืบหน้าในการกระจายการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน  ทำให้ภาครัฐสามารถ
ทยอยผ่อนคลายมาตรการในการควบคุมโรคได้  ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว  โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก ธุรกิจบันเทิง และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง 

ในปี 2565 การใช้จ่ายภาครัฐยังคงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมีเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท  งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ  วงเงิน 3.07 แสนล้านบาท  และเงินกู้จากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  เพิ่มเติม พ.ศ. 2564  วงเงิน 5 แสนล้านบาท
 
อย่างไรก็ดี พรก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท  จะสิ้นสุดลงในปีงบประมาณ 2565  ดังนั้น การใช้จ่ายภาครัฐผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566  จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง  ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และแผนต่าง ๆ ให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด
 
แนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566
เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566  สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างต่อเนื่อง และแก้ไขปัญหาที่สำคัญของประเทศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ประสิทธิผล และเกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม  จึงขอความร่วมมือจากท่านทั้งหลายดำเนินการ

  1. น้อมนำแนวทางพระราชดำริ และ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
    ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10  รวมทั้งแนวทางของพระบรมวงศานุวงศ์มาประยุกต์ใช้ในโครงการต่าง ๆ ที่เหมาะสม เช่น โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่  โครงการธนาคารเมล็ดพันธุ์เพื่อความมั่นคงด้านอาหาร โครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เป็นต้น
  2. ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า  โดยใช้งบประมาณทั้งในส่วนของหน่วยรับงบประมาณ ที่อยู่ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์และแผนงานพื้นฐาน  เช่น การพัฒนาด้านการศึกษา  ด้านสาธารณสุข  ด้านการเกษตร  และแผนงานบูรณาการอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก  มาใช้ในการแก้ไขปัญหา  ตลอดจนการใช้แนวทางเกษตร Sandbox  เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิตตั้งแต่ต้นทาง เช่น การจัดเตรียมพื้นที่ การสนับสนุนเครื่องจักรอุปกรณ์ การเข้าถึงแหล่งทุน การพัฒนาการส่งเสริมอาชีพ / กลางทาง เช่น การเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ  โดยการสนับสนุนเทคโนโลยี หรือองค์ความรู้เกษตรสมัยใหม่  รวมไปถึงการแปรรูปสินค้าและผลิตภัณฑ์ / ปลายทาง เช่น การส่งเสริมการขาย ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การจำหน่ายผ่านช่องทาง  Online  การหาตลาดทั้งในและนอกประเทศ  โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ แก้ไขปัญหาความยากจนให้เกิดผลสำเร็จอย่างจริงจัง
  3.   บริหารงบประมาณรายจ่ายประจำอย่างประหยัด คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และสอดคล้อง
    กับความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน 
     โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้ในกระบวนการทำงานให้มากขึ้น เช่น การประชุม สัมมนา ประชาสัมพันธ์ ทางออนไลน์
  4.   ประเมินผลสำเร็จของการดำเนินงานว่าสามารถส่งผลให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมาย ที่กำหนดได้มากน้อยเพียงใด หากแผนงาน/โครงการใดไม่สามารถก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่กำหนดได้ก็ควรยกเลิก เพื่อนำงบประมาณไปดำเนินการในแผนงาน/โครงการอื่นต่อไป
  5.   เฝ้าระวังผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบาง โดยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะยังคงอยู่และประชาชนต้องปรับตัว และใช้ชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย ผ่านการฉีดวัคซีนและมาตรการทางสาธารณสุข  โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ  ควรได้รับความช่วยเหลืออย่างเพียงพอในการดำรงชีวิต  และลดความเสี่ยงจากการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไปยังบุคคลอื่นและชุมชน
  6.   ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เพิ่มศักยภาพการถ่ายโอนภารกิจ การจัดบริการสาธารณะ ลดความเหลื่อมล้ำ  รวมทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และประสิทธิผลของการใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 
  7.   จัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน  โดยหน่วยรับงบประมาณที่มีเงินนอกงบประมาณต้องพิจารณานำเงินดังกล่าว เช่น เงินรายได้ เงินสะสมคงเหลือ  มาใช้ในการดำเนินภารกิจของหน่วยงานเป็นลำดับแรก  รวมทั้งต้องพิจารณาแหล่งเงินอื่นในการดำเนินโครงการลงทุน เช่น การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership : PPP) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) เพื่อเป็นการลดภาระงบประมาณ  และทำให้การใช้ทรัพยากรของประเทศเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ประเด็นสำคัญในการจัดทำคำของบประมาณปี 2566
จัดทำยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ
เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ที่ผ่านมาจึงขอให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับประเด็นตามยุทธศาสตร์การจัดสรรฯ 6 ด้าน ดังนี้

