วันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2564

เทคโนโลยีดิจิทัลในโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

 วันที่ 1 ก.ค 64 เป็นวันเริ่มต้นของโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งอยู่ภายใต้แผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยอนุญาตให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสและต้องการเดินทางเข้าประเทศ สามารถเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัว แต่ต้องอยู่ในจังหวัดภูเก็ตเป็นเวลา 14 วัน (ต่อมาปรับลดเหลือ 7 วัน) ก่อนที่จะอนุญาตให้เดินทางไปยังพื้นที่อื่นในประเทศไทย หากผลตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 โดยมีกฎเกณฑ์ตามที่ได้ประกาศคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) ที่ 7/2564 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 11) โดยสรุปดังนี้

  1. นักท่องเที่ยวที่อาศัยอยู่ในกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำ และปานกลาง (ตามที่กระทรวงสาธารณสุข และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกำหนด) และต้องพำนักอยู่ไม่ต่ำกว่า 21 วันก่อนออกเดินทาง
  2. ได้รับวัคซีนครบโดสตามประเภทวัคซีน อย่างน้อย 14 วัน ซึ่งวัคซีนจะต้องผ่านการรับรองโดย อย. หรือองค์การอนามัยโลก และมีเอกสารรับรองการได้รับวัคซีน (Vaccine Certificate)
  3. กรณีเคยติดเชื้อ ต้องได้รับวัคซีนครบตามกำหนดประเภทของวัคซีน อย่างน้อย 14 วัน
  4. มีผลการตรวจโควิด-19 RT-PCR ภายใน 72 ชั่วโมง
  5. มีประกันสุขภาพ ที่ครอบคลุมโควิด-19 วงเงินคุ้มครองไม่ต่ำกว่า 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ
  6. กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี มากับผู้รับวัคซีนให้เดินทางพร้อมผู้ปกครองได้

ซึ่งจากเงื่อนไข กฎเกณฑ์ และ Standard Operation Procedure (SOP) ต่างๆ เป็นที่มาในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้งาน เพื่อให้อำนวยความสะดวกให้แก่ชาวไทยและชาวต่างชาติที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่ก่อนเดินทาง-เดินทางมาถึง-ระหว่างพัก-ก่อนเดินทางออกจากภูเก็ต และยังใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือ ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการกำกับโครงการฯ ให้เป็นไปตามคำสั่ง เงื่อนไข ในราชกิจจานุเบกษาอีกด้วย

เทคโนโลยีดิจิทัลที่เกี่ยวข้อง ก่อนเริ่มโครงการฯ

ย้อนกลับไปตั้งแต่ก่อนเริ่มโครงการฯ เป็นช่วงในการเตรียมตัวให้จังหวัดภูเก็ตพร้อมกับการรับนักท่องเที่ยว โดยมีแนวคิดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ควบคู่กับควบคุมโรคตามมาตรการทางสาธารณสุข จึงจะต้องมีการจัดการให้จังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่ปลอดภัยด้วย ซึ่งปัจจัยหลักคือ การฉีด วัคซีน ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งผู้บริหารจังหวัด ส่วนราชการ ภาคเอกชน ทำให้จังหวัดภูเก็ตได้รับวัคซีนอย่างรวดเร็ว และเพื่อให้การรับวัคซีนของประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในด้านการกระจายวัคซีนและการป้องกันการติดโรคโควิดแบบคลัสเตอร์ จึงได้มีการวางแผนโดยเริ่มจากการจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีน ที่แยกตัวจากโรงพยาบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเนื่องจากจะได้ไม่ไปเพิ่มความแออัดของผู้ใช้บริการของโรงพยาบาล และหากเกิดการติดเชื้อภายในโรงพยาบาลจนทำให้มีการปิดบริการในบางส่วน และบุคลากรทางการแพทย์ต้องกักตัวตามมาตรการการควบคุมโรค อาจส่งผลกระทบวงกว้าง

