วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2564

เทคโนโลยี AI ลดระดับ หรือยกระดับ?

 เนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบันมีการพัฒนาเพื่อช่วยตอบสนองความต้องการของมนุษย์ และเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เริ่มเป็นสิ่งที่อยู่กับชีวิตประจำวันของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น การสแกนนิ้วมือเพื่อเข้าสู่ระบบโทรศัพท์ หรือการใช้ระบบจดจำใบหน้าเพื่อการยืนยันตัวตน ฉะนั้น รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นและความสามารถของ AI ที่สามารถนำมาพัฒนาให้เข้ากับระบบการทำงาน ในปัจจุบันเพื่อลดทอนทั้งเวลาและขั้นตอนรวมถึงเพิ่มความถูกต้องแม่นยำในการดูแลประชาชนในยุคสมัยแห่งโลกาภิวัตน์

อย่างที่ทราบกันดี ขณะนี้ประเทศของเรากำลังเผชิญกับโรคระบาดที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น และยังไม่สามารถทราบถึงระยะเวลาที่แน่นอนที่โรคระบาดดังกล่าวจะทุเลาลง การติดต่อสถานที่ราชการต่าง ๆ เช่น การทำบัตรประชาชน การแจ้งตาย หรือแจ้งเกิด ที่มีความจำเป็นจะต้องไปทำที่สถานที่ราชการนั้น สำหรับประชาชนที่ต้องเดินทางเพื่อไปติดต่อราชการ อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และในขณะเดียวกัน จำนวนพนักงานที่รองรับต่อจำนวนประชาชนที่ต้องการการติดต่ออาจจะไม่เพียงพอ เนื่องจาก ทางหน่วยงานเองก็ต้องจัดให้พนักงานบางส่วนปฏิบัติงานที่บ้านตามมาตราการการป้องกันโรค Covid-19 ซึ่งส่งผลให้เกิดความล่าช้าและไม่ต่อเนื่องของการปฏิบัติงาน ฉะนั้น การใช้ระบบ AI ในการเข้ามาแบ่งเบา ภาระหรือเข้ามาแทนที่การทำงานที่ใช้ตัวบุคคล นอกจากจะช่วยตอบโจทย์ของ สถานการณ์ปัจจุบันแล้ว ระบบ AI ยังมีความสะดวก รวดเร็ว และประสิทธิภาพ รวมถึงปราศจากข้อผิดพลาดของคน (Human Error) อีกด้วย

ในปัจจุบัน หลากหลายประเทศได้นำระบบ AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานของภาครัฐ เช่น ประเทศออสเตรเลีย ได้มีการใช้ AI ที่ชื่อว่า Chatbot หรือโปรแกรมถาม-ตอบด้วยข้อความอัตโนมัติ ในสำนักงานต่าง ๆ ของรัฐบาล ผลปรากฎว่า ในการจัดเก็บภาษี Chatbot ได้มีการสนทนากับประชาชน มากกว่าสามล้านครั้ง โดยปัญหาที่เข้ามานั้น ได้ถูกแก้ไขในครั้งแรกของการติดต่อโดยคิดเป็นร้อยละ 88 ขณะที่ประเทศเดนมาร์กมีการใช้ระบบ AI ในทางการแพทย์ที่ชื่อว่า Corti ที่มีความสามารถในการเรียนรู้ เสียงระหว่างสนทนาทางโทรศัพท์ในการจำแนกสภาวะหัวใจหยุดเต้นของผู้ป่วยแล้วแจ้งข้อมูลได้อย่างทันท่วงทีให้ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์ฉุกเฉินรับทราบและเตรียมพร้อมสำหรับการรักษาผู้ป่วยได้อย่างทันเวลา อีกทั้งยังสามารถวินิจฉัยโรคเบื้องต้นผ่านการถามและตอบระหว่างการสนทนาทางโทรศัพท์ได้อีกด้วย

เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทยเมื่อเทียบกับการใช้งานระบบ AI ของต่างประเทศ จำนวนการใช้งานของระบบ AI ในบ้านเรายังคงมีเพียงหยิบมือ ถ้าหากเราสามารถนำเทคโนโลยี AI เหล่านี้มาพัฒนาและมาปรับใช้ในระบบราชการของเราก็คงจะทำให้ภาคประชาชนและภาคเอกชน สามารถทำงานร่วมกับหน่วยราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การที่ผู้ใช้งานสามารถเข้าระบบและยืนยันตัวตนด้วย Face ID และทำนัดผ่าน AI ในการถ่ายรูปติดบัตรกับเจ้าหน้าที่แบบ Online และสามารถถ่ายรูปทำบัตรบัตรประชาชนได้โดยไม่ต้องเดินทาง และได้รับบัตรประชาชนผ่าน การจัดส่งทางไปรษณีย์ หรือการมีระบบการประมูลงานก่อสร้างตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ หรือ Mega Project ระดับประเทศ การยื่นซองประมูลผ่านระบบ โดยให้ AI เป็นผู้จัดสรรผู้ชนะการประมูลจากการยื่นซองแบบออนไลน์ ที่ให้ข้อเสนอที่ดีที่สุด โดยไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับขั้นตอนดังกล่าว เป็นเหตุให้ลดการเกิดการทุจริต คอร์รัปชัน และเกิดความโปร่งใสในการประมูล รวมถึงแสดงความเป็นกลางให้กับผู้เข้าร่วมประมูล โดยจากที่กล่าวมาทั้งหมด การใช้ระบบ AI มาช่วยในการทำงานของภาครัฐ จะทำให้การดำเนินงาน มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานระดับองค์กร หรือระดับประเทศ

ในทางกลับกัน การที่นำระบบ AI ที่ได้ชื่อว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้มนุษย์นั้น กลับกลายเป็นดาบสองคม ซึ่งหลายฝ่ายได้มีการตั้งคำถามกับเหตุการณ์นี้ ว่าการนำเทคโนโลยี AI มาทดแทนการใช้แรงงานบุคคลนั้นจะสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม หรือทำให้เกิดปัญหาคนว่างงาน จากการถูกแทนที่โดย AI ฉะนั้นระหว่างที่ระบบ AI กำลังพัฒนาไปอย่างไม่หยุดนิ่งอยู่ในขณะนี้ ทางภาครัฐ เอกชน และประชาชนยังมีเวลาที่จะหาวิธีรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อให้คนและ AI สามารถอยู่ร่วมกัน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลได้คำนึงถึงสถานการณ์นี้เช่นกัน จึงจัดให้มีการพัฒนาและส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยี AI กับบุคลากรในประเทศ โดยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลได้ร่วมมือกับสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ได้เปิดสถาบันวิจัย ปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (VISTEC-depa Thailand Artificial Intelligence (AI) Research Institute) แห่งที่ 2 สำนักงานระยอง ณ ชั้นที่ 3 อาคารสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IST) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) (ขณะที่สถาบัน ฯ แห่งแรก สำนักงานกรุงเทพ ตั้งอยู่ที่ ชั้นที่ 2 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล) โดยมีเป้าหมายหลักคือ พัฒนาความรู้ ความสามารถ ของบุคลากรภายในประเทศทางด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล รวมถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรม AI ในการเตรียมรับมือกับการเข้ามาของยุคสมัยแห่ง AI ที่จะเข้ามาสร้างผลกระทบและแทรกแซงการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มแรงงานที่ไม่ยอมตระหนักถึงการมีอยู่ของเทคโนโลยีนี้ หรือไม่เช่นนั้น ก็จะเข้ามาช่วยเหลือและยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มแรงงาน ที่มีการเตรียมความพร้อมที่จะยอมรับกับการที่เทคโนโลยี AI จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตบนโลกปัจจุบัน อยากหลีกเลี่ยงมิได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.depa.or.th