ด้านความมั่นคง
  • การสร้างความรู้ความเข้าใจการปรับตัวรับมือกับภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ / พัฒนาระบบเตือนภัย ระบบข้อมูล การใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาท้องถิ่น  ตลอดจนกลไกความร่วมมือกับต่างประเทศในการจัดการ เพื่อลดจำนวนประชาชนที่เสียชีวิต สูญหาย และได้รับผลกระทบ
  • การพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุน การสร้างฐานเศรษฐกิจ  โดยบูรณาการแนวทางส่งเสริมการลงทุนรองรับห่วงโซ่การผลิต การย้ายฐานการผลิต  เพื่อให้ไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการค้า การลงทุน การบริการ และความเชื่อมโยงในภูมิภาคเอเชีย  รวมทั้งการเป็นผู้นำกลุ่ม CLMVT
ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
  • การเกษตร  เน้นเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง / เกษตรยั่งยืนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม / การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมในการผลิต  เพื่อยกระดับการเป็นเกษตรกรอัจฉริยะ / พัฒนาระบบคลังข้อมูลที่มีความเชื่อมโยง เป็นข้อมูลเปิด  รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์ม แอปพลิเคชันเพื่อการเข้าถึงข้อมูล / ส่งเสริมการขายผลผลิตผ่านตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์  โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตและ GDP ด้านการเกษตรให้สูงขึ้น
  • อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต  เน้นอุตสาหกรรมและบริการตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ / การบริการทางการแพทย์ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ / การขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจไทยด้วยดิจิทัล / ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและการใช้ยานยนต์ในภาคส่วนต่าง ๆ / การพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการปรับตัวทางเทคโนโลยีในอนาคต  รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายและระเบียบให้เอื้อต่อการดำเนินการ  โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตและ GDP ด้านอุตสาหกรรมและบริการให้สูงขึ้น
  • การท่องเที่ยว  เน้นคุณค่าและความยั่งยืน / พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ ทั้งในชุมชนและเมืองรอง บนฐานความหลากหลายและวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงเกษตร / การท่องเที่ยว MICE   / การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ / การท่องเที่ยวทางน้ำ ทั้งเรือสำราญ เรือยอร์ช และเรือล่องแม่น้ำ  สำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง / ส่งเสริมการเป็นสวรรค์แห่งการช้อปปิ้ง / พัฒนา Big Data ด้านการท่องเที่ยว และบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงภาคเอกชน  โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว และรายได้ของประเทศให้สูงขึ้น
  • พื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ  พัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาชน และประชาสังคม รวมทั้งสนับสนุนการเพิ่มบทบาทของเครือข่ายวิสาหกิจเพื่อสังคมในการพัฒนาพื้นที่และเมือง / ส่งเสริมการเข้าถึงระบบโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาความพร้อมด้านดิจิทัลและระบบข้อมูลสารสนเทศ ให้พร้อมต่อการยกระดับเป็นเมืองอัจฉริยะ
  • โครงสร้างพื้นฐาน  พัฒนาระบบขนส่งทางรางและทางน้ำเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ รวมทั้งดึงดูดการลงทุนภาคเอกชน / พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานให้พร้อมต่อการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า  มีระบบข้อมูลการบริหารจัดการและการใช้นวัตกรรมประหยัดพลังงาน / พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล และให้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีพ รวมทั้ง การให้บริการของภาครัฐเพิ่มขึ้น  โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
  • SMEs  ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในกระบวนการผลิตและบริการ การจัดการและการตลาด / ความร่วมมือกับผู้ประกอบการรายใหญ่ / การเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยเฉพาะ SMEs  รายเล็กและรายย่อย / การทำธุรกรรมผ่านระบบดิจิทัล พร้อมทั้งพัฒนาพอร์ทัลกลางเชื่อมโยงข้อมูล  SMEs เข้ากับระบบการให้บริการภาครัฐ พัฒนาระบบคลังข้อมูลสำหรับให้บริการเป็นระบบออนไลน์  และระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจร  รวมทั้งพัฒนาระบบส่งต่อการให้ความช่วยเหลือและขยายการให้บริการพัฒนาธุรกิจที่ตรงกับความต้องการเฉพาะของธุรกิจ  พัฒนาแพลตฟอร์มการค้าระหว่างประเทศเพื่อเป็นช่องทางการส่งออก  ตลอดจนปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการแข่งขันที่เป็นธรรม  และเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจ  โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพของ SMEs ไทย ให้สามารถยกระดับและปรับตัวเข้าสู่การแข่งขันได้
  • เขตเศรษฐกิจพิเศษ  พัฒนา EEC เป็นฐานอุตสาหกรรมและบริการที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง โดยส่งเสริมการลงทุนและการจ้างงานในพื้นที่  รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง / ส่งเสริมการลงทุนสร้างท่าเรือและ Land Bridge ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อให้ไทยเป็นประตูการค้าที่สำคัญ  รวมถึงพัฒนาการท่องเที่ยวในจังหวัดที่มีศักยภาพ อาทิ ภูเก็ต กระบี่ พังงา ตรัง และสตูล / ส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวก
    ด้านการลงทุนและการค้าชายแดน
ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
  • การพัฒนาระบบการศึกษาให้มีคุณภาพ  สามารถพัฒนาทักษะสำคัญและเชื่อมต่อการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต / ปรับบทบาทสถาบันอุดมศึกษาในการแก้ปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอยจากผลกระทบของโควิด – ๑๙ / กระจายโอกาสการพัฒนาสมรรถนะให้แรงงานทุกกลุ่ม / พัฒนาผู้สูงอายุให้มีคุณค่าของสังคม / สร้างกลไกรวบรวมกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย  รวมทั้งพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อการวางแผนและพัฒนากำลังคน  โดยมีเป้าหมายให้คนไทยได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ
  • การพัฒนาระบบบริการสุขภาพเพื่อรองรับการส่งเสริมสุขภาพในระยะยาว / การนำเทคโนโลยีดิจิทัลและสารสนเทศมาสนับสนุนบริการทางการแพทย์ / เพิ่มขีดความสามารถด้านการศึกษา วิจัย  และเทคโนโลยีทางการแพทย์ / การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ / ส่งเสริมมาตรการจูงใจและสิทธิประโยชน์แก่สถาบันชั้นนำและบุคลากรระดับนานาชาติในการร่วมพัฒนามาตรฐานการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ / การพัฒนาและนำเข้าบุคลากรทางการแพทย์ / การกระจายกำลังคนด้านสุขภาพ  รวมทั้งพัฒนาศักยภาพบุคลากรในพื้นที่ห่างไกล และพัฒนาระบบเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพในการจัดการภาวะฉุกเฉิน เช่น โรคอุบัติใหม่ และโรคอุบัติซ้ำ  โดยมีเป้าหมายให้คนไทยมีสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม
  • การพัฒนาศักยภาพของครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น โดยสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพและจัดสรรงาน จากมาตรการช่วยเหลือแบบพุ่งเป้า และฐานข้อมูลที่สามารถระบุคนจนและปัญหา/ ให้เด็กยากจนสามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับสูงกว่าการศึกษาภาคบังคับ  รวมทั้งเพิ่มบทบาทหน่วยงานส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหา
  • การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยสนับสนุนการผลิตและการตลาดภายในชุมชน  รวมทั้งพัฒนาช่องทางและศูนย์กลางตลาดสินค้าที่ครอบคลุมทั้งออนไลน์และออฟไลน์  และสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนผ่านเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย
  • การยกระดับความคุ้มครองทางสังคมสำหรับเด็ก ผ่านศูนย์เด็กเล็ก  สำหรับวัยแรงงาน ผ่านระบบการออมภาคสมัครใจ การคุ้มครองสวัสดิการแรงงานรูปแบบใหม่ และการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม  สำหรับวัยสูงอายุ ผ่านการเข้าถึงบริการดูแลระยะยาวสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง รวมทั้งพัฒนาที่พักอาศัย และนวัตกรรมรองรับการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ
ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • การนำแนวทาง BCG Model มาใช้ในภาคอุตสาหกรรม บริการ และโลจิสติกส์ โดยมุ่งส่งต่อต้นแบบนโยบายให้มีการดำเนินการในพื้นที่ระดับจังหวัดอย่างมีเป้าหมาย และบูรณาการร่วมกัน  เพื่อลดผลกระทบและสร้างการเติบโตได้อย่างสมดุล
  • การจัดทำ Carbon Footprint และพัฒนาระบบตลาดคาร์บอนเพื่อการสร้างรายได้ มุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน / พัฒนาฐานข้อมูล องค์ความรู้ มาตรฐานต่าง ๆ ที่สนับสนุน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามข้อตกลงการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP – 26)
  • การเพิ่มรายได้ของชุมชนจากแนวทางขยะเป็นศูนย์ ทั้งจากขยะและวัสดุทางการเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะอย่างเป็นระบบในชุมชน  ทั้งนี้ เพื่อให้อัตราการนำขยะกลับมาใช้ใหม่เพิ่มขึ้น  รวมทั้งส่งเสริมชุมชนให้เกิดการเรียนรู้ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน
ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
  • การพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าแห่งชาติ และระบบการเงินดิจิทัล  พร้อมทั้งปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน
  • การพัฒนาการบริการและแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการเป็นรัฐบาลดิจิทัลเต็มรูปแบบ รวมทั้งปรับเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐทั้งหมดให้เป็นข้อมูลดิจิทัลที่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ เพื่อยกระดับความพึงพอใจของประชาชนในคุณภาพการให้บริการ
  • การส่งเสริมบทบาทและการกระจายอำนาจการบริหารจัดการภาครัฐขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีสมรรถนะการจัดบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะให้กับประชาชน
  • การปรับปรุงระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐเพื่อดึงดูดและรักษาผู้มีศักยภาพสร้างความโปร่งใสและธรรมาภิบาล
สุดท้ายนี้  ขอให้หน่วยรับงบประมาณ นำประเด็นสำคัญทั้งหมดที่ได้กล่าวมาแล้วมาใช้ประกอบการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 256๖  รวมถึงการนำโครงการสำคัญประจำปี 2566  ที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้
ยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 406 โครงการ  ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน  2564 มาพิจารณาด้วย  และจัดส่งให้สำนักงบประมาณ ภายในวันที่ 14 มกราคม 2566

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.thaigov.go.th