เมื่อจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนแล้ว ก็คำนึงต่อว่าจะจัดการการฉีดวัคซีนอย่างไร ซึ่งทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และผู้ประกอบการดิจิทัลในเครือข่าย ได้พัฒนาเว็บไซต์เพื่อเข้ามาจัดการชื่อว่า “ภูเก็ตต้องชนะ.com” ดังภาพที่ 1 โดยมีวัตถุประสงค์คือ 1) ลงทะเบียนผู้ประสงค์รับวัคซีน 2) การจองรอบการรับวัคซีน โดยระบบรับจองรับวัคซีนเข็มที่ 1 ไปแล้ว จำนวน 452,130 ราย เข็มที่ 2 ไปแล้ว จำนวน 420,472 ราย และ Booster dose เข็มที่ 3 ไปแล้ว จำนวน 159,754 ราย (ข้อมูลจากระบบภูเก็ตต้องชนะ.com ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2564)

ภาพที่ 1 ระบบภูเก็ตต้องชนะ.com

โดยปลายเดือนมิถุนายนประชากรในจังหวัดภูเก็ต รับวัคซีนเข็มที่ 2 เกินกว่าร้อยละ 70 ทำให้จังหวัดภูเก็ตเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ตามทฤษฎีภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ซึ่งเป็นภาวะที่ประชากรส่วนมากของสังคมมีภูมิคุ้มกันโรค โดยคิดเป็นสัดส่วนจำนวนคนที่สูงมากพอจนช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคตได้ นับเป็นสัญญาณความพร้อมแรกของจังหวัดภูเก็ตในการจจะเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบไม่กักตัว

โดยเทคโนโลยีดิจิทัลในโครงการ Phuket Sandbox ในช่วงก่อนเดินทาง-เดินทางมาถึง-ระหว่างพัก และก่อนเดินทางออกจากภูเก็ต ซึ่งมีเทคโนโลยีดิจิทัลภายในโครงการ Phuket Sandbox 4 ระบบหลัก ดังนี้

  1. ระบบ Certificate of Entry (COE)
  2. ระบบ Thailand SHA Plus Booking Authentication (SHABA)
  3. ระบบ Thailand Phuket Swab Appointment System (PSAS)
  4. แอปพลิเคชันหมอชนะ โดยทั้ง 4 ระบบมีความเชื่อมโยงข้อมูลกัน และมีเส้นทางของนักท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล ดังภาพที่ 2

ภาพที่ 2 แสดงเส้นทางของนักท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลภายในโครงการ Phuket Sandbox (ที่มา สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สาขาภาคใต้ตอนบน, 2564)

ซึ่งเริ่มจากนักท่องเที่ยวจะต้องลงทะเบียนขอเข้าประเทศ ซึ่งจะต้องยื่นหลักฐานเข้าระบบ COE โดยหลักฐาน 2 อย่างที่ได้จากระบบ ได้แก่ หลักฐานการจองและชำระค่าโรงแรมที่พักที่ได้รับมาตรฐาน SHA+ ซึ่งได้จากระบบ SHABA และหลักฐานการจองและชำระค่าตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากระบบ PSAS

จากนั้นก็รอการอนุมัติจากระบบ COE หากได้รับการอนุมัติก็สามารถเดินทางมาได้ เมื่อเดินทางมาถึงสนามบินนานาชาติภูเก็ต ก็จะผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง ติดตั้งแอปพลิเคชันหมอชนะ และเข้าการตรวจหาเชื้อ โควิด-19 ครั้งที่ 1 ตามที่ได้จองไว้ในระบบ PASA

