วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2564

สำนักงาน ก.พ.ร. จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง "ไขกุญแจความสำเร็จ... เรื่อง (ไม่) ลับสู่การเป็นองค์การ 4.0” ของ 5 หน่วยงานโดดเด่นกับการพัฒนาองค์การสู่การเป็นระบบราชการ 4.0 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

 

 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง "ไขกุญแจความสำเร็จ...  เรื่อง (ไม่) ลับสู่การเป็นองค์การ 4.0” ของ 5 หน่วยงานโดดเด่นกับการพัฒนาองค์การสู่การเป็นระบบราชการ 4.0 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 

         ในช่วงแรกนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. ได้มาถ่ายทอดประสบการณ์ในหัวข้อ PMQA 4.0 กับการเปลี่ยนแปลงระบบราชการ โดยได้กล่าวถึงแนวคิด และการเปลี่ยนแปลงจากการนำ PMQA 4.0 ไปใช้ในการพัฒนาระบบราชการ  และในช่วงเสวนา ได้รับเกียรติจาก นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม  พญ. อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต  นางสาวเบญจพร ชาครานนท์  อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน  นายปิ่นสาย สุรัสวดี  ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี กรมสรรพากร และนางเสาวนิตย์ พงษ์ประไพ  ที่ปรึกษาด้านแผนงานและต่างประเทศ  สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง  มาแลกเปลี่ยนเคล็ดลับในการพัฒนาองค์การสู่การเป็นระบบราชการ 4.0 ทำให้ได้ผลคะแนนการประเมินสถานะการเป็นระบบราชการ 4.0 ที่โดดเด่น รวมทั้งสามารถคว้ารางวัล PMQA 4.0 ในปี พ.ศ. 2564 โดยมี ผศ.ดร.ทพญ.รัชฎา ฉายจิต รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ซึ่งเนื้อหาในการเสวนาสรุปได้มี ดังนี้

         สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ด้วยลักษณะงานที่ต้องทำภารกิจที่เกี่ยวข้องกับประชาชน เช่น กลุ่มคนเปราะบาง การลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน ดังนั้น จึงยึดความเป็นธรรมเป็นปัจจัยสำคัญ ให้ความสำคัญในการสื่อสารกับประชาชน ตามหลัก Happiness Justice ยุติธรรมเชิงรุก สร้างสุขให้ประชาชน โดยจากการขับเคลื่อนดังกล่าวนำไปสู่ผลงานโดดเด่น เช่น นโยบาย Justice care ที่มีการช่วยเหลือผู้เสียหายหรือเหยื่ออาชญากรรมแบบบูรณาการ ด้วยกลไกร่วมมือทุกภาคส่วนลงไปถึงระดับชุมชน เพื่อให้เป็นที่พึ่งของประชาชนและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ โดยมีเคล็ดลับในพัฒนาไปสู่ความเป็นองค์การ 4.0 คือ ผู้นำต้องมีส่วนอย่างมากในการกำหนด Action plan ส่งเสริมการพัฒนาองค์การ ไม่หยุดอยู่กับที่เพื่อที่จะพัฒนาองค์การให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเป็น Role model ให้กับบุคลากร มีการสร้าง mindset ว่าทุกคนจะต้องทำให้ได้ดีกว่าเดิม ทำน้อยได้มาก มองเห็นภาพรวมให้ชัด เพื่อนำไปสู่การการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจน

         กรมสุขภาพจิตได้มีการพัฒนาองค์การอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลัก Mental health is everywhere ด้วยการพยายามลดความเหลื่อมล้ำในการเข้ารับการดูแลและรักษา เช่น สายด่วนปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต 1323 เพื่อให้ประชาชนสามารถโทรไปปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตได้ตลอดเวลา การพัฒนานวัตกรรม แอปพลิเคชัน Mental health check in สำหรับประเมินสภาวะทางจิตของประชาชน ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้หลากหลายช่องทาง อีกทั้งยังสามารถเก็บข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน สามารถนำใช้กำหนดนโยบายและวางแผนการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตต่อไป

