วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2564

สำนักงาน ก.พ.ร. จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง "เคล็ดที่ไม่ลับ...ความสำเร็จในการพัฒนาองค์การสู่การเป็นระบบราชการ 4.0” ของจังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

 

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง "เคล็ดที่ไม่ลับ...ความสำเร็จในการพัฒนาองค์การสู่การเป็นระบบราชการ 4.0” ของจังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 

         ในช่วงแรกนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. ได้มาถ่ายทอดประสบการณ์ในหัวข้อ การขับเคลื่อนระบบราชการด้วย PMQA 4.0 โดยได้กล่าวถึงความสำคัญ และผลการพัฒนาจังหวัดด้วย PMQA 4.0  และในช่วงเสวนา ได้รับเกียรติจาก นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และนายจําเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์เผยเคล็ดลับความสำเร็จทำอย่างไร จึงพัฒนาจังหวัดจนได้รับรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 โดยมี ผศ.ดร.ทพญ.รัชฎา ฉายจิต รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ซึ่งเนื้อหาในการเสวนาสรุปได้มี ดังนี้

         เทคโนโลยีมีความสำคัญในการพัฒนาระบบราชการ ให้เท่าทันกับปัจจัยภายนอกในยุคโลกาภิวัตน์ และมีส่วนช่วยในการเข้าถึงภาคประชาชนได้มากขึ้น เพื่อรับรู้ถึงปัญหา และความต้องการของประชาชนที่แท้จริง นำไปสู่การแก้ไขปัญหาหรือตอบสนองความต้องการได้อย่างตรงจุด

         จังหวัดขอนแก่นมีเป้าหมายการพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองศูนย์กลางในด้านเศรษฐกิจและศูนย์กลางทางการแพทย์ของจังหวัดใกล้เคียงโดยรอบและภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยมีผลงานที่สำคัญ เช่น การแก้ปัญหาความยากจนผ่านโครงการ “คู่เสี่ยว เกี่ยวก้อย” ด้วยการจับคู่ช่วยเหลือระหว่างภาครัฐกับประชาชนที่มีรายได้น้อยในการร่วมมือแก้ปัญหาความยากจน นวัตกรรมระบบขนส่งทางรางสู่การพัฒนาท้องถิ่น การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยการจัดทำแอพพลิเคชันที่ใช้ในการประชุม EPAM เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประชุม เป็นต้น

         จังหวัดพังงา มีการกำหนดการขับเคลื่อนจังหวัดไปสู่การเป็น “พังงาเมืองแห่งความสุข” โดยมีผลงานที่สำคัญ เช่น Andaman hub medical network การเชื่อมโยงระบบปฏิบัติการทางการแพทย์ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำที่เน้นกลไกการบูรณาการหลายภาคส่วน เพื่อสร้างความปลอดภัยและการจัดการเมื่อเกิดภัยในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล และ Platform supermarket สำหรับจำหน่ายสินค้าของจังหวัดผ่าน พังงา.org เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าของประชาชนในพื้นที่ เป็นต้น

         เคล็ดลับสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ ได้แก่ การนำความต้องการของประชาชนมาใช้ในการพัฒนาจังหวัด การกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อนำไปสื่อสารถ่ายทอด และขับเคลื่อนให้มีความเข้าใจที่ตรงกันในทุกภาคส่วน และนำไปสู่การออกแบบกระบวนการทำงานที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้ย่างแท้จริง และผู้บริหารต้องเป็นต้นแบบที่ดีในการทำงาน เพื่อเป็นตัวอย่างให้ภาคส่วนอื่น ๆ รวมทั้งต้องสร้างขวัญกำลังใจ และแรงจูงใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน

         แนวทางการพัฒนาจังหวัดเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของจังหวัดขอนแก่น ได้แก่ การทำให้จังหวัดเป็น Learning Organization ผ่านการดำเนินการ “ขอนแก่นศึกษา” ด้วยการจัดทำองค์ความรู้ของบุคลากรภายในจังหวัดเพื่อใช้ในการส่งต่อองค์ความรู้รุ่นต่อรุ่น และนำองค์ความรู้ไปต่อยอดการพัฒนาต่อไป  สำหรับจังหวัดพังงา ดำเนินการโดยปรับรูปแบบการทำงานด้วยการดึงภาคประชาชน และเครือข่ายในจังหวัดเข้ามาเป็นแกนหลักในการกำหนดความต้องการของพื้นที่ ผ่านการดำเนินการ “สมัชชาพังงา” ด้วยการร่วมมือกันของเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการจัดทำฐานข้อมูลในระดับพื้นที่ เพื่อนำไปใช้ในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนต่อไป

         ทั้งนี้การเสวนาครั้งถัดไปจะเป็นเสวนา เรื่อง “ไขกุญแจความสําเร็จ...เรื่อง(ไม่)ลับสู่การเป็น องค์การ 4.0” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์และแลกเปลี่ยนปัจจัยแห่งความสําเร็จในการพัฒนาองค์การของหน่วยงานที่ได้รับรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 ประจําปี พ.ศ. 2564 ในระดับกรม และหน่วยงานที่มีคะแนนผลการประเมินสถานะการเป็นระบบราชการ 4.0 ในระดับที่ดี ขององค์การมหาชน มาถ่ายทอดประสบการณ์ ในวันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม 2564 เวลา 13.30 – 15.30 น. ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.opdc.go.th