จากนั้นเดินทางไปรอผลตรวจที่โรงแรมด้วยรถโดยสารที่ได้มาตรฐาน SHA+ เช่นเดียวกัน โดยเมื่อไปถึงโรงแรมนักท่องเที่ยวทำการ Check-in เข้าพัก และทางโรงแรมจะเชื่อมข้อมูลของนักท่องเที่ยวในระบบ SHABA และในแอปพลิเคชันหมอชนะเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้สามารถระบุถึงบุคคลได้ และเมื่อผลตรวจออกแล้ว จะส่งผลผ่านระบบ PSAS ซึ่งมีการเชื่อมต่อกับระบบ SHABA ทำให้โรงแรมทราบผลตรวจ และแจ้งนักท่องเที่ยวทราบ หากผลไม่ติดเชื้อ นักท่องเที่ยวก็สามารถท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตได้อย่างอิสระ โดยมีเงื่อนไขต้องกลับมาเข้าพักที่โรงแรมทุกวัน ซึ่งทางโรงแรมจะทำการ Scan QR Code ในแอปพลิเคชันหมอชนะของนักท่องเที่ยวในทุกวันเช่นกัน และเมื่อถึงวันที่ 6-7 และวันที่ 12-13 นักท่องเที่ยวจะต้องเข้าตรวจหาเชื้อโควิด-19 ครั้งที่ 2 และ 3 ตามนัดหมาย และรับผลการตรวจผ่านระบบ PSAS และ SHABA เช่นเดิม หากนักท่องเที่ยวไม่มารายงานตัวที่โรงแรม หรือรับการตรวจหาเชื้อโควิดตามที่ได้นัดหมาย เป็นหน้าที่ของโรงแรมต้องแจ้งให้ศูนย์ปฏิบัติการทราบ ผ่านระบบ Phuket Precocious System (PPRES) เพื่อดำเนินการต่อไป แต่หากโรงแรมไม่แจ้งก็จะมีบทลงโทษตามเงื่อนไข ทั้งนี้หากนักท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่โครงการ และเข้าตรวจหาเชื้อโควิด-19 ครบตามเงื่อนไขแล้ว นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยได้อย่างอิสระ

ก่อนที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้า Sandbox นักท่องท่องเที่ยว จะต้องขอรับใบรับรองในการเดินทางเข้าประเทศไทย โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ ดังนี้

  • ระบบ Certificate of Entry (COE) เป็นระบบลงทะเบียนออนไลน์ ทะเบียนกลางของกระทรวงการต่างประเทศ ผ่านเว็บไซต์ https://coethailand.mfa.go.th/ ใช้สำหรับขอยื่นความจำนงค์การขอเข้าประเทศ ตามประกาศของราชกิจจานุเบกษา

ภาพที่ 3 ระบบ Certificate of Entry (COE)

โดยนักท่องเที่ยวจะต้องอัพโหลดยื่นเอกสารต่าง ดังนี้

  1. หนังสือเดินทาง และ/หรือ วีซ่า (หากจำเป็น)
  2. เอกสารรับรองการฉีดวัคซีนจากประเทศต้นทาง (Certificate of Vaccination)
  3. ประกันสุขภาพ COVID-19
  4. ตั๋วเครื่องบิน
  5. หลักฐานการชำระเงินค่าที่พักโรงแรม SHA+ (SHABA Certificate) ผ่านระบบ Thailand SHA Plus Booking Authentication
  6. หลักฐานการชำระเงินค่าตรวจโควิด-19 ขณะอยู่ใน Sandbox ผ่านระบบ Thailand Phuket Swab Appointment System
  • ระบบ Thailand SHA Plus Booking Authentication (SHABA) เป็นระบบสำหรับยืนยันการจองห้องพัก และชำระเงินเต็มจำนวนของนักท่องเที่ยวที่ทำการจองกับโรงแรมที่ได้รับมาตรฐาน SHA+

ภาพที่ 4 ระบบ Thailand SHA Plus Booking Authentication (SHABA)

ผ่านเว็บไซต์ https://www.thailandshaba.com/login และระบบ SHABA จะออกหลักฐานการชำระเงินค่าที่พักโรงแรม SHA+ ที่เรียกว่า SHABA Certificate ดังภาพที่ 5 เพื่อใช้ในขั้นตอนขอ COE

ภาพที่ 5 ภาพตัวอย่าง SHABA Certificate

ซึ่งระบบ SHABA ได้เชื่อมต่อกับระบบ Thailand Phuket Swab Appointment System เพื่อรายงานผลตรวจเชื้อโควิด-19 ของนักท่องเที่ยว ซึ่งผลตรวจทั้ง 3 ครั้ง จะเป็น 1 ใน 2 เงื่อนไข (ผลตรวจ และจำนวนวันที่พักอาศัยใน Sandbox) สำหรับการออกเอกสารรับรองการอนุญาตออกจากพื้นที่ Sandbox ของนักท่องเที่ยว หรือที่เรียกว่า Released Form โดยเอกสารนี้จะออกจากระบบ SHABA เพื่อให้นักท่องเที่ยวไว้ยืนยันกับเจ้าหน้าที่ด่านตรวจต่าง ๆ