         กรมพัฒนาที่ดิน ได้มีการปรับตัวด้วยการนำระบบ PMQA 4.0 เข้ามาใช้ โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลที่สำคัญระหว่างหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการการทำงานร่วมกันโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เปลี่ยนจากกระดาษเป็นระบบดิจิทัล ทำงานด้วยหลัก Paperless ซึ่งทำให้การเก็บข้อมูลต่าง ๆ ง่ายขึ้น การเข้าถึงหน่วยงานจากฝั่งประชาชนนั้นก็สามารถทำได้สะดวกโดยได้พัฒนา e-service  และ Smart service  มาใช้ในการให้บริการและการทำงาน ส่งผลให้ประหยัดทรัพยากรและเวลา รวมทั้งสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชน ทั้งนี้ เคล็ดลับในพัฒนาไปสู่ความเป็นองค์การ 4.0 คือ ทุกคนในองค์การต้องมีวิสัยทัศน์ ค่านิยมเดียวกัน เพื่อลดช่องว่างระหว่างระดับ และสามารถเดินไปข้างหน้าได้พร้อมกัน อีกทั้งมีการนำหลักการพี่สอนน้องหรือ coaching มาใช้ในองค์การเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ที่เร็วขึ้น

         กรมสรรพากร ใช้หลักในการแก้ปัญหาโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง การหา Pain point ซึ่งแรงผลักดันที่ทำให้เกิดการพัฒนาเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การเข้ามาของเทคโนโลยี รูปแบบการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไป และการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้สรรพากรต้องปรับตัวและมีผลิตภัณฑ์หรือระบบใหม่ ๆ ออกมามากมาย เช่น Hackatax Tax  sandbox  และ AI น้องอารี เป็นต้น โดยมีเคล็ดลับความสำเร็จในการไปสู่การเป็นองค์การ 4.0 คือ การใช้ Model of innovation เป็นกรอบ โดยเน้นการพัฒนาเรื่องคนและเทคโนโลยี เช่น ผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์ไปในทางเดียวกัน แผนยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการต้องชัดเจน มีการประเมินผลองค์กรและทรัพยากรโดยใช้ตัวชี้วัด OKR และใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการมีส่วนร่วมกับทั้งภายในและภายนอกองค์การ เพื่อนำมาพัฒนาหน่วยงานต่อไป

         สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ได้นำ PMQA 4.0 มาใช้ในการพัฒนาองค์การด้วยการยึดหลักประชาชนเป็นศูนย์กลางในการดำเนินการ ปฏิบัติกับทุกคนเท่าเทียมกัน สอดคล้องกับหลักการจากสหประชาชาติที่ว่า No one left behind เน้นการช่วยเหลือไปที่ชาวบ้านที่มีรายได้น้อย ช่วยแก้ปัญหาความยากจน ทำให้ประชาชนมีรายได้ต่อครัวเรือนมากขึ้น และมีการจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลดิจิทัล โดยได้กลายเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดทำแผนพัฒนาชุมชน โดยมีเคล็ดลับในพัฒนาไปสู่ความเป็นองค์การ 4.0 คือ การใช้ความรู้ในการแก้ปัญหา ปรับความคิด และการหาเครื่องมือมาใช้ในการทำงานให้ดีขึ้น รวมทั้งใช้หลัก PMQA 4.0 เป็นวิธีปฏิบัติขององค์การ

         สุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทุกหน่วยงานเห็นตรงกันในเรื่องของการพัฒนาไปสู่การเป็นองค์การ 4.0 คือการปรับกรอบความคิด (Mindset) ของบุคลากรว่า การพัฒนาองค์การนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เนื่องจากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้มีการพัฒนาไปข้างหน้า ดังนั้นการปรับเปลี่ยนองค์การจึงเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้วเพื่อให้องค์การยังอยู่ได้ และสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ต่อไป


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.opdc.go.th