วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2564

การประชุมหารือเพื่อการขับเคลื่อน Agenda “การพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลการนำเข้าและส่งออกสินค้าข้ามแดนทางบกของกลุ่มประเทศ ACMECS ผ่านระบบ National Single Window (NSW)”

 

สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดประชุมหารือเรื่อง “การพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลการนำเข้าและส่งออกสินค้าข้ามแดนทางบกของกลุ่มประเทศ ACMECS ผ่านระบบ National Single Window (NSW)” เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 เวลา 09.00 น. ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานตาม Agenda ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 โดยมีนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. นายณัฏฐา พาชัยยุทธ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับกรมศุลกากร นำโดย นายจักกฤช อุเทนสุต ผู้อำนวยการกองบริหาจัดการและพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลการนำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 5 หน่วยงาน ได้แก่ สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิชาการเกษตร กรมการปกครอง กรมการค้าต่างประเทศ และกรมการอุตสาหกรรมทหาร สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

         1. แผนการดำเนินงาน (Roadmap) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 – 2567 มีเป้าหมายการพัฒนาดังนี้

             - ปี 2565 : มุ่งเชื่อมโยงข้อมูลใบอนุญาต/ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ กับ 5 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้พิกัดศุลกากรและรหัสสถิติสินค้าควบคุมที่อยู่ในฐานข้อมูลสินค้าควบคุม (Permission Goods) จำนวน 1,169 รายการ โดยมีการประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ให้ผู้ประกอบการรับทราบและถือปฏิบัติ
             - ปี 2566 : ผลักดันการเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ สำหรับประกอบการผ่านพิธีการศุลกากรนำเข้า-ส่งออก (รายครั้ง) โดยกำหนดธุรกรรมทั้งหมด 496 ธุรกรรม ซึ่งในปี 2566 คาดการณ์ว่าจะทำแล้วเสร็จ 453 ธุรกรรม
             - ปี 2567 : ผลักดันการเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ สำหรับประกอบการผ่านพิธีการศุลกากรนำเข้า-ส่งออก (รายครั้ง) ให้ครบถ้วน 100% (ครบทั้งหมด 496 ธุรกรรม)

         2. แผนปฏิบัติการ (Action plan) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยมีกิจกรรมที่ดำเนินการ 4 ข้อ ดังนี้

             1) ประสานหน่วยงานที่ยังเชื่อมโยงข้อมูลฯ ไม่ครบถ้วนเพื่อกำหนดพิกัดศุลกากรและรหัสสถิติที่ยังคงค้าง โดยในไตรมาสแรกมุ่งเน้นการทบทวนรายการสินค้าในการควบคุมที่ต้องกำหนดพิกัดศุลกากรและรหัสสถิติในฐานข้อมูลสินค้าควบคุม จากนั้นในไตรมาสที่ 2 จะเป็นการเสนอพิกัดศุลกากรและรหัสสถิติสินค้าควบคุม
             2) ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในกรมฯ เพื่อพิจารณาการกำหนดพิกัดศุลกากรและรหัสสถิติ และนำไปใช้ในฐานข้อมูลสินค้าควบคุม โดยร่วมกำหนดพิกัดศุลกากรและรหัสสถิติของสินค้าควบคุม พร้อมนำไปใช้ในฐานข้อมูลสินค้าควบคุมกับ 5 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนถึงไตรมาสที่ 3
             3) ทดสอบการเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพิกัดศุลกากรและรหัสสถิติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะเริ่มทดสอบในไตรมาสที่ 2 – 3
             4) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำประกาศฯ และประสานกำหนดการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างเป็นทางการ โดยในไตรมาสที่ 1 -2 เป็นการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแนวทางการจัดทำประกาศสำหรับการควบคุมสินค้าที่กำหนดไว้ในฐานข้อมูลสินค้าควบคุม และไตรมาสที่ 3 – 4 เป็นการจัดทำประกาศฯ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการทราบ และมีการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างเป็นทางการ

         3. ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 ทางกรมศุลกากรจะมีการปรับเปลี่ยนและจำแนกพิกัดสินค้าใหม่ ซึ่งเป็นการดำเนินการทุก ๆ 5 ปี ซึ่งอาจจะมีผลกระทบกับบางผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้มีข้อกังวลในเรื่องของการทบทวนและการยกร่างประกาศ เนื่องจากจำเป็นที่จะต้องมีการประกาศหรือสื่อสารให้กับทางผู้ประกอบการได้เข้าใจและทราบถึงการเปลี่ยนแปลงพิกัดสินค้าตามที่ทางกรมศุลกากรมีการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามทางกรมศุลกากรได้วางแนวทางการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้แล้ว

         ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการของ Roadmap และ Action plan การขับเคลื่อน Agenda การพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลการนำเข้าและส่งออกสินค้าข้ามแดนทางบกของกลุ่มประเทศ ACMECS ผ่านระบบ National Single Window (NSW) ร่วมกัน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมที่จะดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.opdc.go.th