ระบบ Thailand Phuket Swab Appointment System (PSAS) เป็นระบบที่ให้นักท่องเที่ยวจองการตรวจ RT-PCR ตามที่ได้ระบุเอาไว้ในราชกิจจานุเบกษา ผ่านเว็บไซต์ https://www.thailandpsas.com โดยที่นักท่องเที่ยวจะสามารถทำการจอง ขำระเงิน ผ่านระบบออนไลน์ด้วยตัวเอง และระบบ PSAS ได้ส่งต่อข้อมูลการนัดหมายไปยัง Phuket Swab Centers ภายการดำเนินงานของโรงพยาบาลพันธมิตร ทั้ง 5 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ไม้ขาว

ศูนย์ลากูน่า ศูนย์ป่าตอง ศูนย์กะตะ และศูนย์เมืองภูเก็ต และได้เชื่อมต่อกับทาง SHABA เพื่อแจ้งผลการตรวจของนักท่องเที่ยว เพื่อประกอบการพิจารณาในการออก Released Form ดังภาพที่ 6

ภาพที่ 6 ระบบ Thailand Phuket Swab Appointment System (PSAS)

ทั้งนี้ เมื่อนักท่องเที่ยวได้รับการพิจารณาอนุมัติแล้ว นักท่องเที่ยวจะต้องแสดงผลการตรวจสอบเชื้อโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR ระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง

เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึง Sandbox เมื่อนักท่องเที่ยวในโครงการฯ เดินทางถึงสนามบินนานาชาติภูเก็ต จะผ่านด่านควบคุมโรค และพิธีการตรวจคนเข้าเมือง แล้วทำการดาวน์โหลดและติดตั้งแอปพลิเคชันหมอชนะ (ภาษาอังกฤษ)

  • แอปพลิเคชันหมอชนะ (ภาษาอังกฤษ) เป็นแอปพลิเคชันที่ใช้สำหรับบันทึกข้อมูลการเดินทางของผู้ใช้งานแบบอัตโนมัติ ด้วยเทคโนโลยี GPS และ Bluetooth เพื่อทำการระบุตำแหน่งของผู้ใช้งาน และตรวจความเสี่ยงของผู้ใช้งาน ในกรณีที่ตำแหน่งของผู้ใช้งานใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กรมควบคุมโรค และบุคลากรทางการแพทย์ สอบสวนโรคได้อย่างรวดเร็ว โดยแอปพลิเคชันหมอชนะจะแจ้งไปยังกลุ่มผู้ใช้งานใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อแจ้งวิธีการปฏิบัติตนที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ แอปพลิเคชันหมอชนะ ได้ออกแบบให้เก็บข้อมูลส่วนบุคคลเท่าที่จำเป็น และจำกัดข้อมูลให้พอเพียงต่อขอบเขต และวัตถุประสงค์ แต่ไม่สามารถระบุถึงบุคคลได้ แต่เมื่อนำมาใช้งานกับโครงการ Phuket Sandbox ซึ่งต้องระบุตัวตนได้ในระดับหนึ่ง เพื่อให้ทราบว่านักท่องเที่ยวท่านใดฝ่าฝืนเดินทางออกจากเขตพื้นที่ Phuket Sandbox โดยไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการติดตามต่อไป

ดังนั้น แอปพลิเคชันหมอชนะ ได้เชื่อมต่อกับระบบ SHABA เพื่อให้ระบุตัวตัวได้ ตามที่ได้กล่าวในข้างต้น โดย QR Code ในแอปพลิเคชันหมอชนะของนักท่องเที่ยวในโครงการฯ จะมี QR Code เป็นสีเหลือง ซึ่งหมายถึง บุคคลที่มีความเสี่ยงน้อย ซึ่งจะเมื่อถูกสแกน ณ ด่านตรวจ จะแสดงว่าเป็นนักท่องเที่ยวในโครงการฯ และยังไม่ครบตามเงื่อนไขการออกนอกพื้นที่ เจ้าหน้าที่จะปฏิเสธการขอออกนอกพื้นที่ Sandbox

