วันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2564

การประชุม เรื่อง การสร้างระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory budgeting) ในระดับท้องถิ่


 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ประธาน อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารงานภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม (นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์) รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ประชุมหารือเรื่องการสร้างระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม ในระดับท้องถิ่น ร่วมกับนายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข (นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม) ปลัดเทศบาลเมืองแสนสุข (นายไพศาล สีนาคล้วน) ผู้อำนวยการกองยุทธ์ศาสตร์และงบประมาณ (ว่าที่ร้อยตรีอลงกรณ์ กลิ่นสุคนธ์) รองหัวหน้าศูนย์วิจัยปัญญาประดิษฐ์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (รศ. ดร. มงคล เอกปัญญาพงศ์) หัวหน้าโครงการ UNDP Accelerator Labs UNDP แห่งประเทศไทย (นางสาวอภิญญา สิระนาท) ณ ห้องประชุม ก.พ.ร. ชั้น 5 สำนักงาน ก.พ.ร.

         ผลจากการประชุมสรุปได้ ดังนี้

         1. สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับ UNDP ประเทศไทย ดำเนินการเรื่องการสร้างระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory budgeting) ระดับท้องถิ่น โดยมอบหมายให้ศูนย์เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI Center) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ดำเนินการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อนำไปทดลองนำร่องใช้ในพื้นที่เทศบาลเมืองแสนสุข

         2. แนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์ม จะถอดต้นแบบจากแพลตฟอร์มของ Consul ซึ่งได้รับรางวัลจาก UN ในปี 2018 มาเป็นต้นแบบในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยระยะเวลาในการดำเนินการให้มีความสอดคล้องกับระยะเวลาของการจัดทำแผนชุมชน และแผนพัฒนาท้องถิ่น ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การอภิปราย (Debates) พูดคุยและร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค 2) การสร้างข้อเสนอ (Citizen Proposals) สำหรับการดำเนินโครงการต่าง ๆ 3) การลงคะแนนเสียง (Vote) เพื่อร่วมตัดสินใจในประเด็นต่างๆ 4) การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายร่างพระราชบัญญัติ หรือร่างข้อกฎหมายต่าง ๆ (Collaborative Legislation) และ 5) กระบวนการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory budgeting)

         3. แพลตฟอร์มนี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ท้องถิ่นรับทราบความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้โดยตรง โดยสามารถแบ่งกลุ่มคนในการลงคะแนนเสียงเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) ประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง (Effected people) ได้แก่ Citizen และ Resident 2) ประชาชนที่สนใจ (Interested people) และ 3) ประชาชนที่มีความกังวล (Concerned people) ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในภาพรวมของประเทศได้อย่างถูกต้อง ตรงจุด และชัดเจนขึ้น

         4. ปัญหาที่สำคัญของท้องถิ่น คือ 1) สิ่งที่ประชาชนต้องการแก้ไข ไม่ได้อยู่ในอำนาจของท้องถิ่น 2) การรวมศูนย์อำนาจ ทำให้ต้องมีการรายงานหลายขั้นตอน 3) ความต้องการพัฒนาเมืองในภาพรวมขัดแย้งกับความต้องการของผู้ประกอบการบางส่วน เช่น การพัฒนาชายหาดเพื่อการพัฒนาท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และ 4) การดำเนินการของท้องถิ่น มีเรื่องของการเมืองท้องถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้สิ่งที่จำเป็นต้องแก้ไขไม่ได้รับการดำเนินการ

         5. การดำเนินการในระยะต่อไป คือ คัดเลือก Strategic Issue จำนวน 3 เรื่อง โดยเลือกเรื่องที่อยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของเทศบาลแสนสุขที่สามารถนำไปดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ เช่น การพัฒนาหนองมนในเชิง Creative Economy

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.opdc.go.th