วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ระดมไอเดียภาคเอกชน ยกระดับกฎหมายอำนวยความสะดวก

 

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เกี่ยวกับประเด็นร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ฉบับแก้ไข โดยมีรองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) เป็นประธานการประชุม โดยมีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (นายปณตภร จงธีรโชติ) ร่วมชี้แจงและให้ข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นของข้อกฎหมาย พร้อมด้วยผู้แทนจากภาคเอกชน และนักวิชาการ เข้าร่วม ซึ่งที่ประชุมโดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปรับปรุงพระราชบัญญัติฯ และมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์ เช่น

         1. ในการออกแบบกฎหมาย หรือกฎระเบียบต่าง ๆ ควรมองที่ลูกค้าหรือประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Customer centric) และควรเน้น agenda base มากกว่าการใช้ขั้นตอนในหน่วยงานเป็นตัวตั้ง รวมถึงการกำหนดระยะเวลาต่าง ๆ ในกฎหมายให้มีความเหมาะสม เนื่องจากในการดำเนินการของหน่วยงานมีความแตกต่างกัน ทั้งในแง่ของจำนวนผู้รับบริการ จำนวนบุคลากรที่มาดำเนินการ ในทางปฏิบัติอาจจะเกิดปัญหาได้

          2. การสร้างความชัดเจนในการออกกฎหมายทั้งในเรื่องขั้นตอนการให้บริการ นิยามต่าง ๆ ที่จะมีผลในทางปฏิบัติ การลดใบอนุญาตให้น้อยลง รวมถึงเอกสารต่าง ๆ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐควรเชื่อมโยงข้อมูลและขอเอกสารระหว่างหน่วยงานด้วยกันเองได้

         3. ภาครัฐควรปรับรูปแบบการทำงานแบบ silo ที่ไม่มีการประสานและบูรณาการการทำงานทั้งภายในองค์กรและภายนอก รวมถึงรูปแบบการอนุมัติที่เป็นขั้น ๆ ใช้เวลานาน ควรปรับเปลี่ยนเป็นการส่งต่อผู้มีอำนาจแทน หรือมีการอนุมัติผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

         4. การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการทำงาน เช่น blockchain นำไปสู่ Big data ซึ่งหลายหน่วยงานก็มีองค์ความรู้ในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี รวมถึงการปรับรูปแบบการทำงานหรือการให้บริการโดยใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ การยืนยันตัวตนด้วย Digital ID เพื่อให้ผู้ขอรับบริการไม่ต้องไปแสดงตัวตน ณ สถานที่รับบริการ ทั้งนี้ ต้องระวังเรื่องของความปลอดภัย ยกตัวอย่างภาคเอกชนมีการเปลี่ยน password ทุก ๆ เดือน หรือการทำงานผ่านมือถือมีการ verified ตัวตน ซึ่งราชการยังถือเป็นช่องโหว่อยู่

         5. ควรมีการจัดทำระบบติดตาม feedback หรือ tracking system ที่ครบทั้งระบบ ตั้งแต่การยืนยันตัวตน การออกเลขกำกับแต่ละคำขอ การแสดงขั้นตอน เวลา และความก้าวหน้าไปแต่ละขั้นว่าตรงกับขั้นตอนและเวลาที่กำหนดหรือไม่ โดยผู้ยื่นสามารถสอบถามติดตามได้ หน่วยงานสามารถให้คำตอบได้ และหากมีปัญหาผู้ยื่นสามารถร้องเรียนตามขั้นตอนได้

         6. การสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเอกชน ที่ภาครัฐมักจะมีความกังวลไม่มั่นใจในการทำงานกับภาคเอกชน เกิดการผูกขาดการเป็นนวัตกร ทำให้เกิดข้อจำกัดในการพัฒนางานบริการ หรือการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ

         7. ภาครัฐควรมีการติดตามและประเมินผลอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยมีความถี่มากขึ้นและดำเนินการโดยบุคคลที่สาม (Third Party) ไม่ใช่คนในหน่วยงาน

         8. เนื่องจากความเร่งด่วนของแต่ละธุรกิจนั้นมีไม่เท่ากัน จึงควรมีการเปิดให้บริการแบบเร่งด่วน fast track หรือ fast lane เหมือนกรณีทำพาสปอร์ตที่แม้ว่าอาจจะต้องจ่ายเพิ่มแต่ประชาชนหรือผู้ประกอบการยินดีที่จะจ่ายหากมีความจำเป็นเร่งด่วน

         9. การประชาสัมพันธ์ การสร้างการรับรู้ ควรทำเนื้อหาให้เข้าใจง่าย เพราะโดยส่วนใหญ่มักมีรูปแบบเป็นเอกสาร และใช้ภาษาแบบราชการไม่กระชับ ควรปรับรูปแบบการนำเสนอให้น่าสนใจ มีการทำ web design สื่อสารผ่านช่องทาง internet ให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้น

         10. การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เนื่องจากต้องใช้สื่อสารติดต่อกับผู้รับบริการ

         ทั้งนี้ จากความเห็นดังกล่าว สำนักงาน ก.พ.ร. จะได้รวบรวมและนำไปประมวลเพื่อประกอบการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ ฉบับแก้ไข ให้เกิดประโยชน์และเกิดผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.opdc.go.th