ภาพที่ 7 แอปพลิเคชันหมอชนะ

จากนั้น นักท่องเที่ยว จะต้องเข้ารับการตรวจเชื้อ แบบ RT-PCR ณ สนามบิน แล้วออกเดินทางออกจากสนามบิน ไปยังโรงแรม SHA+ โดยรถโดยสารที่ได้มาตรฐาน SHA+ เช่นเดียวกัน ซึ่งจะทำในลักษณะ Seal Route แต่ทั้งนี้ หากนักท่องเที่ยวไม่เข้าพักตามที่กำหนด เป็นหน้าที่ของโรงแรมที่จะต้องแจ้งศูนย์ปฏิบัติการ Phuket Sandbox เพื่อดำเนินการติดตาม ผ่านทางระบบ PPRES

ระหว่างที่นักท่องเที่ยวพักใน Sandbox

นักท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่ของโรงแรม ต้องมีหน้าที่ร่วมกันในการสแกน QR Code ในแอปพลิเคชันหมอชนะ เพื่อเป็นการยืนยันการพักอาศัยของนักท่องเที่ยวในแต่ละวัน (Daily Scan) ซึ่งข้อมูลนี้จะถูกส่งผ่านระบบของแอปพลิเคชันหมอชนะ ไปแสดง ณ ศูนย์ปฏิบัติการ Phuket Sandbox ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบการดำเนินงานของทางโรงแรมว่ามีการงดเว้นหรือไม่ ซึ่งหากมีการงดเว้น ก็จะต้องดำเนินการตามมาตราการลงโทษต่อไป

ก่อนนักท่องเที่ยวเดินทางออกจาก Sandbox

เมื่อนักท่องเที่ยวปฏิบัติตามเงื่อนไขจำนวนวันที่เข้าพักใน Sandbox และมีผลตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นลบ นักท่องเที่ยวจะได้รับ Released Form จากเจ้าหน้าที่ของโรงแรมออกให้จากระบบ SHABA และจะมีการเปลี่ยนสี QR Code ในแอปพลิเคชันให้เป็นสีเขียว ซึ่งสามารถเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ Sandbox ได้

เทคโนโลยีดิจิทัลของเจ้าหน้าบริหารจัดการ Sandbox

  • ระบบ GEO Facing เป็นระบบที่รับข้อมูลตำแหน่งของผู้ใช้งานจากแอปพลิเคชันหมอชนะ และนำข้อมูลตำแหน่งมา plot ในแผนที่ ซึ่งในแผนที่ก็ได้กำหนดขอบเขตของ Sandbox ดังนั้น เจ้าหน้าที่จะทราบถึงการฝ่าฝืนเดินทางออกนอกเขตพื้นที Sandbox โดยไม่ได้รับอนุญาต และแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตาม จับกุม ดำเนินคดี เป็นต้น ดังภาพที่ 8

ภาพที่ 8 ระบบ GEO Facing

ระบบ Phuket Precocious System (PPRES) เป็นการประยุกต์ใช้งานแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับการจัดการรายการงาน (to-do List) ที่ชื่อว่า Trello เป็นสื่อกลางในการสื่อสารระหว่างระบบ SHABA และเจ้าหน้าที่ของโรงแรมที่ทำหน้าที่ SHA+ Managers ซึ่งจะเปิดเคสงาน เช่น แจ้งนักท่องเที่ยวไม่เข้าพักตามที่กำหนด นักท่องเที่ยวสูญหาย หรือเมื่อนักท่องเที่ยวตรวจเชื้อโรคโควิด-19 แล้วมีผลเป็นบวก เป็นต้น และเมื่อเปิดเคสงานแล้ว ทางศูนย์ปฏิบัติการ Phuket Sandbox จะรับประสานงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ และติดตามจนกระทั่งปิดเคสงาน ดังภาพที่ 9

ภาพที่ 9 ระบบ Phuket Precocious System (PPRES)

เทคโนโลยีดิจิทัลของเจ้าหน้า ณ จุดด่านตรวจเข้าออก Sandbox

  • ระบบ Sandbox ID Verification for Airline & Port (SIVA) เป็นระบบสำหรับตรวจสอบนักท่องเที่ยวว่าอยู่ในโครงการ Phuket Sandbox หรือไม่ หากอยู่ในโครงการฯ ตรวจสอบจำนวนวันพักอาศัย และตรวจสอบเชื้อโควิด-19 ครบตามจำนวนที่กำหนดหรือไม่ โดยตรวจสอบจากเลขหนังสือเดินทาง หรือเลขบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อป้องกันการหลบหนีออกจากเขตพื้นที่ Sandbox ดังภาพที่ 10

ภาพที่ 10 ระบบ Sandbox ID Verification for Airline & Port (SIVA)

  • แอปพลิเคชันหมอชนะ ก็เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบว่านักท่องเที่ยวที่ขอออกนอกเขตพื้นที่ Sandbox ว่าได้ดำเนินการครบตามเงื่อนไขแล้วหรือไม่ โดยการสแกน QR Code ของแอปพลิเคชันหมอชนะของนักท่องเที่ยว ซึ่งหากดำเนินการไม่ครบถ้วน ระบบจะแสดงสถานะไม่ให้เดินทางออกนอกเขตพื้นที่ Sandbox ก็จะเป็นอีกวิธีในการป้องกันการฝ่าฝืนได้อีกทางหนึ่ง ดังภาพที่ 11

ภาพที่ 11 การสแกน QR Code ของแอปพลิเคชันหมอชนะ ณ จุดตรวจเข้าออก

นอกจากนี้ ทางจังหวัดภูเก็ต โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในโครงการ 5G Use Case for Phuket Data Sandbox Platform และระบบในการคัดกรองและแจ้งเตือน เตรียมความพร้อมในการเปิดเศรษฐกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต โดยมีวัตถุประสงค์ ข้อที่ 1 นำเทคโนโลยี และระบบในการวิเคราะห์บุคคลจากใบหน้า ตรวจสอบเมื่อบุคคลผ่าน Smart Gate ที่ติดตั้ง ณ ด่านตรวจเข้าออกทางบก ทางทะเล ทางอากาศ ซึ่งจะแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่แบบเรียลไทม เมื่อมีนักท่องเที่ยวในโครงการฯ ที่ยังไม่ครบเงื่อนไขที่จะออกนอกเขตพื้นที่ Sandbox ผ่านด่านตรวจ ในข้อที่ 2 พัฒนาระบบแพลตฟอร์มกลาง (Phuket Data Sandbox Platform) ในการเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบต่าง ๆ เพื่อนำข้อมูลที่ถูกต้องนำมาใช้เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง โดยมีรูปแบบการทำงาน ดังภาพที่ 12

ภาพที่ 12 แสดงการทำงานของระบบต่าง ๆ ในโครงการ 5G Use Case for Phuket Data Sandbox Platform และระบบในการคัดกรองและแจ้งเตือน เตรียมความพร้อมในการเปิดเศรษฐกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต (ที่มา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2564)

สรุป

โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เป็นโครงการนำร่องที่ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุดแล้ว และสมกับใช้คำว่า “แซนด์บ็อกซ์” ด้วยตั้งแต่เริ่มโครงการมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติม ทั้งมิติการบริหารโครงการ การประกาศคำสั่ง และเทคโนโลยีดิจิทัลในโครงการฯ ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้ไปพร้อมกับโครงการ เช่น การปรับลดจำนวนวัน และจำนวนครั้งในตรวจเชื้อ เพราะจากข้อมูลพบว่ามีนักท่องเที่ยวในโครงการที่ตรวจพบว่าติดเชื้อ ร้อยละ 0.3 และเป็นกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว ที่ไม่แสดงอาการ เป็นต้น ซึ่งในอนาคตอาจต้องปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ประเทศ หรืออาจจะต้องยกเลิกไปเลยก็เป็นไปได้ตามเหตุแห่งความจำเป็น แต่อย่างน้อยที่สุด โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ก็ให้คำตอบกับประเทศว่าการเปิดรับนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำ ให้เข้าประเทศโดยไม่กักตัวเป็นเรื่องที่เป็นไปได้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.depa.or.th